Titus ต้นแบบตัวละครอมตะ



Titus
ต้นแบบตัวละครอมตะ

ดูหนังในหนังสือ, Starpics Movie Edition ฉบับที่ 544 พฤศจิกายน 2543


*แม้ผลงานมากมายของ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ จะถูกถ่ายอดเป็นภาพยนตร์ตลอดระยะเวลาร่วมศตวรรษ โดยแทบไม่เว้นเลยสักปีทั้งบนจอแก้วและจอเงิน ทั้งใช้บทประพันธ์ดั้งเดิมหรือใช้เพียงโครงเรื่องหลัก แต่ดูเหมือนว่าชื่อของ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ จะกลับมารุ่งเรืองเฟื่องฟูอีกครั้งช่วงปลายศตวรรษต่อต้นศตวรรษใหม่ นัยว่าเป็นช่วงแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปี นับแต่ผลงานชิ้นแรกของเขาได้เผยแพร่สู่สาธารณชน (งานแรกของเชคสเปียร์คือ The First, Second and Third Part of King Henry VI ราวปี 1590-1592)

และแม้ว่าที่ผ่านมาเชคสเปียร์บนแผ่นฟิล์มรูปแบบเก่าที่เคยสร้างกันมา คือคงองค์ประกอบของบทละครไว้แทบครบถ้วน เช่น Hamlet (1996) ของ เคนเน็ธ บรานาห์ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่าง เช่นเปลี่ยนฉากและช่วงเวลาใน A Midsummer Night’s Dream (1999) ของ ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน หรือใช้เพียงโครงเรื่องหลักแล้วปรับเปลี่ยนโฉมเสียใหม่ เช่น 10 Things I Hate about You (1999) ของ กิล จังเกอร์ ซึ่งดัดแปลงจาก The Taming of the Shrew จะยังมีการสร้างกันอยู่

แต่การกลับมารุ่งเรืองเฟื่องฟูอีกครั้งของเชคสเปียร์ในวงการหนังฮอลลีวู้ดช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นี่เอง ที่ทำให้งานของมหากวีผู้นี้ถูกประแป้งแต่งหน้าให้ร่วมสมัย ที่สำคัญคือหวือหวาแหวกแนวตามลีลาของผู้กำกับฯรุ่นใหม่ ซึ่งมองว่าขนบดั้งเดิมไม่ได้มีไว้ให้เดินตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำของเก่ามาขายเป็นเรื่องท้าทายที่จะสร้างสรรค์ในแนวทางใหม่ให้ลงตัวกลมกลืน

เราจึงได้เห็นหนุ่มโรมีโอและสาวน้อยจูเลียตเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ใน Romeo+Juliet (1996) ของ บาซ เลอร์มาน สนทนากันด้วยบทกวีอันเต็มไปด้วยศัพท์แสงโบราณ เช่นเดียวกับ แฮมเล็ตแห่งนิวยอร์ค ใน Hamlet (2000) ของ ไมเคิล อัลเมเรย์ดา

หรือแปลกไปกว่านั้น Looking for Richard (1996) ของ อัล ปาชิโน ที่เสนอเบื้องหลังการสร้างละครเวทีเรื่อง Richard III และการจับเอาเชคเสปียร์มาเปรียบเป็นโรมีโอเสียเองใน Shakespeare in Love (1998) ของ จอห์น แมดเดน

Titus ของผู้กำกับฯหญิง จูลี่ เทย์เมอร์ จากบทละคร Titus Andronicus ก็อยู่ในกระแสนี้ด้วยเช่นกัน ในรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับ Romeo+Juliet

Titus Andronicus เป็นผลงานลำดับต้นๆ ของเชคสเปียร์ เปิดแสดงในช่วงปี 1593-1594 ด้วยเหตุที่ตัวละครจ้องจองล้างจองผลาญล้างแค้นกันด้วยวิธีโหดๆ บนพื้นฐานเรื่องราวที่ไม่มีความซับซ้อนลึกซึ้งเท่าใดนัก ทำให้ Titus Andronicus ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบและไม่เป็นที่จดจำสำหรับแฟนๆ จนถึงกับมีข้อกังขาว่าบทละครเรื่องนี้ไม่ใช่ผลงานของเชคสเปียร์

ในวงการหนังก็เช่นกัน ขณะที่ผลงานเด่นของเชคสเปียร์ อาทิ Hamlet, Macbeth, Othello หรือ Romeo and Juliet ถูกสร้างสรรค์บนแผ่นฟิล์มทั้งในและนอกฮอลลีวู้ดกันเรื่องละหลายสิบครั้งในหลายๆ รูปแบบ Titus Andronicus กลับถูกถ่ายทอดเป็นหนังเพียง 2 ครั้ง และเป็น 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว (1999) นี่เอง หรือถ้าจะรวมฉบับที่ฉายทางโทรทัศน์และฉบับที่ทำป้อนตลาดวิดีโอ ก็เพิ่มเข้าไปอีกเพียง 3 ครั้งเท่านั้น (ฉบับโทรทัศน์มี Titus Andronikus ปี 1970 และ Titus Andronicus ปี 1985 ส่วนฉบับวิดีโอคือ Titus Andronicus: The Movie ปี 1997)

*Titus Andronicus ซึ่งถูกสร้างเป็นหนังเมื่อปี 1999 ฉบับหนึ่งกำกับฯโดย คริสโตเฟอร์ ดันน์ ผู้เขียนไม่ได้ชมเรื่องนี้ แต่ดูจากงานสร้างแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นหนังที่เจาะกลุ่มคอหนังขาโหดทั้งหลาย และฉายในวงแคบก่อนลงสู่ตลาดวิดีโอและเคเบิลทีวี ขณะที่อีกฉบับหนึ่งในชื่อสั้นๆ ว่า Titus โดยผู้กำกับฯ จูลี่ เทย์เมอร์ น่าจะเป็นฉบับที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักบทละครเรื่องนี้ รวมทั้งทำให้เชคสเปียร์แฟนคลับหันกลับมาสนใจอีกครั้งหนึ่ง

โศกนาฏกรรมแห่งกรุงโรมเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ ไททัส แอนโดรนิคัส (แอนโธนี ฮอปกินส์) แม่ทัพใหญ่ กลับสู่จักรวรรดิโรมันพร้อมชัยชนะในการทำสงครามกับเมืองกอธ เขาสูญเสียลูกชายที่ไปร่วมรบด้วยหลายคน จนเหลือกลับมาแค่ 4 คน คือ ลูเชียส (แองกัส แมคฟาเดียน) ควินตัส (เคนนี่ โดห์ตี้) มาร์เทียส (โคลิน เวลล์ส) และ มิวเทียส (เบลค ริทสัน) ในพิธีศพไททัสได้ฆ่า อลาร์บัส (แรซ เดแกน) ลูกชายคนโตของราชินีทามอร่า (เจสสิกา แลงก์) ผู้เป็นเชลยศึกเพื่อสังเวย โดยไม่ยอมฟังคำอ้อนวอนทัดทานของนาง

ช่วงนั้นจักรพรรดิโรมันสวรรคต บุตรชายทั้งสองของพระองค์ คือ ซาเทิร์นนินัส (อลัน คัมมิ่ง) และ บาซซิเอนัส (เจมส์ เฟรน) ต่างต้องการสืบราชบัลลังก์ ไททัสในฐานะขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ตัดสินให้ซาเทริ์นนินัสเป็นจักรพรรดิ พร้อมกับมอบเชลยศึกคือราชินีทามอร่าและลูกชายของนาง รวมทั้ง แอรอน (แฮร์รี่ เจ. เลนนิกซ์) ชาวมัวร์ผู้เป็นชู้รักของทามอร่าเป็นเครื่องบรรณาการ นอกจากนั้น ไททัสยังต้องจำใจยก ลาวิเนีย (ลอร่า เฟรเซอร์) บุตรสาวเพียงคนเดียวให้ซาเทิร์นนินัส

เมื่อบาซซิเอนัสซึ่งคบหารักใคร่อยู่กับลาวิเนียไม่ยินยอม เขาจึงพาลาวิเนียหนีไปโดยมีพี่ชายทั้งสี่ของนางช่วยเหลือ ด้วยความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ไททัสพยายามพานางกลับคืนให้ซาเทิร์นนินัสจนถึงกับปลิดชีวิตมิวเทียส ลูกชายตนเองที่เข้าขัดขวาง เมื่อซาเทิร์นนินัสไม่ได้ตัวลาวิเนีย จึงแต่งตั้งทามอร่าเป็นจักรพรรดินีแทน

แล้วแผนการล้างแค้นไททัสของทามอร่าก็เริ่มต้น โดยมีแอรอนเป็นผู้วางอุบายให้ควินตัสและมาร์เทียส ลูกชายของไททัสถูกจับกุมเพราะต้องสงสัยว่าเป็นผู้สังหารบาซซิเอนัส ส่วนลูเชียสลูกชายอีกคนก็ถูกเนรเทศ

และที่ซ้ำร้ายกว่านั้น...ลาวิเนียถูก ดีมีเทรียส (แม็ทธิว ไรส์) และไครอน (โจนาธาน รีส-เมเยอร์ส) ลูกของทามอร่าข่มขืน แถมยังตัดลิ้นและมือของนางเพื่อให้ไม่อาจบอกใครได้

แม้ว่าไททัสจะยอมตัดมือตนเองเพื่อแลกชีวิตลูกชายที่ถูกจับกุม แต่ทั้งสองกลับถูกฆ่าทิ้ง ยิ่งเมื่อได้รู้ว่าใครเป็นคนทำร้ายลูกสาว ความอดทนและความจงรักภักดีของไททัสจึงสิ้นสุดลง เขาแกล้งทำเป็นเสียสติ ลวงลูกของทามอร่ามาเชือดคอ และนำร่างไร้วิญญาณนั้นมาทำเป็น “พาย” เพื่อเสิร์ฟในมื้ออาหารที่ซาเทิร์นนินัสและทามอร่าคงไม่มีวันลืม...ถ้าทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ต่อไป!

หนังเปิดเรื่องด้วยเด็กชายคนหนึ่งในบ้านที่มีข้าวของเครื่องใช้สมัยใหม่ เขาสวมถุงกระดาษปิดหน้า เจาะไว้เพียงดวงตา แสดงท่าทางกราดเกรี้ยวทึ้งทำลายกองทัพตุ๊กตาทหารและนักรบโรมันตรงหน้า ทันใดนั้น มีเสียงเฮลิคอปเตอร์ เสียงระเบิดดังสนั่น พร้อมชายรูปร่างกำยำตรงเข้าอุ้มเด็กชาย เปิดประตูพาออกไปสู่สนามกีฬาโคลอสเซียมแห่งกรุงโรม ดั่งเมื่อราวปี ค.ศ.400

หากใครเคยดู Romeo+Juliet ของ บาซ เลอร์มาน และ Love’s Lobour’s Lost (2000) ฉบับล่าสุดของเคนเน็ธ บรานาห์ จะเห็นว่ามีฉากเปิดเรื่องทำนองเดียวกัน โดยการดึงผู้ชมยุคปัจจุบันไปสู่โลกจินตนาการซึ่งผสมผสานระหว่างเรื่องแต่งที่มีฉากและช่วงเวลาในอดีตกับเหตุการณ์ร่วมสมัย ใน Romeo+Juliet และ Love’s Lobour’s Lost ใช้ข่าวโทรทัศน์บรรยายเรื่องราว ขณะที่ Titus ชายรูปร่างกำยำเหมือนนักรบกลาดิเอเตอร์ (แต่สวมแว่นตานักบินยุคสงครามโลกครั้งที่ 2) พาเด็กชายซึ่งตอนแรกอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน ย้อนกลับไปสู่ยุคโรมัน และเด็กชายคนนี้ได้กลายเป็นตัวละคร ลูเชียสน้อย (โอชีน โจนส์) ลูกของลูเชียส

ลูเชียสน้อยที่มาจากโลกปัจจุบัน และเป็นพยานรู้เห็นการห้ำหั่นทำร้ายกันอย่างรุนแรงต่อหน้าต่อตานี่เอง เป็นเหมือนตัวแทนของผู้สร้างในการวิพากษ์ความเสื่อมทางศีลธรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งสื่อต่างๆ รวมทั้งหนังได้ตกเป็นจำเลยทางสังคม แม้ว่าจะมีส่วนถูกสำหรับข้อกล่าวหานั้น แต่ความรุนแรงหลายครั้งที่เกิดขึ้น ใช่หรือไม่ว่าโดยพื้นฐานเกิดจากระดับอารมณ์ของผู้คน ทั้งรัก หลง โกรธแค้นอันเกินพิกัด จนไม่สามารถครองสติได้ ดังเช่นโศกนาฏกรรมใน Titus


คือแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรักและความแค้นที่ก่อให้เกิดความรุนแรงซึ่งแฝงไว้ในบทละครตั้งแต่ต้น เมื่อมาปรากฏอยู่ใน Titus แก่นเรื่องดังกล่าวได้ถูกขยายออกให้ครอบคลุมทุกช่วงเวลา ไม่จำกัดไว้แค่อดีต

เพราะหลังจากฉากเริ่มต้นที่เป็นการมาพบกันระหว่างยุคโรมันกับโลกปัจจุบันแล้ว ฉากและองค์ประกอบฉากต่างๆ ในหนังหลังจากนั้นล้วนแต่มีลักษณะไร้กาลเวลา คือมีการผสมผสานกันหลายยุคสมัย เช่นพาหนะมีทั้งม้า มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ อาวุธมีทั้งดาบ ธนู และปืน ส่วนเครื่องแต่งกายก็มีหลายแบบ ตั้งแต่ชุดเกราะไปจนถึงชุดหนัง แถมมีวิดีโอเกม 3 มิติ ของเล่นยุคดิจิตอลอีกต่างหาก

กระนั้น ยุคสมัยที่โดดเด่นที่สุดใน Titus คือยุครัฐบาลฟาสซิสต์ของจอมเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี (ระหว่างปี 1922-1943) ทั้งเครื่องแต่งกายทหาร และฉากหลังที่ใช้ตึกที่ทำการรัฐบาลฟาสซิสต์ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เหตุที่ผู้สร้างใช้ยุคนี้เป็นหลักน่าจะเพราะความสอดคล้องใกล้เคียงกันระหว่างยุคโรมันและยุคฟาสซิสต์ที่มุ่งแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตเพื่อความเกรียงไกรของกรุงโรม ซึ่งมุสโสลินีถึงกับเคยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะทำให้อิตาลียิ่งใหญ่เหมือนจักรวรรดิโรมัน

นอกจากฉากและองค์ประกอบฉากซึ่งดูแปลกตาน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว งานด้านภาพทั้งการถ่ายภาพและการตัดต่อก็ดูหวือหวาตามสไตล์ผู้กำกับฯรุ่นใหม่ ทั้งการเร่งความเร็วภาพ การแช่ภาพนิ่ง หรือกราฟิคภาพในจินตนการที่ให้ความรู้สึกน่าหวาดหวั่น แม้เทคนิคเหล่านี้จะเห็นกันบ่อยครั้งในหนังร่วมสมัยหลายเรื่อง แต่เมื่อมาใช้กับเรื่องราววิจิตรอลังการอย่างงานของเชคสเปียร์จึงน่าสนใจยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ลูกเล่นเหล่านี้ไม่ได้ถูกใส่ไว้พร่ำเพรื่อ แต่ใช้รองรับกับบทตอนได้ลงตัว เช่นการเร่งความเร็วภาพในฉากที่ลาวิเนียเขียนชื่อคนที่ทำร้ายเธอ เหมือนการไหลทะลักปลดปล่อยสิ่งที่คั่งค้างอยู่ในใจ

แม้องค์ประกอบหนังหรือวิธีการนำเสนอจะดูห่างไกลจากเชคสเปียร์แบบดั้งเดิมไปพอสมควร แต่โดยเนื้อหาใจความแล้ว เรียกได้ว่าผู้สร้างสามารถดึงอรรถรสในงานประพันธ์ออกมาได้ครบถ้วน เพราะใช้ถ้อยสนทนาตามบทประพันธ์ อาจตัดบางฉากและบางตัวละครออกไปบ้างเพื่อไม่ให้หนังยาวและเยิ่นเย้อจนเกินไป แต่แน่นอนว่าฉากที่คงอยู่หลายฉากได้แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของเชคสเปียร์ จนทำให้บทละคร Titus Andronicus น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

เช่นฉาก “ทางแยก” ซึ่งเป็นฉากที่ไททัสผู้เป็นพ่อเฝ้ามองชะตากรรมของลูกๆ แล้วรำพันต่อฟ้าดิน ถือว่าเป็นฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งของหนังในแง่การนำเหตุการณ์ที่เคยถูกถ่ายทอดบนเวทีละคร ซึ่งมีข้อจำกัดด้านมุมมองของผู้ชมและมิติของสถานที่ มานำเสนอในสถานที่จริงซึ่งมีทางแยก 4 สาย เหมือนกับชะตากรรมของคนในครอบครัวแอนโดรนิคัส ขับเน้นด้วยภาพระยะไกลเห็นตัวละคร 4 คนยืนอยู่ปากทางแยกทั้งสี่ ฟากฟ้าครึ้มเมฆฝน มีถ้อยคำร้าวรันทดของไททัสรองรับ

นี่คือตัวอย่างที่ดีของการนำงานประพันธ์หรือการละครมาสร้างบนแผ่นฟิล์ม โดยผู้สร้างใช้จุดเด่นของหนังมาทดแทนข้อจำกัดของงานดั้งเดิม และรู้ว่าควรใช้จุดเด่นของหนังช่วยเน้นสัญลักษณ์ใดที่อยู่ในงานประพันธ์นั้นๆ

ในส่วนอารมณ์ของหนัง นับว่า Titus หลุดพ้นจาก “เมโลดราม่าเปื้อนเลือด” ได้ด้วยการลงลึกไปในจิตใจของตัวละคร แทนที่จะเน้นเรื่องความทารุณโหดร้าย โดยเฉพาะตัวละครไททัสซึ่งรับบทโดยแอนโธนี ฮอปกินส์ คือชายวัยกลางคนผู้จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์และจักรวรรดิโรมัน แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เขาต้องปกป้องคุ้มครองก็คือครอบครัว หลายครั้งที่ไททัสต้องแสดงความเข้มแข็งให้คนในครอบครัวเห็น ฮอปกินส์สามารถแสดงให้รู้ว่าในการกระทำและคำพูดซ่อนความโศกเศร้าขมขื่นเอาไว้

ส่วนแอรอน ชู้รักของทามอร่า เพราะความลุ่มหลงในตัวนาง ประกอบกับความเคียดแค้นไททัสและซาเทิร์นนินัส ทำให้เขาคิดแผนการชั่วร้ายต่างๆ แต่เมื่อเขามีลูกอันเกิดกับทามอร่า ความเคียดแค้นต่างๆ จึงคลายลง พร้อมกับสำนึกว่าการทำร้ายสายเลือดของคนอื่นเป็นสิ่งเลวร้าย ซึ่ง แฮร์รี่ เจ.เลนนิกซ์ ผู้รับบทแอรอนถ่ายทอดความรู้สึกดังกล่าวนี้ได้ดีและโดดเด่นไม่แพ้นักแสดงรุ่นใหญ่ที่เคยได้ออสการ์มาแล้วอย่างฮอปกินส์ ซ้ำยังโดดเด่นแซงหน้านักแสดง 2 รางวัลออสการ์อย่างเจสสิก้า แลงก์ ในบทราชินีทามอร่า


นอกจาก 2 นักแสดงออสการ์แล้ว Titus ยังได้นักแสดงรางวัลโทนี่อย่างอลัน คัมมิ่ง มารับบทซาเทิร์นนินัส ส่วนทีมงานเบื้องหลังล้วนแล้วแต่คุณภาพคับแก้ว ทั้งผู้กำกับฯเทย์เมอร์ซึ่งสร้างชื่อจากละครเวที 6 รางวัลโทนี่ รวมทั้งรางวัลผู้กำกับฯยอดเยี่ยม เรื่อง The Lion King มิเลนา คาโนเนโร ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และ ฟรังซัวส์ โบเนต์ มือตัดต่อ ต่างเคยได้ออสการ์มาแล้ว ยังไม่นับ ดังเต้ เฟอร์เร็ตติ ผู้ออกแบบงานสร้าง และ เอลเลียต โกลเดนทาล คนแต่งดนตรีประกอบ ที่เคยเข้าชิงออสการ์กันคนละหลายครั้ง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้Titus เป็นอีกรสชาติหนึ่งของเชคสเปียร์ที่น่าลิ้มลอง

แม้ว่าที่ผ่านมา Titus Andronicus จะเป็นงานของเชคสเปียร์ซึ่งไม่อยู่ในความทรงจำหรือการรับรู้ของคนจำนวนมาก แต่หากใครที่เคยชื่นชมหรือเริ่มรู้จักมหากวีผู้นี้จากงานเด่นๆ เรื่องอื่นของเขาก็ไม่ควรพลาด Titus

เพราะนี่คือต้นแบบตัวละครสำคัญใน Macbeth, Othello, Richard III รวมทั้ง Hamlet ที่อยู่ในใจคนมากมายมานานกว่า 4 ศตวรรษ




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2550
14 comments
Last Update : 4 มีนาคม 2551 23:07:02 น.
Counter : 6995 Pageviews.

 



1.จูลี่ เทย์เมอร์ กำกับฯ Frida(2002) เป็นเรื่องถัดมา ล่าสุดเธอมีผลงานใหม่น่าดูมาก เรื่อง Across the Universe เป็นหนังเพลงแฟนตาซียุค 60 ที่ดำเนินเรื่องราวด้วยเพลงของ The Beatles (ชื่อหนังกับคำโปรยว่า All you need is love บอกชัดว่าเกี่ยวข้องกับ The Beatles แน่ๆ)

2.ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550 รายงานว่า ปัจจุบันมีการรวมตัวของนักวิชาการ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้เกี่ยวข้องกับการละคร และผู้ที่สนใจศึกษาประเด็นข้อถกเถียงเรื่อง “วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ไม่ได้ประพันธ์ผลงานด้วยตนเอง” เรียกชื่อกลุ่มว่า SAC (The Shakespeare Authorship Coalition) ร่วมกันออกแถลงการณ์และลงนามในเอกสาร Declaration of Reasonable Doubt (แถลงการณ์ว่าด้วยความสงสัยอันชอบธรรม)

เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตั้งข้อสันนิษฐาน กระตุ้นให้เกิดมุมมอง การวิจัย หรือการค้นคว้าหลักฐานใหม่ๆ หากมีผู้สนใจมากพออาจจะบรรจุเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ขณะนี้มีผู้เห็นด้วยและร่วมลงนามไม่ต่ำกว่า 300 คน ทั้งคณาจารย์ นักสังคมวิทยา นักกฎหมาย นักศึกษาวรรณคดี ฯลฯ

ใครสนใจเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ doubtaboutwill.org มีทั้งคำแถลงการณ์ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อสงสัยและข้อสันนิษฐานของนักวิชาการ ความคืบหน้าในการวิจัย รวมทั้งเปิดให้ร่วมลงนามด้วย

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 17 พฤศจิกายน 2550 20:50:02 น.  

 

อ่านแล้วอยากดูเลยค่ะ

 

โดย: แพนด้ามหาภัย 17 พฤศจิกายน 2550 23:33:17 น.  

 

กำลังรอ สั่งเรื่องนี้มาดู เพราะเราอยากดูละครเวที แต่ดันเป็นภาษาญี่ปุ่นเสียนี่ รีวิวได้ละเอียดดีจัง หุหุ ดูแล้วคงต้องกลับมาอ่านอีกครั้ง

 

โดย: ทำไมต้องล็อกอิน 18 พฤศจิกายน 2550 21:06:12 น.  

 

ตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้าวงการเลยครับ 55+
ได้ยินชื่อเรื่องนี้ก็เฉยๆ
อ่านแล้วก็อยากดูอีกแล้ว - -*

 

โดย: nanoguy 19 พฤศจิกายน 2550 2:00:15 น.  

 

น่าดูเรื่อง Across the Universe ค่ะ.

 

โดย: ม่วนน้อย. IP: 202.44.136.50 19 พฤศจิกายน 2550 14:24:42 น.  

 


'นพพร ประชากุล' ผู้เผยแพร่แนวคิด'โพสต์โมเดิร์น'เสียชีวิต

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นักวิชาการผู้ริเริ่มเผยแพร่แนวคิด"โพสต์โมเดิร์น"ในไทย และผลักดันแปลผลงานนักคิดคนสำคัญของฝรั่งเศส เสียชีวิตแล้ววานนี้ ตั้งศพสวดศาลา7 วัดโสมนัสฯ 17-19 พ.ย.

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : รองศาสตราจารย์นพพร ประชากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการคนแรกๆ ที่นำแนวคิด "โพสต์โมเดิร์น" หรือแนวคิดหลังสมัยใหม่ มาเผยแพร่ในวงวิชาการไทยสายสังคมศาสตร์

เป็นผู้ผลักดันการแปลหนังสือปรัชญาความคิดของนักคิดฝรั่งเศสที่สำคัญหลายคน เช่น "ร่างกายใต้บงการ" ของ มิเชล ฟูโก(Michel Foucault) "มายาคติ" ของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส (A critical insight into French literature)

นอกจากนั้น ยังมีผลงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดหลังอาณานิคมและทฤษฎีสัญญวิทยา ซึ่งเป็นมุมมองสำคัญในการชี้ให้ให้ปรากฏการณ์และนำมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง

โดยกำหนดสวดพระอภิธรรมที่ศาลา 7 วัดโสมนัสวิหาร ราชวรวิหาร (ริมถนนและคลองผดุงกรุงเกษมด้านตลาดนางเลิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 17-19 พ.ย.และจะมีการประชุมเพลิงในวันที่ 20 พ.ย. เวลา 17.30 น.

//www.bangkokbiznews.com/2007/11/18/WW10_WW10_news.php?newsid=203342

ข่าวเศร้าครับ....

พร้อมๆ กับข่าวนี้ ผมก็ได้ทราบข่าวจากบอร์ดไทยไรเตอร์ว่า จเรวัฒน์ เจริญรูป กวีปักษ์ใต้-อาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อเช้านี้(19 พ.ย.)

นี่เป็นบล็อกของ "จเรวัฒน์" ครับ

//www.oknation.net/blog/jarewat

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 19 พฤศจิกายน 2550 21:05:42 น.  

 

^
^
....

และขอยกมือว่าเคยดู Romeo & Juliet ของ บาซ เลอร์มาน แต่ TITUS ทีแรกคิดว่ายังไม่เคยดู แต่เห็นแอนโธนี่ ฮอปกินส์ฉากนี้แล้วคุ้นๆ เลยสันนิษฐานว่าอาจารย์แดงคงเคยเอามาเปิดสอน...(แค่บางฉาก)

 

โดย: renton_renton 20 พฤศจิกายน 2550 0:33:23 น.  

 

ตอบ แพนด้ามหาภัย & ทำไมต้องล็อกอิน & nanoguy
ลองดูครับ ผมว่าหนังดีนะ

ตอบ ม่วนน้อย
ใช่ครับ น่าดู แต่สงสัยไม่ได้ฉายบ้านเรา

ตอบ renton
อยากรู้ว่าอาจารย์ใช้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างเพื่อสอนเรื่องอะไร

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 21 พฤศจิกายน 2550 2:14:45 น.  

 

ตอบด้วยความสัจจริงว่า-จำไม่ได้เลยค่ะว่าอาจารย์เอาเรื่องนี้มาแล้วพูดถึงอะไร

 

โดย: renton_renton 23 พฤศจิกายน 2550 11:50:12 น.  

 

เกือบจะลืมว่าเคยดูไปแล้วครับเรื่องนี้
จำได้ว่าชอบนักแสดงหลายคนเลยในเรื่อง
โดยเฉพาะปู่ฮอฟกินส์ กะป้าแลงจ์

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 24 พฤศจิกายน 2550 12:41:02 น.  

 

อ่านแล้วน่าสนใจมาก แค่เห็นชื่อผู้ประพันธ์ก็ทึ่งแล้ว พออ่านบทวิจารณ์ยิ่งน่าสนใจใหญ่เลย ชอบดูหนังเก่า ๆ พวกหนังประวัติศาสตร์ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสเลย

 

โดย: yawaiam IP: 125.25.172.20 25 พฤศจิกายน 2550 8:09:12 น.  

 

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 26 พฤศจิกายน 2550 16:56:45 น.  

 

ร่วมลอยอังคารน้องจเรวัฒน์ที่ web นี้ค่ะ
//board.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=13&No=112867
//board.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=13&No=112676
ทำบุญ100 วัน 9 มีค. ใครต้องการส่งบทกวีติดต่อคุณดวงแก้วที่คลื่นวรรณกรรมค่ะ
ขอบคุณค่ะ

 

โดย: พี่เอ IP: 117.47.201.63 13 มกราคม 2551 1:09:45 น.  

 

เคยดู Titus เมื่อนานมาแล้ว จำได้ว่าช่องเจ็ดเคยเอามาฉายเป็นหนังช่วงเช้า และยังอยากดูอีก
เป็นหนังที่มีฉากและเพลงประกอบสุดยอด ถ้าหากใครรู้ว่าจะสั่งซื้อ DVD เรื่อง Titus ได้จากที่ไหน อีเมล์มาบอกด้วยนะคะ etocha13@yahoo.com จะขอบคุณมากมายเลยค่ะ

 

โดย: ฝน IP: 203.107.142.106 20 มีนาคม 2551 15:28:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
17 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.