Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

คำพระสอนอุบาสก

ผู้ศึกษาพระธรรมที่เป็นเพศคฤหัสถ์อาจสงสัยในพระศาสนาหลายประการ เป็นต้นว่าเหตุใดบุคคลจะหลุดพ้นในชาตินี้ หรือเพศบรรพชิตนั้นภิกษุรักษาได้อย่างไร คำว่าธาตุคืออย่างไร ฯลฯ วันนี้ผมยกเอาพระสูตรที่พระอริยสาวกตอบปัญหาต่อคฤหบดีมาแสดงครับ ขออวยพรในโอกาสวันเด็กและวันครูให้ทุกท่านมีจิตผ่องแผ้ว เลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งๆขึ้นไปครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 10 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*************************************
คหปติวรรคที่ ๓

เวสาลีสูตร

[๑๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล อุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง เหตุปัจจัยอะไร เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่แล คฤหบดี รูปทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่นพัวพันรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทาน ย่อมไม่ปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่นพัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ดูกรคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ
[บุคคลไม่บรรลุนิพพานในปัจจุบันก็เพราะยังเพลิดเพลิน หมกมุ่นพัวพันรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เช่นนี้เมื่อมีผัสสะแล้วเกิดวิญญาณ6 ย่อมเกิดตัณหาอันอาศัยวิญญาณนั้น ตัณหาเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือภิกษุมีอินทรีย์5-ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันเป็นปัจจัยเครื่องบรรลุนิพพานไม่แก่กล้าจึงไม่อาจละอุปาทาน ตัณหา ภพ ได้]

[๑๙๒] ดูกรคฤหบดี รูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ดูกรคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ

จบสูตรที่ ๑

วัชชีสูตร

[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หัตถิคามใกล้แคว้นวัชชี ครั้งนั้นแล อุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถิคาม ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง เหตุปัจจัยอะไร เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่แล คฤหบดี รูปทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ดูกรคฤหบดีเหตุปัจจัยนี้แล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ

ดูกรคฤหบดี รูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ดูกรคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ

จบสูตรที่ ๒

นาฬันทสูตร

[๑๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวันใกล้เมืองนาฬันทา ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง เหตุปัจจัยอะไรเป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่แล คฤหบดี รูปทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ดูกรคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ

ดูกรคฤหบดี รูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ดูกรคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน ฯ

จบสูตรที่ ๓

ภารทวาชสูตร

[๑๙๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแล พระเจ้าอุเทนได้เสด็จไปหาท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ทรงสนทนาปราศรัยกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่าเป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ในสตรีปูนพี่สาวน้องสาว เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา ขอถวายพระพร ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ
[อุบายเพื่อดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต ไม่หลงในมาตุคามข้อแรกคือกับสตรีอายุปูนมารดา ให้ถือเป็นมารดา กับสตรีอายุปูนพี่สาว/น้องสาวให้ถือเป็นพี่สาวน้องสาว กับสตรีอายุปูนธิดาให้ถือเป็นธิดา]

[๑๙๖] อุ. ท่านภารทวาชะผู้เจริญ จิตเป็นธรรมชาติโลเลบางคราว ธรรมคือ ความโลภทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาว น้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี มีไหมหนอ ท่านภารทวาชะ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

บิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาพิจารณากายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ
[แต่บางคราวจิตเกิดความลังเลแปรปรวนไป เกิดความโลภในมาตุคาม อุบายต่อมาคือให้กำหนดรู้กายคตาสติคือพิจารณากายว่าไม่งามดังอธิบายในพระสูตร]

[๑๙๗] อุ. ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้นเป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี มีไหมหนอแล ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้ออื่นที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ

บิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด เธอทั้งหลายเห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอทั้งหลายฟังเสียงด้วยหูแล้ว... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะจงปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ จงถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ขอถวายพระพร แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ
[แต่สำหรับภิกษุบางรูปที่มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิตมา การพิจารณากายคตาสติเป็นเรื่องยาก มักมีสติเผลอไปหลงในรูปว่างาม ดังนี้ให้พิจารณาถึงความไม่ถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เรียกว่าการสำรวมในอินทรีย์6 ที่กล่าวมานี้คืออุบายในการประพฤติเพศพรหมจรรย์ไว้ให้ยาวนาน แม้ยังเป็นภิกษุในวัยหนุ่ม]

[๑๙๘] อุ. น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ตามกำหนดธรรมปริยายนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังเป็นผู้ไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ในสมัยใด แม้ข้าพเจ้าเอง มีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายย่อมครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ แต่ว่า ในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายไม่ครอบงำข้าพเจ้า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด ฯ

จบสูตรที่ ๔

โสณสูตร

[๑๙๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล บุตรแห่งคฤหบดีชื่อว่าโสณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน และเหตุปัจจัยอะไร เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีอยู่แล คฤหบดีบุตร ฯลฯ (เหมือนสูตรที่ ๑ ข้อที่ ๑๙๑ และ ๑๙๒)

จบสูตรที่ ๕

โฆสิตสูตร

[๒๐๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแล โฆสิตคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ถามพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าความแตกต่างแห่งธาตุๆ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสความแตกต่างแห่งธาตุไว้ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรคฤหบดี มีอยู่แล จักขุธาตุ รูปอันน่าพอใจและจักขุวิญญาณ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา มีอยู่แล คฤหบดี จักขุธาตุ รูปอันไม่น่าพอใจและจักขุวิญญาณ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนามีอยู่แล คฤหบดี จักขุธาตุ รูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาและจักขุวิญญาณ อทุกขมสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนามีอยู่แล คฤหบดี โสตธาตุ ... ฆานธาตุ ... ชิวหาธาตุ ... กายธาตุ ... มโนธาตุ ธรรมารมณ์อันน่าพอใจและมโนวิญญาณ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา มีอยู่แล คฤหบดี มโนธาตุ ธรรมารมณ์อันไม่น่าพอใจ และมโนวิญญาณ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา มีอยู่แล คฤหบดี มโนธาตุ ธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาและมโนวิญญาณ อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความต่างแห่งธาตุไว้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ฯ
[ความแตกต่างแห่งธาตุนั้นคือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ ยกตัวอย่างจักขุธาตุนั้นเมื่อกระทบกับรูปเกิดจักษุวิญญาณครบองค์สามเรียกว่าจักษุสัมผัส หากรูปนั้นน่าพอใจก็เกิดจักษุสัมผัส เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา เมื่อบุคคลเพลิดเพลินในสุขเวทนานั้น ราคานุสัยก็นอนเนื่องอยุ่ หรือหากรูปนั้นไม่น่าพอใจก็เป็นทุกขเวทนา เมื่อบุคคลถือมั่นว่าเวทนานี้เป็นของเรา ปฏิฆานุสัยก็นอนเนื่องอยู่ หากรูปนั้นเป็นปัจจัยแห่งอุเบกขา บุคคลยึดมั่นในรูปนั้น ก็เกิดเป็นอทุกขมสุขเวทนา เมื่อบุคคลยึดถือในอทุกขมสุขเวทนานั้นว่าเป็นของเรา อวิชชานุสัยก็นอนเนื่องอยู่ในสันดาน สำหรับโสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุนั้น พระพุทธองค์ได้อธิบายไว้ในแนวเดียวกันครับ นี่คือความแตกต่างกันแห่งธาตุคือเป็นปัจจัยต่อความแตกต่างแห่งเวทนา]

จบสูตรที่ ๖

หาลิททกานิสูตร

[๒๐๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ที่เรือนสกุล ใกล้สังปวัตตบรรพต ในอวันตีชนบท ครั้งแล หาลิททกานิคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ดังนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ อย่างไรหนอแล ฯ

[๒๐๒] ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา อนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้วย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่ารูปอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหูแล้ว... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์อย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา อนึ่ง ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์นี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์อย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ด้วยประการอย่างนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๗

นกุลบีตุสูตร

[๒๐๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน อันเป็นที่พระราชทานอภัยแก่มฤค ใกล้สุงสุมารคิรินคร ในภัคคชนบท ครั้งนั้นแล นกุลบิดาคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน เหตุปัจจัยอะไร เป็นเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีอยู่แลคฤหบดี ฯลฯ (เหมือนสูตรที่ ๑ ข้อที่ ๑๙๒) ฯ

[๒๐๔] อนึ่ง มีอยู่แล คฤหบดี ฯลฯ (เหมือนสูตรที่ ๑ ข้อที่ ๑๙๑ และ ๑๙๒) ฯ

จบสูตรที่ ๘

โลหิจจสูตร

[๒๐๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ ณ อรัญญกุฎี ใกล้มักกรกฏนคร ในอวันตีชนบท ครั้งนั้นแล พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมากซึ่งเป็นอันเตวาสิกของโลหิจจพราหมณ์ ได้พากันเข้าไปยังอรัญญกุฎีของท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นแล้วพากันเดินตามกันไปมา เที่ยวตามกันไปรอบๆ กุฎีเล่นเสเลยยกกีฬามีเสียงเอ็ดอึงอึกทึกอยู่ว่า อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดีเป็นชั้นเลว เป็นเหล่ากอเกิดแต่เท้าแห่งพรหม อันชาวแว่นแคว้นเหล่านี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ดังนี้ ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะออกจากวิหารแล้ว ได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ส่งเสียงไป เราจักกล่าวธรรมให้เธอทั้งหลายฟัง เมื่อท่านพระมหากัจจายนะกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นก็ได้พากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า ฯ
[๒๐๖] พราหมณ์เหล่าใด ย่อมระลึกถึงธรรมของพราหมณ์
ดั้งเดิมได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีล เป็นผู้ก่อน
กว่า ทวารทั้งหลายย่อมเป็นอันพราหมณ์เหล่านั้นคุ้มครองแล้ว
รักษาดีแล้ว เพราะครอบงำความโกรธเสียได้ พราหมณ์
เหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ดั้งเดิมได้ พราหมณ์
เหล่านั้นเป็นผู้ประพฤติในธรรม (กุศลกรรมบถ) และใน
ฌาน พราหมณ์เหล่าใดละเลยธรรมข้อนี้เสีย เป็นผู้เมาด้วย
โคตรว่า พวกเราผู้อันความโกรธครอบงำแล้ว ผู้มีอาชญา
ในตนมากมาย ผู้ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่สดุ้งและ
มั่นคง จึงประพฤติไม่สม่ำเสมอ การสมาทานวัตรทั้งปวง
คือ การไม่กิน การนอนบนหนาม การอาบน้ำในเวลาเช้า
และพระเวท ๓ ของบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร เป็นการเปล่า
ผล เหมือนของปลื้มใจอันบุรุษได้แล้วในความฝันฉะนั้น การ
กล่าวสรรเสริญบริขารภัณฑ์เหล่านี้ คือ หนังเสือทั้งเล็บ ชะฎา
การหมักหมมมูลฟัน มนต์ ศีลพรตที่กล่าวว่าเป็นตบะ การ
ล่อลวง ไม้เท้าอันคด และการประพรมน้ำที่กล่าวว่าเป็น
ความรู้ของพวกพราหมณ์ เป็นการบำเพ็ญเพื่ออามิส อันพวก
พราหมณ์ทำแล้ว ส่วนจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว อันผ่องใส ไม่
หม่นหมอง ไม่เหี้ยมโหดในสัตว์ทั้งปวง ข้อนั้นเป็นทางแห่ง
การถึงความเป็นพรหม ฯ

[๒๐๗] ครั้งนั้นแล มาณพเหล่านั้นขัดเคือง ไม่พอใจ ได้พากันเข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะโลหิจจพราหมณ์ว่า ขอท่านผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณมหากัจจายนะค่อนว่า คัดค้านมนต์ของพราหมณ์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว เมื่อมาณพเหล่านั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ก็ขัดเคือง ไม่พอใจ ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงคิดดังนี้ว่า การที่เราพึงด่า พึงเหน็บแนม พึงบริภาษพระสมณมหากัจจายนะ เพราะเชื่อฟังคำของมาณพเป็นแน่นอนนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย อย่ากระนั้นเลย เราไปหาแล้วถามดูเถิด ครั้งนั้นแล โลหิจจพราหมณ์กับมาณพเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า ท่านกัจจายนะผู้เจริญ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของข้าพเจ้า ได้มาแล้วในที่นี้หรือหนอแล

ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ดูกรพราหมณ์ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้มาแล้วในที่นี้ ฯ

โล. ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้ปราศรัยอะไรกับมาณพเหล่านั้นบ้างหรือ ฯ

ก. ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นแล ฯ

โล. ก็ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างไรเล่า ฯ

ก. ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ฯ
พราหมณ์เหล่าใด ย่อมระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ดั้งเดิมได้
พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีล เป็นผู้ก่อนกว่า ฯลฯ
ข้อนั้นเป็นทางแห่งการถึงความเป็นพรหม ฯ
ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้แล ฯ

โล. ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ดังนี้ ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ฯ

ก. ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติอันไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์อันน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกเหล่านั้นบังเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น ไม่ดับไปหาส่วนเหลือมิได้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมยินร้ายในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก มีสติอันไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์อันน้อยอยู่ และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกบังเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น ไม่ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ดูกรพราหมณ์ บุคคลเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล ฯ

[๒๐๘] ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ข้อที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญกล่าว บุคคลเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ฯ

ดูกรพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ดูกรพราหมณ์ ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล ฯ
[วิธีกำจัดอนุสัยคือราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยนั้นคือการคุ้มครองทวารมิให้อกุศลธรรมอันลามกบังเกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อเกิดผัสสะขึ้นอินทรีย์6 ย่อมถือรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ว่าที่น่ารักใคร่พอใจก็ไม่ยินดี ที่ไม่น่ารักใคร่พอใจก็ไม่ยินร้าย ตั้งสติและรักษาอารมณ์ในผัสสะทั้งหลาย ย่อมรู้ชัดแจ้งในเจโตวิมุติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง]

[๒๐๙] ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ข้อที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญกล่าว บุคคลเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วว่า เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ท่านกัจจายนะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัจจายนะผู้เจริญจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนึ่ง ขอท่านกัจจายนะผู้เจริญจงเข้าไปสู่โลหิจจสกุล เหมือนอย่างที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญเข้าไปสู่สกุลอุบาสกทั้งหลายในมักกรกฏนครเถิด มาณพทั้งหลายหรือมาณวิกาทั้งหลายเหล่าใดในโลหิจจสกุลนั้น จักกราบไหว้ จักลุกขึ้นต้อนรับท่านกัจจายนะผู้เจริญ หรือจักนำอาสนะ จักถวายน้ำแก่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ สามีจิกรรม มีการกราบไหว้เป็นต้นนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน แก่มาณพหรือมาณวิกาเหล่านั้น ฯ

จบสูตรที่ ๙

เวรหัญจานีสูตร

[๒๑๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุทายีอยู่ ณ สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ ใกล้กามัณฑานคร ครั้งนั้นแล มาณพผู้เป็นศิษย์ของนางพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอุทายียังมาณพนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้นแล มาณพผู้อันท่านพระอุทายีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า ขอแม่เจ้าผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณะอุทายีแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ดังนี้ นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรกล่าวว่า แน่ะมาณพ ถ้าอย่างนั้นเธอจงนิมนต์พระสมณะอุทายีตามคำของฉันด้วยภัตอันจะมีในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด มาณพนั้นรับคำของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรแล้ว เข้าไปหาท่านอุทายีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ได้ยินว่า ขอท่านอุทายีผู้เจริญจงรับภัตเพื่อภัตตกิจอันจะมีในวันพรุ่งนี้ ของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ท่านพระอุทายีได้รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปแห่งราตรีนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรยังท่านพระอุทายีให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียหารอันประณีต ด้วยมือของตนเองแล้ว ทราบว่าท่านพระอุทายีผู้ฉันแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว ได้สวมเขียงเท้านั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม ท่านพระอุทายีกล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ

[๒๑๑] แม้ครั้งที่สอง มาณพนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอุทายีได้ยังมาณพนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว มาณพนั้นผู้อันท่านพระอุทายีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ เข้าไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า ขอแม่เจ้าผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณะอุทายีแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรกล่าวว่า แน่ะมาณพ ก็เธอกล่าวคุณของพระสมณะอุทายีอย่างนี้ๆ พระสมณะอุทายีผู้อันฉันกล่าวแล้วว่า ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม ดังนี้ กล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไปเสีย มาณพนั้นกล่าวว่า ข้าแต่แม่เจ้าผู้เจริญ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า แม่เจ้าสวมเขียงเท้า นั่งบนอาสนะสูง คลุมศีรษะแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า พระสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม ด้วยว่าท่านผู้เจริญเหล่านั้นเป็นผู้หนักในธรรม เป็นผู้เคารพธรรม นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรกล่าวว่า แน่ะมาณพ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนิมนต์พระสมณะอุทายีตามคำของเรา ด้วยภัตเพื่อภัตตกิจอันจะมีในวันพรุ่งนี้ มาณพนั้นรับคำของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ได้ยินว่า ขอท่านพระอุทายีผู้เจริญจงรับภัตเพื่อภัตตกิจอันจะมีในวันพรุ่งนี้ของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าดังนี้ ท่านพระอุทายีรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร นั่งบนอาสนะอันเขาปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรยังท่านพระอุทายีให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนเองแล้ว ทราบว่า ท่านพระอุทายีฉันเสร็จแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว ได้ถอดเขียงเท้า นั่งบนอาสนะต่ำ เปิดศีรษะแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านเจ้าข้า เมื่ออะไรหนอแล มีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่ออะไรไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ฯ

[๒๑๒] ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรน้องหญิง เมื่อจักษุแลมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อจักษุไม่มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ฯลฯ เมื่อใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ฯ

เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านอุทายีผู้เจริญ ดิฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าอุทายีจงจำดิฉันไว้ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

จบคหปติวรรคที่ ๓

**********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 17 มกราคม 2549
0 comments
Last Update : 17 มกราคม 2549 14:14:54 น.
Counter : 502 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.