Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
24 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
การบริหารเวลา….กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชีวิต



เมื่อพูดถึงเวลาคงไม่มีใครไม่รู้จัก คงไม่มีใครไม่เคยสัมผัสกับคำว่า "เวลา"
และคงไม่มีใครที่ไม่เคยลิ้มรสของคำว่า "เสียดายเวลา"

เคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่าทำไมคำว่า "เสียดายเวลา" จึงเกิดขึ้นกับชีวิตเรา
และคำๆ นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตคนเรา มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเรารู้สึกเคยชินกับมันไปแล้ว

ถึงแม้จะมีนักคิดนักเขียนออกมาพูดกันตลอดเวลาว่า เวลาเป็นสิ่งมีค่า ซื้อหาไม่ได้ ขายไม่ได้ หยิบยืมไม่ได้
ขอใช้ล่วงหน้าไม่ได้ กักตุนไม่ได้ สะสมไม่ได้ แบ่งปันไม่ได้ และที่สำคัญไม่มีใครเป็นเจ้าของเวลาที่แท้จริง
เพราะเวลาเป็นกฎธรรมชาติอิสระที่ทุกคนได้มาเท่าเทียมกัน ทุกคนมีเวลาบนพื้นฐานเดียวกันคือวันละ 24 ชั่วโมง
ชั่วโมงละ 60 นาที ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของโลก เชื้อชาติอะไร สัญชาติใด
คุณก็มีเวลาเท่าเทียมกัน แต่ความสำคัญอยู่ที่ใครจะใช้เวลาได้คุ้มค่ากว่าใครเท่านั้น

เราคงเคยเห็นเพื่อนๆ หลายคนที่เกิดมาพร้อมๆ กัน สิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างกัน เรียนหนังสือมาพร้อมๆ กัน
เข้าทำงานพร้อมๆกัน แต่นับวันความแตกต่างในชีวิตเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ
จนในที่สุดห่างไกลกัน จนแทบจะเรียกว่าคนละชั้นหรือคนละระดับไปเลยก็มี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเวลาในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันนั่นเอง

คนส่วนมากใช้เวลาอ่านหนังสือเพื่อให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น คนหลายคนใช้เวลาอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาความรู้
คนบางคนอ่านหนังสือเพื่อต่อยอดของความรู้ และคนบางคนอ่านหนังสือเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
ดังนั้น เราไม่สามารถบอกได้ว่าคนอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน จะได้ผลตอบแทนที่เหมือนๆ กัน
สิ่งสำคัญอยู่ที่คนๆ นั้น ได้ใช้โอกาสแห่งเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเราทำเวลาตกหล่นในชีวิตมากน้อยเพียงใด
ขอให้เราลองนำเอาจำนวนความสำเร็จที่ได้มาในปัจจุบัน หารด้วยเวลาในชีวิตที่ผ่านมา
เพื่อดูว่าความสำเร็จนั้นๆ ใช้เวลาเฉลี่ยเท่าไหร่
คนบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะได้บ้านมาสักหลัง แต่คนบางคนใช้เวลาเพียงไม่กีปีก็สำเร็จแล้ว
บางคนอาจจะคัดค้านและไม่เห็นด้วยเพราะแต่ละคนมีฐานะแตกต่างกัน
แต่ถ้าเราลองคิดดูให้ดีจะพบว่าทุกคนเกิดมาบนพื้นฐานเดียวกัน
ถึงแม้บางคนจะเกิดมาบนกองมรดกกองเงินกองทอง ในขณะที่บางคนเกิดมาบนกองขยะแห่งความยากจนก็ตาม
แต่บทสรุปของชีวิตก็คือคนเรามีหนึ่งสมองสองมือเหมือนกัน

เราจะเห็นว่าในสังคมนี้ มีคนเคยรวยเยอะแยะที่กลายมาเป็นคนจนแทบจะไม่มีกิน
เราจะเห็นคนเคยจนที่แทบจะเอาชีวิตไม่รอด กลายมาเป็นคนรวยเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับ

สิ่งเหล่านี้แหละที่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า
ความแตกต่างภายนอกของคน ไม่ได้เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืนเท่ากับสิ่งที่อยู่ภายในตัวของเราเอง
ดังนั้นเราอย่าไปหาเหตุมาอธิบายตัวเองให้ดูดีเลยว่า ที่เราเป็นอย่างนี้เพราะเราไม่มีโน้นไม่มีนี่เหมือนคนอื่นเขา
เราต้องหันกลับมาทบทวน และมองตัวเองว่าเราได้ใช้เวลาที่ผ่านมาคุ้มค่าและ เพิ่มค่าให้กับชีวิตมากน้อยเพียงใด

คนส่วนมากมักจะปล่อยให้เวลาแห่งชีวิตผ่านไปตามยถากรรม
เหมือนลูกมะพร้าวแห้งลอยน้ำที่ล่องลอยไปตามกระแสคลื่น ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตให้กับตัวเองได้
หรือไม่ก็มีเพียงการกำหนดเป้าหมายของชีวิตแบบคนทั่วๆ ไป เช่น ทำงานเป็นลูกจ้างไปเรื่อยๆ
วันหนึ่งก็จะเติบโตเป็นผู้บริหาร และสุดท้ายก็เก็บเงินออมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อนำไปใช้ในวัยเกษียณ
และนั่งดูลูกดูหลานรุ่นต่อๆไปเจริญเติบโตตามรอยของตัวเอง

คนที่สามารถบริหารเวลาแห่งชีวิตให้มีมูลค่าเพิ่มได้นั้น
สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ กำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตให้ชัดเจนก่อนว่าเมื่อไหร่ ต้องมีอะไร ได้อะไร อยู่ที่ไหน
เพราะชีวิตเปรียบเสมือนการแข่งเรือใบ ไม่ใช่มะพร้าวแห้งลอยน้ำ
เราจะต้องมีการกำหนดว่าจะแล่นเรือใบไปที่ไหน ระยะทางเท่าไหร่ และเรามีเวลาอยู่เท่าไหร่
เมื่อเราทราบเป้าหมายและเวลาที่มีอยู่แล้ว จะทำให้เรามีการวางแผนการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เช่น ต้องใช้เวลาในการออกสตาร์ทเท่าไหร่ ต้องใช้เวลาในการปรับใบเพื่อเปลี่ยนทิศทางภายในกี่วินาที
ถ้าเจอมรสุมหรือคลื่นแรงๆ เราจะต้องจัดการอย่างไร
สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคำตอบในตัวมันเองว่าถ้าเป้าหมายเป็นแบบนี้ มีเวลาเท่านี้ แล้วเราจะบริหารเวลาที่มีอยู่ได้อย่างไร

ในชีวิตของเราทุกคนก็เหมือนกัน
ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน มันจะบอกเราเองว่าอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะต้องทำอะไรบ้าง
อีก 1 ปีข้างหน้าเราต้องมีอะไรบ้าง เดือนหน้าเราต้องทำอะไรบ้าง
และมันจะบอกเราแม้กระทั่งว่าวันนี้เวลานี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง
ซึ่งจะทำให้การใช้เวลาของเราทุกวินาที ตอบโจทย์ได้ว่าเราใช้เวลาในแต่ละช่วงไปเพื่ออะไร และใช้อย่างไร

การที่หลายคนชอบยกตัวอย่างให้เราคิดตามว่า ถ้าเรามีเวลาเหลือเพียง 7 วันในชีวิตนี้
มีอะไรบ้างที่เรายังไม่ได้ทำ และอยากจะทำก่อนที่จะไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
เป็นตัวอย่างที่ดี ที่สามารถจำลองการใช้เวลาในชีวิตของเราให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สิ่งนี้คงจะคล้ายๆ กันสำนวนไทยที่ว่า "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" นั่นเอง

ผมจึงอยากให้ทุกคนลองคิดดูว่าเวลาทำงานของเราจริงๆ นั้นมีเพียงไม่กี่พันวัน
ลองคิดกันเล่นๆ นะครับว่าสัปดาห์หนึ่งเราทำงาน 5 วัน เดือนหนึ่งทำงาน 22 วัน ปีหนึ่ง 264 วัน
ถ้าเราอายุ 30 เรามีเวลาเหลืออีก 30 ปีก่อนเกษียณอายุ เราจะมีเวลาทำงานเหลือจริงๆ เพียง 7,920 วันเท่านั้นเอง
ซึ่งไม่มากมายอะไร ขอให้ลองนำมาคำนวณดูว่าในจำนวนวันทำงานที่เหลืออยู่นี้ เราต้องการทำอะไรบ้าง
แต่ละอย่างต้องใช้เวลาเท่าไหร่ พอหรือไม่ ถ้าไม่พอเราจะคิดหาหนทางในการบริหารเวลาที่เหลือนี้ได้อย่างไร

ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนนำเป้าหมาย และเวลาที่เหลืออยู่มาวางแผนการใช้ล่วงหน้าแล้ว
เราสามารถใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับชีวิตได้

ดังนั้นการบริหารเวลา สำคัญอยู่ที่เราได้มีการกำหนดเป้าหมายชีวิตไว้ชัดเจนหรือยัง
ในแต่ละช่วงเวลา เราได้จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมในชีวิตได้ดีเพียงใด

คนบางคนบอกว่าอยากออกกำลังกายแต่ไม่มีเวลา
จริงๆ แล้วทุกคนมีเวลาเพียงพอ สำหรับการออกกำลังกายหรืออาจจะมีเหลือเฟือด้วยซ้ำไป
แต่ที่เราไม่สามารถออกกำลังกายได้ เพราะเราได้จัดลำดับความสำคัญของการออกกำลังกายไว้อันดับท้ายๆ นั่นเอง
เรามัวแต่ไปให้ความสำคัญกับการทำงาน สังคม หรือกิจกรรมในชีวิตด้านอื่นๆ
จนไม่มีเวลาเหลือให้กับการออกกำลังกาย
คุณเชื่อหรือไม่ว่าถ้าวันหนึ่ง คุณเป็นโรคบางอย่างที่สร้างปัญหากับชีวิตคุณอย่างยิ่งยวด
แล้วคุณหมอแนะนำว่ามีวิธีเดียวที่จะรักษาโรคนี้ได้ คือการออกกำลังกาย
ผมเชื่อเหลือเกินว่าการออกกำลังกายของคุณจะแซงทางโค้งขึ้นมา
เป็นความสำคัญอันดับหนึ่งในชีวิตของคุณอย่างแน่นอน


บทความโดย : ณรงค์วิทย์ แสนทอง
ที่มา : //www.hrcenter.co.th



Create Date : 24 กรกฎาคม 2553
Last Update : 24 กรกฎาคม 2553 18:07:15 น. 0 comments
Counter : 2118 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.