ธันวาคม 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
20
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
มิใช่เพียงสายลมที่ผ่านเลย
สองยามของคืน 13 เมษายน ฝนตกเมื่อบ่าย ค่อนคืนจึงเหลือเพียงเสียงเปาะแปะกระทบกันสาด ฝนหลงฤดู ตกฉลองเทศกาลสงกรานต์ ไม่นานนักเสียงฝนก็เงียบไป จึงได้เดินไปเปิดเครื่องเสียงฟังเพลงช้าๆ เศร้าๆ ขณะเดียวกับที่เอนหลังอ่านหนังสือไปด้วย.. ความจริงมีหนังสือหลายเล่มที่ตั้งใจจะหยิบมาอ่าน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีเวลาสัก ที และเล่มนี้ เพียงเพราะมันวางอยู่ใกล้มือ และเพราะชื่อหนังสือ… ‘มิใช่เพียงสายลมที่ผ่านเลย’ จำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ซื้อเอง หากแต่เป็นของใครคนหนึ่งซึ่งบังเอิญรู้จัก ทักทาย พูดคุย และคุ้นเคยกันในต่อมา

“ชื่อลูกหว้าค่ะ” รอยยิ้มเต็มใบหน้า ดวงตากลมใส และน้ำเสียงกังวานชัด บอกความมั่นใจในตัวเอง

“อ่านหนังสืออะไรอยู่เหรอคะ อ๋อเรื่องสั้น หว้าก็ชอบอ่านค่ะ บางที อะไรดีๆ ที่ไม่เคยคิดก็ซุกแทรกอยู่ในหนังสือที่อ่าน” เธอนั่งข้างๆ ขณะรถออกเดินทาง ด้านหลังมีเสียงร้องเพลง ตีกลองประสานกันอย่างสนุกสนาน เรามีปลายทางเดียวกัน นั่นคือค่ายอาสาฯ เพื่อเด็กพิการทางหูที่โรงเรียนศึกษาพิเศษห่างไกลจากกรุงเทพฯ ผมเพียงแต่นั่งเงียบๆ ด้านหน้าถัดจากคนขับ และเธอก็นั่งอยู่ข้างๆ

“ไม่ไปสนุกกับคนอื่นๆ เหรอ” ผมถามเธอ เพื่อไม่ให้เสียมารยาทหากจะนั่งเงียบจนเกินไป

“ไม่ล่ะค่ะ หว้าชอบฟังมากกว่า ก็อีกนั่นแหละค่ะ ในดนตรีมีอะไรให้เราคิดเยอะแยะ หว้าชอบเพลงเพื่อชีวิต ชอบเนื้อหาที่ไม่เน้นแต่เรื่องความรักจนเกินไป ได้มุมมองของชีวิตจากเพลง แล้วดนตรีเพลงเพื่อชีวิตก็ดี หว้าชอบ ดนตรีที่มีเสียงขลุ่ย แล้วก็เมาท์ออแกน” ตรงประโยคยาวๆ ของเธอนี่เองที่ทำให้ผมนิ่งฟังและนึกชอบในความคิดของเธอครามครัน อาจจะเพราะเธอที่เธอพูดคือสิ่งเดียวกับที่ผมชอบก็ได้

“พี่ชื่ออะไรคะ ยังไม่เห็นบอกหว้าเลย แล้วมาจากสถาบันฯไหน?” เพราะเป็นกลุ่มตัวแทนของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ต่างคนจึงต่างไม่รู้จักกันมาก่อน

“ทัตครับ ชื่อรวิทัต” ผมบอกเธอสั้นๆ ลูกหว้าพยักหน้าหงึกหงักสองสามทีเป็นเชิงรับรู้แล้วชวนสนทนาต่อ เธอช่างพูดและไม่น่าเบื่อ ผมถึงคุยกับเธอได้…มากว่าคนอื่นๆ

“แล้วถูกเลือกมาหรือว่า..โดนบังคับมา เอ ถูกเลือกกับโดนบังคับนี่ความหมายไม่ต่างกัน เอาใหม่.. พี่ทัตอยากมาเองหรือว่าถูกเลือกมา” เธอเปลี่ยนคำถามใหม่

“แล้วน้องล่ะ” ผมย้อน ที่จริงผมไม่ได้อยากนับเธอเป็นญาติสักเท่าไรนัก แต่นั่นเป็นคำเรียกขานที่ดูจะเหมาะสมที่สุดและดูไม่ห่างเหินหรือสนิทสนมจนเกินไปนัก คนเพิ่งรู้จัก.. บางทีควรมีช่องว่าง

“หว้าขอมาเองแหละค่ะ หว้าเพียงแต่รู้สึกว่าน่าจะทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี” เธอยิ้มกว้าง

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในประเทศหลายแห่งเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีงาม ตัวแทนของแต่ละสถาบันส่งนักศึกษาเข้าร่วมสถาบันละไม่เกินสองคน ร่วมกันบริจาคหนังสือและอุปกรณ์การเรียน พร้อมทั้งสอนหนังสือให้กับเด็กพิเศษเหล่านั้น นักศึกษาแพทย์และสาธารณสุขก็อยู่ฝ่ายตรวจสุขภาพ ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ แล้วโครงการแรกก็ประสบความสำเร็จด้วยดี บางคนหลังจากสิ้นสุดการเดินทางก็ติดต่อและเป็นเพื่อนกันในต่อมา แต่กับลูกหว้า ผมไม่ได้เจอเธออีกนับจากนั้น แม้จะมีที่อยู่เพื่อเขียนจดหมาย แต่ผมไม่รู้จะเขียนอะไรถึงผู้หญิง…

“หว้าเพิ่งเคยสัมผัสกับเด็กๆ ที่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยเป็นครั้งแรกในชีวิต การมาค่ายครั้งนี้ทำให้หว้าได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้และได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ หลายอย่างที่รู้ ที่เห็น ทำให้รู้สึกหดหู่ กับระบบการศึกษาของไทย คนพิการยังถูกแบ่งแยก” เธอพูดเศร้าๆ ผมเองก็คิดเห็นไม่ต่างจากเธอนัก ถ้าจะมีสักคนที่มองเห็นคุณค่าของคนพิการ พวกเขาเหล่านั้นคงไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกินของสังคม

“พี่ทัตจะมาอีกมั้ยคะ โครงการหน้า?” เธอเอียงคอถาม ยิ้มใส

“คงเรียนจบแล้ว เพราะตอนนี้ปีสุดท้าย” ผมยิ้มให้เธอ และตอบคำถามเป็นเชิงบอกว่าโครงการหน้าที่เธอถามจะไม่มีผมร่วมเดินทางมาด้วย

“แย่จัง หว้าก็ไม่มีพี่ทัตนั่งข้างๆ อย่างนี้อีกถึงสามปี” นั่นหมายถึงเธอเพิ่งเป็นเด็กปีหนึ่ง ผมมีหนังสือวางบนตัก ลูกหว้ามองดูและถามไถ่

“หนังสือชื่ออะไรคะ ขอหว้าดูได้มั้ยคะ” ผมยื่นหนังสือให้เธอโดยดี และลูกหว้าก็ทำท่าจะสนใจมัน

“เอาไปอ่านสิ พี่ให้ยืม” ผมตั้งใจ…

“เหรอคะ ดีค่ะ ว้า แต่หว้าไม่อยากยืมเปล่าๆ พี่ทัตเอาของหว้าไปละกัน หว้าให้ยืมแลกเปลี่ยน” นั่นเอง ผมถึงได้ถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ นานกว่าสามสัปดาห์แล้วที่ผมได้มา แต่ไม่เคยที่จะหยิบมาอ่าน ผมชอบอ่านหนังสือก็จริง แต่ค่อนข้างเลือกมาก ผมต้องดูชื่อคนแต่งเป็นอันดับแรกก่อนจะหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาเปิดดู บางทีชื่อหนังสือ ผมไม่ดูด้วยซ้ำไป มันเป็นนิสัยการอ่านที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะนั่นหมายความว่าผมไม่ใจกว้าง ผมมักจะมีอคติเสมอกับหลายอย่าง ไม่ว่าจะดนตรี หรือหนังสือ…

ฝนทำท่าว่าจะตกอีกคำรบ เข็มนาฬิกายังเดินเอื่อยเฉื่อย ผมเองก็พอใจอย่างนั้น ในคืนค่ำที่มีโอกาสได้อยู่คนเดียว แม้จะเหงาไปบ้าง แต่ผมก็ชอบ… และหลังจากที่ใช้เวลาพอสมควรกับการอ่านหนังสือก็พักวางด้วยการหันมาละเลงสีชอล์คน้ำมันบนกระดาษแปดสิบปอนด์ ภาพทุ่งดอกทานตะวัน ซึ่งพยายามมาหลายครั้ง และอีกครั้งนี้มันก็ถูกขย้ำเป็นก้อนกลมโยนลงถังขยะ เหมือนกับทุกครั้งที่ ‘พยายาม’ บางครั้งเราก็ต้องยอมแพ้… ในสิ่งที่เราไม่มีความสามารถ แค่ความตั้งใจอย่างเดียว… บางทีเราก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และผมก็รู้สึกว่าตัวเองคง ‘เอาดี’ ทางด้านอื่นไม่ได้.. นอกจากรักษาคนไข้

พอเบื่อจากการเขียนรูปก็หันมาจับปากกาเขียนเรื่องสั้น หน้ากระดาษเปล่าๆ มันจะมีความหมายขึ้นมาทันที ถ้ามีตัวหนังสืออยู่ในนั้น ก็อีกนั่นแหละพอเขียนไปได้สักพักใหญ่ คิดอะไรไม่ออกแล้วก็วาง หยิบกีตาร์โปร่งขึ้นมาเล่นคลอไปกับเสียงดนตรีที่เปิดอยู่ สักพักก็วางมันไว้ที่เดิม แล้วนอนแผ่หรากลางเตียงมองไปบนเพดาน อีกชั่วโมงกว่าๆ ถึงจะเช้า ผมไม่ค่อยชอบวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ยาวนาน อย่างนี้ เพราะทุกอย่างจะหยุดนิ่ง ไม่ว่าร้านรวงไหนๆ ก็จะหยุด และหยุดในเทศกาลนี้ ผมอดนึกไม่ได้ว่าถ้าในปีหนึ่งๆ มีวันหยุดยาวๆ อย่างนี้สักสี่ห้าหนประเทศชาติคงได้ล่มจม

เปล่า ผมไม่ใช่คนขยันขันแข็งอะไร เพียงแต่ผมไม่มีใครในวันหยุดนี้ต่างหาก บ้านกว้างๆ เลยดูร้างๆ พิกล และมันก็เหงาชะมัด

แล้วผมก็เผลอหลับ… จนตะวันแยงก้นนั่นแหละถึงได้งัวเงียลุกจากที่นอน อันที่จริงก็ไม่รู้จะลุกทำไม แต่ก็อีกนั่นแหละ แว่วๆ ในสำนึกยินเสียงของแม่บอกว่า

“ตื่นแต่เช้าวันมันยาวนะลูก แล้วเช้าๆ อากาศก็สดชื่น สุขภาพดี” นี่ถ้าแม่ยังอยู่ ป่านนี้ผมคงได้นอนหนุนตักตั้งแต่ก่อนสงกรานต์สักอาทิตย์ เถอะ.. แม่คงรู้ ว่าผมคิดถึง

อากาศยามเช้ามันดีจริงๆ อย่างที่แม่ว่า ถึงแดดจะเริ่มแรง แต่ผมก็ยังมีกะใจลุกมารดน้ำต้นไม้และหาอะไรใส่ท้อง.. ผมเปิดตู้รับจดหมายตามความเคยชินมากกว่าที่จะอยากรู้ว่ามีอะไรในนั้น เพราะไม่คิดว่าจะมีใครเขียนถึง เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่ของผมนั้นอยู่ที่หอพักมากกว่าที่บ้าน นานทีหรอกจึงมีโอกาสได้กลับบ้าน หากไม่ต้องขึ้นวอร์ดนั่นแหละ

แต่วันนี้มีจดหมาย และจ่าหน้าซองเป็นของผม มันก็ถูกฉีกซองอย่างลุกลน

“ที่บ้านลูกหว้าฉลองปี๋ใหม่เมืองเป็นประเพณี ถ้าพี่ทัตมา จะได้ขนทรายเข้าวัด แห่ไม้ค้ำโพธิ์ ดำหัวแม่อุ๊ย พ่ออุ๊ย… ” จดหมายลูกหว้ายาวสองหน้ากระดาษ แต่ผมอ่านถึงเพียงบรรทัดที่สี่ แล้วก็เก็บกระเป๋าเสื้อผ้า คงไม่ช้าจนเกินไปนักที่ผมจะไปฉลองสงกรานต์ที่เชียงใหม่

แล้วผมก็ถึงเชียงใหม่ในวันที่ผู้คน… มากมายมหาศาล แต่นั่นไม่ได้อยู่ในความสนใจผมนัก เสียงประกาศจากประชาสัมพันธ์ว่ามีญาติมารอพบ ยายลูกหว้าคงมารับแล้ว ผมไปยังสถานที่ตามประกาศ คนที่ยืนรออยู่ไม่ใช่ลูกหว้า หากแต่เป็นชายหนุ่มร่างสูง เขาเดินเข้ามาทักทันทีที่ผมไปถึง

“คุณรวิทัต ใช่มั้ยครับ ลูกหว้าให้ผมมารับคุณ” เขาบอกจุดหมาย ผมทำหน้างงแต่ไม่ได้ถามอะไรอีกเขาบอกต่อว่า

“คุณพ่อของหว้าป่วย ก็เลยมารับคุณไม่ได้ หว้าฝากโน้ตมาด้วย เผื่อคุณไม่แน่ใจ” เข้ายื่นโน้ตเล็กๆ ให้ผมอ่าน ก็ได้ความอย่างที่เขาพูด ผมจึงตัดสินใจไปกับเขาถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ลูกหว้ากำลังยืนอยู่กับชายหนุ่มที่สวมชุดกาวน์สีขาว ซึ่งคงเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล แต่สีหน้าท่าทางของลูกหว้าเครียดจัด ผมไปถึงจึงได้ยินประโยคสนทนาของเธอกับหมอ

“ชีวิตของคนต่างจังหวัดมันราคาถูกมากนักหรือยังไง ถึงได้ให้หมอมือใหม่ลองวิชา” ชายหนุ่มชุดขาวที่ยืนอยู่ตรงข้ามเพียงแต่ยิ้ม เขาไม่พูดอะไรสักคำ ปล่อยให้ญาติคนไข้ระบายอารมณ์อย่างเต็มที่

“หมอเก่งๆ ก็อยู่แต่ในกรุงเทพฯ ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น หมอดีๆ มีมนุษยธรรมไม่เห็นแก่รายได้ ไม่มีบ้างหรือไง” หลายประโยคของลูกหว้า ผมได้ยินชัดและอยากจะเถียง... แต่เมื่อนึกถึงนายแพทย์ที่อยู่ตรงหน้าลูกหว้า เขาต่างหากที่ควรจะรู้สึกมากกว่าผม เขายังทนยิ้มเป็นหุ่นปั้นอยู่ได้ แล้วผม… จะต้องเดือดร้อนกว่าเขาหรือ?

“หว้า นั่งก่อนดีมั้ย คุณหมอฮะเดี๋ยวผมขอคุยด้วยสักประเดี๋ยวนะฮะ” ณศธรคือชื่อของชายหนุ่มคนที่ไปรับผม เขาพาลูกหว้าไปนั่งพัก ผมเลี่ยงมาคุยกับนายแพทย์หนุ่ม ผมบอกไปว่ากำลังรอบรรจุ ขณะที่เขาถูกส่งมาก่อนเพราะโรงพยาบาลเพิ่มเตียงเป็นสามสิบเตียงจึงต้องให้แพทย์บรรจุใหม่ลงพื้นที่ นั่นเองคือเหตุที่ทำให้ลูกหว้า ‘หัวเสีย’

“หมอประจำไม่อยู่ ญาติคนไข้ต้องการรักษากับหมอคนเดิม.. ก็ยากเหมือนกันที่จะทำความเข้าใจ” ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย และผมอดที่จะสะท้อนใจไม่ได้ ถ้าต้องเจอแบบนี้บ้างเมื่อไปประจำโรงพยาบาลจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะต่างจังหวัดที่เชื่อเรื่อง ‘หมอยาหม้อ’ มากกว่าหมอโรงพยาบาล

“หรือว่าหมอสมัยนี้โอหังถึงกับลืมไปแล้วว่าเรียนมาเพื่ออะไร บางทีก็รู้สึกแย่นะที่รู้ว่า ‘หมอมือใหม่’แค่อยู่ต่างจังหวัดเพื่อ ‘บ่ม’ วิชา สุดท้ายก็ย้ายเข้าโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือเอกชนไปเลย คนเจ็บจะหายได้ก็ต้องพวกที่เงินถึงเท่านั้น คนจนๆ ก็ต้องรักษาตามมีตามเกิด ไม่ยุติธรรมเลย อย่างนี้มัน สุขภาพพาณิชย์ชัดๆ” เธอบ่นหลังจากที่ ‘หมอมือใหม่’ ไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว

“หว้าก็พูดแรงไป หมอดีๆ ก็มี พูดอย่างนี้คนทำงานก็เสียกำลังใจแย่” ณศธรพูดเป็นกลาง

“ก็มันจริงนี่ ไม่รู้ล่ะ หว้าเกลียดหมอ” คำพูดของลูกหว้าทำเอาผมสะดุ้ง แน่นอน เพราะเธอยังไม่รู้ว่าผมเพิ่งจบหมอมาหมาดๆ และก็… หมอมือใหม่อย่างที่เธอว่าเสียด้วย

“หว้าต้องขอโทษพี่ทัตด้วยนะคะที่ไม่ได้พาเที่ยว มันฉุกละหุกจริงๆ ตอนนี้ถึงพ่อจะไม่เป็นอะไรมากแล้วหว้าก็ไม่อยากจะทิ้งพ่อไปเที่ยว” ผมเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นลูก

“ไม่เป็นไรหรอก ที่จริงพี่ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องได้เที่ยว แค่ได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ดี.. เท่านั้นเอง”

“งั้น พรุ่งนี้หว้าให้พี่ธรพาพี่ทัตไปเที่ยว ที่ไหนๆ ก็ได้ ตามประสาชายหนุ่ม อ้อ ขอโทษค่ะ หว้าไม่ได้แนะนำ มัวแต่ยุ่งๆ อยู่ แต่พี่สองคนคนรู้จักกันแล้ว พี่ธรเป็นลูกชายคุณป้า พี่สาวของคุณแม่” ผมรู้สึกโล่งใจเล็กน้อยที่ได้ยินคำพูดนี้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่แฟน

บ้านของลูกหว้าอยู่ต่างอำเภอซึ่งค่อนข้างไกลจากเชียงใหม่แต่ใกล้เชียงรายมากกว่า ผมไม่คุ้นกับภูเขา หรือแม้แต่ทะเล เพราะเป็นเพียงลูกชาวนาเมืองสุพรรณฯ เท่านั้นเอง

“หน้านี้เชียงใหม่ก็มีแต่ภูเขาที่ไม่ค่อยจะเขียวนัก ส่วนน้ำตก ไม่ว่าจะแม่กลางหรือแม่ยะ สงกรานต์เมื่อไหร่ คนจะมากกว่าน้ำทุกที” เธอบอกเล่า บ้านของลูกหว้าเป็นบ้านไม้แบบล้านนา พื้นที่กว้างติดแม่น้ำกก

“จะล่องกกขึ้นเชียงรายก็ได้นะ” เธอยังหวังดี สุดท้ายผมก็ปฏิเสธทุกรายการ เหตุเพราะหลังจากบิดาของลูกหว้าออกจากโรงพยาบาลและกลับมาบ้านพร้อม ‘ยาวิทยาศาสตร์’ อีกหลายสิบซอง ก็มาเจอกับ ‘ยาหม้อ’ ที่คุณยายของลูกหว้าต้มรอหม้อใหญ่แล้วก็อยากจะรู้วิถีความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นนี้ให้มากขึ้น ผมไม่ดูถูกภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่หมิ่นแคลนยาหม้อ ผมเพียงแต่กำลังคิดหาทางให้ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันโดยที่ชาวบ้านไม่รู้สึกว่า ‘ต้อง’ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คำพูดของลูกหว้า ยังก้องอยู่ในหู “หว้าเกลียดหมอ” ผมเพียงแต่หวังว่านั่นจะเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ

“หว้าอยากพาพ่อไปโรงพยาบาลในจังหวัด แต่บ้านเราอยู่ไกลจากจังหวัดเกือบสองร้อยกิโลเมตร เราไม่ได้มีฐานะดีพอที่จะอยู่โรงพยาบาลนานๆ ได้ ยิ่งเป็นในกรุงเทพฯ หว้าเคยได้ยินว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดเฉพาะค่าห้องคืนละตั้งหลายพัน หมอคงรวยน่าดู แต่หว้าไม่ชอบเลย ร่ำรวยบนความเจ็บป่วยของคน” ยายลูกหว้าเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายมากกว่าที่ผมคิดเยอะ และไม่ง่ายเลยที่จะทำให้คนหัวดื้อเปลี่ยนความคิดได้

“ว่าแต่พี่ทัตเถอะค่ะ จบแล้วจะไปทำอะไร หว้ายังไม่รู้เลยว่าพี่ทัตเรียนคณะอะไร”

“จบแล้วพี่ก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ตามสายอาชีพที่เรียนมาแหละ”

“อะไรคะ” คำว่า “หว้าเกลียดหมอ” ทำให้ผมไม่กล้าบอกเธอไปว่าผมมีอาชีพอะไร

“หว้านี่ มองโลกในแง่ร้ายจัง” ผมเปลี่ยนเรื่อง

“ร้ายยังไงคะ ใครๆ ก็ว่าหว้าอารมณ์ดี ใจดี น่ารัก แฮ่.. วลีหลังนี่หว้าว่าเอง”

“ก็หว้าเกลียดหมอ”

“แหม พี่ทัตก็… นึกว่าเรื่องอะไร ก็หว้าไม่เห็นต้องชอบหมอเลยนี่ ยิ่งพูดถึงค่ารักษาพยาบาลนะ ความจริงน่าจะมีแบบจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามรายได้ของแต่ละคนเหมือนเสียภาษี ยังเสียภาษีตามจำนวนรายได้ ถ้าค่ารักษาพยาบาลเป็นอย่างนั้นบ้างก็ดี นี่คนรวยคนจนเจ็บเหมือนกัน อาการเดียวกัน จ่ายค่ารักษาเท่ากัน แน่นอน คนรวยไม่เดือดร้อน แต่คนจนล่ะ? มันไม่ยุติธรรมนี่พี่ทัต เฮ้อ พูดเรื่องนี้แล้วเซ็ง พูดเรื่องอื่นดีกว่า ว่าแต่พี่ทัตว่างถึงเมื่อไรคะ หว้าหมายถึง ถ้าพี่ทัตยังอยู่ที่นี่อีกนาน พ่อหายดีแล้วหว้าจะพาเที่ยว”

“ก็คงอีกสองสามวัน รบกวนหลายวันแล้วเกรงใจ”

“โฮ้ย รบกวนอะไรกัน แม่กับยายชอบพี่ทัตไม่อยากให้พี่ทัตกลับ”

“แค่แม่กับยายเท่านั้นเหรอ?” ผมแกล้งถาม

“ก็.. พี่ธรด้วยไง” ลูกหว้าเข้าใจความหมาย เธอหน้าแดงและแกล้งมองไปที่อื่น หลบตา

“ธรเขาไม่ชอบพี่หรอก เขาไม่ได้เป็นตุ๊ด” ผมเย้าเล่น

“หว้าหมายถึงชื่นชม ชื่นชอบน่ะ พี่ทัตก็”

“ว่าไง ตกลงมีแต่ยาย แม่แล้วก็ธร ที่ชอบพี่ แล้วหว้าล่ะ” คราวนี้ผมถามตรงๆ ทำเอายายลูกหว้าหน้าแดงเป็นลูกมะเขือเทศ

“พี่ทัตก็ ถามอะไรก็ไม่รู้… เค้าอายนะ” แล้วเธอก็ทุบผมเข้าอั้กใหญ่ที่กลางอก ยามเธออายก็น่ารักดี

“แล้วพี่จะกลับมา” คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ก่อนไปรับราชการเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลประจำอำเภอซึ่งห่างจากบ้านของลูกหว้าไปไม่ถึงร้อยกิโลเมตร เป็นอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงรายที่อยู่ท่ามกลางหุบเขา และแน่นอน วิถีชีวิตไม่แตกต่างกันนัก

ยังมีเวลาอีกนานที่จะทำให้เธอไม่เกลียดหมอ กว่ายายลูกหว้าจะเรียนจบ ถึงตอนนั้นเธออาจจะรักหมอมากขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะหมอหล่อๆ อย่างผม…/


ที่จริงแล้วเรื่องนี้ก็เคยตีพิมพ์มาแล้วในวัยน่ารัก แต่มันก็นานจนจำเล่ม จำฉบับไม่ได้ เพราะไม่ได้ตามเก็บตามซื้อทุกล่ม - พอเลิกเขียน แล้วก็เลยเอาเรื่องที่เคยพิมพ์ มาให้อ่านกันอีกที

หลายเรื่องที่เอามาอัพบล็อค มีบางส่วนพิมพ์ที่วัยน่ารักแล้วก็ สกุลไทย - อันที่ทำบันทึกไว้ก็จะเขียนในหมายเหตุ อันที่มีระยะเวลาการเขียนและพิมพ์มากกว่า 2-3 ปี ก็จะไม่ค่อยมีรายละเอียดนัก แต่เรื่องสั้นเกือบทั้งหมดในนี้...
เคยตีพิมพ์ มาแล้ว,

เคย "จะ" รวมเล่ม สำหรับเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์มาแล้ว เพราะมีมากกว่า 50 เรื่อง แต่ ด้วยเหตุผลของ "การตลาด" หลายสำนักพิมพ์จึงปฏิเสธในหลายวาระเวลาที่ผ่านมา,


ไม่เป็นไร - เพราะความสุขของคนเขียนหนังสือ
ก็คือ "มีคนอ่านงานที่เราเขียน"
ส่วน รวมเล่ม และ ค่าเรื่อง นั่นคือ "โบนัส"

สุขใจกับการอ่านค่ะ

ดาริ





Create Date : 14 ธันวาคม 2549
Last Update : 14 ธันวาคม 2549 12:59:39 น.
Counter : 989 Pageviews.

3 comments
  
ความสุขของคนอ่าน(บางคน) คือการได้ติ

---- เพราะใส่ใจ จึงไม่นิ่งดูดายเว้ย
โดย: แพงกวิ้น (นางสาวอาร์ต ) วันที่: 14 ธันวาคม 2549 เวลา:17:03:18 น.
  

จะหาคุงหมอ น่ารัก ๆ แบบนี้
ที่ไหนบ้างน๊า
อ่านแล้วมีความสุขค่ะ
โดย: พิม ก็ น่ารัก IP: 203.209.25.106 วันที่: 19 ธันวาคม 2549 เวลา:14:41:26 น.
  
เป็นเรื่องที่ดีมากเลยครับ แต่ผยังอ่านนะ 5555
โดย: Shadow Man IP: 58.10.128.182 วันที่: 20 ธันวาคม 2549 เวลา:11:52:12 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดาริกามณี
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



Just Do it :


* มีอีกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้

* เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์
รักข้ามรั้ว (หญ้าเจ้าชู้)
ลุ้นสุดฤทธิ์ พิชิตรัก (หญ้าเจ้าชู้)
ภารกิจรักพิทักษ์เธอ (หญ้าเจ้าชู้)
ปีกแห่งฝัน (ดาริกามณี)

* เป็นสาวก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
* เป็นแฟน คาราบาว
* เป็นกิ๊ก เฉลียง
* ฝืนอะไรที่เป็นอื่น ฝืนอัตตา
สูงเทียมฟ้าก็มิเท่า เป็นเราเอง

* การปรากฎตัวของคนคนหนึ่ง
อาจเปลี่ยนใครอีกคนไปทั้งชีวิต

* หากต้องการอ่านนิยายที่ใส่รหัส,
รบกวน "ฝากข้อความหลังไมค์" จ่ะ