Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 
9 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
ไขปริศนา “นอนละเมอ”



การนอนละเมอ คือ
การพูดหรือทำกิริยาอาการต่างๆ โดยไม่รู้ตัวในขณะที่กำลังนอนหลับ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็จำอะไรไม่ได้

การนอนละเมอจัดเป็นปัญหาการนอนอย่างหนึ่ง แต่มักไม่ใช่เรื่องผิดปกติร้ายแรง สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
สำหรับในวัยเด็กนั้น สามารถแก้ไขได้โดยอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่
เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมการนอนให้กับลูกๆ

การนอนหลับของเด็กจะมี 2 ช่วง เรียกว่า ช่วงหลับตื้น (REM sleep) และช่วงหลับลึก (Non-REM sleep)
คือระยะหลังจากหลับไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง ซึ่งการละเมอจะเกิดขึ้นในช่วงหลับลึก

การนอนละเมอในวัยเด็ก คาดว่ามาจาก 2 สาเหตุ คือ

1. สิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หนังเขย่าขวัญ ภาพน่ากลัว หรือกิจกรรมในตอนกลางวันที่ตื่นเต้นจนเกินไป
ทำให้เขาฝังใจแล้วเก็บไปนึกถึงในยามหลับ

2. พัฒนาการของระบบประสาท ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กบางคน ที่ระบบประสาทยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
จึงทำให้ละเมอตื่นกลางดึก


ปัญหาการนอนละเมอในเด็ก แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

>>1. ละเมอฝันผวา (night terror)
ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุ 4-7 ปี อาการสำคัญคือ ตกใจตื่นขึ้นอย่างฉับพลัน บางครั้งก็หวีดร้องด้วย
ซึ่งจะแตกต่างจากฝันร้ายตรงที่เด็กจะจดจำอะไรไม่ได้เลย กรณีนี้มักไม่เกี่ยวกับสิ่งกระตุ้น
แต่เกิดจากระบบประสาทของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การจัดเรียงข้อมูลในสมองทำงานไม่เป็นระเบียบ
อาการจะเกิดขึ้นในวันที่เด็กมีความเครียด แต่ไม่ใช่เพราะเด็กมีปัญหาทางอารมณ์

การปลุกให้ลูกตื่นจากละเมอฝันผวา หรือพยายามคุยกับเขาในช่วงนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง
เพราะอาจยิ่งทำให้มีอาการนี้นานขึ้น เช่น แทนที่ลูกจะตื่นมาร้องแค่ 5 นาที ต่อไปอาจจะกินเวลาถึง 15 นาทีได้

วิธีที่ควรทำก็เพียงแต่อุ้มลูกมากอดไว้ ลูบหัว ตบก้น โยกตัวเบาๆ และปลอบให้เขานอนต่อ
เพราะถึงอย่างไรเขาเองก็จะจำฝันนี้ไม่ได้ในวันรุ่งขึ้น

>>2. ละเมอเดิน (sleepwalking)
มักเกิดกับเด็กโต ลูกอาจจะเดินไปรอบห้อง หรือเดินไปข้างนอกห้องหรือนอกบ้านทั้งๆ ที่ไม่รู้ตัวก็ได้
และเมื่อตื่นก็จะจำอะไรไม่ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้

หากลูกมีอาการไม่มาก พ่อแม่สามารถปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอันตรายไว้ก่อนได้
โดยจัดห้องนอนให้โล่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เดินชนสิ่งกีดขวาง
ประตูหน้าต่างต้องแน่นหนาเพื่อไม่ให้ละเมอเดินออกไปข้างนอก
ควรหลีกเลี่ยงเตียงสองชั้น หันมาใช้เตียงธรรมดาหรือฟูกแทน หากมีอาการมากก็ไม่ควรให้ลูกนอนคนเดียว

พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกนอนหลับอย่างมีความสุขได้ โดยพยายามพาลูกเข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน
และควรจะเข้าห้องน้ำก่อนนอน เพราะบางครั้งการละเมอฝันผวาก็เริ่มต้นจากการปวดปัสสาวะได้

การเล่านิทานน่ารักๆ หรือให้ลูกฟังเพลงผ่อนคลายก่อนนอน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกนอนหลับ สบายขึ้น

การ นอนละเมอมักเกิดขึ้นในเวลาเดิมของทุกวัน เมื่อพบว่าลูกนอนละเมอ
ให้จดวันและเวลาไว้เพื่อนำมาดูว่าเกิดขึ้นกี่ครั้งใน 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นบ่อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
ให้ลองปลุกลูกก่อนเวลาละเมอประมาณ 15 นาที แล้วปล่อยให้ตื่นสัก 5 นาที จากนั้นค่อยให้นอนต่อ
ทำอย่างนี้ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน อาการละเมอของลูกจะเริ่มน้อยลง

หากลูกละเมอเดือนละครั้งหรือสัปดาห์ละครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ คือ
อาจมีการละเมอฝันผวาเกิดขึ้นบ้างเป็นระยะๆ เพราะการพัฒนาของระบบประสาทยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นไปตามวัย แต่หากลูกนอนละเมอ 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้นเป็นระยะๆ คือ
อาจเป็นๆ หายๆ เป็นพักๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผลจากการละเมอบ่อยๆ จะทำให้เด็กพักผ่อนไม่เต็มที่

แม้ยังไม่มีรายงานแน่ชัดว่า การที่เด็กละเมอหรือตื่นบ่อย จะมีผลกับพัฒนาการที่เห็นเด่นชัดหรือไม่
แต่เด็กที่มีปัญหาการนอนและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จะส่งผลถึงพัฒนาการโดยอ้อม
ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน
เขาจะไม่สดชื่นหลังจากตื่นนอน เล่นกับเพื่อนก็ไม่สนุก เข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ ไม่มีสมาธิ หลับในห้องเรียน
ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

ส่วนการนอนละเมอในผู้ใหญ่จะแตกต่างจากในเด็ก เด็กจะละเมอมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กหลับสนิทกว่า
นั่นเท่ากับว่าเราจะหลับสนิทน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น และการนอนละเมอก็จะลดลงตามไปด้วย

ไม่ ทราบแน่ชัดว่าการละเมอในผู้ใหญ่เกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากสิ่งเร้าบางอย่าง
ซึ่งอาจเป็นสิ่งเร้าภายในหรือภายนอกร่างกายก็ได้ ปัจจัยที่ทำให้นอนละเมอได้ง่ายที่สุดก็คือ ความเครียด
นอกจากนั้นก็ได้แก่ เสียงดัง การดื่มสุรา และการกินยานอนหลับ

การละเมออาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
หากพ่อหรือแม่เป็นคนนอนละเมอ ลูกก็จะมีโอกาสประมาณร้อยละ 50 ที่จะนอนละเมอเช่นเดียวกัน

การละเมอเดินในผู้ใหญ่ อาจเกิดอันตรายขึ้นได้เช่นกัน ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
เช่น เดินชนตู้ ตกบันได ตกลงมาจากหน้าต่าง หรือเดินออกไปนอกบ้านแล้วเกิดอุบัติเหตุ
ป้องกันได้โดยการปรับสภาพแวดล้อม

ส่วนกรณีละเมอพูด การแก้ไขจะขึ้นอยู่กับลักษณะการละเมอ และต้องดูว่าเป็นอาการของโรคอื่นด้วยหรือไม่
ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

ใน คนปกติ การนอนละเมอจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่กี่วันก็มักจะหายไปได้เอง
แต่ถ้าเป็นนานมากและค่อนข้างบ่อย จนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกว่านอนหลับได้ไม่เต็มที่
ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิในการทำงาน
ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อลดความเครียดและปรับพฤติกรรมที่อาจเป็นสาเหตุทำให้นอนละเมอ
ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อปรับคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น


โดย เอมอร คชเสนี
ที่มา ://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000132164


สารบัญ บทความ สุขภาพ
คลิกดู ที่นี่ค่ะ



Create Date : 09 ธันวาคม 2552
Last Update : 9 ธันวาคม 2552 11:55:21 น. 0 comments
Counter : 1394 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.