Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
สงครามและปฏิสงครามตามแนวความคิดของอัลวินและเฮดิ ทอฟเลอร์-กล่าวนำ

อัลวิน และเฮดิ ทอฟเลอร์ เป็นสองสามีภรรยาชาวอเมริกัน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ยุคใหม่หรือบางท่านอาจจะให้สมญาพวกเขาว่าเป็นนักพยากรณ์ (Futurist) ซึ่งได้ทำการวาดภาพระบบเศรษฐกิจในยุคศตวรรษที่ ๒๑ และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลก (www.pff.org) ครอบครัวทอฟเลอร์ได้ดำเนินกิจการธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษาสำหรับองค์การธุรกิจและรัฐบาลของบางประเทศ เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในคลื่นลูกที่ ๓ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสภาวการณ์ในอนาคตและสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์การหรือของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ลูกค้าของเขามีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการที่มีความซับซ้อนหรือเป็นบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมการปรับตัวเข้าสู่กระแสคลื่นลูกที่ ๓ ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านในขณะนี้ (www.toffler.com)

นอกจากกิจการที่ดำเนินอยู่แล้วพวกเขาได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม หนังสือที่มีชื่อเสียงและเป็นการเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ได้แก่ Future Shock, The Third Wave และ Power Shift ส่วนหนังสือเล่มที่ ๔ ซึ่งได้นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้มีชื่อว่า War and Antiwar ซึ่งหนังสือเหล่านี้แพร่หลายไปทั่วโลก

Future Shock เป็นการนำเสนอให้ผู้อ่านมีความเข้าใจถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคศตวรรษที่ ๒๐ โดยเน้นหนักทางด้านสังคมจิต-วิทยา ทำการวิเคราะห์ให้เห็นถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในระบบของสถาบันต่าง ๆ ทางสังคม ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมือง และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๑๓ (www.amazon.com) ซึ่งนับว่าเป็นการพยากรณ์สภาพสังคมโลกยุคใหม่อย่างถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด สังคมโลกยุคใหม่ตามที่ทอฟเลอร์ได้เสนอไว้จะเป็นการปรับตัวจากยุคสังคมอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคสังคมอุตสาหกรรมชั้นเลิศ (Super Industrial) ซึ่งมีความผสมกลมกลืนกันระหว่างเทคโนโลยี ทัศนคติของบุคคล และสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตของสมาชิกในสังคม ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและใหญ่หลวงนี้ทำให้บุคคลจำนวนมากไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุขดังเช่นในอดีต อันจะนำไปสู่อาการตกตะลึงไม่สามารถปรับตนเองได้และเกิดความเครียดอย่างรุนแรง ทอฟเลอร์นำเสนอให้เห็นถึงผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และความขัดแย้งในสังคมที่จะทวีมากขึ้น Future Shock เป็นการนำเสนอเรื่องราวที่เน้นถึง “กระบวนการ” ของการเปลี่ยนแปลงและ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบุคคลและองค์การ (Alvin Toffler. 1990:3)

The Third Wave เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้ของมนุษย์ในการก่อให้เกิดหลักวิชาการต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์และสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทอฟเลอร์ได้ทำการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในสังคมด้านต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมจิตวิทยา การเมือง การทหารและเศรษฐกิจ และสังเคราะห์องค์ประกอบทั้งหลายเพื่อการพยากรณ์แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้ว่าเขาจะเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๓ แต่เขาก็สามารถชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของบุคคลได้ในทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้เคยถูกรัฐบาลจีนห้ามจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากพิจารณาว่าก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางชนชั้นในสังคม แต่ต่อมาก็ได้รับอนุญาตให้ทำการจำหน่ายในยุคที่นายจ้าวจือหยางดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี The Third Wave เป็นการนำเสนอทิศทางของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

Power Shift เป็นหนังสือเล่มที่ ๓ ที่ทอฟเลอร์นำเสนอความคิดเห็นของเขาต่อเนื่องจากหนังสือ ๒ เล่มแรก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้สาระสำคัญของหนังสือทั้ง ๓ เล่มก็คือการพยายามที่จะนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน ไปสู่สภาพใหม่ที่ผู้คนไม่เคยรู้จัก เขาพยายามที่จะสร้างแบบจำลองทางความคิดให้ผู้อ่านเห็นถึงสภาวะแวดล้อมในอนาคตและพลังขับดันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง และเมื่อเราสามารถเข้าใจถึงที่มาของพลังดังกล่าวก็จะทำให้เราสามารถเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นไปในทิศทางที่สามารถควบคุมได้ Power Shift เป็นการนำเสนอให้เห็นว่าผู้ที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นใคร และสามารถกระทำด้วยวิธีการอย่างไร

War and Anti-war เป็นการพยากรณ์สภาพความขัดแย้งในอนาคตและแนวโน้มของรูปแบบการรบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแนวความคิดที่ปรากฎขึ้นนี้ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปตามที่ได้พยากรณ์ไว้ ดังตัวอย่างจากสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ใช้รูปแบบการรบของสงครามในคลื่นลูกที่ ๓ เข้าทำการรบกับประเทศอิรักซึ่งยังยึดถือการรบตามยุทธวิธีในคลื่นลูกที่ ๒ ทำให้อิรักพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ซึ่งหากสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้อิรักทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจกับอิหร่านซึ่งมีแนวความคิดในการส่งออกซึ่งการปฏิวัติอิสลามในอ่าวเปอร์เซียแล้ว กำลังรบของอิรักจะต้องถูกทำลายลงมากกว่านี้อีกหลายเท่า ในสถานการณ์ล่าสุดกรณีการทำลายกำลังรบของประเทศอาฟกานิสถาน สหรัฐอเมริกาใช้เทคโนโลยีระดับสูงและอาวุธพิเศษซึ่งทำให้กองทัพอาฟกานิสถานไม่สามารถป้องกันตนเองได้ ในที่สุดกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
ก็สามารถยึดกรุงคาบูลนครหลวงของอาฟกานิสถานได้ภายในระยะเวลาเพียง ๓ เดือน ในการศึกครั้งนี้สหรัฐฯ ใช้กำลังอำนาจของตนทั้ง ๕ ประการ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อโน้มนำมติของชาวโลกให้สนับสนุนตน และใช้กำลังอำนาจทางด้านการเมืองระหว่างประเทศเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากนานาประเทศ ซึ่งบรรลุผลสำเร็จเป็นอย่างสูง

หนังสือสงครามและปฏิสงครามโดยอัลวินและเฮดี ทอฟเลอร์ กล่าวถึงธรรมชาติของการดำรงชีวิตในโลกซึ่งอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ ชาวโลกพบกับภาวะสงครามโดยตรงจากเครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งถ่ายทอดการสู้รบไปสู่ผู้บริโภคถึงบ้านในเวลาปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อตนเอง ครอบครัว การต่อสู้กับความทุกข์ยากและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งเราได้รับแนวความคิดเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้มาจากสงครามในอดีตและปัจจุบัน และได้ส่งผลต่ออิทธิพลทางแนวความคิดไปสู่รูปแบบของสงครามในอนาคต ดังจะเห็นได้จากการวางระบบการปกครองแบบอมาตยาธิปไตย การสั่งการจากบนไปสู่ล่าง ซึ่งก็เป็นรูปแบบของกิจการธุรกิจในปัจจุบันด้วย

ในการศึกษาเรื่องของสงครามนั้น จะต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ที่เป็นการระงับสงครามหรือปฏิสงครามซึ่งปรากฏขึ้นเสมอมา บางครั้งการก่อสงครามขนาดย่อยก็เป็นวิธีการสกัดกั้นมิให้เกิดสงครามใหญ่ได้ เมื่อพิจารณาตามความหมายนี้ สงครามขนาดย่อยนั้นก็คือการระงับสงครามในตัวของมันนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่งสงครามนั้นก็คือสันติภาพซึ่งจะนำไปสู่การระงับความขัดแย้งในที่สุด ดังเช่นกรณีของการใช้กองกำลังนาโต้เข้าปฏิบัติการในโคโซโว เพื่อระงับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในคาบสมุทรบอลข่าน เป็นต้น

ในภาวะสงคราม ไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงเพียงใดก็ตาม ย่อมมีจุดสูงสุดและคู่ปฏิปักษ์ทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องทำการยุติสงครามในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการยุติลงจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดังเช่นในกรณีของสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้งที่ผ่านมา หรือทั้งสองฝ่ายต่างตกลงยินยอมยุติศึกเพราะต่างหมดกำลังที่จะต่อสู้ดังเช่นกรณีของสงคราม ๘ ปี ระหว่างอิรักและอิหร่านในคาบสมุทรเปอร์เซีย เป็นต้น แต่ภายหลังที่เกิดภาวะสันติภาพขึ้นแล้ว การแข่งขันจะตามมาและนำไปสู่ความตึงเครียด ซึ่งเป็นที่มาของวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงและขยายขึ้นเป็นสงครามในที่สุด ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมมนุษย์ และเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันสิ้นสุด (พล.อ.อ.อรุณ พร้อมเทพ. ๒๕๔๒ : ๔)

ในอนาคตเมื่อยุทธวิธีและแนวความคิดในการทำสงครามเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน แนวความคิดในการระงับสงครามจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยโดยมีการพัฒนาประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับสงครามที่ต้องการต่อต้านด้วย ในตอนต่อไปจะทำการนำเสนอแนวคิดของทอฟเลอร์สองสามีภรรยา และผู้เขียนจะได้วิเคราะห์แนวความคิดของท่านทั้งสองโดยใช้หลักการทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อนำเสนอต่อท่านผู้ที่สนใจต่อไปครับ

สำหรับท่านที่สนใจจะติดตามผลงานการเขียนอื่น ๆ ของผู้วิจารณ์ สามารทำการค้นคว้าได้จากเวบไซด์ //www.anuchart.org ในส่วนของการวิจารณ์หนังสือฉบับนี้ หากก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านได้บ้าง ผู้วิจารณ์ใคร่ขออุทิศความดีงามและประโยชน์เหล่านั้นแก่บิดามารดาที่ได้ให้การศึกษาอย่างเต็มที่ และหากมีข้อผิดพลาดประการใดขอความกรุณาให้คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงต่อไปในอนาคต ด้วยความขอบพระคุณเป็นอย่างสูง



Create Date : 10 กรกฎาคม 2549
Last Update : 10 กรกฎาคม 2549 8:47:02 น. 5 comments
Counter : 1187 Pageviews.

 
คุณอาได้ดูรายการคนค้นคน ตอนอรหันต์ชาวนาหรือเปล่าคะ ..ชาวนาคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชดำรัสของในหลวงเจ้าค่ะ

ตะเข้ยังเชื่อว่าประเทศไทยเหมาะกับอาชีพเกษตรกรรมมากกว่าอย่างอื่นเจ้าค่ะ .. และเข้มีความรู้สึกมานานแล้วว่าพวกเรากำลังเดินหลงทางกันอยู่..


โดย: ตะเข้ IP: 124.120.34.242 วันที่: 18 กรกฎาคม 2549 เวลา:23:18:15 น.  

 
ผมเห็นด้วย เพราะการเกษตรเป็นรากฐานของสังคมไทยมาร่วมพันปี เพียงแต่เราเห่ออุตสาหกรรมเพราะเห็นผลทันตา ชัดเจน ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วในปี ๔๐ เพราะความไประมาณตนนั่นเอง แต่รับรองว่ารัฐบาลคงไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะแนวทางตามพระราชดำรัสนี้ขัดแย้งกับลัทธิทุนนิยมที่ท่านนายกบูชายกย่อง

ลัทธิทุนนิยมจะต้องหลอกล่อให้ผู้คนบริโภคให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน การจ้างงาน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดแล้วจะถึงขีดจำกัด เนื่องจากกิเลศไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรมีน้อย ดังเช่นที่มาร์กและเองเกลแสดงให้เห็นใน The Coomunist Manifesto ในปี ค.ศ.๑๘๔๘ ทั้ง ๒ คนนั้นบอกว่าหลังจากทุนนิยมล่มสลาย คอมมิวนิสต์จะมาแทนที่อย่างยั่งยืน ซึ่งก็ไม่น่าเป็นความจริงอีกนั่นเเหละ ที่ผมเชื่อก็คือ ทุนนิยมจะต้องล่มสลายลงแน่ แต่อะไรจะมาแทนที่ก็มิรู้เหมียนลัลลลลล์


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค (anuchartbunnag ) วันที่: 19 กรกฎาคม 2549 เวลา:21:43:31 น.  

 
ป.ล.แก้ไขที่พิมพ์ผิด "The Communist Manifesto" ครับ


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค (anuchartbunnag ) วันที่: 19 กรกฎาคม 2549 เวลา:21:57:49 น.  

 
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว อยากให้แพร่หลายมากๆ ให้คนตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้น อ่านทีไร ก็ขนลุกทุกที
เห็นด้วยที่ไทยเหมาะสมกับสังคมเกษตร แต่ถ้าเป็นเกษตรแบบล้าหลังก็คงไม่ทันกิน ที่ดินก็ไม่มี และตกเป็นเบี้ยล่างของนายทุนอยู่อย่างนี้ตลอดชาติ
ทำอย่างไรจึงจะเป็นเกษตกรอย่างพอเพียง สามารถกำหนดทิศทางของผลผลิตซึ่งเป็นปัจจัยที่ 2 ของมนุษย์ กลับปล่อยให้เทคโนโลยี ปัจจัยที่ 5 มีอิทธิพล มากๆๆๆๆๆๆๆเกินไป
ป.ล. ทำไมไม่สามารถปราบโจรใต้ได้เสียที, ทำไมไม่สามารถยึดทรัพย์อ้ายคนโกง, ทำไมต้องควักสตางค์ของประชาชนตาดำๆผู้เสียภาษีเต็ม100 ไปซื้อของตัวเองที่โจรขโมยไปขายกลับมา
ทำไมมันถึงตลกอย่างนี้ รักในหลวงจนน้ำลายฟูมปาก รักในหลวงจนกระเป๋าตุง สมัยนี้ "ความรัก" คืออะไร


โดย: sara IP: 58.8.135.87 วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:7:17:11 น.  

 
ระบบทุนนิยมแบบไทยต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไปและทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงค์อยู่ต่อไประบบทุนนิยมก็จะค่อยๆปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะสามัญสำนึกของมนุษย์ที่สะสมกันมาจะให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดไปโดยอาศัยระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศกับระบบรัฐสภาที่มีมาช้านานมีสมาชิกสภาผู้แทนที่ประชาชนเลือกมาทำหน้าที่แทนแล้วลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีทำให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่มั่นคงตลอดไปแต่ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงอำนาจพระมหากษัตริย์ก็จะไม่มีระบบประธานาธิบดีก็จะเข้ามาแทนแล้วทุนนิยมก็จะทำลายประเทศไทยอย่างน่ากลัวผมคิดเช่นนั้นครับอาจารย์


โดย: ศรายุทธ ชำนาญเวช IP: 61.91.172.247 วันที่: 25 กรกฎาคม 2551 เวลา:16:14:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.