Group Blog
 
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 

ตายเพื่อสิ่งที่เชื่อเมื่อ 15 ค่ำเดือน 11 โดย เกษียร เตชะพีระ จาก มติชน


นานจนจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ที่พระเคยทำให้ผม

สะเทือนใจจนน้ำตาไหล อย่าว่าแต่หนนี้เป็นแค่พระปลอมด้วยซ้ำไป

ผมหมายถึงตัวละคร "หลวงพ่อ" ในหนัง "15 ค่ำ เดือน 11"

ของ จิระ มะลิกุล น่ะครับ

โดยเฉพาะฉากที่หลวงพ่อพายเรือเดียวดายดึกดื่นค่อนคืนไปกลางลำน้ำโขง

เอา "ไข่พญานาค" ห่อใหญ่สะพายติดตัว แล้วโดดดำดิ่งลงไปวางไข่ในซอกหิน

ทั้งที่ชราภาพและเพิ่งสร่างไข้ เพื่อเตรียมเนรมิตปาฏิหาริย์ "บั้งไฟพญานาค"

ให้เกิดขึ้นเป็นบุญตาแก่ผู้คนในคืนถัดไป.....โดยไม่มีวันได้กลับมาอีก


ผมเห็นชัดในหนังว่าก่อนจะโดดลงน้ำไปปฏิบัติภารกิจจรรโลงพระพุทธศาสนานั้น

หลวงพ่อแย้มยิ้มอิ่มเอิบใจที่หลวงพ่อทำจึงมากไปกว่าภาษิตประจำหนังที่ว่า

"เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด" หากถึงขั้นยอม "ตายเพื่อสิ่งที่เชื่อ" เลยทีเดียว


ฉากการ "ตายเพื่อสิ่งที่เชื่อ" ของพระปลอมในหนังเรื่องนี้

เตือนใจผมให้นึกถึงข้อความในหนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งเกี่ยวกับ

ความหมายอันแตกต่างแนบเนียนระหว่าง "ความตาย"(death)

กับ "การตาย"(dying) ซึ่งปกติเรามักมัวแต่กลัวตายจนมองข้ามไป: -

"มองจากมุมอัตวิสัย สภาวะความตายก็แยกแยะไม่ออกจากสภาวะไม่ทันเกิด

หรือนอนหลับโดยไม่ฝัน และดังนั้นจึงไม่น่าหวาดกลัวสยดสยองอะไร

สิ่งที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงคือโอกาสเป็นไปได้ของการตายต่างหาก

แต่กระนั้นการตายก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของการมีชีวิตอยู่

มันเป็นอะไรบางอย่างที่ผู้มีชีวิตเท่านั้นจะทำได้ และทำนองเดียวกับอาการอื่นๆ

ส่วนใหญ่ของการมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นการกิน การเดิน การรู้สึกเป็นสุขหรือป่วยไข้

การตายก็อาจจะน่าอภิรมย์หรือไม่ก็ได้ ทว่าสภาวะความตายนั้น

ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถประสบ เราประสบกับความตายก็แต่ในเวลาสูญเสียผู้อื่นไป

และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราก็คือเศร้าเสียใจ

ฉะนั้นเอาเข้าจริงความตายของเราเองจึงไม่อยู่ในขอบเขตประสบการณ์ส่วนตัวของเรา

สิ่งที่เราแต่ละคนประสบมีแต่ชีวิต ซึ่งการตายก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนั้น

ในนัยนี้ มองจากมุมอัตวิสัยแล้ว เราจึงเป็นอมตะ


" A.C. Grayling, The Meaning of Things:

Applying Philosophy to Life (2001), p.30


มองจากมุมของหลวงพ่อเอง การตายของหลวงพ่อจึงนับว่าน่าอภิรมย์

เพราะได้ "ตายเพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ" เทียบกับการ "ตายเพื่อสิ่งที่ตนไม่เชื่อ"

อันเกลื่อนกล่นในโลกปัจจุบัน เช่น การตายของตัวประกัน 100 กว่าคน

จากจำนวนทั้งหมดกว่า 700 เพราะถูกหน่วยคอมมานโดรัสเซีย

ปล่อยก๊าซพิษเข้าใส่ในปฏิบัติการบุก "ช่วย" พวกเขาจาก

เงื้อมมือกบฏแบ่งแยกดินแดนเชชเนียในโรงละคร

ณ กรุงมอสโกเมื่อเช้ามืดวันเสาร์ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา

ถามว่าทั้ง 100 กว่าชีวิตนั้นล้วนปักใจ "เชื่อ"ว่ารัสเซียไม่ควรยุติสงคราม,

ไม่ควรถอนทหารที่ยึดครองแคว้นเชชเนียออกมา,

และไม่ควรคุกเข่าสยบให้ "ไอ้พวกเศษสวะติดอาวุธ" เหล่านั้น

จนยอมพลีชีพตัวเองตกตายไปตามกันเพื่อ "ความเชื่อ" ดังกล่าวกระนั้นหรือ?

ผมไม่แน่ใจ......

อย่างไรก็ตาม ในการ "ตายเพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ" ใดๆ,

อันตรายที่แฝงฝังอยู่คือการลื่นไถลไปสู่การ "ฆ่าเพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ" ได้ง่ายๆ

เพราะการกระทำทั้งสองตั้งอยู่บนฐานคติเดียวกัน

นั่นคือมีความเชื่อบางอย่างทรงคุณค่าสำคัญยิ่งชีวิต,

มันสำคัญเสียจนกระทั่งหากต้องสละชีวิต ไม่ว่าชีวิตตนหรือชีวิตคนอื่น

เพื่อความเชื่อนั้น ก็พึงสละ


ในหนัง "15 ค่ำ เดือน 11" ชีวิตหลวงพ่อไม่ใช่ชีวิตเดียวที่ถูกสละไปเพื่อความเชื่อ,

ยังมีชีวิตไอ้เคน(ขออภัยหากจำชื่อตัวละครผิด) เพื่อนไอ้คาน(พระเอก)

ซึ่งจมน้ำโขงตายระหว่างดำลงไปวางไข่พญานาค,

และผู้ช่วยคนหนึ่งของ ดร.จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งตายโดยไม่ทราบเหตุแน่ชัด

ระหว่างดำน้ำโขงลงไปทดลองทำบั้งไฟพญานาคให้เกิดขึ้น

ตามโครงการของ ดร. ที่จะพิสูจน์สมมติฐานว่าปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเป็นฝีมือคนทำ

ความเชื่อทั้งสองขั้ว ศาสนาของชาวบ้านกับวิทยาศาสตร์ของนักวิชาการ

จึงกลืนกินชีวิตคนเป็นบัตรพลีเหมือนกันในหนังเรื่องนี้,

ชั่วแต่วิทยาศาสตร์ของนักวิชาการดูจะไม่มีศีลธรรมกำกับ

ดร. ปากร้ายจากขอนแก่นสนิทสนมและรับเงินทุนอุดหนุนโครงการทดลอง

จากเจ้าของโรงงานริมฝั่งโขงผู้ต้องสงสัยว่าปล่อยมลพิษจากโรงงานลงแม่น้ำ

จนบั้งไฟพญานาคสาบสูญไปจากบริเวณนั้น, ดร.เศร้าซึมลงผิดหูผิดตา

หลังโครงการทดลองล้มเหลว แต่ไม่ชัดเจนว่าเขาเศร้าเพราะโครงการล้ม

หรือผู้ช่วยตายกันแน่, ขณะที่ลัทธิพิธีบั้งไฟพญานาคของหลวงพ่อ

ซึ่งจะว่าไปก็เป็นไสยอย่างหนึ่ง ดูเหมือนมีศีลธรรมแบบพุทธกำกับ

อาทิ การรักษาความลับ, ไม่หาประโยชน์เข้าตน,

ห้ามดื่มสุราเมรัย(ดังหลวงพ่ออธิบายว่าที่ไอ้เคนจมน้ำโขงตายก็เพราะเมาเหล้า),

หรือสำนึกผิดบาปของหลวงพ่อต่อการตายของไอ้เคน

ถึงแก่เก็บมาฝันร้ายระหว่างนอนไข้ขึ้น เป็นต้น


การตายเพื่อความเชื่อเรื่องพญานาคของหลวงพ่อจึงสงบนิ่งและปีติสุข

ขณะการส่งคนไปตายเพื่อความเชื่อ(หรือความไม่เชื่อ)

เชิงวิทยาศาสตร์ของ ดร. จากขอนแก่นกลับรุ่มร้อนทุรนทุรายและทุกขเวทนา


ตรงข้ามกับความสงบนิ่งปีติสุขและมั่นคงไม่คลอนแคลนในสิ่งที่ตนเชื่อ

และเฮ็ดของหลวงพ่อ, ไอ้คาน เด็กกำพร้าที่หลวงพ่อเลี้ยงดูมาแต่เล็ก

ผู้เคยร่วมสมคบกับหลวงพ่อดำน้ำโขงลงไปวางไข่พญานาคมาแต่ก่อน

กระทั่งเข้ากรุงไปเรียนหนังสือ กลับเป็นศูนย์รวมของความอมทุกข์อุกอั่ง

รุ่มร้อนทุรนทุรายตลอดเรื่อง


เมือง-การศึกษาสมัยใหม่-ความรู้ความเชื่อเชิงวิทยาศาสตร์-

และศีลธรรมแบบใหม่ทำให้คานสงสัยในสิ่งที่เคยเฮ็ดและกลับใจไม่คิดจะเฮ็ดอีก,

ข้อต่อระหว่างค่านิยมของหัวขบวนรถไฟคนรุ่นเก่ากับท้ายขบวนรถไฟคนรุ่นใหม่

ที่จิระ มะลิกุลตั้งข้อสังเกตว่าทำท่าว่าจะถูกปลดหลุดออกจากกันในปัจจุบันนั้น

(สัมภาษณ์จิระ มะลิกุล โดย ธรรมศักดิ์-พนิดา ใน "จากบั้งไฟฯไปขอบจักรวาล,"

มติชนรายวัน, 13 ต.ค. 2545, น.13)

ถูกผูกปมให้ตึงเครียดเจียนขาดผึงในใจคานนี่เอง


คานลำดับความทุกข์เพราะสงสัยท่วมอกให้หลวงพ่อฟังว่า

ปาฏิหาริย์บั้งไฟพญานาคที่หลวงพ่อและเขาแอบร่วมกันทำเทียมขึ้น

เพื่อจรรโลงพุทธศาสนา นับวันกำลังกลายเป็นมหกรรมการค้า

(เงินสะพัดราว 50 ล้านบาทในงานปีนี้) การท่องเที่ยว

(ทัวริสต์แห่กันมาร่วม 5 แสนคน รถหมื่นคันติดแหลกทั่วหนองคาย)

การพนัน(ทายว่าบั้งไฟจะขึ้นกี่ดวง) ขยะรกทำลายสิ่งแวดล้อมริมฝั่งโขง,

และที่สะท้านใจคานที่สุดคือคำก่นด่าประณามอย่างสาดเสียเทเสีย

ของครูสาวในดวงใจว่าใครขืนแอบทำบั้งไฟพญานาคขึ้น

มันก็เป็นการ "หลอกชาวบ้าน" อย่างเลวร้าย ไม่มีสิทธิทำ

ควรจับตัวเข้าคุกซะให้เข็ด ไม่ต่างจากคดีสมพงษ์ เลือดทหาร

หรือ "เปรต" อาจารย์กู้นั่นแหละ



หลวงพ่อไม่ได้ถูกวางบทให้ตอบอรรถาธิบายไขความสงสัยทั้งหมดของคาน-

ผู้ถามแทนมนุษย์สมัยใหม่แห่งยุควิทยาศาสตร์ไอทีโลกาภิวัตน์

อย่างกระจะกระจ่างแจ้ง ตรงกันข้าม คำตอบที่ทรงพลังที่สุดในหนังคือ

พฤติกรรมและจดหมายลาของหลวงพ่อซึ่งแสดงความปักใจมั่น

"เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด" อย่างไม่สะทกสะท้านแม้ต้องแลกด้วยชีวิต,

เท่าที่หลวงพ่อพูด เราได้ยินคำบ่นทำนองว่าเมืองกรุงทำให้คนเสื่อม,

นักวิทยาศาสตร์กลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์

กลายเป็นลัทธิศาสนาใหม่ เป็นต้น, หลวงพ่อไม่ตอบปัญหาบั้งไฟพญานาค

ถูกทำให้เป็นการค้าการท่องเที่ยวการพนันหรือนัยหนึ่ง

กลายเป็นสิ่งสนองกิเลสตัณหาและอบายมุข(มันเป็นปัญหาที่ตอบไม่ได้

หรือว่ามันถามหลงประเด็นผิดฝาผิดตัว อย่างน้อยสำหรับคนที่เชื่อพญานาค-กันแน่?)

ฉะนั้น ถ้าเราจะหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาของวิทยาศาสตร์แบบไทย

และการตัดสินผิด/ถูกคนทางศีลธรรมอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์โดยไม่ดูเงื่อนไข

คงต้องลองมองหาที่อื่น เช่น

"พื้นฐานวิธีคิดของคนไทยมีอยู่ 2 อย่างที่เกี่ยวเนื่องกันคือ

เป็นแนวความคิดที่มีศีลธรรมกำกับอยู่

มันจะมีเรื่องของผิด-ถูกอยู่ในวิธีคิดของคนไทยตลอดเวลา

และที่เชื่อมโยงกันมาก็คือว่า มันมีเงื่อนไขน้อย.....

"วิธีคิดแบบไทยที่ใช้เงื่อนไขน้อยผมคิดว่า

ตรงกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

ตรงข้ามกับที่พูดกันอยู่เสมอว่า คนไทยคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ซึ่งเป็นการสรุปที่ตื้นมาก เพราะว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจะกำหนดเงื่อนไข

ภายใต้ของสมมุติ เช่น แรงโน้มถ่วงอย่างนี้ อุณหภูมิเท่านี้ จะได้อย่างนี้

ซึ่งมันเกิดขึ้นในห้องแล็บ ส่วนเงื่อนไขปัจจัยอะไรที่เราควบคุมไม่ได้หรือไม่รู้

ตัดออกไปก่อน วิธีคิดแบบนี้คุณสามารถทำโจทย์ได้ มีเหตุมีผลชัดเจนมากเลย

แต่มันอาจไม่ตรงตามความเป็นจริงก็ได้ เพราะว่าความเป็นจริงมันซับซ้อนกว่านั้น

ฉะนั้นหลายอย่างของวิทยาศาสตร์จึงเป็นจริงในห้องแล็บอย่างเดียว

ซึ่งเอามาใช้ข้างนอกไม่ได้ เพราะมันมีปัจจัยอื่นอีกมาก ผมคิดว่าคนไทยชอบวิธีคิดแบบนี้

มันง่ายดี แล้วมันตรงกับเรื่องผิด-ถูกด้วย.....

"ตัวระบบการศึกษาเราเองกลับไปยืนยันในวิธีคิดแบบนี้ค่อนข้างมาก

เราเรียนหนังสือกันมากระทั่งจบมหาวิทยาลัยเพื่อจะบอกเด็กว่า

"อะไรผิด-อะไรถูก" ไม่ได้บอกเด็กว่า ลองคิดอันนี้ดูสิ ผิด-ถูกไม่สำคัญ" นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน วีณา โดมพนาดร, "เปลี่ยนสหัสวรรษวิธีคิดใหม่", มติชนรายวัน, 1 ม.ค.2543, น12

ลองคิดดูว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราอาจละเลยไปในการพิจารณาปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค"

ภายใต้กรอบวิทยาศาสตร์? เท่าที่พอคิดออกเฉพาะหน้าอาจมีอย่างน้อย 2-3 ข้อดังนี้:-


1) เราไม่ได้อยู่ในยุคมืดยุคกลางของยุโรป

สมัยกาลิเลโอ กาลิเลอีถูกคริสต์จักรคาทอลิกจับขัง

เพราะทะลึ่งพิสูจน์ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างวิทยาศาสตร์

กับศาสนาและวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้านทุกวันนี้

กลับตาลปัตรกับสมัยก่อน วิทยาศาสตร์กำลังครองโลก

บรรดาความเชื่อที่ถูกวิทยาศาสตร์ตราหน้าว่า "ไม่เป็นวิทยาศาสตร์"

ต่างหากที่ตกเป็นรอง ถูกคุกคามและนับวันจะสาบสูญไป

วิทยาศาสตร์ควรเป็นความรู้ความคิดเดียวที่เหลืออยู่ในโลกหรือ?

วิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้เข้าใจ กำกับควบคุม และเปลี่ยนแปลงโลก

และมนุษย์ได้เบ็ดเสร็จดังปรารถนาหรือไม่? สมควรให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่?

หรือว่าวิทยาศาสตร์ควรอยู่ร่วมและสัมพันธ์

กับความคิด ความรู้ ความเชื่อแบบอื่นอย่างไร?


2) ลัทธิพิธีบั้งไฟพญานาคและความคิดความเชื่อแบบศาสนาอื่นๆ

ของชาวบ้านจะดำรงอยู่ได้ต้องมีวิถีชีวิต

และฐานทรัพยากรที่สอดคล้องหล่อเลี้ยงรองรับ

นั่นหมายความว่าแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชุมชนริมฝั่งโขง

และสภาวะนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำโขงทั้งสายสัมพันธ์แนบแน่น

กับการมีหรือไม่มี "บั้งไฟพญานาค"

ทั้งในฐานะปรากฏการณ์ธรรมชาติและสังคมต่อไปข้างหน้า


3) ด้วยพลานุภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มนุษยชาติโดยรวมได้บรรลุถึงจุดที่สามารถดัดแปลงธรรมชาติของโลก

และตนเองอย่างไพศาลแทบว่าจะไร้ขอบเขต

ขอบเขตนั้นถูกผลักถอยร่นไปเรื่อยๆ -

ทั้งโดยจงใจและไร้เจตนา พลานุภาพดังกล่าวยิ่งใหญ่เสีย

จนเป็นปัญหาว่ามนุษยชาติจะกำกับควบคุมอำนาจในการสร้างสรรค์,

ทำลายล้าง และเปลี่ยนโฉมหน้าโลกที่กุมอยู่ในมือตนนี้ได้หรือไม่อย่างไร?

ที่ผ่านมา สิ่งที่ช่วยมนุษย์หยุดอำนาจของตนไว้เมื่อถึงขีดคั่นที่เผชิญกับมัน,

สิ่งที่ช่วยให้มนุษย์ยำเกรงไม่ไปล่วงละเมิดเส้นศีลธรรมอันนั้น

คือพระเจ้า(คริสต์, ยิว, อิสลาม), อาตมัน (พราหมณ์),

นิพพาน (พุทธ), SPECIES BEING (ลัทธิมาร์กซ)

หรือนัยหนึ่ง "บรมธรรม" (ศัพท์ของอาจารย์นิธิ)

ในความหมายนี้ พญานาคแห่งลุ่มน้ำโขงก็คือ "บรมธรรม" อย่างหนึ่ง

สำหรับผู้คนสองฟากฝั่ง


เรายังควรรักษา "พญานาค" ไว้หยุดอำนาจของเราเองต่อไปหรือไม่?

หรือมันไม่จำเป็นอีกแล้ว เพราะไหนๆ ก็กำลังวางแผน

จะระเบิดแก่งขุดลอกเปิดลำน้ำโขงตลอดสาย

เพื่อเดินเรือล่องสินค้า-ทัวริสต์เรือนล้านๆ

จากจีนใต้ผ่านลาว-พม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนามมายันทะเลอยู่แล้ว?

................

อ้างอิงจาก นสพ. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545


................

................


งานเขียนชิ้นนี้ของ อ.เกษียร ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อปี 2545

ในช่วงที่ภาพยนต์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 กำลังดัง

ตอนที่ผมอ่านครั้งแรก รู้สึกสะดุดเหมือนกัน เพราะมันมีนัยยะของ

การทวนกระแสโลก โดยเฉพาะกระแสแห่งวิทยาศาสตร์

อันที่จริง...บางครั้งผมเองก็เคยสงสัยว่า...

การยึดมั่นในหลักการวิทยาศาสตร์แบบสุดขั้ว

มันอาจไม่แตกต่างกับศาสนจักรในยุคกลางก็ได้

นั่นก็คือ...การไม่เปิดพื้นที่ให้กับระบบความคิดแบบอื่น

ถ้าการที่ชาวกะเหรี่ยงให้ความเคารพในผีป่า ทำให้ชาวกะเหรี่ยง

ให้ความเคารพธรรมชาติ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ซ้ำยังช่วยปกป้องดูแล

มันคือความงมงายในสายตาของวิทยาศาสตร์

หรือคนไทยบางคนแขวนพระเครื่องแล้วไม่กล้าผิดศีลข้อ 3

เพราะกลัวพระที่แขวนเสื่อมความขลัง

ผมก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า งมงายแบบนี้ มันเสียหายตรงไหน

แม้ที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์จะยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์

ความเจริญให้แก่มนุษยชาติ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าหากจะมีพื้นที่เล็ก ๆ

ให้กับระบบความคิดแบบอื่น ซึ่งให้ผลลัพธ์ในเชิงสร้างสรรค์

หรือทำให้คนเชื่อเกิดความสุขบนพื้นฐานแห่งการไม่เบียดเบียนกัน




 

Create Date : 03 เมษายน 2556
0 comments
Last Update : 15 มิถุนายน 2556 14:38:52 น.
Counter : 3627 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.