มกราคม 2551

 
 
1
2
3
4
5
6
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
บทความเฉลิมพระเกียรติ




“กรมหลวงนราธิวาสฯ”เกื้อ นิกรชน


“...ในครอบครัวเรา(ความรับผิดชอบ) เป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอน อันดับแรกคือเราทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ เราจะไปช่วยอะไรได้ สิ่งเหล่านี้ ฉันเป็นคนพูดออกมา ไม่ใช่ท่าน(สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)” พระดำรัสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปณิธาน หลักในการบำเพ็ญพระราชกิจเพื่อบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย สืบสานตามรอย

สมเด็จพระบรมราชบุพการี ในพระบรมราชวงศ์จักรีที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญสืบต่อกันมากว่า 225ปี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6พฤษภาคม พ.ศ.2466ณ สถานพยาบาลในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติคือ“เมย์” ตามเดือนที่ประสูติต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า“หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระอนุชา 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช ทั้ง 3 พระองค์ “...ได้ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง...”ไม่เพียงแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงมีความเอื้ออาทรและเกื้อกูลเป็นอันมากต่อพระอนุชาทั้ง 2 พระองค์หากแม้ในขณะที่พระอนุชาทั้ง 2 พระองค์ เสด็จดำรงเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นมิ่งขวัญร่มฉัตรแก่พสกนิกรชาวไทย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังได้ทรงบำเพ็ญพระราชกิจน้อยใหญ่สนองเบื้องพระยุคลบาทไว้เป็นอเนกประการแก่บ้านเมือง ในฐานะพระธิดานั้นเล่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีพระกตัญญูธิคุณอย่างสูง “...ทรงปฏิบัติวัฎฐากสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิดในที่ทุกสถานและรักษาพยาบาลเมื่อทรงพระประชวร โดยมิได้มีความเบื่อหน่าย ย่อหย่อนด้วยทรงมีพระประสงค์ที่จะแบ่งเบาพระราชภาระ ทำให้ทรงคลายพระราชกังวลและวางพระราชหฤทัยในการส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เป็นอันมาก...” ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2538อันเป็นมงคลวารที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 6 รอบ พระนักษัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็น“เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน” พระองค์แรกในรัชกาล มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” นับเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอย่างสูง

ตลอดระยะเวลากว่า 72 ปี ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสถิตเป็นหลักชัยมั่นในที่ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ”ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนและสืบสานงานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในด้านต่างๆ นานัปการด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทรงอุทิศกำลังพระวรกายพระสติปัญญาและพระหฤทัยเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องยาวนานทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์เป็นหลักชัยมั่นและเป็นกำลังพระหฤทัยให้ทรงปฏิบัติพระราชกิจโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความสุขสบายส่วนพระองค์แต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกิจในการพัฒนา “คน” เช่น


ด้านการศึกษา

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ ได้รับสั่งให้ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึง พ.ศ. 2501 ในพ.ศ.2512 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอพระราชทานพระกรุณาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงรับงานสอนและงานบริหาร โดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสและผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่างๆและทรงดูแลการสอนของอาจารย์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์อันยากที่จะหาผู้ใดเทียมทัดได้ เช่น ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส จนสำเร็จในพ.ศ.2516 เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม และเมื่อครั้งที่ทรงทราบปัญหาของคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องการขาดแขลนอาจารย์เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานความเมตตาเสด็จสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสโดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์อื่น ๆ กระทั่งใน พ.ศ. 2519 ทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากพระราชกิจ ด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก ความสนพระหฤทัยและพระปรีชา สามารถด้านการศึกษาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงอุดมศึกษาเท่านั้น หากทรงตระหนักดีว่าการศึกษาระดับต้นมีความสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นขณะที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์โดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในถิ่นทุรกันดารและชายแดน เพื่อทรงเยี่ยมและพระราชทานสิ่งของแก่นักเรียนและราษฎร

สมเด็จฯ เจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ยังได้พระราชทานเงินทุนสำหรับสร้างโรงเรียน จัดซื้อของเล่นเด็ก หนังสือรวมทั้งพระราชทานเครื่องแต่งกายให้เด็กและทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน เช่นโรงเรียนกัลยาณิวัฒนา 1 ที่อำเภอนครไทยจังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนเฉลิมราษฎรบำรุง ที่จังหวัดเลย เป็นต้น นอกจากนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะมั่นคงในการส่งเสริมการศึกษาของเด็กทรงตระหนักในความสำคัญอันเป็นพื้นฐานของการศึกษาชั้นสูงต่อไป เคยรับสั่งว่าโปรดเด็กเล็กมากและทรงมีพระประสงค์ที่จะสอนเด็กเล็กมากกว่า เช่นเมื่อครั้งที่มูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ส.อ.ท.) ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ดำเนินโครงการศิลปะประดิษฐ์และสื่อการสอนของเด็กระดับประถมและก่อนวัยเรียน ในลักษณะเกมช่วยการเรียนรู้และเสริมทักษะ คณะกรรมการมูลนิธิ ส.ส.อ.ท. ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายองค์อุปถัมภ์ทอดพระเนตรจากนั้นทรงนำไปทดลองกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนห่างไกลคมนาคมและโรงเรียนของตำรวจตระเวนชายแดนและทรงใช้วิธีการของนักวิทยาศาสตร์ในการสังเกตบันทึกข้อมูล วิเคราะห์และติดตามผลการใช้สื่อการเรียนการสอน ทรงเก็บข้อมูลที่ทรงบันทึกไว้รวมเป็นแฟ้มพระราชทานแก่กรรมการโครงการฯ ทั้งยังทรงกรุณาวิเคราะห์ปัญหาที่ทรงพบในระหว่างการทดลองเพื่อทรงแนะนำข้อความที่ควรแก้ไขปรับปรุงพระราชทานแก่ผู้คิดแบบเกมสื่อการสอน ความรอบรู้ทางด้านวิชาการและการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลายสาขาวิชา และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ รัฐบาลฝรั่งเศสและองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)


ด้านการสังคมสงเคราะห์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสนพระหฤทัยในสวัสดิภาพของพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการเยี่ยมและสงเคราะห์ราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารมาตลอด ทรงศึกษาและสังเกตความเป็นอยู่ ทรงสอบถามปัญหา ทรงแนะนำให้รู้จักปฏิบัติตน ดูแลตนเองให้ถูกต้องเพื่อให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่พสกนิกรในดินแดนที่ห่างไกลเท่านั้นที่พระราชทานพระเมตตา แม้ความเป็นอยู่ของพสกนิกรในเมืองก็ทรงมีความสนพระหฤทัย ทรงตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัดจึงทรงเสด็จเยี่ยมชุดชนแออัดหลายแห่ง ในกรุงเทพมหานคร เช่นชุมชนคลองเตย ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช เป็นต้น มีรับสั่งว่า “ต้องไปถึงที่จึงจะรู้ว่าชาวบ้านและเด็กเหล่าน ี้มีความลำบากแค่ไหน…ก็ดีใจที่มีโอกาสเห็นด้วยตนเองที่คลองเตย อ่อนนุช และหนองแขม” ในขณะที่เสด็จทรงมีพระเมตตาซักถามถึงปัญหาเดือดร้อนทรงทักทายเด็กๆ ด้วยพระพักตร์ที่แสดงความห่วงใย ก่อให้เกิดพลังใจแก่ผู้ทุกข์ยากเป็นล้นพ้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระหฤทัยของนักสังคมสงเคราะห์อย่างเต็มเปี่ยม แม้ทรงลำบากอย่างไรก็ไม่ทรงย่อท้อ ดังเหตุการณ์ในการเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ระหว่างที่ทรงพระดำเนินไปบนทางปูด้วยไม้แผ่นเก่าๆ ไม้แผ่นหนึ่งผุหักลง พระบาททะลุลงไป และไม้ครูดพระชงฆ์เป็นแผลอักเสบนานอยู่เดือนกว่า แต่มีรับสั่งว่า “...ไม่เป็นไร จะได้ไม่ลืมการเยี่ยมครั้งนี้ ...” เป็นที่ปลาบปลื้มแก่พสกนิกรที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนั้นยิ่งนัก ที่ได้เห็นความมุ่งมั่นในการทรงงานของพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทย

พระราชกิจดังที่ได้ประมวลมาโดยสังเขปแล้วนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกิจจานุกิจที่ทรงพระอุตสาหะบำเพ็ญ โดยมิได้คิดถึงพระองค์เองเลยสักนิดว่าจะต้องทรงงานทรงตรากตรำพระวรกายอย่างไร เพียงเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความสุขสมบูรณ์เท่านั้นตราบจนปัจจุบันพสกนิกรชาวไทยต่างประจักษ์แจ้งแก่ใจกันดีว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำ เพ็ญพระราชกิจจานุกิจและปฏิบัติพระองค์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยพระกัลยาณวัตรอัธยาศัยอันงดงาม ตามโบราณราชประเพณีและทรงถึงพร้อมในที่ขัตติยะราชนารีทรงเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงแห่งสมเด็จพระนวมินทราธิราชบรมราชวงศ์ ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างอันควรค่าแก่การยึดถือและปฏิบัติตาม ทรงพระคุณต่อวงการการศึกษา การสาธารณสุขการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการสังคมสงเคราะห์ แม้ในปัจจุบันสมัย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะทรงเจริญพระชนมายุขึ้นสูง ก็มิได้เป็นเครื่องชักจูงให้ทรงย่อท้อหรือหวั่นไหว หากแต่ทรงมีพระหฤทัยที่แน่วแน่และมุ่งมั่น ทำให้พระราชกิจน้อยใหญ่ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญบรรลุศุภผลยังประโยชน์และความผาสุกมั่นคงให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์และประเทศไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วทุกเขตคามและขอบขัณฑสีมา จึงมีความผาสุกร่มเย็นทั่วหน้ากัน




ที่มา: //www.msnth.com/msn/news/live/articles_hn.aspx?id=183917&ch=hnclickhere





Create Date : 08 มกราคม 2551
Last Update : 8 มกราคม 2551 6:30:58 น.
Counter : 698 Pageviews.

0 comments

amatavaja
Location :
สมุทรสงคราม  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Color Codes ป้ามด