Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
ศาสตร์เพื่อชีวิต โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มา Forward E-Mail

หลังจากผ่านชีวิตมากว่า 50 ปี พร้อมกับปริญญาอีกหลายใบถึงปริญญาเอก ผมพบว่าวิชาความรู้และศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนและศึกษามาหลาย ๆ วิชานั้น บัดนี้แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย หลายวิชาเคยได้ใช้ประโยชน์จากมันในช่วงเวลาหนึ่ง หลายวิชาผมยังคงใช้มันอยู่และคงจะใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ที่น่าแปลกก็คือ ความรู้หลายอย่างนั้น ผมต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองและใช้มันอย่างที่อาจจะรู้ไม่จริงแต่กลับเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนผมคิดว่ายังไม่ค่อยสอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริง เรื่องสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตของคนส่วนใหญ่จำนวนมากไม่ได้ถูกสอน แต่เรื่องที่สอนจำนวนมากกลับไม่ได้ใช้ เราคงไปเปลี่ยนหลักสูตรต่าง ๆ ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้
ดังนั้นเราต้องศึกษาเรียนรู้เอง ในความเห็นของผม มีศาสตร์ 3 เรื่องที่เราต้องรู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ศาสตร์แรกก็คือศาสตร์เพื่อการทำมาหากิน
นี่คือศาสตร์ที่เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนถึงวันที่เริ่มทำงาน เรามักถูกกำหนดหรือชี้นำจากเงินเดือนหรือความยากง่ายในการหางานทำเมื่อจบการศึกษา สถานะทางสังคมของอาชีพ การมีชื่อเสียงของคนในอาชีพนั้น และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกลับไม่ได้ถูกพิจารณามากนักนั่นก็คือ ความชอบหรือทักษะส่วนตัวที่เหมาะสมกับอาชีพที่จะทำ และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เด็กเรียนเก่งและไอคิวสูงส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียนแพทย์ วิศวกรรม นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ในขณะที่สาขาวิชาอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเหมือนกันกลับไม่ค่อยมีคนเรียนเก่งมาก ๆ มาเข้าเรียน

การเลือกศาสตร์เพื่อทำมาหากินตามค่านิยมนั้นเป็นเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นและไม่เปลี่ยนแปลงมายาวนานตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนจนถึงปัจจุบันและผมเองก็น่าจะเป็นคนหนึ่งในนั้น คนเก่งจำนวนมากที่เลือกเรียนศาสตร์ตามค่านิยม สุดท้ายกลับไม่ประสบความสำเร็จนักเมื่อเทียบกับคนที่เก่งเท่ากันแต่เลือกเรียนในศาสตร์ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่ยกขึ้นมาเพื่อที่จะเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดก็คือ นักเรียนมัธยมปลายสองคนที่เรียนดีที่สุดของประเทศต่างก็ได้ทุนแบงค์ชาติไปศึกษาในต่างประเทศ คนหนึ่งเลือกเรียนวิศวกรรมและกลับมาทำงานในโรงพิมพ์ธนบัตร อีกคนหนึ่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์และกลับมาทำงานในฝ่ายวิชาการ สุดท้ายคนแรกได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโรงพิมพ์แต่คนที่สองกลายเป็นผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการธนาคาร ความสำเร็จในชีวิตต่างกันมาก

ผมคิดว่าตัวอย่างคล้าย ๆ กันนี้มีเต็มไปหมด การเลือกศาสตร์ในการทำมาหากินผมคิดว่ามีผลมหาศาลต่อความสำเร็จ บางทีอาจจะมากกว่าเรื่องของไอคิวหรือความเก่ง ส่วนตัวผมเองคิดว่า ความชอบหรือทักษะน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการเลือกศาสตร์นี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำไปอีกนานมาก และถ้าเราไม่ชอบหรือไม่ถนัด โอกาสที่จะทำได้ดีก็มีน้อย ที่สำคัญก็คือเราจะทำอย่างไม่มีความสุข

ศาสตร์ที่สองคือศาสตร์ทางการเงิน
ที่เราจำเป็นต้องใช้เมื่อเราเริ่มมีเงินและต้องเริ่มเก็บออมและลงทุนเพื่ออนาคตแต่มักไม่ได้รับการสอนก็คือศาสตร์ทางการเงินซึ่งไม่ได้หมายถึงการบริหารเงินของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของการเงินส่วนบุคคล เรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคลนั้นผมเชื่อว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จทางการเงินของคนไม่น้อยไปกว่าเรื่องของรายได้ที่เกิดจากอาชีพการงาน คนมีรายได้มากนั้น จำนวนมากไม่รู้จักการใช้หรือดูแลเงินที่หามาได้ บางคนอาจจะรู้จักเก็บออมแต่ไม่รู้จักวิธีการลงทุนให้เงินทองงอกเงย ซึ่งในระยะสั้นอาจจะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แต่ในระยะยาวแล้ว คนที่มีความรู้และความเข้าใจศาสตร์นี้จะทำได้ดีกว่ามาก ในความรู้สึกของผม คนที่มีเงินเก็บถึง 2-3 ล้านบาทขึ้นไปแต่ยังไม่เคยเกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นในทางใดทางหนึ่งนั้น ผมถือว่าเป็นคนที่น่าจะเรียกว่าไม่มีความรู้ในศาสตร์ทางการเงิน และจำเป็นที่จะต้องขวนขวายเรียนรู้อย่างรีบด่วน เพราะยิ่งทิ้งไว้นานก็จะยิ่งเสียหายได้มาก

ศาสตร์สุดท้ายคือ ศาสตร์ของสุขภาพและความสุข
ที่ผมพบว่ามีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็คือ ศาสตร์ของสุขภาพและความสุข สิ่งเหล่านี้เราได้เรียนรู้มาบ้างในชั้นเรียน แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอและหลาย ๆ อย่างเราก็ไม่ใส่ใจจดจำเนื่องจากในช่วงที่เราเรียนนั้น เราไม่เคยรู้สึกว่าสุขภาพกายหรือใจเราจะมีปัญหา วิชาเกี่ยวกับสุขภาพและเรื่องของจิตใจนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อที่สุดอย่างหนึ่งที่ผมจำได้
แต่เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมกลับคิดว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สุขภาพคือความเสี่ยงที่สูงที่สุดสำหรับทุกคน การลดความเสี่ยงทางด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะทางด้านการเงินนั้น เราเรียนรู้และพยายามหลีกเลี่ยงทุกวิถีทาง แต่ทำไมเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่ามากที่เกี่ยวกับชีวิตเรา เราจึงไม่ศึกษาหรือปฏิบัติอย่างเพียงพอ?

เราทำงานแทบตายเพื่อหาเงิน เราออมและลงทุนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเพิ่มหรือสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงในชีวิต แต่เรากลับปล่อยปละละเลยการดูแลสุขภาพและความสุขทางใจต่าง ๆ
และพบในที่สุดว่าเงินทั้งหมดนั้นอาจจะไม่สามารถซื้อสุขภาพและความสุขที่เสื่อมโทรมกลับมาได้

ดังนั้น ผมคิดว่า ศาสตร์ทางด้านสุขภาพซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคนโดยเฉพาะที่มีอายุขึ้นเลขสี่แล้ว

คนที่มีอาชีพทางการเงินหรือทางด้านของสุขภาพ น่าจะโชคดีที่ต้องเรียนรู้ศาสตร์หลักเพียงสองอย่าง

คนที่เกษียณจากการทำงานแล้วศาสตร์ที่เขาต้องเรียนรู้ก็คือการเงินและเรื่องของสุขภาพ

แต่สำหรับคนที่ยังทำงานอยู่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรจะต้องจำไว้เสมอว่า
มีศาสตร์สำคัญ 3 อย่างที่เราต้องเรียนรู้ เพราะมันเป็นศาสตร์เพื่อชีวิตที่เราจะต้องไม่หลีกเลี่ยงที่จะเรียนรู้และยิ่งเร็วก็ยิ่งดี นั่นคือ ศาสตร์เพื่อการงาน การเงิน และสุขภาพกายใจ
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าคิดว่าเรารู้ดีแล้ว



Create Date : 29 ตุลาคม 2549
Last Update : 29 ตุลาคม 2549 18:20:24 น. 2 comments
Counter : 1071 Pageviews.

 
มาทักทายค่า


โดย: pp_kard วันที่: 29 ตุลาคม 2549 เวลา:18:23:22 น.  

 
ยินดีและดีใจที่ได้รู้จัก
รู้สึกว่าเป็นความคิดที่ดีและพัฒนาต่อๆไปได้
แนวทางความคิดและการปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้นเอง
การสรุปสั้นๆบางครั้งก็ยังไม่เพียงพอ
บางคนก็ชอบที่จะคิดให้ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ


โดย: N.C.kit (N.C.kit ) วันที่: 30 ตุลาคม 2549 เวลา:18:21:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนขับช้า
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ย้ายมาเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๖๖

เคยมาเป็นคนนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘

เคยมาเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗

เคยเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒

ย้ายที่ทำงานในจังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๖
เคยเป็นคนสระบุรี ตั้งแต่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕

เคยเป็นคนนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙

เคยเป็นคนระยอง ตั้งแต่ ๒๕๓๗
Friends' blogs
[Add คนขับช้า's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.