Group Blog
 
 
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
11 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ


โดย: เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

------------------------------------------------------------------

นมัสการ พระคุณเจ้า กราบเรียนพณ ฯ องคมนตรี พณ ฯ

อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านศาสตราจารย์ประเวศ วะสี


ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน และพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ก่อนอื่น คงต้องขอขอบคุณมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ที่เมตตาเชื้อเชิญให้ผมมาแสดงความคิดเห็น อันที่จริงผมมีความรู้ในเรื่อง

พุทธธรรมน้อยมาก กล่าวได้ว่ายังรู้ไม่พอที่จะมาแสดงปาฐกถาธรรมในโอกาสเช่นนี้

ยิ่งต้องมาพูดอยู่ท่ามกลางศิษย์สายตรง ที่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนโดย

ท่านอาจารย์พุทธทาสด้วยแล้ว ผมยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังแสดงความโอหัง

บังอาจอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้นในเบื้องแรก คงต้องเรียนว่าสิ่งที่จะ

พูดต่อไปนี้ มาจากความเข้าใจอันจำกัดของผมเอง ซึ่งอาจจะขาดตกบก

พร่องผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของครูบาอาจารย์ หรือไม่ตรงตามหลักธรรม

ที่บางท่านเข้าใจอยู่บ้าง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือสา โดยส่วนตัวแล้ว

ผมเองไม่มีวาสนาได้บวชเรียนโดยตรงกับท่านอาจารย์พุทธทาส ไม่เคย

แม้แต่จะได้ไปกราบท่านสักครั้งในยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่โชคยังดีที่ท่าน

ได้ทิ้งมรดกธรรมไว้มากมาย ทำให้ผมมีโอกาสได้ศึกษา และทำความเข้าใจ

พุทธธรรม โดยผ่านคำสอนของท่านอยู่บ้าง เช่นนี้แล้ว ผมจึงรู้สึกว่าท่านเป็น

ครูที่สำคัญคนหนึ่ง ไม่ใช่ครูของผมเท่านั้น หากเป็นครูของคนไทยทั้งประเทศ

และเป็นครูของโลก เนื่องจากวันนี้เป็นวาระที่พวกเรามาชุมนุมกัน เพื่อรำลึก

ถึงพระคุณของท่านอาจารย์พุทธทาส เรื่องที่จะพูดจึงต้องเป็นเรื่องธรรมะ

เท่านั้น ออกนอกรัศมีธรรมไม่ได้ อย่างไรก็ดี การพูดถึงหลักธรรมไม่ได้

หมายความว่า ต้องตัดเรื่องทางโลกทิ้งไป เพราะธรรมะโอบอุ้มโลกทั้งโลกไว้แล้ว

ในฐานะกฏเกณฑ์ที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ เราจะเข้าใจธรรมะได้ก็โดยผ่าน

การพิจารณาประสบการณ์ทางโลกเป็นสำคัญ ปรมัตถ์สัจจะกับสมมุติสัจจะ

แม้จะเป็นความจริงต่างระดับ แต่ก็เกี่ยวโยงกัน ดังนั้น ที่ผมกล่าวว่าจะ

ต้องพูดเรื่องธรรมะเท่านั้น จึงไม่ได้หมายถึงการตัดเหตุการณ์ต่างๆ

ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ออกไป หากหมายถึงการพิจารณาเรื่องราวทั้งหลาย

ประดามี โดยผ่านมุมมองของหลักธรรม พูดกันตามความจริง หัวข้อที่

ผมเลือกมาสนทนากับท่าน เป็นหัวข้อที่ใหญ่มาก ออกจะเกินกำลังของ

ผมไปพอสมควร แต่ที่ผมเลือกคุยกันล้อมรอบหัวข้อ'ความว่าง'

หรือที่บาลีเรียกว่าสุญญตา ก็เพราะเห็นว่านี่เป็นหัวใจแห่งคำสอนของ

ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านอาจารย์เองเคยกล่าวไว้ว่า 'ธรรมที่ลึกที่สุด

ก็คือเรื่องสุญญตา นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมา

และสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมี

ตถาคตเกิดขึ้นมา' แน่ละ ในการสนทนาเรื่องลึกขนาดนี้ ผมเองก็เสี่ยง

ต่อการแสดงความโง่เขลาเบาปัญญาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ผมยินดีน้อมรับ

การเสี่ยงดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการบูชาครู ถามว่าความว่างหรือสุญญตาธรรมคืออะไร?

หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้ว แต่ผมจะขออนุญาตทบทวนสั้นๆดังนี้ว่า

ความว่างในภาษาธรรม ไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่าโล่งเตียนไม่มีอะไรเลย

ตามที่เข้าใจกันในภาษาสามัญ หากหมายถึงสภาพความจริง ที่สรรพสิ่งในโลก

ล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้นและมีอยู่ ด้วยเหตุนี้แต่ละสิ่ง จึงปราศจากแก่นสารในตัวเอง

(self-nature) หรือพูดอีกแบบหนึ่ง คือไม่มีอัตลักษณ์แยกต่างหาก

(separate identity) การไม่มีแก่นสารในตัวเองภาษาสันสกฤตเรียกว่าไม่มี สวภาวะ

แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอยู่จริง หากมีอยู่โดยสัมพัทธ์

และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดอุบัติขึ้นได้โดยอิสระ ดังนั้นหลวงพ่อนัทฮันห์

อาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงจึงบอกว่า ความเป็นสุญญตาเกี่ยวโยงอยู่กับความ

เป็นอนัตตาอย่างใกล้ชิด สิ่งต่างๆ 'แค่ว่างจากตัวตน แต่เต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง'

หรือพูดตามท่านคุรุนาคารชุน ก็ต้องบอกว่า 'เพราะความว่างนี่แหละ

ที่ทำให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายก่อรูปขึ้นมาได้' กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ

สุญญตาหมายถึงสภาพของความจริงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามเหตุปัจจัย และหมายถึงความจริงแบบองค์รวม

มากกว่าความจริงแบบแยกส่วน เช่นนี้แล้ว ท่านทั้งหลายคงจะนึกออกทันทีว่า

หลักธรรมเรื่องความว่างนั้น เกี่ยวโยงกับคำสอนของพระพุทธองค์เรื่อง

อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสเอง

เวลาสอนเรื่องความว่าง ก็ไม่ได้แยกประเด็นออกจากอิทัปปัจจยตา

ท่านยืนยันว่า สิ่งนี้เป็นกฏเกณฑ์ธรรมชาติที่กำหนดความเป็นไปในโลกและจักรวาล

ซึ่ง 'มีอำนาจเด็ดขาดเหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่จะบันดาลสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นไป

ในลักษณะใดก็ตาม...ฉะนั้นพุทธ บริษัทก็มีพระเจ้าคืออิทัปปัจจยตา

เป็นสิ่งที่บันดาลให้สิ่งอะไรเกิดขึ้นมา แล้วก็ควบคุมสิ่งนั้นๆไว้ แล้วก็ทำให้

สิ่งเหล่านั้นยุบสลายลงไป เป็นคราวๆ แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี้คือพระเจ้าอิทัปปัจจยตา

ที่ทำหน้าที่ของมัน' พูดง่ายๆคือ ท่านอาจารย์พุทธทาสเห็นว่า กฏแห่งความว่างนั้น

มีพลานุภาพเทียบเท่าพระเจ้าในศาสนาอื่น และสามารถให้คุณให้โทษได้

แต่เป็นการให้คุณให้โทษไปตามกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ตามอำเภอใจของ

ผู้มีอำนาจ หรือให้คุณให้โทษไปตามการร้องขอของสรรพสัตว์ ถามว่าแล้ว

กฏอิทัปปัจจยตาคืออะไร ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่อย่างสอดคล้องกับกฏเกณฑ์ดังกล่าว

ซึ่งหมายถึงว่าอยู่ได้โดยปกติสุขโดยไม่ถูกลงโทษลงทัณฑ์? ต่อเรื่องนี้

คงจะต้องจำแนกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะพูดกันตามความจริง

ธรรมชาติเลื่อนไหลไปตามกฏดังกล่าวอยู่แล้ว มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่บ่อยครั้ง

หยั่งไม่ถึงกฏแห่งการไร้ตัวตน กฏแห่งการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นมีอยู่

ตลอดจนกฏแห่งการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย ในโลกของธรรมชาติ

ถ้าเราช่างสังเกตุสักหน่อยก็จะพบว่า ปรากฏการณ์ทั้งปวงล้วนก่อรูป ตั้งอยู่

และแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

พูดให้งดงามก็ทุกอย่างในโลกธรรมชาติล้วนดำเนินไปในอ้อมกอดของสุญญตา

สรรพสิ่งยืมตัวเองมาจากการมีอยู่ของสิ่งอื่น ใน ทะเลมีสายฝน ในหยาดฝน

มีทะเลกว้าง ละอองไอในก้อนเมฆ แท้จริงแล้วคือท้องทะเลที่กำลังเดินทาง

เมื่อเราเห็นฝนก็คือเห็นทะเล เห็นทะเลก็คือเห็นฝน เกี่ยวกับกฏอิทัปปัจจยตา

หรือปฏิจจสมุปบาทนั้น ครูบาอาจารย์ผู้รู้ ยังมีทัศนะต่างกันอยู่เล็กน้อย

บางท่านเคร่งครัดตามพุทธวจนะที่เริ่มต้นด้วย อวิชฺชาปจฺจยา สํขารา

(เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี) ตามด้วยเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณ

จึงมี ต่อเนื่องไปจนครบ12 อาการ จึงมองว่าทั้งหมดเป็นสายโซ่แห่งทุกข์

ไม่ว่าจะไล่เหตุปัจจัยในลักษณะอนุโลมหรือปฏิโลมก็ตาม การพิจารณาเช่นนี้

หมายความว่า อาการหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอีกอาการหนึ่ง เช่นอวิชชาทำให้

เกิดสังขาร (หรือการปรุงแต่ง) จากนั้นสังขารกลายเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

ไล่ไปเรื่อยๆจนถึงอาการของชาติซึ่งมีภพเป็นปัจจัย พูดอีกแบบคือ นี่เป็น

การเห็นปรากฏการณ์ทางโลกไล่เรียงไปตามสายโซ่ของเหตุและผล

ซึ่งผลสามารถกลายเป็นเหตุปัจจัยส่งต่อ ให้เกิดผลอื่นๆต่อเนื่องไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี ครูบาอาจารย์ผู้รู้บางท่านเห็นว่า การตีความปฏิจจสมุปบาท

ในลักษณะอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผลในทิศเดียวอาจจะอธิบายความจริงไม่ได้ทั้งหมด

ดังนั้นจึงเน้นไปในการพิจารณา ปฏิสัมพันธ์ของนานาปัจจัยซึ่งก่อให้เกิด

ปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นในโลก ซึ่งหมายถึงว่าเหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา

ไม่จำเป็นว่าอย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุของอีกอย่างหนึ่ง การมีอยู่ของสิ่งใดก็ตาม

เป็นผลมาจากการชุมนุมของนานาปัจจัย เมื่อปัจจัยพร้อมสิ่งนี้จึงเกิด

เมื่อปัจจัยเปลี่ยนสิ่งนั้นจึงดับ เหมือนเมล็ดพันธุ์ไม้ผลิงอก ปัจจัยต้องพร้อมทั้งดิน

น้ำ แสงตะวัน ในพระไตรปิฎกเอง แม้คำอธิบายส่วนใหญ่จะให้พื้นที่กับ

การลำดับ 12 อาการไปในทิศทางเดียว โดยเริ่มต้นจาก อวิชฺชาปจฺจยา สํขารา

แต่ก็มีคำอธิบายอยู่ในพระอภิธรรมว่า แม้แต่อวิชชาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ

ปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็เป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้สังขารยังสามารถย้อนมา

เป็นปัจจัยก่อให้เกิดอวิชชาได้เช่นกัน อันนี้ถ้าให้ผมตีความ ก็คงต้องบอกว่า

การแยกเหตุกับผลอย่างเด็ดขาด อาจจะไม่ถูกต้องนัก บางครั้งสรรพสิ่งอาจจะ

เป็นเหตุและผลของกันและกัน ในปราฏการณ์ที่เป็นวัฏจักรเวียนวน

ยกตัวอย่างเดิม เช่นความสัมพันธ์ระหว่างฝนกับทะเล เราจะบอกว่าฝนมา

จากทะเลก็ได้ หรือทะเลมาจากฝนก็ถูกต้องเช่นกัน ยิ่งบอกว่าทะเลกับสายฝน

เป็นหนึ่งเดียว ยิ่งตรงกับปรมัตถ์สัจจะที่สุด อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญคือ

ต้องเข้าใจว่าเหตุ ปัจจัยทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ หากเป็นผลจากการ

มีอยู่ของปัจจัยอื่นทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเองได้โดยไม่มีเหตุปัจจัย

ถ้าเราเข้าใจจุดนี้แล้ว ก็จะพบว่าการโทษปัจจัยใดหรือบุคคลใดโดดๆว่า

เป็นต้นเหตุเพียงอย่างเดียวของปรากฏการณ์ หรือสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา

ย่อมเป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องกับความจริง ตรงนี้จึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญ

ที่สุดเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือการนำหลักธรรมดังกล่าวมาส่องให้เห็น

ความว่างอันเป็นลักษณะของโลก แต่การหยั่งถึงสภาพสุญญตาของโลก

เป็นสิ่งที่ยากมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่อาศัยหลักธรรมนี้

มาขัดเกลาตัวเองเสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตอบคำถามพระอานนท์

เกี่ยวกับสภาพสุญญตาของโลกว่า 'โลกสูญ...เพราะว่าสูญจากตนและจาก

สิ่งที่เนื่องด้วยตน' จากพุทธวัจนะดังกล่าว เราอาจอ่านความหมายได้สองทางคือ

หนึ่ง โลก เป็นความว่างเพราะสรรพสิ่งไม่มีตัวตนแท้จริง

สอง จะเห็นความว่างของโลกได้ ก็ต้องเข้าใจความว่างตัวตนของเราด้วย

ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เน้นว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ที่สำคัญคือ

ต้องมาใช้มองด้านใน คำกล่าวของท่าน ที่ว่า'ว่างจากตัวกูของกูเท่านั้น

จะว่างหมดจากทุกสิ่ง' เท่ากับบอกว่าถ้าอยากจะหยั่งเห็นอิทัปปัจจยตาภายนอกนั้น

ต้องเริ่มต้นด้วยการหยั่งถึงอิทัปปัจจยตาภายใน อันนี้หากอ่านให้ลึกลงไป

ก็ต้องสรุปว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในโลก ไม่ใช่เรื่องภายนอกเท่านั้น

หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในด้วย และจะต้องดับเหตุการณ์ภายในเสียก่อน

จึงจะดับเหตุการณ์ภายนอกได้ อันที่จริงประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ภายในนั่นแหละ

คือถ้าบุคคลหยั่งไม่ถึงความว่างอันเป็นธรรมชาติของโลก หยั่งไม่ถึงกฏเหล็ก

ของอิทัปปัจจยตา ก็จะมองปัญหาผิดไปจากความจริง และแก้ปัญหาโดย

ไม่สอดคล้องกับความจริง ซึ่งก็คือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

การที่คนเรามองไม่ไม่เห็นสุญญตา ทำให้ชอบแบ่งโลกออกเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ

ชอบบัญญัติลงไปว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้สวย สิ่งนั้นอัปลักษณ์ สิ่งนี้บริสุทธิ์

สิ่งนี้มีมลทิน ฯลฯ การมองโลกแบบทวิภาวะเช่นนี้ แท้จริงแล้วมักผูกโยงอยู่กับอัตตา

ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันขัดแย้งอยู่เนืองๆ เพราะต่างฝ่าย ต่างอยากกำหนด

ความเป็นไปของโลกด้วยปัจจัยเดียวคือตัวเอง และโทษผู้อื่นเป็นต้นเหตุโดดๆ

แบบไม่มีที่มาที่ไป แต่กฏแห่งความว่างเป็นกฏเหล็ก ละเมิดแล้วก็มีแต่หาทุกข์ใส่ตัว

ตรงนี้เองคืออำนาจแห่งความว่าง... อำนาจแห่ง'พระเจ้าอิทัปปัจจยตา'

ความจริงของโลกคือภาวะแยกเป็นคู่ๆแบบขาวล้วนดำล้วนนั้น เป็นแค่เรื่องสมมติ

เป็นบัญญัติทางโลกที่อาจทำได้กระทั่งมีประโยชน์ หากอยู่ในระดับพอเหมาะ

พอสมไม่ยึดติด อีกทั้งรู้เท่าทันมัน แต่ถ้าใครก็ตาม พาทัศนะเช่นนี้เตลิดไป

อย่างไร้ขอบเขต สุดท้ายย่อมติดกับอยู่กับความขัดแย้งชนิดหาทางออกไม่ได้

ทั้งขัดแย้งในตัวเองและขัดแย้งกับผู้อื่น อันที่จริงในเรื่องความสุดโต่งของทัศนะ

ที่จะยืนยันว่า สิ่งใดมีอยู่ สิ่งใดไม่มีอยู่ หรือสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกตามโลกบัญญัตินั้น

พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนไว้แล้วว่า ไม่ทำให้เกิดปัญญา ดังพุทธวัจนะ

ในกัจจานโคตตสูตรซึ่งทรงกล่าวไว้ว่า 'โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน 2 อย่าง

คือ ความ มี1 ความไม่มี1 ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบ

ตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก

ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี โลกนี้โดยมาก

ยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทานและอภินิเวส แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง

ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น...' ในพระสูตรของฝ่ายมหายาน

ประเด็นการก้าวพ้นทวิภาวะ ( dualism ) หรือก้าวพ้นการแบ่งแยกความจริง

ออกเป็นคู่ตรงข้ามนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีแต่ก้าวพ้นการยึดมั่น

ในสิ่งนี้เท่านั้น จึงจะได้กุญแจไปสู่การเข้าใจสุญญตา ดังจะเห็นได้จากข้อความ

ในคัมภีร์วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ปริเฉท9) ซึ่งบรรดาพระโพธิสัตว์หลายองค์

ได้ตอบคำถามของท่านวิมลเกียรติคฤหบดีในเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด 'กุศล อกุศล

ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดไม่เกิดความรู้สึกยึดถือ ก่อเกิดกุศล ฤาอกุศล รู้แจ้งเห็นจริง

เข้าถึงอัปปณิหิตธรรม จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร' 'บาป บุญ

ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่า เนื้อแท้ภาวะแห่งบาป มิได้ผิดแปลกจากบุญเลย

ใช้วชิรปัญญาเข้าไปตัดความติดแน่นในลักษณะแบ่งแยกเสียได้ ไม่มีผู้ถูกผูกพัน

ฤาไม่มีผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร' ท่านอาจารย์พุทธทาสเอง

ก็ยืนยันในเรื่องข้ามพ้นทวิภาวะไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า 'เราจะต้องเรียนรู้

เรื่องอิทัปปัจจยตา เพื่อว่าเราจะได้เดินอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปโง่ไปหลง

ในของเป็นคู่ๆ ของเป็นคู่ที่ระบุไปยังข้างใดข้างหนึ่งโดยเด็ดขาดนั้น ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา

เป็นสิ่งสมมติ.. ' พูดอีกแบบคือการถอนอุปาทานออกจากการแยกโลกเป็นขั้ว

เป็นข้างนั้น ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการหยั่งถึงความจริง อีกทั้งเป็นวิธีเดียว

ที่จะเชื่อม ความจริงสมมุติเข้ากับความจริงปรมัตถ์ ผมขออนุญาตนำข้อความ

ในลังกาวัตรสูตร ของมหายานมาสมทบอีกชิ้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความชัดเจน

'อไทฺวตธรรม (non-duality) หมายความว่ากระไร ? มันหมายความว่า

ความสว่าง ความมืด สั้น ยาว ขาว ดำ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง สัมพัทธ์ทั้งสิ้น...

และไม่ได้เป็นอิสระจากกัน เฉกเช่นนิพพานและสังสารวัฏไม่ได้แยกขาดจากกัน

สรรพสิ่งมิได้แยกเป็นสองขั้วเช่นนั้น ไม่มีนิพพาน ที่ปราศจากสังสารวัฏ

ไม่มีสังสารวัฏ ที่ปราศจากนิพพาน เนื่องจากเงื่อนไขในการดำรงอยู่(ของสรรพสิ่ง)

ไม่ได้มีลักษณะตัดขาดซึ่งกันและกัน' ดังนั้น สรุปในชั้นนี้ก็คือ การข้ามพ้นธรรมคู่

หมายถึงการเห็นความว่างและการเข้าใจความว่าง หมายถึงการมองเห็น

ความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่ของสรรพสิ่ง เห็นความเชื่อมร้อย

เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง มองเห็นแม้แต่ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ของสิ่งที่ดูเหมือน

ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนี้ การหยั่งเห็นความว่าง จึงเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับ

หลักธรรมสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้แก่มัชฌิมาปฏิปทา หรือที่เราเรียกกันว่า

ทางสายกลาง อย่างไรก็ตาม จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ท่านคงเห็นชัดอยู่แล้วว่า

ธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายถึงทาง ที่อยู่ตรงกลางระหว่างทางสองสาย ไม่ได้หมายถึง

ทัศนะไม่เลือกข้าง เพื่อเอาตัวรอด และยิ่งไม่ใช่หมายถึง การหาประชามติจากคนกลางๆ

ที่ไม่ได้เป็นคู่ความขัดแย้ง กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด มัชฌิมาปฏิปทาหมายถึง

การ ถอนอุปาทานจากความคิดสุดโต่งทั้งปวง หมายถึงการมองเห็นความสมมุติของ

ทวิภาวะ เห็นความไม่จริงของบัญญัติต่างๆ ที่ผู้คนมักยกอ้างมาขัดแย้งกัน

ยกตัวอย่างเช่นในเวลานี้ พี่น้องชาวไทยเราจำนวนหนึ่ง กำลังถูกพัดพาให้ไปยึด

ถือบัญญัติว่า อะไรเป็น ประชาธิปไตย อะไรไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเถียงกันเอา

เป็นเอาตายโดยลืมไปว่า ทั้งหมดเป็นแค่สมมุติสัจจะ เป็นความจริงสัมพัทธ์

ที่ขึ้นต่อนานาปัจจัยและไม่มีอันใดเที่ยงแท้ถาวร อย่างนี้เรียกว่าติดกับอยู่ในทวิภาวะ

ซึ่งเป็นบ่วงทุกข์อันหนักหน่วง และคงเปลื้องทุกข์ไม่ได้ ถ้าไม่ถอนตัวกลับมาสู่

มัชฌิมาปฏิปทา นักวิชาการด้านพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้เขียนไว้ว่า 'จิตที่ติดอยู่

ในข่ายความคิดนั้นเป็นความหลง ภาษาพระเรียกสัญญาวิปลาส ซึ่งไม่ได้หมายถึง

อาการบ้า แต่หมายถึงการยึดติดความคิดบางอย่าง ที่เนื่องกับอัตตา เป็นการ

สนับสนุนอัตตาในระดับเหตุผล' ผมเห็นด้วยกับคำอธิบายเช่นนี้อย่างยิ่ง

เนื่องจากผมอยู่ในแวดวงปัญญาชนมานาน เคยเห็นคน'คลอด ลูก'เป็น

ความคิดมามาก อีกทั้งหวงความคิดของตนราวลูกในอุทร ใครแตะไม่ได้

ใครค้านไม่ได้ ผมเองก็เคยหลงอยู่ในกับดักเช่นนั้น เคยออกอาการสัญญาวิปลาส

อยู่พักใหญ่เหมือนกัน กล่าวในทางรากฐานทางปรัชญาแล้ว การเชื่อ

เรื่องจับคู่ขัดแย้งเอาเป็นเอาตาย มีนัยยะเท่ากับเชื่อว่า ดีชั่วผิดถูกเกิดเอง

มีเองได้โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบ 'ที่เราดีเพราะดีเอง

ที่เขาชั่วเพราะชั่วเอง เพราะฉะนั้นจะต้องหักล้างกันลงไปข้างหนึ่งให้ได้'

สิ่งที่มักหลงลืมกันคือ ทัศนะว่าตนเองถูก ฝ่ายอื่นผิดนั้น เป็นทัศนะที่

เราปรุงขึ้นเองทั้งสิ้น เช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ความคิดสุดโต่งไม่ว่าจะมา

จากขั้วไหน ล้วนหนีไม่พ้นเรื่องของอัตตา ที่เชื่อว่าตนเองคือผู้กำหนดความเป็นไป

เห็นว่าตนเองคือศูนย์กลางจักรวาล ภาษาธรรมเรียกกิเลสกลุ่มนี้ว่า ปปัญจะ

อันประกอบด้วยตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ตราบใดที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลยึดถือ

ความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมถอนอุปาทานจากทวิภาวะ ความขัดแย้ง

ก็จะดำเนินไปสู่ความรุนแรง เกิดเป็นความทุกข์ในรูปใดรูปหนึ่งจนได้ จะว่าไป

นี่นับก็เป็นการแสดงอำนาจอีกแบบหนึ่งของสุญญตา ที่ลงโทษลงทัณฑ์ผู้ละเมิดกฎ

พูดก็พูดเถอะ ตามความเข้าใจของผม มัชฌิมาปฏิปทาไม่ใช่ความเห็นที่สาม

ซึ่งแตกต่างจากความเห็นที่หนึ่งที่สอง หากเป็นการก้าวพ้นทัศนะที่แยกต่างหาก

จากผู้อื่น สิ่งอื่น เป็นการดับทิฏฐิโดยตั้งมั่นอยู่ในความว่าง ว่างจากตัวตนและ

ว่างจากสิ่งต่างๆอันเนื่องด้วยตัวตน เช่นนี้แล้ว ทางสายกลางหมายความว่า

อย่างไรกันแน่ หมายถึงการไม่มีข้อเสนออะไรเลยใช่ไหม? คำตอบคือไม่ใช่เช่นนั้น

หนทางของมัชฌิมาปฏิปทา เป็นหนทางที่มาจากการ เห็นความจริงในส่วนทั้งหมด

โดยไม่มีตัวตนไปปิดบัง คนเราเมื่อว่างจากตัวตน ว่างจากทิฏฐิ เมตตาย่อมเกิด

กรุณาย่อมเกิด อุเบกขาย่อมเกิด ทำให้สามารถรับฟังความคิดเห็นต่างๆได้ง่ายขึ้น

มองโลกครบถ้วนขึ้น จากนั้นสภาพจิตก็จะเปลี่ยนจากวิเคราะห์เป็นสังเคราะห์

เปลี่ยนจากแยกส่วนเป็นหลอมรวม เปลี่ยนจากความรู้รอบเรื่องบัญญัติ

มาเป็นความลุ่มลึกแห่งปัญญาญาณ พูดอีกแบบคือ มัชฌิมาปฏิปทาเป็น

เรื่องของการเปิดประตูใจ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การพบทางออกในเหตุการณ์

รูปธรรมทั้งปวง เมื่อใจสงบ หยั่งถึงความว่าง ทุกอย่างก็เป็นไปได้

ตามกฏธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนก่อรูปขึ้นในความว่าง เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองเออเอง

ในคาถาพระธรรมบท มีพุทธวจนะ ซึ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า' ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง

ใจเป็นใหญ่กว่าสรรพสิ่ง สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ ' ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า

การจะเข้าถึงทางสายกลางนั้น แท้จริงแล้วก็คือ การทำความเข้าใจหมวดธรรมสำคัญๆ

ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพวกเรามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือต้องทำความ

เข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ท่านทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า

ในวิถีสู่ความหลุดพ้นตามหลักพุทธธรรมนั้น อันดับแรกของมรรคมีองค์ 8 คือ

สัมมาทิฏฐิ (หรือที่แปลเป็นไทยว่าความเห็นชอบ) เรื่องนี้หากนำมาศึกษาประกอบ

กับหลักธรรมเรื่องสุญญตา ปฏิจจสมุปบาท และมัชฌิมาปฏิปทา ก็จะสรุปได้ไม่ยากว่า

สัมมาทิฏฐิคือการก้าวพ้นทิฏฐิ (ซึ่งแปลว่าความเห็น หรือทฤษฎี) นั่นเอง

มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า'ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม'

และตรัสว่า'ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรม'

อันที่จริงการก้าวพ้นทิฏฐิหรือทัศนะ เป็นเรื่องเดียวการก้าวพ้นทวิภาวะ

ดังท่านจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ การติดค้างอยู่ในทวิภาวะในบ้านเรา ทำให้มี

การผลิตทัศนะความคิดเห็นออกมาอย่างมากมายเหลือเชื่อ มีผู้แสดงถ้อย

แถลงแข่งกันอย่างต่อเนื่องนับเป็นร้อยวัน ซึ่งถ้ายังออกจากความขัดแย้งไม่ได้

การสร้างทฤษฎี (ทิฏฐิ)โจมตีฝ่ายตรงข้ามก็คงจะดำเนินต่อไปอีก ดังนั้น ใครก็ตาม

ที่อยากจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง คงต้องขอให้คู่กรณีหยุดพูดหรือหยุดผลิต

ความคิดเห็นสักพักหนึ่งก่อน อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นก้าวแรกที่จะออกจาก

สัญญาวิปลาส ดังคำสอนในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร ซึ่งกล่าวว่า '... ในธรรมทั้งหลาย

เมื่อปราศจากคำพูด ปราศจากโวหาร ปราศจากการแสดง ปราศจากความคิด

รู้คำนึง พ้นจากการปุจฉา วิสัชชนา นั่นคือการเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร' คำสอนดังกล่าว

หากตีความให้ตรงกับเรื่องที่เรากำลังคุยกัน ก็คงต้องบอกว่าการหยั่งถึงความว่าง

จะทำได้ยากยิ่ง หากไม่มีการหยุดพูด หยุดโต้แย้งกัน... หากไม่อาศัยความเงียบ

สำรวมจิตใจให้ตั้งอยู่ในความสงบเสียก่อน ความเงียบ บ่อยครั้งไม่ได้หมายความว่า

เป็นการสยบยอมหรือไม่มีวิจารณญาณ หากเป็นการตั้งมั่นอยู่ในสัมมาสติ

เพื่อพิจารณาความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่นในสถานการณ์

ที่เป็นวิกฤตการเมืองอยู่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าคน ส่วนใหญ่ยังครองตนอยู่ใน

ความนิ่งเงียบ แต่ความเงียบเช่นนี้ แท้จริงแล้วอาจดังกึกก้องเหมือนฟ้าคำราม

ผู้ใดอ่านสัญญาณไม่ออก กระทำการผลีผลามย่ามใจ ก็เท่ากับหาทุกข์ใส่ตัว

กล่าวเช่นนี้แล้ว ก็คงต้องพูดถึงความว่างแห่งอำนาจ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของ

หัวข้อปาฐกถาเสียเลย การที่ผมตั้งหัวข้อปาฐกถาว่า 'อำนาจแห่งความว่าง

ความว่างแห่งอำนาจ' นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นสำนวนแม้แต่น้อย หากดึงมาจาก

เนื้อหาความเป็นไปของโลกที่เกี่ยวโยงกันอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาผมได้พยายาม

ชี้แจงด้วยสติปัญญาอันจำกัดแล้วว่า ความว่างหรือสุญญตาเป็นกฏเกณฑ์ธรรมชาติ

ซึ่งหมายถึงสภาพปราศจากแก่นสารอิสระของสรรพสิ่ง หมายถึงการอิงอาศัยกัน

เกิดขึ้นมีอยู่ของสรรพสิ่งและปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้การมองโลกอย่าง

แยกส่วนตัดตอน เป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความจริง ถามว่าแล้วทำไมอำนาจ

จึงเป็นความว่างด้วย? คำตอบคือ อำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

อำนาจไม่ใช่สิ่งของหรือพลังวิเศษ ที่ผู้ใดจะยึดครองไว้ได้ โดยไม่สัมพัทธ์กับ

เงื่อนไขต่างๆ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์อื่นๆ ปรากฏการณ์แห่งอำนาจเกิดขึ้น

และดำรงอยู่โดยอิงอาศัยนานาปัจจัย พูดอีกแบบคืออำนาจมีกฏเกณฑ์ในการก่อเกิด

ดำเนินไปและดับสูญอย่างเคร่งครัด และกฏเกณฑ์เหล่านั้นก็อยู่ในกรอบ

กฏอิทัปปัจจยตาอย่างเลี่ยงไม่พ้น เช่นนี้แล้วอำนาจจึงเป็นสุญญตา อำนาจไม่มี

แก่นสารอิสระจากปัจจัยที่ค้ำจุน อำนาจมีลักษณะเป็นความว่างอย่างยิ่ง

จากความจริงดังกล่าว กฏข้อแรกที่ผู้กุมอำนาจหรือผู้แสวงหาอำนาจ จะต้อง

ทำความเข้าใจ คืออำนาจที่ตนต้องการขึ้นต่อการมีอยู่ของเหตุปัจจัยใดบ้าง

และถ้าต้องการบำรุงรักษาอำนาจไว้อย่างต่อเนื่อง จะต้องดำเนินความสัมพันธ์

ระหว่างตนเองกับปัจจัยเหล่านั้นอย่างไร แน่นอน ตรงนี้เราคงต้องแยกระหว่าง

ปรากฏการณ์ของอำนาจดิบๆ อย่างเช่นอำนาจปืนของโจร ผู้ร้ายที่ใช้บังคับ

เหยื่อให้ยอมจำนน กับอำนาจการเมืองการปกครอง ซึ่งขึ้นต่อฉันทานุมัติหรือ

ความเห็นชอบของผู้อยู่ใต้อำนาจเป็นปัจจัยสำคัญ ถามว่าแล้วทำไมคนจำนวนมาก

จึงยอมให้คนบางหรือคนบางกลุ่มปกครอง? การที่คนจำนวนมาก

จะยอมรับอำนาจของคนจำนวนหนึ่ง ย่อมประกอบด้วยความหวังที่ผู้กุมอำนาจ

จะยังประโยชน์มาให้ตน เช่น คุ้มครองดูแลชีวิต ป้องกันภัยพิบัติต่างๆ

จัดสรรผลประโยชน์ทางวัตถุ ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ตัดสินคดีพิพาท

กระทั่งคาดหวังคุณค่าระดับสูงอื่นๆ เช่นเสรีภาพและความยุติธรรม เป็นต้น

ดังนั้น เงื่อนไขชี้ขาดที่สุดของผู้กุมอำนาจการเมือง คือจะต้องสร้าง

ความพอใจให้ผู้อยู่ใต้อำนาจให้ได้ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับฉันทานุมัติให้ใช้

อำนาจการปกครอง หรือถ้ากุมอำนาจอยู่แล้ว ก็จะไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถ

ปกครองใครได้อย่างแท้จริง กระทั่งนำไปสู่การสูญเสียอำนาจในที่สุด

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า อำนาจการเมืองมีไว้เพื่อแก้ปัญหา

เพราะฉะนั้นถ้าใครเล่นการเมืองเพื่อหาอำนาจไปเอาเปรียบคนอื่น ก็ต้องถือว่า

ไม่ใช่การเมืองที่แท้จริง อันนี้ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้

ในคัมภีร์อัคคัญญสูตรซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ถ้าใครเคยอ่านพระสูตรนี้

ก็จะเข้าใจว่าอำนาจการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้ปัดเป่าความ

เดือดร้อนของตัวเอง ตามข้อความที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ มนุษย์แต่เดิม

มีธรรมชาติที่ดีงาม แต่เมื่อสูญเสียความบริสุทธิ์นั้นไป ก็หันมาทะเลาะเบาแว้ง

แย่งผลประโยชน์กัน สังคมมีแต่ความเดือดร้อนรุนแรง เมื่อตกลงกันเองไม่ได้

ในที่สุดก็ไปเชิญผู้ที่เหมาะสมท่านหนึ่ง มาทำหน้าที่คอยตัดสินข้อพิพาท นั่นเป็น

พุทธทรรศน์เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐหรืออำนาจการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นความ

จริงสามอย่างคือ หนึ่ง อำนาจเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข ขึ้นต่อความยินยอมพร้อมใจของ

ผู้อยู่ใต้อำนาจ สอง อำนาจนั้นจะต้องใช้ไป เพื่อปัดเป่าความเดือดร้อนหรือ

ขจัดปัญหาที่ผู้อยู่ใต้อำนาจมีอยู่ และสามตำแหน่งผู้กุมอำนาจเป็นสิ่งสมมติ

ไม่ได้มีอำนาจโดยตน และไม่อาจใช้อำนาจเพื่อตน จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าใช้

คำว่า'มหาชนสมมุติ' เรียกผู้กุมอำนาจ นี้ ก็นับว่าสอดคล้องตามความจริงทุกประการ

ดังนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า อำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดตามกฏเกณฑ์


แห่งความว่างมาตั้งแต่ต้น (ไม่มีธรรมชาติอิสระแยกจากสิ่งอื่น) และดำรงอยู่

ดำเนินไปตามกฏเกณฑ์แห่งความว่างเช่นกัน ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าผู้ปกครองหรือ

ผู้ถืออำนาจการเมือง หยั่งไม่ถึงสุญญตาแห่งอำนาจแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?

เรื่องนี้ถ้าจะให้ผมตอบอย่างกำปั้นทุบดิน ก็คงต้องบอกว่าผู้กุมอำนาจท่านนั้น

คงจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่ช้าก็เร็ว ก็คงถูกกฏเหล็กแห่งอิทัปปัจจยตาเล่นงานเอาจน


เสียผู้เสียคนไป อย่างไรก็ดี มนุษย์เรานั้นมีประสบการณ์เรื่องการใช้อำนาจ

หรือประสบการณ์เรื่องการเมือง การปกครองมานานหลายพันปีแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสอนคำเตือนหลายอย่าง จากนักปราชญ์ทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้อำนาจ

ยกตัวอย่างเช่นในโลกตะวันออก คำสอนของท่านเหล่าจื๊อสรุปไว้ว่า '

ในการปกครองชั้นเยี่ยม ผู้คนจะไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง...' ถ้อยคำเหล่านี้นี้

หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่า อำนาจการเมืองนั้น ควรใช้ให้น้อยที่สุด

และใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หากทำได้เช่นนั้น ประชาชนก็แทบจะ

ไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของอำนาจเลย ในซีกโลกตะวันตก เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว

มหาปราชญ์ชาวกรีกชื่อเพลโต (Plato) ก็สอนไว้ว่า ผู้ปกครองจะต้องไม่มีสมบัติส่วนตัว

ไม่มีแม้กระทั่งครอบครัว และจะต้องใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้

การปกครองเท่านั้น คัมภีร์ราชนีติ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการปกครองของอินเดียโบราณ

ยืนยันไว้ว่า ผู้ปกครองที่ดี จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับอาณาจักรของตน

ในมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฏหมายปกครองมีมาแต่โบราณของชาวไทยล้านนา

ก็มีการจำแนกระหว่างนายที่ดีกับนายที่เลวไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือนายดีหรือ

ที่เรียกว่า'ขุนธรรม' นั้นจะต้องเมตตาต่อไพร่ ไม่ทำบาปต่อไพร่ ไม่ข่มเหงรังแกไพร่

ส่วนนายเลวที่เรียกว่า'ขุนมาร'นั้น มักชอบข่มเหงรังแกไพร่ ชอบฉกชิงสิ่งของ

ผิดลูกผิดเมียไพร่ นายประเภทหลังนี้ท่านว่า เป็น'ต้นไม้พิษกลางเมือง'

ไม่ควรให้เป็นใหญ่ต่อไป กล่าวสำหรับคำสอนของพุทธศาสนาเอง ทุกท่านก็

คงทราบดีอยู่แล้วว่า มีหัวใจสำคัญอยู่ในราชธรรม 10 ซึ่งขึ้นต้นด้วย ทาน ศีล

และลงท้ายด้วยขันติ อวิโรธนะ นอกจากนี้ยังมีหมวดธรรมที่เรียกว่าจักรวรรดิวัตร 12

ซึ่งสอนให้ผู้ปกครองปกป้องดูแล ตั้งแต่ชนชั้นสูงมาถึงชนชั้นล่าง ตลอดจน

สมณชีพราหมณ์ ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่า ตัวอย่างคำสอนที่ผมยกมาทั้งหมดนี้

ล้วนชี้ไปในทิศเดียวกัน คือยืนยันว่า อำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่ขึ้นต่อปัจจัยอื่น

ที่ไม่ใช่ตัวอำนาจเอง และปัจจัยสำคัญที่สุด ชี้ขาดที่สุด ได้แก่ความพอใจของ

ผู้อยู่ใต้อำนาจ อันนี้มีนัยยะป้อนกลับมายังผู้กุมอำนาจอย่างไรบ้าง?

คำตอบชัดเจนที่สุดก็คือ หากอยากได้อำนาจและอยากรักษาอำนาจไว้ให้ยั่งยืนนาน

ผู้กุมอำนาจจะต้องว่างจากตัวตน และสิ่งที่เนื่องด้วยตัวตน กล่าวอีกแบบหนึ่ง

คือต้องเป็นผู้รู้ธรรมและปฏิบัติธรรมนั่นเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยสอนไว้ว่า

การเมืองต้องไม่แยกจากธรรมะ และนักการเมืองที่แท้จริงจะต้องเป็นนักการ

เมืองโพธิสัตว์ หรือนักการเมืองของพระเจ้า (อิทัปปัจจยตา) ซึ่งมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น

หายใจเป็นประโยชน์ของผู้อื่น นิยามนี้นับว่าตรงกับคำสอนของปวงปราชญ์โบราณ

ในเมื่ออำนาจเป็นปรากฏการณ์แห่งความว่าง ผู้กุมอำนาจก็ควรหยั่งถึงความว่าง

ในดวงจิตของตนด้วย ใครก็ตามที่นำอัตตาตัวตนขึ้นสู่เวทีอำนาจ

ใครก็ตามที่นำผลประโยชน์ส่วนตัวขึ้นสู่เวทีอำนาจ และยืนยันผลประโยชน์ของตนเอง

เป็นเอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรือสรรเสริญ ท้ายที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอดทั้งสิ้น

เพราะกฏแห่งอำนาจเป็นกฏเดียวกับอิทัปปัจจยตา เกิดขึ้นมีอยู่โดยอาศัยนานาปัจจัย

รวมทั้งอาศัยการยอมรับของประชามหาชนผู้ที่ไม่มีอำนาจ ถึงตรงนี้ ผมคงต้อง

อธิบายเล็กน้อยว่า การต้านอำนาจนั้นถือเป็นการแสดงอำนาจชนิดหนึ่ง

ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้กฏอิทัปปัจจยตาเช่นกัน มีสภาพเป็นความว่างเช่นเดียวกัน

ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่า

อำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้

บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคาร

หากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน ถามว่าเช่นนี้แล้ว คนที่จิตไม่ว่าง หรือคนที่เต็มแน่น

ไปด้วยอัตตา จะขึ้นไปกุมอำนาจได้หรือไม่? คำตอบคือคงได้ตามวิถีทางโลก

และในความหมายแบบทางโลก แต่จะไม่ใช่อำนาจที่แก้ปัญหาอะไรได้ อย่างถึงราก

กลับเป็นอำนาจที่ก่อความเดือดร้อน สร้างทุกข์เข็ญให้บ้านเมืองเสียมากกว่า

อีกทั้งจะไม่มีความมั่นคงยั่งยืน เนื่องจากถูกปฏิเสธต่อต้าน อันที่จริง ตรงนี้แหละ

คือความแตกต่างระหว่างผู้แสวงหาอำนาจธรรมดากับผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าใน

ความหมายของธรรมะ หรือในความหมายทางรัฐศาสตร์ก็ตาม ผู้นำการเมือง

เมื่อว่างจากตัวตน จึงสามารถทำทุกอย่างได้ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง

เสียสละทุกอย่างได้เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ส่วนผู้กุมอำนาจที่จิตไม่ว่างนั้น

ต่อให้ไม่ก่อปัญหาร้ายแรง ก็จะมีทางเลือกและศักยภาพในการแก้ปัญหาได้น้อย

กว่ากันมาก เหมือนดังพุทธภาษิตที่กล่าวว่า เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต

'ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าสภา' อ่านความหมายง่ายๆของข้อความนี้

ก็คือการประชุมหรือชุมนุมกันของคนจิตไม่ว่างนั้น ไม่นับเป็น'สภา'ที่แท้จริง

และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร ขออนุญาตอ้างถึงพระไตรปิฎกอีกเล็กน้อย

เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติผู้นำนั้น ผมคิดว่าไม่มีเรื่องไหนสามารถสาธิตประเด็นนี้

ได้ชัดเจนเท่าเรื่องของพญาวานร ในนิทานชาดกชื่อมหากปิชาดก

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาลิง ผู้มีพละกำลังมหาศาลและ

มีบริวารอยู่แปดหมื่นตัว ในขณะที่พญาลิงพาบริวารมาเก็บผลมะม่วงรสดีกินอยู่

ในป่าหิมพานต์นั้น บังเอิญมีมะม่วงผลหนึ่ง ตกลงไปในแม่น้ำ และลอยไป

ติดข่ายของพระราชาเมืองพาราณสี พระราชาทรงชิมผลมะม่วงแล้วเกิดติดใจ

จึงยกไพร่พลออกค้นหาต้นมะม่วงที่อยู่ต้น น้ำ ครั้นพบฝูงลิงปีนป่ายอยู่บน

ต้นมะม่วงเต็มไปหมด ก็สั่งทหารถืออาวุธไปล้อมไว้ เตรียมจะประหัตประหาร

ไม่ให้มีเหลือแม้ตัวเดียว ฝ่ายพญาลิงเห็นบริวารตกอยู่ในห้วงอันตราย

จึงกัดเครือหวายตั้งใจว่าจะผูก เป็นสะพานเชื่อมระหว่างต้นมะม่วงกับต้นไม้

ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่หวายยาวไม่พอ จึงตัดสินใจใช้มือยึดกับต้นมะม่วงและ

ทอดร่างต่อจากเส้นหวาย ให้บริวารได้เหยียบข้ามไปสู่ความปลอดภัย

จนกระทั่งบริวารลิงหนีพ้นภัยไปสู่ฝั่งตรงข้ามได้ครบทุกตัว แต่เคราะห์กรรม

ของพญาลิง ผู้เป็นหัวหน้าก็คือ ลิงตัวหนึ่งซึ่งเป็นพระเทวทัตมาเกิด ได้ถือ

โอกาสนี้กระโดดใส่หลังพระโพธิสัตว์ที่เป็นพญาวานรอย่างแรงจนได้รับบาด

เจ็บ และไม่อาจหนีตามฝูงของตนไป สุดท้ายพระราชาซึ่งเห็นภาพทั้งหมด

เกิดรู้สึกสะเทือนพระทัย จึงโปรดให้นำพญาลิงมารักษาพยาบาล แต่อาการ

ท่านสาหัสเกินกว่าจะเยียวยา จึงสิ้นใจไป ก่อนหน้านั้น พระราชาได้ตรัสถาม

พญาลิงว่า ทำไมจึงยอมเจ็บตัว พญาลิงได้กล่าวกับพระราชาว่า'เราเป็นพญาลิง

ปกครองฝูงลิงทั้งหมด เมื่อพวกเขาตกอยู่ในอันตราย เราจึงต้องนำความสุขมา

ให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง' ผมไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม ท่านทั้งหลายก็คง

ประจักษ์ชัดแล้วว่า คุณสมบัติผู้นำตามหลักพุทธศาสนานั้นเป็นเช่นใด

แต่พูดก็พูดเถอะ การเป็นผู้นำการเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องหมายถึงบุคคล

ที่กุมอำนาจการปกครองแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายต่อต้านคัดค้านที่รวบรวมกำลังคน

มาตั้งเป็นพรรคเป็นพวกหรือตั้งเป็นขบวนการเมืองในชื่อต่างๆ ก็สามารถ

เป็นผู้นำการเมืองได้ หรือจะเป็นแค่ผู้แสวงหาอำนาจธรรมดาๆก็ได้ ถ้าหาก

ไม่ยึดถือในหลักธรรม ถ้าหากมองไม่เห็นว่างแห่งอำนาจ ผมได้พูดไว้แล้วข้างต้นว่า

ปรมัตถ์กับบัญญัติไม่ได้แยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองนี้ ถ้าทำให้ถูกให้ดี

ก็เท่ากับสามารถอาศัยวัฏสงสารเป็น'พาหนะเดินทาง 'ไปสู่นิพพาน ถ้าทำไม่ถูกต้อง

ก็วนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งความทุกข์ร้อนไม่สิ้นสุดเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจ

อำนาจแห่งความว่าง และเข้าถึงความว่างแห่งอำนาจ เราจะรู้ว่าการขัดแย้ง

ทางการเมืองล้อมรอบสมมุติ สัจจะนั้น ควรจะมีขอบเขตอยู่ตรงไหน และอาศัย

วิธีการเช่นใด ถ้าเราหยั่งถึงอิทัปปัจยตา(หรือปฏิจจสมุปบาท) ก็จะมองเห็นว่า

ความรักบ้านรักเมือง ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเดียว

บางครั้งการยอมแพ้ กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้าน

รักเมืองได้มากกว่า เหมือนมารดาพร้อมยกบุตรให้ผู้อื่น ในยามที่ตัวเองดูแล

ปกป้องไม่ได้ แพ้ชนะถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นสุญญตา ไม่มีความจริงรองรับ มีแต่เราเอง

ไปบัญญัติมันขึ้นมา พูดกันตามหลักรัฐศาสตร์ อำนาจนั้นเปลี่ยนมือได้เสมอ

ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้อยู่ใต้การปกครองได้ หรือมีวิกฤตฉันทานุมัติ

อย่างต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป

มันขึ้นอยู่กับผู้นำการเปลี่ยน แปลงว่ามีปัญญาญาณมากน้อยเพียงใด

คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของ

ระบอบเก่าหรืออำนาจเก่า ก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและอนาธิปไตย

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคน เสียยิ่งกว่า

อำนาจเก่าที่ล่มสลาย เนื่องจากทิฏฐิที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการ

รอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายๆประเทศ

ซึ่งเราควรถือเป็นบทเรียน ดังนั้น ในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ระบอบการ

เมืองแบบไหน ยังไม่สำคัญเท่ากับว่ามีธรรมะหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีธรรมมะ

ถึงอย่างไรก็สร้างสันติสุขให้บังเกิดมิได้ และท่านถือว่าภาวะไร้สันติภาพ

เป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ การไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

นับเป็นเคราะห์กรรมอย่างยิ่งของแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ ความพยายามที่จะรักษา

ระบอบการเมืองก็ดี ความพยายามที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองก็ดี

จึงไม่อาจสำเร็จได้ด้วยความชัง ไม่อาจใช้โลภะโทสะโมหะมาขับเคลื่อน

เราจะสร้างสังคมที่สันติสุขได้อย่างไร หากวิธีการขัดแย้งกับจุดหมายเสียตั้งแต่ต้น

สำหรับชาวพุทธแล้วมรรควิถีมีค่าเท่ากับจุดหมายปลายทาง ท่านผู้มีเกียรติ

และเพื่อนศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ แท้จริงแล้วเป็นความคิดของ

ตัวเองอยู่ไม่กี่ส่วน ส่วนใหญ่เป็นการเชิญคำสอนของพระศาสดาและบรรดาครูบาอาจารย์

มาถ่ายทอดสู่กันฟังเท่านั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากคำสอนเหล่านี้ ถูกนำเสนอผ่าน

ความเข้าใจอันจำกัดของผม จึงต้องเรียนขอร้องท่านว่า อย่าได้ยึดถือเป็น

เรื่องจริงจังไปเสียทั้งหมด ขอเพียงสิ่งที่ผมพูด ได้สมทบส่วนเล็กน้อยให้กับ

การค้นหาปัญญาญาณของท่าน ผมก็ดีใจมากแล้ว วันนี้ ผมได้เอ่ยถึงปรมัตถ์สัจจะ

ไว้ในแทบทุกวรรคตอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ผมพูดเป็นปรมัตถ์สัจจะ

แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับปรมัตถ์ธรรมมากกว่า

และเช่นเดียวกับความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่ผมพูดมา

จึงเป็นแค่สมมุติเท่านั้นเอง ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติรับฟัง

------------------------------------------------------------------



ที่มา :ปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล




Create Date : 11 เมษายน 2552
Last Update : 2 สิงหาคม 2555 11:19:59 น. 0 comments
Counter : 722 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.