Group Blog
 
 
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
11 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
สิทธิตามธรรมชาติ มีจริงหรือ


พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของ

คำว่า "สิทธิ" เอาไว้ว่า อำนาจอันชอบธรรม เช่น

บุคคลมีสิทธิและ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้

ในทางกฏหมาย "สิทธิ" คือ ประโยชน์ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง

โดยสรุป "สิทธิ" ต้องมีลักษณะดังนี้

1.อ้างอิงได้

2.เรียกร้องได้

3.บังคับได้

ในปัจจุบัน การปกครองในแต่ละประเทศย่อมต้องอิงหลักกฎหมาย

ดังนั้น สิทธิ จึงได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมาย

แต่หากเป็นสภาวะตามธรรมชาติ

ใครรับรอง ใครคุ้มครองให้ หรือใครจะตัดสินว่า ภาวะนั้น เป็นภาวะที่ชอบธรรม

ไม่มีครับ ตามธรรมชาตินั้น ไม่มีใครรับรองและคุ้มครองภาวะใด ๆ ให้ทั้งสิ้น

ถ้าพูดให้ชัดก็คือภายใต้ธรรมชาตินั้น มนุษย์ไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น

มนุษย์มีแต่หน้าที่เท่านั้น

ท่านพระอาจารย์ประยุทธ์ กล่าวไว้น่าสนใจว่า

ตามธรรมชาตินั้น มนุษย์ไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อมนุษย์ปรารถนาสิ่งใด มนุษย์ต้องสร้างเหตุเสียก่อน

ผลหรือสิ่งที่ปรารถนาจึงจะตามมา อาทิ ที่ดินนั้นเป็นของมนุษย์โดยสมมติเท่านั้น

มนุษย์ไม่สามารถสั่งให้พืชพรรณธัญญาหารงอกออกมาจากที่ดินผืนนั้น

แต่เมื่อมนุษย์ปรารถนาผลไม้ใด มนุษย์ต้องสร้างเหตุขึ้นมา นั่นคือ

ปลูกต้นไม้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ผลไม้นั้นจึงจะบังเกิดขึ้น

พูดอีกอย่างก็คือ มนุษย์ต้องทำหน้าที่ มนุษย์จึงจะได้ผลที่ต้องการ

ดังนั้น ภายใต้กฎธรรมชาติ สิ่งที่เรียกกันว่าสิทธิตามธรรมชาตินั้น

แท้จริงแล้ว มนุษย์หามีไม่ ตามธรรมชาติ มนุษย์มีเพียงหน้าที่

หรือสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่าสิทธินั้น แท้จริงมันคืออะไรกันแน่

ในความเป็นจริง ทุกสิ่งเป็นปัจจัยที่สืบต่อเนื่องกัน

เหมือนกับการเกิดขึ้นมาของต้นไม้ต้นหนึ่ง

มันต้องอาศัยหลายปัจจัย อาทิ ดิน น้ำ ปุ๋ย แสงแดด

มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาได้ด้วยตัวมันเอง

สิ่งที่เรียกว่าสิทธิจึงมิใช่ภาวะที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ ตามธรรมชาติ

หรือเป็นอิสระจากปัจจัยอื่นโดยสิ้นเชิง

แต่มันเกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน

และเมื่อปัจจัยที่เกื้อกูลต่อสิทธินั้นหมดไป ภาวะแห่งสิทธินั้น ก็ย่อมดับไปด้วย

สิทธิจึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดดับได้ ไม่ใช่ภาวะที่จะคงอยู่ถาวรตลอดไป

สรุปคือ "สิทธิ" จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะมันมีเหตุให้เกิด


ทำไมผมต้องยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมากล่าว

นั่นก็เพราะ พื้นฐานของประชาธิปไตยตะวันตก

รวมถึงประชาธิปไตยในไทยด้วยนั้น เกิดจากความเชื่อในเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ

และมองสิทธิว่าเป็นอะไรสักอย่างที่แยกต่างหากจากปัจจัยอื่น

มันเป็นการมองแบบแยกส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

อาทิ การมองว่า สิทธิไม่มีความเกี่ยวพันกับคุณธรรม

แท้จริงแล้วมนุษย์จะมีสิทธิอย่างแท้จริง

ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยนี้เกื้อหนุนอยู่ คุณธรรมจึงมิใช่เพียง Idealistic

แต่มันคือสิ่งที่จะเสริมให้มนุษย์เข้าถึงสิทธิได้มากกว่าเดิม

การปฏิรูปการเมือง จึงต้องเอื้อต่อการสร้างคุณธรรม

หรือมาตรฐานแห่งพฤติกรรมให้เกิดขึ้น

ที่ผมกล่าวมานี้ มิใช่ผมหมายความว่า จะต้องทำลายระบบเลือกตั้ง

แล้วแต่งตั้งคนบางคนขึ้นมาปกครองนะครับ

ผมเพียงแค่ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันระหว่างเหตุปัจจัยเท่านั้น

แน่นอน การสถาปนาระบบการเมืองที่ว่านี้

มันไม่ง่ายหรอกครับ แต่เราจำเป็นต้องทำ


เหตุปัจจัยแห่งสิทธิ

ก่อนอื่นขอให้คุณวางทฤษฏีของดาร์วินและแนวคิดอื่น ๆ สักครู่

แล้วหลับตา ลองจินตนาการดูว่า มีสิ่งใดบ้างในโลกนี้

ที่สามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาหรืออิงอาศัยสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง

ไม่ว่าจะสิ่งมีชีวิตก็ดี หรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ดี

หรือมีสิ่งใดบ้างที่อยู่ได้โดด ๆ โดยไม่ต้องอิงอาศัยกับปัจจัยใด ๆ เลย

ค่อย ๆ คิดครับ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะอธิบาย


คำถามต่อมา คือมีสิ่งมีชีวิตใดบ้างที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

โดยไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์หรืออิงอาศัยกับปัจจัยอื่นเลย

ตรงนี้ ก็เป็นคำถามที่สำคัญเช่นกัน

เอาล่ะ ลองมาดูว่า เราคิดตรงกันหรือเปล่า

สำหรับผมขอตอบว่า ไม่มีครับ บนโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเกิดขึ้นมาโดด ๆ

และเป็นอิสระโดยไม่อิงอาศัยกับสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง

ไม่ว่าจะสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิต ตามทฤษฏีของดาร์วินที่พยายามอธิบายถึง

ความสามารถในการปรับตัวเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้น

ดาร์วินพูดไม่ผิดหรอกครับ

แต่ผมมองว่า การที่พืช สัตว์หรือมนุษย์ที่แข็งแรงที่สุด

จะสามารถมีชีวิตรอดและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป

ความสามารถในการปรับตัว เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

หากปราศจาก สภาพเกื้อกูลจากปัจจัยอื่นโดยสิ้นเชิง

หรือสภาพแวดล้อมมีสภาพเป็นสูญญกาศโดยสิ้นเชิง

ผมเชื่อว่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้แน่นอน

ดังนั้น การสืบเผ่าพันธุ์ จึงเป็นความ "สัมพัทธ์"

ที่ต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยและแม้กระทั่ง

สภาพการมีชีวิตที่ดูเหมือนว่ามีความขัดแย้งกันก็ยังมีการอิงอาศัยกัน

เรื่องนี้ไม่ใช่ทฤษฏี แต่มันเป็นกฏสากลที่มีผลทั้งต่อธรรมชาติและสภาพสังคม

กฏนี้จะมีผลต่อสิทธิอย่างไร ผมจะอธิบายภายหลังครับ


ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิกับสัญชาติญาณนั้น

ผมเข้าใจว่า สภาวะแห่งสิทธิกับสภาวะแห่งสัญชาติญาณนั้น มีความแตกต่างกัน

สภาวะแห่งสิทธิคือ สภาวะที่มีการรับรอง หรือได้รับการคุ้มครองจากอำนาจบางอย่าง

ซึ่งเป็นอำนาจที่ทำให้สภาวะนั้นเกิดความชอบธรรมและนำมาซึ่ง

1.อำนาจในการอ้างอิง

2.อำนาจในการเรียกร้อง

3.อำนาจในการบังคับ

คำว่า "ความชอบธรรม" นี้เองจึงเป็นสิ่งที่ทำให้สิทธิแตกต่างกับสภาวะของสัญชาติญาณ

เพราะสัญชาติญาณ ไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองหรือ

คุ้มครองหรือมีความชอบธรรมใดๆ

แต่สัญชาติญาณเป็นเพียงสภาวะหนึ่งของสิ่งมีชีวิตซึ่งตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก

พิจารณาต่อเลยนะครับ

ในท่ามกลางสภาวะธรรมชาติ ใครหรืออะไรคือผู้กำหนดให้การกระทำใด

เป็นการกระทำที่เป็นความชอบธรรม

หรือตามธรรมชาติ ที่มนุษย์และสัตว์ต่างต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด

อะไรคือสิ่งที่สร้าง "ความชอบธรรม" ให้กับความอยู่รอดนั้น

ผมขอตอบว่า ไม่มี

ไม่มีสิ่งใดเลยที่สร้างความชอบธรรมให้กับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตใด ๆ

การที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งจะอยู่รอดหรือไม่นั้น

มันเป็นเพียงกระบวนการอิงอาศัยแห่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องอันหลากหลาย

แน่นอน รวมทั้งปัจจัยด้านความสามารถของสิ่งมีชีวิตนั้นเองด้วย

และแต่ละปัจจัยเหล่านั้น ก็ไม่มีอำนาจใดจะมากำหนดให้ปัจจัยใดต้องเกื้อกูล

ต่อสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ

ด้วยเหตุนี้ สภาวะสิทธิ จึงไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ

สิ่งมีชีวิตเพียงแต่ทำหน้าที่ของตนเองเท่านั้น

แต่หน้าที่นั้นมันจะนำไปสู่การสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปหรือสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ทันทีที่มนุษย์สร้างแบบแผนบางอย่างขึ้นแล้วกำหนดว่า

ภาวะนั้น คือ "ความชอบธรรม"

เมื่อนั้น การกระทำที่แต่เดิมเป็นเพียงสัญชาติญาณก็จะกลายมาเป็น "สิทธิ"

เรื่องนี้เห็นได้ชัดในประมวลกฏหมายอาญาที่บัญญัติในเรื่องของ "สิทธิการป้องกันตนเอง"

แม้ในบางกรณีการกระทำนั้นอาจเป็นสัญชาติญาณการป้องกันตนเอง

แต่เมื่อสัญชาติญาณเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่มนุษย์กำหนด

การกระทำนั้น ย่อมมีความชอบธรรมและกลายเป็น "สิทธิ" ที่ได้รับการยอมรับ

แต่หากการกระทำนั้น ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสิทธิการป้องกันตนเอง

การกระทำนั้นย่อมขาดความชอบธรรมและไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิ

สิทธิจึงเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์หรือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น

ซึ่งเป็นสิ่งสมมติที่ไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ

ดังนั้นแนวคิดในเรื่องสิทธิตามธรรมชาติตามทฤษฏีสัญญาประชาคม

จึงเป็นการนำเสนอที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สิทธิจะมิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

แต่กฏที่ว่า "ไม่มีสิ่งใดที่อยู่ได้โดยอิสระและไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น"

ก็สามารถนำมาอธิบายลักษณะของสิทธิได้เช่นกัน



องค์ประกอบของสิทธิ

เท่าที่ผมสังเกตุและสรุปจากความหมายของสิทธิ

สิทธิน่าจะต้องมีปัจจัยที่อิงอาศัยกันดังนี้ คือ

1.อำนาจที่จะให้การรับรองหรือคุ้มครองภาวะนั้น

2.เงื่อนไขที่ทำให้ภาวะนั้นเป็นความชอบธรรม อาทิ

-เงื่อนไขด้านบุคคล

-เงื่อนไขด้านวิธีการ

-เงื่อนไขด้านเวลา

-เงื่อนไขด้านสถานที่

3.การยอมรับจากสังคม

องค์ประกอบทั้งสามนี้ต้องอิงอาศัยกัน

ภาวะแห่งสิทธิจึงจะปรากฎขึ้นและสามารถแสดงผลของมันได้

หากขาดองค์ประกอบข้อใด สภาวะแห่งสิทธิย่อมไม่ปรากฎ

หรือหากก่อนหน้านี้สภาวะแห่งสิทธิเคยปรากฏมาก่อน

แต่ภายหลังองค์ประกอบเหล่านี้มีไม่ครบถ้วน

สภาวะสิทธิก็ย่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น สภาวะสิทธิจึงต้องอยู่ภายใต้กฏเหล็กที่ว่า

"ไม่มีสิ่งใดที่อยู่ได้โดยอิสระและไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น"

เฉกเช่นเดียวกับสภาวะตามธรรมชาติ

ปัญหาก็คือสิทธิ เกิดมาเพื่อรับใช้เป้าหมายอะไร

ประเด็นที่ผมให้ความสำคัญมากอย่างหนึ่ง นั่นคือ

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมกับสิทธิ

คุณธรรม แปลกันตรง ๆ ก็คือ

คุณ แปลว่า ประโยชน์

ธรรม แปลว่า หน้าที่

คุณธรรม ก็คือการทำหน้าที่อันนำมาซึ่งประโยชน์

ซึ่งไม่ผูกพันกับ บุคคล กาลเวลา สถานที่

ไม่ว่าจะทำโดยใคร ทำที่ไหน ทำเมื่อไร

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณธรรมต้องไม่มีสังกัด

ประโยชน์นั้นก็มีหลายระดับ

คุณธรรมที่ประเสริฐก็คือคุณธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

หากพิจารณาจากความหมายของคุณธรรมแล้ว

คุณธรรมจึงเป็นเสมือนหางเสือที่ทำให้สภาวะสิทธิ

เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อมนุษย์ นั่นหมายความว่า สิทธิ นั้น โดยตัวมันเอง

หากครบเงื่อนไขแห่งความสมบูรณ์ของสิทธิแล้ว

มันก็ถือเป็นสิทธิที่สมบูรณ์เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ

มันจะเป็นสิทธิที่มีประโยชน์หรือโทษแก่มนุษย์

สำหรับผมแล้ว สิทธิที่ไม่มีคุณธรรมมาคอยกำกับ

ในบางกรณี มันอันตรายไม่ต่างกับสภาวะสัญชาติญาณ

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือการสร้างระบบหรือกลไกทางการเมือง

ที่อิงอยู่กับคุณธรรม ผมเชื่อว่าระบบที่ว่านี้ ไม่ได้ขัดกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ปัญหาก็คือ ในสังคมไทยปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดแยกคุณธรรมออกจากสิทธิ

แยกความดีออกจากความชอบธรรม

ใครกล่าวอ้างเรื่องคุณธรรม ก็จะถูกมองว่า เป็นพวก Idealistic

ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง บางครั้งถึงกับกล่าวว่า

ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนี้ก็ถือเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้

จริงหรือครับ ผมไม่แน่ใจ

แต่ตอนนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่าคุณธรรมเสียแล้ว

เพราะมันมีนัยยะของความเป็นนามธรรมสำหรับหลาย ๆ คน

แต่ผมจะขอใช้คำว่า "มาตรฐานแห่งพฤติกรรม" คงชัดเจนขึ้นนะครับ

บุคคลที่อยู่ในฐานะที่แตกต่างกัน ย่อมต้องมีมาตรฐานแห่งพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

เราคงไม่อยากเห็นผู้ปกครองประเทศเดินออกมาจากบ่อนการพนัน

แล้วอ้างต่อสังคมว่า มันเป็น "สิทธิ" ของเขา

หรือผู้นำบางรายที่มีรายได้มหาศาลแต่ไม่ยอมเสียภาษี

โดยอ้างว่า มันเป็น "สิทธิ" ของเขาตามกฏหมาย

ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมส่อให้เห็นว่ามีการพยายามหลีกเลี่ยงชัดเจน

นี่คือสภาพสังคมที่สิทธิกับมาตรฐานแห่งพฤติกรรมขัดแย้งกัน

ผู้ปกครองสมควรมีมาตรฐานแห่งพฤติกรรมที่เหนือกว่าคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป

ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ไม่มีประเทศใดที่ยอมรับสิทธิในลักษณะนี้

หลายรายต้องกระเด็นจากตำแหน่งด้วยเรื่องชู้สาว

ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าเรื่องภาษีอย่างเทียบกันไม่ได้

เพราะหากปล่อยปะละเลย ในที่สุด สิทธิก็จะเป็นเพียงเครื่องมือ

ในการแสวงหาผลประโยชน์ท่ามกลางความแตกต่างกันทางด้านสถานภาพ

เพียงแต่กลไกที่มาตรวจสอบเรื่องแบบนี้ มันไม่ใช่องค์กรอิสระที่ไหน

แต่มันคือ วัฒนธรรมที่เข้มแข็งของคนในสังคม




Create Date : 11 เมษายน 2552
Last Update : 30 กรกฎาคม 2555 22:11:12 น. 0 comments
Counter : 1417 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.