Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
17 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

ท่านพระอานนท์

ได้กล่าวถึงท่านพระมหากัสสปะและท่านพระอานนท์ไปแล้วก็เพราะเป็นโอกาสที่ควรกล่าวถึง อยากจะขยายความของพระคุณและความเป็นผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบของท่านพระอานนท์ว่างดงามเพียงใด บุคคลเมื่อถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งยอมไม่ควรมีความคิดอันไม่เคารพต่อท่าน แม้ชนนอกพระศาสนาก็ไม่ควรเช่นกัน อยากจะขอยกเอาเนื้อความในพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต มาลงไว้ ตัวผมเองขอน้อมเศียรกราบไหว้ท่านพระอานนท์องค์อรหันต์ ขอถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดกาลนาน

ขออธิบายคำว่าพระเสขะ และพระอเสขะสักหน่อยครับ

พระเสขะหมายความถึงพระอริยเจ้าที่ยังต้องศึกษาต่อไป ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ส่วนพระอเสขะนั้นหมายถึงพระอรหันต์ซึ่งเป็นบัณฑิต ตรัสรู้โดยชอบแล้วครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

******************************
สักกสูตร

[๕๑๓] ๗๔. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเป็นไข้ หายจากความไข้ไม่นาน ครั้งนั้นแล เจ้ามหานามศากยะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นานมาแล้ว ที่ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงอย่างนี้ว่า ญาณเกิดแก่ผู้มีใจเป็นสมาธิ หาเกิดแก่ผู้ที่มีใจไม่เป็นสมาธิไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมาธิเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อน สมาธิเกิดทีหลัง ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นไข้ หายจากความไข้ไม่นาน ก็เจ้ามหานามศากยะนี้ทูลถามปัญหาที่ลึกซึ้งกะพระผู้มีพระภาค ถ้ากระไร เราควรนำเอาเจ้ามหานามศากยะหลีกไปในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วแสดงธรรม

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ จับพระพาหาเจ้ามหานามศากยะนำหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะเจ้ามหานามศากยะว่า ดูกรมหานามะ พระผู้มีพระภาคตรัสศีลที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสศีลที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ดูกรมหานามะ มีศีลที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่า ศีลที่เป็นของพระเสขะ ดูกรมหานามะ ก็สมาธิที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ เข้าจตุตถฌานอยู่ ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่าสมาธิที่เป็นของพระเสขะ ดูกรมหานามะ ก็ปัญญาที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่า ปัญญาที่เป็นของพระเสขะ ฯ

ดูกรมหานามะ พระอริยสาวกนั้นแล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรมหานามะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสศีลที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสศีลที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

นิคัณฐสูตร

[๕๑๔] ๗๕. สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าอภัยลิจฉวีกับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้พากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ อภิวาทท่านพระอานนท์แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วเจ้าอภัยลิจฉวีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครณฐนาฏบุตร เป็นคนรู้เห็นธรรมทุกอย่าง ย่อมปฏิญญาญาณทัสสนะไว้อย่างไม่มีส่วนเหลือว่า สำหรับเราจะเดิน จะยืน จะหลับและตื่น ก็ตาม ญาณทัสสนะก็ปรากฏชั่วกาลนิรันดร เขาบัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไปเพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือ การล่วงทุกข์ย่อมมีได้ด้วยความหมดจด ที่ให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งบุคคลจะพึงเห็นเองนี้ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้อย่างไร ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรเจ้าอภัย ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ๓ อย่างแล พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อการล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง ความหมดจด ๓ อย่างเป็นไฉน คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไป โดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ

๒. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ เข้าจตุตถฌานอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดเห็นว่าความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ

๓. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้แล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย สัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ

ดูกรเจ้าอภัย ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมโดยไม่เหลือ ๓ อย่างนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง เมื่อท่านพระอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้พูดกะเจ้าอภัยลิจฉวีว่า ดูกรอภัยเพื่อนรัก ทำไมท่านจึงไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า เจ้าอภัยลิจฉวีตอบว่า เพื่อนรัก ไฉนเราจักไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า ผู้ใดไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิต ความคิดของผู้นั้นพึงเสื่อม ฯ

สีลัพพตสูตร

[๕๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ มีการบำรุงดี มีผลทุกอย่างไปหรือ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในปัญหาข้อนี้ ไม่ควรแก้แต่แง่เดียว ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น จงจำแนกไป ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อบุคคลนั้นเสพศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นไม่มีผล และเมื่อเขาเสพศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นมีผล

ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลธรรมปริยายนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัยลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์คิดว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคพอพระอานนท์หลีกไปได้ไม่นาน ได้รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ยังเป็นพระเสขะ แต่จะหาผู้ที่เสมอเธอทางปัญญาไม่ได้ง่ายเลย ฯ

คันธสูตร

[๕๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้ ฟุ้งไปแต่ตามลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นหอม ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน คือ กลิ่นที่ราก ๑ กลิ่นที่แก่น ๑ กลิ่นที่ดอก ๑ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้แลฟุ้งไปแต่ตามลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ พระเจ้าข้า กลิ่นหอมชนิดที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งทวนลมไปก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ ยังจะมีอยู่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งทั้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ มีอยู่ ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ เป็นไฉน ฯ

พ. ดูกรอานนท์ สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมใดในโลกนี้ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน สมณพราหมณ์ทุกทิศย่อมกล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน แม้เทวดาทั้งหลายก็กล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน ดูกรอานนท์ กลิ่นหอมนี้นั้นแล ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ ฯ กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณาหรือกลิ่นกระลำพัก ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นสัตบุรุษฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทุกทิศ ฯ

จูฬนีสูตร

[๕๒๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ นั้นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ฯ

ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พ้นแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ

พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน

ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ

พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน

ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกร อานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ

พ. ดูกรอานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุ เพียงเล็กน้อย ฯ

อา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่งเทศนาที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลายได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร อานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศ สว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ฯ

พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้น พระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นเจ้าจักพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง ฯ

จบอานันทวรรคที่ ๓

******************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2548
0 comments
Last Update : 2 ธันวาคม 2548 17:36:03 น.
Counter : 598 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.