พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
28 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
ตะลุยตลาดน้ำตาลฮ่องกง เทรนด์ราคาโลกพุ่งสวนไทย (รายงานพิเศษ พรเทพ อินพรหม)

ตะลุยตลาดน้ำตาลฮ่องกง เทรนด์ราคาโลกพุ่งสวนไทย

รายงานพิเศษ
พรเทพ อินพรหม



"อ้อยและน้ำตาล" ถือเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทยที่มีการควบคุมดูแลเชิงนโยบายผ่าน "สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย" หรือ สอน. โดยครอบคลุมถึงโควตาการจำหน่ายน้ำตาล ทั้งโควตา ก. โควตา ข. ที่ได้กันส่วนไว้จำหน่ายภายในประเทศ ส่วนน้ำตาลทรายโควตา ค. ซึ่งเป็นสัดส่วนน้ำตาลเพื่อการส่งออกทั้งหมด โดยในฤดูการผลิตปี 2555/2556 ที่มีปริมาณน้ำตาลโควตา ค. รวมกัน 6.7 ล้านตัน



ดังนั้น จึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ สอน.จะต้องกำหนดตลาดส่งออกให้มีประสิทธิภาพที่สุด



เมื่อวันที่ 11-13 ต.ค.2556 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร สอน.ได้บินลัดฟ้าไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะที่เป็นตลาดส่งออกน้ำตาลจากไทยที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยนำคณะไปสำรวจตลาดการค้าน้ำตาล เพื่อดูทิศทางการค้า ทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกในปี 2557



นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ฉายภาพรวมตลาดส่งออกน้ำตาลทราย ฮ่องกง ว่า จากสถิติของ Census and Statistics Department ของฮ่องกง ในปี 2555 ฮ่องกงมีประชากรประมาณ 7.17 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตของประชากร 0.9% โดยประชากรส่วนใหญ่ 95% เป็นคนจีน ซึ่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกาะ มีที่ราบเป็นส่วนน้อยและล้อมรอบด้วยทะเล ทำให้ฮ่องกงมีศักยภาพในการเป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับทำการค้ากับต่างประเทศมากกว่าการเพาะปลูก หรือเกษตรกรรม



สินค้าอุปโภคบริโภคของฮ่องกงจึงต้องนำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทน้ำตาลทราย แม้จะเคยมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่แต่ได้ย้ายฐานการผลิตไปบนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ส่งผลให้น้ำตาลทรายที่วางขายมีราคาจำหน่ายสูงเนื่องจากเป็นการนำเข้ามาจัดจำหน่ายทั้งหมด



จึงไม่แปลกใจเมื่อเทียบราคาจำหน่ายกับประเทศไทย จะพบว่าราคาน้ำตาลทรายของฮ่องกงสูงกว่าของเราเกือบ 7 เท่าตัว



นางวรวรรณกล่าวอีกว่า ในส่วนของน้ำตาลทรายที่เข้ามาในฮ่องกงส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปบรรจุถุงพร้อมจำหน่าย ทั้งแบบครึ่งกิโลกรัมและ 1 กิโลกรัม โดยน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 40 เหรียญฮ่องกง (1 เหรียญฮ่องกงเท่ากับ 4.1 บาท) หรือประมาณ 165 บาท ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายที่มีราคาจำหน่ายถูกกว่าน้ำตาลทรายจากบีท และน้ำตาลจากมะพร้าว (Palm Sugar) อยู่พอสมควร



นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีน้ำตาลทรายชนิดอื่นๆ เช่น น้ำตาลทรายออแกนิก น้ำตาลกรวดและน้ำตาลทรายแดง ซึ่งราคาจำหน่ายปลีกมีราคาสูงกว่าประเทศไทยมากทั้งที่ไม่มีภาษี มูลค่าเพิ่ม



ส่วนน้ำตาลที่วางจำหน่ายในตลาดฮ่องกงนั้นมียอดนำเข้าทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่และประเทศอื่นๆ ข้อมูลในปี 2555 รวมแล้วประมาณ 2.05 แสนตันทั้งในส่วนของน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว โดยประเทศไทยคือหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลทรายขาวไปยังฮ่องกง มีส่วนแบ่งน้ำตาลทรายขาวในตลาดฮ่องกงประมาณ 15% ซึ่งแม้ว่าจะน้อยแต่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกน้ำตาลไปจีน ในปีที่ผ่านมาได้นำเข้าน้ำตาลจากไทย 9.6 แสนตัน



ด้าน นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สอน.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดส่งออกน้ำตาลเมื่อเทียบกับที่ไทยส่งออกไปทั้งหมดนั้นอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มาก เฉลี่ยที่ 15% ส่วนที่เหลือฮ่องกงจะนำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และบราซิล จึงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้น้อย แต่จำเป็นต้องรักษาภาพรวมตลาดการส่งออกน้ำตาลไปยังฮ่องกงไว้ เนื่องจากฮ่องกงเป็นเขตปกครองที่มีการบริโภคสูง ส่วนหนึ่งมาจากยุทธศาสตร์การเปิดประเทศเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ฮ่องกงตลอดทั้งปี



สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลก ปี 2557 พบว่าจากปัจจัยหลายด้านที่ติดตาม อาทิ ภัยธรรมชาติ พายุเข้าอินเดีย จีนประสบปัญหาน้ำท่วม บราซิลที่เป็นประเทศ ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกก็ประสบปัญหาต้นทุนผลิตน้ำตาลสูงขึ้น มีการปิดโรงงานน้ำตาลในบราซิลไป 57 แห่ง ทำให้ภาพรวมกำลังการผลิตน้ำตาลในปี 2557 จึงมีแนวโน้มลดลง ก็จะส่งผลสะเทือนต่อปริมาณสำรองน้ำตาลในโลก ลดลงตามไปด้วย โดยปี 2555 อยู่ที่ 6.5 ล้านตัน แต่ปี 2556 มีแนวโน้มลดเหลือ 2 ล้านตัน จึงเกิดภาวะตึงตัวขึ้น และราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้น



ด้านแนวโน้มราคาและการผลิตน้ำตาลภายในประเทศปีนี้ คาดว่าเดือนต.ค.นี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะสามารถพิจารณาเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2556/2557 ได้



เบื้องต้น สอน.พิจารณาราคาไว้ระหว่าง 860-900 บาทต่อตันอ้อย โดยสอน.จะพยายามกำหนดราคาและประกาศภายในเดือนต.ค.นี้



ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวคำนวณจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ราคาตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18.5 เซนต์ต่อปอนด์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างอ่อนค่าอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าความหวานคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตต่อไร่ (ยิว) 10.5-10.8 ตันต่อไร่ โดยปี 2556-2557 คาดว่าปริมาณอ้อยทั้งปีจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต 2555-2556 ที่ผลผลิตรวมอยู่ที่ 100 ล้านตันอ้อย



"ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ 950 บาทต่อตันอ้อย เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงไม่เห็นด้วย เพราะคำนวณต้นทุนแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,060-1,070 บาทต่อตันอ้อย แต่อยากให้เข้าใจเพราะการคำนวณราคาขั้นต้นจะต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้ว เชื่อว่าจากแนวโน้มหลังจากนี้ราคาขั้นปลายจะสูงกว่านี้จนชาวไร่คุ้มทุนแน่นอน" นายสมศักดิ์กล่าว



นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับกรณีการขอเงินเพิ่มค่าอ้อยโดยวิธีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงเรียกร้องตามปกติ เพราะที่ผ่านมาเคยได้รับเงินเพิ่ม อย่างในปีที่ผ่านมาได้เงินเพิ่มค่าอ้อยอยู่ที่ 160 บาทต่อตันอ้อย คิดเป็นวงเงินกู้รวม 16,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของสอน.ไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ยังมีหนี้เหลือค้างชำระอีก 8 เดือน (พ.ย.2556-มิ.ย.2557) ราว 9,600 ล้านบาท หากมีหนี้เพิ่มจะทำให้ภาระการชำระหนี้ยาวออกไปอีก



อีกเหตุผลที่ชาวไร่ต้องการกู้เงินคือ สถานะการเป็นหนี้จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มน้ำตาล 5 บาทต่อก.ก.ต่อไปได้ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการโยนภาระให้ผู้บริโภค ดังนั้น จึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางใหม่เพื่อเกิดความเป็นธรรม อาทิ การเก็บเงินจากน้ำตาลที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศ



แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเป็นเช่นไร ราคาขั้นต้นในประเทศจะออกมาหน้าไหน อีกไม่นานคงได้รู้กัน!




Create Date : 28 ตุลาคม 2556
Last Update : 28 ตุลาคม 2556 4:10:21 น. 0 comments
Counter : 1061 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.