มิถุนายน 2557

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
15 มิถุนายน 2557
Form Revisit 1
เพื่อนผู้เป็นครูสอนยิงธนูของผมด้วยเคยบอกว่า   จะยิงธนูแบบ Instinctive ให้แม่นนั้นง่ายนิดเดียว    เคล็ดลับอยู่ตรงที่ต้องทำให้เหมือนกันทุกครั้ง

ตอนเพื่อนพูดผมพยักหน้าหงึก   ฟังดูมันแสนง่ายจริงๆ   แค่ทำให้เหมือนกันทุกครั้ง   แต่เอาเข้าจริงกว่าจะทำให้  "เกือบ" เหมือนกันทุกครั้งก็หมดเวลาไปนานโขอยู่

สาเหตุที่มันยากนั้นอยู่ตรงที่ระบบสั่งการในร่างกายไม่คุ้นเคยกับการยิงธนู   ดังนั้นแม้จะรู้ว่าในขั้นตอนการยิงธนูต้องทำอะไรบ้าง   แต่เมื่อเริ่มยิงทีแรกๆ   ทำอย่างไรก็ติดๆ ขัดๆ ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวไปทุกครั้ง

มันก็เหมือนกับกีฬาทั้งหลายที่ต้องฝึกฝนสร้างความคุ้นเคยกันระยะหนึ่งกว่าที่ระบบสั่งการที่ควบคุมความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจะคุ้นชินกับความเคลื่อนไหวใหม่ๆ   และทำได้ถูกต้องอย่างที่ใจเราต้องการทุกครั้ง

โดยเฉพาะกีฬาที่เป็น precision sport ที่ความผิดพลาดแม้เพียงน้อยนิดก็ทำให้ผลผิดเพี้ยนไปได้อย่างยิงธนูหรือยิงปืนด้วยแล้ว   ยิ่งต้องฝึกฝนกันถึงขนาดที่ว่าการเคลื่อนไหวนั้นๆ กลายมาเป็นเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับการยืน เดิน หรือวิ่งทีเดียว

ที่สำคัญคือในการยิงธนูนั้น   ใช่ว่าเราจะควบคุมความเคลื่อนไหวได้โดยสมบูรณ์นับแต่ปล่อยเริ่มยกคันขึ้นจนลูกธนูวิ่งพ้นคันเสียเมื่อไร

ตอนที่ผมเริ่มยิงใหม่ๆ   เพื่อนคนที่กล่าวถึงข้างต้นสอนให้นับเป็นจังหวะด้วยภาษาไทยปนอังกฤษดังนี้

ดึง... แตะ... เล็ง... เร่งหลัง... ปล่อย...  และ Follow through

ดึง คือเริ่มน้าวสายและยกคันธนูขึ้น   บางตำราว่า   ให้ยกคันขึ้นก่อนและน้าวสายไว้ครึ่งหนึ่งพอตึงมือ   จากนั้นให้ลดคันลงหาเป้าพร้อมกับน้าวสายจนสุด   แต่เนื่องจากสนามที่เรายิงธนูด้วยกันนั้น   ด้านไกลหลังเป้าออกไปเป็นป่าละเมาะที่วันดีคืนร้ายอาจจะมีคนไปยืนล่อเป้ารอรับลูกธนูอยู่ตรงนั้น   เพ่ือนผมจึงขอร้องแกมบังคับให้ผมน้ามสายแบบ Swing draw คือยกคันขึ้นพร้อมกับน้าวสาย    พลาดท่าพลาดทางอย่างไร   ลูกก็ยังวิ่งลงดินก่อน   ไม่ใช่ลอยข้ามหน้าเป้าไปหาป่าละเมาะ

แตะ คือสิ่งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Anchor  คำนี้นอกจากแปลว่าทอดสมอแล้ว   ยังแปลได้อีกอย่างว่ายึดให้มั่น   ในแง่ของการยิงธนู   หมายถึงว่ามือที่น้าวสายต้องแตะที่เดิมเสมอ   จะเกี่ยวมุมปากหรือซุกใต้ซอกกราม   แต่ต้องที่เดิมเสมอ   เคยอ่านเจอในเว็บว่าฝรั่งบางรายเอาจริงเรื่องนี้ถึงขนาดที่ว่า   เกี่ยวมุมปากยังไม่มั่นพอเพราะมุมปากมันเคลื่อนตามนิ้วที่เกี่ยว   ต้องแตะเหนือริมฝีปากให้รู้สึกว่าปลายนิ้วกดลงบนเหงือกเหนือตำแหน่งเขี้ยว   ส่วนข้อนิ้วโป้งข้อแรกต้องแตะตรงมุมกรามพอดี   อย่างนี้จึงเรียกว่าเข้า Anchor มั่น

เล็ง สำหรับผมที่ยิงแบบ instinctive นั้นคือการจัดมือให้เข้าที่   ว่าจุดที่ต้องการยิงนั้นอยู่ตรงไหน   และจะวางมือสูงต่ำเผื่อวิถีโค้ง   และเบี่ยงทางขวาเท่าไร   แค่นั้นเป็นอันจบ   เพื่อนนักยิงธนูบางคนบอกว่าให้ตั้งสมาธิให้มั่นไว้กับจุดที่ต้องการยิงให้โดน   ตำราต่างประเทศบอกว่าให้เพ่งขนาดจะใช้สายตาเจาะเป้าให้ทะลุเลยทีเดียว   

แต่บางคนบอกว่าไม่ต้องตั้งใจมากขนาดนั้น   และผมก็เห็นจริงด้วย   ข้อนี้ได้มาจากประสบการณ์การยิงปืน   เมื่อเอาศูนย์แตะเป้าแล้วสมาธิของผมไม่ได้เพ่งอยู่กับเป้าอีกต่อไป   แต่หันมาอยู่ที่การกำหนดรู้การจัดระเบียบร่างกายและลมหายใจ   ก่อนจะมาหยุดอยู่ที่นิ้วที่ค่อยๆ บีบไกปืนเข้ามา

การยิงธนูทางสายเอเชียก็ให้ความสำคัญกับข้อนี้   ทั้งสายจีนและญี่ปุ่นมีความเห็นในทำนองว่า   เมื่อยกมือขึ้นเล็งและจัดเข้าที่แล้วนั้น   ร่างกายรู้แล้วว่าต้องการจะให้ลูกธนูไปที่ไหน   สมาธิของผู้ยิงจึงไม่ต้องเพ่งอยู่ที่เป้าหมาย   นั่นคือไม่ต้องจรดจ่อกับการพยายามยิงให้ถูก   แต่ให้หันกลับมาจรดจ่อกับการจัดระเบียบร่างกายในจังหวะต่อไปแทน   นี่จึงเป็นที่มาของปริศนา (ธรรม) ที่ว่า   ยิงให้แม่นต้องไม่ตั้งใจยิงให้ถูก

แต่จะยิงให้แม่นนั้น   ต้องฝึกซ้อมจนขั้นตอนจากนี้ไปเป็นธรรมชาติที่สองของร่างกายและทำได้เหมือนกันทุกครั้ง





Create Date : 15 มิถุนายน 2557
Last Update : 13 กรกฎาคม 2557 18:51:41 น.
Counter : 828 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Tanis
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]