www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

The Science of Sleep + Mulholland Dr. , สุขใจแต่ในฝัน (เกาะกระแส Inception)

หากไม่ดูเป็นการรบกวน ก็จะชวนเธอมาโหวตกัน โหวตได้ทุกวัน วันละไม่เกินหนึ่งครั้ง ถึง 10 สิงหาคม

ชวนมาโหวตให้ blog "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ในการประกวด blog แห่งปี (Thailand Blg awards 2010) สาขา entertainment ได้ที่นี่จ้า

//www.thailandblogawards.com/viewblog.php?u=http%3A%2F%2Faorta.bloggang.com

วิธีโหวต:: เข้าไปที่ลิงค์ แล้ว กดปุ่ม vote+ สีส้ม (หรือใครจะใจดี ลงทุน sign up ก่อนโหวต เพื่อคะแนนโหวตเพิ่มเป็น 3 คะแนน เราก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติมนอกจากบอกว่า ชื่นใจ^^ )



... เนื่องด้วย กระแส หนังฝันๆ กำลังอินเทรนด์จาก Inception จึงถือโอกาส หยิบ บทความ หนังฝันๆ สองเรื่องที่เป็น หนังโปรด และ เขียนลง FILMAX หลายเดือนก่อน มาลงใน Blog รับกระแส Inception เอากันให้ Limbo กันไปข้างนึงเลยทีเดียว




... กาลครั้งหนึ่ง หลายเดือนก่อน ผมได้รับคำชวนจากน้องๆนักศึกษาม.กรุงเทพให้ไปร่วมพูดคุยในงาน Film Hunt ซึ่งจัดฉายหนังให้นักศึกษาดูแล้วมีการพูดคุยกันช่วงท้าย

เมื่อรู้ว่าหนังที่ผมมีหน้าที่รับผิดชอบในการเสวนาคือ The Science of Sleep ก็สร้างความกระตือรือร้นให้ผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานของผู้กำกับ มิเชล กอนดรี้ ที่ผมชื่นชอบ และเป็นโอกาสให้ผมหยิบแผ่นหนังเรื่องนี้มาดูต่อจนจบ เพราะถึงผมจะชอบ กอนดรี้ มากขนาดไหน แต่ผมก็หลับคาแผ่น The Science of Sleep แทบทุกรอบที่ได้ดู

The Science of Sleep มี ‘ความฝัน’ เป็นเหมือนตัวเอกของเรื่อง

ความฝัน เป็น ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เพราะ ความฝัน เป็นปรากฎการณ์ที่ยืนอยู่สองฝั่ง ระหว่าง ความเป็นวิทยาศาสตร์ และ จิตวิทยา

ในแง่ของวิทยาศาสตร์ ความฝัน เป็นปรากฎการณ์ที่เกี่ยวพันกับการทำงานของสมองเวลานอนหลับ โดยเฉพาะระยะการนอนที่เรียกว่า rapid eye movement (REM) อาทิเช่น การฝันร้าย(Nightmare) เกิดขึ้นเมื่อระยะการนอนช่วง REM Sleep ถูกรบกวน

แต่ ถ้าเอา เนื้อหาความฝันไปตีความทางจิตวิทยา ก็เชื่อว่า ความฝันเป็นพื้นที่ให้จิตใต้สำนึกมีเสรีที่จะโลดแล่นเต็มที่ เช่น หากเกลียดใครในโลกความเป็นจริงแต่ไม่กล้าทำอะไร ในฝันเราอาจยำทำร้ายอีกฝ่ายจนสาหัส หรือ หากในชีวิตจริงหลงรักใครสักคนที่ไม่กล้าเข้าใกล้ ในฝันเราอาจครองรักเตลิดเปืดเปิงไปถึงไหนต่อไหน ฯลฯ

ส่วน ฝันร้าย(nightmare) ก็อาจมาจาก ความวิตกกังวลที่มีอยู่เดิมก่อนเข้านอน



The Science of Sleep เปิดเรื่องด้วยฉาก สเตฟาน พระเอกหนุ่มกำลังรับบทเป็นพ่อครัวสาธิตการทำอาหารต่อหน้ากล้องทีวี เขาเอาเครื่องปรุงแต่ละอย่างมาเทใส่หม้อ พร้อมบรรยายถึงกระบวนการปรุงเมนู ‘ความฝัน’ ที่ตรงกับทฤษฎีทางจิตวิทยา

อันประกอบไปด้วยส่วนผสมของ ความคิดที่ถูกสุ่มมา ,ความทรงจำจากอดีต , ความรัก , มิตรภาพ , เสียงดนตรีที่ได้ยิน , สิ่งที่พบเห็น ฯลฯ

กระบวนการปรุงอาหารหน้ากล้องทีวี เป็น ภาพในความฝัน ของสเตฟาน หนุ่มขี้อายที่มีจินตนาการกว้างไกล เขาย้ายมาฝรั่งเศสตามคำชวนของแม่หลังจากพ่อเสียชีวิต เพื่อมาทำงานใหม่ ที่แม่บอกไว้ว่าเป็นงานสุดแสนครีเอทเกี่ยวกับปฏิทิน

วันแรกของการทำงาน เขาหอบงานของตัวเองที่เคยออกแบบปฏิทินเป็นธีมมหันตภัยที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์เครื่องบินตก , แผ่นดินไหว ฯลฯ ไปนำเสนอหัวหน้าด้วยความภาคภูมิใจ

แต่ ผลตอบกลับคือโดนไล่ให้กลับไปทำปฏิทินโป๊ ที่บริษัททำอยู่แล้วเป็นประจำ ทำให้เขาผิดหวังที่งานที่นี่ไม่ได้มีความสร้างสรรค์อย่างที่แม่เคยบอก

แถมก่อนออกจากห้องหัวหน้าก็โดนแซวเรื่องที่โกนหนวดไม่เรียบร้อย ครั้นกลับบ้านมาใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าเพื่อจัดการหนวดเคราที่หัวหน้าแซว ขณะโกนหนวดก็ดันเกิดแผล วกลายเป็น วันแรกของการทำงานที่เต็มไปด้วยความน่าหงุดหงิดใจ




จาก ‘ความจริง’ หนังพาคนดูเข้าสู่ฉาก ‘ความฝัน’ เหมือนต้นเรื่อง

เมื่อ สเตฟานเอารูปหัวหน้ามาทอดใส่กะทะ แล้ว สเตฟานก็กลับไปปรากฎตัวในที่ทำงาน กลายเป็นขาใหญ่ที่เข้าไปเม้งใส่หัวหน้า และ เครื่องโกนหนวดที่บาดเขาเมื่อหัวค่ำ ก็กลายเป็นตัวประหลาดวิ่งเข้าใส่หัวหน้า เปลี่ยนหัวหน้าให้เป็นคนซอมซ่อหนวดเครารุงรังกระโดดออกไปทางหน้าต่าง แล้ว สเตฟานก็มานั่งตรงเก้าอี้หัวหน้าพร้อมเพื่อนร่วมงานสาวที่มาคลอเคลีย

ฉากความฝันที่เกิดขึ้น อธิบายทุกอย่างได้เกี่ยวกับ ทฤษฎีความฝันทางจิตวิทยา เพราะ ในฝัน สเตฟานชดเชยความรู้สึกด้อยให้กลายเป็นทางตรงข้าม เช่น

ความภูมิใจที่ตัวเองได้เป็นใหญ่และได้การยอมรับ ผ่าน ฝันที่เป็นหัวหน้าและมีสาวคลอเคลีย,

ระบายความโกรธที่มีต่อเจ้านาย ที่เคยมองข้ามผลงานของเขา + มอบหมายงานไร้ความสร้างสรรค์ + ตำหนิเรื่องโกนหนวด ผ่านสัญลักษณ์ เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าที่วิ่งเข้าใส่เจ้านายทำให้เจ้านายมีหนวดเครารุงรังและถูกไล่ออกจากตำแหน่ง



... ถัดจากนั้น เราก็จะได้ดูการดำเนินเรื่องที่ตัดสลับกันระหว่าง ความจริง และ ความฝัน ที่อีนุงตุงนังของสเตฟาน

เราเริ่มมองเห็นปัญหาส่วนตัวของเขาที่ไม่สามารถ แยก ความจริง กับ ความฝัน ออกจากกัน ทำให้บางช่วงเขา(กับคนดู)เริ่มสับสนว่า กำลังอยู่ในความฝันหรือความจริง

การไม่รู้ตัวว่าหลับ(ฝัน)หรือตื่นอยู่ ส่งผลกระทบกับความรักที่เขามีต่อ สเตฟานี หญิงสาวห้องฝั่งตรงข้ามที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ ทั้งคู่พบกันด้วยความบังเอิญในวันที่เธอขนของย้ายเข้า แล้วเขาเข้าไปช่วยยกเปียโนขึ้นบันได จนเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่มือ สเตฟานีพาเขาไปทำแผลในห้องที่มี โซอี้ เพื่อนสาวอีกคนของสเตฟานีอยู่ด้วย

สเตฟานี ดูมีทีท่าให้ความสนใจ สเตฟาน มิใช่น้อย เธอเป็นห่วงแผลที่เขาบาดเจ็บจากการช่วยยกเปียโน , หงุดหงิดที่โซอี้ล้อเลียนและใช้จุดอ่อนทางภาษามาหลอกสเตฟาน และ สนุกแบบจริงใจไปกับจินตนาการในสิ่งประดิษฐ์แต่ละชิ้นของสเตฟาน อย่าง เครื่องไทม์แมชีนพกพา , แว่นสามมิติ ฯลฯ

ไม่ใช่แค่นั้น เรายังเห็นว่า สเตฟานีเองก็มีจริตหลายอย่างที่เหมือนกับสเตฟาน เช่น การเป็นศิลปินนักประดิษฐ์ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการเหมือนๆกัน (สเตฟาน – ประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ , สเตฟานี – ประดิษฐ์งานศิลปะ)

ทั้งสองคน น่าจะจบลงที่การได้เป็นคู่รัก แต่เพราะ บุคลิกส่วนตัว กับ ปัญหาการนอนของสเตฟาน ก่อเรื่องที่ทำให้ ความรักไม่สามารถลงเอยสำเร็จ

บวกรวมไปกับหลายๆพฤติกรรมของ สเตฟาน ทำให้เขาดูเป็นผู้ใหญ่ที่ยังไม่โต ไม่กล้าแสดงออก ไปจนถึง ขาดความมั่นใจ ไม่รู้ความต้องการที่แท้ของตัวเอง (แถมยังทะลึ่งไปขอเบอร์โซอี้จากสเตฟานีอีกต่างหาก)

ทำให้ สเตฟานี ที่สนใจ สเตฟาน ค่อยๆออกห่างจากชีวิตเขา ปล่อยให้ สเตฟาน ที่เพิ่งรู้ใจตัวเอง สามารถมีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตคู่แสนหวานกับสเตฟานี แค่เฉพาะใน ความฝัน ของตัวเอง


... หลังจากหนังจบ คำถามหนึ่งที่ผมได้รับจากน้องๆนักศึกษาที่นั่งดูด้วยกัน คือ ทำไมสเตฟานจึงต้องอยู่ในห้องส่งทีวีเวลาที่ตัวเองฝัน ?

ผมตอบกลับไปว่า นั่นเป็นเพราะ สเตฟานใช้ ความฝัน เป็นเครื่องมือที่เขาจะสามารถ ตัดต่อ ควบคุม ชีวิตของตัวเองได้เหมือนผู้กำกับที่กำกับละครชีวิตตัวเอง และ เหมือนกับที่ หลายต่อหลายคนหลีกหนี โลกความจริงที่ยากลำบากในการค้นหาความสุขหรือความสำเร็จ แล้วปลีกหนีไปมีความสุขในโลกเสมือนเช่นในโลกไซเบอร์ (เฟซบุ้ค , เกมส์ออนไลน์ ฯลฯ) ที่เราสามารถเป็น ตัวเอง ในแบบที่อยากจะเป็นได้ง่ายกว่าใช้ชีวิตในโลกจริง

‘ความฝัน’ จึงมักเป็นเครื่องมือ ที่ผู้คนใช้เพื่อตอบสนองโลกความจริงที่ไม่สมหวัง เช่นเดียวกับ ตัวละครที่ นาโอมิ วัตต์ เล่นในหนังสุดงงง เรื่อง Mullholland Dr. หนังที่ทิ้งตัวละครให้ไปจมอยู่ในความฝันเกือบครึ่งเรื่อง



... Mullholland Dr.เป็นหนังที่ใครดูรอบแรกแล้วบอกเข้าใจแบบเป๊ะๆครบถ้วน ต้องรีบชวนเข้าเครื่องจับเท็จ เพราะความซับซ้อนและการสอดแทรกสัญลักษณ์มากมายที่ ผกก.เดวิด ลินช์ ใส่เข้าไปในหนังเรื่องนี้ มันมากมายจนถึงขนาดผมยังสงสัยว่า เดวิด ลินช์ เองจะงงหรือเปล่าตอนดูหนังตัวเองครั้งแรก

หนัง เริ่มต้นจากสาวเซ็กซี่ผมดำ เกิดอุบัติเหตุทำให้ความจำเสื่อม เธอหลงเข้าไปหลบที่บ้านพักหลังหนึ่ง

ถัดมา หนังแนะนำให้รู้จัก สาวสวยผมบลอนด์ชื่อ เบ็ตตี้ ผู้มีบุคลิกเด็กสาวแสนดีผู้ใสซื่อ ที่เดินทางมาฮอลลีวูดด้วยความใฝ่ฝันจะเป็นดารา พกพาความสามารถที่หลายคนให้การยอมรับ เธอมาเข้าพักอยู่กับคุณป้าผู้โอบอ้อมอารี และพบสาวผมดำที่แอบซ่อนตัวอยู่ ชื่อ ริต้า

เบ็ตตี้อาสาทำหน้าที่ช่วยสืบหาตัวตนที่แท้จริงของ ริต้า ที่อยู่ในภาวะความจำเสื่อม หลังจากทั้งคู่ช่วยกันสืบคดี มี หญิงสาวที่เข้ามาพัวพันอีกสองคนคือ ‘ไดแอน – พนักงานเสิร์ฟ’ และ ‘คามิลล่า – นักแสดงที่ใช้เส้นจนได้เป็นดารา’

แต่ยังไม่ทันที่ปริศนาจะคลี่คลาย ความยุ่งเหยิงก็เกิดเพิ่มเติมเมื่อทั้งคู่พบศพปริศนา เบ็ตตี้กับริต้าตกหลุมรักจบลงที่การมีเซ็กส์กัน แล้ว ริต้า ก็ใช้กุญแจสีฟ้าไขกล่องลึกลับที่พบด้วยความบังเอิญ



ความฉงนงงงวย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจาก ริต้า ไขกล่องปริศนา เพราะ นาโอมิ วัตต์ ที่รับบทเป็นเบ็ตตี้ผู้แสนดี กลับกลายเป็นตัวละครนักแสดงสาวตกอับผู้กร้านโลก ชื่อ ไดแอน (ชื่อเดียวกับพนักงานเสิร์ฟที่ปรากฎตัวมาในครึ่งแรก)

ส่วน ลอร่า เฮอริ่ง ที่รับบทเป็นริต้า สาวผมดำความจำเสื่อม ก็กลายมาเป็น คามิลล่า (ชื่อเดียวกับนักแสดงใช้เส้นในครึ่งแรก) นักแสดงชื่อดัง

ครึ่งหลังของหนังทำราวกับว่า ตัวละครอย่าง เบ็ตตี้ กับ ริต้า และ เรื่องราวก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีมาก่อนเลย



ปริศนาของหนังชีวิตคนละม้วนระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลัง (ที่ใช้นักแสดงคนเดียวกัน) สามารถไขกระจ่าง เมื่อใช้ ทฤษฎีเกี่ยวกับความฝัน เข้าจับ ก็จะได้คำตอบว่า

ครึ่งแรกของหนังคือ เหตุการณ์ในความฝันของไดแอน (นาโอมิ วัตต์) ที่เธอไปใช้ชีวิตในฝันเป็น เบ็ตตี้ผู้แสนดี

ส่วนใน ครึ่งหลังคือ ความจริงที่โหดร้ายของชีวิตเธอ




... แท้จริงแล้ว ไดแอน เป็นนักแสดงกระจอกๆคนหนึ่ง ได้งานเป็นแค่บทสมทบของ คามิลล่า

ผู้คนในหนังครึ่งแรกที่ดีๆกับเธอ มาปรากฏตัวในครึ่งหลังด้วยท่าทางหยามเหยียดดูถูก ครั้น ไดแอน พยายามทอดกายเข้าหาคามิลล่า แทนที่อีกฝ่ายจะหลงรักและจะจบลงที่เตียงเหมือนหนังตอนครึ่งแรก กลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ทำให้ต้องมาสำเร็จกิจตัวเองอย่างหดหู่

ความโกรธผสมความสิ้นหวังของไดแอน ลงเอยด้วยการที่เธอบอกมือปืนให้ไป จัดการ คามิลล่า

ความฝัน หรือ หนังครึ่งแรกของไดแอน จึงเป็นเหมือนสถานที่หลบภัยจากความผิดที่ตัวเองกระทำ และใช้เป็นที่เติมเต็มความพร่องในชีวิตจริง จาก ความรักที่ไม่สมหวังมาเป็นความรักที่สุขสม , จากชีวิตนักแสดงตกอับมาเป็นดาวดวงใหม่ที่เจิดจรัสในวงการนักแสดง , จากผู้คนรอบตัวที่แสดงท่าทางปฏิเสธไม่แยแส กลายมาเป็น ผู้คนยอมรับและรักใคร่ในตัวเธอ

ความจริงที่น่าเศร้า คือ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ มนุษย์เราย่อมไม่สามารถอยู่ในความฝันได้ไปตลอด จะอย่างไรก็ต้องถึงเวลาต้องตื่น

และเมื่อตื่นลืมตาแล้วไม่สามารถสู้ชีวิตอยู่ได้ในความจริง ไดแอนจึงเลือกปลิดชีวิตตัวเองทิ้งตามความล้มเหลวและความรู้สึกผิดบาปในใจ ปิดฉากโศกนาฏกรรมฝีมือเดวิด ลินช์ ที่ใช้ความฝันเป็นตัวดำเนินเรื่องล่อหลอกให้คนพิศวงงงงวย




ความสนุกในการนั่งดู Mulholland Dr. ซ้ำๆ ไม่ต่างอะไรจากการนั่งดูหนังเรื่องอื่นๆของเจ้าพ่อหนังงงอย่าง เดวิด ลินช์ ที่ยิ่งดูมากรอบ เราจะยิ่งพบคำตอบและความอัจฉริยะของผู้กำกับที่ดูผิวเผินเหมือนทำหนังมั่วๆ หากแต่ความจริง ผ่านกระบวนการคิดล่วงหน้าอย่างน่าทึ่ง

คล้ายๆกับ ความสนุกในการนั่งดู The Science of Sleep ซ้ำในงาน Film Hunt ที่ทำให้ผมพบ ‘ปรากฎการณ์กอนดรี้’ เหมือนตอนดู Eternal Sunshine of Spotless mind ที่ยิ่งดูหลายรอบ จนสามารถฝ่าฟันความง่วงแล้วเข้าใจหนังถ่องแท้ขึ้น ก็จะบรรลุถึงความซึ้งและอินไปกับ จุดจี๊ด ที่ กอนดรี้ บรรจงใส่ไว้

เช่นใน The Science of Sleep ฉากจบที่พระเอกค้นพบ เรือกระดาษ ของนางเอก ผมเพิ่งมาเข้าใจในการดูรอบที่ดูพร้อมๆกับน้องนักศึกษาในงานว่า มันมีความหมายต่อเนื่องมาจากฉากช่วงต้นเรื่องที่นางเอกเถียงตอนทำโมเดลใหม่ๆว่า เรือควรอยู่ในป่า แต่พระเอกเสนอว่า ป่าควรอยู่ในเรือ เราไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วนางเอกจะสร้างเรือแบบไหน

แต่การมาเห็น เรือที่สร้างเสร็จแล้วในท้ายที่สุดมีป่าอยู่ข้างใน ก็บ่งบอกว่า นางเอกเลือกและยอมรับในความคิดของเขาตั้งแต่ต้น

การรับรู้ความจริงตรงนี้ น่าจะทำให้ สเตฟาน เป็นสุขมิใช่น้อย เพราะหากเราเป็นตัวประหลาดหรือตัวตลกในสายตาคนอื่น แต่สามารถเป็นคนพิเศษที่น่าชื่นชมในสายตาคนรัก ไม่ต้องบรรยายก็คงสัมผัสได้ว่า มันจะสุขใจเพียงใด

แต่ สิ่งนี้คือสิ่งที่ สเตฟาน ไม่มีวันพบเห็น ตราบใดที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในความฝันเรื่อยไป



ความขลาดกลัวทำให้เรามีความสุขอยู่ในฝัน แต่ ผลร้ายของความขลาดกลัวเรื้อรัง คือ การถูกขังแต่ในฝันจนไม่สามารถที่จะหาความสุขได้เมื่อตื่นขึ้นมาพบความจริง




บทความใน blog ที่อ้างอิงถึง

ชำแหละ Mulholland Dr. หนังสุดเจ๋ง (Part 1) : เชื่อมโยงและเรียงร้อยเรื่องราว
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=04-2005&date=13&group=4&gblog=3

ชำแหละ Mulholland Dr. หนังสุดเจ๋ง (Part 2) : วิเคราะห์เจาะลึกจิตใจตัวละคร
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=04-2005&date=13&group=4&blog=2


Inception - โลกลวงที่งดงาม หรือ ความจริงที่เจ็บปวด (ฉบับ ฝันชั้นหนึ่ง )
//www.facebook.com/notes/phm-xyu-khang-hlang-khun/inception-lok-lwng-thi-ngdngam-hrux-khwam-cring-thi-ceb-pwd-chbab-fan-chan-hnung/428120036464

Inception - โลกลวงที่งดงาม หรือ ความจริงที่เจ็บปวด (ฉบับ ฝันชั้นสอง )
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=07-2010&date=20&group=14&gblog=227

Inception - โลกลวงที่งดงาม หรือ ความจริงที่เจ็บปวด (ฉบับ Limbo )
(ติดตามอ่านได้ใน นิตยสาร FILMAX ฉบับเดือนสิงหาคม เน้อ)


ขอฝาก หนังสือเล่ม 5 ของ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" จ้า
(วางอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไทยแล้ว)










อ่านจบแล้ว ชวนมาคุยกันที่นี่ครับ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&group=18

และ

ความเห็นของ เพื่อนผู้อ่านที่อ่านจบแล้ว และสละเวลาเขียนถึง

//blogs.lumamagic.com/?p=1957



หนังสือ 4 เล่มก่อนหน้าที่ว่าด้วย 'ภาพยนตร์ - จิตวิทยา - พัฒนาตัวเอง(self - development)' ของ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"








สำหรับเพื่อนๆที่เล่น FaceBook หรือ Twitter ณ.บัดนาว "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ขยายสาขาเรียบร้อยแล้วจ้า







 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2553
2 comments
Last Update : 28 กรกฎาคม 2553 22:16:52 น.
Counter : 5164 Pageviews.

 

ถ้าลินช์ทำ inception นี่ผมไม่อยากจินตนาการเลย

 

โดย: I will see U in the next life. IP: 58.9.179.239 26 กรกฎาคม 2553 13:17:03 น.  

 

เข้ามาอ่านค่า ^^

 

โดย: ลิปดา - พิลิปดา IP: 58.9.6.46 31 กรกฎาคม 2553 0:52:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.