Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
2 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

เทพกับธรรม


หลายวันก่อน มีหนังน่าสนใจเข้ามาฉายเรื่องหนึ่ง

นั่นคือ The Last Bladesman

The Last Bladesman เป็นหนังที่หยิบยก

เอาเหตุการณ์ในสามก๊กช่วงที่เกี่ยวข้องกับกวนอู

มาทำเป็นหนัง บรรยายถึงความกล้าหาญ

ความซื่อสัตย์ ความสามารถในการรบอย่างเอกอุ

ของกวนอู หนังค่อนข้างสนุก โดยเฉพาะฉากบู๊

ทำได้ดีมาก ส่วนตอนจบ ก็เป็นอย่างที่หลายท่านทราบ

นั่นคือกวนอูหยุนชางถูกประหาร

ซึ่งข้อเท็จจริงที่หลายท่านทราบก็คือ

หลังอสัญกรรม ชาวจีนได้สถาปนากวนอู

ขึ้นเป็นเทพองค์หนึ่งและในหมู่ชาวจีนบางกลุ่ม

ถึงกับยกกวนอูขึ้นเป็น "พระโพธิสัตว์สังฆาราม" ทีเดียว


ครับ นั่นเป็นเรื่องราวคร่าว ๆ เกี่ยวกับกวนอู

อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบกัน ผมคงไม่ขอลงลึก

ในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ผมสนใจคือเรื่อง

ทัศนคติของกวนอูกับทัศนคติของผู้ที่ยกย่องกวนอูเป็นเทพ

ผมคิดว่า มันมีนัยยะบางอย่างที่น่าสนใจ

สงครามในสมัยสามก๊กนั้น เป็นสงครามการเมือง

เป็นสงครามเพื่อการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจ

ทั้งเล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน ต่างก็เป็นนักการเมือง

ที่พบเห็นได้ในทุกยุคสมัย การที่กวนอูออกรบ

ฆ่าคนไปมากมาย จึงเป็นเพียงการฆ่าเพื่อ

ผลประโยชน์ของพวกพ้องเท่านั้น ด้วยเหตุนี้

จึงมีชาวจีนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า เกียรติคุณของ "งักฮุย"

อยู่เหนือกวนอู เพราะงักฮุยทำสงครามเพื่อต่อต้าน

ผู้รุกรานโดยตรง หาใช่ทำสงครามเพื่อแสวง

หาอำนาจแต่อย่างใด ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญ

ก็คือ กวนอู มีความเชื่อมั่นในการฆ่า

ของตนเองมากว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

เท่าที่ผมทราบ กวนอูไม่เคยสงสัย

ในการฆ่าของตนเอง และแม้กวนอูจะมี

ความซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่เพียงใด

พลังแห่งความซื่อสัตย์นั้นกลับเป็นส่วนหนึ่ง

ที่ช่วยผลักดันให้กวนอูมีความมุ่งมั่นในการฆ่ามากขึ้น

(การเข่นฆ่า กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์อย่างหนึ่ง)

ข้อสรุปของกวนอูก็คือ "การฆ่าเพื่อเล่าปี่ คือ สิ่งที่ถูกต้อง"


ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์หลายแห่งในโลกนี้

มีเหล่าวีรบุรุษจำนวนไม่น้อยที่เคยผ่านการเข่นฆ่ามาก่อน

มหาราชบางพระองค์ต้องทนทุกข์ทรมาน

กับความรู้สึกผิดที่เกิดจากการเข่นฆ่า

อาทิ "ถังไท่จงฮ่องเต้"มหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งแห่งประเทศจีน

หรือแม้แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ตาม

สิ่งที่ทั้งสองพระองค์มีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งคล้ายกันก็คือ

"สำนึกแห่งการทบทวนการกระทำของตนเอง"

ในบั้นปลาย ถังไท่จงทรงตัดสินพระทัยยกราชบัลลังก์

ให้แก่น้องชายตนเอง ซึ่งนอกจากประเด็นที่

บุตรของพระองค์ไร้ความสามารถแล้ว

ยังทรงต้องการชดเชยความรู้สึกผิดในอดีต

ที่ได้เคยเข่นฆ่าพี่น้องร่วมท้องเดียวกันมาก่อน (กรณีเสวียนอู่เหมิน)

ซึ่งเป็นบาปกรรมที่ตามหลอกหลอนพระองค์มาตลอด

ส่วนสมเด็จพระนเรศวร ก่อนพระองค์ขึ้นครองราชย์

ก็เคยทรงปรารภถึงการที่พระองค์สองมือแปดเปื้อนเลือดมามาก

ความข้อนี้ ผมขออ้างอิงจากหนังสือ "กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้"

เขียนโดย "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" หน้า 71 ความว่า


"แล้วตรัสแก่ขุนนางว่า

พระองค์ได้ทรงใช้พระเดช

หลั่งเลือดคนมามากเกินควรแล้ว

หากทรงปกครองแผ่นดินก็จะเดือดร้อนกันทั่วไป"


ความในข้อนี้ อ.คึกฤทธิ์ อ้างอิงจาก

พระราชพงศาวดารสังเขปบันทึกโดยฝรั่งชาวฮอลันดาผู้หนึ่ง ชื่อ

Jeremias Van Vliet หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "วัน วลิต"


( หมายเหตุ Blog ART19...

บันทึกของ วัน วลิต มีข้อขัดแย้ง

กับพระราชพงศาวดารฉบับอื่นอยู่บ้างตรงที่

ตามพระราชพงศาวดารฉบับอื่นนั้น

สมเด็จพระนเรศวรทรงขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน

สมเด็จพระราชบิดาโดยมิได้ทรงเกี่ยงงอนแต่อย่างใด

แต่โดยความเห็นส่วนตัวของ อ.คึกฤทธิ์แล้ว

ท่านอยากจะเชื่อ "วัน วลิต" ว่า มิได้ทรงปรารถนาที่จะเสวยราชสมบัติ

ด้วยสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะสาเหตุจากความเหลวแหลก

ฟอนเฟะของสังคมสยามในยุคนั้น

และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติ

พระองค์จำต้องสั่งประหารคนไปมากมาย

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความสงบเรียบร้อยของอาณาจักร)


แต่ในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กนั้น เท่าที่ผมทราบ

ไม่ปรากฏว่ากวนอูจะมีความรู้สึกเศร้าเสียใจหรือ

รู้สึกว่าการกระทำของตนเองเป็นการกระทำผิด

ในความรู้สึกของผม สถานะของกวนอู

ควรถูกจำกัดบทบาทให้เป็นเพียงวีรบุรุษคนหนึ่งเท่านั้น

ด้วยความสามารถในการรบผนวกกับความซื่อสัตย์

ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สำคัญในยุคที่บ้านเมืองระส่ำระสาย

แต่ความซื่อสัตย์ที่มาพร้อมกับการเข่นฆ่าด้วยเหตุผลทางการเมือง

มองอย่างไร ผมก็ไม่เข้าใจว่า

มันทำให้ถึงพร้อมด้วยความเป็นเทพได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือบรรดาชาวจีนเป็นจำนวนมาก

ต่างพากันยกย่องกราบไหว้บูชากวนอู

เสมือนเทพองค์หนึ่ง คำถามก็คือ "ทำไม"

ผมคิดว่าเพราะองค์ประกอบสองอย่าง นั่นก็คือ

อำนาจในการทำลายล้าง + คุณธรรม (ที่สังคมยอมรับ)

หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว สถานภาพของกวนอูจะไม่กลายเป็นเทพ

ดังนั้น การที่มนุษย์บางคนจะได้รับ

การสถาปนาเป็นเทพจากมนุษย์ด้วยกันนั้น

ปัจจัยสำคัญก็คือ "อำนาจ" (ในด้านใดด้านหนึ่ง)

ส่วน "คุณธรรม" เป็นเพียงปัจจัยเสริม

ซึ่งผมอดไม่ได้ที่จะต้อง นำมาเปรียบเทียบกับ

"พันท้ายนรสิงห์"

อันความซื่อสัตย์ของพันท้ายนรสิงห์นั้น

ลึกซึ้งยิ่งนัก ขนาดสละชีพเพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของพระเจ้าเสือ

ความซื่อสัตย์ที่พันท้ายนรสิงห์มีต่อพระเจ้าเสือนั้น

จึงหาได้ด้อยกว่าความซื่อสัตย์ที่กวนอูมีต่อเล่าปี่แต่อย่างใด

แต่สถานะของพันท้ายนรสิงห์ก็คงเป็นเพียงปูชนียบุคคลเท่านั้น

หาใช่ "เทพ" ที่คนทั่วไปสักการะบูชาไม่

(เว้นแต่คนท้องถิ่นที่อาจจะมีความนับถือเป็นพิเศษ)

ผมเชื่อว่า การที่สถานะของพันท้ายนรสิงห์ไม่ใช่เทพ นั้น

เป็นเพราะพันท้ายนรสิงห์ขาด "อำนาจ"

ลำพังคุณธรรมที่ปราศจากอำนาจ มันไม่สู้จะทำให้

มนุษย์ด้วยกันเกิดความเคารพยำเกรงมากนัก

สถานะของพันท้ายนรสิงห์ จึงเป็นเพียง "คนดี" คนหนึ่งเท่านั้น


ในทางพุทธศาสนา ความเป็นเทพไม่มีส่วน

เกี่ยวข้องกับอำนาจแต่อย่างใด แต่ความเป็นเทพนั้น

เกิดจากการมี "หิริ โอตตัปปะ" เป็นสำคัญ

(หมายเหตุ : คือ ความเกรงกลัวและความละอายต่อบาป)

ยิ่งมีหิริ โอตตัปปะสูงเพียงใด ก็ยิ่งใกล้เคียงต่อความเป็นเทพมากเท่านั้น

สถานะแห่งความเป็นเทพจึงไม่ได้เกิดจากอำนาจ

แต่เกิดจากธรรม ดังนั้น ธรรมจึงต้องอยู่เหนืออำนาจ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่ อำนาจคือธรรม

ครั้งหนึ่ง น.ส.พ.ไทยรัฐ เคยลงบทสัมภาษณ์

อดีตเพชฌฆาตท่านหนึ่งเมื่อครั้งที่การประหาร

ยังใช้การยิงเป้าอยู่ อดีตเพชฌฆาตท่านนี้กล่าวว่า

การที่ท่านได้ประหารเหล่านักโทษประหาร

จำนวนมากนั้น ไม่ได้ทำให้ท่านรู้สึกว่า

ท่านเป็นคนดีแต่อย่างใด แม้ว่าบางคนที่ถูกประหาร

จะเคยก่อคดีอุกฉกรรจ์มาหลายคดี

เบี้ยเลี้ยงที่ได้จากกการทำงานนี้ ท่านก็เอาไป

ทำบุญอุทิศให้แก่เหล่านักโทษที่ต้องโทษประหารจนหมด

นี่คือประเด็นครับ อำนาจอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่จำต้องใช้ในบางกรณี

แต่อำนาจไม่ใช่สิ่งที่พึงเคารพยกย่อง

เพราะอำนาจไม่ใช่ "ธรรม"


ที่ผมกล่าวมานั้น เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกสถาปนาให้เป็นเทพ (ยุคเก่า)

ลองมาดูผู้ที่เป็นฝ่ายสถาปนาบ้าง ว่าเขาน่าจะรู้สึกอย่างไรต่อเทพ

เมื่อเทพจำต้องประกอบด้วย อำนาจ + คุณธรรม

ความรู้สึกของผู้ที่อยากสถาปนา "ใคร" สักคนขึ้นเป็นเทพ

จึงน่าจะมีความรู้สึกต่อเทพในลักษณะ เคารพ + ศรัทธา

นอกเหนือไปจาก การอ้อนวอน หรือ เรียกร้องจากเทพ

ซึ่งเป็นสิ่งปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป

"เคารพ" คือ การยอมรับในอำนาจของเทพ

"ศรัทธา" คือ การยอมรับในความดีของเทพ

และ"อ้อนวอน" คือ การยอมรับในความสามารถ

หรือศักยภาพ(บางอย่าง) ของเทพ

เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน จึงเกิดความเป็นเทพขึ้น

ความเป็นเทพในยุคเก่าจึงยังผูกพันอยู่กับความดีบ้าง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แล้วเทพยุคใหม่ล่ะ เป็นยังไง ?

ยังมีลักษณะเหมือนเทพยุคเก่าหรือไม่

ผมรู้สึกว่า เทพยุคใหม่มีความแตกต่างจากเดิมไม่น้อย

สรุปก็คือ เทพยุคใหม่นั้น ต้องประกอบด้วย

อำนาจ + ศักยภาพในการสนองความต้องการ

ซึ่งศักยภาพที่ว่านั้นอาจไม่จำต้องเจือด้วยคุณธรรมก็ได้

และแม้มันจะทำให้คนบางคนต้องเดือดร้อน

เพราะศักยภาพที่ว่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ลักษณะของเทพยุคใหม่จึงไม่จำเป็นต้องรบเก่งหรือมีคุณธรรม

แต่ต้องมีความสามารถในการ "แจก" สูงมาก ๆ

แม้ว่าสิ่งที่นำมา "แจก" นั้น อาจจะไม่ใช่ของเทพองค์นั้นก็ตาม

ผมเชื่อว่า คนยุคใหม่สูญเสีย "ศรัทธา"

ที่มีต่อเทพแล้วครับ เพราะเทพเป็นได้เพียง

กลไกอย่างหนึ่งในการสนองความต้องการเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่คนยุคใหม่รู้สึกต่อเทพยุคใหม่

จึงน่าจะมีลักษณะ เคารพ + นิยม

ไม่ใช่ เคารพ + ศรัทธา เหมือนในอดีต

และเมื่อมันเป็นเพียงความ "นิยม" ไม่ใช่ "ศรัทธา"

มันจึงพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

จะว่าไป ลักษณะเทพยุคใหม่ มันคุ้น ๆ อยู่นะ


ครับ เทพยุคใหม่ไม่จำเป็นต้อง

ถือดาบหรือง้าวอีกแล้ว มันเชยแล้วครับ










 

Create Date : 02 สิงหาคม 2554
2 comments
Last Update : 30 กรกฎาคม 2555 21:33:35 น.
Counter : 1199 Pageviews.

 

เห็นด้วยครับ กับข้อความข้างบน

 

โดย: ผู้มาเยื่อน IP: 58.11.239.24 15 กุมภาพันธ์ 2555 16:45:33 น.  

 

กวนอูเป็นเทพไม่ได้หรอกฆ่าคนมามากมายตายไปก็ต้องตกนรก ถ้าคิดตามกฎแห่งกรรม ฉนั้นใครก็ตามทีอ้างว่าติดต่อกับเทพกวนอูได้นะฟันธงได้เรยว่าเป็นพวกลวงโลก

 

โดย: ผู้มาเยื่อน IP: 58.11.239.24 15 กุมภาพันธ์ 2555 16:49:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.