เนรเทศ

เนรเทศ

เนรเทศ

ภูกระดาษ

เนรเทศ ของ“ภูกระดาษ” นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายการประกวดรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายปี 2558 แม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลแต่มีประเด็นที่น่าสนใจที่จะกล่าวถึงงานชิ้นนี้ แน่นอนว่างานที่เข้าประกวดรางวัลซีไรต์เป็นงานเขียนสร้างสรรค์ เนรเทศเป็นงานเขียนสร้างสรรค์สะท้อนปัญหาสังคมจากตัวละครตัวเล็กๆคนหนึ่งในสังคมที่ประสบกับปัญหาการเดินทางด้วยบริการรถขนส่ง เมื่อตัวละครต้องรอรถประจำทางโดยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ารถจะมาเมื่อไหร่ เพื่อที่จะเดินทางไปส่งลูกสาวและแม่จากที่ทำงานจังหวัดชลบุรีกลับบ้านเกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เชื่อมโยงปัญหาที่ตัวละครประสบในปัจจุบันเข้ากับเหตุการณ์ในอดีตของตัวละครและครอบครัวรวมถึงเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมระดับประเทศ การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การรอรถเพื่อที่จะเดินทางกลับของบ้านสายชล ชัยปัญญา สลับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อสะท้อนให้เห็นชีวิตของตัวละครทั้งในอดีตอันใกล้และในเวลาที่ห่างไกลออกไป


 

ผู้เขียนได้ใช้การเล่าเรื่องในหลากหลายรูปแบบเพื่อการนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอดีตผ่านตัวละครสายชลชัยปัญญาและบุคคลในครอบครัวทั้งประวัติและเรื่องเล่าภายในครอบครัว การเล่าเรื่องแบบเหนือจริงเมื่อกล่าวถึง ล. ไซยปัญญา ภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วของสายชล รวมถึงการสอดแทรกข่าวที่เกิดขึ้นจริงและข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองเน้นไปที่การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยปีค.ศ. 1952จนถึงปี ค.ศ. 2006 ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากปัญหาที่ “ภูกระดาษ” นำเสนอเป็นปัญหาที่รับรู้ในสังคมอย่างกว้างขวางเป็นเวลานานเท่ากับที่ปัญหาได้เริ่มเกิดขึ้นมาก็ได้ การนำเสนอปัญหาที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปให้เป็นประเด็นที่น่าสนใจจึงเป็นความท้าทายของนักเขียน “ภูกระดาษ” เลือกที่จะใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องที่หลากหลายในการนำเสนอปัญหาและการดำเนินเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันการเล่าเรื่องด้วยวิธีการที่หลากหลายทำให้เนื้อเรื่องแยกออกเป็นส่วนๆตามกลวิธีการเล่าเรื่อง ภูกระดาษทำได้ดีในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการเล่าเรื่องต่างๆว่าผู้เขียนได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตสองเรื่องที่ดำเนินเป็นคู่ขนานและมีความสัมพันธ์กันไปในเส้นเวลาเดียวกันคือ ประวัติศาสตร์ส่วนกลางของรัฐไทยการยึดครองเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 และการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือเรื่องราวของบรรพบุรุษครอบครัวของสายชลนอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำเสนอประเด็นความเป็นส่วนกลางกับท้องถิ่นแทรกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งคือ ประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรณ์สาธารณูปโภคและการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ผู้เขียนได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนโดยให้ตัวละครซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดเรียกกรุงเทพมหานครศูนย์กลางการปกครองของประเทศว่า“กรุงเทพ กรุงไทย” เป็นการแสดงนัยของการรวมศูนย์การปกครองที่กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเป็นประเทศไทยแต่ในส่วนท้องถิ่นอื่นที่ห่างไกลไม่ได้เป็นประเทศไทย หากแต่เป็นชายขอบและถูกผลักให้ออกจากส่วนกลางผู้ที่อยู่นอกกรุงเทพฯจึงเป็นคนที่ถูกเนรเทศผลักดันให้ออกจากศูนย์กลาง และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่บรรพบุรุษของสายชนตั้งแต่ถูกกวาดต้อนมาจากฝั่งเวียงจันทน์นอกจากนี้ในบางฉากที่ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำ จะใช้การบรรยายฉากบางฉากซ้ำๆ เพื่อให้ผู้อ่านให้ตระหนักในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ เพื่อที่จะกระตุ้นผู้อ่านให้ตระหนักหรือคิดทบทวน

 

อย่างไรก็ดียังมีการเล่าเรื่องที่ยังเป็นข้อสงสัยอยู่คือภูกระดาษกล่าวถึงตัวละคร ล. ไซยปัญญาภรรยาของสายชลที่เสียชีวิตแล้วในลักษณะเป็นตัวละครเหนือจริงที่วิญญาณของเธอยังคงมาปรากฏให้สายชลเห็นซึ่งเป็นตัวละครที่ผู้เขียนให้ออกมาปรากฏในหลายๆ ฉาก แต่ตัวละครนี้ไม่ได้มีบทบาทกับเหตุการณ์ใดๆหลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้ว การที่วิญญาณของ ล. ไซยปัญญา ปรากฏออกมานั้น ผู้เขียนไม่ได้เชื่อมโยงหรือแสดงนัยในส่วนนี้ว่าอย่างไรผู้อ่านส่วนหนึ่งอาจจะผ่านเลยและไม่ให้ความสำคัญกับตัวละครตัวนี้ไปซึ่งผู้วิจารณ์ก็พยายามหาเหตุผลให้กับตัวละครตัวนี้ว่า ผู้เขียนต้องการอธิบายลักษณะของสายชลว่าเป็นผู้ที่มีความสำนึกตระหนักรู้เรื่องในอดีตและยังไม่สามารถที่จะตัดขาดเรื่องราวในอดีตได้ผู้เขียนสะท้อนให้สายชลยังคงเห็นวิญญาณของ ล. ไซยปัญญาภรรยาที่เสียชีวิตยังคงวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ตัวเขาและตัวสายชลเองไม่สามารถที่จะข้ามผ่านเรื่องราวในอดีตของตัวเองได้เช่นเดียวกับที่เหตุการณ์ในอดีตของครอบครัวเขาและระดับประเทศที่ยังคงวนเวียนอยู่ใกล้ตัวสายชลไม่ได้ห่างหายไปแต่อย่างไรซึ่งอาจจะเป็นการเข้าใจไปเองของผู้อ่านและไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้เขียนอีกด้วย

ดังนั้นการเขียนงานที่ใช้วิธีการเขียนที่หลากหลายนั้น การเชื่อมโยงเพื่อที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แม้ผู้เขียนจะมีความท้าทายในการเล่าเรื่องที่หลากหลาย แต่หากกลวิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้ในการเล่าเรื่องไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงเข้าหากันแล้วผู้อ่านไม่สามารถที่จะเข้าใจประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอได้งานเขียนนั้นย่อมที่จะล้มเหลว แม้ว่าจะได้รับการรับรองว่าเป็นงานเขียนสร้างสรรค์ก็ตาม การเชื่อมโยงประเด็นจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้อ่านเพียงฝ่ายเดียวที่จะต้องค้นหาในการอ่าน แต่ผู้เขียนต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงงานของตนเองเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ หากผู้เขียนจะสร้างความท้าทายในการเขียนงานจึงไม่ใช่เฉพาะเป็นการท้าทายตัวผู้เขียนเท่านั้น แต่จะต้องท้าทายผู้อ่านโดยที่ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้อ่านด้วย ผู้เขียนจึงมิใช่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และนำข้อมูลเรื่องราว เหตุการณ์ มาเก็บรวบรวมไว้งานเขียนของตนเองเท่านั้นโดยที่ผู้เขียนไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรเลย เพราะผู้อ่านควรจะมีโอกาสในการสนทนากับความคิดของนักเขียนด้วยเช่นกัน


 




Create Date : 18 มกราคม 2559
Last Update : 18 มกราคม 2559 9:43:22 น.
Counter : 1771 Pageviews.

1 comments
  
พล็อตน่าอ่านจังค่ะ ถ้ามีโอกาสจะหามาอ่าน ขอบคุณสำหรับรีวิวนะคะ
โดย: kunaom วันที่: 22 มกราคม 2559 เวลา:16:40:21 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เสี้ยวป่า
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



New Comments
มกราคม 2559

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
18 มกราคม 2559
All Blog