Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
2 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
แนะนำชาดกว่าด้วยการเกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก-2

(ต่อ)

พราหมณ์หมองูฆ่ากบนำมาให้นาคราชกินเป็นอาหาร นาคราชรำพึงว่า พราหมณ์หมองูนี้ฆ่ากบอยู่บ่อยๆ เพราะอาศัยเราเป็นเหตุ เราจักไม่บริโภคกบนั้นแล้วไม่ยอมบริโภค. เมื่อพราหมณ์หมอดูรู้ดังนั้น ได้ให้ข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งแก่พระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้าหากเราจักถือเอาอาหารนี้ไซร้ เราคงจักตายภายในกระโปรงเป็นมั่นคง จึงมิได้บริโภคอาหารแม้เหล่านั้น. พราหมณ์หมองูไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ให้พระมหาสัตว์เล่นให้คนดู ที่ใกล้ประตูเมือง ได้ทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนมาก. แม้พระราชาก็ตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า เจ้าจงให้งูเล่นให้เราดูบ้าง. เขาทูลสนองพระราชโองการว่า ได้พะย่ะค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าจักให้เล่นถวายพระองค์ ในวันปัณณรสี พรุ่งนี้. พระราชาตรัสสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า พรุ่งนี้ นาคราชจักฟ้อนรำที่หน้าชานชาลาหลวง มหาชนจงมาประชุมกันดูเถิด แล้วในวันรุ่งขึ้นตรัสสั่งให้ประดับตกแต่งชานชาลาหลวง และตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูมาเฝ้า พราหมณ์หมองูนำพระมหาสัตว์มาด้วยกระโปรงแก้ว ตั้งกระโปรงไว้ที่พื้นลาดอันวิจิตร นั่งคอยอยู่. ฝ่ายพระราชาเสด็จลงจากปราสาทแวดล้อมด้วยหมู่มหาชน ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์. พราหมณ์หมองูนำพระมหาสัตว์ออกมาแล้วให้ฟ้อนรำถวาย. มหาชนพากันดีใจ ไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ พากันปรบมือ โบกธงโบกผ้า แสดงความรื่นเริงนับด้วยหมื่นแสน. ฝนรัตนะเจ็ดประการ ก็ตกลงมาตรงเบื้องบนพระโพธิสัตว์ เมื่อพระมหาสัตว์ถูกจับมานั้นครบหนึ่งเดือนเต็มบริบูรณ์ ตลอดเวลาเหล่านี้ พระมหาสัตว์สู้ทนมิได้บริโภคอาหารเลย. ฝ่ายนางสุมนาเทวีระลึกถึงว่า สามีที่รักของเราเสด็จไปนานนักหนา จนป่านนี้ยังไม่เสด็จมาที่นี่เลย ครบหนึ่งเดือนพอดี จักมีเหตุเภทภัยอะไรหนอ ดังนี้แล้วจึงไปตรวจดูสระโบกขรณี เห็นมีน้ำสีแดงดังโลหิต ก็ทราบว่า ชะรอย สามีของตนจักถูกหมองูจับเอาไป จึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวก เห็นร่องรอยที่พระมหาสัตว์ถูกหมองูจับและทำให้ลำบาก แล้วทรงกันแสงร่ำไห้คร่ำครวญ ดำเนินไปยังปัจจันตคามสอบถามดู สดับข่าวความเป็นไปนั้นแล้ว ติดตามไปจนถึงเมืองพาราณสี ยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศ ในท่ามกลางบริษัท ณ ประตูพระราชวัง. พระมหาสัตว์กำลังฟ้อนรำถวายพระราชาอยู่นั่นแหละเหลือบแลดูอากาศ เห็นนางสุมนาเทวีแล้วละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดในกระโปรงเสีย. ในเวลาที่พระมหาสัตว์เลื้อยเข้าไปสู่กระโปรงแล้ว พระราชาทรงพระดำริว่า นี่เหตุอะไรกันเล่าหนอ? จึงทอดพระเนตรแลดูทางโน้นทางนี้ เห็นนางสุมนาเทวียืนอยู่บนอากาศจึงตรัสคาถาที่ ๑ ความว่า ท่านเป็นใคร งามผ่องใสดุจสายฟ้า และอุปมาเหมือนดาวประจำรุ่ง เราไม่รู้จักท่านว่า เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นหญิงมนุษย์. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ มญฺญามิ มานุสี ความว่า เรามิได้เข้าใจว่าท่านเป็นหญิงมนุษย์ ท่านควรจะเป็นนางเทพธิดา หรือหญิงคนธรรพ์. บัดนี้ เป็นคาถาโต้ตอบระหว่างราชากับนางสุมนาเทวี (ซึ่งมีลำดับดังต่อไปนี้) (นางสุมนาทูลว่า) ข้าแต่พระมหาราชา หม่อมฉันหาใช่เทพธิดา หญิงคนธรรพ์ หรือหญิงมนุษย์ไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญา อาศัยเหตุอย่างหนึ่งจึงได้มาในพระนครนี้. (พระราชาตรัสถามว่า) ดูก่อนนางนาคกัญญา ท่านมีอาการเหมือนคนมีจิตฟั่นเฟือน มีอินทรีย์อันเศร้าหมอง ดวงเนตรของท่านไหลนองไปด้วยหยาดน้ำตา อะไรของท่านหาย หรือว่าท่านปรารถนาอะไรจึงได้มาในเมืองนี้ เชิญท่านบอกมาเถิด. (นางสุมนาทูลตอบว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่าอุรคชาติ ผู้มีเดชอันสูงในมนุษยโลก เขาเรียกสัตว์นั้นว่านาค บุรุษคนนี้จับนาคนั้นมาเพื่อต้องการเลี้ยงชีพ นาคนั้นแหละเป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียจากที่คุมขังเถิดเพค่ะ. (พระราชาตรัสถามว่า) ดูก่อนนางนาคกัญญา นาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า ไฉนจึงมาถึงเงื้อมมือของชายวณิพกได้เล่า เราจะใคร่รู้ถึงการที่นาคราชถูกกระทำจนถูกจับมาได้ ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด. (นางสุมนาทูลตอบว่า) แท้จริง นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า พึงทำแม้นครให้เป็นภัสมธุลีไปได้ แต่เพราะนาคราชนั้นเคารพนบนอบธรรม ฉะนั้น จึงได้บากบั่นบำเพ็ญตบะ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺเถนมฺหิ ความว่า หม่อมฉันอาศัยเหตุอย่างหนึ่ง จึงได้มาในพระนครนี้. บทว่า กุปิตินฺทฺริยา ได้แก่ เป็นผู้มีอินทรีย์เศร้าหมอง. บทว่า วาริคณา ได้แก่ หยาดน้ำตา. บทว่า อุรโคติ จาหุ ความว่า ก็มหาชนเรียกขานสัตว์ใดว่า อุรคชาติ. บทว่า ตมคฺคหี ปุริโส ความว่า บุรุษผู้นี้จับพระยานาคนั้นมาเพื่อต้องการเลี้ยงชีวิต. บทว่า วนิพฺพกสฺส ความว่า พระราชาตรัสถามว่า นาคราชนี้เป็นผู้มีอานุภาพมาก อย่างไรเล่าจึงตกมาอยู่ในเงื้อมมือของบุรุษวณิพกนี้ได้. บทว่า ธมฺมญฺจ ความว่า นางสุมนาเทวีกราบทูลว่า นาคราชภัสดาของหม่อมฉันนี้ ทำความเคารพพระธรรมคือเบญจศีล และพระธรรมคือการอยู่รักษาอุโบสถ เพราะฉะนั้น แม้ถูกบุรุษนี้จับมา ถึงแม้พระยานาคจะคิดว่า หากเราจะพ่นลมหายใจลงเบื้องบนบุรุษนี้ไซร้ เขาก็จักแหลกละเอียดไปเหมือนกองเถ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีลของเราก็จักแตกทำลายเพราะกลัวศีลจะแตกทำลาย จึงสู้อุตส่าห์บากบั่นอดกลั้นความทุกข์นั้นไว้ ตั้งใจทำตบะ คือกระทำความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น. พระราชาตรัสถามต่อไปอีกว่า ไฉนนาคราชจึงยอมให้บุรุษนี้จับมาได้เล่า ลำดับนั้น นางสุมนาเทวี เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ จึงกล่าวคาถาความว่า ข้าแต่องค์ราชันย์ นาคราชนี้มีปกติรักษาจาตุททสีอุโบสถ และปัณณรสีอุโบสถ นอนอยู่ใกล้ทางสี่แพร่ง บุรุษหมองูจับนาคราชนั้นมาด้วยต้องการหาเลี้ยงชีพ นาคราชนี้เป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังเถิด. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุปฺปเถ ความว่า นาคราชนี้ตั้งจิตปรารถนาอธิษฐานธรรมอันประกอบด้วยองค์ ๔ ณ ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ในสถานที่ใกล้ทางสี่แพร่ง. บทว่า ตํ พนฺธนา ความว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานทรัพย์แก่หมองูนี้ แล้วปลดปล่อยนาคราชผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีคุณความดีอย่างนี้นั้น จากที่คุมขังคือกระโปรงเสียเถิด พระเจ้าข้า. ก็แลครั้นนางนาคกัญญาสุมนาเทวีทูลอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทูลอ้อนวอนพระราชาซ้ำอีก ได้กล่าวคาถาสองคาถา ความว่า สนมนารีถึงหมื่นหกพันนางล้วนสวมใส่กุณฑลแก้วมณี บันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์ แม้สนมนารีเหล่านั้น ก็ยึดถือนาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง.

ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นโดยธรรม ปราศจากกรรมอันสาหัส ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน ทองร้อยแท่ง และโคร้อยตัว ขอนาคราชผู้แสวงบุญ จงเหยียดกายได้ตรงเที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขังเถิด. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสฬสิตฺถีสหสฺสานิ ความว่า นางสุมนาเทวีแสดงความว่า ขอพระองค์อย่าทรงสำคัญว่า นาคราชนี้จะเป็นผู้ขัดสนยากจน เพราะสนมนารีทั้งหลายของนาคราชนี้ ล้วนประดับตกแต่งด้วยสรรพาลังการยังมีประมาณเท่านี้ สมบัติที่เหลือยากที่จะนับ หาประมาณมิได้. บทว่า วาริเคเห สยา ความว่า ทรงบันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์บรรทมอยู่ ณ ห้วงวารีนั้น. บทว่า โอสฏฺฐกาโย ความว่า จงเป็นผู้มีกายเป็นอิสระ. บทว่า จราตุ แปลว่า จงเที่ยวไป. ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถา ความว่า เราจะปล่อยนาคราชนี้ไปโดยธรรม ปราศจากกรรมอันสาหัส ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน ทองคำร้อยแท่ง โคร้อยตัว นาคราชผู้ต้องการบุญ จงเหยียดกายตรงเที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขัง. ดูก่อนลุททกพราหมณ์ เราจะให้ทอง ๑๐๐ แท่ง กุณฑลแก้วมณีราคามาก บัลลังก์สี่เหลี่ยม สีดังดอกผักตบ ภรรยารูปงามสองคน และโคอุสุภะ ๑๐๐ ตัวแก่ท่าน ขอนาคราชผู้ต้องการบุญ จงเหยียดกายตรงเที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขังเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลุทฺท ความว่า เพื่อจะปลดปล่อยพระยานาคราช พระราชาจึงตรัสเรียกพราหมณ์หมองูมา เมื่อจะแสดงไทยธรรมที่จะพึงพระราชทานแก่เขา จึงตรัสอย่างนี้ ส่วนพระคาถาก็มีอรรถาธิบายดังกล่าวrแล้วในหนหลังนั่นแล. ลำดับนั้น ลุททกพราหมณ์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน แม้จะมิทรงพระราชทานสิ่งไรเลย เพียงแต่ตรัสสั่งให้ปล่อยเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังทันที ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงเหยียดกายตรงเที่ยวไป. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตว วจนํ ความว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถึงแม้พระองค์จะมิได้ทรงพระราชทานสิ่งใดเลย เพียงแต่พระองค์ตรัสสั่งให้ปล่อยเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จักเคารพ รับเหนือเกล้า.

บทว่า มุญฺเจมิ นํ ความว่า พราหมณ์หมองูกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักปล่อยพระยานาคนี้ทันที. ก็แลครั้นลุททกพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็นำพระมหาสัตว์ออกจากกระโปรง. นาคราชออกมาแล้วเลื้อยเข้าไประหว่างกองดอกไม้ ละอัตภาพนั้นเสียแล้ว กลายเพศเป็นมาณพน้อย ตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอันงดงาม คล้ายกับชำแรกดินออกมายืนอยู่ฉะนั้น. นางสุมนาเทวีลอยมาจากอากาศ ยืนเคียงข้างพระภัสดาของตน นาคราชได้ยืนประคองอัญชลี นอบน้อมพระราชาอยู่. พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถาความว่า จัมเปยยนาคราชหลุดพ้นจากที่คุมขังแล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระเจ้ากาสิกราช ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงผดุงกาสิกรัฐให้รุ่งเรือง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอประคองอัญชลีแด่พระองค์ ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าข้า. (พระราชาตรัสตอบว่า) ดูก่อนนาคราช แท้จริง คนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคยกับอมนุษย์ว่า พึงคุ้นเคยกันได้ยาก ถ้าท่านขอร้องเราถึงเรื่องนั้น เราก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺเสยฺยํ เม นิเวสนํ ความว่า จัมเปยยนาคราชทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมนรชน จัมเปยยนาคพิภพอันเป็นนิเวศน์ของข้าพระพุทธเจ้า เป็นรมณียสถาน ควรที่จะดูจะเห็น ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะแสดงพิภพนั้นเพื่อทรงทอดพระเนตร ขอเชิญพระองค์พร้อมทั้งพลพาหนะ เสด็จไปทอดพระเนตรเถิด. บทว่า ทุพฺพิสฺสาสํ ความว่า เป็นของคุ้นเคยได้โดยยาก. บทว่า สเจ จ ความว่า พระราชาตรัสตอบว่า ถ้าหากเธอจะอ้อนวอนเชื้อเชิญเรา เราก็อยากจะเห็นนิเวศน์ของเธอ ก็แต่เรายังไม่วางใจเชื่อเธอได้ ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบาน เพื่อให้พระราชาทรงเชื่อถือ ได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถาความว่า ข้าแต่พระราชา แม้ถึงว่า ลมจะพึงพัดภูเขาไปได้ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี ถึงกระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย. ข้าแต่พระราชา ท้องฟ้าจะทำลายไป ทะเลจะเหือดแห้งไป มหาปฐพีมีนามว่าภูตธราและพสุนธราจะพึงม้วนได้ เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลาจะพึงถอนไปทั้งราก ถึงกระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํวตฺเตยฺย ภูตธรา พสุนฺธรา ความว่า มหาปฐพีอันถึงการนับว่าภูตธราก็ดี วสุนธราก็ดีนี้ จะพึงม้วนได้ดังเสื่อลำแพน. บทว่า สมูลมุพฺพเห ความว่า มหาสิเนรุบรรพตจะพึงถอนรากปลิวไปในอากาศได้ ดังใบไม้แห้งอย่างนี้. เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาก็มิได้ทรงเชื่อ จึงตรัสพระคาถานั้นแหละซ้ำอีกว่า ดูก่อนนาคราช แท้จริง คนทั้งหลายเขากล่าวถึง เหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคยกับอมนุษย์ว่า พึงคุ้นเคยกันได้ยาก ก็ถ้าเธอขอร้องเราถึงเรื่องนั้น เราก็อยากไปดูนิเวศน์ของเธอ ดังนี้. เมื่อจะประกาศกำชับว่า เธอควรจะรู้จักคุณที่เราทำแล้วแก่เธอ ส่วนตัวเราเองย่อมรู้สิ่งที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อได้ดังนี้ จึงตรัสพระคาถานอกนี้ความว่า เธอเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่ง มีเดชมาก ทั้งโกรธง่าย เธอหลุดพ้นจากที่คุมขังไปได้ ก็เพราะเหตุที่เราช่วยเหลือ เธอควรจะรู้บุญคุณที่เราทำไว้แก่เธอ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฬารา แปลว่า ร้ายแรงอย่างยิ่ง. บทว่า ชานิตเว แปลว่า ควรจะรู้. พระมหาสัตว์ เมื่อจะทำสัตย์สาบานเพื่อให้พระราชาทรงเชื่อต่อไป จึงกล่าวคาถาความว่า ข้าพระพุทธเจ้าถูกคุมขังอยู่ในกระโปรงเกือบจะถึงความตาย จักไม่รู้จักอุปการคุณที่พระองค์ทรงกระทำแล้วเช่นนั้น ก็ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงหมกไหม้อยู่ในนรกอันแสนร้ายกาจ อย่าได้รับความสำราญกายสักหน่อยหนึ่งเลย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจตํ แปลว่า จงหมกไหม้. บทว่า กมฺมกตํ ความว่า นาคราชกราบทูลว่า หากข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักอุปการคุณที่บุคคลทำแล้ว เช่นพระองค์อย่างนี้ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงมีอันเป็นเห็นปานนี้เถิด. ลำดับนั้น พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระมหาสัตว์ เมื่อจะทรงชมเชย จึงตรัสพระคาถาความว่า คำปฏิญาณของเธอนั้น จงเป็นคำสัตย์จริง เธออย่าได้มีความโกรธ อย่าผูกโกรธไว้ อนึ่ง ขอสุบรรณทั้งหลายจงละเว้นนาคสกุลของท่านทั้งมวล เหมือนผู้เว้นไฟในฤดูร้อนฉะนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวเมส โหตุ ความว่า สัจจปฏิญาณของเธอนั้น จงเป็นวาจาสัตย์เที่ยงตรงเถิด. บทว่า คิมฺหาสุ วิวชฺชยนฺตุ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายเมื่อไม่ปรารถนาความร้อนในฤดูคิมหันต์ ย่อมเว้นห่างกองไฟอันลุกโพลงอยู่ฉันใด ขอสุบรรณทั้งหลาย จงเว้นว่างหลีกห่างไปเสียให้ไกลฉันนั้น. แม้พระมหาสัตว์เจ้า เมื่อจะชมเชยพระราชา จึงกล่าวคาถานอกนี้ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ทรงเอ็นดูนาคสกุล เหมือนมารดาผู้เอ็นดูบุตรคนเดียวผู้เป็นสุดที่รักฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับนาคสกุลจะขอกระทำเวยยาวฏิกกรรมอย่างโอฬารแด่พระองค์. พระราชาทรงสดับคำของนาคราชแล้ว มีพระประสงค์จะเสด็จไปนาคพิภพ เมื่อจะตรัสสั่งให้ทำการตระเตรียมพลเสนาที่จะเสด็จไป จึงตรัสพระคาถาความว่า เจ้าพนักงานรถจงตระเตรียมราชรถอันงามวิจิตร จงเทียมอัสดรอันเกิดในกัมโพชกรัฐซึ่งฝึกหัดอย่างดีแล้ว และเจ้าพนักงานช้างจงผูกช้างตัวประเสริฐทั้งหลายให้งามไปด้วยสุวรรณหัตถาภรณ์ เราจะไปดูนิเวศน์แห่งท้าวนาคราช. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺโพชเก อสฺสตเร สุทนฺเต ความว่า จงเทียมอัศวพาชีอันเกิดในกัมโพชกรัฐ ที่ได้รับการฝึกหัดอย่างดี. คาถานอกนี้ต่อไปเป็นพระคาถาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในกาลเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ความว่า พนักงานเภรี ตะโพน บัณเฑาะว์ และแตรสังข์ของพระเจ้าอุคคเสนราช มาพร้อมหน้ากัน พระราชาทรงแวดล้อมด้วยสนมนารี เสด็จไปในท่ามกลางหมู่สนมนารีงามสง่ายิ่งนัก. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุ โสภมาโน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพาราณสีแวดล้อมด้วยเหล่าสนมนารีหมื่นหกพันนางเป็นบริวาร เสด็จไปสู่นาคพิภพ แต่พระนครพาราณสีท่ามกลางหมู่สนมนารีนั้น เสด็จดำเนินไปงดงามยิ่งนัก. ในกาลเมื่อพระเจ้าพาราณสีเสด็จออกจากพระนครไป พระมหาสัตว์เจ้าทรงบันดาลนาคพิภพให้ปรากฏมีกำแพงแก้ว ๗ ประการ และประตูป้อมคู หอรบ แล้วนิรมิตมรรคาที่จะเสด็จไปยังนาคพิภพ ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับงดงาม ด้วยอานุภาพของตน. พระราชาพร้อมด้วยราชบริพาร เสด็จเข้าไปยังนาคพิภพโดยมรรคานั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคและปราสาทราชวัง น่ารื่นเริง บันเทิงพระทัย. พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า พระเจ้ากรุงกาสีวัฒนราชได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคอันงาม วิจิตรลาดแล้วด้วยทรายทอง ทั้งสุวรรณปราสาทก็ปูลาดไปด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์ พระองค์เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ของจัมเปยยนาคราชมีรัศมีโอภาสดังแสงอาทิตย์แรกอุทัย รุ่งเรืองไปด้วยรัศมีประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ. พระเจ้ากาสิกราชทรงทอดพระเนตรจนทั่วนิเวศน์ของจัมเปยยนาคราช อันดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด หอมฟุ้งขจรไปด้วยทิพยสุคนธ์อบอวลล้วนวิเศษ. เมื่อพระเจ้ากาสิกราชเสด็จเข้าไปในนิเวศน์ของท้าวจัมเปยยนาคราช เหล่าทิพยดนตรีก็ประโคมขับบรรเลง ทั้งนางนาคกัญญาทั้งหลายก็ฟ้อนรำ ขับร้อง. พระเจ้ากาสิกราชเสด็จขึ้นนิเวศน์ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ ทรงพอพระทัย ประทับนั่ง ณ พระสุวรรณแท่นทอง อันมีพนักไล้ทาด้วยแก่นจันทน์ทิพย์. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวณฺณจิตฺตกํ ความว่า ลาดแล้วด้วยทรายทอง. บทว่า พฺยมฺหํ ความว่า สู่นาคพิภพอันประดับตกแต่งแล้ว.

บทว่า จมฺเปยฺยสฺส ความว่า เสด็จไปยังนาคพิภพอันประดับแล้ว ทรงพระราชดำเนินเข้าสู่นิเวศน์ ของจัมเปยยนาคราช. บทว่า กํสวิชฺชูปภสฺสรํ ความว่า รุ่งเรืองไปด้วยรัศมีประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ. บทว่า นานาคนฺธสมีริตํ ความว่า หอมฟุ้งขจรไปด้วยทิพยสุคนธ์มีอย่างต่างๆ. บทว่า จริตํ คเณน ความว่า สู่นิเวศน์นั้นอันนางนาคกัญญา ตามเสด็จไปพร้อมหน้า. บทว่า จนฺทนสารลิตฺเต ความว่า ไล้ทาแล้วด้วยแก่นจันทน์อันเป็นทิพย์. เมื่อพระเจ้ากาสิกราชประทับนั่งบนบัลลังก์แล้ว พนักงานชาวเครื่องวิเศษก็เชิญเครื่องทิพย์อันสมบูรณ์ด้วยรสโอชานานาประการ น้อมเข้าไปถวาย และเชิญไปเลี้ยงดูเหล่าสนมนารีหมื่นหกพันนางพร้อมทั้งราชบริษัทที่เหลือ. พระเจ้าพาราณสีพร้อมด้วยราชบริษัท ทรงเสวยข้าวน้ำอันเป็นทิพย์เป็นต้น เพลิดเพลินเจริญใจด้วยทิพยกามคุณ และประทับ ณ สุขไสยาสน์ประมาณได้เจ็ดวัน ทรงสรรเสริญอิสริยยศของพระมหาสัตว์ แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนท่านนาคราช ก็เพราะเหตุไรหรือ ท่านจึงละสมบัติเห็นปานนี้ ไปนอนอยู่รักษาอุโบสถศีล ณ จอมปลวกในมนุษยโลก ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้าก็ทูลเล่าถวายให้ทรงทราบ.

พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่าพระเจ้ากาสิกราชนั้น ครั้นเสวยสมบัติ และทรงรื่นรมย์ประทับอยู่ในนาคพิภพนั้นแล้ว ได้ตรัสถามจัมเปยยนาคราชว่า วิมานอันประเสริฐของท่านเหล่านี้ มีรัศมีดังพระอาทิตย์ งามผุดผาด วิมานเช่นนี้ ไม่มีในมนุษยโลก ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร. นางนาคกัญญาเหล่านั้นสวมใส่กำไลทองนุ่งห่มเรียบร้อย มีนิ้วมือกลมกลึง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดงงามยิ่งนัก ผิวพรรณงดงามไม่ทรามเลย พากันยกทิพยปานะถวายให้พระองค์ทรงเสวย สนมนารีเช่นนี้จะมีอยู่ในมนุษยโลกก็หามิได้ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร.

อนึ่ง มหานทีอันชุ่มชื่น ดาษดื่นไปด้วยปลามีเกล็ดหนานานาชนิด มีอาทาสสกุณปักษีร่ำร้องไพเราะจับใจ ทั้งท่าขึ้นลงนทีธารก็ราบรื่นเป็นอันดี แม่น้ำเช่นนี้จะได้มีอยู่ในมนุษยโลกก็หาไม่ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร. ฝูงนกกระเรียน ฝูงนกยูง ฝูงหงส์ และฝูงนกดุเหว่าทิพย์ ร่ำร้องเสียงไพเราะจับใจ ต่างก็โผผินบินจับอยู่บนต้นไม้ ทิพยสกุณาเช่นนี้จะได้มีในมนุษยโลกก็หาไม่ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร. ต้นมะม่วง ต้นสาละ ทั้งช้างน้าว อ้อยช้างและต้นชมพู่ ต้นคูนและแคฝอย ผลิดอกออกผลเป็นพวงๆ ทิพยรุกขชาติเช่นนี้จะได้มีอยู่ในมนุษยโลกก็หาไม่ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะเพื่อประโยชน์อะไร. อนึ่ง ทิพยสุคนธ์รอบๆ สระโบกขรณีเหล่านี้หอมฟุ้งอยู่เป็นนิตย์ ทิพยสุคนธ์เช่นนี้จะมีอยู่ในมนุษยโลกก็หามิได้ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร. (จัมเปยยนาคราชทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบธรรมเพราะเหตุแห่งบุตร ทรัพย์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่ แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้าปรารถนากำเนิดมนุษย์ ฉะนั้น จึงได้บากบั่นมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตา พระราชาตรัสหมายถึงนางนาคกัญญาหมื่นหกพันนางเหล่านั้น. บทว่า กมฺพุกายูรธรา แปลว่า สวมใส่อาภรณ์อันล้วนด้วยทอง. บทว่า วฏฺฏงฺคุลี แปลว่า มีองคุลีกลมเช่นกันหน่อแก้วประพาฬ. บทว่า ตมฺพตลูปปนฺนา ความว่า ประกอบไปด้วยฝ่ามือและฝ่าเท้า แดงงดงามยิ่งนัก. บทว่า ปาเยนฺติ ความว่า พากันยกทิพยปานะประคองเข้าถวายให้พระองค์ทรงเสวย. บทว่า ปุถุโลมมจฺฉา ความว่า ประกอบไปด้วยปลานานาชนิดที่มีเกล็ดหนา. บทว่า อาทาสสกุนฺตาภิสุทา ความว่า มีนกเงือกร่ำร้องอยู่อึงมี่. บทว่า สุติตฺถา ความว่า มีท่าขึ้นลงราบรื่นเรียบร้อย. บทว่า ทิวิยา จ หํสา ได้แก่ ฝูงหงส์ทิพย์. บทว่า สมฺปตนฺติ ความว่า ร่ำร้องเสียงไพเราะจับใจต่างโผผินบินจากต้นโน้นมาต้นนี้. บทว่า ทิพฺยา คนฺธา ความว่า อนึ่ง ทิพยสุคนธ์ทั้งหลายย่อมฟุ้งตลบไปไม่ขาดสาย ในสระโบกขรณีทั้งหลายเหล่านั้น. บทว่า อภิปตฺถยาโน ความว่า ปรารถนาซึ่งกำเนิดมนุษย์เที่ยวไป. บทว่า ตสฺมา ความว่า ด้วยเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงบากบั่น คือประคองความเพียร กระทำตบะคือบำเพ็ญอุโบสถศีล ได้แก่เข้าอยู่รักษาอุโบสถ.

เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชา เมื่อจะทรงทำการชมเชย จึงตรัสพระคาถาความว่า ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีส่องแสงสว่าง ประดับตกแต่งแล้ว ปลงเกศาและมัสสุแล้ว ประพรมด้วยจุรณจันทน์แดง ฉายแสงไปทั่วทิศ ดังคนธรรพราชฉะนั้น ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เพรียบพร้อมไปด้วยสรรพกามารมณ์ ดูก่อนท่านนาคราช เราขอถามเนื้อความนี้กะท่าน มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุไร.

ลำดับนั้น พระยานาคราช เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน เว้นมนุษยโลกเสียแล้ว ความบริสุทธิ์ หรือความสำรวมย่อมไม่มีเลย ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบธรรม ด้วยตั้งใจว่า เราได้กำเนิดมนุษย์แล้วจักทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุทฺธิ วา ความว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า เว้นจากมนุษยโลกแล้ว ความบริสุทธิ์กล่าวคือ อมตนฤพานก็ดี ความสำรวมระวังในศีลก็ดี ไม่มีเลย. บทว่า อนฺตํ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้ากระทำตบะด้วยคิดว่า เราได้กำเนิดมนุษย์แล้วจักกระทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้. พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสพระคาถาความว่า ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ดูก่อนพระยานาคราช เราได้เห็นนางนาคกัญญาทั้งหลายของท่านและตัวท่านแล้ว จักทำบุญให้มาก. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาริโย จ ความว่า พระราชาตรัสว่า เราเห็นนางนาคกัญญาทั้งหลายเหล่านี้ของท่านและตัวท่านแล้ว จักกระทำบุญเป็นอันมาก. ลำดับนั้น พระยานาคราชกราบทูลพระราชาว่า ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคกัญญา และตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรหิ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์พึงกระทำ(บุญกุศลให้มากๆ เถิด). ครั้นพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอุคคเสนะทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลก จึงตรัสอำลาว่า ดูก่อนท่านนาคราช เรามาอยู่ก็เป็นเวลานาน จำจักต้องลากลับไปยังมนุษยโลก. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงทูลท้าวเธอว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ถ้าเช่นนั้นพระองค์โปรดเลือกถือเอาทรัพย์สมบัติไปตามพระประสงค์เถิด เมื่อจะทรงแสดงทรัพย์สมบัติ จึงกราบทูลว่า กองเงินและกองทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มากมายสูงประมาณเท่าต้นตาล พระองค์จงตรัสสั่งให้พวกราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้ แล้วจงตรัสสั่งให้สร้างพระราชวังด้วยทองคำ ให้สร้างกำแพงด้วยเงินเถิด. นี้กองแก้วมุกดาอันเจือปนด้วยแก้วไพฑูรย์ห้าพันเล่มเกวียน พระองค์จงตรัสสั่งให้ราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้ แล้วให้ลาดลง ณ ภูมิภาคภายในพระราชฐาน ภูมิภาคภายในพระราชฐานก็จักสะอาดปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นราชาอันประเสริฐ ผู้ทรงพระปรีชาอันล้ำเลิศ ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติ ครอบครองพระนครพาราณสีอันมั่งคั่งสมบูรณ์ สง่างามล้ำเลิศ ดุจทิพยวิมานเห็นปานฉะนี้เถิด พระเจ้าข้า. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราสิ ความว่า กองเงินกองทองประมาณชั่วลำตาล มีอยู่ในที่นั้นๆ. บทว่า โสวณฺณฆรานิ ได้แก่ พระราชวังทอง. บทว่า นิกฺกทฺทมา ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภูมิภาคภายในพระราชฐานก็จักสะอาด ปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี. บทว่า เอตาทิสํ ความว่า (ครอบครองพระนครพาราณสี)อันมีกำแพงล้อมไปด้วยทองและเงิน มีภูมิภาคลาดแล้วด้วยแก้วมุกดาและแก้วไพฑูรย์ เห็นปานฉะนี้. บทว่า ผีตํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงอยู่ครอบครองพระนครพาราณสี อันมั่งคั่งแพร่หลายฉะนี้. บทว่า อโนมปญฺญา ความว่า มีพระปัญญาอันไม่ทราม. พระราชาทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์แล้วก็ทรงรับไว้. พระมหาสัตว์จึงให้พนักงานเภรี เที่ยวตีกลองประกาศว่า ราชบุรุษทั้งปวงจงพากันขนเอาทรัพย์สมบัติ มีเงินทองเป็นต้นไปตามปรารถนาเถิด แล้วเอาเกวียนหลายร้อยเล่มบรรทุกทรัพย์สมบัติ ส่งถวายพระราชา. พระราชาเสด็จออกจากนาคพิภพ กลับไปสู่พระนครพาราณสี ด้วยยศบริวารเป็นอันมาก. เล่ากันว่า นับแต่นั้นมา พื้นชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น. พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า โปราณบัณฑิตทั้งหลายละนาคสมบัติแล้ว อยู่รักษาอุโบสถศีล ด้วยอาการอย่างนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า หมองูในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเทวทัตในบัดนี้ นางนาคกัญญาสุมนาเทวีได้มาเป็น พระมารดาพระราหุล พระเจ้าอุคคเสนราชได้มาเป็น พระสารีบุตร ส่วนจัมเปยยนาคราชได้มาเป็น เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล

*************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 02 มิถุนายน 2549
Last Update : 2 มิถุนายน 2549 19:58:33 น. 0 comments
Counter : 810 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.