สิงหาคม 2555

 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
วัฒนธรรมหยำฉ่า - ช่วงเวลาเนิ่นช้าในเมืองที่เร่งรีบ


ถึงแม้คำว่า หยำฉ่า ในภาษาจีนกวางตุ้งจะแปลตรงตัวได้แค่ว่า ดื่มน้ำชา แต่ในฮ่องกงแล้ว เมื่อพูดถึง หยำฉ่า มันหมายถึงการดื่มชาพร้อมรับประทานติ่มซำชนิดต่าง ๆ ควบคู่กันไปด้วย และสำหรับคนที่นี่นั้น การหยำฉ่าไม่ใช่แค่การรับประทานติ่มซำหรือดื่มน้ำชา หากแต่เป็นช่วงเวลาแห่งการสังสรรค์กับคนในครอบครัวหรือญาติสนิทมิตรสหายไปพร้อม ๆ กันค่ะ


บางครอบครัวใช้ร้านหยำฉ่าเป็นจุดนัดพบกับญาติพี่น้องในครอบครัวซึ่งแต่งงานออกไปหรือแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากที่พักอาศัยในฮ่องกงมีขนาดค่อนข้างคับแคบ ร้านอาหารจึงเป็นสถานที่เหมาะที่สุดในการพบปะพูดคุยกัน


บางครอบครัวมาหยำฉ่าเพื่อทานอาหารมื้อเช้าควบมื้อเที่ยง ควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือพิมพ์สบาย ๆ ถือเป็นการพักผ่อนท่ามกลางความวุ่นวายของผู้คน


และอาหารมื้อหยำฉ่าซึ่งนิยมรับประทานกันตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงช่วงบ่ายนั้น ยังเป็นอาหารมื้อเบาและราคาประหยัดกว่ามื้ออื่นอีกด้วย






สำหรับตัวฉันเองถ้าไม่ติดธุระสำคัญอะไร ก็จะต้องออกไปหยำฉ่ากับครอบครัวในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ฉันชอบติ่มซำเป็นทุนอยู่แล้ว แถมยังชอบบรรยากาศในการหยำฉ่าเป็นพิเศษ การได้รับประทานอาหารอร่อย ได้เห็นผู้คนในร้านอาหารหัวเราะพูดคุยกันด้วยเสียงอันดัง ถ้อยทีถ้อยอาศัยคีบอาหารหรือรินน้ำชาให้กัน มันช่างเป็นบรรยากาศในการรับประทานอาหารที่อบอวลไปด้วยความสุขอยู่ไม่น้อย


ภัตตาคารหรือร้านอาหารซึ่งให้บริการหยำฉ่าในฮ่องกงเกือบทุกแห่งมักจะมีลูกค้าเต็มจนล้น เมื่อไปถึงร้าน ลูกค้าจะต้องไปลงชื่อรับบัตรคิว รอที่นั่ง และเมื่อถึงคิวเรียก อาจถูกทางร้านต้อนให้ไปนั่งร่วมโต๊ะกับลูกค้าคนอื่น ถือเป็นเรื่องปรกติมากในฮ่องกง


เมื่อมาถึงโต๊ะแล้ว บริกรจะเดินเข้ามาถามว่าต้องการดื่มน้ำชาประเภทไหน และมากันกี่คน ทางร้านจะคิดเงินค่าน้ำชาตามจำนวนคนที่มาใช้บริการนั่นเอง หลังจากนั้นบริกรจะยกกาน้ำมาเสิร์ฟให้ 2 กา พร้อมกับชามใบใหญ่อีกหนึ่งใบ กาน้ำใบแรกเป็นกาน้ำชาตามชนิดที่เราสั่งไป อีกกาหนึ่งคือน้ำร้อนธรรมดาสำหรับเติมเมื่อน้ำชาหมด


เมื่อได้น้ำชาแล้ว ลูกค้าจะใช้น้ำร้อนหรือน้ำชาในกานั้น ล้างทำความสะอาดถ้วยชามช้อนตะเกียบของตัวเองเสียก่อนเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อทำความสะอาด โดยเทน้ำที่ล้างภาชนะแล้วลงในชามใบใหญ่ที่บริกรนำมาให้ ที่นี่มีโรคติดต่อเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าจะใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยกันขนาดนี้ก็เถอะค่ะ


ร้านอาหารส่วนใหญ่จะมีแผ่นรายชื่อติ่มซำชนิดต่าง ๆ ที่ทางร้านมีให้บริการวางไว้บนโต๊ะ ลูกค้าเพียงแค่ทำเครื่องหมายลงในช่องตามชื่อของติ่มซำที่ต้องการสั่ง สำหรับคนที่อ่านภาษาจีนไม่ออกแต่พูดได้บ้างอย่างฉัน ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากบริกรให้จดรายการอาหารตามที่ตัวเองต้องการให้


คนไทยชอบรับประทานติ่มซำควบคู่ไปกับจิ๊กโฉ่วซึ่งเป็นน้ำจิ้มสีดำรสชาติออกเปรี้ยว แต่ที่ฮ่องกงจะไม่มีการเสิร์ฟจิ๊กโฉ่วมาให้ที่โต๊ะ ใครที่ต้องการต้องขอจากบริกรกันเอาเอง จิ๊กโฉ่วนั้นคนฮ่องกงเรียกว่า กิดจั๊บ หรือ กิดสับ


เมื่อได้อยู่ฮ่องกงนานวันเข้า ฉันก็สังเกตเห็นว่าการหยำฉ่า ตลอดจนการใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารของคนฮ่องกงนั้นเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ และที่มาที่ไปซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว


ครั้งหนึ่งฉันเคยสั่งก๋วยเตี๋ยวผัด ขณะที่กำลังคว้าเครื่องปรุงมาเติมให้ก๋วยเตี๋ยวมีรสชาติเข้มข้นถูกใจคนไทยอยู่นั้น ฉันก็เผลอเอาตะเกียบทั้งสองข้างทิ่มลงไปบนกองก๋วยเตี๋ยวรอไว้ก่อน ด้ามตะเกียบปักอยู่โด่เด่ เพื่อนร่วมงานของฉันเห็นก็รีบบอกว่า การปักตะเกียบไว้แบบนี้ไม่เป็นมงคล เพราะเหมือนกำลังปักธูปไหว้เจ้าหรือบรรพบุรุษอยู่ ทำเอาฉันอ้าปากค้างกับความรู้ใหม่


หากคุณมีโอกาสไปหยำฉ่ากับคนฮ่องกง การคว้ากาน้ำชามารินให้เพื่อนร่วมโต๊ะก่อนถือเป็นเกียรติอย่างสูง รินให้ผู้อื่นก่อนแล้วค่อยรินให้ตัวเอง หากความเร็วของคุณยังเป็นรองเพื่อนร่วมโต๊ะก็ไม่เป็นไรค่ะ เมื่อเพื่อนร่วมโต๊ะรินน้ำชาให้ สิ่งที่คุณควรทำคือ เคาะนิ้วชี้และนิ้วกลางลงไปบนโต๊ะใกล้ ๆ ถ้วยน้ำชา ซึ่งเพื่อนร่วมโต๊ะกำลังรินให้คุณจนกว่าเขาจะหยุด






การใช้นิ้วเคาะแสดงความขอบคุณนี้ มีเรื่องเล่าถึงที่มาย้อนไปได้จนถึงยุคราชวงค์ชิง ในสมัยขององค์เฉียนหลงฮ่องเต้ (แฟนหนังจีนกำลังภายในคงคุ้นชื่อนี้ดี) เลยทีเดียวค่ะ ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงออกเยี่ยมราษฎรโดยปลอมตัวเป็นสามัญชน และทรงสั่งให้ทหารองครักษ์ปฏิบัติกับพระองค์ตามปรกติ ห้ามเปิดเผยให้ใครรู้โดยเด็ดขาดว่าพระองค์เป็นฮ่องเต้


วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปยังโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง หลังจากที่ทรงรินชาให้พระองค์เองแล้วก็ทรงรินให้องครักษ์ด้วย องครักษ์ตกใจที่องค์ฮ่องเต้ทรงรินน้ำชาให้ จะก้มลงถวายความเคารพเพื่อเป็นการขอบพระทัยก็ทำไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงสั่งไว้ว่าห้ามเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง


หลังจากคิดอยู่ครู่หนึ่ง องครักษ์ก็งอนิ้ว 3 นิ้วแล้วเคาะลงบนโต๊ะเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการทำความเคารพ นิ้วหนึ่งแทนการค้อมศีรษะ อีกสองนิ้วแทนแขนทั้งสองซึ่งยกขึ้นลงแตะพื้น ลองนึกภาพการคุกเข่าก้มศีรษะพร้อมยกแขนขึ้นลงเพื่อโค้งคำนับฮ่องเต้ในหนังจีนจะได้อรรถรสยิ่งขึ้นค่ะ





เมื่อน้ำชาในกาหมด เราอาจจะใช้น้ำร้อนจากกาน้ำที่บริกรเสิร์ฟมาให้แต่แรกเติมลงไป หรือจะให้บริกรเติมน้ำร้อนให้ใหม่ก็ได้ โดยส่งสัญญาณบอกบริกรด้วยการ เปิดฝากาน้ำชาแง้มไว้เล็กน้อย เมื่อบริกรเห็นก็จะมาเติมน้ำร้อนให้เราทันที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องร้องขอแต่อย่างใด


การเปิดฝากาน้ำชาเป็นวิธีขอให้บริกรเติมน้ำชาให้อย่างสุภาพ ซึ่งประเพณีดังกล่าวนั้นก็มีที่มาที่ไปเช่นเดียวกัน


ว่ากันว่า มีนักศึกษายากจนรายหนึ่งเข้าไปรับประทานอาหารภายในร้านอาหารแห่งหนึ่ง หลังจากที่ดื่มน้ำชาในกาจนหมดก็ใส่นกลงไปในกาน้ำชา เมื่อบริกรเปิดฝากาดังกล่าวเพื่อเติมน้ำให้ นกซึ่งอยู่ในกาก็บินหนีไป นักศึกษาเจ้าเล่ห์ผู้นั้นได้ทีส่งเสียงโวยวายขึ้น กล่าวหาว่าบริกรเป็นคนปล่อยให้นกราคาแสนแพงตัวนั้นบินหนี พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายจากทางร้าน


หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางร้านจึงขอให้ลูกค้าเป็นผู้เปิดฝากาเสียเองหากต้องการให้บริกรเติมน้ำร้อนลงในกา ร้านอื่น ๆ ก็พากันทำตามอย่าง จนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาในที่สุดค่ะ


เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแล้ว คนฮ่องกงจะวางตะเกียบไว้บนโต๊ะ ไม่วางไว้บนถ้วยให้ปลายตะเกียบชี้ไปหาเพื่อนร่วมโต๊ะ เพราะถือกันว่าไม่สุภาพ


เมื่อทราบถึงสัญลักษณ์และวัฒนธรรมหยำฉ่าอันน่าสนใจนี้แล้ว อย่าลืมจดจำไปลองใช้กันนะคะ การหยำฉ่าของคุณจะสนุกสนานเพลิดเพลินกว่าการรับประทานอาหารมื้ออื่นในฮ่องกงแน่นอนค่ะ




Create Date : 26 สิงหาคม 2555
Last Update : 26 สิงหาคม 2555 8:58:06 น.
Counter : 4690 Pageviews.

0 comments

ป้าเดซี่
Location :
堅尼地城  Hong Kong SAR

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 77 คน [?]





เจ้าของบล็อกนี้มีชื่อไซเบอร์ว่า "ป้าเดซี่" ค่ะ ย้ายตามครอบครัวมาปักหลักและทำงานที่ฮ่องกงเป็นปีที่ 8

เป็นมนุษย์เงินเดือนไทยในต่างแดนมาก็หลายงาน ตั้งแต่เลขานุการผู้บริหาร พนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สิน นักแปล ล่าม ฯลฯ

ปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระสัญชาติไทยประจำบริษัทรับจองห้องพักออนไลน์สัญชาติดัตช์มากว่า 4 ปี เป็นผู้จัดการชุมชนออนไลน์สัญชาติไทยประจำบริษัทศึกษาวิจัยทางการตลาดสัญชาติฝรั่งเศสมากว่า 3 ปี และเป็นจิตอาสาทำงานแปลเอกสารให้กับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ประเทศไทยมากว่า 4 ปีค่ะ

บล็อกนี้ก็เป็นบล็อกเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และอาการวิปริตทางความคิดและจิตใจของผู้หญิงไทยสายสามัญคนหนึ่ง ซึ่งมาใช้ชีวิตแบบสุขบ้าง ทุกข์บ้างในฮ่องกง

หวังว่าทุกท่านที่พลัดหลงเข้ามาในบล็อกนี้คงได้รับความไร้สาระกลับออกไปบ้างตามยถากรรมนะคะ