The True Is Out There...
Group Blog
 
 
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
ธุรกิจท้องถิ่นสู่การเปลี่ยนแปลง

ชื่อของ "วรวัชร ตันตรานนท์" ค่อนข้างจะเป็นที่คุ้นหูในวงการค้าปลีกเมืองเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการบริหาร บริษัท ชอยส์มินิสโตร์ จำกัด เจ้าของซับแอเรียไลเซนส์เซเว่นอีเลฟเว่นกว่าร้อยสาขาใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
ความน่าสนใจของวรวัชรไม่ได้อยู่แค่ยอดการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องปีละกว่าสิบร้าน รวมถึงอัตราการเติบโตของธุรกิจที่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

แต่ในบทบาทที่ต้องร่วมบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นอย่าง "ริมปิง" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในกิจการของตระกูลตันตรานนท์ ที่ต้องต่อสู้กับยักษ์โมเดิร์นเทรดและดิสเคานต์สโตร์ ไม่ว่าจะเป็น เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ หรือท็อปส์ รวมถึงที่ down size หรือย่อส่วนลงแข่งในสนามค้าปลีกรายย่อยอย่าง "โลตัส เอ็กซ์เพรส"

ชวนให้สงสัยว่า ทำไมทุนท้องถิ่นรายนี้ถึงยังอยู่รอดมาได้ !!!

"วรวัชร" หัวเรือใหญ่ของริมปิงบอกว่า แม้ภาพรวมของตลาดค้าปลีกภาคเหนือจะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่จริงๆ แล้ว กลุ่มลูกค้าจะเหลื่อมกันนิดหน่อย ไม่ได้ชนกันตรงๆ ซะทีเดียว เพียงแต่ต้องหาโพซิชั่นของตัวเองให้ได้

"การเข้ามาของโลตัส เอ็กซ์เพรส จะว่ากระเทือนก็ใช่ จะว่าไม่กระเทือนก็ใช่ คือว่าถ้าเป็นสาขาที่อยู่ใกล้กันมันได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพราะสินค้าส่วนหนึ่งมันคาบเกี่ยวกันอยู่ แต่เราก็หาวิธีปรับตัว หาสินค้าใหม่ๆ เข้ามา ที่โลตัส เอ็กซ์เพรส จะเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ต มีของสดทั่วๆ ไป แต่เซเว่นอีเลฟเว่นจะเน้นของกินที่ไม่ต้องปรุง รวมถึงของใช้นิดหน่อย ส่วนริมปิงก็จับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ฟีลลิ่งจึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นยอดขายมันจึงไม่หาย"

วรวัชรกล่าวต่อว่า ตอนนี้เซเว่นอีเลฟเว่นของ เขามีอยู่ 105 สาขา และกำลังจะเปิดใหม่ในเดือนนี้อีก 1 สาขา เดือนเมษายนอีก 2 สาขา โดยเจ้าตัวตั้งเป้าไว้ว่า จะเปิดให้ได้ 121 สาขาภายในปีนี้ และ 90% จะเปิดที่เชียงใหม่ ส่วนอีก 10% จะเป็นที่ลำพูนและแม่ฮ่องสอน

เมื่อถามถึงสถานการณ์ร้านค้าปลีกรายย่อยอื่นๆ ของภาคเหนือเป็นอย่างไรบ้าง ?

วรวัชรบอกว่า ยังพออยู่ได้ แต่คงต้องมีการปรับตัวกันต่อไป อย่างไรก็ตามปัญหาที่เจอส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องอยู่ได้หรือไม่ได้ แต่กลับเป็นเรื่องไม่มีคนสานต่อกิจการมากกว่า ทั้งนี้ จะเห็นว่า

มินิมาร์ตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นรายใหม่ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิม

"ลูกหลานร้านโชห่วยส่วนใหญ่จะเรียนสูงหมด บางคนไปเรียนต่างประเทศ จะให้กลับมาทำร้านแบบโบราณที่เจ้าของต้องมานั่งคุมเองเขาก็ไม่ทำ บางคนก็หลุดไปทำกิจการอื่น อย่างธุรกิจที่ดินหรือบริษัทคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีบางรายที่กลับมาทำกิจการเดิม โชห่วยเองก็อาจจะต้องปรับเป็น คอนวีเนี่ยนสโตร์ คือที่สุดแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ถึงจะรายเล็กๆ แต่ถ้าทำดีๆ ก็น่าจะอยู่ได้"

อย่างร้านริมปิง เมื่อก่อนก็เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบทั่วๆ ไป แต่พอมีห้างใหญ่อย่างโลตัส คาร์ฟูร์ ฯลฯ เข้ามา ซึ่งเน้นเรื่องราคาที่ถูกกว่า ก็เริ่มอยู่ ไม่ได้ เนื่องจากวอลุ่มในการสั่งของจากซัพพลายเออร์ต่างกันมาก

"ตอนนั้นก็เหนื่อย ผมเลยไปคุยกับผู้ใหญ่ ท่านได้ให้คำแนะนำว่า เอาอย่างนี้สิ เห็นช้างไหม มันมี 4 ขา เพราะฉะนั้น คุณต้องหาให้ได้ว่า ท้องช้างอยู่ตรงไหน แล้วไปยืนตรงนั้น อย่าไปยืนตรงเท้าช้าง เพราะจะโดนเหยียบ" วรวัชรเปรียบเทียบให้เห็นภาพการแข่งขันว่า ถ้าเขาไปต่อสู้กับโมเดิร์นเทรดตรงๆ ก็คงไม่รอด และอาจจะถูกเหยียบเหมือนทุนท้องถิ่นค้าปลีกรายอื่นๆ ที่ต้องทยอยปิดตัวกันจนแทบไม่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

เมื่อคิดได้ "ริมปิง" จึงหันไปจับลูกค้าระดับ AB อาทิ ลูกค้าชาวต่างชาติ ลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ มีกำลังซื้อสูง เป็นวิลล่ามาร์เก็ต ขายสินค้าที่คัดสรรมาโดยเฉพาะ เน้นคุณภาพ เน้นบริการสำหรับกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นนิชมาร์เก็ต

วรวัชรบอกว่า ที่สำคัญต้องไม่ตั้งราคาให้สูงเกินไป เพราะไม่มีใครอยากซื้อของแพง แต่สิ่งที่ริมปิงสามารถคอนเฟิร์มให้กับลูกค้าได้ก็คือคุณภาพที่ดีกว่าเทียบกับราคาที
่ต่างกันนิดหน่อย

"ที่สำคัญก็คือ ตัวสินค้าเราต้องลงลึกในรายละเอียดของโปรดักต์แต่ละตัว ต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร จากนั้นก็พยายามดูแลลูกค้า ให้การเซอร์วิสที่ดี ลูกค้ากลุ่มนี้แม้จะมีกำลังซื้อสูง แต่บอกตรงๆ ว่าดูแลยากมาก ต้องละเอียดอ่อน ฉะนั้นการค้าของเราจึงไม่ได้โตแบบเชนสโตร์ มันเหมือนเป็นร้านเล็กๆ ในชุมชนมากกว่า เป็นกิจการที่ต้องดูแลกันและกัน เป็นเหมือนเพื่อน เหมือนญาติกันมากกว่า"

วันนี้ ริมปิงมีสาขากระจายอยู่ทั่วเมืองเชียงใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ สาขานวรัตน์ สาขามีโชค สาขา กาดฝรั่ง และล่าสุดเพิ่งปิดสาขาโชตนาซึ่งเปิดมากว่า 16 ปี เพราะหมดสัญญาในการเช่าพื้นที่ แต่ก็ไปเปิดสาขาใหม่ที่นิ่มซิตี้เดลี่เมื่อวัน 16 มีนาคมที่ผ่านมา

วรวัชรบอกว่า ริมปิงเป็นร้านเล็กๆ ไม่ได้คิดจะแข่งขันกับใคร และไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะเปิดสาขาเยอะแยะ แต่การขยายสาขาก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

ที่สำคัญการขยายสาขาก็ต้องดูดีมานด์ให้ดี เพราะเราจับกลุ่มบน AB ซึ่งมีจำนวนอยู่ไม่มาก แต่ไม่ใช่ว่าเห็นความสำเร็จของริมปิงแล้วจะไปทำตาม เพราะธุรกิจแต่ละที่ แต่ละโลเกชั่น มันไม่เหมือนกัน คุณจะต้องดูว่าในขณะที่ช้างเดินมา ท้องช้างอยู่ตรงไหน ต้องหาให้เจอว่าธุรกิจของคุณยืนอยู่ตรงไหนถึงจะอยู่รอดได้

"ในแต่ละธุรกิจมันมีโอกาสเสมอ ไม่มีใครที่สามารถจะตอบสนองได้ทุกสิ่ง อย่างบางจังหวัดไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีชาวต่างชาติ แต่มันจะมีช่องทางอื่นๆ คุณต้องคิดฉีกแนวออกไป จะเรียกว่าเป็นธุรกิจที่เปรียบเหมือนงานฝีมือก็ย่อมได้"

วรวัชรกล่าวในตอนท้ายว่า วันนี้ริมปิงของเขายังยืนอยู่ได้ ชุมชนหลายแห่งในเชียงใหม่อยากให้เขาไปเปิดสาขาเพิ่ม เพราะมีกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่น ขณะที่เซเว่นอีเลฟเว่นที่เขาดูแลอยู่ร้อยกว่าสาขานั้น ขายได้เฉลี่ยวันละ 5 หมื่นบาทต่อร้าน รวมทั้งหมดก็ประมาณ 5 ล้านบาทต่อวัน หรือโตปีละ 20%

"แม้จะเหนื่อย และยังต้องเหนื่อยต่อ แต่ก็คุ้ม" บทสรุปส่งท้ายจากวรวัชร ตันตรานนท์ หัวเรือใหญ่ริมปิง

ที่มา / ประชาชาติธุรกิจ


Create Date : 02 เมษายน 2550
Last Update : 3 เมษายน 2550 10:07:34 น. 2 comments
Counter : 721 Pageviews.

 
Congratulaion...!!


โดย: chris (alfissimo ) วันที่: 3 เมษายน 2550 เวลา:22:33:27 น.  

 
Congrats,too...!!


...




โดย: สุ่ม-4 (random-4 ) วันที่: 9 เมษายน 2550 เวลา:4:53:45 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

alfissimo
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Keep Walking...

KoKoMo/The beach boys
karaoke
Web Counter
karaoke
;
Get this widget | Track details | eSnips Social DNA
Friends' blogs
[Add alfissimo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.