Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
8 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 
มาร์ติน วีลเลอร์ คนหลุดกรอบ (อีกสักครั้ง) จาก เนชั่นรายสัปดาห์


เชิญติดตามอ่าน Part แรก ได้ที่ " วิธีคิดไม่ธรรมดาของมาร์ติน วีลเลอร์ "


จัดว่าเป็นฝรั่งที่ "มีชื่อเสียง" คนหนึ่งในประเทศไทย

มาร์ติน วีลเลอร์ ไม่ได้เป็นดารา หรืออยู่ในแวดวง

สังคมไฮโซ แต่เป็นชาวนาที่เว้าลาวได้แคล่วคล่อง

และอธิบายถึง "ข้อดี" ของภาคชนบทจนชวนให้

ภาคภูมิใจในสังคมชาวอีสานขึ้นมาอีกอักโข



ปัจจุบันเขามีสถานภาพเป็น "เขย"

บ้านคำปลาหลาย อ.อุบลบรัตน์ จ.ขอนแก่น

หมู่บ้านขนาด 74 หลังคาเรือน ประชากร 275 คน

ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นชุมชนขนาดเล็ก น่าอยู่

ไม่มีการลักขโมย สำคัญที่สุดคือยังพึ่งพาอาศัยกันได้

17 ปี ก่อน บ้านคำปลาหลาย เป็นหมู่บ้านยากจนที่สุด

ใน อ.อุบลรัตน์ เด็กขาดสารอาหารร้อยละ 25

ผู้ใหญ่เป็นพยาธิใบไม้ในตับ ร้อยละ 95

ผู้ใหญ่ไปทำงานที่อื่น กลับบ้านเดือนละครั้ง

ชุมชนมีปัญหาทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การเกษตร

นพ.อภิสิทธิ์ และ พญ.ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร

ผู้บริหาร รพ.อุบลรัตน์ จึงเลือกให้เป็นหมู่บ้านนำร่อง

ในการส่งเสริมสุขภาพทางเลือกให้กับชาวบ้าน

ให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้


"เนชั่นสุดสัปดาห์" ได้พบกับมาร์ตินในโอกาสที่

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(สปสช.) พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมศูนย์ค้ำคูณ

จ.ขอนแก่น ที่ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ


มาร์ตินเป็นชาวอังกฤษ พ่อ-แม่มีฐานะดีพอสมควร

เขาเรียนจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมอันดับ 1

จากลอนดอนยูนิเวอน์ซิตี้ เมื่อได้ใบปริญญาบัตร

มาให้พ่อ-แม่แล้ว เขากลับไปทำงานก่อสร้าง

รับจ้างแบกอิฐ เหตุผลคือ อยากเรียนรู้ชีวิต

อยากรู้จักตนเองว่า มีความสามารถมากน้อยเพียงใด

แบกอิฐ อยู่หลายปี จึงออกจากอังกฤษ เดินทางท่องเที่ยว

ตั้งใจว่าจะไปหลายประเทศ แต่แห่งแรกที่มาคือ เมืองไทย

กระทั่งมาปักหลักอยู่จนปัจจุบัน


"คนอังกฤษธรรมดา 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีบ้าน

รัฐบาลสร้างให้คนเช่าอยู่ เป็นตึกสูง ๆ 30 ชั้น

พวกเรียนสูงสักหน่อย คนชั้นกลางมีบ้านอยู่

ติดหนี้ธนาคาร 25-30ปี ถึงปลดหนี้ได้...แบบนี้ถือว่า

สุดยอด บ้านก็มี ถ้ามีที่ทำกิน ไม่มีคำว่าตกงาน"

คนบ้านนอกตกงานไม่ได้ ยกเว้นแต่

1) ขี้เกียจ

2) เลือกงาน

ถ้าเราไม่เลือก ทำอะไรก็ได้ ทำนา เลี้ยงหมู

ขนาดคนไม่มีที่ ยังอยู่ได้ แหย่ไข่มดแดงเฉย ๆ

ยังได้วันละ 400 บาท..."

กว่า 10 ปีที่เขยฝรั่งคนนี้เข้ามาเป็นสมาชิก

ของหมู่บ้าน ดูเหมือนเขาจะ "เข้าใจ" ชีวิตชาวนา

มากกว่าพวกเราอีกหลาย ๆ คน ซึ่งเติบโตมา

บนผืนแผ่นดินไทย ลำพังฝรั่งที่ยังชีพด้วยการ

เป็นเกษตรกร ยึดหลักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

นั่นนับเป็นเรื่องน่าสนใจมากแล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือ

"หลักคิด"ที่เขามีต่อเรื่องราวต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบ

สภาพสังคมอังกฤษกับสังคมไทยในแง่มุมที่เราไม่เคยนึกถึง



ช่วงที่มาร์ติน วีลเลอร์ และภรรยา-รจนา ตกลงใจว่า

จะกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านคำปลาหลาย มาร์ติน วีลเลอร์

ยังรับจ้างทำงานแบกอิฐ ทำงานก่อสร้าง เนื่องจาก

อยู่ในช่วงสร้างตัว กระทั่งขอผ่อนซื้อที่ดิน 6 ไร่

จากเพื่อนบ้านและเริ่มทำเกษตรตามแนว

เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเขาไปศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน

กลุ่มศีรษะอโศกและอื่น ๆ


กระทั่งปีที่แล้ว เขาได้รับมรดกจากบิดาที่เสียชีวิต

จึงนำเงินมาซื้อที่ดินเพิ่มอีก 47 ไร่ ยังคงทำอาชีพ

เกษตรกรรมเพียงแต่ว่าตอนนี้กลายเป็นอาชีพรอง

เพราะรายได้หลักมาจากการเป็นวิทยากร แต่เขาบอกว่า

ยังทำนาเอง ไม่ขาดทุน มีข้าวพอกินสำหรับ

ครอบครัว 5 ชีวิตซึ่งประกอบด้วย ตนเอง ภรรยา

และลูกสามคน


เนชั่น : ทุกวันนี้ เดือนหนึ่ง ๆ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

มาร์ติน วีลเลอร์ : เยอะอยู่ เพราะลูกกำลังเรียน ผมก็ใช้เงินเหมือนกัน

เป็นบางเรื่อง ซื้ออาหารบางชนิด เป็ด ไก่ ปลา ก็มี

แต่บางครั้งไม่พอสำหรับการกิน บางครั้งแขกมาดูงานเยอะ

มาที 150 คน ก็หมด ต้องเลี้ยงไปเรื่อย ๆ



เนชั่น : รายได้หลัก มาจากอะไร

มาร์ติน วีลเลอร์ : ค่าวิทยากร อันดับหนึ่ง...ช่วงมีความสุขที่สุด

คือตอนมาอยู่ที่นี่ แรก ๆ รับจ้างแบกอิฐได้วันละร้อยกว่าบาท

เดี๋ยวนี้วันละพันบาท ชีวิตก็ยังไม่เท่าไหร่หรอก

ยิ่งมีเงินเท่าไหร่ ยิ่งมีปัญหาเท่านั้น ไม่มีเงินสบายที่สุด

ถ้าเรามีบ้าน มีที่ดิน มีอาหาร ทุกอย่างจบแค่นั้น

ถ้ามีเงินก็คิดว่า จะไปทำอะไร ซื้ออะไร เป็นไอ้นั่น

ไอ้โน่น ถ้าไม่มีเงินเก็บได้เป็นจบเลย


เนชั่น : คิดอย่างไรที่เกษตรกรเรียกร้องรัฐบาลให้ประกันราคาอยู่บ่อย ๆ

มาร์ติน วีลเลอร์ : ชาวนาไม่มีปัญหาเรื่องการเกษตร ข้าวแพงสิ ตายเลย

ถ้าทำดี ๆ ไร่หนึ่งได้เป็นตัน แต่ขายข้าวได้ตันละ

หมื่นห้าพันบาท ใช้จ่ายหมื่นแปดพันบาท ผมเคยไปเป็น

วิทยาการอบรมชาวนาที่อุตรดิตถ์ ที่ติดหนี้ ธ.ก.ส.

ดินที่นั่นสุดยอด (เน้นเสียง) ดำปึ๊ด ทำนาได้ไร่ละ 130 ถัง

มีที่ดินทำ 20 ไร่ ทำนาปีละ 3 รอบ ปีหนึ่งได้

เป็นล้านบาท ยังติดหนี้ ธ.ก.ส เหมือนเดิม ผมถามว่า

ทำอะไรบ้าง เขาบอกว่าจ้างหมด แล้วส่งลูกเรียนปริญญาตรี

ปริญญาโท แล้วลูกก็ไปเป็นขี้ข้าหมด

ผู้เฒ่าจ้างคนมาเฮ็ดนาหมด... เกษตรกรขับรถเก๋งมา

เจ้าหน้าที่ธ.ก.ส.ขับมอเตอไซค์มา บางคนลำบากอีหลี

แต่บางคนลำบากเพราะใช้เงินไม่เป็น...

ทะเยอทะยานเกินตัว ฝันว่าจะสบาย ฝรั่งไม่เหมือนคนไทย

คนไทยเข้าใจผิด 2 เรื่องใหญ่ ๆ

1) คิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะรวยได้

2) คิดว่าทุกคนมีสิทธิที่ลูกหลานจะสบาย

แต่คนอังกฤษเกิดมาไม่ได้คิดแบบนั้น เรารู้ว่า

1) ไม่รวย

2) ลำบาก

แต่คนไทยถูกหลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักการเมือง

หาเสียงง่ายที่สุดคือบอกว่าลูกคนจะจบปริญญาตรีหมด

เป็นเจ้าเป็นนาย คนบ้านนอกถึงไม่ยอมอยู่บ้านนอก

เพราะคิดว่าชีวิตมันจะดีขึ้น ระบบการศึกษามันผิด

ส่วนมากคนแถวนี้จบ ม.2 ครึ่ง ก็มีลูกหมดแล้ว

ส่วนมากไปไม่ถึงม.3



เนชั่น : คนอังกฤษไม่คิดว่าตนจะมีสิทธิรวยหรือ

มาร์ติน วีลเลอร์ : อังกฤษเป็นประเทศที่เจริญมานานมาก

ปกติ ยิ่งเจริญเท่าไหร่ สังคมจะฟิกซ์เลยนะว่าเกิดแบบไหน

ต้องอยู่แบบนั้น ลูกหมอได้เป็นหมอ ลูกครูดีที่สุดแค่ครู

ลูกชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน 80 เปอร์เซ็นต์

เป็นแบบนั้น เพราะการศึกษาขึ้นอยู่กับเงิน

ใครมีเงินก็เรียนจบได้ง่าย ใครไม่มีเงิน ไม่ได้เรียน

เป็นข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ สังคม...

ประเทศอังกฤษแม้เขารณรงค์เรื่องสิทธิเท่าเทียม

ถ้าเป็นลูกชนชั้นกลางมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย

มากกว่าชนชั้นแรงงาน 6 เท่า ถ้าเกิดภาคใต้ของประเทศ

มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าเด็กที่เกิด

ภาคภาคเหนือ 2 เท่า... ชาวบ้านธรรมดาตั้งแต่เกิดมา

จนวันตายจะไม่มีอะไรหรอก เรียนหนังสืออายุ

17-18 ปี ก็จบแล้ว ถ้าเรียนสูงส่วนมากจบสถาบัน

ที่ไม่ได้เรื่อง...การให้ทุกคนเรียนมันไม่ได้แก้ปัญหา

ถ้าเรายกบันไดขึ้นตั้ง คนอยู่ขั้นสุดท้ายก็ยังอยู่ขั้นสุดท้าย

คนจบ ป.4 ก็ยังแบกอิฐแบกปูนเหมือนเดิม

ข้อดีของชนบท (ไทย) แบบนี้มีสิทธิเรียน

หลายสิ่งหลายอย่าง ชาวนาก็เหมือนกันที่ชาวนา

ต้องเรียนจริง ๆ ถ้าขายข้าวตันละหมื่นห้าพันบาท

ยังอยู่ไม่ได้ ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาของชีวิต

ไม่ใช่รบกวนรัฐบาลแจกเงินให้ ตันละหมื่นห้าพันบาท

ยังอยู่ไม่ได้ แสดงว่าการเรียนรู้มันไม่ครบ...

เมืองนอก เราพึ่งรัฐได้ในแง่สวัสดิการ

ประเทศอังกฤษสวัสดิการดีอยู่ คนตกงานก็มีเงิน



เนชั่น : ตอนเรามีงานทำก็ต้องเสียภาษีใช่ไหม

มาร์ติน วีลเลอร์ : แม่นแล้ว คนทุกข์คนยากในอังกฤษ

เสียภาษีรายได้อัตราต่ำสุด 25 เปอร์เซ็นต์

ปานกลาง 40 เปอร์เซ็นต์...แต่รัฐสวัสดิการอังกฤษ

ใช้ได้อยู่ ชาวบ้านเสียภาษีเยอะ แบ่งรายได้ให้รัฐเยอะ

เพราะฉะนั้น มีสิทธิที่จะพึ่งรัฐได้ แต่ประเทศไทย

มีคนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เสียภาษีรายได้

ฉะนั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรมากหรอก

เพราะเจ้าไม่ได้เอาอะไรให้รัฐ...เท่าที่ผมทราบ

รายได้เกิน 1.5 แสนบาทต้องเสียภาษี

ถามว่าเขาเสียภาษีไหม ฉะนั้น เขาควรเรียกร้อง

อะไรไหมเป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็เรียกร้องรัฐบาลได้

ผมโชคดีเจอโรงพยาบาลอุบลรัตน์ และเชื่อเรื่อง

เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ต้องไปปิดถนนหรือกวนผู้อื่น

พื้นฐานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านคือพึ่งตนเอง

พื้นฐานของแนวทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์ในการส่งเสริมสุขภาพ

คือ พึ่งตนเองเรื่องสุขภาพ ปรับปรุงสุขภาพ/วิถีชีวิต

ให้ดีตั้งแต่ทีแรก ถ้าสุขภาพดี ไม่ต้องกวนคุณหมอ

หลังจากนั้นค่อยพึ่งรัฐ ไม่ว่าเรื่องรายได้ หรือสุขภาพ

แต่พื้นฐานชีวิตสำหรับคนบางคนคือ พึ่งตนเอง

สำคัญที่สุด พึ่งพาอาศัยกันเองภายในกลุ่ม ผมว่า

โชคดีที่สุดที่มาอยู่คำปลาหลาย และเป็น

หมู่บ้านนำร่องของคุณหมอตั้งแต่ปี 2536

ผ่านไป 16-17 ปี จากชุมชนแย่ที่สุด ผมว่า

เป็นชุมชนที่น่าอยู่ที่สุด ถ้าเปรียบเทียบกับอังกฤษ

ผมว่านี่เป็นสังคมของผู้ดี สำคัญที่สุด เรื่องสังคม

ที่นี่ไม่มียาเสพติด ยกเว้น บุหรี่ การพนันก็ไม่มี

ยกเว้น วันที่ 1 และ 16 ผิดกับประเทศอังกฤษ

ที่มีการพนัน 24 ชั่วโมง แค่เสียภาษีให้รัฐบาล 10 เปอร์เซ็นต์

ทุกอย่างเป็นเรื่องของภาษีหมด



เนชั่น : กลับอังกฤษบ้างไหม

มาร์ติน วีลเลอร์ : นาน ๆ ที 5-6 ปี ครั้ง นี่ผมได้ดีกว่าเพื่อนนะ

พี่สาวและพี่เขยเป็นศาสตราจารย์ ทั้งคู่มาที่นี่ 2 ครั้ง

พี่เขยสอนที่ คิงส์คอลเลจ ลอนดอนยูนิเวอร์ซิตี

เขายังยอมรับว่าผมไปดีกว่าเขาเลย เนื่องจาก

1) ผมมีบ้าน แต่ไม่ติดหนี้เลย ไม่มีเงินก็อยู่ได้ พี่เขยติดหนี้ 27 ปี

2) เขาต้องไปรับจ้างทุกวัน เขาไม่ได้เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย

ถ้าไม่ไปก็ถูกไล่ออก ฉะนั้น เขามีอิสรภาพน้อยกว่าผม

สิ่งที่ผมได้แต่เขาไม่มีวันที่จะได้ มี สามเรื่องใหญ่ ๆ คือ

1) ลูกผมมีทางเลือก แต่ลูกเขาไม่มี ต้องเรียนหนังสือ

และรับจ้างอย่างเดียว ต้องเรียนหนังสือถึงจะได้เงิน

เรียนสูง รับจ้างสูง เรียนต่ำ รับจ้างต่ำ

ที่นั่น เขามีลูกแค่คนเดียว ไม่มีปัญญาเลี้ยงมากกว่านี้

เงินเดือนของพี่สาวเกือบทั้งหมด เป็นค่าเทอมลูก

ส่งไปโรงเรียนรัฐไม่ได้ คุณภาพไม่ดี ต้องส่งไปโรงเรียนเอกชน

แพงมาก เขาจึงมีลูกคนเดียว ผมมีลูกสามคน



แต่ที่ผมชอบจริง ๆ คือ 2) เรื่องของสังคม พื้นฐานสังคม

แบบนี้เอื้ออาทรกันได้ เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศไทย

สังคมไทยเป็นสังคมร่วม ไม่เหมือนเมืองนอก เป็นสังคมปัจเจก...

ฝรั่งบ้าเรื่องสิทธิ สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง ฯลฯ

ในทฤษฎีของการจัดรัฐสวัสดิการ แนวความคิดดีอยู่

มันเป็นการอุ้มชูคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ คนที่ไปได้ต้องช่วยกัน

แต่พื้นฐานของมันคือทุกคนต้องพยายามช่วยตนเองก่อน

ทำดีที่สุดก่อน ถ้าทำไม่ไหวจริง ๆ ค่อยไปพึ่งรัฐ

บ้านนอกเราพึ่งรัฐไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เห็นตั้งแต่วันแรก

ลงมาจากรถ เขาเรียกมากินข้าว ประเทศอังกฤษเวลากินข้าว

จะไล่คนอื่นไป คนอังกฤษถ้าไปเยี่ยมคนอื่น ไม่นัดไว้ก่อนสองวัน

ผิดมารยาทที่สุด...แต่บ้านเรานี้เอาเงินใส่ซองก็ได้กินลาบ


3) เมื่อกี๊ไปบ้านผมเห็นไหมว่าไม่ได้ล็อกกุญแจ

อยู่อังกฤษถ้าเปิดบ้านไว้อย่างนั้นโดนขโมยหมด

ปี 2551 โทรไปหาพี่สาววันคริสต์มาส พี่สาวบอก

ขโมยขึ้นบ้านอีกแล้ว ทั้งที่ใส่กุญแจห้าชั้น เจอกุญแจรถ

พี่สาวเอาของใส่รถพี่สาวและขับไป

พี่สาว พี่เขยและหลานชายนอนอยู่ข้างบ้าน

ตำรวจเขาไม่เสียเวลาจับหรอก เขาเขียนเบอร์คดีให้

และไปเอาเงินกับบริษัทประกัน...

คนอังกฤษชาวบ้านธรรมดาก็ดี แต่ขาดสิ่งหนึ่ง

คือความยุติธรรมของสังคม ถ้าเป็นชุมชนแบบนี้

บ้านนอก (ที่นี่) ดี คือเกิดมาทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

บ้านก็มี ดินก็มี งานก็มี อาหารก็สุดยอด

สิ่งแวดล้อมดี สังคมดี เกิดมามีหมดทุกคน...

แต่จะให้ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ไม่มีทางหรอก

มันไม่ใช่คอมมิวนิสต์


เนชั่น : ก่อนมาเมืองไทย ทำอะไร

มาร์ติน วีลเลอร์ : แบกอิฐแบกปูน แต่เรียนสูงอยู่

จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจาก มหาวิทยาลัยในลอนดอน

ง่ายที่สุดคือ เรียนปริญญาตรี อันดับสอง-ทำนา ยากที่สุดคือ แบกอิฐ

(หมายถึงที่อังกฤษ) ยากเพราะต้องใช้ความสามารถหลายด้าน

สมองต้องไว ต้องมีความอดทน ร่างกาย จิตใจต้องแข็งแกร่ง

และเข้ากับคนอื่นได้ แบกอิฐทำเป็นทีมยากที่สุด

ปกติทีมคนหนึ่งแบกอิฐ มีช่างก่ออิฐสองคน

ผมต้องจัดการล่วงหน้าหมด เวลาสร้างบ้าน

ต้องใช้อิฐกี่ก้อน ต้องเริ่มก่อนเขา คิด ๆๆ

เรียนหนังสือ อ่านไป๊ นั่นแหละจบ (หัวเราะ)...

ยากอันดับสอง-ทำนาในอีสาน

ความสัมพันธ์ระหว่างคน ระหว่างเมีย-ลูก

ส่วนเรื่องเรียนไม่ยาก ถ้าพ่อ-แม่เป็นคนเรียน

หนังสืออยู่แล้ว เราจะถนัดเรียน ปัญหาคือ

ถ้าคนเราเริ่มชีวิตจากจุดที่ไม่เท่ากัน จะเกิดปัญหาในสังคม

ที่ผมยกตัวอย่างว่าลูกครูได้เป็นครู ลูกหมอได้เป็นหมอ

ลูกชาวบ้านต้องเป็นชาวบ้าน อาจไม่จริงร้อยเปอร์เซ็นต์

บางคนเขารู้ตั้งแต่เกิดมาว่าไม่ได้อะไรจากสังคม

ทำไมเราต้องเสียเวลาดูแลสังคม เคารพกฎหมาย

หรือดูแลสุขภาพ...ฉะนั้น อาชญากรรม ยาเสพติด

เล่นพนันเยอะ คนไม่มีความสุข ไม่มีความหวัง

เพราะไม่เห็นอนาคต



เนชั่น : ปลุกข้าวพอกินไหม

มาร์ติน วีลเลอร์ : โอ๊ย เหลือขายด้วย ทำนาสิบกว่าไร่

ปีหนึ่งปลูกได้หนเดียว ไม่มีน้ำ แม้เราอยู่ติดเขื่อนอุบลรัตน์

ปริมาณข้าวที่เกี่ยวได้ น้อยมาก แล้วแต่เทวดา แล้วแต่วิธีการ

ดำก็ได้หลาย หยอดก็โอเค หว่านได้น้อยมาก

ปีที่แล้ว ใช้ปุ๋ยยูเรียกระสอบหนึ่ง ปีนี้ไม่ใส่เลย

เพราะบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์เยอะมาก แต่ปีนี้อาจจะแล้งอยู่

ดำนา เกี่ยวข้าวก็จ้าง แต่การไถ หยอด หว่าน ทำเอง

ไม่ชอบจ้างคน ค่าแรงแพง เรามีเงินร้อยกว่าบาทก็อยู่ได้แล้ว

ไปจ้างคนอื่นทำไม ค่าแรงจ้างเป็น 100-200 บาท

ถ้ามีเงินอย่างนี้ไม่ตายหรอก ให้เขาไป เราก็ต้องหาจากที่อื่น


เนชั่น : เวลาอ่านข่าวส่วนใหญ่ ชาวนาขาดทุนเพราะต้องจ่ายค่าปุ๋ย

ค่าจ้างไถนา

มาร์ติน วีลเลอร์ : เขาไม่เรียกชาวนา เรียกว่าผู้จัดการนา

เพราะไม่ได้ทำ ผมเป็นชาวนาและผู้จัดการนา 50 : 50...

ที่ถามแต่แรกว่ารณรงค์ให้รัฐบาลประกันราคา

หรือรับซื้อนี่เป็นปลายเหตุ ถ้าราคาต่ำแต่ไม่มีต้นทุน

มันก็ได้เงิน มันเป็นเรื่องความพอเพียง


เนชั่น : ตอนบรรยายให้ชาวนาอุตรดิตถ์ฟัง เขาคิดเห็นอย่างไร

มาร์ติน วีลเลอร์ : โอ๊ย เขาบ่ฟังหรอก เขาทำนาได้ข้าวไร่ละ 130 ถัง

ผมถามว่า ถ้าไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใส่ยาฆ่าหญ้า ได้เท่าไหร่

ได้ไร่ละ 70 ถัง ผมเอาแค่นั้นแหละ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย-ฉีดยา

อยู่อีสานเขายกเป็นเทวดาเลย (หัวเราะ)


เนชั่น : ที่นาของมาร์ติน ปลูกได้ไร่ละกี่ถัง

มาร์ติน วีลเลอร์ : ไร่ละ 35 ถัง ยังไม่ได้เลย ถ้าฝนดีก็ยังได้อยู่

ปีที่แล้ว แย่ที่สุด ได้ร้อยกระสอบ ผมกับเมีย ลูกอีกสามคน

กินสามสิบกระสอบ ไม่เกินหรอก...


เนชั่น : ชีวิตก็สบายแล้ว

มาร์ติน วีลเลอร์ : ไม่มีเงินสักแสนก็สบาย ถ้ามีมาก

ก็มีปัญหา ทำงาน ชีวิตก็แค่นั้น ไม่ต้องคิดว่า

จะซื้อรถเก๋งยี่ห้อไหน ไม่มีเงินซื้อ มันก็จบ

ถ้าคนเราหน้าใหญ่ อยู่บ่ได้ดอก ไม่ว่าเรามีเท่าไหร่

มีคนมีเยอะกว่าเรา ถ้าเสียเวลาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น


เนชั่น : ตอนนี้มีครบหมดแล้ว ที่ดิน บ้าน รถเก๋ง

มาร์ติน วีลเลอร์ : มีแต่มอเตอร์ไซค์ ผมสัญญากับตัวเอง

ตั้งแต่เป็นเด็กว่า จะฆ่าตัวตายก่อนขับรถเก๋ง ถึงลูกขอก็ไม่ให้

ยกเว้นผมตายก่อน มันไม่ใช่สิ่งจำเป็น

อยู่บ้านนอก ไปไหนก็เดินเอา บ้านอยู่นี่ นาก็อยู่นี่...

นั่นคือความแตกต่างระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง

สังคมเมืองต้องพึ่งเงินในการจัดการทุกอย่าง

คนบ้านนอกพึ่งอย่างอื่นได้ มีเงินน้อยก็อยู่ได้

ชาวบ้านธรรมดาไม่ได้เรียนหนังสือยังอยู่ได้

เพราะเข้าถึงทรัพยากร แต่ทุกอย่าง ต้องอยู่บน

พื้นฐานความเป็นจริง หากเป็นคนบ้านนอก

ดีที่สุดก็มีแค่นี้แหละ ต้องยอมรับ

ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่เป็นไร ไปซะ...

ชนบทมันดี เพราะไม่มีคนรวย สังคมมันแย่

เพราะคนรวย ๆ ไปเอาเปรียบเขา ฉะนั้น

เรามาอยู่กับคนไม่รวย


เนชั่น : ชีวิตลงตัวดีพร้อมสมบูรณ์แล้ว

มาร์ติน วีลเลอร์ : ตายแล้ว ถึงจะสมบูรณ์ แค่นี้ถือว่า

โอเคแล้ว เราได้สองอย่างที่อยากได้คือ

1) อิสรภาพ

2) ลูกอยู่ในสังคมที่ยุติธรรม

เขาชอบหรือไม่เรื่องของเขา จะไปหรืออยู่ไม่ว่ากัน

แต่อย่างน้อยที่สุด ไม่มีสิทธิบ่นว่า ไม่มีงานทำ

ไม่มีอะไรกิน ไม่มีเพื่อน เขามีสิทธิบ่นว่าลำบาก

แต่ไปที่ไหนก็ลำบาก ทำอาชีพอะไรก็ลำบาก



อ้างอิงจาก วารสารเนชั่นรายสัปดาห์ ฉบับที่ 940 วันที่ 4 มิถุนายน 2553 หน้า 28




Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 26 มิถุนายน 2556 19:57:37 น. 11 comments
Counter : 7763 Pageviews.

 
สุดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆยอด


โดย: nangjai1 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:22:25:58 น.  

 
สุดยอดดดดดด


โดย: ปวีณ์ริศา IP: 171.7.141.156 วันที่: 21 มกราคม 2555 เวลา:17:01:28 น.  

 
เยี่ยม


โดย: สุรแมน IP: 182.52.196.251 วันที่: 27 ตุลาคม 2555 เวลา:19:09:28 น.  

 
ขอบคุณ คุณมิลเลอรมากครับที่ให้วิธีคิดและแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีและมีประโยนช์ ขอบคุณจริงๆคับ


โดย: ธี IP: 58.8.233.125 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา:12:32:41 น.  

 
หน่วยงานต้องการติดต่อคุณมาร์ตินไปบรรยาย จะติดต่อได้ที่ไหนคะ ขอบคุณค่ะ


โดย: สุพรรณี IP: 118.174.146.214 วันที่: 24 มิถุนายน 2556 เวลา:13:23:47 น.  

 
ผมไม่มีข้อมูลละเอียดครับ

ทราบแต่ว่า ปัจจุบันนี้ คุณมาร์ติน อาศัยอยู่ที่

บ้านคำปลาหลาย อ.อุบลบรัตน์ จ.ขอนแก่น

.............................................

ก่อนหน้านี้ คุณมาร์ตินก็เคยมาออกรายการ "ปราชญ์เดินดิน"

ลองประสานกับทางรายการดูนะครับ




โดย: ART19 วันที่: 27 มิถุนายน 2556 เวลา:21:08:32 น.  

 
คิดได้เป็นสัจธรรมของความพอเพียงจริงๆ ชื่นชมๆๆๆ


โดย: อนุสา IP: 182.53.113.64 วันที่: 23 เมษายน 2557 เวลา:8:03:05 น.  

 
ต้องการติดต่อมาบรรยายที่เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ จะติดต่อได้ที่ใหนใครทราบแจ้งด้วยที่
ไตรรัตน์ ผอ.กองสาธารณสุข 0810654509
ขอบคุณ


โดย: ไตรรตน์ ชูกลิ่น IP: 118.174.217.225 วันที่: 18 กรกฎาคม 2557 เวลา:13:28:09 น.  

 
ชอบมากครับ คำว่า อิสรภาพของคุณ มันกินใจจริงๆ ทุกคำ มาจากการตกตะกอนความคิดที่สุดยอด จะพยายามคิดและทำให้ได้ ในฐานะมนุษย์ที่ยังติดยอู่ในวังวนกิเลสคนหนึ่ง ครับ


โดย: สำเริง นันหมื่น IP: 202.29.179.102 วันที่: 21 กรกฎาคม 2557 เวลา:11:44:21 น.  

 
อยากเชิญไปบรรยายค่ะอยากทาบว่าไปที่จัวหวัดเลย.. อำเภอวังสะพุงคิดค่าตัวเท่าไหร่คะ
แล้วติดต่อยังไงคะ


โดย: อมร IP: 188.165.201.164 วันที่: 24 ตุลาคม 2559 เวลา:0:42:32 น.  

 
อยากได้เบอร์ติดต่อคุณมาติน จะเชิญมาเป็นวิทยการอบรมให้ผู้บริหารสถานศึกษาฟังครับ


โดย: ศน IP: 202.29.219.146 วันที่: 22 พฤศจิกายน 2560 เวลา:9:06:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.