www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

Curse of the Golden Flower , ความเน่าหนอนฟอนเฟะของสถาบันครอบครัว



...ฮองเฮาในหนัง อาจได้รับพิษอีกาดำที่ทำลายประสาทให้เสื่อมสลายลงวันละน้อย แต่เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมพลันนึกถึงพิษอีกตัว จากคำพูดของตัวละครในหนังเรื่อง The Banquet ที่กล่าวไว้ว่า

พิษที่ร้ายแรงที่สุดในแผ่นดิน คือ “จิตใจมนุษย์”


เพราะเมื่อใดมนุษย์ หมดแล้วซึ่งเยื่อใย หมดแล้วซึ่งความรักความผูกพันต่อกัน เมื่อใดช่องว่างของจิตใจถูกเติมเต็มด้วย ความเกลียดชัง เราก็สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อทำลายคนอีกหนึ่งคน โดยไม่สนว่าวิธีการนั้นจะโหดเหี้ยมเพียงใด ไม่สนว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร ไม่เว้นแม้ว่า คนๆนั้นจะเป็นเพื่อนสนิท หรือ เป็นคนในครอบครัว

ด้วยเหตุนี้

...ฮ่องเต้จึงไปทำงานนอกพระราชวังไม่สนใจภรรยา เพราะ ไม่ได้มีใจหลงรัก ฮองเฮา หญิงสาวที่เขาแต่งงานมาเพียงเพราะเธอเป็นทางผ่านไปสู่อำนาจของเจ้าแผ่นดิน และ การแต่งงานกับฮองเฮา ทำให้เขาจำต้องกำจัด คนที่เขารักทิ้งไป

ความเกลียดชัง ทำให้ ฮ่องเต้ ไม่คิดสนใจ ฮองเฮา

ฮองเฮา อยู่กับความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา และ ทำผิดพลาดด้วยการไปมีสัมพันธ์กับองค์รัชทายาท จนไปเข้าหู ฮ่องเต้

ความเกลียดชัง ทำให้ ฮ่องเต้ วางยาพิษ ฮองเฮา ให้ตายอย่างทรมานทีละน้อย

ฮองเฮารู้ความจริง จึงเจ็บแค้นฮ่องเต้ และ ยังเจ็บปวดที่คนรักคนเดียวที่เหลืออยู่ของเธอ ไปตกหลุมเสน่ห์คนที่สาวกว่า

ความเกลียดชัง ทำให้ ฮองเฮา วางแผนกบฎและประจานความชั่วของฮ่องเต้

ปมของความแค้น ความเกลียดชัง ทับถมทวีคูณมากขึ้นๆ ผสมโรงกับความทะเยอทะยาน ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ที่ส่งผลต่อกันเป็นทอดๆจากคนหนึ่งกระทบสู่อีกคน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เป็นผลให้ "ครอบครัวตัวอย่าง"ที่ฮ่องเต้วาดฝันต้องเดินไปพบจุดจบอย่างน่าอเน็จอนาถใจ


...ปีสองปีนี้ หนังย้อนยุคประเภทกำลังภายในหรือเรื่องราวในราชวงศ์ที่เป็นหนังฟอร์มยักษ์ ดูจะเป็นแม่เหล็กดึงดูด ผู้กำกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ถนัดสร้างงานเล็กๆระดับคุณภาพหลายคนหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น และ ส่วนมากแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมา ความใหญ่ของหนังก็ไม่อาจทัดเทียมหนังเล็กๆของตัวเองที่เคยทำได้ เช่น เฝิ่งเสี่ยวกัง เอาตัวรอดไปพอหวุดหวิดกับ The Banquet หรือ เฉินข่ายเก๋อ ที่มาเสียผู้เสียคนไปกับ The Promise

นั่นยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดขึ้นว่า การสร้างหนังสเกลใหญ่ๆ ไม่ใช่ใครก็ทำได้ บางคนอาจสร้างหนังเล็กๆได้ดีแต่เมื่อต้องมาคุมหนังใหญ่ ไม่สามารถคุมหนังให้มีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียว บางเรื่องก็เทน้ำหนักไปที่เอฟเฟค บ้างก็อยากโชว์ความยิ่งใหญ่อยากโชว์ความอลังการ บางเรื่องก็มัวไปเน้นที่นักแสดง จนหนังเสียกระบวน

จางอี้โหมว เป็นหนึ่งในผู้อยู่รอดซึ่งสามารถพิสูจน์มาแล้วว่า เขาเองเป็นคนที่ทำหนังเล็กก็ได้ทำหนังใหญ่ก็ดี แม้ว่างานที่เป็นหนังใหญ่ยักษ์สองสามงานหลังจะยังไม่ดีเท่าหนังเล็กๆยุคแรกของตัวเอง แต่เขาก็คุมงานให้ออกมาค่อนข้างสมดุลลงตัวมากกว่าหลายๆคน ตัวอย่างเช่น Hero คือ บทพิสูจน์ของความทะเยอทะยานที่ผลลัพธ์เปี่ยมด้วยคุณภาพ ก่อนจะมาเป๋อยู่บ้างในบ้านมีดบิน ซึ่งความผิดพลาดน่าจะมาจากตัวบทที่ถูกกลืนกินไปกับลีลาและสไตล์ของตัวหนัง

แน่นอน งานล่าสุดอย่าง Curse of the Golden Flower ย่อมมาด้วยความคาดหวังในระดับสูง แถมหนังตัวอย่างยังสร้างความสนใจใคร่รู้ให้กับคนดูอย่างผมว่า หนังจะมีอะไรมากไปกว่า ทอง กับ นม หรือไม่ ความน่าสนใจยิ่งยวดสำหรับผมยังอยู่ที่หนังเรื่องนี้ได้โจวเหวินฟะ กับ กงลี่ สองนักแสดงในฝันมาประกบคู่กัน



...จากความอลังการงานสร้างที่หนังนำเสนอให้เห็นนั้น อาจทำให้คนดูเผลอคาดหวังเนื้อหาระดับอภิปรัชญาเหมือน Hero ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนที่ดูหนังจบลงต้องผิดหวัง เพราะ Curse เล่าประเด็นเล็กๆภายในโครงสร้างใหญ่โต เหมือน คนตัวเล็กสวมเสื้อตัวใหญ่ จนอาจทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนกลวงโบ๋ แต่ผมกลับมองว่า เนื้อหาในหนังเรื่องนี้ไม่ว่างเปล่าเช่นนั้น

เพราะ หากเปลี่ยนบริบทจากวังทองคำเป็นบ้านธรรมดาๆหลังนึง หนังเรื่องนี้มาในแนวทางเดียวกับหนังเก่าของจางอี้โหมว และหยิบยกประเด็นเล็กๆที่อยู่ใกล้ตัวเราเหลือเกินกับเรื่องของ “สถาบันครอบครัวที่เน่าหนอนฟอนเฟะ”

จางอี้โหมวพาคนดูมาสู่ปลายทางของ ครอบครัว ที่ผุพังจนสายเกินไปที่อะไรต่อมิอะไรจะมาซ่อมแซม ชวนให้คิดถึงชื่อหนังสือ การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักก็ไม่อาจเยียวยา ทำได้เพียงเฝ้าดูว่า มันจะถล่มพินาศลงมาเมื่อใด

...เราคงเคยเห็น ครอบครัวที่มุ่งสร้างแต่เปลือกภายนอกหรือภาพลักษณ์สวยหรู , เจ้าของตำแหน่งครอบครัวตัวอย่างคว้าหลายรางวัล , ครอบครัวที่มีรถหรูหราบ้านหลังใหญ่โต ฯลฯ

สรรพสิ่งสวยงามเลิศหรูของ”เปลือก”เหล่านั้น ไม่ต่างอะไรจาก พระราชวังทองคำ เครื่องประดับโอ่อ่าตระการตา และ ดอกเบญจมาศนับพันนับหมื่นต้น ครอบครัวที่ภายนอกสวยงาม ภายในกลับมีอาการความเจ็บป่วยของสถาบันครอบครัวที่สาหัสสากรรจ์

ความเจ็บป่วยนั้นประกอบไปด้วย

พ่อผู้ให้ความสำคัญกับงานและยศฐาบรรดาศักดิ์มากกว่าสิ่งอื่นใด , แม่ผู้จมจ่อมอยู่กับความทุกข์ ความเปลี่ยวเหงา อาศัยกับลูกเลี้ยง จนเผลอไผลปล่อยตัวปล่อยใจให้ตัณหาครอบงำ ส่งผลให้เป็นครอบครัวที่ต่างคนต่างอยู่ ทิ้งให้ลูกคนเล็กไม่มีใครสนใจ แม้จะเรียกร้องหาความรักความอบอุ่นอย่างไร ก็ไม่มีใครแคร์ เพราะทั้งพ่อ แม่ และ พี่ ล้วนห่วงแต่เรื่องของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของอาการป่วยของครอบครัวข้างต้นอยู่ตรงไหนกัน ?


เป็นพ่อที่ไม่เคยแยแสใยดี หรือ เป็นแม่ที่ไม่ยอมหักห้ามใจ

เป็น ความโกรธแค้นของฮ่องเต้ที่ฮองเฮาไปมีความสัมพันธ์กับลูกชายตัวเองจนต้องวางยาพิษ หรือ เป็นความเกลียดชังที่ฮองเฮาสั่งสมมาจากชีวิตคู่และความอ้างว้างในการมีชีวิตอย่างไร้รัก

การวินิจฉัยหาสาเหตุพยาธิสภาพของ ครอบครัว ที่มีอาการเจ็บป่วยเช่นนี้นั้น อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะ ปมปัญหาที่ทับถมซ้อนกันไว้นั้น มันยุ่งเหยิงจนไม่สามารถจะคลี่คลาย เชื้อร้ายที่ชื่อ "ความเกลียดชัง" ช่วยเร่งปฏิกิริยาการเน่าสลายของครอบครัว แถมยาตัวเดียวที่รักษาได้ที่ชื่อว่า "ความรักความผูกพัน" ก็หมดอายุไปนานแล้ว



...นอกจาก "ความเป็นครอบครัว" ที่พินาศย่อยยับแล้ว ถ้าไม่นับองค์ชายรอง “ความเป็นคน”ของตัวละครของสมาชิกครอบครัวที่เหลือในหนัง ก็ล้วนค่อยๆร่อยหรอลงไปทุกที

ฮ่องเต้กับศีลธรรมที่สูญสลาย ... ว่ากันว่า คนที่ให้คุณค่ากับลาภยศชื่อเสียงหลงมัวเมาในอำนาจจนไม่อาจปล่อยวาง ย่อมต้องมีชีวิตอยู่กับความหวาดระแวง นั่นจึงทำให้ คนที่เลือกเดินทางสายนี้ทำได้ทุกอย่างเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง เช่น แต่งงานกับคนที่ไม่รักเพื่อครองอำนาจ ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งสังหารผู้หญิงคนเดียวที่เขารักเพื่อปกปักษ์ความลับ ความเหี้ยมโหดกับอำนาจบาตรใหญ่ที่ฮ่องเต้กระทำต่อฮองเฮาและคนในครอบครัว ก็ ไม่ต่างจากครอบครัวบ้านเรา ที่มีพ่อขี้เมา พ่อติดการพนัน พ่อที่นิยมใช้ความรุนแรงควบคุมคนในบ้านให้เดินตาม

ฮองเฮากับความรักที่แห้งหาย ... เป็น ตัวแทนหญิงสาวที่ถูกกดขี่ข่มเหงทางเพศ เป็นเหมือนแม่บ้านที่ถูกกระทำย่ำยีจากสามีที่พบได้ในสังคมทุกยุคสมัย ผู้ทุกข์ทนกับการมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวเคียดแค้น บางคนทนอยู่ได้ก็ทนอยู่ไป แต่ บางคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นใดให้หนีพ้น เช่น ฮองเฮา ก็จำต้องกัดฟันสู้เหมือนหมาจนตรอก แม้สุดท้ายรู้ทั้งรู้ว่า โอกาสของตัวเองหมดสิ้นลงแล้วเมื่อฮ่องเต้รู้ความจริง แต่สำหรับเธอ มันยังมีทางเลือกอื่นให้กับชีวิตอีกหรือ เมื่ออำนาจไม่มีในมือ เมื่อคนข้างกายอยู่ด้วยความชิงชัง เมื่อคนที่เคยรักกำลังจะจากไป เมื่อตัวเองกำลังถูกทำร้ายให้ตายลงทุกวี่วัน

องค์รัชทายาทผู้ขลาดเขลา ... เมื่อรู้ว่าจะมีกบฎ สิ่งที่องค์ชายรอง เอ่ยปากออกมาคือ กลัวว่าบิดาจะต้องถูกสังหารด้วยหรือไม่ แต่ ความหวั่นวิตกที่องค์รัชทายาทเอ่ยปากออกมาเป็นสิ่งแรก คือ กลัวว่าคนอื่นจะเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นคนทำ โดยมิได้ห่วงใยสนใจว่า พ่อหรือแม่จะเป็นเช่นไร

องค์ชายเล็กหรือ neglected child .. เราอาจเข้าใจว่า neglected child หมายถึง เด็กที่ขาดพ่อ ขาดแม่ ขาดคนดูแล แต่เปล่าเลย คำๆนี้ยังมีความหมายถึง เด็กที่มีพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตา มีทรัพย์สมบัติมากมายก่ายกองตรงหน้า มีคนรับใช้มีเสื้อผ้าสวยๆใส่ หากจะขาดแคลนก็เป็นเพียงสิ่งเดียวและเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กคนนี้ ไม่เคยได้รับ นั่นคือ ความรักความห่วงใย

เด็กที่ถูกทอดทิ้งแม้มีคนอยู่เต็มบ้าน เด็กที่พยายามจะเอาใจพ่อแม่และเสนอตัวให้คนเห็นคุณค่า แต่ๆไม่มีใครมองเห็น เพราะในครอบครัวต่างฝ่ายต่างมีแต่เรื่องของตัวเอง พ่อสนแต่อำนาจ แม่รอแต่แก้แค้น พี่มัวเมาในกามารมณ์ องค์ชายเล็กในหนังจึงเติมช่องว่างของหัวใจลงไปด้วย ความริษยาและความเกลียดชัง

...ผลพวงจาก ปฏิกิริยาที่คนเกลียดชังกันกระทำต่อกัน ส่งผลให้ ผลลัพธ์สุดท้ายนั้นทุกคนล้วนต้อง ย่อยยับอัปราจากบาดแผลที่ฟาดฟันทำร้ายทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ จนไม่มีโอสถใดจะสามารถบรรเทา หลงเหลือเพียงความว่างเปล่าบนโต๊ะอาหารที่ไร้คนร่วมดื่มกิน

สุดท้ายแล้ว สีทองรอบกายในหนังก็มีคุณค่าแค่ผงธุลีดิน



...หนังหรือนิยายที่เล่าโศกนาฎกรรมในวังหลวง ไม่ว่าจะฝั่งตะวันออกหรือตะวันตกอย่าง แฮมเล็ต หรือ The Banquet มักมีความซับซ้อนแค่ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ฮ่องเต้(ราชา) ฮองเฮา(ราชินี) และ ลูกเลี้ยง แล้วผูกความสัมพันธ์ไว้กับเรื่องของ การช่วงชิงอำนาจ

แต่ Curse ของ ป๋าจางอี้โหมว ผูกโยงห่วงโซ่ความสัมพันธ์ซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งของสามีภรรยา + ความอิจฉาริษยาของลูกๆ + ความสัมพันธ์ทางเพศในสายเลือด + รักสามเส้า(พ่อ – แม่เลี้ยง- ลูกเลี้ยง) กับ ( องค์ชายใหญ่ – ฮองเฮา – ลูกหมอหลวง) + แค้นสามเส้า (ฮ่องเต้ + เมียเก่า + เมียปัจจุบัน) การแก่งแย่งชิงอำนาจ , ความรุนแรงในครอบครัว , เด็กถูกทอดทิ้ง ฯลฯ

ผมชอบที่บทหนังแสดงให้เห็นถึงว่า จุดเริ่มต้นแค่ความขัดแย้งของคนสองคน(สามี-ภรรยา) แล้วปล่อยให้ความเกลียดชังลุกลาม มันสามารถส่งผลกระทบต่อเป็นทอดๆและโยงใยไปกัดกร่อนโครงสร้างของทั้งครอบครัวอย่างไร เหมือน บ้านหลังหนึ่งที่เราเห็นปลวกขึ้นหนึ่งเสา เราก็นึกว่า “ช่างมัน คงไม่เป็นอะไร” วันที่เราจะรู้ตัวอีกทีว่าปลวกนี้ร้ายกาจแค่ไหน ก็คือ วันทีบ้านทั้งหลังพังครืนลงมาโดยไม่มีใครจะซ่อมแซมมันได้ทัน

นอกจากนี้บทที่ทำให้เราได้เห็นที่มาที่ไปของตัวละคร มันทำให้ตัวละครเหล่านั้นมีมิติ มีแรงจูงใจ(motives) ที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เพราะอะไรพวกเขาจึงตัดสินใจกระทำเช่นนั้น

และผมก็ทั้งชอบทั้งชังความอึดอัดที่จางอี้โหมว ฉุดเรื่องราวในหนังให้มืดหม่นเสื่อมโทรมลงทุกนาทีที่หนังดำเนินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ incest , ผัวฆ่าเมีย , เมียฆ่าผัว , พ่อฆ่าลูก , ลูกฆ่าพ่อ , พี่น้องฆ่ากัน ฯลฯ จนทำให้ยิ่งดูยิ่งหดหู่ ยิ่งดูยิ่งหนักอึ้ง จนอยากจะออกจากโรงทั้งที่หนังยังไม่จบแต่มันก็ชวนติดตามว่าจางอี้โหมว จะทำแผลของครอบครัวนี้ให้เละได้ถึงขนาดไหน และ บทสรุปจะคลี่คลายอย่างไร


งานโปรดักชั่นในหนังเข้าขั้นเทพ ความสวยอลังการเกินเหตุของฉากสีทองทั้งหลายแหล่ในวังบวกกับเหลื่อมลายสีรุ้งสารพัด ทำให้ในตอนแรกๆผมรู้สึกสงสัยว่าสมัยก่อนเป็นเช่นนี้จริงๆหรือ ยังมี รายละเอียดขนาดเล็บประดิษฐ์ที่เพ้นท์ซะเช้งวับ , เครื่องแต่งการที่สามารถทับคนใส่หนักตายก่อนจะออกรบ , ท่ากินยาสุดเท่ ฯลฯ

ภาพลักษณ์ภายนอกที่ไม่ใช่ตัวบุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นความงามประดิษฐ์เกินจริง ที่ตรงข้ามกับ ตัวคน ในหนังเสียเหลือเกิน ที่ทั้งชั่วร้าย เหี้ยมโหด และ เปรอะเปื้อนด้วยเลือดเต็มสองมือ



ความเว่อร์อลังการงานสร้างเช่นนี้ เมื่อถึงตอนท้ายเราจะพบว่า มันถูกสร้างขึ้นมาตอบโจทย์ของหนังได้อย่างเหมาะสม กับการสร้างความแตกต่างให้เห็นชัดว่า

ภาพภายนอกที่งดงามยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่ได้มีความหมายใดๆเลย เพราะ ความสวยงามดูดีภายนอกนั้น ใครๆก็สร้างได้ มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อได้ แต่ ความสุขนั้นซื้อไม่ได้แม้เจ้าของบ้านจะยิ่งใหญ่ล้นฟ้าเพียงใด


....ด้วยเหตุนี้ แม้เสียงวิจารณ์จากฝรั่งมังค่าจะออกมาไม่ดีนัก และ เพื่อนๆหลายคนที่ไปดูมาบอกว่า "ผิดหวัง" ผมจึงยั้งๆความคาดหวังกับหนังเรื่องนี้ไว้บ้าง ผลที่ออกมากลับเป็นตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ เพราะผมชอบหนังของจางอี้โหมวเรื่องนี้มาก (อาจไม่เท่า Hero หรือ The Road home แต่แน่นอนว่า มากกว่า บ้านมีดบิน )

นอกจากบท ฮองเฮา ที่น่าสงสารที่สุดแล้ว บทองค์ชายรองก็ถูกสร้างให้น่าสงสารไม่แพ้กัน เพราะเป็นตัวละครตัวเดียวที่หลงเหลือ ความเป็นคนอยู่มากที่สุด แต่ก็จำต้องเลือกข้างในตอนท้ายเพราะ ความรักแม่ เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ต่างจากคนอื่นที่หวังจะช่วงชิงอำนาจหรือเสาะแสวงหาความสุขส่วนตัว

และจะว่าไปไม่ใช่แค่บทนี้ที่น่าสงสาร เจ โชเจ้าของบทนี้ก็น่าสงสารไม่แพ้กัน กับการต้องมาประกับกับกลุ่มนักแสดงในหนังที่ล้วนเขี้ยวลากดิน จึงทำให้ เจ โชว์ ขวัญใจใครหลายคนต้องอาศัยความเท่เอาตัวรอดไปอย่างฉิวเฉียด เพราะหลายฉากแทบถูกการแสดงของ กงลี่ หรือ โจวเหวินฟะ ฆ่าตายกลางจอ





กงลี่ ดูสง่าน่าสงสารกับชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทรมานแต่ก็ยังเย้ายวน มาดนางพญาของเธอในยุคนี้คงยากจะหาใครจะเทียบรัศมีได้ (แค่ท่ากินยาก็กินขาด ท่าประสาทจะกินเพราะพิษก็สุดยอด ดูกงลี่เรื่องนี้ให้อารมณ์สูสีป้าเมอรีล สตรีพ ใน The devil wears prada ที่แค่ปรายตาก็ฆ่าคนได้) แม้เธอแจ้งเกิดในฮอลลีวูดตีคู่ตามหลังดวงดาวที่สาวกว่าอย่างจางซียี่ แต่ดูเหมือนว่า จางซียี่กำลังจะถูกไล่แซงด้วยฝีมือและพลังดาราของกงลี่ที่เปล่งปลั่ง ชนิดว่า เราสามารถเห็นภาพกงลี่ทาบทับในบทเดียวกันอย่างบทฮองเฮาในอุดมคติที่จางซียี่ใน The Banquet พยายามจะเป็น หรือการกลบรัศมีจางซียี่แทบทุกครั้งเมื่ออยู่ร่วมจอกันใน Memoirs of a Geisha

ส่วนโจวเหวินฟะ เริ่มต้นมาฮอลลีวูดแบบผิดที่ผิดเวลา น่าเสียดายความสามารถของเขาเป็นอย่างยิ่งที่ถูกฮอลลีวูดทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี ศักยภาพของเขาถูกลดทอนจากการเลือกเล่นหนังผิดๆ อาทิเช่น ไปเปิดตัวเรื่องแรกกับหนังไม่ได้เรื่องได้ราวอย่าง The Replacement Killers ไปเสียเวลากับหนังอย่าง Bulletproof Monk จนน่าจะเรียกได้ว่า นับตั้งแต่ออกจากเกาะฮ่องกงมาก็ดูเหมือนจะมีเรื่องนี้ ที่ทำให้เขาได้แสดงพลังแท้จริงของตัวเองเต็มๆอีกครั้ง เขาสามารถแสดงบารมีและรัศมีของฮ่องเต้ที่ทั้งโฉดและทรงอำนาจ ก่อนจะบ้าคลั่งเมื่อความฝันที่ฝากไว้กับลูกชายย่อยยับลงต่อหน้าต่อตา ฉากตีลูกตอนท้ายเขาแสดงออกมาได้อย่างน่าเวทนาแต่เราก็สงสารไม่ลงเมื่อคิดถึงสิ่งที่บทของเขากระทำ

นักแสดงสมทบทุกคนในหนังก็ฝากฝีไม้ลายมือที่เฉียบขาดไม่แพ้กัน เช่น หลิวเหย่กับบทองค์ชายรัชทายาทก็ดูขลาดเขลาและอ่อนแอ หรือ หลี่มันในบทคนรักสาวลูกหมอหลวงก็ดูอินโนเซนท์และสติแตกได้น่าสงสารได้ใจคนดู เรียกได้ว่า เวลาประชันกันบนจอไม่มีใครข่มใครได้ลง ซึ่งในส่วนนี้เครดิตก็ต้องยกให้ จางอี้โหมว ที่กำกับการแสดงได้อย่างเยี่ยมยอด

ถึงจะมีฉากแอคชั่นในหนังไม่กี่ฉากแค่พอเป็นน้ำจิ้ม แต่ ฉากเหล่านั้นก็แสดงถึงการกำกับภาพและโชว์มุมกล้องในระดับชั้นอ๋อง เช่น ฉากทัพกบฏดอกเบญจมาศบุกวังหลวงก่อนถูกกำแพงบดขยี้ ดูยิ่งใหญ่ คึกคัก และ หดหู่ยิ่งนัก หรือจะเป็น ฉากไล่ล่าจากทีมสังหารชุดดำก็ทำออกมาได้ตื่นเต้นระทึกใจ



สิ่งที่ชอบ

1.กงลี่ ... เมื่อเธออยู่ในจอ จุดอ่อนทั้งหลายในหนังก็ถูกลืม

2.โจวเหวินฟะ ... เมื่อเขาอยู่ในจอ จุดอ่อนทั้งหลายในหนังก็ถูกลืม

3.งานโปรดักชั่น ... อลังการ ตระการตา โอ้วว้าว

4.สถาบันครอบครัว ... ชอบการพูดถึงสถาบันครอบครัวของหนังเรื่องนี้ที่นำเสนอได้มืดหม่นตรงข้ามกับความสว่างไสวขององค์ประกอบรายรอบดีแท้

สิ่งที่ไม่ชอบ

1.คอสตูม ดูมดูม ... ชอบดูแต่ไม่ชอบตอนอยู่ในหนัง เหตุผลของจางอี้โหมวต้องการเน้นตัณหาราคะในวังหลวงและให้ดูเย้ายวน แต่มันกลับเป็นส่วนโดดของหนังมากตั้งแต่หนังตัวอย่างแล้ว ที่คนดูต้องสะดุดตากับ ดูมๆที่ถูกดันเน้นมาทะลักล้น และ ไม่น่าแปลกใจตอนดูอยู่ในโรง เราถึงจะได้ยินเสียงซุบซิบหัวเราะเบาๆเวลาเห็นตัวละครนางสนมในคอสตูมดูมดูมเช่นนี้ ดึงดูดสมาธิคนดูออกจากสาระในจอ

สรุป ... อาจทำให้ใครต่อใครผิดหวัง หากคิดว่าจะพบฉากแอคชั่นตื่นตาตื่นใจ จะพบปรัชญายิ่งใหญ่แบบ Hero หรือพบฉากวาบหวามวาบหวิวเมื่อพิจารณาจากโปสเตอร์และหนังตัวอย่างที่เน้น ดูม ดูม เสียเหลือเกิน เพราะนี่เป็นหนังที่พูดถึงแค่ เรื่องราวภายในครอบครัวหนึ่งเท่านั้นเอง ครอบครัวที่อาศัยในพระราชวังหลังใหญ่โต ดอกเบญจมาศบานสะพรั่งพื้นดิน มีทองคำหล่อล้อมทั่วตัว ซึ่งก็ไม่อาจบดบังหรือชดเชย ความดำมืดในจิตใจที่มีทั้งความเกลียดชัง ความริษยา ความแค้น ความทะเยอทะยาน กัดกร่อนครอบครัวและความเป็นคน

ป.ล. ... รออ่าน Final Score , เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย ได้ในคอลัมน์ Life on screen ในแม็กกาซีน Cream ที่จะออกฉบับแรกต้นเดือนมีนาคมได้เลยคร้าบ


Blog เกี่ยวเนื่อง

The Banquet , แฮมเล็ต เวอร์ชั่น ประหารเจ็ดชั่วโคตร
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&group=1&month=11-2006&date=10&blog=1

The Promise , คำสัญญา ชะตากรรม ความรัก
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=01-2006&date=11&group=1&blog=1

Memoirs of a Geisha , ชาเขียวสำเร็จรูปที่ผสมน้ำมากไป
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=02-2006&date=09&group=1&blog=1



ขอฝาก"หนังสือรัก"ไว้กับผู้อ่านด้วยเน้อ กับ พ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรก ที่หยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม



(วางขายตามร้านหนังสือทั่วไปแว้ว)
เดือนแห่งความรัก มอบ"หนังสือรัก"แด่คนที่คุณรัก ฮิ้ววว






ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิก >> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง




ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2550
47 comments
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2550 23:17:28 น.
Counter : 25550 Pageviews.

 

วิจารณ์ได้เจ๋งมากเลยค่ะ

 

โดย: BBwindy 6 กุมภาพันธ์ 2550 9:30:40 น.  

 

อ่านคร่าวๆ นะคะ เพราะหวังว่าจะได้ดูน่ะ

แต่การแต่งตัวมันเข้ากับความนิยมในช่วงสมัยนั้นนี่คะ ที่เน้นเนื้อนมไข่ (เห็นแพนด้ามหาภัย-ผู้เชี่ยวชาญจีนเค้าว่ามา)

ถ้าได้ดูจะมาอ่านละเอียดๆ อีกทีนะคะ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2550 9:59:00 น.  

 

ผมกลับไม่ชอบตอนที่แก๊งชุดดำบุกบ้านหมอหลวงนะ มันดูหลุดมากๆเลยอะ เหมือนที่พี่เคยบอกว่าฉากฆ่าล้างโรงละครใน The Banquet มัน "เกือบขำ" แต่ยังยั้งไว้ได้อยู่
แต่ผมว่าฉากใน "วังดอกทอง" มันยั้งไม่อยู่ (โดยเฉพาะตอนที่แก๊งชุดดำต้องร้องกว๊ากๆๆ เหมือนเป็นบรูซลีกลับชาติมาเกิด - -*)

ส่วนก่งลี่ อย่างที่บอกไว้ที่หน้านู้นว่าเธอเล่นได้พระเจ้ามาก แต่ลืมบอกไปว่าบางมุม(โดยเฉพาะตอนปล่อยผมยาวลงมา) ดูเหมือนฮัตสึโมโมะเลย

 

โดย: nanoguy IP: 161.200.255.162 6 กุมภาพันธ์ 2550 11:00:25 น.  

 

ไปดูมาแล้ว แต่ไม่ค่อยชอบเนื้อเรื่องเท่าไหร่อ่ะครับ กลวง ๆ ไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไหร่ ในขณะที่โปรดักชั่นก็อลังการ งานสร้าง (มาก ๆ )

อะไรหลาย ๆ อย่าง ใส่เข้ามาแบบไม่ค่อยมีเหตุผล อย่าง ยาพิษที่ให้ฮ่องเฮากิน (กินทำไม ถ้าอยากให้ตาย เป็นถึงฮ่องเต้แล้ว การลอบฆ่าไปเลย น่าจะง่ายกว่า) ฮ่องเต้ ต้องการอะไรจากการให้ฮองเฮากินยาพิษ? ดูแล้วมันขัด ๆ ยังไงไม่รู้อ่ะครับ

 

โดย: ... กระซิบรัก จากความทรงจำ ... (... กระซิบรัก จากความทรงจำ ... ) 6 กุมภาพันธ์ 2550 12:06:35 น.  

 

ยังไม่ได้อ่าน ลากยาวลงมาอ่านเฉพาะ "สิ่งที่ชอบและไม่ชอบ" เหมือนเคยครับ ... เพราะยังไม่ได้ดู (ถ้าไม่มีโปรแกรมแทรก น่าจะได้ไปดูวันเสาร์ที่จะถึงนี้) ... ไว้จะมาอ่านและเขียนเพิ่มนะคร้าบ

 

โดย: บลูยอชท์ 6 กุมภาพันธ์ 2550 14:58:34 น.  

 

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คาดว่าจะไม่น่าพลาดดูค่ะ เพราะติดตามอ่าน
หลายบล็อกแล้ว และมาอ่านรีวิวก็ทำให้อยากขึ้นไปอีก ..แล้วจริงๆ นะคะ
เดี๋ยวนี้เราบอกว่าสถาบันครอบครัวสำคัญ แต่ดูเหมือนว่าอะไรก็สวนกระแสไปหมด

 

โดย: JewNid 6 กุมภาพันธ์ 2550 15:05:12 น.  

 

ดูม ดูม จริงๆ

 

โดย: กายแก้ว 6 กุมภาพันธ์ 2550 19:28:13 น.  

 

อยากดูเรื่องนี้เหมือนกัน ค่ะแต่คงอด
แค่ดู รูป มันก็ ดูม ดูม จริงๆ ด้วยอ่ะ อิอิ

 

โดย: ไม้ยมก&แหนมมัด 6 กุมภาพันธ์ 2550 21:40:14 น.  

 

สวัสดีค่ะ
SPOILER ALERT
ดูแล้วสงสารผู้หญิงทุกคนในเรื่อง
แรกสงสารฮองเฮาที่สุด แบบว่าถูกฮ่องเต้วางยาพิษให้ตายผ่อนส่ง แต่ไปๆมาๆ กับรู้สึกว่าฮองเฮายังดีนะ ดีกว่าคนรักของฮ่องเต้ด้วยซ้ำ เพราะกับคนรักของตัวเอง ฮ่องเต้กลับคิดจะฆ่าเลย ไม่ใช่รอบเดียวด้วย นับครั้งไม่ถ้วน ชนิดไม่ตายไม่เลิกลา
จริงๆ ถ้าฮองเฮานึกอย่างนี้ได้ ควรภูมิใจเลยนะเนี่ยว่าได้รับการปราณี ยิ่งกว่าคนที่เค้าบอกว่ารักด้วย ผู้หญิงอย่างที่บอกล้วนน่าสงสาร สองแม่ลูกก็น่าสงสาร เจ็บทั้งใจและกาย

ชอบองค์ชายรองมากเลยค่ะ คือ Strong และ Warm จิตใจดี และที่โดนใจมี 3 ฉาก คือ ตอนคุกเข่าขอร้องพ่อให้เลิกบังคับแม่ (ไม่กลัวการเสียอำนาจ) ตอนบอกพ่อว่าทำเพื่อแม่ และ ตอนจบ........ ได้ใจมาก พร้อมกับใจจะขาดไปด้วยเลยอ่ะ

ปล. เชื่อแล้วหละ ว่าชอบกงลี่ และ โจวเหวินฟะจริง

และ เขียนวิจารณ์ได้ลึกถึงเนื้อเจ๋งเหมือนเคย อ่านแล้วมันส์ดี อิอิ ชอบ ชอบ

 

โดย: Mr.Bear's dream 6 กุมภาพันธ์ 2550 23:03:35 น.  

 

แวะมาอุดหนุนบล็อกเหมือนเคยครับ
บทหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง "เหลยหฺยวี่ (雷雨 Lei Yu) ซึ่งเป็นบทละครที่มีชื่อเสียงมากของจีนในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ครับ
บทละครดั้งเดิมแต่งเอาไว้ได้ยอดเยี่ยมมาก ทั้งด้านการใช้ภาษาและการผูกโยงเนื้อเรื่อง อ่านแล้วก็ทึ่งครับว่าแต่งอย่างนี้ได้ยังไง

ปล. คุณ จขบ. พูดถึงก่งลี่กับ Meryl Streep ทำให้นึกอยากเห็นคู่นี้ประชันบทกันในจอจังเลยครับ

 

โดย: absent-minded IP: 222.212.67.120 7 กุมภาพันธ์ 2550 1:18:53 น.  

 

ลืมไปอีกเรื่อง ฮาคำว่า "คอสตูม ดูมดูม" มากๆ ครับ

 

โดย: absent-minded IP: 222.212.67.120 7 กุมภาพันธ์ 2550 1:20:36 น.  

 

เพิ่งเขียนถึงความสยดสยองใน Blood Diamond ไปหยกๆ พอได้ชมโศกนาฏกรรมครอบครัวตัวอย่างเรื่องนี้แล้ว ยิ่งสยองหนักเข้าไปอีก มนุษย์เราประดิดประดอยการทำลายล้างได้เข้าขั้นศิลปะเลยทีเดียวเชียว มีอีกหลายอย่างที่น่าพูดถึงแต่คงจะไปต่อที่บล็อคของตัวเองจะดีกว่า เพราะคงยืดยาวมั่กๆ อ้อ..เห็นด้วยว่าผู้หญิงในเรื่องนั้นน่าสงสารทุกคน ต่างเป็นเหยื่อของอำนาจและความโลภไม่รู้จบของผู้ชาย...

 

โดย: Bkkbear IP: 124.120.199.207 7 กุมภาพันธ์ 2550 1:32:18 น.  

 

วิจารณ์ได้ดีจังค่ะ นู๋ไปดูมาแล้วยังจับเนื้อเรื่องได้นิดหน่อยเอง (มัวแต่กรี๊ดองค์ชายรอง ... แล้วก้อมัวแต่พยายามฟังภาษาจีนอยู่ ... แอบหลุดหัวเราะไปด้วย คนข้างๆ หันมามองเลย ... )

 

โดย: ฟองคลื่น 7 กุมภาพันธ์ 2550 11:06:50 น.  

 

วิจารณ์ได้น่าสนใจมากเลยครับ เรื่องนี้กดดันอารมณ์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ ครับ พอดูจบแล้ว ความรู้สึกหดหู่มันติดออกมาด้วย ที่ใช้ Production หรูหราก็เพื่อแสดงถึงความแย้งกันกับความว่างเปล่าของครอบครัว

 

โดย: Ethan Hunt IP: 202.151.4.105 7 กุมภาพันธ์ 2550 13:20:47 น.  

 

เราก็ไปดูมาแล้ว ชอบมาก การแสดงของกงลี่ก็กินขาดมาดของเธอน่ะสุดยอด เราชอบนะเนื้อเรื่องมันแฝงสัจธรรมดี

 

โดย: kat IP: 203.131.217.16 7 กุมภาพันธ์ 2550 13:55:26 น.  

 

ไม่ได้ค่อยได้เข้ามาเขียนคอมเมนท์ ซักเท่าไหร่ มักจะอ่านอย่างเดียว วันนี้ขอเขียนซะหน่อย ไปดูมาเมื่อวานนี้ ชอบมากมั่กค่ะ เพราะตอนแรกรีรออยู่ว่าจะไปดูดีหรือไม่ เพราะเข็ดกับ Banquet สุดขีด พอมาอ่านที่จขบ.เขียนรีวิว ก้อเลยไปดู ไม่ผิดหวังจิง ๆ ค่ะ เป็นหนังแนวดราม่าสุด ๆ แต่มีเปลือกของความเป็นหนังจีนย้อนยุคหุ้มอยู่อย่างที่จขบ. เขียนเอาไว้จิง ๆ ค่ะ ชอบฉากจบที่สุด เพราะมันบีบคั้นอารมณ์ให้รู้สึกหดหู่ถึงขีดจิง ๆ ประมาณว่าพอหนังจบต้องนั่งฟังเพลงและปลงกับสถาบันครอบครัวนี้จิง ๆ ค่ะ ชอบกงลี่กะเฮียโจวมากถึงมากที่สุด การแสดงสุดยอดมาก ๆ สงสาร เจ โชว ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่อินกะบทนะคะ สงสารที่ต้องประกบสองดาราชั้นเซียนมากกว่าค่ะ

 

โดย: aorengja IP: 202.147.38.96 7 กุมภาพันธ์ 2550 17:38:36 น.  

 

เป็นเรื่องที่เข้าไปดูอย่างไม่ลังเล เพราะเป็นแฟนกงลี่กับโจวเหวินฟะอยู่แล้ว รวมทั้งผู้กำกับจางอี้โหมวด้วย แต่ดูจบแล้วรู้สึกหดหู่และเกลียดฮ่องเต้ชะมัด เราว่าผู้ร้ายตัวจริงในหนังเรื่องนี้คือฮ่องเต้นะแหล่ะ เป็นผู้ชายที่ร้ายที่สุด เอาแต่ใจตัวเองที่สุด เพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงและความทะเยอทะยานของพี่แกหรือที่ทำให้แกกล้าทำเรื่องเลวร้ายหลายเรื่อง เช่นฆ่าล้างโคตรเมียคนแรก(ที่แกรัก*ขนาดรักนะนั่นนะ) รวมทั้งตีลูกคนเล็กจนเละตายคามือ สรุปทุกคนตายเพราะแกนะแหละ

แต่การแสดงของกงลี่กับโจวเหวินฟะนี่เยี่ยมอย่างที่คาดจริงๆ ส่วนตี๋เจย์ โชวก็พอสอบผ่านนะสำหรับบทนี้ src=https://www.bloggang.com/emo/emo14.gif>แต่เนื้อหาหนังนี่เครียดและหดหู่ชวนจิตตกสำหรับเราจัง เฮ้อ~

 

โดย: สายลมที่พริ้วไหว IP: 124.120.99.163 7 กุมภาพันธ์ 2550 19:46:41 น.  

 

วิจารณ์ได้ดีครับ
เห็นภาพตามเลย

ผมค่อนข้างชอบเรื่องนี้ทีเดียว
แม้เพื่อนๆ ที่ไปดูด้วยจะไม่ใคร่ชอบกันสักเท่าไร

(แต่ยังชอบน้อยกว่า Hero และ บ้านมีดบิน นิดหน่อย)

 

โดย: Oakyman 8 กุมภาพันธ์ 2550 11:52:31 น.  

 

วิจารณ์ได้สุดยอดมากๆค่ะชอบๆๆๆๆ
อ่านตั้งแต่เรื่อง season change แล้ว รู้สึกว่าวิจารณ์ได้ดีจัง วิเคราะห์ได้ดีมากๆ

 

โดย: cmr IP: 58.8.9.8 8 กุมภาพันธ์ 2550 15:49:35 น.  

 

ยังไม่ได้ดูค่ะ ^ ^"

แต่ก็อ่านไปแล้ว

อ่านแล้วก็..อยากไปดูค่ะ

แล้วจะไปอุดหนุนหนังสือนะคะ
^ ^

 

โดย: Chiyuri IP: 222.123.109.103 8 กุมภาพันธ์ 2550 21:29:05 น.  

 

วิจารณ์ได้ดีจังเลยค่ะ แล้วจะเข้ามาอ่านบ่อยๆนะค่ะ อ่านย้อนๆเรื่องอื่นด้วย

 

โดย: karina IP: 124.120.48.216 8 กุมภาพันธ์ 2550 22:56:22 น.  

 

ชอบเรื่องนี้มากค่ะ


 

โดย: กำปงพิราเทวี 9 กุมภาพันธ์ 2550 2:51:20 น.  

 

I'm aboard,never see all of this movies but I love to read your comment

 

โดย: chotiga IP: 85.70.126.65 9 กุมภาพันธ์ 2550 20:30:16 น.  

 

ได้ใจมากฮะ

 

โดย: V IP: 124.120.48.60 10 กุมภาพันธ์ 2550 2:32:51 น.  

 

ชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ
ตอนแรกเข้าไปดูก้อไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย แ ต่ดูแล้วชอบจัง ชอบวิธีการเล่าเรื่อง จริงอยู่ที่ว่าเนื้อหาอาจจะธรรมดาไป พล๊อตเรื่องไม่มีอะไรมากมาย แต่วิธีการนำเสนอนี่ดีมากๆ ค่ะ ชอบ

แต่เห็นฉากแล้วแอบปวดหัว ทุกห้องแดงไปหมด - -* แถมยังมีสีเหลื่อมรุ้งอีก

 

โดย: :) IP: 125.25.205.59 10 กุมภาพันธ์ 2550 10:41:52 น.  

 

วิจารณ์ได้ตรงใจผมเลย ชอบครับชอบ

 

โดย: Magisara IP: 58.9.149.176 10 กุมภาพันธ์ 2550 18:40:03 น.  

 

วิจารณ์ได้โดนใจ มากเลยค่ะ^^

 

โดย: Little Dreamer IP: 125.24.17.34 11 กุมภาพันธ์ 2550 1:19:20 น.  

 

ขอบคุณเจ้าของ blog มากๆ ครับ

ผมติดตามอ่านบทวิจารณ์ของคุณอยู่บ่อยๆ ครับ (โดยเฉพาะหนังที่ผมดูไม่รู้เรื่อง)

ออกตัวก่อนว่า ผมเป็นแค่คนชอบดูหนัง แต่ไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับศิลปะการสร้างภาพยนตร์เท่าไหร่

ส่วนใหญ่หนังที่ดูก็จะเป็นหนังพวกที่ Theme เรื่องดีๆ หรือบทดีๆ มากกว่าหนังที่ show ความสามารถทาง art หรือ symbolic

สำหรับบทวิจารณ์หนังเรื่อง Curse of the Golden Flower ของคุณนี้ ต้องถือว่าช่วยเปิดโลกทัศน์ในมุมมองที่ผมเข้าไม่ถึงได้เยอะเลย

แต่ด้วยความเคารพนะครับ ผมว่าคุณหลุดบางประเด็นที่สำคัญมากๆ ของเรื่องนี้ไปอ่ะครับ

ผมเพิ่งไปดูมา ขออนุญาต SPOIL เต็มพิกัดนะครับ

ผมในฐานะผู้ไม่สันทัดกรณี (เพราะปกติอยู่ห้อง Blue Planet) ขอสรุป Theme ของหนังเรื่องนี้ว่า



"อำนาจที่สำคัญที่สุดซึ่งคนที่เป็นจักรพรรดิ์ต้องการและจำเป็นต้องมี คือ ความสามารถในการควบคุมทุกคนและทุกสิ่งในแผ่นดิน"



ผมจะบอกว่า ถ้าไม่นับเรื่องการฉายภาพของสถาบันครอบครัวที่ล่มสลาย ซึ่งเจ้าของ blog รีวิวไว้ได้อย่างเนียนสุดๆ แล้ว

แก่นของเรื่องอีกด้านหนึ่ง คือ "ability to control" ครับ

ผมเชื่อว่าจางอี้โหมวเจตนาฉายภาพให้เห็นความพยายามในการจัดระบบระเบียบทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ภายใต้การควบคุม ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง จนกระทั่งหนังจบครับ

และผมเชื่อว่าประโยคข้างบนนี้ประโยคเดียว ตอบได้แทบทุกคำถาม ของหนังเรื่องนี้ครับ

(เฉพาะคำถามในเชิงเนื้อเรื่องนะครับ ไม่รวมคำถามในเชิงศิลป์ หรือ symbolic)

ลองดูเล่นๆ ซัก 3-4 คำถามก็ได้


Q : ตอนจบฮองเฮาโดนฆ่าตายรึเปล่า

A : ฮองเฮาจะรอดหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้วครับ หัวใจจริงๆ คือ บทสรุปที่ว่าเธอจะอยู่หรือตายก็เป็นไปภายใต้พระประสงค์ขององค์ฮ่องเต้เพียงคนเดียวเท่านั้น


Q : ทำไมตอนสุดท้ายฮ่องเต้ต้องบังคับให้องค์ชายรอง (พี่เท่ง เถิดเทิง) เอายาพิษให้ฮองเฮากิน

A : เป็นการ Test ครั้งสำคัญครับว่า พี่เท่งอยู่ภายใต้การควบคุมของตนเองหรือเปล่า ถ้าพี่เท่งเอายาให้แม่กิน พี่เท่งก็จะรอดจริงๆ แล้วก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทจริงๆ ด้วยครับ ถึงแม้ว่าฮ่องเต้จะรักลูกคนโตมากกว่า แต่ตอนนี้เหลืออยู่คนเดียวแล้ว ถ้าพี่เท่งแสดงให้เห็นว่าอยู่ภายใต้การควบคุมก็ OK ฮ่องเต้ก็พร้อมจะยกโทษและยกราชบัลลังก์ให้ ...แต่... พี่เท่งของเราโคตรเท่กว่าที่คิดครับ พี่เท่งเลือกที่จะไม่ยอมอยู่ใต้การควบคุมของฮ่องเต้ ทางออกเดียวที่จะเอาชนะอำนาจในการควบคุมก็คือ "เลือกที่จะตาย" ครับ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ฮ่องเต้สะอึกนิดนึง (เพราะรู้สึกว่า เชี่ย กรูแพ้มัน กรูควบคุมมันไม่ได้) แต่หลังจากนั้นก็เอาตะเกียบคีบของกินต่ออย่างสบายใจได้ (เพราะช่างแมร่งมัน ไอ้พวกไม่เชื่อฟัง ตายไป 1 คน กรูไม่ต้องเสียแรงฆ่ามันด้วย)


Q : ฮ่องเต้รักเมียเก่าจริงป่าว ทำไมตอนหลังต้องฆ่าด้วย

A : รักครับ โคตรรักเอ็งเลย รักมาตลอด 20 ปี มีลูกก็รักลูกที่เกิดกับคนนี้ รักอยู่คนเดียว รักมากกว่าลูกที่เกิดกับอีฮองเฮา ซึ่งจริงๆ แล้วฮ่องเต้ยอมแต่งด้วยเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองต่างหาก แต่ที่ต้องฆ่าเมียเก่าก็เพราะ ถึงรักมาตลอด 20 ปี แต่วันนี้มรึงเจือกไปทำงานให้อีฮองเฮา แสดงว่ามรึงไม่ภักดีต่อกรู กรูควบคุมมรึงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ยอดยาหยีจ๋า มรึงสมควรตาย


Q : ทำไมฮ่องเต้รักลูกคนแรกมากที่ซู้ด

A : นอกจากจะเป็นลูกที่เกิดกับหญิงที่รักแล้ว องค์ชายใหญ่ยังเป็นคนเดียวที่ฮ่องเต้แน่ใจว่าสามารถควบคุมบงการชีวิตได้ทุกอย่าง แม้จะรู้ว่าแอบเป็นชู้กับอีฮองเฮา แต่ฮ่องเต้ก็ยอมปล่อย เพราะมันไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญคือเวลามีเรื่องคอขาดบาดตาย องค์ชายใหญ่เป็นคนเดียวที่เชื่อใจได้ว่าจะบอกเรื่องราวทั้งหมดกับฮ่องเต้ ไม่สำคัญว่าจะเป็นด้วยความภักดีหรือความกลัว สำคัญแค่ว่าองค์ชายใหญ่นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างแน่นอนก็พอ เชื่อเถอะครับว่า แค่เพียงฮ่องเต้บอกว่า กรูรู้นะ กรูเห็นนะ มรึงเลิกเป็นชู้กับเมียกรูซะที รับรองว่าองค์ชายใหญ่เลิกขาดทันทีครับ



ไม่รู้เข้าใจจางอี้โหมวถูกต้องหรือเปล่า แต่ใครดูแล้วงง ลองไปตามตรรกะนี้ดูนะครับ ผมเชื่อว่าตอบได้แทบทุกคำถามครับ

ขอบคุณเจ้าของ blog มากครับที่ให้พื้นที่แสดงความคิดเห็น

ใครมีประเด็นอะไร หลัง mic. มาแลกเปลี่ยนกันก็ได้ครับ

ปกติผมอยู่ห้อง Blue Planet ครับ

\\\\(O*v*O)//

 

โดย: I Love หมอหญิงซินปี IP: 202.57.183.168 11 กุมภาพันธ์ 2550 8:04:04 น.  

 

เพิ่งไปดูมาสดๆ ร้อนๆ ค่ะ

ดูจบแล้วก็รู้สึกว่า ... ไม่ต้องสร้างวังอร่ามด้วยทองให้เหนื่อยก็ได้นะเนี่ย บ้านหลังนึงก็เอาอยู่แล้วล่ะ ... เพราะด้วยบทและปมต่างๆ สามารถกลบสีทองอร่ามตาของวังทั้งวังไปได้เลย

ชอบองค์ชายเล็กนะคะ (แอบเห็นน้องเหมือน L เป็นพักๆ เหอเหอ) เล่นดี ดูเก็บกดดี มาอีกทีแทงพี่ตายซะละ .. โอ้น้อง .. เล่นซะพี่เหวอ
ส่วนรุ่นใหญ่ไม่ต้องพูดถึง ละได้ในฐานที่เข้าใจ แต่ชอบกงลี่ตอนเธอปล่อยผมไม่แต่งหน้ามากกว่า .. ดูงาม
ส่วนองค์ชายรอง .. กระทู้พันทิพแอบตามไปหลอนเรื่องพี่เท่ง แต่พี่แกเท่ค่ะ ถึงหลอนแต่ไม่หลอนแบบไม่มีความสุขนะ ออกแนวฮาซะมากกว่า

เรื่องฉาก ทำได้งาม อลังการ แต่กลับชอบฉากเล็กๆ แต่ดูสวยอย่างฉากที่ทหารชุดดำจู่โจมบ้านของหมอหลวงมากกว่านะคะ มันเท่ดี

 

โดย: kenmania 11 กุมภาพันธ์ 2550 19:56:49 น.  

 

กลับมาอ่านอีกที ชอบความเห็นที่ 28 คุณ I Love หมอหญิงซินปี มากครับ
วิเคราะห์ได้ดีและแอบฮา

 

โดย: absent-minded IP: 222.212.70.127 11 กุมภาพันธ์ 2550 20:16:14 น.  

 

ไม่ถึงกับชอบมาก แต่ประทับใจเลยทีเดียว กับการดำเนินเรื่องทั้งหมด และแรงจูงใจของแต่ละคนที่ต้องมาห้ำหั่นกัน หดหู่มาก แต่ก็ดูจนจบ ความรู้สึกในตอนท้ายเรื่องก็เศร้าไปเลย

ที่แน่ๆ กงลี่ และโจวเหวินฟะ สุดยอดมากครับ เธอมีออร่าประกายเลย ข่มเท่ง เถิดเทิง เอ๊ย! เจย์ โชว์ไปอย่างดับสนิท เวลาที่เข้าฉากด้วยกัน

 

โดย: เข็มขัดสั้น 12 กุมภาพันธ์ 2550 14:39:50 น.  

 

แว้ก โทดครับ ยังพิพม์ไม่หมดเผลอกด Enter

ถ้านอกเนื้อหนัง กงลี่ ผมไม่สงสารเธอเท่าไหร่น่ะครับ เพราะเธอตู้ม อยู่แล้ว แต่ผู้หญิงคนอื่นที่ดูแล้วเขาไม่น่าจะมีเล่นรัดซะ จนกลัวหายใจไม่ออก และไม่คืนตัวเท่าที่ควร

ปล. ทะลึ่งนิดหน่อยไม่ว่ากันนะคร้าบ

 

โดย: เข็มขัดสั้น 12 กุมภาพันธ์ 2550 14:43:46 น.  

 

ขอบคุณมากๆ ครับ ที่ คุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" อุตส่าห์หลัง mic. มาหา ยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ

และขอบคุณสำหรับประเด็น perfectionist กับ narcissistic ด้วยนะครับ เยี่ยมมากๆ เลยครับ

จริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าระดับคุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" จะหลุดอะไรไปหรอกครับ

แต่พอดีอ่านในบอร์ดเฉลิมไทยดูแล้ว เห็นคนเข้ามาโพสกันเยอะว่า เรื่องนี้ดูแล้วงงบ้าง ไม่เข้าใจตอนจบบ้าง

เลยเห็นว่าคุณน่าจะเขียนถึงประเด็นนี้ซะหน่อย เพราะผมเห็นว่ามันเป็น key หลัก ที่จะช่วยคลายความสงสัยในหลายๆ ประเด็นได้ครับ

อย่างที่บอกครับ หลายคน (เช่น ผม เป็นต้น) เวลาดูหนังเรื่องไหนแล้วเกิดอาการงงไม่รู้เรื่อง

ก็มีความคาดหวังว่า ถ้าเข้ามาอ่านบทวิจารณ์ของคุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" แล้วจะช่วยให้รู้เรื่องมากขึ้นครับ

ยินดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ

\\\\(O*v*O)//

ลงชื่อ ... ผมอยากแอบเข้าข้างหลังคุณ ...

5...5...5... แค่หยอกเล่น ไม่ได้เป็นจริงๆ

 

โดย: I Love หมอหญิงซินปี IP: 203.209.121.187 13 กุมภาพันธ์ 2550 3:21:32 น.  

 

+ เพิ่งได้ดูเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเองครับ ลิโดเหลืออยู่รอบเดียวเอง (ดีนะ ไม่ออกไปซะก่อน) ... จริงๆ ผมค่อนข้างเลี่ยงหนังจีนกำลังภายในยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างเหมือนกันนะครับ ... แต่กับเรื่องนี้ ด้วยอารมณ์ดราม่าระดับสูงในเนื้อเรื่อง ก็เลยรู้สึกชอบ
+ การสร้างฉากให้ยิ่งใหญ่ ตระการตา คงเป็นเพราะต้องการให้มัน contrast กับเนื้อเรื่องที่หดหู่กดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ... เพราะยิ่งเรารู้สึกว่าวังมันใหญ่ มันอลังการมากเท่าใด ... ก็อาจยิ่งรู้สึกแย่กับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้ มากขึ้นเท่านั้น
+ พี่เจย์เท่ง น่าสงสารจังครับ ... เข้มแข็ง อบอุ่น รักแม่ ... สาวๆ คงกรี๊ดกันน่าดู อิๆ ... ส่วนเฮียโจว (เด๋ว At world's end เข้าก็ได้เจออีกแย้ว) และกงลี่ ก็ซุดย้อดด เหมือนเดิม ดาราที่เหลือก็แสดงได้ในระดับดีครับ
+ ขำขำ ตรงอ้ายฉากบอกเวลา ยาม 3, ยาม 4 เนี่ยครับ มันแทรกเข้ามาอยู่เรื่อยเลย เค้าต้องการสื่ออะไรรึเปล่าหว่า?
+ ประเด็นที่คุณ I Love หมอหญิงซินปี #28 วิเคราะห์ไว้ ก็น่าสนใจมากๆ ครับ ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

 

โดย: บลูยอชท์ 19 กุมภาพันธ์ 2550 13:55:43 น.  

 

ไม่อยากนึก ถ้าล้มบันลังค์สำเร็จ
คนที่เป็นกษัตริย์ ก็ต้องเป็นลูกชายคนโตอยู่ดี
ไม่น่าใช่ลูกชายคนรอง (Jay Chou) - น่าสงสารลูกชายคนรอง

ตอนแรกสงสารกงลี่
ตอนนี้สงสาร Jay Chou แทนแล้วหล่ะ

 

โดย: แม่คาปู IP: 203.144.184.61 20 กุมภาพันธ์ 2550 12:19:51 น.  

 

ชอบเรื่องนี้มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆจะดูอีกรอบ
ช่ายๆๆๆ ฝรั่งเค้าไม่อินเพราะความต่างของระบบครอบครัวด้วย

 

โดย: ชอบความเห็นมากๆ IP: 124.120.176.23 24 กุมภาพันธ์ 2550 4:52:16 น.  

 

ดูแล้ว ไม่ชอบเลย
เปิดฉากมาก็สวยดี แต่หนังดูแล้วเครียดๆอ่ะ
แถมดูไม่รู้เรื่องด้วย แต่ต้องยอมรับว่าฉากและการลงทุนสร้างได้อลังการงานสร้างมากเลย

 

โดย: batzgirl 27 กุมภาพันธ์ 2550 7:51:30 น.  

 

เมื่อดอกเบญจมาศร่วงโรย - Curse of the golden flower

หนังเรื่องล่าสุดของจางอี้โหมวบรรจุความถึงพร้อมของวุฒิภาวะไว้อย่างเต็มเปี่ยม จากประสบการณ์การทำงานของผู้กำกับที่เริ่มต้นจากการแสดงทัศนคติเพียงด้านเดียว ในงานหนังยุคแรกๆ อันได้แก่ Red sorghum , Ju dou และ Raise the red lantern นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของระบบจารีตโบราณ และต้องการจะหลุดพ้นไปจากระบบเดิมๆ เหล่านั้น ตามความปรารถนาส่วนตน
ทัศนคติด้านเดียวในหนังยุคแรก กล่าวถึงการต่อสู้กับระบบโดยจัดผู้ชมให้อยู่ฝั่งเดียวกับผู้กำกับและให้เจ้าตัวระบบเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้ร้ายในหนังของเขา (ฟังดูก็คล้าย The Matrix อยู่ไม่น้อย) ซึ่งระบบสมมุติที่ปรากฎอยู่มีตั้งแต่จารีตประเพณี , ระบอบการปกครอง และการถูกข่มเหงจากศัตรูสงครามแดนอาทิตย์อุทัย (Red sorghum)
วิธีในการมองชีวิตของจางอี้โหมวที่เปลี่ยนไปถูกสะท้อนออกมาในหนังยุคหลัง ได้แก่ The Road Home , Hero , Happy time , House of flying dagger และ Riding alone for thousands of mile
หนังของจางอี้โหมว ดูมีมิติที่หลากหลายและลึกขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเขาเริ่มเปิดกว้างทางทัศนคติ สิ่งที่เคยเป็นเสมือนคู่แค้นคู่อาฆาตได้กลับกลายมาเป็นมิตร จางอี้โหมวเริ่มเข้าอกเข้าใจและมองกลับด้านผ่านทัศนคติของฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะวินิจฉัยให้คุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ ถูกหรือผิดอย่างไร การเปลี่ยนมาหามุมมองที่หลากหลายนี้เองได้ปรากฎอยู่ในหนังเรื่อง Hero ความรู้สึกประนีประนอมของจางอี้โหมวถูกถ่ายทอดผ่านงานชิ้นต่อๆ มาอยู่เสมอ
Curse of the golden flower สานต่อแนวคิดที่เคยเปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ Hero (อันที่จริงแนวคิดนี้ได้ถูกซ่อนนัยยะเอาไว้แล้วกลายๆ ตั้งแต่เรื่อง The Road Home ด้วยเทคนิคการแบ่งสี) แนวคิดอันว่าด้วยการสมานฉันท์ที่หลอมรวมความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว ความเป็นเอกภาพอันจะนำมาซึ่งความสงบสันติในที่สุด
Hero ถ่ายทอดความงดงามของแนวคิดนี้ได้อย่างวิจิตรบรรจง จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Ju dou และ Raise the red lantern ก็เคยผ่านเวทีนี้มาแล้วเช่นกัน) Hero เล่าเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งคมคาย ไล่ไปตั้งแต่ปรัชญาระดับจิตจนถึงสาระการเมืองในระดับชาติ
Hero กล่าวถึงคุณค่าของสันติภาพ หากความแตกต่างถูกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว แต่ Curse of the golden flower กล่าวถึงความล่มสลายย่อยยับ หากความแตกต่างที่ปรากฎอยู่ยังคงต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป
Curse of the golden flower พยายามวิจัยหาจุดร่วมของความแตกต่างเหล่านั้นให้ได้ โดยสื่อผ่านดอกเบญจมาศ ดอกไม้ซึ่งในภาษาจีนออกเสียงว่า Ju แปลว่า ร่วมกัน รวมกัน รวมตัวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวจีนแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นอีกด้วย (เหรียญ 1 หยวน ที่ใช้กันในจีนก็มีดอกเบญจมาศอยู่บนนั้น)

ดอกเบญจมาศมีรูปลักษณ์ที่ก่อให้เกิดมโนทัศน์บางอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ แต่ละกลีบที่แฉกออกไปแตกต่างทิศทางถูกรวมเอาไว้ภายใต้ฐานดอกเพียงหนึ่งเดียว จุดร่วมตรงนี้แหละที่จางอี้โหมวพยายามค้นหาเสมอมาในหนังของเขายุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรวมหนังสีกับหนังขาวดำไว้ด้วยกัน (The Road Home) หรือหนังที่มีสี monotone เข้าไว้ด้วยกัน (Hero) หรือแม้แต่การผสานความเป็นหนังศิลปะ (หนังอาร์ตดูยาก) ให้เข้ากันได้กับหนังตลาดทุนสูง (เพื่อให้กลายเป็นขวัญใจมหาชนหมู่มากให้ได้)
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของจางอี้โหมว มีความทะเยอทะยานอย่างสูงยิ่ง เพราะแตกประเด็นออกไปอย่างกว้างขวางและมีสารทางการเมืองอยู่สูงกว่าหนังเรื่องก่อนๆ (ในแง่จิตวิทยาของปัจเจกบุคคลก็กล่าวถึงอยู่บ้างเหมือนกัน) แต่ที่เด่นชัดจริงๆ ก็ได้แก่ประเด็นว่าด้วยเพื่อนร่วมเชื้อชาติ (จีนแผ่นดินใหญ่ , ฮ่องกง และไต้หวัน สื่อผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ) ที่ควรจะสมานฉันท์เป็นมิตรที่ดีต่อกันได้สักที และประเด็นอันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งระหองระแหงกันมายาวนาน นับแต่ยุคสงครามโลกจวบจนปัจจุบัน
กระแสของโลกปัจจุบัน เริ่มหันมาให้ความสนใจกับงานหนังที่สื่อถึงปัญหาสังคมมากขึ้น (จนเหมือนมองข้ามหนังแนวมนุษยนิยมไปซะงั้น) เพราะความหลากหลายทางความคิดของผู้คนในโลกที่แตกต่างทางเชื้อชาติ , สัญชาติ และศาสนา ฯลฯ ถือเป็นชนวนของการสู้รบและสงครามอยู่เสมอ ความพยายามในการลดแรงปะทะนี้เคยถูกเสนอมาแล้วในหนัง Hollywood เรื่อง Crash (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2006) และ ในปี 2007 นี้ก็ยังปรากฏ Babel อีกหนึ่ง หนังที่บอกเล่าประเด็นนี้ผ่านจอเงินได้อย่างขึงขัง จริงจัง และงดงามยิ่ง
Curse of the golden flower ของจางอี้โหมวคือหนึ่งในแนวทางนั้น
ขอบเขตการเล่าเรื่องของ Curse of the golden flower ไม่กว้างเกินไปและไม่แคบเกินไป เพราะมุ่งมุมมองที่มีต่อสถาบันครอบครัว สถาบันซึ่งทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นอย่างดีเป็นระบบสัญลักษณ์ (Symbolic) ในหนังเรื่องนี้ ครอบครัวอันถือได้ว่าเป็นการรวมตัวของมนุษย์รูปแบบแรกที่แม้แต่สัตว์ในระดับปฐมภูมิยังรู้จักดี เหตุผลเริ่มต้นในการมารวมตัวกันนี้เพื่อประโยชน์ของความอยู่รอด (แม้จะฟังดูดิบเถื่อน แต่จริง) ผ่านเวลานับร้อยนับพันปีสถาบันนี้กลายเป็นแหล่งรวมของความรักความอบอุ่นที่สมาชิกในครอบครัวมีให้แก่กันและคอยช่วยเหลือกันยามผจญทุกข์ยากในชีวิต
ส่วนคำถามที่ว่าครอบครัวเป็นรูปแบบของสถาบันที่มนุษย์เราสมมุติขึ้นหรือเป็นรูปแบบตามธรรมชาติ ยังคงถกเถียงกันได้และไอ้ความคลุมเคลือนี่แหละเหมาะสมอย่างยิ่งกับหนังเรื่องนี้
ไม่ใช่ครั้งแรกที่จางอี้โหมวเลือกใช้ครอบครัวเป็นตัวเล่าเรื่อง เพราะงานในอดีตของเขาก็เคยหยิบยกความสัมพันธ์ระดับครอบครัวเล็กๆ ขึ้นเทียบเคียงกับความเป็นครอบครัวเดียวกันระดับชาติ (ระบบคอมมูนแบบคอมมิวนิสต์) ในยุคการปกครองของเหมาเจ๋อตุงจากหนังเรื่อง To Live (หนังที่ว่าด้วยความผิดพลาดของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนและยกย่องคุณค่าความเป็นมนุษยปุถุชนเหนือนโยบายสมมุติของรัฐบาล)

Curse of the golden flower แนะนำฮองเฮา (กงลี่) ในฐานะตัวละครหลักตัวแรก ก่อนที่จะเปิดตัวฮ่องเต้ (โจเหวินฟะ) อีกตัวละครหลักในฉากถัดมา 2 ตัวละครที่จะคะคาน , เสียดสีและกระแทกกระทั้นกันตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจน End Credit ลอยขึ้นมาในตอนจบ
ครอบครัวระดับราชวงศ์นี้ ยังมีโอรสอีก 3 พระองค์ อันเป็นตัวแทนของคนใน 3 ยุคของสังคมจีนไล่มาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราช – สังคมนิยม-และยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน
องค์ชายรัชทายาท เหยียนเสียง คือตัวแทนของระบบราชวงศ์ ในอดีตที่อ่อนแอ เหยาะแหยะทางกำลังกายภาพ หากแต่อ้างอำนาจอันสูงสุดจากสวรรค์ว่าเป็น Son of heaven ในการขึ้นครองบัลลังก์เพื่อกุมชะตากรรมของแผ่นดิน ลึกลงไปในจิตใจ เหยียนเสียงต้องการหนีออกไปจากกรอบของระบบราชสันตติวงศ์นี้ เพื่อคว้าไขว่รสชาติของอิสรภาพเยี่ยงปุถุชน โดยเฉพาะอิสรภาพแห่งรัก
องค์ชายรองเหยียนเจี๋ย คือตัวแทนของคนหนุ่มหัวก้าวหน้าแห่งยุคสังคมนิยมในอดีตที่รู้สึกกระด้างกระเดื่องต่อระบบการปกครองและจัดเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยา (Reaction) ต่อต้านนโยบายของผู้นำอย่างชัดเจน คนในกลุ่มนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอันไม่ชอบธรรมในสังคมด้วยการปฏิวัติเพื่อขจัดวิถีทางและวิธีคิดของผู้นำที่มุ่งกดขี่ประชาชน ในหนัง เหยียนเจี๋ยก่อการปฏิวัติเพื่อเสด็จแม่ เพื่อปลดแอกผู้เป็นที่รักให้หลุดพ้นจากกรอบกรงที่จองจำอยู่สู่อิสระเสรีที่ควรมีควรเป็น (ตัวจางอี้โหมวเองก็น่าจะถูกรวมอยู่ในคนกลุ่มนี้ด้วยในฐานะของนักศึกษาหนุ่มที่ถูกกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมกระหน่ำซัด จนวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบนี้ โดยเฉพาะการต่อสู้ผ่านงานหนังในยุคแรก ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศจีน แต่กลับคว้ารางวัลอันเกริกเกียรติจากนานาชาติมามากมาย)
เหยียนเจี๋ยถูกส่งตัวไปอยู่ชายแดนนาน 3 ปี ด้วยบัญชาของฮ่องเต้ เสมือนหนึ่งนโยบายของท่านผู้นำเหมาเจ๋อตุงที่ส่งนักศึกษาในยุคนั้นไปใช้ชีวิตในชนบทอันห่างไกล เพื่อให้เยาวชนในเมืองได้เข้าใจวิถีชีวิตอันยากแค้นแสนลำบากของเพื่อนร่วมชาติ (บ้างเข้มแข็งกลับมาเหมือนเหยียนเจี๋ย บ้างก็ล้มตายไปไม่น้อย)
องค์ชายเล็ก เหยียนเฉิน ตัวแทนของเด็กในยุคสื่อสารสนเทศไร้ขอบเขต (Worldwide) สะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบันที่ถูกครอบครัวเลี้ยงดูด้วยความมั่งคั่งแทนความรักความอบอุ่น เด็กในยุคนี้เกิดมาท่ามกลางความสะดวกสบายไม่ว่าในแง่ของเศรษฐกิจหรือสภาพสังคม ไม่ปรากฏสงครามหรือวิกฤตใดให้ทายท้าเยี่ยงวีรชนในยุคก่อน ไม่มีระบบใดมาขีดกรอบมาข่มเหงให้ต้องรู้สึกอึดอัดคับแค้น แต่ในความที่ไม่มีอะไรมาบีบคั้นนี้เองทำให้เด็กในยุคไร้พรมแดนกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไร้ขอบเขตไปโดยปริยาย หลายๆการกระทำสะท้อนถึงความพยายามในการเรียกร้องความสนใจที่ดูไร้เดียงสา แต่ในบางบริบทก็ดูน่าสังเวช
ทั้ง 3 พระองค์คือวัตถุดิบซึ่งจะถูกหล่อหลอมโดยเบ้าของ 2 อิทธิพลใหญ่ในครอบครัว นั่นคือตัวฮองเฮาและฮ่องเต้ บุคคล 2 คน ผู้ตั้งต้น 3 พฤติกรรมที่แตกต่าง
ฮองเฮา คือแนวคิดหัวเสรีสุดขั้ว (เทียบกับการปกครองระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยและอาจไกลไปกว่านั้นถึงขั้นเสรีภาพไร้ขอบเขต ไร้แก่นสาร เหมือนพวกฮิปปี้ – พี้ยา ใน USA.) ฮองเฮา คือสัญลักษณ์แทนสตรีเพศ ในหนังของจางอี้โหมวทุกเรื่องที่สตรีเหล่านี้ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบอะไรบางอย่าง บ้างสามีเป็นใหญ่ บ้างพ่อแม่บังคับ บ้างก็จารีตโบราณ ที่ห้ามโน่นห้ามนี่จนแทบหายใจไม่ออกด้วยความน่าอึดอัดของระบบเหล่านั้น (เหมือนเหล่าสตรีที่ถูกรัดอกในหนังเรื่องนี้ ที่บีบกันจนนมแทบทะลัก) เหล่าสตรีก็เลยต้องการเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น แต่ผลลัพธ์แทบทุกเรื่องหากคิดจะสู้กับระบบแล้วหากไม่ตายอย่างน่าเวทนาก็เป็นบ้าวิกลจริต
ฮองเฮาตกอยู่ภายใต้กรอบที่องค์ฮ่องเต้เป็นคนบัญญัติ ในฐานะที่เป็นฮ่องเต้นี่เองทำให้หนังเรื่องนี้รวมเอาทุกระบบในอดีตมาผนวกกัน ตั้งแต่สามีเป็นใหญ่ในครอบครัวไปจนถึงระดับของผู้นำชาติที่วางนโยบายออกมาเป็นกฎหมายเสมือนประกาศิตจากสวรรค์ที่ไม่ว่าประชาชนหน้าไหนก็ไม่อาจขัดขืน
หนังวางสัญลักษณ์ให้ดอกเบญจมาศเป็นตัวแทนของระบบเสรีภาพและความงามของสตรี (อาจตีความไกลไปถึงความเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นตัวแทนของฮองเฮา คือนกฟีนิกซ์ (นกหงส์ไฟ) นอกจากจะเป็นเครื่องหมายของฮองเฮาตามราชประเพณีจีนแล้วตามระบบสัญลักษณ์ทั่วไปก็ยังใช้นกสื่อถึงเสรีภาพและอิสรภาพอีกด้วย
ฮ่องเต้ คือตัวแทนของแนวคิดสังคมนิยม รูปแบบการปกครองที่เป็นการใช้อำนาจจากเบื้องบนลงไปบังคับบัญชาผู้อยู่เบื้องล่าง เสมือนมันสมองที่ควบคุมระบบประสาทของแผ่นดินเอาไว้ได้อย่างแม่นยำในทุกๆส่วน (ในระบบทหารของทุกประเทศก็เป็นแบบนี้) ฮ่องเต้สามารถชี้เป็นชี้ตายได้เหมือนกฎหมายและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทุกสรรพสิ่งในแผ่นดิน ดังนั้นประโยคที่ว่า “เมื่อข้าไม่ให้ ใครก็อย่าคิดแย่ง” ก็สะท้อนสนับสนุนแนวคิดนี้เป็นอย่างดี
ฮ่องเต้คือความเคร่งครัดในระเบียบและวินัย ยึดมั่นในความมั่นคงของเส้นบรรทัดฐาน เส้นซึ่งเที่ยงตรงดุจนาฬิกาพอดีเป๊ะ ดุจตราชูที่ใช้ชั่งวัด ฮ่องเต้เกาะกุมความคิดนี้เป็นสรณะเหนือคุณธรรมอื่นใด ตราบใดที่ทุกอย่างยังเป็นไปตามลิขิตของเขาโลกนี้ก็ดูปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สรุปความสั้น ๆ ว่าฮ่องเต้เป็นมนุษย์ที่พยายามขจัดอารมณ์และความรู้สึกเยี่ยงปุถุชนออกไปให้พ้นตัวและไปหลงยึดมั่นกับระบบระเบียบที่สมมุติขึ้นอย่างเข้มข้นและเคร่งเครียด
ตัวละครทั้ง 5 ใน Curse of the golden flower ถูกบีบอยู่ใน flame เดียวกันด้วยฉากโต๊ะเสวยบนหอเบญจมาศ ภาพมุมบนที่เผยให้เห็นแฉกและทิศทางของตัวละครแต่ละคนกระจายออกไปเป็นรูปวงกลม ที่ถูกรวมอยู่ด้วยกันได้ก็เพราะล้วนแต่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ( ตามนิติฐานะเท่านั้นไม่ใช่รวมตัวกันเพราะแรงดึงดูดของความรัก )
สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวล้วนแต่มีความต้องการส่วนตัว (Private want) อะไรบางอย่าง ซึ่งมีเพียงฮ่องเต้ เท่านั้นที่ประทานให้ได้ ( Public want)
เหยียนเสียง ต้องการไปอยู่ชายแดนกับหญิงคนรักซึ่งคือ เสี่ยวฉาน บุตรีของหมอหลวงที่เขา ลักลอบมีความสัมพันธ์ด้วย
เหยียนเฉิน ต้องการคุมกองทหารทั้งหมดด้วยตนเองในงานเทศกาลฉงหยางปีนี้
เหยียนเจี๋ย ต้องการให้ฮองเฮาเป็นอิสระจากการถูกบังคับให้เสวยยาขมมาเป็นเวลานับสิบปี
ในบรรดาโอรสสามพระองค์ คงมีเพียง เหยียนเจี๋ยองค์ชายรองเท่านั้นที่ความประสงค์ของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวเอง หากแต่เพื่ออุดมคติอะไรบางอย่างที่สูงส่ง
ฮองเฮา ต้องการปลดแอกตัวเองให้หลุดล่วงจากกรอบแห่งวินัยของฮ่องเต้ ส่วนฮ่องเต้ก็ต้องการอนุรักษ์กรอบวินัยนี้เอาไว้ให้นานเท่านาน เพื่อตอกย้ำสัจจะเดิม ๆ ว่าตนยังควบคุมทุกอย่างในแผ่นดินนี้อยู่
ทุกความต้องการที่กล่าวมาล้วนสวนทางและไม่อาจหาจุดบรรจบ
หนังมีตัวละครเสริมรองเข้ามา นั่นคือครอบครัวขนาดเล็กของหมอหลวง ประกอบด้วย
หมอหลวง ผู้ซึ่งภักดีต่อฮ่องเต้ ถวายทั้งกายใจรับใช้โดยไม่เคยคิดเคลือบแคลงสงสัยอะไรในภัยที่กำลังย่างกรายเข้ามา
ฮูหยินของหมอหลวง สตรีในอุดมคติของจางอี้โหมว ผู้ที่ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจใด ๆ เหิมเกริมชี้หน้าด่าฮ่องเต้อย่างไม่ครั้นคร้าม และการเจอกับฮ่องเต้ในหนังครั้งแรก ฮูหยินถึงขั้นตบพระพักตร์ของฮ่องเต้อย่างแรงด้วยโทสะที่ถูกสะสมมาเมื่อครั้งอดีต
ฮูหยินเป็นคนตรงและซื่อสัตย์จนอาจถึงขั้นขวานผ่าซากในหลาย ๆ พฤติกรรม อารมณ์ที่เธอรู้สึกไม่อาจถูกกั๊กหรือกดกลั้นไว้ได้ ภายใต้ใบหน้าที่ถูกตีตราว่าครั้งนึงเคยเป็นคนคุก ฮูหยินมีอดีตความสัมพันธ์กับองค์ฮ่องเต้ในฐานะคู่รัก และยังเป็นมารดาขององค์ชายรัชทายาทอีกด้วย หากแต่ความจริงในข้อนี้ ฮูหยินเก็บเอาไว้เป็นความลับไม่เคยแพร่งพรายให้ผู้ใดรับทราบแม้กระทั่งสามีของตน
จากอารมณ์ของอดีตคนคุกนี้เอง ทำให้ฮูหยินปลงใจรับใช้ฮองเฮาเพื่อแก้แค้นฮ่องเต้ ฮองเฮาผู้ซึ่งในขณะนี้ตกอยู่ในสภาพถูกจองจำเยี่ยงคนคุก ไม่ผิดแผกแตกต่างจากอดีตของตัวฮูหยินเอง
เสี่ยวฉานบุตรีคนงามของครอบครัวนี้ ผู้ภักดีต่อความรักที่องค์ชายรัชทายาทมอบให้ ในฐานะเป็นสตรีเพศในหนังของจางอี้โหมว เสี่ยวฉานได้รับผลร้ายในรูปแบบที่ไม่เกินคาดเดา เสี่ยวฉานยังเป็นตัวแทนของเหยื่อในหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด จากบทบาทการแสดงที่ดูใสและซื่อเอามากๆ ของเสี่ยวฉาน ( บ่อยครั้งก็ดูไร้สมอง ) สะท้อนถึงเด็กสาวในยุคช่างฝัน ที่มีทัศนคติว่าโลกนี้ยังคงสวยสดงดงาม รอคอยเพื่อจะเป็นเจ้าหญิงในอ้อมแขนของเจ้าชาย เหมือนความฝันที่เลื่อนลอยและลมๆแล้งๆ ของเด็กสาวอ่อนเดียงสาในโลกปัจจุบัน
ครอบครัวของหมอหลวง สื่อถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและอบอุ่นระหว่างกัน ในนาทีที่เป็นวิกฤติการณ์ถึงขั้นเป็นตาย สมาชิกในครอบครัวนี้ ยอมเสียสละแม้ชีวิตตนเพื่อปกป้องคนที่ตนรักและเมื่อสมาชิกอันเป็นที่รักของตนต้องล้มตาย ความบ้าบิ่นไม่คิดชีวิตก็บังเกิด
แตกต่างกับครอบครัวของราชวงศ์ราวฟ้ากับดิน
ครอบครัวของราชวงศ์มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการห้ำหั่นประหัตประหาร แย่งชิงฝักฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนล้วนแต่ทำเพื่ออัตตาแห่งตน ( ยกเว้นเหยียนเจี๋ย ที่ทำเพื่อเสด็จแม่) ความร้าวฉานที่ลุกลามจากเชื้อไฟในครอบครัว โหมกระหน่ำให้ร้อนแรงไปทั่วทั้งราชอาณาจักร ก่อเป็นศึกสงครามอันยิ่งใหญ่และย่อยยับพนาสูร
คำถามที่หนังมอบให้คนดูขบคิด คือทางเลือกสองทางระหว่างความเข้มงวดกวดขันในระเบียบวินัยที่ไม่อาจล่วงล้ำกับเสรีภาพที่ปราศจากการควบคุมจนล้ำเส้นเกินเลย
แน่นอนว่าทางเลือกที่หนังเสนอมาในช่วงต้นเป็นคำตอบที่ผิดทั้งคู่ ไม่ว่าจะเลือกวิถีทางแบบไหน นั่นไม่ว่าคนดูจะเอาใจช่วยฮองเฮาหรือแอบเชียร์ฮ่องเต้อยู่ก็ตาม จางอี้โหมวชี้ชัดว่า ตอนจบอันเป็นบทสรุปของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คำตอบของประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอ เพราะมันล้วนแต่ไม่ได้เข้าใกล้ความหมายของจุดร่วมหรือความสมานฉันท์เลยแม้แต่น้อย
หากแต่ผู้กำกับนำเสนอผลร้ายของการหาจุดร่วมไม่เจอ เมื่อฐานดอกที่รองรับกลีบเบญจมาศไม่มีเสียแล้ว แต่ละแฉกที่อุ้มสีสันเหลืองทองอร่ามตาก็จำต้องร่วงโรยและปลิดปลิวไปอย่างไร้แก่นสาร
ชีวิตของประชาชนในชาติก็เช่นกัน เมื่อขาดจุดยึดเหนี่ยวอะไรบางอย่างอันจะเป็นแรงดึงให้หลอมรวมกันอย่างแน่นแฟ้นเป็นปึกแผ่นแล้วก็ย่อมต้องแตกซ่านกระจัดกระจายเหมือนเช่นกลีบเบญจมาศที่ร่วงโรยเกลื่อนพื้นพระราชวังตามท้องเรื่องในหนัง
หนังพยายามให้น้ำหนัก สำแดงข้อดีข้อเสียของทั้งสองขั้วความคิด (เสรี-วินัย) อย่างเท่าเทียม เริ่มจากแนวคิดเสรีภาพสุดขั้วที่สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาสั่ง โดยไม่ต้องมีขอบมีเขตมา กะเกณฑ์หรือควบคุม แนวคิดฝั่งนี้พยายามลบเส้นบรรทัดฐานแห่งระเบียบและวินัยออกไป เหลือไว้เพียงเสรีภาพที่สมบูรณ์ (Absolute freedom) ความพร่าเลือนของเส้นบรรทัดฐานปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความพร่าเลื่อนของการแบ่งเพศระหว่างชาย-หญิงที่สื่อผ่านตัวละครขันทีข้ารับใช้ของฮองเฮา ความไม่ชัดเจนแน่นอนในฝักฝ่ายซึ่งองค์ชายรัชทายาทเหยียบอยู่ในทุกทางจนกลายเป็นนกสองหัวในที่สุด รวมไปถึงความพร่าเลือนของขอบเขตทางจริยรรม-ศีลธรรมที่สมาชิกในครอบครัวล้วนแต่กระทำการล้ำเส้นกันแทบทุกคน เมื่อพ่อคิดฆ่าแม่, แม่คิดล้มล้างพ่อ , พี่มีสัมพันธ์สวาทกับน้องในไส้ , แม่เลี้ยงลักลอบได้เสียกับลูกเลี้ยง ,น้องฆ่าพี่ และพ่อฆ่าลูก
ทุกกิริยาที่กล่าวมาอาจถือเป็นเรื่องปกติหากเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นเช่นที่เป็นข่าวอาชญากรรมอยู่ทั่วไป แต่ความหนักหนาสาหัสของหนังเรื่องนี้ได้ยำทุกๆความอัปรีย์ให้เกิดขึ้นกับทุกตัวสมาชิกในหนึ่ง ครอบครัว ถือว่าผู้กำกับสื่อออกมาได้แรงและกระแทกความรู้สึกอย่างได้ผล
อีกประเด็นหนึ่งว่าด้วยขอบเขตของสิ่งที่ควรพูดและขอบเขตของสิ่งที่ไม่ควรพูด (ซึ่งตัวละครในหนังหาได้คำนึงถึงความมีอยู่ของขอบเขตในเรื่องนี้ไม่ )
ตัวฮูหยินเก็บอดีตของตนเป็นความลับไม่แพร่งพรายให้ใครรู้ และจากการปกปิดอันสงัดเงียบนี้เอง ทำให้บุตรีไปมีสัมพันธ์สวาทกับพี่ชายตนอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตัวหมอหลวงผู้พ่อ ก็ไม่ได้ยับยั้งความสัมพันธ์ซ่อนเร้นนี้ของบุตรีกับองค์รัชทายาท เนื่องจากไม่ทราบถึงความจริงที่ฮูหยินปิดบังไว้ตลอด หมอหลวงถูกสังหารตายไปทั้งๆที่คำถามคาใจเหล่านี้ยังไม่ถูกเปิดเผยให้กระจ่างออกมา
ส่วนฮองเฮาผู้ซึ่งไม่อาจยับยั้งอารมณ์ใดๆเอาไว้ได้ กิเลสทั้งมวลพุ่งพรวดออกมาโดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ ฮองเฮากล่าวความจริงแก่องค์รัชทายาทว่าฮูหยินของหมอหลวงเป็นมารดาแท้ๆของเขา คำพูดที่ไม่มีหูรูดของฮองเฮาก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและเสียหาย ซึ่งความวิปโยคเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากฮองเฮาไม่ปริปากพูดความจริงออกมา
ประเด็นเรื่องขอบเขตของการพูดยังสะท้อนไปถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันระหว่างจีนและญี่ปุ่นอีกด้วย ข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อปีกลายในกรณีตำราเรียนของญี่ปุ่นที่ระบุข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกบิดเบือนไป (ในอดีตญี่ปุ่นเคยเข่นฆ่าชาวจีนไปประมาณ 35 ล้านคน) ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในจีนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อไม่นานมานี้ตัวผู้นำของญี่ปุ่นเองก็ยังไปคารวะศพของเหล่าอาชญากรสงครามนั้นอยู่ ความรู้สึกของชาวจีนว่าญี่ปุ่นไม่เคยยี่หระหรือสำนึกผิดต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้ ถูกปะทุออกมาด้วยโทสะระดับชาติ
คำถามในหนังที่ว่าความจริงแบบไหนควรถูกบอกเล่าและอะไรควรปกปิดไว้จึงสอดคล้องกับ เหตุการณ์นี้อย่างลงตัว
เมื่อเสรีภาพโดยปราศจากการควบคุมเปรียบเสมือนระบบประสาทของฮองเฮาที่ถูกทำลายไป (จากการเสวยยาที่ผสมหญ้าอีกาดำซีอี้) ความสั่นเทาที่สะท้านอยู่ทั่วสรรพางค์กายนำมาซึ่งความวิบัติที่ไม่อาจควบคุมได้เช่นกัน
และผลลัพธ์เช่นนี้หรือที่เสรีภาพต้องการ?
ในส่วนของแนวคิดว่าด้วยระเบียบวินัยสุดขั้ว ทุกคนคงเข้าใจดีอยู่แล้วว่าส่งผลร้ายเช่นไรบ้าง หากปราศจากเสรีภาพในชีวิต
การปะทะของสองแนวคิดนี้ สื่อผ่านภาพสัญลักษณ์ (Symbolic) ในหนังอย่างชาญฉลาด ไม่ดูจงใจจนเกินไป เพราะกลมกลืนไปกับเรื่องราวอย่างเหมาะสม
สัญลักษณ์ของเสรีภาพภายในกรอบที่หนังเลือกใช้ ได้แก่ เครื่องประดับบนศรีษะของฮองเฮาที่ปรากฎรูปนกสยายปีก แสดงถึงขั้วความคิดในหัวของเธอได้เป็นอย่างดีว่าเป็นพวกเสรีนิยมสุดขั้ว การเขียนขอบตาของฮองเฮาที่ตวัดสีให้ดูเฉี่ยวมองดูคล้ายปีกนกที่กางออกไปทั้งสองด้านสะท้อนถึงมุมมองเสรีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอะไรบางอย่าง เทคนิคการถ่ายถาพภายในพระราชวังมักใช้มุมมองผ่านม่านมู่ลี่ที่ขึงเป็นซี่ไม้มากีดกั้นขวางตาอยู่ตลอดให้ความรู้สึกเหมือนตัวละครที่กล้องกำลังถ่ายอยู่ถูกจองจำอยู่ในกรง งานปักผ้ารูปดอกเบญจมาศของฮองเฮาที่ปรากฎอยู่ในขอบไม้ของสะดึง ดอกเบญจมาศในกรอบกระถางวงกลมที่ใช้ในงานเทศกาลฉงหยาง กรอบของเครื่องกรองยาที่ใช้คู่กับถ้วยลายดอกเบญจมาศ ภาพพลุไฟที่แตกออกเหมือนดอกเบญจมาศบานคล้ายกำลังอวดเสรีภาพที่ตัวฮองเฮาไม่อาจช่วงชิงเอามาได้ รวมไปถึงฉากที่ฮองเฮาปล่อยนกพิราบสื่อสารซึ่งเสียดสีพฤติกรรมไร้อิสรภาพของตนได้อย่างงดงาม
สัญลักษณ์ของระเบียบและวินัยสื่อผ่านตัวละครฮ่องเต้ที่ปรากฏสัญลักษณ์ของมังกรอยู่บนเครื่องประดับศรีษะ (มังกรสื่อถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่และถูกใช้เป็นเครื่องหมายแทนองค์จักรพรรดิของจีนในอดีต) นอกจากนั้นยังมีฉากที่แสดงถึงความเข้มงวดของวิถีปฏิบัติในวัง เช่น ฉากนางสนมตื่นนอนที่ดำเนินกิจวัตรอย่างพร้อมเพรียง หรือฉากในห้องยาที่แสดงถึงความมีระเบียบวินัยของเหล่าหมอหลวง ฉากที่ข้าราชบริพารเดินบอกเวลาเสมือนนาฬิกาที่เที่ยงตรง ตาชั่งโบราณของจีนที่ใช้ตวงยา อาวุธของสายลับฝ่ายฮ่องเต้ที่มีลักษณะเหมือนเคียวเกี่ยวข้าว ( เครื่องหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ต่อต้านระบบคิดแบบเสรี มุ่งเน้นการควบคุมประชาชนในทุกเรื่องทุกระดับ แม้กระทั่งนโยบายควบคุมการตั้งครรภ์ของสตรีในจีน ) ความมั่นคงแน่นอนของกฎหมายตลอดไปถึงจารีตประเพณีที่ถูกถือปฏิบัติมาช้านาน ไม่อาจละเลยหรืองดเว้นได้
ส่วนอะไรคือขอบเขตที่เหมาะสม คือคำถามที่ต้องขบคิดกันต่อไป ?
ในฐานะของผู้กำกับที่หลงใหลในสีสันเอามาก ๆ การใช้สีในหนังเรื่องนี้ อาจถือเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญ ความจัดจ้านของสีเหลืองจากดอกเบญจมาศนับแสน ความแวววาวของเกราะทองเรือนหมื่นที่ทหารสวมใส่ และสรรพสีในพระราชวังที่รวมรวมทุก ๆเฉดเอาไว้บนต้นเสาคริสตัล แต่ละห้องมีสีของเสาคริสตัลแตกต่างออกไป ประหนึ่งกำลังสะท้อนอารมณ์ของตัวละครที่เดินผ่าน และที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เทคนิคการเหลื่อมสีบนต้นเสาในวัง เช่น สีเหลืองที่เหลื่อมผสมกับสีเขียว สีแดงที่เหลื่อมผสมกับสีชมพู สีฟ้าที่เหลื่อมผสมกับสีเขียว เป็นต้น จางอี้โหมวเลือกใช้สีเพื่อระบายหนังเรื่องนี้จนหมดกล่องแต่งแต้มพระราชวังให้ละลานไปด้วยสีสันฉูดฉาดที่แรงจัดจนมองดูเสียดแทง
การใช้สีโดยไม่มีเส้นขอบมาตัดแบ่งเขตเปิดโอกาสให้แต่ละสีที่ต่างกัน เหลื่อมซ้อนและผสมกันเอง ตามข้อความคิดในหนังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
Curse of the golden flower จบลงอย่างโศกนาฏกรรมที่ผู้ชมได้แต่ภาวนาว่าขอให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะในหนังเท่านั้น ภาพในตอนจบที่ถ่ายโต๊ะเสวยบนหอเบญจมาศ มิติแรก ภาพนี้ประชดประชันสถาบันครอบครัวที่ร่วงโรยลงก่อนเวลาอันควร (การนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวที่เสียดสีปัญหาครอบครัว เคยถูกเสนอมาแล้วในหนังเรื่อง American Beauty ) แต่ในอีกมิติหนึ่ง ภาพนี้ได้สื่อแนวคิดทางปรัชญา ถึงขอบเขตของวงกลมและสี่เหลี่ยม ที่แม้จะมีความแตกต่างทางรูปลักษณ์แต่ก็สามารถสอดคล้องและบรรจบกันได้ในทุกด้านทุกมุม และจุดที่ลงตัวนี้เอง เป็นเสมือนอุดมคติของผู้กำกับ
หากยังจำกันได้ในฉากขว้างมีดตอนจบของหนังเรื่อง House of flying dagger (รักสามเส้าที่ต้องตัดสินด้วยวิถีแห่งมีดบิน ) อันเป็นประเด็นที่ผู้ชมต้องเลือก ระหว่างอิสรภาพ (วายุ) กับหน้าที่ (มือปราบหลิว) ทางเลือกของเสี่ยวเม่ย ซึ่งเป็นคำตอบที่ผู้กำกับจะนำเสนอคือ เลือกที่จะปกป้องอิสรภาพไม่ให้ถูกทำลายไป(เสรีนิยม) และในทางเดียวกันก็ไม่อาจทำลายหน้าที่ที่ต้องมีต่อสังคมด้วย (สังคมนิยม) การหาจุดร่วมของความแตกต่าง คือสิ่งที่จางอี้โหมวพยายามบอกเรามาเสมอในหนังยุคหลัง
สำหรับหนังเรื่องใหม่นี้ จางอี้โหมวทิ้งความลึกลับของดอกเบญจมาศไว้ให้ผู้ชมได้วิเคราะห์วินิจฉัย ว่ารหัสแห่งธรรมชาตินี้ช่างมหัศจรรย์ มีวิธีการจัดเรียงความแตกต่างให้สอดประสานรวมอยู่ด้วยกันได้อย่างงดงาม แต่ละกลีบของดอกเบญจมาศมีเสรีภาพโดยไม่ถูกกดทับด้วยกลีบอื่น หากแต่ยังเป็นเสรีภาพที่ปรากฏอยู่บนเงื่อนไขของระเบียบบางอย่าง
สักวันหนึ่ง มนุษย์เราคงค้นพบวิถีแห่งความสามัคคีเช่นนั้นบ้าง



 

โดย: เบียร์ IP: 203.154.187.179 13 มีนาคม 2550 8:38:04 น.  

 

หนังเรื่องนี้ สารภาพว่าไม่ได้ไปดูเพราะว่าใครๆก็บอกว่าแย่ ก็เลยตัดสินใจไปดูหนังที่บังเอิญแย่กว่านี้ไปแน่

เอาล่ะค่ะ อ่านแล้วจะไปหาดีวีดีมาดูบ้าง ถ้ามีความเห็นอะไรจะกลับมาคุยด้วยใหม่

ขอบคุณที่รีวิวอะไรลึกซึ้งให้ดูมากกว่าการสรุปสั้นๆว่า "เจ๋ง" หรือ "ห่วย" มันตอบโจทย์ของคนดูเลย

 

โดย: Mad Monqui (Mad Monqui ) 2 เมษายน 2550 15:12:36 น.  

 

ผมชอบนะหนังเรื่องนี้ สื่อออกมาได้ถูกใจและสลดใจมาก

 

โดย: MORINO IP: 124.120.74.206 4 พฤษภาคม 2550 10:44:01 น.  

 

ตรงใจทุกคำมากค่ะ

 

โดย: ProJEcTEarTH IP: 203.151.38.48 31 กรกฎาคม 2550 20:16:19 น.  

 

ตอบคำถามว่ามำไมไม่ฆ่าเลย(ลอบฆ่า) เพราะฮองเฮาเป็นลูกเจ้าแคว้นใหญ่ถ้าฮ่องเต้ฆ่าโจ้งๆก็คงโดนยกทัพมาตีกลับเป็นแน่ เข้าใจรึยัง

 

โดย: ฮองเฮา IP: 202.28.27.6 7 กันยายน 2550 22:19:31 น.  

 

เพิ่งดูดีวีดีหนังเรื่องนี้จบไปค่ะ หลังจากติดใจเฮียเจย์ โชจากเรื่อง secret
แต่พอมาดูเรื่องนี้แบบว่าคนละอารมณ์กันเลย
อาเจย์เราไม่เท่ห์เลยอ่ะ โดนรัศมีดาราคนอื่นกลบหมดเลยแฮะ

 

โดย: พุดดิ้งสีชมพู IP: 58.8.226.181 21 พฤศจิกายน 2550 21:58:54 น.  

 

เป็นหนังที่ทำให้เห็นถึงสภาพครอบครัวที่ "เหลือแค่เปลือก" ได้อย่างลงตัวค่ะ


และทำให้เราเสียในฉากสุดท้ายที่องค์ชายรองเลือกที่จะตาย เพราะอุตส่าห์สู้ฝ่าฟันมาตลอดเพื่อจะปลดปล่อย "แม่" จากการกระทำของคนที่ได้ชื่อว่า "พ่อ"

แต่มันก็ไม่สำเร็จอย่างที่หวัง เมื่อ "พ่อ" ผู้มากประสบการณ์คาดเดาหนทางได้ถูกต้อง "ลูก" ที่สู้เพื่อปลดปล่อย "แม่" กลับถูกบีบบังคับให้เลือกในทางที่ไม่อยากเดินมากที่สุด

ทางเดียวที่ "ลูก" คนนึงจะตอบแทน "แม่" ได้ นั่นก็คือ "ลูกยอมตาย" (ถ้าเป็นเรา ก็อาจจะทำเช่นเดียวกับองค์ชายเจี๋ยก็เป็นได้ เพราะมันไม่เห็นทางแล้วจริงๆ)


เจี๋ยอาจจะแค่ "สอบผ่าน" ในหลายๆฉาก (อันนี้ก็โทษเค้าไม่ได้อ่ะ คนอื่นมันกลบมิดเอง) แต่สำหรับเรา ในฉากสุดท้ายที่กล่าวมา "องค์ชายเจี๋ย" ได้หัวใจเราไปแล้วค่ะ (แถมทำให้เราอิน ขนาดเกลียดโจวเหวินฟะอยู่นานสองนาน ทั้งที่จริงๆชอบเค้า 555)

 

โดย: เด็กท่านประธานโจว (ข้าวสวยหุงไม่สุก ) 23 พฤศจิกายน 2550 1:05:38 น.  

 

และทำให้เรา---น้ำตา---เสียในฉากสุดท้ายที่องค์ชายรองเลือกที่จะตาย เพราะอุตส่าห์สู้ฝ่าฟันมาตลอดเพื่อจะปลดปล่อย "แม่" จากการกระทำของคนที่ได้ชื่อว่า "พ่อ"


พิมพ์ตก ขอโทษค่า

 

โดย: เด็กท่านประธานโจว (ข้าวสวยหุงไม่สุก ) 23 พฤศจิกายน 2550 1:07:03 น.  

 

ผมตามมาอ่านทีหลังครับ

ผมว่าการแสดงความคิดเห็ฯของคุณนี่ใช้ได้นะ

ตีโจทย์ของหนังออก

 

โดย: แมวน้าม IP: 125.27.9.23 29 เมษายน 2552 23:47:44 น.  

 

เราว่า สาเหตุที่ฮ่องเต้ไม่ฆ่าฮองเฮาโดยทันทีนั้น น่าจะเพราะความเกลียดที่มีมากๆๆๆ จนต้องการให้ฮองเฮาค่อยๆ ทรมานอย่างช้าๆ ได้รับรู้ว่า ฮ่องเต้นี่แหละคือคนที่ต้องการให้เค้าตาย โดยเปลี่ยนยาที่ให้กินให้กลายเป็นยาพิษ
เราเชื่อว่า ความตายนั้น มันง่ายเกินไป แต่ถ้าค่อยๆ ทรมานจนตายไปในที่สุด นั่นแหละ คือสุดยอดของความโหดในการแก้แค้น

 

โดย: lek_me IP: 202.28.249.180 24 พฤศจิกายน 2552 16:09:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
6 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.