พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
2 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
พืชมงคล” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ธำรงวิถีชีวิต “เกษตรกร” ผู้ผลิตอาหารหลักของโลก

“พืชมงคล” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ธำรงวิถีชีวิต “เกษตรกร” ผู้ผลิตอาหารหลักของโลก




“ศรัทธา-ความเชื่อเป็นพืชพันธุ์ข้าวปลูกของเรา ตบะ-ความเพียร เผาบาป เป็นเมล็ดฝน ปัญญา-ความรอบรู้เป็นแอกและไถ หิริ-ความละอายใจ เป็นงอนไถ เป็นเชือกถัก สติ-ความระลึกได้ เป็นผาลและปฏัก เราจะระวังกาย ระวังวาจาและสำรวม ระวังในอาหาร ทำความสัตย์ให้เป็นท่อไขน้ำ เป็นพาหนะนำไปสู่ที่อันเกษม จากเครื่องผูกพันที่ไปไม่กลับ ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถของเราเช่นนี้มีผลเป็นอมตะมิรู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ” นี่เป็นคาถาภาษาบาลีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ที่ได้ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่กสิภารทวาชพราหมณ์ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิษฐานในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล

เพื่อสร้างสิริมงคลให้แก่การทำนา และให้พืชผลที่เพาะปลูกของประเทศไทยเกิดความเจริญงอกงาม อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ แก่เกษตรกรหรือชาวนาผู้ที่มีอาชีพปลูกข้าว อาชีพที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ ในสังคมเกษตรกรรม

ฉะนั้นเมื่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวเวียนมาถึง ประเทศไทยโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์จะให้ความสำคัญต่อช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และกำหนดให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา พิธีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนเป็นประเพณีที่สำคัญและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่มีเหตุให้งดจัดงานระหว่างปี พ.ศ.2480-2502 เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในความไม่สงบ



พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ (รัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเพิ่มขึ้น) และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ จึงมีชื่อเรียกรวมกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยพระราชพิธีพืชมงคลจะประกอบพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพิธีการทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน ฯลฯ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ดังกล่าว ปลอดจากโรคภัยและให้เจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ดี สำหรับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนา หว่านเมล็ดข้าวเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ถึงความมุ่งหมายที่เป็นสาเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น ว่า

“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมที่มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีทรงเลี้ยงตัวไหม ส่วนในประเทศสยามก็มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้อยู่เสมอไม่มีว่างเว้น ด้วยการที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมุ่งมั่นในการทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง”



ส่วนการที่ต้องมีพิธีกรรมทางด้านพุทธและพราหมณ์มาเจือปน ก็ด้วยความหวาดกลัวต่ออันตรายหรือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก คือปริมาณน้ำฝน หรือน้ำจากธรรมชาติที่มีมากไป หรือมีน้อยไปบ้าง และแมลงศัตรูพืช โรคภัยต่างๆ ที่จะรบกวนพืชผล ไม่ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์อย่างที่ต้องการ จึงต้องมีพิธีการที่จะช่วยส่งเสริม และมีการเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนที่เริ่มการเพาะปลูก ด้วยใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนาเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล พิธีกรรมทางพราหมณ์ การบูชาเซ่นสรวง ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวนาได้

แม้สภาพบ้านเมืองในปัจจุบัน จะมีความทันสมัยและมีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ กลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกครั้ง สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมหาศาล ดังอุทกภัยใหญ่ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อปี 2554 นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน เขตพื้นที่อุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขวางกั้นเส้นทางของน้ำแล้ว พื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย ก็ถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือน สร้างความปวดร้าวให้แก่ชาวนา ชาวไร่ ยากที่จะเยียวยาความชอกช้ำในใจให้หายขาดได้

อุทกภัยในปี 2554 ธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท (เมื่อเดือนธันวาคม 2554) โดยจัดให้เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อบริเวณพื้นที่ลุ่มแม้น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมกว่า 150 ล้านไร่ ใน 65 จังหวัด ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 4 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายต่อต้นข้าวและพืชไร่ถึง 11.20 ล้านไร่ บ่อเลี้ยงปลา/กุ้ง/หอย 2 แสนกว่าไร่ ภัยน้ำท่วมครั้งนี้จัดเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดทั้งในด้านปริมาณน้ำและจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ



ในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็น “วันพืชมงคล” ประจำปี 2555 นี้ จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาวนา ชาวไร่ และผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยเป็นวันที่ใช้เริ่มฤดูกาล เป็นการเริ่มต้นการทำนาเพาะปลูก “ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักที่ใช้เลี้ยงชีวิตของคนทั้งประเทศและคนส่วนใหญ่ของโลก ดังนั้น การประกอบพระราชพิธีเนื่องในวันพืชมงคลในวันนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวนา ชาวไร่ ได้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความเชื่อมั่นต่อผลผลิตที่จะเจริญงอกงามในอนาคต แม้เราซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปถึงจะไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก

ฉะนั้นจึงควรทำความเข้าใจ ช่วยกันอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่านี้ให้ลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นปัจจุบัน ตลอดจนชาวต่างชาติได้เข้าใจและให้ความสำคัญต่อเกษตรกรผู้ที่ผลิตอาหารหลัก หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนของประเทศและของโลก ให้ดำรงวิถีชีวิตเกษตรกร การทำนาปลูกข้าว เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง และประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ภาพ/เรื่อง


Create Date : 02 พฤษภาคม 2555
Last Update : 2 พฤษภาคม 2555 0:33:35 น. 0 comments
Counter : 1699 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.