พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
 
24 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
ชาดกับพระเครื่อง

ชาดกับพระเครื่อง

แต่เดิมการสร้างพระพุทธรูป พระเครื่อง และพระพิมพ์ เป็นคติมหาบุรุษตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณะ รวมกับอิทธิพลของศิลปะกรีกที่นับถือรูปเคารพ จากการเข้ามาบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย จนเกิดเป็นศิลปะคันธารราฐขึ้นหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์กว่า 500 ปี ซึ่งพระพุทธรูปจะทำจาก ศิลาทราย ไม้ สัมฤทธิ์ และดิน โดยยังไม่มีสีเป็นองค์ประกอบ

ต่อเมื่อทฤษฎีมหาบุรุษในพระคัมภีร์ได้รับความนิยมแพร่หลาย จึงนิยมทาพระฉวี (ผิว) พระพุทธรูปด้วยสีทอง หรือนำแผ่นทองมาปิดที่เรียกกันว่า "การลงรักปิดทอง" เนื่องจากการจะทำให้แผ่นทองคำเปลวติดกับผิวองค์พระนั้นต้องมี "รัก" เป็นตัวกลาง ต่อมาเริ่มมีการลงสีในพระเครื่องและพระพิมพ์ สีที่ใช้ในชั้นแรกจะเป็นสีแดงที่เรียกว่า "ดินเทศ" ซึ่งนิยมเขียนเป็นลวดลายลงบนวัสดุตั้งแต่ยุคสำริด ก่อนประวัติศาสตร์

ส่วนที่เราเห็นริมพระโอษฐ์ของพระพุทธรูปเป็นสีแดงนั้น เริ่มนิยมขึ้นที่กลุ่มชนชาวรามัญหรือชาวมอญแห่งอาณาจักรสิริธรรมวดี อันมีศูนย์กลางอยู่ที่หงสาวดีเป็นแห่งแรก เหตุด้วยเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญนิยมขบฉันหมากพลูอยู่เป็นประจำ เมื่อสร้างรูปจำลองพระพุทธองค์เลยพลอยนำวัสดุที่เรียกว่า "ชาด" ทาริมพระโอษฐ์ และผู้คนก็ยังนิยมถวายหมากพลูแด่องค์พระพุทธรูปเฉกเดียวกับการถวายภิกษุสงฆ์ อีกด้วย

เมื่อชาวพยูนำโดยอนิรุทธมหาราชหรืออโนร ธามังฉ่อ ขยายอิทธิพลเหนือมอญทำให้พุกามรับเอาศิลปะต่างๆ ของชาวมอญเข้าไปด้วย เมื่อสร้างพระก็ทาสีพระพักตร์พระพุทธรูปเป็นสีขาวเหมือนการประแป้งของชาวพยู และทาริมพระโอษฐ์ให้เป็นสีแดงยิ่งทำให้ดูโดดเด่นจึงนิยมกันเรื่อยมา จนเผยแพร่เข้ามายังล้านนา

ในสยามประเทศนั้น อาจกล่าวได้ว่ารับเอาธรรมเนียมการทาริมพระโอษฐ์พระพุทธรูปให้เป็นสีแดงมาจาก มอญซึ่งหนีพวกพยูเข้ามาบริเวณภาคกลางทางหนึ่ง และเมื่อพม่าเข้ามามีอำนาจเหนือล้านนาอีกทางหนึ่ง วัสดุที่นิยมนำมาทาริมพระโอษฐ์พระพุทธรูปนั้นเรียกว่า "ชาด" ซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นก้อนคล้ายก้อนหิน มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น ชาดหรคุณ ชาดจอแส นิยมนำมาบดเป็นผงอาจผสมดินเทศให้มีสีแดงเข้มขึ้นทาตามอาคาร ชาวจีน และชาวเขิน(ไทยเขิน) มักใช้ในงานศิลปะ เช่น งานปิดทองล่องชาด งานเครื่องฮักเครื่องหาง และงานทาบนพระพุทธรูป และพระพิมพ์ เป็นต้น

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา สยามรับอิทธิพลและนำศิลปะจีนมาประยุกต์ใช้ในราชสำนักอย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดงานประณีตศิลป์ เช่น งานลงรักปิดทอง งานประดับมุก งานประดับกระจก การทำมุกแกมเบื้อ ซึ่งการลงชาดก็เป็นงานฝีมืออีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการทำอาคารสถานที่ การทำตู้พระไตรปิฎก การทำตู้ลายกำมะลอ และการทาชาดลงบนพระพุทธรูปและพระพิมพ์

ความนิยมดังกล่าวสืบเนื่องตั้งแต่สมัยล้านนามาจนถึงรัตนโกสินทร์ ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง โดยปิดทองและทาชาด ทำให้พระพุทธรูปดูโดดเด่นงดงาม และนิยมมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในบางครั้งจะพบเห็นพระพุทธรูปเก่าๆ มีรอยกะเทาะจนเห็นริ้วสีแดงอยู่ภายในดูเผินๆ เหมือนเส้นโลหิต เป็นเหตุให้ร่ำลือไปต่างๆ นานา ซึ่งความจริงแล้วสีแดงที่เห็นเป็นสีของชาดซึ่งนำมาใช้แทนการใช้รักซึ่งมีสี ดำ

ดังนั้น วิธีการดูพระพุทธรูป พระเครื่อง และพระพิมพ์เก่าอีกประการหนึ่งก็คือ ให้ดูความเก่าของชาดให้เป็น ยิ่งพระที่นิยมในราชสำนักแล้วจะใช้ชาดหรคุณ หรือชาดหรคุณไทย ซึ่งมีสีแดงจัดจ้าน มีน้ำหนักในตัว และเกาะติดทนนาน ไทยเราเองมีสุภาษิตเปรียบเทียบถึงผู้ที่มีความดีงามอยู่แล้วในตัวว่า "ชาดดีไม่ต้องทาสี (ใส่สี) ก็แดง" ครับผม

คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
โดย ราม วัชรประดิษฐ์




Create Date : 24 เมษายน 2555
Last Update : 24 เมษายน 2555 5:17:50 น. 0 comments
Counter : 3302 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.