Group Blog
 
<<
กันยายน 2561
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
17 กันยายน 2561
 
All Blogs
 

คุยเรื่องความรัก,การอ่านและค้นหาชีวิตใน “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก”



17 กันยายน 2561









วันนี้ผมนำเสนอรายละเอียดที่น่าสนใจจากเวทีการเสวนาในหัวข้อ “ผู้คน ความรักและร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” โดยงานนี้จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561 ในงานกิจกรรม “นายอินทร์ สนามอ่านเล่น” ที่แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน ซึ่งผมคิดว่ารายละเอียดจากงานในครั้งนี้น่าจะให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับนักอ่านและผู้ที่สนใจการเขียนทุกท่าน










โดยบนเวทีเสวนามในวันนั้นมี คุณประชาคม ลุนาชัย ผู้เขียน “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” และคุณจตุพล บุญพรัด บรรณาธิการอาวุโสในเครืออมรินทร์ ดำเนินรายการโดยคุณอาทิตย์ ธรรมชาติ จากกองบรรณาธิการในเครืออมรินทร์ ซึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจมีดังนี้

(รายละเอียดจากการเสวนาในครั้งนี้ ผมใช้วิธีฟังและจดบันทึกช่วยจำย่อ และนำมาเทียบเคียงกับความถูกต้องในการเสวนา แล้วเรียบเรียงเป็นประเด็นมานำเสนอ ดังนั้นถ้ามีข้อมูลใดที่ผิดพลาดไป ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ)




“ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ) ในปี 2556 เป็นหนังสือนวนิยายที่มีคนอ่านแล้วประทับใจเยอะมาก ในตอนนี้นำกลับมาจัดพิมพ์ใหม่แล้วเป็นครั้งที่ 4 โดยแพรวสำนักพิมพ์ ในเครืออมรินทร์ เล่มนี้ถูกพูดถึงอยู่เสมอ นักอ่านหลายคนอยากจะให้พิมพ์ซ้ำ อยากให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” กลับมาแล้ว

คุณอาทิตย์ ถามคุณประชาคมว่า “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” พูดเรื่องอะไร? เรื่องย่อประมาณไหน? และมีความเป็นมาอย่างไร?











คุณประชาคม ลุนาชัย

-เล่มนี้เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากที่ผมเคยเขียน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างในเรื่องนี้ออกมาจากตัวผู้เขียน เจตนาหรือจุดมุ่งหมายในการเขียนหนังสือเล่มนี้คือ เราเป็นคนที่โตมากับหนังสือ รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณหนังสืออยู่มากมาย เพราะถ้าไม่มีหนังสือและไม่มีการเขียนแล้วเราคงไม่ได้พบกันแน่ ผู้เขียนก็คงไปทำอย่างอื่นไม่มาเขียนหนังสือเล่มนี้แน่

-สำหรับเรื่อง “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” นี้ ผมเขียนขึ้นเพื่อเชิดชูการอ่าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการอ่านนั้นมีอานุภาพในการเปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงผู้คน และคนที่อ่านหนังสือนั้นจะมีความเติบโตไปทีละน้อย คือมีการเติบโตจากข้างในแล้วก็จะเบ่งบานออกมาเป็นความคิด

-อย่างตัวละครที่เราสร้างขึ้นมาในเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับครูภาษาไทยอยู่มาก คือผมเวลาที่ได้รับเชิญไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เราก็จะได้เจอกับครูภาษาไทย เจอนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย ตัวละครของเราจึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องผู้คนที่อยู่ในแวดวงภาษาไทยนี้ รวมทั้งเกี่ยวพันกับการอ่านด้วย

.-การอ่านนั้นมีอยู่หลายระดับ อ่านเอาสนุก อ่านเอาเรื่อง อ่านเอาความคิด อ่านเพื่อให้เรื่องราวนั้นซึมซับเข้าสู่ข้างใน อ่านเพื่อคิดและวิเคราะห์ อ่านเพื่อที่จะนำไปสู่การอ่านอย่างอื่นอีก เพราะถ้าเราเป็นนักอ่านแล้วเราจะไม่หยุดอ่านอยู่แค่หนังสือเล่มเดียวเท่านั้น เราจะอ่านคน อ่านโลกทั้งโลก อ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในชีวิต อ่านข่าวสารที่เป็นมากกว่าที่ปรากฎอยู่ตามสื่อต่างๆ คือเราจะทำความเข้าใจในด้านลึกได้มากขึ้น

-ด้วยเหตุที่ผมกล่าวมาแล้วนี้ ผมจึงสร้างตัวละครขึ้นมาเป็นครูผู้หญิง ชื่อครูแก้มเป็นครูอัตราจ้าง เป็นคนที่อ่านหนังสือไม่มีทิศทางอะไรเลย พอไปรู้จักกับใครคนหนึ่งที่ทำร้านหนังสือนี้ขึ้นมา ก็ไปพบกับหนังสือที่ตัวเองไม่เคยอ่าน เหมือนเธอไปพบกับอีกโลกหนึ่งที่เปิดให้เธอได้เข้าไปทำความรู้จัก และได้เติบใหญ่ขึ้นในโลกของการอ่านใบนั้น

-สำหรับการอ่านหนังสือนั้น ถ้าเราอ่านมากขึ้น มากขึ้น เราก็จะเติบโตไปพร้อมกับการอ่าน แล้วก็มีพลังควบคู่ไปกับการอ่านด้วย





คุณอาทิตย์ ธรรมชาติ

-ขอพูดถึงเรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้ว่า ตัวละครนางเอกคือครูแก้มหรือนลิดา เป็นคนที่ชื่นชอบอ่านนิยายรักเกาหลีหรืออาจจะมีงานแนวหนังสือที่ชื่นชอบอยู่ประมาณหนึ่ง แล้วพอเธอออกไปอยู่ในชนบทในพื้นที่ห่างไกลเธอก็หานิยายเกาหลีอ่านยากเหลือเกิน นางเอกขี่จักรยานสีขาวไปตามหาหนังสือนิยายเกาหลีตามที่ต่างๆ ในพื้นที่ในตำบลนั้น จนเธอไปเจอกับร้านหนังสือที่มีชื่อว่า “ร้านหนังสือแบ่งปันกันอ่าน” ที่มีหนังสือเต็มไปหมด แล้วหนังสือที่อยู่ในร้านนั้นเป็นหนังสือที่ครูแก้มไม่เคยอ่าน ไม่ได้ชื่นชอบ แต่ว่าการไปเจอหนังสือที่เธอไม่เคยอ่านนั้นมันกลับเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล ด้วยวิสัยทัศน์และมุมมองบางอย่าง เรื่องย่อก็จะเป็นประมาณนี้
-ผมอยากจะขอทราบมุมมองของคนที่ได้อ่านเรื่องนี้เป็นคนแรกๆ คนที่เป็นบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ อยากจะทราบความรู้สึกของคุณจตุพล บุญพรัด ว่าตอนที่ได้เห็นต้นฉบับของงานชิ้นนี้เมื่อหลายปีที่แล้วนั้น รู้สึกอย่างไรบ้างครับ?











คุณจตุพล บุญพรัด

-จริงๆ แล้วเจตนาหรือเจตจำนงของผู้เขียนเขาได้พูดไปแล้ว ในฐานะของคนอ่านต้นฉบับและในฐานะของบรรณาธิการเห็นว่า งานชิ้นนี้เป็นงานที่แปลกออกไปจากงานของคุณประชาคม เท่าที่เราได้เคยตามอ่านงานของคุณประชาคมจะมีบุคลิกอยู่บุคลิกหนึ่ง นั้นคือบุคลิกของผู้ชายที่สู้ชีวิตซึ่งมาจากชนบทและออกไปผจญภัยในโลกกว้าง ออกไปในทะเล ออกเรือ ในเรื่อง “ฝั่งแสงจันทร์” หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องราวชีวิตเข้มๆ ของลูกผู้ชาย ผู้ชายที่สู้ชีวิต ผู้ชายที่พยายามเดินตามหาความฝัน เดินตามหาความสำเร็จ ฯลฯ

-แต่สำหรับเรื่องนี้ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” ถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็คือว่ามันคือโลกทัศน์ในการอ่านหนังสือทั้งหมดของคุณประชาคม เรารู้สึกว่าเขาเกิดและเติบโตในสังคมชนบทที่แบบว่าแทบจะไม่มีหนังสือในวัยของเขาให้ได้อ่านเลย ก่อนที่เขาจะพาตัวเองเข้ามาอยู่ในเมือง โอกาสในการอ่านและความเป็นคนที่สนใจใฝ่รู้แบบเขานั้นเอง ทำให้เขาได้รู้จักโลกของการอ่านและได้อ่านหนังสือ แล้วหนังสือนี่เองที่ได้นำพาชีวิตของเขาไปสู่การเปลี่ยนแปลง

-คือการอ่านหนังสือของประชาคมที่เราเรียกว่าเขาอ่านงานวรรณกรรมค่อนข้างเยอะ บวกกับกระแสสังคมก่อนหน้านี้ที่ทำให้ในวันนี้เราอ่านนิยายแนวโรแมนติค และอีกหลายแนวที่เยอะแยะไปหมด เช่นนิยายรักของจีนหรือในช่วงหนึ่งที่งานใสๆ สวยๆ โรแมนติคแบบเกาหลีมีมากในบ้านเรา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ที่ว่าคุณประชาคมต้องการจะเชิดชูและยกย่อง แต่ในขณะเดียวก็จะต้องการพูดถึงงาน(หนังสือ)ที่เป็นมากกว่านิยายเกาหลี เขาจึงหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาสร้างเป็นนวนิยายเรื่องนี้

-คือในช่วงหนึ่งนั้นในบ้านเราอ่านนิยายเกาหลีกันเยอะมาก อ่านแต่นิยายเกาหลีจนรู้สึกว่างานของนักเขียนไทยหรืองานแปลอื่นๆ นั้นยังมีอยู่ในบ้านเราหรือไม่? ดังนั้นตัวละครแก้ม ลนิดา จึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของคนอ่านในยุคนั้น ในขณะเดียวกันก็มีตัวละครอื่นๆ ที่จำลองให้เห็นถึงคนต่างๆ ที่อยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการ , คนวาดภาพปก , คนวาดภาพประกอบ และเจ้าของร้านหนังสือ

-ส่วนเจตนารมณ์อีกอย่างหนึ่งในประเด็นเรื่อง “ร้านหนังสือแบ่งปัน” ในเรื่องนี้ มันเป็นเจตนาลึกๆ ของนักเขียนที่อยากจะบอกคนอ่านว่า ในการอ่านนั้นบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะมาก หนังสือเก่านั้นแบ่งปันกันอ่านได้ หนังสือเก่าราคาถูกเล่มละ 20 บาทเอง แต่ในขณะเดียวกันก็แนะนำว่าหนังสือเล่มนี้มันดีเด่นอย่างไร? มันพูดถึงเรื่องอะไร? แต่ไม่พยายามแนะนำตรงๆ คนเขียนสร้างเป็นบทของพระเอกและนางเอกขึ้นมาเพื่อพูดถึงหนังสือต่างๆ เหล่านี้ ประเด็นนี้เองที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนิยายรัก

-ถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อหนังสือเล่มนี้ คืออยากจะบอกว่านักเขียนอย่างประชาคม นี้เป็นนักเขียนที่สำเร็จแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นักเขียนหนุ่มโนเนมที่เพิ่งขึ้นมา ในขณะเดียวกันงานชิ้นนี้เมื่อ 4-5 ปีก่อน คุณประชาคมก็ไม่ได้ส่งเรื่องนี้ไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ แต่ส่งเรื่องมาโดยตรงถึงสำนักพิมพ์อมรินทร์ ผมอ่านแล้วก็เห็นเจตนาที่แน่วแน่ในเรื่องนี้

-แล้วเรื่องนี้ผมอ่านแล้วอยากจะพิมพ์เผยแพร่ คือเผยแพร่ในแง่ของการเสริมสร้างสังคมการอ่านด้วยการอ่านนิยายบันเทิงคดีที่เป็นเรื่องดีๆ แต่ไม่ได้บอกว่าการอ่านนิยายเกาหลีเป็นเรื่องไม่ดีนะ แต่มันยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ดีและคนยังไม่รู้จัก แล้วนักเขียนคนหนึ่งลงทุนทำจุดนี้ขึ้นมามันชวนอ่านอย่างมาก มันไม่ได้เหมือนกับงานแบบเดิมแล้ว ยังแอบคิดว่าหรือว่าจะเป็นประชาคมภาคใหม่ ซึ่งผมรู้สึกดีใจแล้วผมจึงตัดสินใจพิมพ์เรื่องนี้ทันที เพราะสำหรับเรื่องนี้ไม่ได้ตัดสินใจยากเย็นอะไรเลย










คุณอาทิตย์ ธรรมชาติ ถามต่อว่า แล้วจุดเด่นของงานชิ้นนี้ที่หลายๆ คนสะท้อนมาก็คือฉาก ก็คือบรรยากาศที่อบอวลอยู่ในเรื่อง คือเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ตัวละครสามารถปั่นจักรยานสีขาวเลียบแม่น้ำได้ ปั่นเลาะซอกซอยอยู่ใต้ร่มไม้ได้ มีภูเขาเป็นฉากหลัง ฯลฯ ทุกคนที่ได้อ่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเหมือนสถานที่ในฝันเลย มันคือชีวิตสโลว์ไลฟ์ ไม่ต้องเร่งรีบไปอยู่แล้วก็สบายๆ น่ารักๆ จึงอยากจะถามคุณประชาคมว่าได้แรงบันดาลใจมาจากไหน? หรือมีภาพเปรียบอยู่บ้างไหม? ที่นำมาใช้เป็นฉากของหนังสือเล่มนี้









คุณประชาคม ลุนาชัย

-ผมเคยอยู่ที่อำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งในจังหวัดหนองคาย เมื่อก่อนคนอาจจะไม่รู้จักเชียงคาน แต่ตรงนี้ไม่ใช่เชียงคาน ตรงนี้สวยกว่าเชียงคานเยอะ ตอนนี้คนยังไม่รู้จักที่แห่งนี้เพราะถ้ามีคนรู้จักแล้วคนจะไปเที่ยวกันเยอะแน่ๆ

-คือมันเป็นอำเภอที่เงียบสงบ อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขงคือนครเวียงจันทร์ จะมีถนนเส้นเล็กๆ เรียกว่าถนนเลียบโขง แล้วก็ถนนรอบมือง บ้านเมืองก็ดูจะเป็นนาข้าวไปทั้งหมด เป็นอำเภอที่มีเสน่มาก พอถัดไปอีกหน่อยก็จะเป็นจังหวัดเลยเป็นอำเภอเชียงคาน พอถัดจากเชียงคานเป็นอำเภอสังคม (จ.หนองคาย) แล้วก็มาถึงอำเภอนี้ (มาจากทางบึงกาฬไปทางหนองคาย)

-ทุกวันนี้ผมกลับไปเยี่ยมที่อำเภอนี้ เป็นอำเภอที่น่าอยู่มากๆ รองจากจังหวัดเชียงใหม่ โลเคชั่นของเรื่องก็เป็นประมาณนี้ แล้วในช่วงฤดูหนาวแล้วจะหนาวมาก ขนาดเวลาเที่ยงๆ พูดแล้วยังมีควันออกมาจากปากเลย แล้วแม่น้ำโขงในสมัยก่อนสมัยที่ผมอยู่มันจะไม่ตื้นเขินเหมือนทุกวันนี้ แม่น้ำยังลึกมากในฤดูฝนจะมีเรือข้ามฝากจากฝั่งนี้(ไทย)ไปยังประเทศลาว แต่ทุกวันนี้พอถึงฤดูแล้งก็ไม่ต้องใช้เรือแล้วสามารถเดินข้ามแม่น้ำโขงไปได้เลย

-ดังนั้นฉากของเรื่องนี้จึงมาจากส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ผมนำมาใช้ในนวนิยายเรื่องนี้ พอผมกลับไปอีกครั้งที่อำเภอนี้ฉากเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ ถ้าใครได้ไปเที่ยวที่อำเภอนี้ก็จะได้พบกับฉากเหล่านี้ แล้วหนังสือเล่มนี้เคยจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ ผู้กำกับเคยถามว่าฉากสถานที่ในเรื่องนี้อยู่ที่ไหน? ผมก็บอกว่าอยู่ที่อำเภอนี้ ซึ่งถ้าจะไปถ่ายทำภาพยนตร์จริงๆ ก็สามารถไปตั้งแคมป์ ตั้งกองถ่ายที่อำเภอนี้ได้เลย คือฉากและสถานที่เหล่านี้มันพร้อมจะรับใช้อีกสื่อหนึ่งได้โดยสมบูรณ์เลย










คุณจตุพล บุญพรัด

-ตอนอ่านผมเข้าใจว่าเป็นฉากที่สมมุติเอา คิดว่าเป็นฉากปักษ์ใต้เสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่ว่ามีตัวละครเจ้าของแผงหนังสือในตัวเมืองเล็กๆ ชื่อน้านุ้ย แล้วก็ป้าต่างๆ มันก็มีบุคลิกตัวละครแบบปักษ์ใต้อยู่ ยังคิดเลยว่าประชาคมไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร? แล้วมันเป็นจังหวัดอะไร? คือรู้แค่ว่าเป็นต่างจังหวัดเท่านั้นเอง ไม่แค่ถามเขาเลยว่าเป็นสถานที่ไหน? เพราะเราคิดว่านักเขียนเขาคงสร้างฉากของเขาขึ้นมาเอง











คุณอาทิตย์ ธรรมชาติ

-ที่คุณประชาคมบอกว่า ครั้งหนึ่งนวนิยายเรื่องนี้จะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์นั้น เพราะว่านวนิยายเรื่องนี้มันมีองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์ มีตัวละครเอกเป็นผู้ชายผู้หญิงแล้วก็เจอกันในพื้นที่ห่างไกล ผ่านร้านหนังสือ ผ่านบางสิ่งบางอย่างที่ทั้งคู่จะต้องเรียนรู้และทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ผ่านฉากและบรรยากาศของเรื่องที่สวยงาม รวมไปถึงฉากไคแม็กซ์และเส้นเรื่องบางเส้นที่ถ้าเกิดสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นมาจริงๆ เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่เคยได้อ่านเรื่องนี้คงนึกภาพออกแน่ๆ มันคงเป็นภาพยนตร์ที่น่าประทับใจเรื่องหนึ่งเลย

-แต่ทำไมต้องเป็นร้านหนังสือที่แบ่งปันกันอ่าน? ทำไมต้องไปอยู่บนพื้นที่ห่างไกล? แล้วคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้จริงไหมที่จะมีร้านหนังสือแบบนี้ และมีเหตุการณ์แบบในเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ ได้มีคนรักกันได้จริงๆ เจอกันได้และพูดคุยกันผ่านร้านหนังสือแห่งนี้ คุณประชาคมเคยคิดถึงภาพความเป็นจริงพวกนี้เอาไว้บ้างหรือไม่?










คุณประชาคม ลุนาชัย

-บางครั้งเรื่องของบุเพสันนิวาสเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล แต่ความจริงก็คือในกติกาของชีวิตทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งในชีวิตจริงของเรานั้นมันมีหลายเรื่องที่เราคาดไม่ถึง และมีหลายเรื่องที่มันเกินความคาดฝันของเรา

-ร้านหนังสือแบบนี้ถ้าเปิดจริงๆ ถามว่าจะมีคนเข้าไปอ่านหรือ? คำตอบก็คือตัวละครเอกที่เป็นผู้ชายคงจะคิดถึงในแง่ของการให้ เมื่อให้แล้วจะมีใครมารับหรือไม่มารับ มันไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้แล้วที่จะไปกำหนดได้ การให้ที่แท้จริงคือการทำหน้าที่ให้ การให้นั้นผู้ให้ไม่สามารถกำหนดได้เลย

-นวนิยายจำเป็นต้องมีอุบัติการณ์อะไรบางอย่างที่ขึ้นเกิดในเรื่อง ซึ่งพอเกิดขึ้นแล้วคนเขียนต้องเขียนให้มีความสมจริงและมีเหตุมีผลเหมาะสมในโลกของนวนิยายด้วย





คุณอาทิตย์ ธรรมชาติ

-หลายคนที่ไม่เคยอ่านเรื่องนี้อาจจะสงสัยว่าร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรักมันหมายถึงอะไร? นิยายรักมันเป็นแบบไหน? แล้วนิยามของนิยายรักมันคืออะไร? แล้วที่บอกว่านิยายเรื่องใดก็ตามที่มีฉากรบพุ่งมีสงคราม มีการเลือดนองเต็มไปหมด ฯลฯ แต่ว่าถ้ามีคนไปอ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วอยากสร้างโลกที่ดีๆ ขึ้นมาสักใบหนึ่ง นิยายเรื่องนั้นก็เป็นนิยายรักได้

-อยากถามทั้งสองท่านถึงคำจำกัดความของนิยายรักว่าเป็นแบบไหน?










คุณจตุพล บุญพรัด

-นิยายรัก ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าทุกเล่มเป็นนิยายรัก ผมค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นความรักในแง่ของการเป็นหนังสือที่ดี เป็นเรื่องแต่งที่ดี ยกคุณค่าความงามความดีของจิตใจมนุษย์ให้มันสูงขึ้น ด้วยเจตนาที่ดีของผู้เขียน ประเด็นนี้เป็นเรื่องของความรักในระดับสากล

-แม้ว่าข้างหลังของมันจะเป็นเรื่องของสงครามที่มมีฉากรบพุ่ง แต่ถ้าผู้เขียนมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะต่อต้านสงครามด้วยวิธีการเขียนเล่าเรื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำสงครามการทำลายล้างเป็นสิ่งที่ไม่ดี การรบราฆ่าฟันไม่ใช่เรื่องที่น่าจะสดุดีสรรเสริญ แต่ทำอย่างไรก็ตามที่ทำให้นวนิยายเรื่องนั้นมันก่อเกิดความสะเทือนใจขึ้นมาได้

-ดังนั้นหลายๆ เรื่องจึงเป็นนิยายรักด้วยความที่นักเขียนได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเจตนาที่ดี ไม่ใช่เจตนาที่จะไปชักชวนให้คนมาฆ่ากัน ดังนั้นหนังสือเล่มใดที่เขียนด้วยความรัก มันก็ควรจะเป็นนิยายรัก นี่คือนิยามและความหมายของนิยายรักที่ปรากฎอยู่ในเล่มนี้

-ขอยกตัวอย่างในเรื่องนี้ ตัวละครเอกคือภูดิน เจ้าของร้านหนังสือแบ่งปัน แล้วครูแก้มจะไปอ่านหนังสือในร้านของภูดิน แต่ในตอนแรกครูแก้มไม่อยากอ่านเพราะว่ามันไม่คุ้นและไม่รู้จักเลย แต่ผู้เขียนพยายามยกวรรณกรรมระดับโลกที่เป็นนวนิยายรักดีๆ กว่า 30 เล่ม เอามาซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่อง คนอ่านอ่านแล้วต้องตามไปหาหนังสือเหล่านั้นอ่านกันต่อ

-เช่นเรื่อง “เขาชื่อกานต์” ของสุวรรณี สุคนธา , “มาดามโบวารี” ของกุฟสต๊าฟ โฟแบร์ ฯลฯ วรรณกรรมพวกนี้เป็นวรรณกรรมคลาสิคระดับโลกที่เขายกย่องกันว่าดี มีคุณค่า แต่ว่าครูแก้มไม่รู้จัก ครูแก้มบอกว่าเชย เก่า ล้าสมัย ไม่อยากอ่าน ไม่เหมือนนิยายเกาหลี

-เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ของเรียมเอง , “แผ่นดินของเรา” ของมาลัย ชูพินิจ , “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ , “คู่กรรม” ของทมยันตรี , “ทวิภพ” ของทมยันตรี , “สามก๊ก” พงศาวดารจีน , “มยุรายอดรัก” ฉบับแปลของคณิต สุขเกษม , “โลลิต้า” ฉบับแปลของนายตำรา ณ เมืองใต้ , “รักของผู้ยากไร้” ของฟีออดอร์ ดอฟโตเยสกี้ , “ที่รักอย่าจากฉันไป” เป็นภาพยนตร์และวรรณกรรมด้วย , “แผลเก่า” ของไม้เมืองเดิม , “พรากจากแสงตะวันวัน” ของไอแชค ไดนีเสน , ทะเลสาบ” ของญี่ปุ่น วรรณกรรมโนเบล ฯลฯ ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้คือนวนิยายรักชั้นเยี่ยมที่ครูแก้มไม่เคยรู้จักเลย

-“ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ , “ความรักของวัลยา” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ฯลฯ และอีกมากมายหลายเรื่องประมาณ 30 กว่าเรื่อง คือนิยายรักที่ผู้เขียนได้เคยอ่านมาแล้ว นี่คือการอ่านหนังสือของประชาคม เป็นผลดีจากการอ่านเล่มนี้ที่ทำให้เราจะได้รู้จักกับนิยายรักดีๆ ระดับโลกเพิ่มขึ้นด้วย

-ซึ่งนวนิยายรักคลาสิคที่กล่าวมานี้ถูกซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่อง ที่ตัวละครภูดินพยายามจะแนะนำให้แก่ครูแก้มได้อ่าน แต่ตอนแรกครูแก้มไม่ยอมอ่านเพราะบอกว่าผู้เขียนไม่อยู่แล้วจะไปอ่านทำไม เนื่อเรื่องก็เก่า ก็เชย ฯลฯ แต่สุดท้ายครูแก้มก็ค่อยๆ ซึมซับและเริ่มอ่านหนังสือเหล่านี้










คุณประชาคม ลุนาชัย

-นิยายรักมันก็คือเรื่องรักนั้นเอง แต่มันเป็นความรักที่ยกจิตใจมนุษย์ให้สูงขึ้น อย่างที่คุณจตุพลบอกว่า เรื่องของสงคราม มีฉากของสงคราม มีการตาย มีการสู้รบ การฆ่าฟัน ฯลฯ แต่เรื่องนั้นเรียกร้องอะไร? ถ้าเรียกร้องสันติภาพ? เรียกร้องความรัก? เรียกร้องเสรีภาพจากมนุษย์ด้วยกัน? มันก็ควรเป็นนิยายรัก

-เหมือนกับภาพเขียน เป็นภาพของชายชราคนหนึ่ง หน้าตาเหี่ยวย่นอัปลักษณ์ ดูแล้วมันมีความงามหรือไม่? ตอบว่าในเชิงศิลปะมันมีความงามอยู่ แต่ในทางกายภาพมันดูอัปลักษณ์น่าเกลียด ซึ่งภาพที่อัปลักษณ์นี้มีสะท้อนถึงอะไร? มันเรียกร้องถึงความงามในจิตใจของมนุษย์ใช่ไหม

-การเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ถ้ามีงานเขียนที่สร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง เขียนขึ้นมาเพื่อจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกลียดชังอีกฝ่าย มันเป็นนิยายแห่งความเกลียดชังไม่ใช่นิยายรักแน่นอน อย่างเช่นภาพยนตร์ก็เหมือนกัน ในสมัยก่อนจะมีหนังประเภทอเมริกันฮีโร่ ผมเคยดูเคยชอบเหมือนกัน แต่ว่าในช่วงหลังหนังพวกนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อสงคราม(ในเรื่อง)จบลงไปแล้ว แต่ในตอนท้ายยังมาสร้างความเกลียดชังต่อ เพื่อจะสานต่อสงครามครั้งใหม่ (เพื่อสร้างภาค 2 ต่อ) แบบนี้ผมว่าไม่ใช่นิยายรัก

-นิยายรักแม้ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามแต่ก็มีการเรียกร้องเสรีภาพ ถ้าจะพูดถึงความโหดร้ายของชีวิตก็ต้องพูดเรียกร้องความดีงามให้แก่ชีวิตด้วย ถ้าพูดถึงความเกลียดชังก็ต้องเรียกร้องความรักให้ก่อเกิดขึ้นในหมู่ของคนอ่านด้วย ถ้าเราเขียนถึงความหนาวเหน็บก็เพื่อให้คนอ่านเข้าใจว่าคนที่อยู่ในความหนาวนั้นเขาต้องการความอบอุ่น ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งหมดได้ก็คือนิยายรักในนิยามของผม











คุณอาทิคย์ ธรรมชาติ

-ในเรื่องนี้มีประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าคนที่อ่านแล้วต้องประทับใจมากแน่ๆ นอกเหนือจากการได้รู้เรื่องราวติดตามชีวิตความน่ารักของภูดินและครูแก้มแล้ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ครูแก้มจะต้องอดทนมาที่ร้านหนังสือแห่งนี้ก็คือ การได้รับนวนิยายเป็นตอนๆ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ครูแก้มไม่สามารถเอาไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องได้ ที่ชื่อเรื่องว่า “หัวใจนางฟ้าและนางฟ้าในหัวใจ” ซึ่งครูแก้มจะได้รับมาเป็นตอนๆ พร้อมกับรูปวาดสีน้ำที่สวยมาก อ่านจบตอนหนึ่งแล้วถึงจะรับตอนใหม่ไปได้

-อยากจะถามว่าทำไมถึงต้องมีหนังสือที่เป็นตอนๆ แบบนี้อยู่ในเรื่อง แล้วมันมีความสำคัญระหว่างพระเอกกับนางเอกอย่างไร?










คุณประชาคม ลุนาชัย

-มันเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในการเขียน คือหนึ่งมันเหมือนกับนวนิยายที่ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร มันไม่ใช่นิยายที่สำเร็จรูป แต่เป็นนิยายที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเขียน และนิยายต้องมีการวาดภาพประกอบด้วย สองคือกลวิธีที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง มีความเป็นเหตุเป็นผลคือ จริงๆ แล้วนิยายเรื่องนี้ภูดินเป็นคนเขียน เป็นคนวาดภาพประกอบ ซึ่งเขาได้เกิดความคิดขึ้นมาตอนที่ได้เจอครูแก้มนี่เอง คือตอนแรกภูดินยังไม่ได้เขียนพอเจอครูแก้มแล้วจึงเขียน แล้วค่อยๆ เขียนไปตลอดเรื่อง

-นอกจากนั้นก็เป็นการฝึกความอดทนด้วย เพราะเขาบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องรอได้ ความหวังต้องรอได้ ความรักต้องรอได้ รวมทั้งคุณภาพและสาระของชีวิตต้องรอได้เหมือนกัน คือไม่มีใครที่จะได้รับทุกอย่างไปครั้งเดียวแล้วได้รับไปทั้งหมด แต่จะได้รับไปทั้งหมดก็ต่อเมื่อตัวเองพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบซึ่งต้องใช้เวลารอ อดทนรอ และต้องจริงใจกับมันด้วย





คุณอาทิตย์ ธรรมชาติ

-ซึ่งนอกจากจะได้อ่านนิยายเรื่องนี้แล้ว ผู้อ่านยังได้อ่านนิยายเป็นตอนๆ ในเรื่องอีกด้วย รวมทั้งยังได้ทราบถึงวรรณกรรมระดับโลกที่ดีๆ อีกกว่า 30 เรื่องด้วย ซึ่งผมเคยได้คุยกับคนที่อ่านเรื่องนี้แล้วเขาบอกว่าหลังจากอ่านเรื่องนี้จบแล้ว เขายังไปตามหาหนังสือที่พูดถึงอยู่ในเรื่องมาอ่านต่อด้วย แล้วเขาก็ได้เปิดโลกกว้างขึ้นมาใหม่เหมือนครูแก้มในเรื่องด้วย

-ดังนั้นขอสรุปว่าหนังสือเล่มนี้เป็นประตูบานหนึ่งที่เปิดเข้าไปแล้วทำให้คนอ่านรู้จักหนังสือเล่มอื่นๆ อีกมากมาย แล้วหลังจากนี้คนอ่านจะไปอ่านเพื่อเติม อยากจะไปอ่านแนวไหน ฯลฯ ก็เป็นสิทธิ์ที่ผู้อ่านจะเลือกตัดสินใจเอาเอง

-ขอถามคุณจตุพลว่า หนังสือเล่มนี้เป็นงานที่แตกต่างไปจากงานอื่นของคุณประชาคมที่ผ่านมาอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด เพราะงานของคุณประชาคมจะเข้มข้น มีลักษณะของการต่อสู้ เรียกร้องอะไรบางอย่าง ฯลฯ แต่เรื่องนี้กลับเป็นนิยายรักที่อบอุ่นและดูโรแมนติค อยากถามว่าเขาเขียนได้เป็นอย่างไรบ้าง?










คุณจตุพล บุญพรัด

-สำหรับนวนิยายเรื่อง “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” นี้ เชื่อว่าถ้าใครได้อ่านก็คงวางไม่ลงแน่ แล้วที่คุณประชาคมพูดถึงการเขียนนวนิยายเป็นตอนๆ อยู่ในเรื่องด้วย ถือว่าเป็นกลวิธีการเขียนอย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นความเข้มข้นที่ไม่เหมือนนวนิยายแนวทะเลที่คุณประชาคมเคยเขียน มันคือการค้นพบในวิธีการเขียนของเขา แล้วเขาเอามาผสมผสานกับความร่วมสมัย ผสมผสานกับนวนิยายแนวป๊อปปูล่า จนเป็นเรื่องแบบว่าใครอ่านก็ได้

-นี่คือความไม่ยากไม่ซับซ้อน แต่ว่ามันมีอะไรอยู่ คือถ้าสมมุติว่าไม่มีเรื่องที่มันซ้อนอยู่ (เรื่องการแนะนำวรรณกรรมคลาสิค) แล้วยกเรื่องอื่นมาพูดโดยให้ตัวพระเอกนางเอกพูดเป็นคู่ๆ พูดเป็นเรื่องๆ ฯลฯ งานชิ้นนี้จะมีมิติแค่ 2 มิติเอง ออกจะแบนๆ ด้วย เป็นการแนะนำหนังสือแล้วก็มีตัวละครสองตัวพูดกันซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลเลย ดังนั้นคุณประชาคมจึงต้องเขียนออกมาแบบนี้ จึงกลายเป็นงานเขียนที่เข้มข้นแต่แปลกแตกต่างออกไป(จากผลงานของคุณประชาคม) ที่เราไม่เคยได้อ่านงานแบบนี้มาก่อน

-เราเคยอ่าน “เขียนฝันด้วยชีวิต” ที่เป็นเรื่องราวของผู้ชายที่อยากเป็นนักเขียนแล้วเขาผ่านอะไรมามากมาย แล้วอีกเล่มหนึ่งคือ “ฝั่งแสงจันทร์” เขาก็เขียนแนวออกทะเลเลย แต่หนังสือนวนิยาย “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” ชิ้นนี้ เขาเลือกที่จะสดุดีหนังสือ และพยายามยกให้เห็นถึงคุณค่าของหนังสือที่เรามีอยู่

-มันมีคำถามว่า ทำไมต้องนิยายเกาหลี? เป็นเรื่องประเภทอื่นไม่ได้หรือ? ซึ่งคุณประชาคมพยายามต่อสู้ในประเด็นนี้อยู่ว่า นี่คือวิธีการของเขา แล้วเขาสร้างโลกสร้างตัวละครขึ้นมา แล้วพอถึงในวันนี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 4 แล้ว มีคนอ่าน ครูบาอาจารย์อ่านแล้วก็แนะนำกันไป ปากต่อปากบอกต่อๆ กันไป ซึ่งเป็นความบรรลุผลสำเร็จของนักเขียนคนหนึ่งที่เขามีตัวตนอันชัดเจน










คุณอาทิตย์ ธรรมชาติ

-สำหรับ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” เล่มนี้ ตอนนี้พิมพ์ครั้งที่ 4 แล้ว พิมพ์ออกมาเมื่อไหร่ก็ขายดีตลอดขาดตลาดตลอด เพราะว่ามีคนรออ่านเล่มนี้เยอะ

-สำหรับคุณประชาคม ถามว่าทำไมถึงมาทำงานชิ้นนี้? เพราะบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นงานตลาด คุณประชาคมกระโดดออกมาจากงานในกลุ่มที่ตัวเองถนัดแล้วมาจับกลุ่มคนอ่านที่มากขึ้นหรือไม่? หรือว่าต้องการลดอายุคนอ่านผลงานของตัวเองให้น้อยลง? หรือว่าเป็นอย่างไร? อยากจะให้คุณประชาคมพูดถึงประเด็นนี้











คุณประชาคม ลุนาชัย

-ผมเป็นคนที่มีอิสระในการทำงาน ดังนั้นการทำงานทุกเล่มมันขึ้นอยู่กับว่าผมอยากจะทำอะไร? แล้วนวนิยายแต่ละเล่มที่เขียนก็เป็นโปรเจคส่วนตัวของผู้เขียน คือเราเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาที่อยากจะทำงานตรงนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเป็นอุปสงค์อุปทานของตัวผมเอง

-อย่างเล่มนี้ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” นี้ ก็อย่างที่บอกเรารักคนอ่าน เรารักภาษาไทย จึงพยายามหากลวิธีในการเขียนที่จะทำให้นวนิยายเรื่องหนึ่งมันเป็นมากกว่านวนิยายที่มันมีแค่มิติเดียว

-ส่วนเรื่องที่จะสร้างเป็นภาพยนตร์นั้น ก็มีการพูดคุยกับผู้กำกับว่า “เรื่องดีนะ เรื่องมันเดินไปตามโครงสร้างของเรื่อง” แล้วเรื่องวรรณกรรมคลาสิคที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง พอพูดถึงเขาก็จะทำมาเป็นฉากที่มันเป็นอีกสีหนึ่ง เป็นโทนค่อนข้างพีเรียดย้อนยุค ซึ่งมันจะกลายเป็นหนังซ้อนหนังอยู่ในเรื่อง ถ้าเรื่องนี้ได้ทำเป็นภาพยนตร์ก็จะดีมากเลย เพราะเขาจะไปพยายามหาหนังสือที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้แต่ละเล่ม ทางผู้กำกับเขาจะพยายามไปหามา ซึ่งหนังสือเหล่านี้ก็จะได้ปรากฎอยู่ในสื่ออีกสื่อหนึ่งด้วย

-สำหรับการที่นวนิยายเรื่องนี้จะได้ร้างเป็นภาพยนตร์นั้น ตอนนี้ได้คุยกับทีมงานสร้าง ได้คุยกับผู้กำกับแล้ว ได้เจอคนเขียนบทภาพยนตร์แล้วและบทก็เขียนเสร็จแล้ว ตัวผู้กำกับก็เป็นผู้กำกับมีชื่อฝีมือดีคนหนึ่ง เคยกำกับละครช่อง 3 และกำกับภาพยนตร์มาหลายเรื่อง ถ้าติดก็ติดตรงที่เรื่องนี้เป็นหนังสตูดิโอ คือเป็นหนังฟอร์มเล็ก จึงต้องรอหาเงินทุนสำหรับการสร้าง คือต้องหานายทุนต้องเสนอโปรเจคเข้าไปยังค่ายหนังต่างๆ แล้วที่ติดอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยมีการสร้างน้อยลงมาก จึงก็ขอสรุปว่ายังทำอยู่แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักนิดนึง

-ผมอยากจะบอกว่านวนิยายทุกเล่มที่ผมเขียน ผมไม่เอาตลาดเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าถ้าเราทำได้ดีแล้ว ทำได้ถึงแล้ว ทำได้จริงแล้ว ผมคิดว่าคนอ่านเขาเดินเข้ามาหาเราเอง อย่างเล่มนี้ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” ก็ได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพราะได้กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

-พอมีโอกาสได้เจอกับอาจารย์ภาษาไทย ครู นักศึกษาที่อายุประมาณ 17-18 ปี ก็เห็นว่าเล่มนี้สามารถสื่อสารกันได้ หนังสือมันสื่อสารกับเขาได้ เพราะหนังสือบางเล่มก็ล้มเหลวในระดับมหาวิทยาลัย คือเหมือนนักศึกษาถูกบังคับให้ไปกินอะไรสักอย่างที่เขาไม่ได้ชอบเลย แต่เล่มนี้เหมือนของอร่อยเหาะ เป็นนวนิยายที่อยู่ในใจของใครหลายคน ก็รู้สึกว่าคิดไม่ผิดที่ผมได้เขียนเรื่องนี้

-สำหรับ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” คือว่าถ้ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่เราอ่านแล้วมันให้ข้อคิดแก่เรา มันก็เหมือนกับก้อนหินที่ลับคมปัญญาของเรา คำแนะนำดีๆ ที่มีอยู่ในหนังสือมันก็เหมือนกับท่อนแขนที่โอบกอดหัวใจเราไว้ ทำให้หัวใจเราอบอุ่น และเรื่องราวที่ดีๆ มันก็เหมือนอ้อมกอดอันห่วงหาอาทรที่โอบกอดชีวิตของคนอ่านเอาไว้ด้วย

-หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ เป็นหนังสือที่ใช้ภาษาที่ดี ภาษาที่มีวรรณศิลป์ ภาษาที่ไม่ได้มีความอลังการแต่ภาษามันมีมือที่ยื่นออกไปหาคนอ่าน ยื่นไปสัมผัสคนอ่าน ยื่นไปโอบกอดคนอ่าน คือเป็นมิตรกับคนอ่านมากๆ

-นวนิยายเรื่อง “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” นี้ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงเป็นเหมือนดอกไม้ และคนที่ได้อ่านเรื่องนี้ทุกคนก็คือดอกไม้เช่นกัน เป็นดอกไม้สวยงามที่เบ่งบานขึ้นมาด้วยความรัก














@@@@@@@@@@

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนี้ ขอให้ท่านมีความสุขมากๆ ครับ




 

Create Date : 17 กันยายน 2561
5 comments
Last Update : 17 กันยายน 2561 22:43:15 น.
Counter : 2249 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณtoor36, คุณruennara, คุณhaiku, คุณหอมกร, คุณอุ้มสี

 

ชื่อเรื่องชวนให้อยากอ่านมากๆครับ เคยตามหาเล่มเก่ามาอ่าน แต่ตอนนั้นหายากมากมาย ตอนนี้พิมพ์ใหม่ผมคงมีโอกาสมีไว้ในครอบครอง ปกใหม่สวยสดใสดีด้วยครับ

 

โดย: ruennara 21 กันยายน 2561 4:24:00 น.  

 

อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog


ไม่ดังเท่าเจเคโรลิ่งสักคนทิดกล่อง

 

โดย: หอมกร 4 ตุลาคม 2561 7:42:08 น.  

 

ภาพสวยครับ

 

โดย: บูรพากรณ์ 4 ตุลาคม 2561 19:58:14 น.  

 

หนังสือนี่มีเรื่องเล่าได้ไม่รู้จบ
แล้วจะหยิบมาเสวนาเนาะน้อง
พี่อุ้มแวะมาโหวต Book Blog

 

โดย: อุ้มสี 16 ตุลาคม 2561 14:22:31 น.  

 

สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง..

เมื่อไหร่..จะมาถ่ายภาพคร้า..?

อิอิ..เมื่อไหร่ก็ได้เน้อะ..ถ้าว่าง

 

โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) 27 ตุลาคม 2561 14:52:23 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.