ความยึดมั่นถือมั่น คือ บ่อเกิดแห่งทุกข์
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
17 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 

วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา

ทำไม “ วันมาฆบูชา ” จึงเป็น “ วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา ”


คำว่า “ มาฆบูชา ” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ “ วันมาฆบูชา ” เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา

เพราะในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ ๙ เดือน ขณะที่เสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ส่งออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาตามเมืองต่างๆ ได้พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง

ความรักเป็นอำนาจอย่างหนึ่งในจิตใจมนุษย์ ที่มีอิทธิพลมากมาย และสามารถก่อให้เกิดอารมณ์อันหลากหลายที่ตรงกันข้ามกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ความยินดี ความซึมเศร้า ความเฉื่อยชาและความกระตือรืนร้น

กวีบางคนบอกว่า ความรักทำให้โลกหมุน ทำให้คนชั่วกลับกลายเป็นคนดี ความรักบันดาลได้มากมาย ที่สำคัญ ความรักมิได้มีความหมายเพียงความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น

แต่ยังครอบคลุมไปถึงความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก อาจารย์กับศิษย์ เพื่อนฝูงต่อเพื่อนฝูง รวมไปถึงความรักที่มนุษย์มีต่อมวลมนุษย์ และสิ่งต่างๆที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันอีกด้วย

และเพราะ “ ความรัก ” มีความหมายที่กว้างขวาง ไร้ขอบเขตอันจำกัด อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขนี่เอง หลายๆคนจึงถือว่า “ วันมาฆบูชา ” อันเป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็น “ วันแห่งความรัก ”

ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “ จาตุรงคสันนิบาต ” ขึ้น และเป็น วันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

คำว่า “ มาฆบูชา ” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ เดือน ๓ หรือพูดง่ายๆว่า เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ นั่นเอง เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า “ วันมาฆบูชา ” เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา

ก็เพราะในวันนี้ ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ ๙ เดือน (นับแต่วันวิสาขบูชาขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖) ขณะที่เสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน(อันเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา) ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ส่งออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาตามเมืองต่างๆได้พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

โดยมิได้นัดหมายกันถึง ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะสมัยโบราณที่ไม่มีการสื่อสารโทรคมนาคม การนัดหมายคนจำนวนมากที่อยู่คนละทิศคนละทางให้มาพบกันหรือประชุมกันที่ใดที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะการมาของพระพุทธสาวกเหล่านี้ ถือว่าเป็นการมาประชุมพิเศษที่ประกอบด้วยองค์ ๔ อันเป็นที่มาของการเรียกวันนี้อีกอย่างว่า “ วันจาตุรงคสันนิบาต ” นั่นคือ

๑.เป็นวันมาฆปูรมี คือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ(เดือน ๓) จึงเรียกว่า “ วันมาฆบูชา ”

๒.พระภิกษุที่มาประชุมในวันนั้นมีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป

๓.พระภิกษุที่มาประชุมนี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ ที่สำเร็จอภิญญา ๖ กล่าวคือเป็นผู้มีความรู้อันยอดยิ่ง ๖ ประการได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ และมีญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย

๔.พระภิกษุเหล่านี้ ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึง ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ ๔ ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นใน “ วันมาฆบูชา ” นี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาลเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะ แสดงโอวาทปาติโมกข์

อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งหลักธรรมคำสอนดังกล่าว จะเรียกว่าเป็น ธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือ หัวใจของพุทธศาสนา ก็ได้

ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่าแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ เป็นหลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

หลักการ ๓ หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่

๑.การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท

๒.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โลภมาก และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

๓.การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

อุดมการณ์ ๔ หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่

๑.ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ

๒.ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น

๓.ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ

๔.นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ

วิธีการ ๖ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่

๑.ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น

๒.ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น

๓.สำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฏหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม

๔.รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้

๕.อยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

๖.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

จะเห็นได้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนี้ ล้วนมีความหมาย และความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น

คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาสอย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในโอกาสวันมาฆบูชา นี้ จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ใช้วันนี้ เป็น “ วันแห่งความรัก ”

ด้วยการ “ ตามรอยพระพุทธองค์ ” มอบความรัก ความเมตตาต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย โดยการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการพูดดี คิดดี ทำดี ไม่คิดร้ายทำลายผู้อื่นทั้งกาย วาจา และใจ เพียงเท่านี้ สังคมทุกแห่งก็จะเกิดสงบสุข และโลกเราก็จะบานสะพรั่งด้วย ความรักสีขาว ที่สะอาด บริสุทธิ์และปลอดพิษภัย

.......................................................

โดย...คุณอมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

พอดีได้อ่านบทความนี้แล้วคิดว่าน่าจะมีประโยชน์
จึงขอนำมาเพื่อเผยแพร่ครับ

เนื่องจากวันมาฆบูชามาถึงอีกครั้ง ถ้าใครไม่เคยศึกษาธรรมะ ก็เริ่มวันมาฆบูชานี้ได้เลยนะครับ แล้วจะรู้ว่า มีอีกหลายหลาก ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย

เมื่อได้รู้แล้วจะ เข้าใจถึง สรรพสิ่ง ทั้งมวล

อย่ารอเลย เพราะ เรารอมานานเกินไป

ขอบคุณครับที่ติดตาม บทความ

*ผัสสะ*







 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2554
13 comments
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2554 23:43:55 น.
Counter : 745 Pageviews.

 

ค่ะ แล้วเป็นวันกตัญญด้วยค่ะ

พระจันทร์ก็สวย

 

โดย: GreenWitch 18 กุมภาพันธ์ 2554 0:18:12 น.  

 

เป็นเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์ทีเดียวค่ะ แม้ว่าจะเคยรู้เพราะเคยเรียนมาแล้วในวิชาพระพุทธศาสนาในชั้นมัธยม แต่ก็ลืมๆเลือนๆไปบ้าง ได้มาทบทวนในวันนี้อีกก็รู้สึกดีค่ะ

ที่นอร์เวย์มีวัดไทยอยู่3แห่งค่ะคือที่กรุงออสโล ที่เมืองสตาวางงาร์ และที่เมืองซันเนส สองเมืองหลังนี่อยู่ใกล้กันมาก แต่ก็ยังแยกวัด ไม่ยอมรวมกัน คนไทยจะเป็นสมาชิกได้ในวัดใดวัดหนึ่งเท่านั้น เพราะทางวัดจะได้เงินบำรุงจากรัฐบาลนอร์เวย์โดยคิดจากจำนวนรายหัวของสมาชิก หัวละ 300 โครน/เดือน ตุ๊กตาสมัครเป็นสมาชิกวัดหลังสุด เพราะเพื่อนเอาใบสมัครมาให้ แต่ยังไม่เคยได้ไปร่วมทำบุญกับใครเขาเลย เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางไป และมีลูกเล็กน่ะค่ะ (แถมเมารถทั้งแม่ทั้งลูกอีก) ก็จะใช้วิธีฝากเงินใส่ซองไปทำบุญแทน และก็สวดมนต์นั่งสมาธิที่ก่อนนอนเมื่อมีโอกาส บทที่สวดประจำก็จะเป็นบทง่ายๆค่ะ มีบทขอขมาและอธิษฐานจิตต่อเจ้ากรรมนายเวร พระคาถาชินบัญชร แผ่เมตตาตนเองและสรรพสัตว์ ส่วนบทอิติปิโสที่ต้องท่องเท่าอายุ+1 นี่ เพิ่งจะเริ่มท่องค่ะ แรกๆท่องไป ได้ไม่กี่เที่ยวก็ง่วง และหลับไปก่อนทุกที
คุณผัสสะเชื่อไหมว่าลูกชายชอบฟังบทสวดพระทิเบตก่อนนอน ซื้อมาจากวัดหนองหอย ราชบุรีตั้งแต่ ปี 2551 ก็เปิดฟังก่อนนอนจนถึงทุกวันนี้เลยค่ะ ฟังก่อนนอนทุกคืนจริงๆค่ะ

555 CD แปลไปไกลถึงเรตอาร์เลยนะจ๊ะนั่น ยังไงก็ขอขอบคุณคุณผัสสะมากค่ะ แต่ไม่ต้องลำบากส่งไปให้หรอกค่ะ เกรงใจค่ะ แต่ถ้าจะส่งจริงๆก็ห้ามต่ำกว่า 2 แผ่นนะคะ ฮี่ๆๆ ล้อเล่นน่ะค่ะ ที่บอกว่าไม่ต้องส่งเพราะทุกวันนี้หาอ่านและหาฟังได้ตามเว็บไซท์หลายเว็บเลยน่ะค่ะ ขอบคุณจากใจจริง

 

โดย: เกลือหนึ่งกำน้อย 18 กุมภาพันธ์ 2554 1:14:05 น.  

 

แวะมาอ่านบทความดีๆค่ะ..
ก่อนไปเวียนเทียนค่ำนี้...

 

โดย: ในความอ่อนไหว 18 กุมภาพันธ์ 2554 15:48:09 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: หยุดนิ่ง 18 กุมภาพันธ์ 2554 22:43:39 น.  

 

จ้า.....จะจำไว้ว่า

เวียนเทียน...ทุกครั้ง อย่าย้อนศร

ไม่ได้ไปเลย....ตอนแรกว่าจะไป
เพื่อนๆไปกัน ที่นี้พี่ที่ไปก่อนโทรมาบอกว่ามีชุมนุม
ไม่ค่อยเงียบสงบเท่าไหร่ ก็เลยไม่ไป

แต่...ทำน๊า ตื่นมาเดินตอนตีสี่สองชั่วโมง
แล้วต่อด้วยตอนค่ำอีก
ถึงไม่ได้ไปวัด แต่ก็ยังได้ปฎิบัติอยู่จ้า

แล้วไปไหนมาหรือป่าวละต้น

 

โดย: นุ่มณอ่อนนุช 22 กุมภาพันธ์ 2554 15:31:15 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: หยุดนิ่ง 27 กุมภาพันธ์ 2554 20:06:13 น.  

 

แวะมาดู......

เฮ้ย....ไม่ใช่

ตั้งใจมาหา.....เกือบไปแล้วเรา

 

โดย: นุ่มณอ่อนนุช 27 กุมภาพันธ์ 2554 22:27:01 น.  

 

แวะมาตามไปชมบล็อกค่ะ

 

โดย: เกลือหนึ่งกำน้อย 28 กุมภาพันธ์ 2554 15:01:16 น.  

 

หืมมมม เข้ามาตกใจ
นึกว่าเข้าบล๊อกผิด
ดูผิดตาไปเลยนะนี้....ดีจ๊ะ

ไม่ค่อยเจอเลย เดี๋ยวนี้
งานยุ่งเหรอ
ร้อนแล้ว...ระวังหงุดหงิดนะ

 

โดย: นุ่มณอ่อนนุช 2 มีนาคม 2554 22:01:03 น.  

 

อ่านเรื่องที่คุณผัสสะถีบประตูพังแล้วขำจนท้องคัดท้องแข็ง ตอนแรกๆอ่านๆไปก็ลุ้น นึกว่าจะเจอผีสางนางไม้ในห้องน้ำ ที่ไหนได้ เป็นอาการท้องเสียที่มีราคาแสนแพงนะคะนั่น ตั้งสองพันบาทแน่ะ คุณผัสสะเป็นคนธรรมะธรรมโมที่เล่าเรื่องได้สนุกและขำมากมายเลยค่ะ ชอบอ่าน

อัพบล็อกวันไหนก็อย่าลืมไปตามด้วยเน้อค่ะ

 

โดย: เกลือหนึ่งกำน้อย 9 มีนาคม 2554 1:54:23 น.  

 

แวะมาทักทายค่ะ...
มีความสุขกับทุกวันนะคะ

 

โดย: ในความอ่อนไหว 9 มีนาคม 2554 14:45:34 น.  

 

หายไปไหนมาละนี้....
ทำงานเพลินเลยน๊า ยิ่งผอมบางร่างน้อย ระวังจะไม่สบายเน้อ

หญ้าที่บ้าน เป็นแห้วหมูจ้า ใช้กรรไกรตัดไม่ได้
ต้องถอน.....
ถ้าเป็นหญ้าอย่างอื่นนะตัดได้ ตอนนี้มือนะเหรอ...
หมดงามไปนานแล้ว.....ไม่ต้องพูดถึง

มาวันนี้....แล้วจะมาอีกทีเมื่อไหร่เนี้ย

 

โดย: นุ่มณอ่อนนุช 9 มีนาคม 2554 23:01:58 น.  

 

จะได้ฤกษ์เขียนเรื่องใหม่ให้ชาวบ้านได้อ่านกันวันไหนหนอ??คุณผัสสะ

 

โดย: เกลือหนึ่งกำน้อย 14 มีนาคม 2554 5:07:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ผัสสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สิ่งที่รู้ รู้อะไร รู้ในสิ่งจริง หรือ สิ่งลวง หรือ ลวงในสิ่งจริง

คิด คิด ...คิด แล้ว จะ รู้ หรือ รู้ เพราะ ไม่คิด

".. ผัสสะ
Friends' blogs
[Add ผัสสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.