Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 

เมื่ออัตลักษณ์แห่งล้านนากำลังเปลี่ยนไป


เมื่อหลายปีก่อนผมเคยสนทนากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง

ท่านเป็นนักสะสมพระเครื่องสายพระป่า

"พระป่า" ก็คือบรรดาครูบาอาจารย์สายพระอาจารย์มั่นนั่นล่ะครับ

ผู้ใหญ่ท่านนี้บอกว่า เมื่อก่อนนี้ พวกที่สนใจวัตถุมงคลหลวงปู่แหวน

รุ่นที่เขานิยมกัน ถ้าจะหาของดีของหลวงปู่แหวนขึ้นคอล่ะก็

ต้องมาหากันที่กรุงเทพ พวกเซียนทางภาคเหนือก็เหมือนกัน

เวลาหาของดีหลวงปู่แหวนให้ลูกค้า ต้องแจ้งออร์เดอร์มาทางภาคกลาง

ผมรู้สึกแปลกใจก็เลยถามไปว่า อ้าว หลวงปู่แหวนท่านพำนัก

อยู่ที่ภาคเหนือนี่นา ที่นั่นก็ต้องมีของดีของท่านสิ

แล้วทำไม ต้องมาหาถึงกรุงเทพด้วย

ท่านตอบว่ามีอยู่สองเหตุผล ที่คนเชียงใหม่ในยุคนั้น

ไม่ค่อยสนใจวัตถุมงคลของหลวงปู่แหวนนัก

หนึ่ง เพราะเห็นว่าหลวงปู่แหวนไม่เก่ง ผมเข้าใจว่าคงจะหมายถึง

ท่านไม่ค่อยมีอิทธิฤทธิ์ล่ะมั้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่คนจะมองว่า

"ท่านไม่เก่ง" เพราะครูบาอาจารย์สายนี้ชอบเก็บตัวเงียบ ๆ

แต่อีกเหตุผลนี่สิ มันทำให้ผมอึ้ง นั่นคือเหตุผลที่ว่าท่านไม่ใช่ตุ๊เจ้า

ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของล้านนา ด้วยเหตุนี้ ของดีของหลวงปู่แหวน

ในยุคแรกจึงมักตกแก่พวกข้าราชการหรือพวกที่ต้องโยกย้าย

มาทำงานจากแหล่งอื่น ซึ่งไม่ใช่คนท้องถิ่นของล้านนา

จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร

แต่สิ่งที่ผมขอตั้งข้อสังเกตุก็คือ ความเป็นสงฆ์นั้นน่าจะอยู่เหนือ

ปัจจัยด้านชาติพันธุ์ หมายความว่า หากพระสงฆ์ท่านใด

ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ชาวพุทธย่อมให้ความนับถือทั้งสิ้น

แต่ถ้าหากความศรัทธาในพระสงฆ์ท่านใดมีปัจจัยด้านชาติพันธ์ประกอบด้วยแล้วล่ะก็

แสดงว่า พื้นที่นั้นต้องมีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่น

ผมไม่แน่ใจว่า คนพื้นที่อื่นจะมีทัศนคติแบบนี้บ้างหรือไม่

แต่ที่ผมแน่ใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ล้านนามีอัตลักษณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา

และชาติพันธุ์ค่อนข้างโดดเด่นและไม่เหมือนภูมิภาคอื่น


คำว่า อัตลักษณ์ (อ่านว่า อัด-ตะ-ลัก) ประกอบด้วยคำว่า

อัต (อัด-ตะ) ซึ่งหมายถึง ตน หรือ ตัวเอง กับ ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง

สมบัติเฉพาะตัว. คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า

identity (อ่านว่า ไอ-เด็น-ติ-ตี้) หมายถึง

ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ เช่น นักร้องกลุ่มนี้

มีอัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้ทันที.

พระพุทธศาสนาในล้านนามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน

และมีเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างจากพุทธศาสนา

ที่แพร่หลายอยู่ในภูมิภาคอื่นของประเทศไทย

จารีตประเพณีบางอย่างของที่นี่จึงแตกต่างกับที่อื่น

อาทิ การไม่ยินยอมให้สตรีเข้าใกล้บริเวณองค์พระธาตุ

นอกจากนี้ ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพุทธสถานบางแห่ง

ของที่นี่ก็ค่อนข้างโลดโผนและไม่เหมือนกับที่อื่น

เพราะพุทธสถานบางแห่งมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยง

กับตถาคตโดยตรงมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล อาทิ พระพุทธบาทสี่รอย

ที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์

ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล หากกล่าวกันให้ชัดก็คือ ตำนานเหล่านี้กล่าวอ้างว่า

พระพุทธเจ้าหลายพระองค์เคยเสด็จมายังพื้นที่แถบนี้

ถึงแม้พระไตรปิฎกจะมิได้บัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม

ยิ่งเมื่อศึกษาถึงประวัติการสร้างบ้านแปลงเมืองของล้านนาโบราณ

ยิ่งไม่ธรรมดา เพราะอดีตผู้ปกครองล้านนาโบราณ

คือ พระเจ้าสิงหนวัตินั้นคือผู้ที่มาจากเมืองราชคฤห์

อันเป็นแคว้นที่มีบทบาทสำคัญต่อพุทธศาสนา

นับแต่ครั้งพุทธกาล มันก็ยิ่งสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นยิ่งขึ้น


ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของพุทธศาสนาในล้านนาเกิดขึ้นในระหว่างปี

พ.ศ.2451 - 2479 นั่นคือ ช่วงระหว่างที่พระคุณเจ้าสิริวิชโยภิกขุ

หรือครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพรบ.สงฆ์

ในยุคนั้น อำนาจรัฐจากส่วนกลางได้พยายาม

เข้ามามีบทบาทในฝ่ายศาสนจักรในด้านการจัดระเบียบการปกครองสงฆ์

ผลก็คือการดำเนินการดังกล่าวกระทบเข้าอย่างจังกับจารีตประเพณีที่เคยมีมาแต่เดิมของล้านนา

ปัญหาก็คือ ท่านสิริวิชโยภิกขุ ไม่ใช่พระบ้านนอกธรรมดา

แต่ท่านเป็นพระที่มีความเพียบพร้อมทั้งความเคร่งครัดในพระวินัย

ความศรัทธาของมหาชน และความสามารถในการปกครองสงฆ์

ท่านเป็นของจริงครับ ดังนั้น เมื่อท่านดังขึ้นมาท่ามกลาง

ความพยายามของทางการในการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติหลาย ๆ อย่างของสถาบันสงฆ์

มันก็ต้องเจอแรงต้านเป็นธรรมดา ถ้าว่ากันตามพระวินัยแล้ว

ท่านสิริวิชโยภิกขุ ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

พระวินัยก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าการเป็นอุปัชฌาย์นั้นต้องให้ทางการอนุมัติก่อน

แต่เป็นทางการต่างหากที่ก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่สงฆ์

ท่านสิริวิชโยภิกขุจึงมีความหมายมากกว่าการเป็นเพียงพระรูปหนึ่ง

แต่การดำรงอยู่ของท่านได้ปลุกสำนึกหรืออัตลักษณ์แห่งความเป็นล้านนา

ผ่านจารีตประเพณีของสงฆ์ล้านนาผลก็คือ ท่านและแนวปฏิบัติของท่าน

กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของล้านนา

และถ่ายทอดมาถึงเหล่าพระภิกษุล้านนาในรุ่นหลังที่ต่างสืบทอดแนวปฏิบัตินั้น

ความเป็นล้านนาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความศรัทธา

นอกเหนือจากปัจจัยด้านความประะพฤติของภิกษุแต่ละรูป

ส่วนพระภิกษุจากถิ่นอื่นก็ไม่สู้จะได้รับการยอมรับมากนัก

หายากครับ พระสงฆ์ที่สามารถหลอมรวมอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์เข้ากับศรัทธาได้

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุด...แก่นแห่งความเป็นล้านนาก็คงไม่ใช่อะไรอื่น

นอกจากพุทธศาสนาในแบบของล้านนานั่นเอง


พระสงฆ์ที่สืบทอดแนวปฏิบัติของท่านสิริวิชโยภิกขุจะถูกเรียกว่า

"สายครูบา" หลายรูปที่เคยมีส่วนช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์

ร่วมกับท่านสิริวิชโยภิกขุและสืบทอดแนวปฏิบัติของท่านเอาไว้

ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูง อาทิ ครูบาสิงห์ , ครูบาสุริยะ

ครูบาชุ่ม , ครูบาหล้า ฯ อัตลักษณ์แห่งล้านนาจึงอยู่ในพื้นที่

ของพุทธศาสนามาตลอด และแทบไม่เคยขยายอัตลักษณ์ของตนเอง

ไปสู่พื้นที่ส่วนอื่น จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในล้านนา

เมื่อสำนึกแห่งล้านนา (น่าจะ) กำลังกินพื้นที่เข้ามาสู่พื้นที่ทางอำนาจ

โดยผ่านปรากฏการณ์ทักษิณ อดีตนายก ฯ ทักษิณ

น่าจะเป็นบุคคลแรกที่ทำให้พื้นที่แถบล้านนาเกิดสำนึกในเชิงอำนาจขึ้นอย่างเด่นชัด

ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน สำนึกดังกล่าวเด่นชัดมาก

กระทั่งทำให้ชาวล้านนาจำนวนมาก กล้าลุกขึ้นปฏิเสธ

แนวปฏิบัติบางอย่างของอำนาจรัฐจากส่วนกลาง

ครับ ผมเคยคิดว่า มันเป็นเรื่องชั่วครู่ชั่วยามเดี๋ยวก็คงซาเหมือนไฟไหม้ฟาง

แต่ดูเหมือนว่ามันอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว

เพราะปรากฏการณ์ทักษิณกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง

ให้กับล้านนาอย่างใหญ่หลวง วาทกรรมที่เกี่ยวกับ

ประวัติศาสตร์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

โดยเฉพาะวาทกรรมที่ส่งเสริมให้คนล้านนา

ยกระดับความเคารพนับถือที่มีต่อบูรพกษัตริย์ของชาวล้านนา

อาทิ พญาเม็งรายมหาราช ฯ ผมเชื่อว่า มีคนล้านนาจำนวนไม่น้อย

เริ่มเกิดสำนึกเกี่ยวกับพื้นที่ทางอำนาจและประวัติศศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นรูปแบบที่

ไม่เคยปรากฏในยุคความขัดแย้งระหว่างท่านสิริวิชโยภิกขุกับทางการ

มีโอกาสเหมือนกันที่มันอาจจะยกระดับขึ้นจนกลายเป็นอัตลักษณ์แบบใหม่

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มันแตกต่างจากอัตลักษณ์ในยุคของท่านสิริวิชโยภิกขุอย่างไร

ข้อสังเกตุของผมเกี่ยวกับอัตลักษณ์แห่งล้านนาแบบใหม่ก็คือ


1.พื้นที่ทางการเมืองจะแทรกเข้ามาในอัตลักษณ์ของล้านนามากขึ้น

ส่วนพื้นที่ทางพุทธศาสนาจะหดแคบลง


2.อดีตบูรพกษัตริย์ของล้านนาจะได้รับความสำคัญมากขึ้น

นี่คือเรื่องปกติของสังคมที่มีอัตลักษณ์เข้มข้น

เกี่ยวกับสำนึกเรื่องอำนาจ เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับอำนาจ

บุคคลที่เคยผูกโยงกับอำนาจก็ย่อมได้รับความสำคัญตามไปด้วย


3.ประเด็นนี้ ผมไม่แน่ใจและยังสงสัยอยู่ว่ามันจะเป็นไปได้มั้ย

นั่นก็คือ อดีตนายก ฯ ทักษิณ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของล้านนา

เหมือนกับท่านสิริวิชโยภิกขุได้หรือไม่

และถ้ามันเป็นไปได้จริง ผมเชื่อว่า อัตลักษณ์แห่งล้านนา

จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทีเดียว




 

Create Date : 06 ตุลาคม 2552
0 comments
Last Update : 24 เมษายน 2556 8:40:34 น.
Counter : 1279 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.