เมื่อป้าโซไปงานศพแบบญี่ปุ่น





เกริ่นนำ..

บอกกล่าวก่อนว่าเอ็นทรี่นี้ค่อนข้างยาวด้วยตัวอักษรล้วนๆ  เนื่องจากเป็นการบรรยายตามเหตุการณ์ที่ค่อนข้างละเอียดเพราะอยากให้ผู้อ่านนึกภาพตามไปด้วยได้   ถ้าแวะเข้ามาแล้วลากลงไปเห็นยาวๆก็อย่าเพิ่งท้อนะคะ   ไหนๆแวะเข้ามาแล้วก็อยากให้อ่านจนจบค่ะเพราะประสบการณ์ทางด้านนี้ไม่ค่อยเห็นมีมาแชร์เล่าสู่กันฟังบ่อยนัก .. ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ..Smiley

..................................................................................................................................


สืบเนื่องมาจากน้าสะใภ้ของอิลุงได้เสียชีวิตหลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองมาหลายปี  เ้ข้าๆออกๆรพ.เปิดสมองผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกไปสองครั้ง  ต่อสู้อย่างสุดกำลังจนในที่สุดก็ได้เวลาพักยาว  น้าชายและน้าสะใภ้ไปมาหาสู่ที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง  ค่อนข้างสนิทกับพ่อของลุง(ปู่ที่บ้าน)ถึงแม้แม่ของลุงซึ่งเป็นพี่สาวของน้าชายจะิเสียไปนานแล้วก็ตาม  อ่านการลำดับญาติแล้วอาจมีงงเล็กน้อย ..


น้าสะใภ้อายุได้เจ็ดสิบเต็มพอดีก็ถือว่าอายุยังน้อยสำหรับหญิงญี่ปุ่นที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 86 ปีกว่าๆ  แต่จากการป่วยมานานทางครอบครัวของน้าก็ทำใจไว้แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังสุดที่ล้มที่บ้านและหอบหิ้วกันเข้าไปนอนโคม่าอยู่ที่รพ.   ป้าโซไปเียี่ยมมาสองวันก่อนน้าจะเสีย  เห็นสภาพไม่ตอบรับใดๆแล้วก็รู้ว่าขึ้นกับเวลาเท่านั้นว่าจะไปเร็วหรือช้า  สุดท้ายของมนุษย์ก็แค่นี้.. ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ใช้งานมานานก็ย่อมหมดค่าเสื่อมไปในวันนึง  อาเมน..Smiley


งานศพโดยทั่วไปจะถูกจัดการให้แล้วเสร็จภายในไม่เกินสามวัน  เร็วที่สุดถ้าสามารถก็จะจัดการให้เสร็จสรรพในวันรุ่งขึ้นที่ตายไป  แต่ถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงก็อาจเวิ่นเว้อไปครบอาทิตย์  ที่ต้องจัดการให้เสร็จเร็วเช่นนั้นเพราะเกี่ยวเนื่องว่าจะได้รบกวนเวลาแขกที่จะมาร่วมงานได้น้อยวันที่สุด   อีกทั้งยังค่าใช้จ่ายที่จะบานปลายถ้าหลายวันเกิน


ป้าโซไปงานศพที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สามแล้ว  ครั้งแรกสุดเป็นพ่อของเด็กที่เล่นยูโดคลับเดียวกันเมื่อสมัยก่อนนั่นก็หลายปีมาแล้ว   ตอนแรกคิดว่าต้องใ้ช้เวลายาวนานแบบงานศพเมืองไทยที่ต้องฟังพระสวดสามจบมีเลี้ยงของว่างสลับก่อนจบสุดท้ายเบ็ดเสร็จก็สองสามทุ่ม  แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงใช้เวลาอยู่ที่งานแค่สิบนาทีได้   ไปถึงก็ทักทายเจ้าภาพแล้วเ้ข้าไปเคารพศพที่นอนให้เห็นกันจะๆอยู่ตรงหน้านี่แหละ แต่ด้วยสภาพเหมือนคนนอนหลับเพราะตกแต่งศพเรียบร้อยงดงาม จากนั้นก็ออกมานั่งคุยกับเจ้าภาพอีกแป๊บ ดื่มน้ำชาแ้ก้วนึง  เออ.. ไอ้ข้าวต้ม ก๋วยกระเพาะปลาหรือแม้แต่ชากาแฟแถมด้วยขนมชิ้นเล็กๆซักชุดไม่ยักกะมีวุ้ย  น้ำชาแก้วเดี๊ยว..จริงๆ  พอแขกคนต่อไปมาเราก็ลากลับเนื่องจากสถานที่จัดงานคับแคบเป็นแค่ห้องๆเดียว ..


ถามผู้เชี่ยวชาญด้านไปงานศพบ่อยอย่างปู่ที่บ้าน  ได้ความว่าในช่วงกลางคืนจริงๆแล้วก็จะมีพระมาสวดเหมือนกันแต่เป็นคืนเดียว มาสวดประมาณครึ่งชม.แล้วก็กลับไป  แขกที่มาก็แล้วแต่ว่าจะว่างมากันวันไหน วันที่สวดกลางคืนหรือไปวันเผาเลยก็ได้  แขกบางคนไม่สะดวกไปร่วมงานเผาเพราะต้องไปทำงานก็จะมาแสดงความเสียใจในช่วงกลางคืนก่อนวันเผานี่แหละ  หรือบางคนที่สนิทมากหน่อยก็จะไปร่วมงานทั้งสองวัน  ในตอนกลางคืนที่มีพระสวดก็จะ่มีน้ำชาให้แขกจิบแก้วนึงและของที่ระลึก(ประมาณของชำร่วย)ติดมือกลับไปคนละถุง


ครั้งที่สองที่ป้าโซไปก็เป็นป้าของอิลุงที่ไปร่วมงานในวันเผาเลย   ป้าเป็นมะเร็งนับไปนับมาเบ็ดเสร็จตั้งแต่เริ่มเป็นมะเร็งก็ผ่านมาสิบปีได้  ถามปู่ที่บ้านว่าทำไมตายช้านัก.. ไม่ๆๆ เรียบเรียงคำพูดใหม่ .. ทำไมเพิ่งจะมาตาย(ฟังดีขึ้นมั้ย ?)  เอ่อ.. ก็ถามด้วยความหมายว่าคนเป็นมะเร็งนี่ไม่น่าจะอยู่ได้นานขนาดนี้ ปู่บอกด้วยประสบการณ์ที่ได้รู้มาว่า   อันว่ามะเร็งนั้นถ้าเป็นในคนวัยยังไม่มากนักจะสามารถลุกลามได้ไวตามความแข็งแรงของร่างกาย  แต่คนแก่ๆแล้วความแข็งแรงและการเติบโตของร่างกายมันช้าลงมะเร็งมันเ้ก้าะไม่มีอะไรจะกินมันก็ลุกลามช้าลง  (หมายเหตุ.. เป็นการตอบแบบประสบการณ์ตามวัยของปู่  มิใช่คำตอบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ กรุณาอย่ายึดถือว่าถูกต้องSmiley )  .. 


ป้าพี่สาวแม่ของอิลุง  ตายไปในวัยแปดสิบกว่าก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อละ งานศพป้าคนนี้เป็นครั้งแรกที่ป้าโซไปในฐานะญาิติ  เป็นงานศพที่เรียบง่ายที่สุด.. ง่ายเกินไปจนไม่ครบพิธีกรรมที่ควรจะมีตามความคิดเห็นของญาติใกล้ชิด  มางานศพน้าสะใภ้นี่ค่อยครบเรื่องพิธีกรรมหน่อย  ขอรวบยอดเก็บรายละเอียดสองงานนี่มาเล่าทีเดียวเลยละกัน  แต่เป็นการเล่าแห้งๆที่ไร้ภาพประกอบนะจ๊ะ  ขืนไปยืนอะร้าอร่ามถ่ายรูปแชะๆเพื่อเก็บมาอัพบล็ํอกเป็นได้โดนเจ้าภาพถีบออกจากงานแน่แท้..Smiley


งานศพที่ญี่ปุ่นจะทำการเผาในช่วงครึ่งวันบ่าย  ภาคแรกของครึ่งเช้าก็เป็นการนัดรวมญาติและแขกที่จะมาร่วมงานโดยจะกำหนดเวลาในการเริ่มพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งจะมีพระญี่ปุ่นมาสวดให้   ตามปกติแขกทั่วไปก็จะถือว่าเสร็จสรรพการมาร่วมไว้อาลัยร่ำลา ณ ที่นี้ จากนั้นก็จะขนย้ายศพไปเผา ณ ฌาปนสถานซึ่งก็จะมีแต่ญาิติๆตามไปซึ่งจะอยู่รอร่วมเก็บกระดูกใส่โกศ


ป้าโซโทร.ลางานไปวันนึง  ออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปถึงจุดนัดหมายซึ่งเป็นสถานประกอบพิธีกรรมที่ทางเจ้าภาพใช้บริการจัดทำงานศพ  ส่วนมากจะเป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการจัดงานศพเต็มรูปแบบ  สนนราคาจากที่เซิร์ชดูก็ 200,000 - 300,000 เยนอัพ  จะเป็นพิธีที่เรียบง่ายจริงๆ ไม่มีอะไร แขกมาไม่กี่คน อิุลุงบอกขนาดของงานและราคาก็ขึ้นอยู่กับจำนวนแขกที่จะมาในงาน อย่างลุงเคยไปงานศพเจ้าของบริษัทก่อสร้างที่เป็นลูกค้า  โอ้.. งานนั้นใหญ่มากแขกมาประมาณสี่ร้อยคนได้ รูปผู้เสียชีวิตใหญ่เท่าฝาบ้าน จัดงานคล้ายโรงหนังโรงมหรสพ    งานนั้นค่าใช้จ่ายน่าจะประมาณ 1.5 ล้านเยนอัพ(เอา 3 หารคร่าวๆเป็นเงินบาท )  เอ้า.. เลยไปนู่นละ กลับมาที่งานนี้ดีกว่าเดี๋ยวไม่จบ..Smiley


มาว่ากันด้วยเรื่องการเตรียมตัวไปงานศพ  ชายจะเป็นสูทดำเชิ้ตขาวไทด์ดำ หญิงจะเป็นเดรสดำทั้งชุด ดำขลิบขาวอย่างบ้านเราที่ใส่กันในบางครั้งเค้าไม่นิยมกัน  การแต่งตัวต้องสุภาพถือเป็นการให้เกียรติคนตายเป็นครั้งสุดท้าย เครื่องประดับถ้าจะต้องไม่ฉูดฉาดบาดตาส่องแสงเป็นประกาย  ส่วนมากจะนิยมประดับมุก(จะจริงหรือปลอมก็แล้วแต่)  แหวนถ้าใส่ัหัวฝังเพชรพลอยประดับประดาก็ต้องหมุนด้านหัวกลับเข้าไปไว้ทางฝ่ามือซะ  ใครจะล้านเลี่ยนเตียนโล่งไม่ประดับอะไรก็ถือเป็นเรื่องปกติ


สิ่งที่นำติดตัวไปด้วยคือสร้อยลูกประคำสำหรับคล้องมือเวลาัฟังพระสวดมนต์ที่เรียกว่า Juzu และซองเงินช่วยซึ่งจะใส่เงินช่วยด้วยเลขคี่ ตั้งแต่ 3,000 - 30,000 เยนหรือมากกว่านั้นตามกำลังทรัพย์คนช่วย  ส่วนมากก็จะใส่ 3,000 5,000 10,000 30,000 เช่นนี้เป็นต้น  .. บังเอิญวันก่อนได้ดูรายการทีวีที่เอาเรื่องการปฏิับัติตัวที่ถูกต้องยามไปงานศพมาถ่ายทำสั้นๆ เลยได้ความรู้มาว่า..


- เมื่อไปถึงหน้างาน การทักทายคนต้อนรับหน้างานไม่ต้องเสียงดังฟังชัดนัก ยิ่งหงุมๆหงิมๆฟังไม่ไ้ด้ศัพท์ยิ่งดี ประมาณว่าเสียใจอย่างยิ่งจนเสียงเสิงหายหมด

- การให้ซองเงินช่วย ควรยื่นสองมือด้วยความพินอบพิเทา

- การเขียนชื่อบนหน้าซองเงินช่วยควรจะเขียนด้วยหมึกสีจางๆ ประมาณน้ำตาแห่งความเสียใจได้ชะล้างสีของหมึกออกจนจางลง

- เมื่อเดินเข้าไปคำนับศพในงาน ให้เดินข้างใดข้างหนึ่งของพรม(ถ้ามีปูไว้) ไม่ควรเดินเทิ่งๆกลางพรม

- เมื่อถึงหน้าศพให้คำนับแสดงความเคารพเจ้าภาพที่นั่งอยู่แถวหน้าครั้งนึง ก่อนจะหันไปคำนับศพแล้วหยิบผงกำยานด้วยปลายนิ้วสามนิ้ว โป้ง ชี้ กลาง ค่อยๆโปรยผงลงในเตากำยาน จะหยิบโปรยหนึ่งหรือสามครั้งก็ได้ แต่ห้ามสองครั้ง เมื่อเสร็จแล้วก็คำนับอีกครั้งก่อนจะหันไปทางญาิติคำนับร่ำลาเจ้าภาพและเดินข้างพรมกลับไปเหมือนเดิม

- ตอนรับของชำร่วยก่อนกลับ ห้ามพูดขอบคุณ(คงประมาณถ้าพูดขอบคุณเนี่ยมันจะแสดงถึงความยินดีที่ได้รับของมามั้ง คือจริงๆแล้วชั้นไม่ได้อยากจะรับของชำร่วยเพราะคนเสียชีวิตนี่เล้ยยย  รับมาอย่างมารยาทเท่านั้น)  จะก้มหัวแล้วรับมาโดยไม่พูดอะไรก็ได้ หรือจะเลี่ยงใช้คำอื่นเช่น อิตะดะคิมัส , โอะซึคะเระซะมะเดชิตะ  ก็ได้เหมือนกัน

- สิ่งสำคัญที่สุดคือสีหน้า ต้องดูเศร้าหมอง.. ห้ามหลั่่นล้าอ่ะฮ้า..อ่ะฮ้า..


ไอ้ที่รู้มาและเขียนไปข้างบนน่ะ  ไม่เกี่ยวกะป้าโซเลยเพราะอิฉันเป็นผู้ตามฮ่ะ รู้ไว้ประดับรอยหยักในสมองเท่านั้น..


ไหนๆ จะเขียนเรื่องนี้ก็เจาะรายละเอียดไปซะอีกนิดจากที่ได้ไปอ่านวิกิฯมา ทางด้านผู้ัจัดงานก็ต้องดูวันตามปฏิทินเหมือนกันว่าถ้าไปตรงตามวันที่ไม่สมควรจัดงานอย่างยิ่งก็ต้องเลื่อนวันไป  วันที่เขาถืออย่างมากว่าจะไม่จัดคือวันที่เรียกว่า "โทะโมะบิคิ"  โทะโมะ คือ เพื่อน บิคิ มาจากคำ ฮิขุ แปลว่า ดึง  รวมความคือ ดึงเพื่อนหรือพาเพื่อนไปด้วย.. ประมาณถ้าจัดวันนี้แล้วคนตายจะมาพาเพื่อนคนรู้ัจักให้ตายตามกันไปอีกเขาเลยไม่จัดกันในวันนี้   วันในปฏิทินของญี่ปุ่นจัดตามจันทรคติเหมือนกัน ของไทยก็ข้างขึ้นข้างแรม วันพระใหญ่ ..


วันงานเดินทางออกจากบ้านเวลา 7.30 น. ทางเจ้าภาพแจ้งมาว่าจะเริ่มพิธีกรรมตอน 11.00 น. ไปถึงสถานที่จัดงานประมาณสิบโมงเข้างานไปเจอน้าชายที่หน้าห้องจัดงานตรงโต๊ะต้อนรับ  แขกเหรื่อยังมาไม่มากนัก ณ ตอนนั้นแต่บรรดาญาิติๆมากันแล้ว  น้าชายเข้ามาพูดพร้อมน้ำตาว่าก็ได้พยายามกันเต็มที่แล้วหละนะ แต่มันยื้อไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องปล่อยน้าสะใภ้เค้าไป  ครอบครัวน้าสะใภ้ทุกคนคงทำใจได้เพราะตั้งแต่ป่วยระยะหลังจนถึงเสียชีวิตนี่ก็นานเอาการอยู่  ..


แล้วน้าก็พาไปไหว้น้าสะใภ้ จุดธูปดอกนึงไหว้แล้วเดินไปดูน้าสะใภ้ที่นอนอยู่ในโลงศพสีขาวเกลี้ยงๆ   ภายในกรุด้วยผ้าขาวเช่นกันแต่ไม่ใช่ผ้าฝ้าย  ฝาโลงเปิดส่วนใบหน้าไว้ให้สามารถมองเห็นได้  มองเผินๆ คล้ายนอนหลับอยู่  เนื่องจากเป็นงานศพเศร้าโศกเสียใจจึงมิสามารถไปยืนแอ่นสะระแน้ถ่ายภาพของจริงมาได้  เลยเข้าไปขอภาพประกอบจากอากู๋มาแทน..


ขอบคุณภาพประกอบจากกูเกิ้ลค่ะ.. หน้าตาโลงจะประมาณนี้เรียบๆ ตรงส่วนหัวสามารถเปิดออกให้เห็นหน้าตาได้




เปิดออกมาก็จะเป็นอย่างนี้..







เมื่อยังไม่เริ่มพิธีน้าก็พาขึ้นไปที่ห้องพักผ่อนของครอบครัวซึ่งอยู่ชั้นสองที่ทางฝ่ายจัดงานจัดไว้ให้   ถึงแม้จะเป็นอาคารที่มีีแค่สองชั้นแต่ก็มีลิฟท์ให้บริการเนื่องจากผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเดินไม่ค่อยไหว บางคนก็นั่งรถเข็นมาจึงมีิลิฟท์ไว้อำนวยความสะดวก ใครแข็งแรงดีอยู่ก็เดินขึ้นบันไดไป   พอถึงชั้นสองก็จะมีป้ายเขียนชื่อไว้ว่าครอบครัวนี้เดินไปทางไหน ห้องไหน   .. เ้ข้าไปในห้องหลืบทางซ้ายมือก็จะเป็นห้องน้ำ  ขวามือก็มีเคาน์เตอร์วางกาไฟฟ้าต้มน้ำร้อนพร้อมซองเครื่องดื่มชากาแฟและอุปกรณ์  และมีเก้าอี้หมู่ให้นั่งคอย  เลยเข้าไปจะเป็นห้องที่ปูด้วยเสื่อตะตะมิ ใครใครไปนั่งๆนอนๆคอยในนั้นก็ตามสะดวก  มองเผินๆเหมือนห้องในโรงแรมนั่นแหละเพียงแต่ไม่มีเตียง ทีวี ตู้เย็น


นี่ก็งาบรูปมาจากเว็บขายจัดงานศพอีกเช่นกันจ้า..





พอได้เวลาเริ่มงานก็ลงไปข้างล่าง  อิลุงนำซองเิงินช่วยไปมอบให้ที่โต๊ะต้อนรับด้านหน้า  ซองเิงินช่วยนี่ก็ต้องมีขั้นตอนในการปิดซองเหมือนกัน






รูดปลอกดำรัดซองออก  จริงๆที่เห็นนี่เป็นกระดาษแผ่นเดียวและพับห่อซองเงินสีขาวไว้ข้างในอีกชั้นนึง   แต่ตอนซื้อมานี่เค้าจะแยกซองใส่เงินไว้ข้า่งนอกเพื่อความสะดวกในการใช้ เมื่อนำเงินใส่ซองแล้วจึงพับกระดาษแผ่นนอกปิดอีกทีพร้อมปลอกดำรัด






การพับกระดาษหุ้มซองในงานศพจะต้องเอากระดาษท่อนบนเกยทับท่อนล่าง แต่ถ้าเป็นงานฉลองก็กลับกันเอาท่อนล่างทับเกยท่อนบน 





ธรรมเนียมญี่ปุ่นไม่ว่างานแต่งหรืองานศพ  เจ้าภาพจะจัดของขอบคุณแขกที่นำเงินไปช่วยด้วยมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสี่ของเงินในซองที่ได้รับ  แต่จะทุกรายหรือไม่อันนี้ก็มิทราบได้  เคยเห็นมาสองครั้งละที่เจ้าภาพงานศพส่งแคตตาล็อกบรรดาสิ่งของมาให้เราเลือกตามชอบ  ถ้าเราถูกใจอันไหนก็ส่งแบบฟอร์มตอบรับกลับไปที่ร้านที่จัดการ  แล้วเขาก็จะจัดส่งของมาให้เราทางปณ.โดยเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น  แคตตาล็อกที่เคยเห็นนั้นมีของให้เลือกหลากหลายเล่มหนาเกือบเท่าแคตตาล็อกคะแนนสะสมแลกของ ของซิตี้แบงก์ยังไงยังงั้น  

ตอนนำซองเงินไปมอบให้ก็จะได้รับถุงของที่ระลึกมาด้วย(อันนี้ไม่เกี่ยวกับของตอบแทนภายหลัง  ประมาณของชำร่วยทั่วไป)   ถุงของนี่ทางบริษัทจัดการมีให้เจ้าภาพเลือกว่าจะเอาอะไรและบอกปริมาณแขกไป  ทางผู้จัดงานก็จัดให้เสร็จสรรพรวมถึงพิมพ์รายละเอียดบอกกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงาน  รายชื่อเจ้าภาพแนบไว้ในกล่องของที่ระลึกนั่นด้วย  ..






ของที่ได้มาคราวนี้ืคือซองดริปกาแฟสำเร็จรูปพร้อมพาย(ที่ไม่ใช่อาร์กำลังสอง Smiley )







จากนั้นก็เดินเข้าไปนั่งเก้าอี้ที่เรียงไว้สองข้างเว้นช่องกลางเป็นที่เดิน  เจ้าภาพจะนั่งแถวหน้าสุด ถัดไปข้างหน้าจะเป็นโต๊ะวางเครื่องไหว้บูชา  มีกระธางธูป ถ้วยเผากำยาน และขันสำหรับเคาะตอนพระสวด( ชื่ออังกฤษเค้าเพราะพริ้ง..singing bowl )     หน้าโต๊ะวางข้าวของพวกนี้จะมีเก้าอี้ตัวใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางตัวนึงสำหรับเวลาพระมานั่งสวด  ถัดจากโต๊ะก็จะเป็นหีบศพสีขาว  มีภาพถ่ายเจ้าของร่างวางตั้งไว้ใกล้เคียงกับหีบศพ เลยหีบศพไปเป็นดอกไม้ประดับประดาขนาดใหญ่   ต่างๆรวมถึงป้ายแสดงความเสียใจ 


แง้บรูปจากเน็ตมาประกอบอีกแหละ .. ขอบคุณอีกครั้งค่ะ..Smiley


รูปนี้จะค่อยข้างเหมือนจริงที่ไปมาที่สุด ต่างกันตรงเก้าอี้จะจัดหันหน้าไปทางโลงและจะอยู่ถัดลงมาจากโต๊ะพิธีตัวยาวปูผ้าขาวตัวหลังสุด  บนโต๊ะนี้มีถาดกระเบื้องใส่กำยานเกร็ดเล็กๆ และเตาเผากำยานวางอยู่ข้างกัน  ถัดขึ้นไปนั่นจะเห็นขันวางบนฟูกสีส้มๆ  นั่นคือขันสำหรับพระเคาะเวลาสวดมนต์ใบเขื่องเอาการ..






ปกติขันสวดมนต์ตามบ้านจะใบเล็กจิ๋วๆ แค่นี้เอง..







เมื่อได้เวลาพิธีกรของทางบริษัทจัดงานก็เริ่มกล่าวเปิดงานด้วยการขอบคุณแขกทุกท่านในนามของเจ้าภาพ   และกล่าวไว้อาลัยผู้ที่จากไปโดยเริ่มย้อนอดีตถึงสิ่งต่างๆที่เคยทำไว้ไม่ว่าจะเป็นบทบาทภรรยาและแม่ที่แสนดีของครอบครัว  ดูแลบ้านช่องสะอาดเรียบกริบ  ทำกับข้าวกับปลาแสนอร่อยให้สมาชิกในบ้านกิน ยามไปกับเพื่อนฝูงก็รื่นเริงใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไม่ว่าจะไปคาราโอเกะหรืออองเซ็นด้วยกันกับเพื่อน  สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป  ..

(( เอ่อ..อิตรงที่เค้าบรรยายถึงคุณงามความดีเนี่ย  อิฉันละนึกกระด๊ากกก.. เพราะอิฉันไม่ได้เก่งกาจเรื่องงานบ้านงานเรือนแม้กระผีก  กับข้าวกับปลาก็ธรรมดาไม่ได้วิเศษวิโส   เป็นแค่เมียแค่แม่ธรรมดาที่อาจจะดูดีหน่อยตรงสามารถทำให้คนรอบข้างบันเทิงรื่นเริงใจได้อยู่บ่อย ถ้าอิฉันลงไปนอนอยู่ตรงนั้นในวันข้างหน้านู้นนนน..(ซึ่งยังอีกน้านนน  อิอิ..Smiley) ซักวันละก็  ฝากอิลุงกำชับพนักงานด้วยว่าไม่ต้องบรรยายให้อิฉันดูเลิศเลอปานนั้น..Smiley ))



พอฝ่ายเรียบเรียงถ้อยคำบรรยายจบ  พระญี่ปุ่นก็เดินเข้ามาทำพิธีกรรมโดยเริ่มจากจุดธูปปักและบอกให้ทุกคนพนมมือไหว้เคารพไปพร้อมๆกัน  แล้วพระก็เริ่มร่ายยาวสวดมนต์ไปเคาะขันไปรัวถี่บ้างห่างบ้างสลับกัน   ระหว่างที่พระสวดนี่ไม่ค่อยเห็นคนญี่ปุ่นเค้าพนมมือค้างไว้ที่หว่างอกแบบคนไทยหรอกนะ  แต่จะคล้องลูกปัดไว้ที่ฝ่ามือตลอด  พอพระสวดจบทีนึงก็ยกมือไหว้ก้มหัวลงทีนึง  จะว่าเป็นเพราะเค้าไม่อยากเมื่อยก็..ไม่รู้สิ เพราะบทสวดของพระญี่ปุ่นนี่ความยาวน่าจะประมาณหนึ่งในสามของพระไทยสวดเท่านั้นเอง


ลูกปัดสำหรับคล้องมือเวลาฟังพระสวด











พระสวดไปได้สักระยะ ผู้จัดงานก็เริ่มต้อนบรรดาแขกให้เดินไปคำนับศพ โดยเมื่อแขกเดินถึงด้านหน้าจะต้องหันไปคำนับทักทายฝั่งเจ้าภาพที่ยืนต้อนรับแขก  แล้วแขกก็จะผลัดกันไปหยิบกำยานสามนิ้วโปรยลงในเตาเผาขนาดเล็กซึ่งจะจัดไว้สองฝั่งให้แขกเดินแยกย้ายกันไปจะได้ไม่เสียเวลา  ซึ่งระหว่างนี้พระก็จะสวดวนไปวนมาจนแขกเดินมาครบหมดทุกคนพระก็จะจบการสวด  เสร็จพิธีทางสงฆ์ญี่ปุ่น ณ ช่วงนี้ พระท่านก็เดินออกไป


ลักษณะภายในงานจะเป็นคล้ายๆอย่างนี้  ขอบคุณภาพประกอบจากกูเกิ้ลครั้งแล้วครั้งเล่า..Smiley







จากนั้นฝ่ายจัดการงานก็ส่งนักเป่าฟลุตผู้หญิงมาบรรเลงเพลงหน้าแท่นพิธี   โดยมีคำบรรยายประกอบว่าเป็นเพลงที่ผู้ตายชอบ  นักเป่าฟลุตถือโน้ตเพลงเสียบแท่นมาวางแหมะแล้วก็เริ่มบรรเลงเพลงฟลุต  จริงๆแล้วเค้าก็คงมีเพลงใ้ห้ทางเจ้าภาพเลือกว่าจะเอาเพลงอะไรตามโน้ตที่นักดนตรีเล่นได้เท่านั้นแหละ  เพลินฟังเพลงจากฟลุตจนเกือบลืมไปว่านั่งอยู่ในงานศพ


ท้ายสุดเจ้าภาพก็ออกไปกล่าวขอบคุณแขกทุกท่านที่สละเวลามาเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการตามรูปแบบ  ถึงตอนนี้แขกท่านใดใคร่กลับบ้านก็กลับไปได้   ส่วนคนที่สนิทชิดเชื้อหน่อยก็อยู่รอส่งผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย  ซึ่งทางฝ่ายจัดงานก็ขอเวลาเคลียร์พื้นที่โดยเอาโลงศพมาตั้งไว้ตรงกลางและแจกดอกไม้สดที่ตัดมาจากดอกไม้ประดับหน้าศพนั่นแหละ  แจกให้คนละดอกสองดอก  พอจัดการพื้นที่เสร็จก็เชิญแขกที่เหลือให้ไปวางดอกไม้สดในโลงรอบร่างผู้ตายเพื่อร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย   ตอนวางดอกไม้ร่ำลานี่แหละเสียงร้องไห้ระงมไปทั่ว 


ภายในโลงมีผ้าขาวกรุโลงที่ออกจะเลื่อมๆมันๆ ร่างของน้าสะใภ้อยู่ในชุดกิโมโนสีขาว  มีรองเท้าสีขาววางอยู่ปลายเท้าที่คงไม่สามารถใส่รองเท้านี้ให้ได้  ใบหน้าถูกตกแต่งไว้สวยงาม มองคล้ายคนนอนหลับอยู่  ขั้นตอนการจัดแต่งศพก็น่าจะเหมือนกับหนังญี่ปุ่นเรื่อง Departures อันโด่งดังที่กวาดไปหลายรางวัลนั่นเอง(ใครยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ ขอแนะนำค่ะ  ดูแล้วเกิดความรู้สึกนึกคิดหลายหลากมาก.. ไอ้ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องพื้นๆ ง่ายๆ กลับกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในอารมณ์)


คนที่มาวางดอกไม้ร่ำลาส่วนมากก็จะพูดคล้ายๆกัน "โอะซึคะเระซะมะเดชชิตะ..เหนื่อยมานานแล้วนะ..พักผ่อนซะเถอะ"  "อะริกะโตะ.. ขอบคุณกับสิ่งต่างๆที่ได้ทำมาให้นะ" บางคนก็จับศพแล้วร้องไห้คร่ำครวญอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นคนไทยเค้าก็คงกันให้ออกมาเพื่อไม่ให้น้ำตาหยดลงถูกศพตามความเชื่อโบราณ   ความโศกเศร้าจบสิ้นลงทางผู้จัดงานก็ปิดฝาโลงและเชิญแขกออกไปยืนคอยหน้าตึกตรงรถที่จะขนย้ายศพไปเผา  จากนั้นก็ขอแรงญาติๆผู้ชายช่วยกันแบกโลงเดินออกมาโดยมีคนในครอบครัวถือรูปภาพเดินนำ  เมื่อถึงรถก็นำโลงใส่้ด้านหลังและปิดท้ายรถ ก่อนออกรถจะบีบแตรยาวๆหนึ่งครั้งเป็นการไว้อาลัย  ทุกคนที่ยืนคอยก็จะโค้งคำนับอีกรอบ   ทีนี้ก็จะเหลือแต่บรรดาญาติและเพื่อนที่ใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อกันจริงๆที่ขับรถตามไปยังสถานฌาปนกิจ








เมื่อไปถึงฌาปนสถาน  ก็จะมีป้ายชื่อบอกว่าศพชื่อนี้อยู่ห้องที่เท่าไหร่ก็เดินไปที่ห้องนั้นซึ่งเป็นห้องโล่งๆ ตรงกลางมีโต๊ะที่เป็นรูปตัวยูเปิดปลายไ้ว้ด้านนึง  มุมห้องจะมีโต๊ะเล็กๆวางรูปคนตายพร้อมโถกระเืบื้องสำหรับใส่กระดูกผูกผ้าขาวเตรียมวางไว้    แล้วพนักงานก็เข็นโลงศพเข้ามาในห้องให้ญาติๆร่ำลากันเป็นครั้งสุดท้ายหรืออีกนัยหนึ่งก็ให้เช็คว่าใช่ศพนี้จริงๆที่จะนำเข้าเตาเผา 


ตามภาพนี่ืคือโต๊ะกลางห้องรูปตัววี สำหรับเข็นแท่นที่วางโลงศพและนำเข้าเผาเรียบร้อยแล้วโลงเลิงมอดไปกับไฟหมดจนเหลือแต่กระดูก  (ขอบคุณภาพจากกูเกิ้ลอีกครั้งค่ะ)






ที่เห็นเป็นมือถือจับสองอันนั่นคือตัวเข็นโลงเข้าสู่เตาเผา เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะเข็นนำมาสอดกับโต๊ะตัววีเพื่อให้ญาติใช้ตะเกียบคีบกระดูกใส่โถนำกลับไปบ้าน






เมื่อการร่ำลาเ็ป็นครั้งสุดท้ายจบลง  พนักงานก็จะเข็นโลงศพเข้าสู่ช่องเผาที่ระบุหมายเลขไว้ชัดเจนกันผิดพลาด  เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการสู่เตาเผา  บางที่นี่ให้ญาติเก็บกุญแจเตาเผาไว้กับตัวด้วยป้องกันการสับสน  







ระหว่างรอให้เผาเสร็จซึ่งจะใช้เวลาประมาณสองชม.ได้ ญาติๆก็จะออกไปรอที่ล็อบบี้หรือในห้องส่วนตัวที่ทางผู้จัดงานจัดไว้ให้  ณ ตอนนี้ก็เป็นเวลาอาหารกลางวันซึ่งบางสถานที่ก็มีบริการขายอาหารด้วย แต่บางที่ก็ไม่มีอาหารขายทางเจ้าภาพต้องจัดเตรียมอาหารกล่องไปกันเอง   นั่งกินนั่งพักผ่อนได้ครู่ใหญ่ๆ  แล้วพนักงานก็ประกาศเรียกญาิติผู้ตายให้ไปรวมตัวกันที่ห้องส่งเข้าเตาเผาตอนแรก


เมื่อไปถึงนั้นพนักงานได้เข็นรถที่เอาโลงศพไปเผามาเสียบไว้กับโต๊ะรูปตัวยู    ทุกสิ่งทุกอย่างบนรถเข็นนั่นไหม้หมดเหลือแต่กระดูกผู้ตายที่ยังคงมีไอร้อนผะผ่าวลอยขึ้นมา  เืมื่อญาติๆรวมตัวกันครบแล้ว  พนักงานคุมเตาเผาก็จะเริ่มอธิบายขั้นตอนการเก็บกระดูกโดยให้ญาติผลัดกันใช้ตะเกียบคีบกระดูกจากทางด้านเท้าไล่ขึ้นมาจนถึงหัว   ซากกระดูกของร่างจะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพราะความแรงของไฟที่เผา  ท่อนทีู่ดูเหมือนว่าสำคัญที่พนักงานคีบแยกไว้ก็คือกระดูกข้อต่อตรงคอที่เชื่อมต่อกับไหปลาร้า   ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมส่วนนี้ถึงดูสำคัญนัก  ท่อนกระโหลกก็ใช่ว่าจะเป็นหัวกระโหลกวางแหมะเหมือนกระโหลกที่หมอผีจุดเทียนวางทำพิธี  กระดูกส่วนกระโหลกที่ว่าแข็งๆก็แตกสลายไปเหมือนกััน  ลักษณะการบรรจุใส่โถเหมือนกับย่อส่วนสิ่งที่เคยเป็นร่างคนให้นั่งอยู่ในโถนั่นเองโดยส่วนหัวอยู่บนสุดส่วนเท้าอยู่ล่างสุด  เมื่อญาติๆคีบกระดูกเก็บใส่โถจนเป็นที่พอใจแล้ว พนักงานก็จะิปิดฝาโถเอาผ้าขาวห่อและผูกให้เรียบร้อยให้ญาตินำกลับไป 








จากการที่ใช้ตะเกียบคีบเศษกระดูกบรรจุลงในโถซึ่งบางครั้งก็มีการคีบส่งต่อผ่านกันด้วยตะเกียบ หรือช่วยคีบชิ้นกระดูกพร้อมๆกันใส่โถเก็บนี่เอง  จึงเป็นข้อห้ามทางสังคมสำหรับคนญี่ปุ่นที่จะไม่ใช้ตะเกียบอาหารส่งผ่านต่อกับตะเกียบเวลาทานอาหาร  เพราะนั่นคือวิธีของการเก็บกระดูกคนตายนั่นเอง   โถกระดูกที่บรรจุเรียบร้อยญาติจะนำไปวางที่วัดที่จัดไว้วางเป็นช่องๆ  ซึ่งต้องเสียเงินบริจาคให้ทางวัดก่อนจะมีสิทธิ์จับจองในช่องเหล่านั้น  สนนราคาในการจับจองพื้นที่นั่นเป็นจำนวนเงินสูงเอาการ   ยิ่งถ้าเป็นเจดีย์่ก่อสร้างแยกออกไปยิ่งหลายเงินโข  แต่ถึงกระนั้นก็จำเป็นต้องจ่ายเพราะไม่งั้นก็จะไม่มีที่เก็บกระดูกสำหรับบรรพบุรุษ  จะแพงอยู่เมื่อแรกเริ่มจับจองหลังจากนั้นเมื่อมีคนในครอบครัวตายไปอีกก็สามารถนำไปรวมกันได้ 


เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการงานศพที่กว่าจะจบได้เ่ล่นเอาหืดขึ้นคอเหมือนกัน เพราะมันค่อนข้างใช้เวลาในการเรียบเรียง หารูปมาประกอบ  ไอ้ครั้นจะเล่าแห้งๆก็กลัวจะไม่เห็นภาพกัน  กว่าจะเข้าไปหารูปมาประกอบได้ไหนจะเลือกรูปอีก  พอได้รูปท่อนต่อไปที่จะเขียนก็ติดอีกว่าตรูเขียนถึงไหนแล้วว้าาา..  จนเวลาผ่านไปนานต้องมาระลึกชาติเขียนกัน


ขอบคุณสำหรับการอดทนติดตามอ่านเอ็นทรี่นี้มาจนจบ   รู้ว่าเป็นบล็อกที่ยาวบล็อกนึงแต่ไอ้ครั้นจะแตกออกเป็นสองบล็อกก็กลัวไม่ต่อเนื่อง  ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่เร่งเร้ามาให้อัพบล็อกซะทีจากเพื่อนหลายๆคนค่ะ   หวังว่าประสบการณ์ที่เล่าในบล็อกนี้คงจะมีสาระบ้างไม่มากก็น้อยในเรื่องความแตกต่างจากประเพณีของเรา  ขอบคุณอีกครั้ง.. พบกันใหม่บล็อกหน้า  สวัสดีค่ะ..Smiley







 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2556
23 comments
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2556 14:55:40 น.
Counter : 13440 Pageviews.

 

เจ้าแห่งพิธีการจริงๆ ดูเหมือนขั้นตอนเยอะ แต่ใช้เวลาน้อยมาก

 

โดย: เ จ้ า ช า ย น้ อ ย 18 พฤศจิกายน 2556 15:40:20 น.  

 

นี่บล็อคป้าโซหรือวิกิพิเดียเรื่องงานศพแบบญี่ปุ่นกันนี่
ข้อมูลเพียบ ละเอียดยิบเลย

 

โดย: steelcobra IP: 124.121.58.205 18 พฤศจิกายน 2556 16:26:23 น.  

 

ขั้นตอนการเก็บกระดูกต่างจากของบ้านเรานิดนึงนะเนี่ย
ว่าแต่ญี่ปุ่นเขาไม่ได้มาทำกระดูกเป็นรูปคนกลับด้านใช่มั้ยคะ

 

โดย: rommunee IP: 171.7.245.186 18 พฤศจิกายน 2556 21:12:28 น.  

 

เรียบ เงียบสงบ วังเวง ท่าทีจะง่ายแต่ก็ไม่ยากเพราะมีมืออาชีพรับจัดให้

เข้าใจว่าเป็นงานศพในเมืองใหญ่ๆนะคะนี่ ถ้าในท้องถิ่นเล็กๆคิดว่าคงเป็นอีกแบบหนึ่งเหมือนในต่างจังหวัดบ้านเรา...รึเปล่า??? คะคุณน้อง

เก็บข้อมูลได้ละเอียดยิบบบบ คุ้มค่ากับการรอคอย


รออ่านB ตลอดนะคะ

 

โดย: aew_ IP: 1.2.148.28 19 พฤศจิกายน 2556 12:10:18 น.  

 

สุดยอดเลยป้าโซ สมแล้วที่รอมานาน เขียนทีอ่านจุใจเลย

ของเค้าดูเป็นพิธีการมากเลยนะครับ ทำผิดนิดหน่อยมีโดนว่าได้ง่ายๆ เลย ของเราได้รับวัฒนธรรมจากทางจีนมาผสมด้วย แถมการเตรียมงานถ้าเตรียมกันเองแค่คนในครอบครัวไม่ทันจริงๆ ครับ เพราะต้องซื้อของสั่งของจัดของเลี้ยงแขก ฯลฯ ทำไม่หยุดยังไม่ค่อยจะทันเลย

เคยได้ยินมาบ้างครับเรื่องซองเงินว่ามันมีวิธีห่อของมันเหมือนกัน เรื่องตะเกียบนี่เป็นความรู้ใหม่เลยล่ะครับ

+

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 19 พฤศจิกายน 2556 22:52:19 น.  

 

สวัสดีครับคุณป้าโซ

อ่านจบก็เอวังไปด้วย พิธีของเขามารยาทมากจังครับ ของไทยเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่แขกที่ไปงานก็มักจะกลายเป็นงานพบปะสังสรรค์กันโดยเฉพาะตอนจวกข้าวต้มกันละคุยกันออกรสเลย ก็นาน ๆจะเจอกันทีในภาวะเศรษฐกิจอ่อย ๆแบบนี้

 

โดย: find me pr 24 พฤศจิกายน 2556 15:51:43 น.  

 

ของเล่นของสะสมของญี่ปุ่นมันน่ารักจริงๆ ครับ

มีคนพูดเล่นๆ ว่ามีแสนหมดแสนมีล้านหมดล้าน อาจจะจริงก็ได้

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 25 พฤศจิกายน 2556 22:26:48 น.  

 

น่าสนใจจริง ๆ ครับ
อยากพาลูกไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วครับ

 

โดย: คนขับช้า 26 พฤศจิกายน 2556 2:55:46 น.  

 

ยาวจริง แต่ทำให้รู้อะไรเยอะเลยครับ

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 3 ธันวาคม 2556 22:21:22 น.  

 

วิ่งตามมาตอบว่า ต้นนั้นชื่อ
หม้อข้าวหม้อแกงลิงครับ

ส่วนของคุณป้าโซที่นี่ ได้แต่สแกนลงมาคร่าวๆ
เดี๋ยวต้องกลับมาอ่านให้จุใจเลย น่าสนใจมาก

 

โดย: nulaw.m (คนบ้า(น)ป่า ) 4 ธันวาคม 2556 15:53:31 น.  

 

กลับไปจัดการงานให้เรียบร้อยแล้วกะจะกลับมา
หลังอาหารเย็น ก็กลับมาแล้วครับ ไม่ชอบ
โกหกตัวเอง แต่โกหกคนอื่นไม่ค่อยแน่ บางที
ก็เพื่อความอยู่รอดน่ะครับ อิอิ

เคยดูหนัง Departures ครับ ได้อ่านด้วย
ได้มาอ่านเรื่องนี้อีก นับว่าได้เติมเต็มความรู้เรื่อง
นี้เลย อ่านจนจบแล้วก็คิดว่า พิธีก็ยุ่งยากไม่
น้อยกว่าของไทย ต้องจำเรื่องตะเกียบไว้ด้วย

ต้องสารภาพว่า อ่านเรื่องงานศพแบบ อ่านไป
ยิ้มไป บางทีก็ 55++ อิอิ ต้องโทษคนเล่าละครับ
ไม่น่าจะมีใครอ่านไม่จบเพราะเบื่อนะครับ

น่าจะได้อ่านตั้งหลายวันแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ติดตาม
หน้ารวม ตกข่าวอยู่เรื่อย ถ้าไม่ได้อ่านเลย จะ
ต้องเสียดายมาก

 

โดย: nulaw.m (คนบ้า(น)ป่า ) 4 ธันวาคม 2556 20:32:13 น.  

 

โอ้โหววว งานศพเขา ขนาดว่าเรียบง่ายนะคะเนี่ย

หนูว่า หรูหรา เลยค่ะ อิอิ

 

โดย: JenNy & Tristan @ The UK 10 ธันวาคม 2556 3:05:34 น.  

 

หายเฮดไปนานเลย กลับบ้านป่าแล้วเข้าเน็ต
ไม่ได้เลย เพิ่งกลับมาก็รีบอัพบล็อกใหม่
กลัวเพื่อนๆ จะเบื่อ

คุณป้าโซสบายดีนะครับ

 

โดย: nulaw.m (คนบ้า(น)ป่า ) 10 ธันวาคม 2556 15:38:08 น.  

 

ยอดเยี่ยมค่ะได้ความรู้จากประสบการณ์ตรง

 

โดย: HongDaYa 12 ธันวาคม 2556 8:03:17 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับ

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 18 ธันวาคม 2556 5:03:23 น.  

 



ว้าว ข้อมูลดีดีทั้งนั้นฮะ

 

โดย: หมีมีเขา 20 ธันวาคม 2556 22:45:24 น.  

 

สวัสดีค่ะป้าโซ

เล่นบล็อกมานาน แต่ไม่ได้ทักทายกันเลยค่ะ
ขอโทษด้วยนะคะ อาจผ่านไป ผ่านมา ไม่ได้เจอกันสักที

ยินดีมากๆค่ะวันนี้ได้ทักทายกันในบล็อกนะคะ

 

โดย: tanjira 25 ธันวาคม 2556 16:35:41 น.  

 

โห ญ ญี่ปุ่นอายุเฉลี่ย 86 เหรอคะเนี่ย
ญ ไทยบ้านเรา 60 ก็ไปแระ แหะๆ


สุขสันต์ปีใหม่ 2557
สุขใจถ้วนหน้า กายาแข็งแรง ปลอดภัยในทุกการเดินทางนะคะ




ขอบคุณ กำลังใจและรอยยิ้ม มิตรภาพดีดีที่มีให้กันมายาวนาน ^^


 

โดย: Rinsa Yoyolive 28 ธันวาคม 2556 1:24:49 น.  

 

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าสองวันครับคุณป้าโซ

สุขภาพแข็งแรง มีความสุขพร้อมรอยยิ้มเสมอนะครับ


Happy new year

 

โดย: find me pr 30 ธันวาคม 2556 12:51:25 น.  

 

สวัสดีปีใหม่ครับป้าโซ ทางป้าโซที่อยู่ที่ญี่ปุ่นคงปีใหม่ก่อนที่ไทย ขอให้มีความสุขตลอดปีที่กำลังจะมาถึงนี้ครับ

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 31 ธันวาคม 2556 20:57:17 น.  

 



ในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2557 นี้
ขออำนวยพรให้คุณป้าโซและครอบครัว
ประสบแต่ความสุขความเจริญ แคล้วคลาดจาก
ภยันตราย และทุกข์ โศก โรคภัยทั้งปวงด้วยเทอญ


 

โดย: nulaw.m (คนบ้า(น)ป่า ) 1 มกราคม 2557 21:59:04 น.  

 

สวัสดีปีใหม่ค่ะป้าโซ

 

โดย: tanjira 2 มกราคม 2557 17:39:21 น.  

 

ขอบคุณเนื้อหาครับ

พอดีหาจาก google เลยเจอกระทู้ของป้า

 

โดย: Bkk IP: 58.8.155.168 12 พฤศจิกายน 2559 11:47:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ป้าโซ
Location :
คุรุเม่ ฟุกุโอกะ Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]




สวัสดีค่ะ ..

ป้าโซอยู่อำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะ ซึ่งอยู่ในเกาะคิวชู เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น

เรื่องราวที่เล่าๆสู่กันฟังนี่ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งสอดแทรกความคิดเห็นเข้าไปด้วย อันไหนไม่เข้าทีก็อ่านผ่านๆไปละกันนะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาค่ะ
New Comments
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2556
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
18 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ป้าโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.