A Time for Drunken Horses เรื่องราวของ‘ชาวเคิร์ด’



A Time for Drunken Horses
เรื่องราวของ‘ชาวเคิร์ด’

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 1 กรกฎาคม 2550


*คำว่า “เคิร์ด” ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่มักจะผูกโยงกับซัดดัม ฮุสเซ็น หรือหากจะบอกว่าคนจำนวนไม่น้อยรู้จักชาวเคิร์ดเพราะซัดดัมก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะจากปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่า “อันฟาล” โดยใช้แก๊สพิษในปี 1988 จนชาวเคิร์ดล้มตายหลายหมื่นคน กระทั่งกลายเป็นหนึ่งในความผิดบาปที่ย้อนมารัดคอซัดดัมในที่สุด

อันที่จริง เรื่องราวชะตากรรมของชาวเคิร์ดมีมากกว่านั้น และกระจายไปยังอีกหลายประเทศใกล้เคียงซึ่งมีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีกบฎชาวเคิร์ดในตุรกีที่ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การกระทบกระทั่งระหว่างชาวเคิร์ดกับชาวอาหรับในซีเรีย หรือสถานการณ์ด้านเชื้อชาติอันเปราะบางอย่างยิ่งในอิหร่าน หลังจากที่โคไมนีเคยประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์ต่อชาวเคิร์ดในปี 1979

ดังนั้น แม้สถานการณ์ของชาวเคิร์ดในอิรักจะดีขึ้นหลังพ้นยุคซัดดัมครองอำนาจ แต่เรื่องราวชะตากรรมของชาวเคิร์ดในดินแดนอื่นๆ ยังคงมีอยู่และยังดำเนินต่อไป

สำหรับเรื่องราวของชาวเคิร์ดในหนังมีให้รับรู้พอสมควร มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป เช่นในหนังอิหร่านเรื่อง The Wind Will Carry Us (1999) อับบาส เคียรอสตามี ผู้กำกับฯรุ่นใหญ่พาตัวละครและผู้ชมไปหยุดนิ่งยังหมู่บ้านชาวเคิร์ด เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนชายขอบชาติพันธุ์นี้

Crossing the Bridge : The Music of Istanbul (2005) หนังสารคดีว่าด้วยความหลากหลายของดนตรีแห่งเมืองอิสตันบุล ตุรกี โดย ฟาติห์ เอคิน ผู้กำกับฯชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี สีสัน-ความครึกครื้นรื่นเริงในจังหวะและท่วงทำนองกลับกลายหม่นเศร้าลงทันทีเมื่อหนังพาไปสัมผัสกับเสียงร้องโหยไห้ของนักร้องสาวชาวเคิร์ด

หรือในหนังอาร์เมเนียเรื่อง Vodka Lemon (2003) ไฮเนอร์ ซาลีม ผู้กำกับฯชาวอิรัก-เคิร์ดอพยพใส่แทรกสารเกี่ยวกับชาติพันธุ์ตนเองโดยให้ตัวละครสูงอายุแกะห่อกระดาษที่ลูกชายส่งมาจากฝรั่งเศส กล้องจับไปยังด้านในของห่อกระดาษนั้น มีตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่เขียนว่า “เคอร์ดิสถาน”

*แง่มุมเรื่องราวของชาวเคิร์ดในหนังเหล่านี้เดินทางสู่การรับรู้ของผู้ชมมาแล้วมากมาย แม้แต่ในประเทศไทยซึ่ง Crossing the Bridge กับ Vodka Lemon เคยมาฉายในบางกอกฟิล์ม แต่ถ้ากล่าวเจาะจงถึงหนังว่าด้วยชาวเคิร์ดที่สร้างโดยชาวเคิร์ดเอง และที่สำคัญคือใช้ภาษาคุรดิชหรือภาษาเคิร์ดเป็นหลัก หนังเรื่องแรกที่ถูกบันทึกไว้คือ A Song for Beko (1992) โดย นิซาเมตติน อาริค ชาวตุรกี-เคิร์ดที่เคยติดคุกในข้อหาใช้ภาษาเคิร์ดในที่สาธารณะ ก่อนจะเนรเทศตนเองมาอยู่ในเยอรมนี

ส่วนหนังคุรดิชที่โด่งดังและได้รับเสียงชื่นชมในวงกว้างเป็นเรื่องแรกน่าจะเป็น A Time for Drunken Horses (2000) โดยนักทำหนังชาวอิหร่าน-เคิร์ด ชื่อ บาห์มัน กอบาดี (Bahman Ghobadi)

กอบาดีเกิดในบาเนห์ เขตพื้นที่ของชาวเคิร์ดทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน เขาเรียนภาพยนตร์ในเตหะราน ทำหนังสั้นระดับรางวัลหลายเรื่อง ก่อนจะได้โอกาสขอเป็นผู้ช่วยให้อับบาส เคียรอสตามี เมื่อเคียรอสตามียกกองมาถ่ายหนังเรื่อง The Wind Will Carry Us ในเคอร์ดิสถาน รวมทั้งได้แสดงบทสำคัญในเรื่อง The Blackboard ของ โมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ผู้กำกับฯชั้นนำของอิหร่านอีกคนหนึ่ง ซึ่งถ่ายทำในเคอร์ดิสถานเช่นกัน

A Time for Drunken Horses เป็นผลงานหนังยาวเรื่องแรกของกอบาดี ส่วนหนังของเขาที่นักดูหนังบ้านเราน่าจะรู้จักมากที่สุดคือ Turtles Can Fly (2004) ซึ่งเคยเข้าฉายและยังหาซื้อได้ทั่วไปในรูปแบบดีวีดี

A Time for Drunken Horses เล่าถึงครอบครัวชาวเคิร์ดในหมู่บ้านบริเวณพรมแดนอิหร่าน-อิรักที่ปกคลุมด้วยหิมะ ผ่านคำบอกเล่าของเด็กหญิงอายุราว 10 ขวบ ชื่ออามีเนห์ เธอเล่าว่าเธอและอายุบ พี่ชาย รวมทั้งเด็กๆ ชาวเคิร์ดมักจะเดินทางมายังเขตเมืองในอิหร่านเพื่อรับจ้างทำงานจิปาถะ ขณะที่พ่อเป็นคนลอบขนของเถื่อนระหว่างพรมแดนอิหร่าน-อิรัก อามีเนห์เป็นห่วงพ่อเพราะคนขนของเถื่อนในหมู่บ้านเหยียบกับระเบิดตายไปแล้วหลายคน แม่ของอามีเนห์เสียชีวิตหลังจากคลอดน้องคนสุดท้อง เธอยังมีพี่สาวอีกคนชื่อ โรจิน และพี่ชายคนโตชื่อ มาดี ซึ่งป่วยเป็นโรคร้าย มีร่างกายและพฤติกรรมเหมือนเด็กเล็ก และคงอยู่ได้อีกไม่นานถ้าไม่ได้รับการผ่าตัด

เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านอามีเนห์ก็ได้รู้ข่าวว่าพ่อของเธอเสียชีวิตด้วยเหตุที่เธอห่วงกังวลมาตลอด อายุบซึ่งแม้ยังเป็นเด็กจึงต้องรับผิดชอบคนในครอบครัวแทน นอกจากภาระเลี้ยงปากท้องห้าคนพี่น้องแล้ว อายุบยังต้องพยายามหาเงินสำหรับเป็นค่าผ่าตัดมาดี งานเดียวที่เขาพอจะทำได้คือเป็นคนขนของเถื่อนเหมือนที่พ่อเคยทำ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงกับกับระเบิดแล้ว ยังต้องหลบหนีทหารที่คอยโจมตีคาราวานของเถื่อนอยู่เสมอ

ชื่อหนังมาจากการขนของเถื่อนที่ต้องใช้ลาบรรทุกสัมภาระ โดยก่อนออกเดินทางบรรดาเจ้าของลาต้องเทเหล้าให้ลากินเพื่อให้ทนต่ออากาศหนาวเหน็บ ความยากลำบากไม่ว่าจะเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิต ทั้งยังต้องเดินทางฝ่าอากาศหนาวในสภาพพื้นที่ซึ่งปกคลุมด้วยหิมะ แสดงให้เห็นว่าชาวเคิร์ดในดินแดนแห่งนี้อยู่ในสภาพย่ำแย่ ต้องดิ้นรนเอาชีวิตให้รอดในทุกวิถีทาง...ซึ่งอันที่จริงพวกเขาไม่มีทางให้เลือกมากนัก

บทสนทนาระหว่างอายุบกับเพื่อนร่วมขบวนช่วยให้รู้ว่าอาชีพขนของเถื่อนไม่ใช่งานดั้งเดิมของคนเหล่านี้ พวกเขาเคยมีที่ดินทำกิน แต่ตอนนี้ที่ดินเต็มไปด้วยกับระเบิดในปริมาณที่มากเกินกว่าจะเก็บกู้ได้เอง

*เรื่องราวของอามีเนห์และพี่น้องของเธอนอกจากจะเป็นตัวอย่างของชะตากรรมของครอบครัวชาวเคิร์ดอีกมากมายแล้ว ยังเป็นการจำลองภาพของสังคมชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ที่ไร้หลักประกันใดๆ ในชีวิต เป็นส่วนย่อยของสังคมใหญ่ที่ไม่อาจกำหนดความเป็นไปของตนเอง แต่ถูกควบคุมด้วยคนอื่นที่มีอำนาจเหนือกว่า

สถานะของชาวเคิร์ดถูกเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นด้วยตัวละครพิการที่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้อย่างมาดี ซึ่งใน Turtles Can Fly หนังเรื่องที่สามของกอบาดีก็มีตัวละครลักษณะนี้เช่นกัน

อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่หนังเน้นเป็นพิเศษคือสมุดแบบฝึกหัดที่อามีเนห์ขอให้พี่ชายซื้อให้บ่อยครั้ง เสมือนบทเรียนว่าด้วยชะตากรรมของชาวเคิร์ดที่ยังมีบทใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ

รูปแบบการนำเสนอของ A Time for Drunken Horses ไม่แตกต่างจากหนังเรียลิสม์ของผู้กำกับฯอิหร่านคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ซ้ำเติมเรื่องราวที่ค่อนข้างกดดันบีบคั้นให้หนักไปกว่าเดิม ไม่ปรุงแต่งฉากและองค์ประกอบต่างๆ ใช้นักแสดงสมัครเล่นจากคนในชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้หนังดูสมจริงและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ฉากจบของ A Time for Drunken Horses จึงถูกเลือกให้เป็นแบบปลายเปิด ไม่มีข้อสรุปให้ผู้ชมว่าตัวละครจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ตรงกับความจริงที่ว่าเรื่องราวชะตากรรมของชาวเคิร์ดยังคงมีอยู่...และยังดำเนินต่อไป






บล็อกที่อัพพร้อมกัน : หนังสือบางเล่มจากมหกรรมหนังสือฯ และการอ่าน “ความจริง”




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2550
4 comments
Last Update : 23 ตุลาคม 2550 19:05:55 น.
Counter : 2564 Pageviews.

 


ภาพ AFP

17 ตุลาคมที่ผ่านมา สภาตุรกีมีมติเห็นชอบให้รัฐบาลใช้กำลังทางทหารปราบกบฏชาวเคิร์ดที่มีฐานที่มั่นทางตอนเหนือของอิรัก หลังจากฝ่ายกบฏฆ่าทหารตุรกี และซุ่มยิงรถโดยสาร

การโจมตียังไม่เกิดขึ้นเพราะสหรัฐกับอิรักยุค “ปรองดอง” ที่มีตัวแทนชาวเคิร์ดอยู่ในรัฐบาลและสภา ขอตุรกีว่า จะจัดการกบฏที่อยู่ในเขตอิรักเองก่อน ซึ่งต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วเพราะถ้ามีการใช้กำลังขึ้นมาจริงๆ เกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นแน่ๆ ตุรกีเองก็รู้ดี

พื้นที่ปัญหาในกรณีนี้ก็คือฉากหลังในเรื่อง Turtles Can Fly (มีขายที่ร้านแมงป่อง) ช่วงต้นของหนังจึงมีฉากที่ตัวละครตะโกนด่าทหารตุรกีที่ยืนเฝ้ายามอยู่ตรงพรมแดน เพียงแต่ใน Turtles Can Fly เป็นเรื่องของชาวอิรัก-เคิร์ดที่หนีภัยซัดดัมมาอยู่ที่นี่ ส่วนเหตุการณ์ในข่าวเป็นกบฏชาวเคิร์ดในตุรกีที่ก่อตั้งพรรคแรงงานแห่งเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) และใช้พรมแดนตอนเหนือของอิรักเป็นฐานที่มั่น สำหรับฉากหลังของ A Time for Drunken Horses เป็นพรมแดนอิรัก-อิหร่าน นั่นคืออยู่ฝั่งตะวันออกของอิรัก

ไฮเนอร์ ซาลีม (Hiner Saleem) ผู้กำกับฯชาวอิรัก-เคิร์ดอพยพ เคยกล่าวว่า "I was born an adult, because we Kurds didn't have a childhood."

หนังของกอบาดีทั้ง A Time for Drunken Horses และ Turtles Can Fly ยืนยันคำพูดของซาลีมได้อย่างดี

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 21 ตุลาคม 2550 5:36:43 น.  

 



หนังที่อยากดูมากๆ

Ghosts of Cite Soleil (2006)

หนังสารคดีโดย แอสเกอร์ เลธ (Asger Leth) ที่ "ใจกล้า" เข้าไปถ่ายทำที่ Cite Soleil (Sun City ในภาษาอังกฤษ) ย่านสลัมในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากแค้น อัปลักษณ์ และอันตรายที่สุดในโลก

ที่หนักหนายิ่งกว่านั้นคือการต้องเข้าไปคลุกคลีติดตามความเป็นไปของพี่น้องหัวหน้าแก๊งอันธพาลซึ่งเคยเป็นกองกำลังลับของอดีตประธานาธิบดีฌอง แบร์ทรองด์ อริสตีด และมีชีวิตอยู่ด้วยการฆ่าฟัน

ใครเคยดู Heading South ที่ป้าชาร์ลอตต์ แรมปลิง เล่นเป็นนักท่องเที่ยวซื้อบริการเด็กหนุ่ม แล้วเห็นร่องรอยของความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ Ghosts of Cite Soleil คงพาเราเข้าไปเห็นเนื้อในของมันเลยทีเดียว

อ่านเกี่ยวกับเฮติ+ปอร์โตแปรงซ์+ฌอง แบร์ทรองด์ อริสตีด ใน Heading South ที่นี่ ครับ

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 21 ตุลาคม 2550 5:42:26 น.  

 

จำฉากต้นเรื่องของ Turtles Can Fly ไม่ได้เลยค่ะ
ผู้คนที่อยู่ใน Cite Soleil มีชีวิตอยู่ด้วยการฆ่าฟัน... โหดจิงจิง...

 

โดย: renton_renton 23 ตุลาคม 2550 8:27:29 น.  

 

ตอนนี่ผมเรียนอยู่ครุ จุฬากำลังทำรายงานเกี่ยวกับชาวเคิรืด สงตรามแบ่งแย่ดินแดน และการทำสงครามของตูรกี กับชาวเคิรด ไม่ทราบว่าคุณพอจะมีข้อมูลบ้างไหม อืม อยากได้แนวผลกระทบของสงครมาที่ตูรกีปราบเคิร์ดเช่นราคาน้ำมันพุง หรือก่อการร้าย พอจามีข้อมูลบ้างป่าวฮะ

 

โดย: หนึ่ง IP: 202.44.135.35 11 พฤศจิกายน 2550 18:39:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
21 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.