พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 กรกฏาคม 2556
 
All Blogs
 
แบน! ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ความดัดจริตของคนเมือง…??

แบน! ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ความดัดจริตของคนเมือง…??

กลายเป็นประเด็นร้อนแทบจะทันที หลังจากที่ละครซีรีส์เรื่องดัง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ที่ออกอากาศผ่านกล่องของแกรมมี่ ถูกอนุกรรมการกำกับดูแลเนื้อหาฯ ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกดูเทป ละครเรื่อง 'ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น' เนื่องจากอ้างว่าพบเนื้อหาล่อแหลมอาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตราที่ 37 ที่ระบุว่า

"ห้ามไม่ให้ออกอากาศเนื้อหารายการที่มีลักษณะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง"


ก่อนหน้านี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมบางประการของละครเรื่องนี้เป็นระยะๆ โดยเฉพาะฉากเซ็กซ์ของ 'สไปร์ท' เด็กนักเรียนสาวที่คิดว่าเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องปกติ จนคำว่า “อยากกินสไปร์ทต้องใส่ถุง (ยาง)” กลายเป็นคำฮิต หรือฉากความรุนแรงของตัวละครอย่างไผ่ ที่ชอบยกพวกตีกับคู่อริ แม้กระทั่งฉากไผ่บวชพระก็ถูกรุมกระทืบ ฉากไผ่สูบบุหรี่ ฉากผู้หญิงรุ่นพี่ยกพวกตบรุ่นน้องเพื่อแย่งผู้ชายแล้วถ่ายคลิปประจาน ฉากผู้ชายจูบปากกับผู้ชาย ฯลฯ

ประเด็นก็คือถ้าคุณเป็นแฟนละครซีรีส์เรื่องนี้จริงๆ ดูติดตามตั้งแต่ต้นจนจบตอน คุณคิดว่าละครเรื่องนี้มีเนื้อหา ผิดพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 สมควรถูกแบนหรือไม่? ละครเรื่องนี้เมื่อเทียบกับละครทางฟรีทีวีที่มีมากมายประเภทแย่งผัวแย่งเมีย ตบๆ ตีๆ กรี๊ดๆ วางยาฆ่าแม่ผัว ฮอร์โมนวัยว้าวุ่นมันจะมีความดีสู้ได้บ้างไหม?

กระทั่งคำถามใหญ่ที่ว่าหน่วยงานแบนละครเรื่องนี้ติดตาม เท่าทัน เข้าใจสถานการณ์สังคมสมัยใหม่มากน้อยแค่ไหน? ไทยรัฐออนไลน์พาไปหาคำตอบกับปรากฏการณ์ด่าตามกระแสทั้งๆ ที่ยังไม่เคยดู หรือดูแบบหยาบๆ ที่หลายคนเรียกนิสัยนี้ว่า ความดัดจริตของคนเมือง !!!   

ความดัดจริตของคนเมือง เอะอะแบน! เกินไปหรือเปล่า...?

"ไม่อยากว่าใครแบบนั้น แต่คุณต้องเปิดตาว่าเรื่องจริงมันยิ่งกว่านี้อีกมาก.... " มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล" ผู้กำกับหนังวัยรุ่นน้ำดี ระดับมือรางวัลกล่าวในฐานะผู้มากประสบการณ์ที่ทำงานคลุกคลี และเข้าใจหัวอกคนรุ่นใหม่บอกแบบนั้น

“ถามผมว่าละครเรื่องนี้มันแรงไหม แรงนะ แต่ใช่หรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องที่เราเห็นกันทุกวัน ผมก็ไม่รู้ว่าคนที่ว่าละครเรื่องนี้แรงเป็นคนกลุ่มไหน แต่กลุ่มเป้าหมายของซีรีส์เรื่องนี้เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มาจากสังคมจริงๆ มันไม่ได้เขียนหรือแต่งขึ้นมา ซีรีส์เรื่องนี้มันสะท้อนภาพสังคมของวัยรุ่นในปัจจุบันที่มีความรุนแรง มีเรื่องเซ็กซ์ไปทั่ว ถ้าเราเป็นวัยรุ่นหรือไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไป พวกนี้มันมีอยู่แล้วในสังคม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่ไม่มีใครยกเอามาพูด ที่นี้พอซีรีส์เรื่องฮอร์โมน วัยว้าวุ่น เขานำเสนอผ่านช่องเคเบิลของแกรมมี่ดูผ่านกล่อง จึงไม่มีการผ่านเซ็นเซอร์ แต่ช่องเขาก็ต้องเซ็นเซอร์ด้วยตัวเองระดับหนึ่งอยู่แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ได้เห็นถึงปัญหาจริงๆ เป็นซีรีส์ที่สะท้อนจากความจริงของสังคม ผมเห็นว่าอย่าเป็นกระต่ายตื่นตูมกันเกินไป”


เมื่อถามว่าในรูปแบบการนำเสนอตรงๆ แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนช่องทางมาออนแอร์ในฟรีทีวีจะถูกเซ็นเซอร์ไหม...? ผู้กำกับชื่อดังเชื่อว่า ถ้าฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ออนแอร์ทางฟรีทีวีเราจะไม่มีโอกาสได้ดูเรื่องจริงเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นภาพยนตร์ก็อยู่ในเรตติ้งที่เด็กวัยรุ่นไม่สามารถจะเข้าถึงกันได้ ซึ่งน่าเสียดาย

“ถามว่า ถือเป็นโทษมหันต์หรือเปล่าที่เด็กได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ในระบบที่ไม่มีเซ็นเซอร์ และก็มีการทำละครแบบโจ๋งครึ่ม ในฐานะทำงานกับเด็กมาเยอะ ผมเชื่อว่าดูก็ไม่ส่งผลอะไรมากหรอก เด็กปัจจุบันนี้ไปไกลกว่าในซีรีส์แล้ว แต่ผู้ใหญ่ควรจะดูเพื่อที่จะได้รู้ถึงปัญหา แล้วแก้ปัญหาได้ตรงจุด หรือแบบว่าเราจะมานั่งคุยกัน เรื่องพวกกันนี้จริงๆ จังๆ ได้สักที ไม่ใช่ว่าเรามีแต่ภาพถ่ายให้เด็กดู ให้อ่านก็สงสัย ซึ่งจริงๆ โลกมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาจะได้ถูกแก้ไขสักที บางคนมองว่าเด็กวัยรุ่นมันชั่ว มันเลว ผมคิดว่ามันไม่ได้ชั่วหรือเลวนะ ถ้าเคยผ่านช่วงของวัยรุ่นมาจะรู้ว่าการเป็นวัยรุ่นจะมีฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านมันก็ทำอะไรที่โง่ๆ ได้ทั้งนั้น ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ทำไมเราไม่เอาละครเรื่องนี้สอนเขาว่าเมื่อทำผิดบทเรียนจะเป็นอย่างไร”

มะเดี่ยวย้ำว่า สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า เรื่องราวที่สะท้อนออกมามันก็เหมือนในซีรีส์ และเด็กก็เป็นผลมาจากผู้ใหญ่ทั้งนั้น

“อย่างในละครที่พ่อแม่เด็กของแต่ละคนก็มีวิธีการสอนลูกคนละแบบ ลูกที่มีการสอนจากครอบครัวที่ดี ดูแลดีก็ออกมาดี ส่วนลูกที่มีการสอนที่ไม่ค่อยใส่ใจลูก ลูกก็จะออกมาเหมือนอย่างที่ละครนำเสนอ ส่วนเรื่องเซ็กซ์ของซีรีส์เรื่องนี้ จะมองว่ามันโจ๋งครึ่มเกินไปไหม มีฉากมีเซ็กซ์กันในห้องน้ำโรงเรียนเรียน ในห้องสมุด ในห้องแล็บ ผมอยากจะบอกว่ามันก็ปกติ ถ้าคนพูด หรือทุกๆ คนไม่หลับหูหลับตาจนเกิดไป มันก็ไม่ได้มีอะไรมาก แค่จูบปาก ก็เบาๆ มันรับได้ ไม่ถึงกับเป็นพวก ประเภทอย่างหนังโป๊ หนังเอ็กซ์ หรือหนังอาร์ ต่างๆ ที่หาดูได้ง่ายกว่าซีรีส์เรื่องนี้อีก เราก็เคยคุยกับเด็กถึงฉากเซ็กซ์ที่คนวิพากษ์วิจารณ์ละครเรื่องนี้ เชื่อไหมเด็กหลายคนบอกว่าฉากเซ็กส์ในละครยังเบาๆ อยู่นะ จริงๆ ถ้าเทียบเรื่องเลวร้ายต่างๆ สังคมมันแย่หนักมากกว่านี้ไปไกลแล้ว”

สุดท้ายถามว่าเห็นด้วยกับการแบนละครเรื่องนี้ไหม ผู้กำกับชื่อดังบอกว่า อย่าไปเซ็นเซอร์เลยเพราะอย่างน้อยมันก็ต้องมีช่องทางในการเสพสื่อในหลายๆ รูปแบบบ้าง เพื่อให้คนดูฉลาด สามารถดูแล้ว แยกแยะดีเลวได้ เป็นประชาธิปไตยดี

“ต้องดูแล้วให้เรียนรู้การแยกแยะ ไม่ใช่ว่าแค่สอนให้เด็กเขาแยกแยะ แต่เด็กไม่ได้ดู เขาก็แยกแยะไม่เป็น  เด็กสังคมสมัยนี้เขาโตขึ้น ก็เป็นเด็กที่ผู้ใหญ่คอยห้ามโน่นห้ามนี่ตลอดเวลา ก็เหมือนสังคมไทยเด็กวัยรุ่น ของซีรีส์ฮอร์โมนฯ มันก็ไม่ต่างกันอะไรกัน ก็เหมือนวิธีการเลี้ยงลูกอยู่หนึ่งครอบครัวในซีรีส์ฮอร์โมนฯ ที่สะท้อนว่า เด็กที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ดูนั่นไม่ให้ดูนี่ แต่จริงๆ แล้วเด็กมันโต ไปไกลกว่าที่ผู้ใหญ่รู้ เขาคิดได้เอง แยกแยะได้เอง เขาได้รับรู้อิทธิพลจากสื่อต่างๆ ไกลกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่เสพอีก แล้วเมื่อเทียบกับซีรีส์ของเมืองนอกความแรงซีรีส์ของไทยแทบจะเทียบไม่ติด ไม่ได้ครึ่งหนึ่งของเมืองนอกเลยอย่างซีรีส์ของอังกฤษ เขาไม่ได้สั่งสอนเลยว่าตัวละครอะไรทำผิด ทำถูก จะชั่ว หรือเลว แต่เขาให้คิดเอาเองได้ แล้วถ้าเทียบกับซีรีส์ในไทย"


“จริงๆ แล้วเรื่องเซ็กซ์ของผู้หญิงในซีรีส์ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายป๊อปปูล่าร์ ทั้งโรงเรียน ถามว่ามันเป็นการสะท้อนของเด็กในสังคมไทยจะมีการเลียนแบบ อยากคิดอยากลองรึเปล่า ผมคิดว่าผู้หญิงเดี๋ยวนี้ ล่าแต้มกันก็มี ยิ่งเด็กม.ต้น แล้วล่าแต้มเด็กผู้ชาย ซึ่งสังคมแบบนี้ สมัยนี้ มีเยอะก้าวกระโดดไกล แรงกว่ากว่าซีรีส์เรื่องนี้อีก” ผู้กำกับหนังวัยรุ่นมือรางวัลกล่าวสรุป

อย่ากระแดะ อย่าแบน ยอมรับความจริง หาทางออกให้สังคม!

“ฉากมีอะไรกันในห้องเรียน เทียบกับภาพคลิปโป๊ ความรุนแรงในโลกไร้สายที่หาดูง่าย แรง เลว ร้ายกว่านี้เยอะแล้วจะแบนละครตีแผ่เรื่องนี้เลยหรือ ผมไม่เห็นด้วย...” ครูยุ่น มนตรี สินทวิชัย ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ผู้ริเริ่มโครงการบ้านคุ้มครองเด็ก ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กสะท้อนในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อเด็กและเยาวชนมากประสบการณ์กล่าวพร้อมกับย้ำว่า สังคมอย่าปิดหูปิดตากระแดะจนปฏิเสธการเรียนรู้จนเกินไป

“ผมดูแล้ว ฉากที่ใครๆ บอกว่ามีเซ็กซ์กันในห้องเรียน ในโรงเรียน มีฉากโจ๋งครึ่มมากมาย จริงๆ มันไม่ได้สะท้อนถึงความแรงและมันก็ไม่ใช่ภาพที่โจ๋งครึ่มอะไรทั้งสิ้น โดยเนื้อหาที่เขาทำสะท้อนความเป็นจริงของสังคม และเมื่อเทียบกับพวกที่เป็นภาพ-คลิปอื่นๆ ในโซเชียลและโลกออนไลน์ที่มีอยู่อย่างมากมาย และหาดูง่ายมากๆ มันแรงกว่านี้เยอะ แรงเลวร้ายชนิดเทียบกันไม่ติด บางทีมาโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจ ผมว่าช่องทางออนไลน์ แรงกว่านี้หลายเท่า ทั้งเรื่องเพศและความรุนแรง ผมว่าลึกๆ แล้วทุกคนก็น่าจะรู้ปัญหาดี แต่ว่าเวลาที่เป็นสื่อเราไม่พูดกันซะที น่าแปลกที่เวลาออกมาเป็นภาพคนมองว่าผิด เนื้อหาแบบนี้ ผมกลับมองว่า เรากล้าที่จะยอมรับไหมกับสังคมวัยรุ่น สังคมที่จะมีกำลังซื้อสำหรับคนชั้นกลาง ก็มีปัญหาแบบนี้นะ ซึ่งอาจจะมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนที่ละครออกหลายปีแต่ไม่มีใครนำมาสร้าง แค่เวลามีคนสะท้อนออกมา ก็วิพากษ์วิจารณ์กันเฉพาะที่ออกมาเป็นสื่อ แต่เราไม่ได้หยิบขึ้นมาดูว่า จริงๆเป็นขนาดนี้เลยหรอ ไม่ตามไปดูว่าเรื่องจริงมันเป็นยิ่งกว่านี้หรือเปล่า หรือกระตือรือร้นว่าเราจะมีการแก้ปัญหายังไง เอะอะก็จะแบน”

เมื่อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเซ็กซ์ โดยเฉพาะมีการใส่ชุดนักเรียนมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์กันในห้องเรียน ในฐานะนักวิชาการนักเคลื่อนไหวที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนมาหลายสิบปีคิดอย่างไร


“อย่ากระแดะทำรับไม่ได้จนเกินไป ผมอยากจะบอกว่ามันก็มีนะในสังคมเดี๋ยวนี้ มีเพียบแต่ถ้าเรายอมรับมีจริงไหม ต้องทำให้เห็นว่าไม่ได้มีกันทุกคน แต่คงเป็นปัญหา แล้วอาจลามไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการหาทางออกกับเรื่องเหล่านี้ จริงๆ แล้วการศึกษา ควรจะมีการเน้นการแก้ปัญหาให้เด็กในส่วนนี้ด้วย ถามว่าคิดว่าจะมีข้อเสียหรือมีการเลียนแบบของซีรีส์เรื่องนี้รึเปล่า มี 2 อย่างที่มองเห็น 1.ความรุนแรง 2.เซ็กซ์ ซึ่งเมื่อคุณไปละเมิด แล้วคุณไม่รับผิดชอบ อันนี้ผมว่าจะเป็นค่านิยมที่พ่อแม่ต้องระวังให้มาก แต่ถ้าไปละเมิดหรือล่วงเกินใดๆ แล้ว มีความรับผิดชอบ มันก็เวิร์กนะ ละครต้องสะท้อนตรงนี้ให้มันชัด โดยทัศนะผม ผมไม่เชื่อว่าคนที่เขาอาจจะใจแตกหรือคนที่อาจจะพลั้งพลาด จะเป็นตัววัดความดี ความเลวของคน ผมไม่เชื่อ เพราะว่าผู้ใหญ่ที่เห็นในทีวีบางคนก็แย่กว่าเด็กที่พลาดพลั้งไปก็มีให้เห็นมากมายไม่เห็นพูดอะไร”

สุดท้าย ครูยุ่น เสนอด้วยว่า ข้อแนะนำในการชมละครเรื่องนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรชมอย่างพิจารณาและพยายามหาช่องทางว่าอะไรที่ทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนหรืออะไรที่เราเดือดร้อน เขาได้สะท้อนมาแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะเจอตัวละครแบบในหนังที่พลาดเราก็อย่าไปซ้ำเติมหรือประณามเขาเลย มาช่วยเขาดีกว่า

“บางทีเด็กก็อ่อนต่อโลก สมมติว่าการที่พลาดไป หลายกรณีเขาก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ทำไมถึงถูกประณามกันอย่างหนักจากคนรอบข้าง ผมว่ามันไม่แฟร์ บางคนที่ทำอะไรแอบๆ ซ่อนๆ หรือบางทีผู้ใหญ่ที่วิจารณ์เด็กมันแย่ยิ่งกว่า เวลามีปัญหาก็กลับไปนินทาเด็ก ดังนั้น ผมอยากให้ดูละครเรื่องนี้แล้วก็ไปจับกลุ่มวิพากษ์หาทางออกให้กับปัญหา และที่สำคัญอย่าไปประณามเด็กที่พลาด จงดูว่าผู้ใหญ่แบบเราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ในส่วนของผู้ผลิตละครก็อยากจะฝากว่าผมเห็นละครเรื่องนี้สร้างตอนจบแบบหาทางออกให้เด็กแบบแหลมคมให้กับแต่ละปัญหา เด็กที่ตกเป็นเหยื่อจะได้ไปเลือกใช้คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ เหมือนการสร้างโลกจำลองจากหนังเรื่องนี้แล้วเรียนรู้กับมัน ผมว่าจะเป็นเครื่องคุณูปการให้กับสังคมมากๆ อย่าไปตามกระแสที่บอกว่าดูไม่ได้แล้วแบนเลย กระแดะไป ช่วยกันยอมรับว่าปัญหามันมีอยู่จริงๆ และเรียนรู้และรวมมือแก้ไขกันดีกว่า ดีกว่าเอะอะแบนไป” นักเคลื่อนไหวเพื่อเด็กและเยาวชนชื่อดังกล่าวสรุป

จริตคนเมือง–มุมจิตวิทยาห่วงเด็กเลียนแบบจริง แต่ไม่เลวร้ายขนาดต้องแบน

ขณะที่ในมุมของจิตแพทย์ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง กล่าวว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับการแบนละครเรื่องดังเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องไม่ลืมก็คือ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่นมันก็เป็นเหมือนดาบสองคม โดยเฉพาะความน่ากลัวของมันอยู่ที่ความเป็นละครซีรีส์ยาวนั่นเอง

“ความเป็นซีรีส์พอละครมันยาวปุ๊บ คนจะคิดว่าติดตามได้เรื่อยๆ ถ้าคุณไม่ดูตอนจบคุณดูแต่กลางๆ คุณก็จะได้แบบกลางๆ แล้วเมื่อคุณดูหนังในโรงคุณดูตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่องภายในชั่วโมงครึ่ง มันเห็นภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่นี่เป็นเคเบิล เป็นดาวเทียม ความน่ากลัวอยู่ที่เด็กๆ สามารถเปิดดูได้ กลุ่มวัยรุ่นที่ดูเราไม่ห่วงเท่าไร เนื่องจากเขารู้ว่าทำแล้วเป็นอย่างไร แต่ในกรณีเด็กเล็กๆ เช่นอายุระหว่าง 3-5 ขวบเป็นวัยจดจำและเลียนแบบไม่ควรให้ดูอย่างยิ่ง อายุระหว่าง 9-10 ขวบขึ้นไป แม้วัยนี้จะเริ่มเข้าใจเหตุผลมากขึ้นแล้ววิธีการที่เขาจะไปเลียนแบบก็ไม่ค่อยน่ากลัวสักเท่าไร่ แต่ถ้าถามว่าปลอดภัย 100% ไหม มันก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ว่าถ้าเทียบกับเด็กเล็ก เด็กเล็กมีความเสี่ยงที่มากกว่า”


จิตแพทย์ชื่อดังแนะนำวิธีแก้ไขด้วยว่า อย่างที่บอกตนไม่เห็นด้วยกับการแบน และก็ไม่ได้ห้ามดูซะทีเดียว เพราะถ้าจะให้ดี อยากให้ผู้ผลิตลดฉากที่มีความรุนแรงและเซ็กซ์ลงไปกว่านี้ แม้ว่าละครเรื่องนี้จะดีกับพ่อ-แม่ หรือ ครู-อาจารย์ดู แต่ถ้าเกิดว่าเราไปให้เด็กเล็กๆ ดู บางทีเขาก็อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเขาชื่นชอบซึ่งเป็นเรื่องอันตราย

“จริงๆ มันไม่มีหนังหรือละครประเภทไหนดีสำหรับทุกคน ดังนั้นผู้ทำละครควรต้องทำการบ้านเยอะขึ้น ซึ่งในประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ละครดี หนังดีคืออะไร รูปแบบการเขียนบท การรวมกันของบทประพันธ์ และบทโทรทัศน์ หรือว่าการใช้ตัวละครที่มาแสดง เขาไม่ได้ใช้ตัวละครที่ดังมาก คนดูจะเริ่มสนใจเนื้อหา แต่เมื่อไหร่ที่ใช้ตัวละครที่ดังมากๆ คนดูจะไม่สนใจเนื้อหาหันมาสนใจดาราแทน พอสนใจดาราแทนปุ๊บ สิ่งที่แฝงมามันไม่ใช่การนำเสนอเรื่องราวที่ให้ข้อคิด แต่เป็นการนำเสนอโปรโมตช่อง นี่มันคือจุดของการขาย ก็ขึ้นอยู่กับว่าธีมของช่องนั่นจะขายอะไร ถ้าคุณจะขายสินค้า หรือ มาร์ เก็ตติ้งคุณจะไม่แคร์สังคม ก็จะใช้ดาราดังๆ มาทำ มันเป็นแง่มุมทางจิตวิทยา ซึ่งบางละครมันไม่ตื่นเต้นเป็นดาราที่ไม่รู้จักแต่เขาแสดงได้ดี เนื้อหาดี เราจะปลื้มและประทับใจมาก ในขณะที่เราไปถามคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้คิด แบบนี้เขาจะรู้สึกว่าไม่มีดาราที่รู้จักเลย ไม่ได้เรื่องเลย มันก็ขึ้นอยู่กับการมอง บางคนเขาไม่สนใจเลยว่าดาราเขาจะดังหรือไม่ดัง ถ้ามีแง่มุมทางจิตวิทยาปุ๊บเราจะปลื้มมาก บางคนคิดว่าดาราจะดังไม่ดังไม่สำคัญแต่ในเรื่อง มีเรื่องของแฟชั่นเยอะ ชอบ อันนี้ก็ขึ้นกับกับความชอบของแต่ละคน เราจะไปตัดสินว่า คนนี้ผิด คนนี้ไม่ดี หนังไม่ได้เรื่องเลย เราคิดกันตื้นเกินไป "นี่คือวิธีคิดของคนไทย" แต่ต่างชาติเขาไม่ได้คิดแบบนี้เลย”

เมื่อถามย้ำอีกว่าละครเรื่องนี้สมควรจะถูกแบนไหม ในทัศนะของจิตแพทย์ผู้นี้บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการแบนใช่ไหม...?

“อย่างที่บอกละครเรื่องนี้มีข้อดีอยู่ แต่ว่าอาจจะปรับความหวือหวาลงไปนิดหนึ่ง ถ้าปรับลงไปได้ ก็สามารถนำเสนอต่อได้ แม้จะขอให้จริงใจให้การแก้ไขจริงๆ ไม่ใช่แค่เอาพระมาพูดปิดท้ายเหมือนละครที่สังคมวิจารณ์ว่ารุนแรง แต่ก็ไม่ได้ปรับบทรุนแรง ล่อแหลมให้น้อยลง หรือเมื่อถูกสังคมวิจารณ์แล้วเอากระเช้าดอกไม้ไปไหว้กรรมการ การแก้ไขปัญหาแบบนี้มันไม่จริงใจ แต่ถ้าปรับก็ฉายต่อได้ และสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปก็คือ องค์กรอย่าง กสทช. ถ้าจะสั่งแบนละครเรื่องนี้ คุณต้องกล้าหาญในการแบนละครของช่องฟรีทีวีที่ทำแต่เรื่องบ้าๆ บอๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ที่ผ่านมา กสทช.ยังไม่ได้ทำตัวเป็นกลางและตอบคำถามเรื่อง 2 มาตรฐานได้อย่างชัดเจน คุณจะมายุ่งแต่เรื่อง ฮอร์โมนฯ และที่ผ่านมาแม้กระทั่งเรื่อง คอรัปชัน ลอยหน้าลอยตาเรื่องการตบตี ด่าพ่อ ด่าแม่กัน โหด กสทช.ก็ไม่เห็นทำอะไรฉายกันได้ทุกวัน ไม่ใช่ว่าไม่พอใจตรงนี้ ตรงนี้ไม่ดี ก็ตัดสินเลย ก็จะเกิดปัญหาและขาดความน่าเชื่อถือ” จิตแพทย์ชื่อดังกล่าวในที่สุด

และทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของคนที่ติดตามละครเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แล้วออกมาให้ความคิดเห็น พร้อมชี้ให้เห็นถึง 'การมีอยู่' ของละครตีแผ่สังคมนักเรียนวัยรุ่น บทสรุปจึงอยู่ที่ว่า ก่อนพิพากษาว่ามันดีหรือเลว คุณจะ "ดู" และหยิบข้อดี ข้อเสียมันมาใช้เป็นอุทาหรณ์สอนใจตัวเอง บุตรหลาน คนใกล้ชิด หรือ จะแค่ดูแล้ว "ปิดหูปิดตา" ตัวเองต่อไป แล้วก็ด่าตามกระแส ตามจริตผิดๆ เช่นเคย.


**รู้ไว้ใช่ว่า**

ซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น (15 ตอน) กำกับการแสดงโดย ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับมากฝีมือ เล่าเรื่องชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมชาย-หญิงตัวแสบๆ ในรั้วโรงเรียนในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ทั้งเรื่องเซ็กซ์, เพื่อน, ความรุนแรง, ครอบครัว, ความคะนอง, ความผิดหวัง, ความสมหวัง, ความรัก, ความเกลียด, ความฝัน อารมณ์และเรื่องราวสับสนโลดโผนต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่นชื่อดังและนักแสดงรุ่นใหม่สังกัดค่าย GTH อย่างมากมาย

1.พีช พชร จิราธิวัฒน์ รับบทเป็น วิน พระเอก หนุ่มหล่อ เจ้าเสน่ห์ประจำโรงเรียน มีนิสัยชอบบงการ และทำตัวเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง ซึ่งเป็นคู่ปากคู่ปรับกับของขวัญ (แพทตี้)

2.แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา รับบทเป็น ของขวัญ นางเอก นักเรียนดีเด่นประจำโรงเรียน ที่เก่งไปซะทุกด้าน เป็นสาวเพอร์เฟกต์ผู้เป็นที่รักของทุกคน แถมในเรื่องยังเป็นคู่กัดกับ วิน (พีช) เพราะทั้งคู่ถือเป็นหนุ่มฮอต-สาวป๊อป ประจำโรงเรียน ที่ไลฟ์สไตล์ต่างกันมากเหลือเกิน

3.ปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์ รับบทเป็น เต้ย เด็กผู้หญิงที่ไม่เข้าใจนิสัยเพื่อนผู้หญิง และจะสบายใจมากกว่าเมื่ออยู่กับเพื่อนผู้ชาย แต่ก็ทำให้ใคร ๆ เม้าท์กันว่าเป็นคน "แรด"

4.กันต์ ชุณหวัตร รับบทเป็น ต้า เด็กหนุ่มผู้มีกีตาร์เป็นความฝัน และใช้ความรักเป็นแรงผลักดัน

5.ไมเคิล ศิรชัช เจียรถาวร รับบทเป็น หมอก เด็กชายที่ชอบหมกตัวอยู่ในโลกส่วนตัวมากกว่าใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง

6.มาร์ช จุฑาวุธ ภัทรกำพล รับบทเป็น ภู เด็กหนุ่มที่น่ารัก เฟรนด์ลี่ มีอารมณ์ขัน แต่กำลังสับสนว่าชีวิตควรเลือกเดินทางไหน

7.ฝน ศนันทฉัตร ธนพัฒน์พิศาล รับบทเป็น ดาว วัยรุ่นที่มองโลกว่าสวย จนเมื่อเจอเหตุการณ์บางอย่าง โลกของเธอก็เลยเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ!!

8.ต่อ ณัฐนันท์ ลีรัตนขจร รับบทเป็น ไผ่ เด็กหนุ่มเลือดร้อนที่คิดว่าการใช้กำลังคือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

9.เก้า สุภัสสรา ธนชาต รับบทเป็น สไปร์ท เด็กสาวฟรีเซ็กซ์ที่มองว่า ความรักและเซ็กซ์คือสิ่งสวยงาม




Create Date : 27 กรกฎาคม 2556
Last Update : 27 กรกฎาคม 2556 1:38:34 น. 0 comments
Counter : 2893 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.