Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
25 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
สิ่งที่ควรอยู่เหนือเสียงข้างมาก


1.การยอมรับในศักดิ์ศรีของมนุษย์

แนวคิดนี้เป็นการตกผลึกของการต่อสู้ของคุณค่าหลายอย่าง

ที่เป็นปฏิปักษ์กันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วงชิงความเป็นใหญ่

ระหว่างราชอาณาจักรและศาสนจักรในช่วงคริสศตวรรษที่ 11 - 12

การยอมรับในศักดิ์ศรีของมนุษย์สะท้อนถึงการช่วงชิงนี้

กล่าวคือ แม้ฝ่ายราชอาณาจักรจะเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด

แต่อิทธิพลของศาสนาคริสต์ก็มิใช่จะหมดสิ้นไปเสียทีเดียว

ที่เห็นได้ชัดคือแง่มุมเกี่ยวกับ

ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลในทางกฎหมาย

หมายความว่า การอ้างศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

เชื่อมโยงกับข้ออ้างทางศาสนา

ลักษณะอย่างหนึ่งของกฎหมายสมัยใหม่

บัญญัติขึ้นภายใต้ข้อสันนิษฐานที่ว่า

"ณ ขอบเขตหนึ่งของเสรีชน พระมหากษัตริย์ล่วงละเมิดมิได้"

เพราะภายในขอบเขตนี้เสรีชนมีความผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า

แนวคิดนี้ปรากฎในสุภาษิต "บ้านของบุคคล

แม้หลังคาบ้านจะไม่สามารถกันฝนได้ หรือผนังบ้านไม่สามารถบังลมได้

ทหารของพระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถเข้าไปได้"


2.สิ่งที่สร้างความชอบธรรมแก่การใช้อำนาจ

ในสังคมย่อมมีความไม่เท่าเทียมกัน การปกครองในสังคม

ของระบบการเมืองการปกครองนั้นอาศัยเพียงอำนาจ "power"

อย่างเดียวไม่สามารถรักษาระบบการเมืองการปกครองนั้นไว้ได้

ในการที่จะพยุงรักษารูปแบบของความไม่เท่าเทียมกัน

ไม่ว่าในเรื่องของอำนาจโอกาสของชีวิตและสถานะต่าง ๆ

ของผู้นำไว้อย่างมั่นคง จะต้องมีระบบของความคิดและคุณค่า

ที่แพร่กระจายปกแผ่ไปทั่วตลอดสังคมเพื่อที่จะสนับสนุน

หรือสร้างความชอบธรรมให้แก่ความไม่เท่าเทียมดังกล่าว

ในการนี้ รัฐบาลของทุกสังคมจึงพยายามที่จะ

ใช้ประโยชน์จากสถาบันศึกษา การคมนาคมสื่อสาร

และศาสนา ระบบความคิด ระบบคุณค่าอย่างนี้

เรียกว่า "วัฒนธรรม" วัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยกันดีคือ

"สิทธิประชาธิปไตย"ที่แพร่หลายและเป็น

ที่ยอมรับกันทั่วโลก ตามหลักประชาธิปไตย

สิ่งที่จะสร้างความชอบธรรมแก่ความไม่เท่าเทียมกัน

ก็คือ "เจตจำนงของมหาชน" (popular will)

อาทิ สโลแกนที่ว่า "เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์"


3.ลัทธิประชาธิปไตยที่มีข้ออ้างว่า "เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์" นั้น

เป็นลัทธิที่ถูกอ้างโดยฝ่ายการเมือง ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร

ล้วนมีที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชนมีกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง

และอยู่ในตำแหน่งโดยอ้งอิงและเกาะเกี่ยวกับประชาชน

แต่นอกจากลัทธิประชาธิปไตยซึ่งเกาะเกี่ยวกับเสียงข้างมากแล้ว

ยังมีลัทธิการเมืองอีกลัทธิหนึ่ง คือ "ลัทธิเสรีนิยม"

ซึ่งขัดแย้งและชิงดีชิงเด่นกันตลอดมา

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของโลกมีการชิงดีชิงเด่น

และต่อสู้กันของสองลัทธินี้วัฒนธรรมทางการเมือง

ในระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว

จะได้รับอิทธิพลจากทั้งลัทธิประชาธิปไตย

และลัทธิเสรีนิยม ดังที่เรียกกันว่า "เสรีประชาธิปไตย"


4.วัฒนธรรมเสรีนิยมมีองค์ประกอบที่ถือเป็นหัวใจอยู่ 4 อย่าง

1) ความเชื่อว่า มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเห็นแก่ตัว

ยึดประโยชน์ของตัวเองมากกว่าส่วนรวม

และยื้อแย่งแข่งขันกัน (competitive individualism )

2) สิทธิในทรัพย์สินของเอกชน คือ แนวคิดในสิทธิตามธรรมชาติ

ในทรัพย์สินของเอกชน ข้อที่สำคัญในเรื่องนี้คือ

การโยงสิทธิในทรัพย์สินเข้ากับกฎหมายธรรมชาติ

ทำให้สิทธิในทรัพย์สินของเอกชนกลายเป้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

และเป็นรากฐานของสิทธิอื่น ๆ นักปราชญ์คนสำคัญของลัทธินี้

คือ จอห์น ล็อก กล่าวว่า สิทธิอันล่วงละเมิดมิได้

ที่จะเข้าถือเอาทรัพย์สมบัติอะไรก็ตาม

ที่สามารถถือเอาได้โดยแรงงานของตน และสิทธินี้ย่อมอยู่เหนือ

หรือนำหน้าข้ออ้างของสังคมและรัฐบาล

ด้วยความสำคัญของหลักทรัพย์สินของเอกชนนี้

ล็อก ยังยืนยันเองว่า สิทธิในทรัพย์สินเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

และแยกไม่ได้จากมนุษย์

มนุษย์รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลก็เพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน

3) รัฐบาลที่มีอำนาจอันจำกัด ด้วยความมุ่งหมายของการ

จัดตั้งรัฐบาลมีเพียงประการเดียว คือ เพื่อพิทักษ์ปกป้องทรัพย์สิน

4) เรื่องตลาดเสรี นักปราชญ์คนสำคัญของแนวคิดนี้คือ อาดัม สมิธ

ทฤษฎีของสมิธ มีข้อใหญ่ใจความว่า ตลาดจะเคลื่อนใหว

ในฐานะเป็นกลไกในการประสานของชีวิตทางสังคม

เศรษฐกิจและการเมือง ถ้าปล่อยให้มัน

ดำเนินไปตามธรรมชาติ สมิธเห็นว่า มีกฎธรรมชาติของชีวิตเศรษฐกิจ

ตามกฏนี้ สินค้าสาธารณะจะถูกจัดให้มีก็ต่อเมื่อปัจเจกชน

มีอิสระที่จะแสวงหาผลประโยชน์ของตนในตลาด

การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลในชีวิตทางเศรษฐกิจจึงเป็นการแทรกแซง

กฏธรรมชาติ ในเรื่องนี้จึงถือว่า สมิธมีอิทธิพลในเรื่องรัฐบาล

อันมีอำนาจจำกัด


5.ระบบความคิดที่ค้ำจุนลัทธิทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบเสรีนิยม

เรารู้จักกันในชื่อ"The Rule Of Law" หรือหลักนิติธรรม

ความหมายหนึ่งก็คือ แนวคิดที่ว่า การที่รัฐบาลจะกระทำ

อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบปัจเจกชน

อย่างรุนแรงแล้ว รัฐบาลจะต้องจัดให้มีองค์ประกอบบางอย่างที่เรียกว่า

Due Process Of Law คำ ๆ นี้ ท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์

ท่านแปลว่า "กระบวนการอันควรแห่งกฎหมาย"


6.หลักการของลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นหลักการที่ขัดแย้ง

กับลัทธิประชาธิปไตย แต่ในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย

จะยึดถือเจตจำนงของมหาชน โดยไม่คำนึงถึงการคุ้มครองปัจเจกชน

ไม่ได้ คำกล่าวที่เป็นอมตะในหลักนี้คือ คำกล่าวของ เจมส์ เมดิสัน

เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยเมดิสันกล่าวว่า


"ในมหาชนรัฐ สิ่งที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง

มิใช่เฉพาะข้อที่ว่าต้องพิทักษ์สังคม

จากการกดขี่ของผู้ปกครองเท่านั้น แต่ยังจะต้องพิทักษ์ส่วนหนึ่ง

ของสังคมจากความอยุติธรรมของส่วนอื่น ๆ ของสังคมด้วย "


เมดิสันกล่าวว่า หากประชาชนฝ่ายข้างมากรวมตัวกัน

อย่างเหนียวแน่นด้วยผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว

สิทธิของประชาชนฝ่ายข้างน้อย

ย่อมขาดหลักประกัน วิธีการอย่างหนึ่งต่อความชั่วร้ายนี้คือ

การก่อตั้งขึ้นมาในชุมชนซึ่งเป็นเจตจำนงที่เป็นอิสระจากเสียงข้างมาก


7.สิทธิขั้นพื้นฐาน จึงเป็นสิทธิที่ทุกคนเกิดมาแล้ว

ต้องมีและแยกออกจากมนุษย์ไม่ได้

มันมีค่าเกินกว่าที่จะอ้างเสียงข้างมากของประชาชนมาจำกัดตัดรอนได้

คำกล่าวของเมดิสัน ที่กล่าวมานั้นเป็นการกล่าว

ในเอกสารที่ชื่อ "Federalist Paper" เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

ในตอนนั้นมีการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างลัทธิประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยม

ชาวอเมริกันที่มีฐานะดีเข็ดขยาดกับการใช้อำนาจที่มาจากมหาชน

นั่นคือ ก่อนมีการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ

อำนาจรัฐจะอยู่ที่ระบบการเมืองของมลรัฐ

นักการเมืองที่มีอำนาจเหล่านี้จะใช้อำนาจในทางช่วยเหลือเสียงข้างมาก

โดยไม่คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เช่น อยู่ ๆ ก็ออกกฎหมายมายกเลิกหนี้สิน

ให้ลูกหนี้บางกลุ่มเสียเฉย ๆ ซึ่งถือเป็นการรังแกเจ้าหนี้ เป็นต้น


8.คำถามของผมก็คือ สิ่งที่ควรอยู่เหนือเสียงข้างมาก

มีเพียงลัทธิเสรีนิยมเท่านั้นหรือ

มีระบบคุณค่าอื่นอีกหรือไม่ที่สำคัญเกินกว่าจะอยู่ภายใต้เสียงข้างมาก

แม้แนวคิดของเสรีนิยมจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ระดับหนึ่ง

แต่ในปัจจุบัน ผมเชื่อว่า อาศัยเพียงแนวคิดเสรีนิยม

น่าจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะการใช้อำนาจบางลักษณะ

แม้มิได้กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานโดยตรง

แต่กลับสร้างปัญหาให้แก่สังคมอย่างใหญ่หลวง ดังที่พบเห็นจาก

วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในประเทศอเมริกาที่เป็นต้นตำรับ

ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและประชาธิปไตย

แสดงว่าแนวคิดทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม

แต่มันควรจะต้องมีการเพิ่มแนวคิดหรือลัทธิบางอย่างเสริมเข้าไป

เพื่ออุดช่องว่างที่เกิดจากแนวคิดทั้งสองฝ่าย

และไม่อยู่ภายใต้แนวคิดทั้งสองฝ่ายนั้น


ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับคำว่า Good Governance

หรือที่คุ้นหูกันว่า หลักธรรมาภิบาล แต่มีคำ ๆ หนึ่งที่คนไทย

น่าจะรู้จักกันดีและน่าจะมีความหมาย

สมบูรณ์กว่าธรรมาภิบาล นั่นคือ "ธรรมาธิปไตย" หรือการใช้อำนาจ

โดยยึดโยงกับความถูกต้อง ในความคิดผม

สิ่งที่เรียกว่า Good Governance

หรือธรรมาธิปไตย ก็ถือเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งเช่นกัน

เหมือนกับกลไกตลาดตามแนวคิดของ อาดัม สมิธ

และการใช้อำนาจแทรกแซง Good Governance

ย่อมถือเป็นการแทรกแซงกฎธรรมชาติของการปกครอง

อันจะส่งผลให้การปกครองเกิดการบิดเบือนและบิดเบี้ยว

ในอดีต เคยมีคำกล่าวของนักปราชญ์จีนยุคโบราณ

กล่าวเปรียบเทียบการปกครองเอาไว้ว่า

การปกครองนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงม้า นั่นคือ

"ให้ขจัดสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของม้าออกไปเสีย"

ถ้า Good Governance เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ของการปกครอง สิ่งที่ผู้ปกครองพึงกระทำก็คือ

การขจัดอุปสรรคของ Good Governance ให้หมดสิ้นไป


ขณะนี้ยังไม่มีการสร้างอุดมการณ์หรือลัทธิหรือสถาบัน

เพื่อรองรับแนวความคิดนี้ กลไกทางการเมืองในปัจจุบัน

ยังคงอิงอยู่กับเสียงข้างมากหรือการพิทักษ์

ผลประโยชน์ของปัจเจก แม้ท่านพุทธทาสเคยเสนอคำๆ หนึ่ง

นั่นคือ "ธรรมมิกสังคมนิยม" แต่สำหรับนักวิชาการที่อิงกับ

แนวคิดแบบอัสดงคตนิยม แล้ว

มันเป็นเพียงนามธรรมที่ยังมิอาจจับต้อง

ทว่า หากจะมีสถาบันที่รองรับแนวคิดธรรมาธิปไตย

หรือ Good Governanceได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นสถาบัน

ความสำคัญของสถาบันไม่ใช่เป็นเพียงการประสานประโยชน์

และอุดช่องว่างให้กับสังคมอย่างที่นักวิชาการ

สายอัสดงคตนิยมเข้าใจเท่านั้น แต่หัวใจของสถาบันคือ

การนำเอาอุดมคติของพุทธศาสนาที่ยืนยัน

ในเรื่อง Good Governance หรือกฎธรรมชาติของการปกครอง

มาประยุกต์ใช้เป็นหลักในการปกครองอย่างเป็นรูปธรรม

การนิยามความหมายของผลประโยชน์มหาชนโดยสถาบันจึง

มีความแตกต่างกับกับฝ่ายการเมืองที่อิงกับเสียงข้างมาก

เพราะผลประโยชน์มหาชนตามแนวทางของสถาบันนั้น

ไม่ได้อิงอยู่กับความนิยม แต่อยู่บนพื้นฐาน

ของความเป็นจริงตามธรรมชาติหรือวิถีชีวิตของมนุษย์ในท่ามกลาง

ความหลากหลาย ข้อสังเกตุอย่างหนึ่งก็คือ

การดำเนินการใด ๆ ของสถาบันมักไม่ส่งผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม

หรือสร้างภาระแก่สังคมเหมือนกับนโยบายของรัฐในหลาย ๆ เรื่อง

แต่ปัญหาก็คือ ลำพังสถาบันก็มีข้อจำกัด

และมิอาจจัดการความหลากหลายของสังคมได้ทุกเรื่อง

สังคมจึงจำเป็นต้องมีกลไกบางอบ่างเพื่อรองรับแนวคิดนั้น


9.สิ่งที่ควรถกเถียงก็คือ การรังสรรค์สถาบันทางสังคมที่จะรองรับ

แนวคิด Good Governance หรือ ธรรมมาธิปไตยขึ้นมา

ควรจะมีลักษณะอย่างไร และจะเอาเงื่อนไขอะไรมาเป็นเกณฑ์ชี้วัดว่า

สิ่งที่ทำนั้นเป็น Good Governance หรือ ธรรมมาธิปไตย

เรื่องนี้ คงต้องคุยกันอีกยาว และต้องอาศัยเวลา

ในการวิวัฒนาการทางความคิด แต่ที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ก็คือ

อำนาจฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่

ค้ำจุนแนวคิดเสรีนิยม ฝ่ายตุลาการเกิดขึ้นมาเพื่อพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐาน

ของปัจเจกชนจากอำนาจรัฐที่อิงอยู่กับเสียงข้างมาก ประโยคที่ว่า

"ศาลต้องเป็นอิสระ" จึงมีความหมายถึงการเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ

ที่อิงอยู่กับเสียงข้างมากนั่นเองหากสังคมจะมีสถาบันหรือองค์กร

ที่อยู่บนพื้นฐานของGood Governance พื้นฐานที่สำคัญ

ก็น่าจะเหมือนกับศาล นั่นคือ ต้องเป็นอิสระจากเสียงข้างมาก

และเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของปัจเจก


10.สิ่งที่ผมเสนอนี้ สำหรับนักวิชาการที่ฝักใฝ่แนวทางอัสดงคตานุวัต

มันคงไม่เป็นที่ยอมรับ ยากที่จะทำความเข้าใจ และอาจมองว่า

เป็นเรื่องเพ้อฝัน....ครับ มันก็อาจจะจริง

แต่หากมองย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งที่ ฌอง ฌาค รุสโซ

เสนอแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม

มันก็เป็นเรื่องเพ้อฝันในสมัยนั้นเหมือนกัน

และจะว่าไป ทฤษฎีสัญญาประชาคมก็ยังมีอีกหลายเรื่อง

ที่ยังมิอาจอธิบายได้ กระทั่งคำอธิบายบางอย่างก็ไม่น่าเชื่อถือ

อ.อานนท์ อาภาภิรม เคยกล่าวไว้ว่า

ทฤษฎีสัญญาประชาคม แม้จะมีคุณค่าในฐานะ

เป็นรากฐานของประชาธิปไตยแต่ทฤษฎีนี้

มิได้อธิบายถึงสภาพธรรมชาติไว้อย่างแจ่มแจ้งว่ามีลักษณะอย่างไร

หากจะมองในด้านประวัติศาสตร์แล้ว ทฤษฎีนี้มีหลักการที่ไม่น่าเชื่อถือ

โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าตอนเริ่มแรกนั้น

มนุษย์มีชีวิตอยู่ตามสภาพธรรมชาติ

ต่อมามนุษย์จึงได้ทำสัญญากันเพื่อก่อตั้งรัฐและรัฐบาล

ทั้ง ๆ ที่มนุษย์ในสมัยก่อนนั้น

ยังไม่น่ามีความรู้และความชำนาญที่จะปกครองตนเองเลย

และเมื่อพิจารณาในแง่ของสัญญาซึ่งหมายความถึง

สัมพันธภาพที่ปัจเจกชนได้กระทำขึ้นด้วยความพอใจและความสมัครใจ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับรัฐนั้นไม่ใช่สัญญา

ด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้เพราะมนุษย์ได้เกิดขึ้นมาในรัฐหนึ่ง

ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงให้พ้นจากพันธะหรือการควบคุมของรัฐได้

นอกจากนั้นสัญญาจะผูกพันเฉพาะบุคคลผู้เซ็นสัญญา(แสดงเจตนา) เท่านั้น

ไม่ใช่ผูกพันถึงลูกหลานหรือผู้สืบสกุลของผู้ทำ

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาถึงเรื่องสัญญาโดยเคร่งครัด

รัฐจะหมดสภาพในทันทีที่ผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่ายตายไป

และรัฐจะมีสภาพความเป็นรัฐต่อไปได้ก็ต่อเมื่อลูกหลานของผู้ทำสัญญา

มีความประสงค์ที่จะทำสัญญาต่อไปอีก

ทฤษฎีสัญญาประชาคมคงมุ่งใช้เพียงอธิบายถึง

มูลเหตุจุงใจ(motivation) ที่ทำให้มนุษย์ตกลงทำสัญญาอยู่ร่วมกันในสังคม

อนึ่ง ทฤษฎีนี้ได้แยก "มนุษย์" กับ "สังคม"เป็นคนละส่วน กล่าวคือ

มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสังคมแต่ประการใด

สังคมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นภายหลัง

ทฤษฎีนี้จึงขัดกับแนวคิดทางสังคมวิทยาที่ว่า

มนุษย์เกิดขึ้นมาในสังคม และมนุษย์จะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้

ก็ต่อเมื่อเขาเหล่านั้นเจริญเติบโตภายในสังคม

และได้เรียนรู้ระเบียบสังคม(socialization)เท่านั้น


ผมยกคำอธิบายของ อ.อานนท์ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า

แม้แต่ทฤษฎีที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยและเสรีนิยม

อย่างทฤษฎีสัญญาประชาคม ก็ยังมีช่องโหว่หลายเรื่อง

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสังคมในปัจจุบันที่สภาพปัญหา

มีความหลากหลายซับซ้อนยิ่งกว่าในอดีต

บางที แนวคิด good governance

อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยอุดช่องว่างในสังคมได้



Create Date : 25 เมษายน 2553
Last Update : 30 มีนาคม 2556 9:22:11 น. 0 comments
Counter : 998 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.