It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
16 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 
เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย เส้นทางสู่มรดกโลก?


เดินย้อนไปในถนนสายโบราณ จากเสียมเรียบสู่โคราช ที่ระยะทาง254กิโลเมตรอัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีของไทยและกัมพูชา

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งกรณีการขึ้นทะเบียน "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลก ระหว่างไทยและกัมพูชา กรณีที่ปราสาทหินเพียงหลังเดียวนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ
แต่หากมองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ จะพบว่ายังมี "เส้นทาง" หรือ "ถนนโบราณ" ที่ทอดจาก "เมืองพระนคร" ในกัมพูชา มาจนถึง "เมืองพิมาย" ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนบนเส้นทาง ที่มายาวนานค่อนศตวรรษ

เส้นทางวัฒนธรรมข้ามชาติ จาก "เมืองพระนคร" สู่ "พิมาย"


"...บนถนนจากเมืองยโศธรปุระไปยังราชธานีแห่งประเทศจัมปา (พระองค์ได้ทรงสร้าง) ที่พักคนเดินทางพร้อมด้วยไฟ 57 แห่ง..."
"...จากราชธานีไปยังเมืองวิมาย (มี) ที่พักคนเดินทางพร้อมด้วยไฟ 17 แห่ง จากราชธานีไปยังชัยวตี จากเมือชัยวดี ไปยังเมืองชัยสิงหวตี..."
ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” วารสารศิลปากร, ปีที่ 10 เล่ม 2, 2509 หน้า 52-60




การแปลความจากศิลาจารึกที่พบที่ปราสาทพระขรรค์ (เมืองพระนคร ตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมเรียบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา) ทำให้ทราบว่าในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761) ทรงโปรดให้สร้างศาสนสถาน รูปเคารพ พระพุทธรูป เป็นจำนวนมากในเขตที่พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ไปถึง พร้อมกับมีพระราชโองการให้มีการบำรุงรักษา กระทำพิธีบูชาต่อรูปเคารพ และศาสนาสถานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ


สิ่งก่อสร้างในรัชสมัยของพระองค์ที่มีความสำคัญในอีกด้านหนึ่งคือการเริ่มต้นระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการด้านสาธารณสุขแก่พสกนิกรของพระองค์ เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล การปรับปรุงถนนสายต่างๆ ที่มีอยู่ในราชอาณาจักร รวมทั้งการสร้างอาคารที่พักคนเดินทางไว้เป็นระยะบนเส้นทางสายสำคัญๆ


การศึกษาด้านจารึกและการสำรวจทางโบราณคดีพบว่ามีถนนที่ตัดออกมาจากศูนย์กลางราชอาณาจักรหลายเส้นด้วยกัน และตามถนนเหล่านี้ยังได้สำรวจพบที่พักคนเดินทางที่ยังคงสภาพอยู่หลายแห่งทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ตามที่ปรากฏในจารึก ถนนที่ตัดออกมาจากเมืองพระนคร มี 5 เส้นทางได้แก่ จากเมืองพระนครไปยังปราสาทวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ จากเมืองพระนครไปยังสวายจิก จากเมืองพระนครไปยังปราสาทพระขรรค์ ณ กำปงสวาย จากเมืองพระนครไปยังสมโบร์และกำปงธม และสุดท้าย เส้นทางจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุด มีความยาวถึง 254 กิโลเมตร นับว่าเป็นเส้นทางที่สำคัญเส้นหนึ่ง

“...ทางเดินไปยังปราสาทหินพิมาย ทางนี้เรียกว่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อกับเมืองพิมาย โดยผ่านช่องเสม็ดและปราสาทพนมรุ้ง ได้ค้นพบแล้ว 8 แห่งในจำนวน 17 แห่งที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก คือ ปราสาทผตุ ปราสาทสัมปู ปราสาทเสมานติง ปราสาทโอจรุง ปราสาทกุนมอน ปราสาทพรหมเกล ปราสาทหนองเพลิง และปราสาทสเสโป ระยะทางระหว่างปราสาทเหล่านี้ไม่เท่ากันเลยดังที่มีกล่าวไว้ในแผนผังของนายฟิโนต์ ระยะทางระหว่างเมืองพระนครและเมืองพิมายคือ 225 กิโลเมตร ระยะทางปานกลางระหว่างที่พักคนเดินทางทั้ง 17 แห่งที่สร้างขึ้นโดยพระราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็คือ 12.5 กิโลเมตร


ระยะทางระหว่างปราสาทกุนมอน ปราสาทโอจรุง และปราสาทพรหมเกล ห่างกันราวแห่งละ 1 กิโลเมตร ที่พักคนเดินทาง 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ก่อนหน้าปราสาทโอจรุงในการเดินทางมาจากเมืองพระนคร คือปราสาทสัมปูและปราสาทเสมานติง ห่างกัน 18.5 กิโลเมตร และปราสาทเสมานติงก็อยู่ห่างจากปราสาทโอจรุง 18 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าจากเมืองพระนครไปยังปราสาทพรหมเกลได้รู้จักที่พักคนเดินทางหมดแล้ว

...ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. “ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 16 ฉบับที่ 2. 2537. หน้า 104-106


เส้นทางจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย ในปัจจุบันมีการสำรวจพบว่าตัวถนนเส้นนั้นมีอยู่อย่างแท้จริงตามที่กล่าวไว้ในจารึก ทิศทางถนนที่ตัดออกมาจากเมืองพระนครจนมาถึงเมืองพิมายผ่านจุดที่เป็นที่ตั้งสำคัญทางศาสนาของอาณาจักรเขมรอยู่หลายแห่ง เช่น ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทพนมรุ้ง โบราณสถานในเขตวัดแพงพวย อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์


ตามรายทางปรากฏซากอาคารที่พักคนเดินทางอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งสามารถกำหนดจุดที่ตั้งได้ชัดเจนแล้วในเขตประเทศไทยคือ ปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทถมอ ปราสาทบ้านบุ ปราสาทโคกปราสาท ปราสาทหนองปล่อง ปราสาทเทพสถิตย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทห้วยแคน ปราสาทสำโรงเก่า ปราสาทกู่โกสีย์ จังหวัดนครราชสีมา

ข้ามพรมแดน ข้ามสาขาวิชา


ความสำคัญของเส้นทางดังกล่าว นำไปสู่โครงการ "ค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของราชมรรคาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7" (Living Angkor Road) โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร และ APSARA Authority กัมพูชา


ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทุกแขนงวิชาที่เกี่ยวข้องถูกนำมาใช้ในการศึกษาเส้นทางโบราณจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย ทั้งความรู้ทางโบราณคดี มานุษยวิทยา เทคโนโลยีภูมิสนเทศ เทคโนโลยีสนเทศ และเทคโนโลยีทางธรณีฟิสิกส์ ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทำการศึกษา ค้นหาและกำหนดตำแหน่งที่แน่นอนของถนนโบราณจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย ตามที่กล่าวถึงในจารึกจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ


เป้าหมายคือการค้นหาเส้นทางคมนาคมและระบบชลประทานโบราณจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย ค้นหาแหล่งชุมชนโบราณตามเส้นทางโบราณ และสิ่งก่อสร้างโดยมนุษย์ตามเส้นทางโบราณ เช่น สะพานโบราณ ธรรมศาลาหรืออัคนีศาลา และอโรคยาศาลา แหล่งน้ำ โครงสร้างโบราณอื่นๆ เช่น แนวคูน้ำ คันดินโบราณ ฯลฯ และเก็บข้อมูลทางโบราณคดี-ข้อมูลทางวัฒนธรรม ตามแนวถนนโบราณจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย


"ในโครงการนี้ เราทำการศึกษารายละเอียดของถนนโบราณเส้นนี้ จุดประสงค์หลักรวมทั้งการใช้ประโยชน์ของเส้นทางนี้ โดยพยายามหาตำแหน่งที่แน่นอนของถนน ชุมชนที่เคยมีชีวิตอยู่ตามเส้นทางนี้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แหล่งอุตสาหกรรมโบราณ วัฒนธรรมที่เคยมีความรุ่งเรืองอยู่ตามเส้นทางนี้และสูญสิ้นไป และวัฒนธรรมที่ยังคงถูกรักษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาของโครงการนี้ ทำให้เราสามารถค้นพบหลักฐานต่างๆ ตามแนวถนนโบราณจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมายเส้นนี้ โดยมีหลักฐานที่สำคัญคือ ธรรมศาลาหรืออัคนีศาลา สะพานศิลาแลงตลอดแนวถนนโบราณในฝั่งประเทศกัมพูชา แหล่งอุตสาหกรรมโบราณตามแนวถนนโบราณทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา แหล่งชุมชนโบราณตามแนวถนนโบราณทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา" พอ.ผศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ หัวหน้าโครงการ ระบุ


โครงการค้นคว้าครั้งนี้ ทำให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเส้นทางโบราณสายนี้ เช่น จุดประสงค์การใช้งานถนนสายนี้ในสมัยโบราณ สิ่งก่อสร้างที่ถูกสร้างขึ้นตามแนวถนนโบราณ ชุมชนโบราณ ชุมชนปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์กับถนนโบราณ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้สามารถนำไปขยายการศึกษาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นการศึกษาเกี่ยวกับโลหะกรรม การผลิตสังคโลกโบราณ และการศึกษาทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชนส่วย เป็นต้น




"เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย" กับการเป็นมรดกโลก "ของไทย"

ณ ปลายสุดบนเส้นทางจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย เป็นที่ตั้งของเมือง "พิมาย" หรือ "วิมาย" เมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบ ตั้งอยู่ที่ 260 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองพระนคร มีปราสาทพิมายเป็นศาสนสถานพุทธมหายานตั้งอยู่ใจกลางเมือง


"เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย" เส้นทางประวัติศาสตร์ที่ทอดยาวจากปราสาทพิมายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าไปในเขตที่ราบสูงโคราช และช่องเขาที่ข้ามเทือกพนมดงรักที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในสมัยโบราณคนเดินทางและนักแสวงบุญได้ใช้เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองพระนครกับพิมาย รวมถึงที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่เป็นระยะ ระหว่างเส้นทาง จากปราสาทพิมายถึงปราสาทตาเมือนที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มีศาสนสถานแบบเขมร 2 แห่ง คือ ปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ ตัวปราสาทพิมายรวมถึงเส้นทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ นับเป็นหนึ่งในโบราณสถานแบบเขมรที่งดงาม และเป็นหลักฐานของอารยธรรม ความรุ่งเรือง มั่งคั่ง และอำนาจของอาณาจักรเขมรในยุครุ่งเรืองที่สุด


จากคุณค่าและความสำคัญทางโบราณคดีของโบราณสถานบนเส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกของไทยเสนอเมื่อ 1 เมษายน 2547 ให้ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการบรรจุอยู่ใน "บัญชีรายชื่อเบื้องต้น" (Tentative List) ของยูเนสโก และรอการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ภายใต้ชื่อแหล่งว่า "ปราสาทหินพิมายและเส้นทางวัฒนธรรม และปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ" (Phimai, its Cultural Rout and the Associated Temples of Phanomroong and Muangtam)


"ถ้าเป็นมรดกโลกถามว่าชาวบ้านหรือชุมชนที่อยู่ตรงนั้นจะโดนไล่ออกไปหรือไม่ คำตอบคือไม่โดนแน่นอน กรมศิลปากรพยายามทำความเข้าใจว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับโบราณสถาน เพราะคนจะทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต แต่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ตรงนั้นเห็นคุณค่าของโบราณสถานด้วย คนกับโบราณสถานต้องอยู่ร่วมกันและส่งเสริมคุณค่าซึ่งกันและกัน" บวรเวท รุ่งรุจี รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าว


อารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และอดีตประธานอิโคโมส (International Council on Monument and Site - ICOMOS) ประเทศไทย มองว่า เส้นทางวัฒนธรรมพิมายมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นมรดกโลกด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวปราสาทพิมาย ซึ่งเก่าแก่ว่าและเป็นต้นแบบให้แก่ "ปราสาทนครวัด" ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้ว และความสำคัญทางประวัติศาตร์ของเส้นทาง


"เส้นทางประวัติศาสตร์พิมาย ถือว่ามีความเหมาะสมมากกับการเป็นมรดกโลก เพราะอย่างน้อยเป็นความภูมิใจที่เราเป็นต้นแบบในการสร้างนครวัด ยิ่งถ้ามองในแง่ของประวัติศาตร์ตั้งแต่ก่อนที่เราจะมีเขตแดนประเทศ คนที่อยู่บนเส้นทางนี้ก็มีการไปมาหาสู่กันตลอดมา คนจากนครวัดก็เดินทางมาเคารพที่นี่ มีเส้นทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น มีธรรมศาลา อัคนีศาลา อโรคยศาล กระจายอยู่ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นทางอารยธรรมสำคัญในอดีต ถามว่าถ้าได้เป็นมรดกโลกแล้วคนไทยได้อะไร บางคนคิดว่าถ้าเราได้มรดกโลกยูเนสโกจะให้เงินเรามหาศาล จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ความเป็นมรดกโลกหนึ่งคือความภูมิใจที่เรามีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ สองเรื่องการท่องเที่ยว มรดกโลกเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวได้มหาศาล มรดกโลกบางแห่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละนับพันล้านถึงหมื่นล้าน เพราะฉะนั้นใครๆ ก็อยากได้"


ส่วนคำถามที่ว่า การเสนอ "เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย" เป็นมรดกโลกของไทย จะทำให้เกิดการขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ "เขาพระวิหาร ภาค2" หรือไม่นั้น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรมองว่า กรณีนี้ต่างจากเขาพระวิหาร เพราะ "เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย" ที่ไทยเสนอกำหนดชัดเจนว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย


"อย่างกรณีพระวิหาร ความรู้สึกเราคือศาลโลกตัดสินว่าตัวอาคารเป็นของเขา กรรมการมรดกโลกให้ไทยและกัมพูชาไปจัดทำแผนพัฒนาร่วมกัน ถึงวันนี้กลายเป็นเหมือนกับว่าเรายอมรับการอ้างสิทธิบนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทของกัมพูชา แต่กรณีเส้นทางวัฒนธรรมพิมายเราเสนอในส่วนที่เป็นของเราชัดเจน มันเคลียร์ในตัวมันเอง"

ส่วนจะได้เห็นเส้นทางวัฒนธรรมพิมายได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของไทย ยากที่จะบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมรดกโลกว่าจะหยิบยกข้อเสนอนี้ขึ้นมาพิจารณาเมื่อใด แต่ยังไม่น่าจะเป็นการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่กรุงปารีส เพราะในเวทีนั้นน่าจะมุ่งประเด็นไปที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชากรณีเขาพระวิหาร


จึงขึ้นอยู่กับเวลา จังหวะ โอกาส และ "การเมือง" ว่าจะเป็นเมื่อใด ที่ "เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย" จะเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย

Credit : //www.bangkokbiznews.com/


Create Date : 16 พฤษภาคม 2554
Last Update : 16 พฤษภาคม 2554 11:13:23 น. 0 comments
Counter : 1868 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.