พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
29 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 
เพลงสุดท้ายของ 'นกจับคอน'...!

เพลงสุดท้ายของ 'นกจับคอน'...!

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 ยุโรปตะวันออกมีสภาพอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 50 ปี ห่านซึ่งปกติแล้วจะใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวในหุบเขาริมแม่น้ำดานูบ ต้องบินหนีความหนาวเย็นลงไปทางใต้ ห่านราว 50,000 ตัว ร่อนลงสู่ที่ราบหลายแห่งในแอลเบเนีย ในสภาพอ่อนล้าและหิวโหย ทุกตัวถูกฆ่าจนหมดสิ้น และนำไปขายให้ร้านอาหาร

เส้นทางบินของนกอพยพทางตะวันออกสุดของยุโรปจะผ่านคาบสมุทรบอลข่าน และแนวชายฝั่งทะเลเอเดรียติกในแอลเบเนีย ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลสาบและที่ราบชายฝั่งอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง เป็นเวลาหลายพันปีแล้ว ที่นกซึ่งเดินทางขึ้นเหนือมาจากแอฟริกาจะแวะพักสะสมพลังงานที่นี่ ก่อนบากบั่นข้ามเทือกเขาดิแนริกแอลป์ไปยังแหล่งผสมพันธุ์ และจะกลับมาแวะที่นี่อีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง ก่อนเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้ระบอบเผด็จการของเอนเวอร์ โฮซา ที่ยาวนาน 40 ปี ทำลายโครงสร้างทางสังคมและประเพณีของแอลเบเนียก็จริง แต่ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่ถือว่าเลวร้ายสำหรับนก เนื่องจากโฮซาสงวนการล่าสัตว์และการถือครองอาวุธปืนส่วนบุคคลไว้เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัวเขา และพวกพ้องที่ได้รับความไว้วางใจเพียงไม่กี่คน อีกทั้งความล้าหลังของระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ของแอลเบเนีย ตลอดจนการไร้วี่แววของนักท่องเที่ยวต่างชาติตามชายหาดต่างๆ ยิ่งเป็นหลักประกันว่า ถิ่นอาศัยตามแนวชายฝั่งจะคงความสมบูรณ์เช่นเดิม

ทว่า หลังจากโฮซาเสียชีวิตในปี 1985 แอลเบเนียประสบความยากลำบากในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเติบโตขึ้น วิธีหนึ่งที่คนหนุ่มรุ่นใหม่ในกรุงติรานาใช้แสดงออกถึงเสรีภาพและความมั่งคั่งคือ การซื้อปืนลูกซองราคาแพง  และนำมาใช้ทำสิ่งที่ในอดีตมีแต่อภิสิทธิ์ชนเท่านั้นถึงจะทำได้ นั่นคือการล่านก

อันที่จริง กระทรวงสิ่งแวดล้อมของแอลเบเนียให้ความคุ้มครองถิ่นอาศัยมากพอจะเกื้อหนุนประชากรจำนวนมาก ทั้งนกอพยพและนกที่ทำรังวางไข่ แต่โชคไม่ดีที่กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากการที่พรานชาวอิตาลี ซึ่งบ้านเกิดมีกฎหมายของสหภาพยุโรปคุ้มครองอยู่มักหูตาไว และเข้ามาฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์หลังโฮซาเสียชีวิต

นอกจากความเสียหายค่อนข้างรุนแรงและฉับพลันที่พรานชาวอิตาลีสร้างไว้ในแอลเบเนียแล้ว พวกเขายังนำรูปแบบการล่าชนิดไม่เลือกและวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยให้การล่าสัมฤทธิ์ผลเข้ามาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องเล่นเสียงนก ซึ่งดึงดูดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพจนน่าใจหาย อุปกรณ์ทันสมัยผสานกับปืนลูกซองราว 100,000 กระบอก และอาวุธชนิดอื่นอีกมากมายได้เปลี่ยนแอลเบเนียให้เป็นหลุมพรางขนาดยักษ์สำหรับดักสรรพชีวิตที่อพยพมาสู่ยุโรปตะวันออก

กระนั้น สถานการณ์ในแอลเบเนียยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง พรานหน้าใหม่หลายคนดูจะตระหนักว่า ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว ได้แก่ การให้การศึกษาที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และในอนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ความต้องการพื้นที่ธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และประชากรนกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่อนุรักษ์อย่างจริงจัง

ไกลลงไปทางใต้ ความหวังกลับดูรางเลือน เช่นเดียวกับแอลเบเนีย ประวัติศาสตร์และการเมืองของอียิปต์เป็นไม้เบื่อไม้เบากับการอนุรักษ์มาตลอด แม้อียิปต์จะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่ว่าด้วยการควบคุมการล่านก แต่ก็เป็นเพียงในนามเท่านั้น ความขุ่นข้องหมองใจที่มีมาอย่างยาวนานต่อลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรป ผนวกกับความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมมุสลิมเคร่งศาสนากับเสรีภาพแบบตะวันตกที่สั่นคลอนอำนาจรัฐบาลเผด็จการ ส่งผลให้รัฐบาลอียิปต์มีแนวโน้มที่จะไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิวัติในอียิปต์เมื่อปี 2011 พุ่งเป้าไปที่การต่อต้านอำนาจตำรวจอียิปต์ โดยเฉพาะ มุฮัมมัด มูร์ซี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะบังคับใช้กฎหมายใดๆ อย่างเข้มงวด เขามีเรื่องอื่นให้กังวลเร่งด่วนกว่าเรื่องสัตว์ป่า


ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา การล่านกอพยพทุกขนาดยังคงเป็นประเพณีสำคัญที่สืบสานกันมาตั้งแต่โบราณกาล ตราบเท่าที่การล่านกยังคงใช้วิธีดั้งเดิม (การใช้ตาข่ายถักด้วยมือ ไม้ชุบกาว และกับดักขนาดเล็กทำจากกก และเดินทางโดยอูฐ) ผลกระทบที่มีต่อประชากรนกวัยเจริญพันธุ์ในยูเรเชียก็อาจยังพอรับไหว แต่ปัจจุบันปัญหาอยู่ที่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อช่วยให้ล่านกได้มากขึ้น ขณะที่ประเพณีการล่านกแบบดั้งเดิมยังคงอยู่

เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางข้ามทะเลทรายในอียิปต์ใช้รถบรรทุกแทนอูฐกันแล้ว ต้นไม้หรือพุ่มไม้ขนาดพอเหมาะเกือบทุกต้น จะมีพรานแวะมาล่านกเสมอในช่วงที่มีนกอพยพเข้ามามากที่สุดในฤดูใบไม้ร่วง ในทำเลดีๆ อย่างโอเอซิสอัลมะเฆราะห์ ซึ่งมักมีพรานมาชุมนุมกันหลายสิบคน พรานคนหนึ่งอาจยิงนกขมิ้นได้มากกว่า 50 ตัวต่อวัน

ตอนที่ผมไปเยือนอัลมะเฆราะห์เข้าสู่ช่วงปลายฤดูแล้ว แต่ “นกต่อ” ของนกขมิ้น (โดยปกติแล้วคือซากนกเพศผู้มัดไว้กับกิ่งไม้) ยังคงล่อนกขมิ้นเข้ามาได้หลายตัว และพรานก็ยิงด้วยปืนลูกซองแทบไม่พลาดเป้าเลย เมื่อดูจากจำนวนพรานที่มากขนาดนี้ก็เป็นไปได้ว่า ในแต่ละปีเฉพาะที่นี่แห่งเดียวอาจมีนกขมิ้นถูกฆ่าไปถึง 5,000 ตัว และหากพิจารณาจากจำนวนแหล่งล่านกในทะเลทรายอีกหลายสิบแห่ง ประกอบกับการที่นกชนิดนี้ขายได้ราคาดีตามเมืองชายฝั่งของอียิปต์ จำนวนนกที่ถูกล่าในอียิปต์น่าจะคิดเป็นสัดส่วนมากพอดูจากประชากรวัยผสมพันธุ์ของนกชนิดนี้ในยุโรปซึ่งมีอยู่ราวสองถึงสามล้านคู่

ที่ชานเมืองเอลดะบะฮ์ ผมไปเยือนไร่ของชายไว้เคราสีดอกเลาผู้หนึ่ง ซึ่งดักนกได้มากถึงขนาดเลี้ยงครอบครัวของลูกชายทั้งหกคนให้อิ่มหนำแล้ว ยังมีเหลือไปขายที่ตลาดอีก เขาใช้วิธีขึงตาข่ายผืนมหึมาคลุมต้นสนหมอกสูงๆ แปดต้นและพุ่มไม้ขนาดเล็กอีกหลายกอล้อมรอบสวนมะเดื่อและสวนมะกอก ดวงอาทิตย์แผดกล้า นกจับคอนอพยพมาจากชายฝั่งใกล้เคียงเพื่อหาที่พัก เมื่อเข้าหาต้นไม้ต้นหนึ่งไม่ได้เพราะติดตาข่าย พวกมันก็บินไปอีกต้นหนึ่ง กระทั่งถูกจับในที่สุด


ผมใช้เวลาสองสามวันก่อนเดินทางออกจากอียิปต์ ขลุกอยู่กับพรานจับเหยี่ยวชาวเบดูอินในทะเลทราย แม้กระทั่งตามบรรทัดฐานของชาวเบดูอิน การจับเหยี่ยวถือเป็นงานอดิเรกของผู้ชายที่มีเวลาว่างมาก บางคนจับมา 20 ปีแล้ วแต่ก็ยังไม่เคยจับได้เหยี่ยวที่มีราคาแพงสองชนิด ได้แก่ เหยี่ยวเซเกอร์และเหยี่ยวเพเรกริน ซึ่งพ่อค้าคนกลางที่คอยจัดหาเหยี่ยวให้มหาเศรษฐีนักเลี้ยงเหยี่ยวชาวอาหรับมักให้ราคาสูงลิ่ว

การดักเหยี่ยวจำเป็นต้องใช้นกขนาดเล็กจำนวนมากเป็นเหยื่อล่ออย่างทารุณ โดยพรานจะผูกนกพิราบไว้กับหลักที่ปักไว้ในทราย และปล่อยไว้กลางแดดเพื่อล่อนกนักล่าทั้งหลาย ส่วนนกเขาและนกกระทาจะผูกสายรัดที่เต็มไปด้วยบ่วงไนลอนเล็กๆ หลายอันสำหรับรัดเท้าเหยี่ยวเซเกอร์ หรือเหยี่ยวเพเรกริน ส่วนเหยี่ยวขนาดเล็ก เช่น เหยี่ยวแลนเนอร์ หรือเหยี่ยวเคสเทรล พรานจะเย็บตาพวกมันให้ปิดสนิทและผูกเหยื่อล่อที่มีบ่วงติดไว้กับขาข้างหนึ่งเพื่อถ่วงน้ำหนัก พรานจะขับรถกระบะไปในทะเลทราย เพื่อตระเวนดูนกพิราบที่ผูกไว้กับหลัก และหยุดรถลงไปขว้างเหยี่ยวเคสเทรล (ที่ทำให้) พิการขึ้นไปในอากาศเหมือนลูกฟุตบอล เพื่อล่อเหยี่ยวเซเกอร์ หรือเหยี่ยวเพเรกริน เพราะเหยี่ยวเคสเทรลที่ตาบอด แถมยังต้องแบกน้ำหนักจะบินไปไหนไม่ได้ไกล

พรานคนหนึ่งพยายามป้อนอาหารให้เหยี่ยวเคสเทรลตาบอดและเหยี่ยวนกกระจอกตาบอดที่อยู่ภายในเต็นท์กับเรา แต่ไม่ว่าจะพยายามยัดเยียดเนื้อนกไปที่ใบหน้าของเหยี่ยวนกกระจอกมากเพียงใด ก็ดูจะไม่สามารถหลอกล่อให้มันกินได้เจ้าเหยี่ยวง่วนอยู่กับการจิกเชือกที่มัดขาของมันไว้ ผมอดคิดไม่ได้ว่าการดิ้นรนของมันดูช่างไร้ผล อย่างน้อยก็จนกระทั่งหลังมื้อกลางวัน จู่ๆ ก็มีเสียงตะโกนโหวกเหวก ผมหันไปเห็นเหยี่ยวนกกระจอกตัวนั้น บินหนีออกจากเต็นท์เข้าไปในทะเลทราย


พวกพรานบึ่งรถกระบะไล่ตามไปทันที เหตุผลหนึ่งเพราะนกตัวนั้นมีค่ามากสำหรับพวกเขา แต่อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ความหวังแก่ผมคือ เพราะเหยี่ยวตาบอดไม่อาจมีชีวิตรอดได้ด้วยตัวเอง และพวกเขารู้สึกผิดพวกพรานขับรถลึกเข้าไปในทะเลทรายเรื่อยๆ พวกเขารู้สึกกังวลกับเหยี่ยวนกกระจอกตัวนั้น และหวังว่าจะพบตัวมันแต่ความรู้สึกของผมกลับระคนกันไป ใจหนึ่งผมรู้ว่าหากมันหนีไปได้ และไม่มีพรานกลุ่มอื่นมาพบเข้า มันจะตายในไม่ช้า แต่อีกใจหนึ่งผมคิดว่า ความปรารถนาจะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง ก็เป็นดั่งลมหายใจและคุณค่าความหมายของความเป็นนกป่า ยี่สิบนาทีต่อมา เมื่อพรานคนสุดท้ายกลับมามือเปล่า ผมบอกตัวเองว่าอย่างน้อยเจ้าเหยี่ยวตัวนั้นก็มีโอกาสได้ตายอย่างเสรี

เรื่อง โจนาทาน แฟรนเซน ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์ ข้อมูลจากเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย




Create Date : 29 มิถุนายน 2556
Last Update : 29 มิถุนายน 2556 2:03:03 น. 0 comments
Counter : 1730 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.