Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
8 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 

โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย หลังยุคหนึ่งประเทศสองขั้ว

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีความผูกพันกับสภาพสังคมเกษตรกรรม ผูกพันกับความศรัทธาต่อศาสนาพุทธ และมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมเป็นประมุขที่ยึดเหนี่ยวหล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นของคนไทยบนแผ่นดินขวานทอง ( ที่มีรอยร้าวในยุคนี้ )

จากสภาพสังคมดังกล่าวเราจะพบได้ว่าวิถีชีวิตของคนในอดีตก่อนยุคโลกาภิวัฒน์เป็นสังคมที่สมถะ เรียบง่าย โอบอ้อมอารี มีเมตตาและรู้จักให้อภัย เพราะทุกคนอยู่บนแผ่นดินทองที่อุดมสมบูรณ์ปราศจากภัยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันแก่งแย่งชิงดีเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุที่ฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็น

แต่ภายหลังจากสิ้นยุคสงครามเย็น สงครามใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกคือสงครามเศรษฐกิจ ประเทศมหาอำนาจใช้กลไกของชาติที่พัฒนาแล้วมาเป็นมาตรฐานโลก เพื่อที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือเบิกทางในการอ้างสิทธิอันชอบธรรมในการแทรกแซงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันยั่งยืนของกลุ่มชาติมหาอำนาจเอง

... เครื่องมือที่ว่านั้นคือ

1. ประชาธิปไตย
2. สิทธิเสรีภาพ

... และภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวคือ " ทุนนิยม "

แล้วประเทศเล็ก ๆ ที่สงบสุขและอุดมสมบูรณ์อย่างประเทศไทยจึงจำเป็นต้องก้าวเข้าสู่ยุคใหม่คือยุคโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มตัว เป็นปฐมบทของการเปิดประตูสู่หายนะของคนในชาติ

คนในสังคมเริ่มซึมซับเอาความเป็นวัตถุนิยมมาใส่ในชีวิตประจำวันในเวลาที่ไม่เหมาะสม กล่าวคือสังคมไทยยังไม่มีพื้นฐานทางการศึกษาอันจะนำไปสู่กระบวนการคิดที่ถูกต้องมากพอที่จะไตร่ตรองว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดีทั้งต่อตัวเอง ต่อสังคมชาติ

เป็นธรรมดาของมนุษย์เดินดินที่มีกิเลสตัณหามากน้อยต่างกันไปในสังคม ซึ่งกิเลสตัณหาสามารถระงับได้ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์โดยมีตัวช่วยคือศีลธรรมจรรยา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญญาที่จะเกิดขึ้นก็ต้องมาจากกระบวนการคิดที่ถูกต้องก่อน ซึ่งการศึกษาและสภาพแวดล้อมจะมีส่วนช่วยได้มาก ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคือสังคมที่ยังขาดการศึกษา และสิ่งที่ตามมาคือปัญหาเชิงซ้อนไม่รู้จบอันสืบเนื่องมาจากสภาพสังคมวัตถุนิยม

เราจะพบได้ว่าวงจรปัญหาดังกล่าวเป็นวงจรที่หยั่งรากลึกตั้งแต่เรื่องการศึกษา ปัญหาครอบครัว ยาเสพติดและอาชญากรรม ทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ ถ้าเราเอาปัญหาทั้งหมดมาลากเส้นโยงหาความสัมพันธ์กันจะพบว่ามันสัมพันธ์กันหมดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

นอกจากเรื่องสังคมสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยเดินพลาดไปคือการหลงตัวอยู่กับคำว่า " NICs " ( Newly Industrialized Countries ) ผมคิดว่าพวกเราทุกคนเคยได้ยินคำนี้ ในวัยเด็กผมก็หลงไหลกับคำ ๆ นี้ ภายใต้การนำของรัฐบาลปลาไหลโกงชาติผมยอมรับว่าผมดีใจและตื่นเต้นกับการที่ประเทศไทยจะเป็น " เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย "

ที่ผมต้องบอกว่าเราพลาดไปกับคำว่า " NICs " เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของเราเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติของเราก็เอื้อต่อเกษตรกรรม ภูมิประเทศก็ได้เปรียบในการทำเกษตรกรรม ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติของเราไม่ได้มีวัตถุดิบที่ใช้ในโครงสร้างอุตสาหกรรม อย่างเช่น เหล็ก น้ำมัน ฯลฯ เราจึงมีข้อจำกัดในการแข่งขันอย่างมากถ้าจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เพราะแค่เรื่องของต้นทุนก็แพ้แล้ว แล้วจะเป็น NICs หา ... เหรอ ? ( ขออภัยที่ใช้อารมณ์ )

นับเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดเมื่อถึงคราววิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อปัญหาทั้งหมดที่สะสมมาร่วมสิบปีในยุคมายาฟองสบู่ได้แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เตือนสติให้คนไทยที่พอจะมีความคิดได้รับรู้และเรียนรู้จักตัวเองมากขึ้น ผมแอบดีใจเล็ก ๆ ที่ในยุคหลังจากวิกฤตการณ์ " ต้มยำกุ้ง " มีคนพูดถึงประเทศไทยในอนาคตว่าควรพัฒนาให้ตัวเองเป็น " NACs " หรือประเทศเกษตรกรรมใหม่ แต่ผ่านมาสิบปีไม่มีรัฐบาลไหนเก็บเอาบทเรียนเก่า ๆ ไปใช้เลย

ซ้ำร้ายจากความบอบช้ำในวิกฤตการณ์ครั้งนั้น สังคมไทยอันเป็นสังคมที่ไม่พร้อมในเรื่องของมาตรฐานการศึกษาก็ได้ก้าวสู่ทุติยบทของความหายนะ ... ความเจ็บปวดจากการที่เมืองไทยแทบจะสูญสิ้นชาติจากการตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจทำให้คนในสังคมเริ่มจินตนาการถึงวีรบุรุษผู้ที่จะมากอบกู้ชาติจากความพ่ายแพ้ในสงครามเศรษฐกิจ

สภาพความคิดดังกล่าวได้สร้างสถานการณ์ทางการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสภาพการเมืองที่แอบหลบอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนในชาติดังที่กล่าวมา คือรูปแบบการเมืองแบบเบ็ดเสร็จและนโยบายการบริหารประเทศแบบประชานิยม

" ประชานิยม " ไม่ใช่นโยบายทางการเมืองรูปแบบใหม่ของโลก แต่เป็นรูปแบบใหม่ของประเทศไทยในยุคนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้นำชาติในช่วงเวลาดังกล่าวฉลาดที่นำมันไปใช้ในสภาวะที่คนไทยต่างเรียกร้องหาผู้นำที่มีความเฉียบขาดทางเศรษฐกิจ และต้องการเห็นผลดีในระยะสั้น ( แต่เป็นผลเสียในระยะยาว )

เป็นความโชคดีของผู้นำชาติในยุคนั้น แต่เป็นความโชคร้ายมหาศาลที่ตามมาของคนทั้งแผ่นดิน ...

เพราะเมื่อเกิดปัญหาแตกแยกทางความคิดของคนในชาติอย่างรุนแรงจากผลพวงของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ ( การเมืองแบบเบ็ดเสร็จจะจบลงแบบนี้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เป็นตัวอย่าง ) รอยร้าวที่ควรจะเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ บนแผ่นดินกลับกลายเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ เพราะถูกขยายแผลจากการดำเนินนโยบายประชานิยมมาตลอดจนประชาชนที่มีความเปราะบางทางความคิดไม่ยอมรับรู้ต่อการทุจริตดังกล่าว หรือที่แย่กว่านั้นคือรู้แต่ยอมรับได้ต่อการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

... ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากการรับเอา " ทุนนิยม " ในสภาพที่ไม่พร้อม และจะไม่สิ้นสุดลงแค่นั้น ผมเขียนบทความนี้ส่วนหนึ่งคือต้องการจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงซ้อนที่ยังไม่จบและกำลังก่อตัวขึ้นเป็น " ตติยบทของความหายนะ " ของสังคมไทย

ประเทศไทยหลังจากการคืนสู่ประชาธิปไตยในยุคหนึ่งแผ่นดินสองขั้วจะเป็นเช่นไร ? ในเมื่อชาติยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและเริ่มชาชินกับความไม่สมานฉันทร์ ในเมื่อชาติยังคงเรียกร้องต้องการเห็นการคืนสู่ความเป็นชาติที่น่าจับตามองบนเวทีเศรษฐกิจโลก และติดนิสัยการยินดีกับการเห็นความสำเร็จในระยะสั้น ( แต่ล้มเหลวในระยะยาว )

คำตอบก็คือ ... รัฐบาลในอนาคตที่จะมาถึงก็ยังคงต้องตอบโจทย์ประชาชนโดยนโยบาย " ประชานิยม " อีกเช่นเคย โดยเฉพาะถ้าต้องการรักษาอำนาจความเป็นผู้นำทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ในสถานการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยที่ต่างขับเคี่ยวกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อนำมาซึ่งความสุขของพวกพ้องตัวเอง

เมื่อเราหลับตานึกภาพของประเทศไทยในช่วงสิบปีจะพบว่า มีความเป็นไปได้สูงเหลือเกินที่ประเทศไทยจะเริ่มเดินไปสู่สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแบบที่เรียกว่า " ฟิลิปปิโนส์ โมเดล " นั่นคือสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกแยก และการทุจริตคอร์รัปชันอย่างไม่รู้จบ

จาก NICs เราเริ่มลดตัวเองลงมาแข่งขันเปรียบเทียบกับมาเลเซีย และล่าสุดเราเริ่มเปรียบเทียบคู่แข่งของเราคือเวียดนาม ...

... แต่อีกสิบปีข้างหน้าเราจะเปรียบเทียบตัวเองแข่งขันกับฟิลิปปินส์ หรืออาจจะเป็นพม่า ถ้าสังคมไทยยังไม่ดึงเอารากเหง้าของความเป็นสังคมแห่งความพอเพียงมาชำระล้างจิตใจที่เต็มไปด้วยวัตถุนิยมเหมือนอย่างปัจจุบันนี้

...




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2550
0 comments
Last Update : 24 ธันวาคม 2550 15:03:52 น.
Counter : 796 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


มังมหานรธา
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add มังมหานรธา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.