Smileyค่อยๆ ก้าวอย่างทารก เพื่ออิสระภาพของชีวิตSmiley

Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
6 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
ศาสตร์เพื่อชีวิต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรการ

ศาสตร์เพื่อชีวิต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรการ
หลังจากผ่านชีวิตมากว่า 50 ปี พร้อมกับปริญญาอีกหลายใบถึงปริญญาเอก ผมพบว่าวิชาความรู้และศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนและศึกษามาหลาย ๆ วิชานั้น บัดนี้แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย หลายวิชาเคยได้ใช้ประโยชน์จากมันในช่วงเวลาหนึ่ง หลายวิชาผมยังคงใช้มันอยู่และคงจะใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ที่น่าแปลกก็คือ ความรู้หลายอย่างนั้น ผมต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองและใช้มันอย่างที่อาจจะรู้ไม่จริงแต่กลับเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนผมคิดว่ายังไม่ค่อยสอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริง เรื่องสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตของคนส่วนใหญ่จำนวนมากไม่ได้ถูกสอน แต่เรื่องที่สอนจำนวนมากกลับไม่ได้ใช้ เราคงไปเปลี่ยนหลักสูตรต่าง ๆ ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้
ดังนั้นเราต้องศึกษาเรียนรู้เอง ในความเห็นของผม มีศาสตร์ 3 เรื่องที่เราต้องรู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ศาสตร์แรกก็คือศาสตร์เพื่อการทำมาหากิน
นี่คือศาสตร์ที่เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนถึงวันที่เริ่มทำงาน เรามักถูกกำหนดหรือชี้นำจากเงินเดือนหรือความยากง่ายในการหางานทำเมื่อจบการศึกษา สถานะทางสังคมของอาชีพ การมีชื่อเสียงของคนในอาชีพนั้น และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกลับไม่ได้ถูกพิจารณามากนักนั่นก็คือ ความชอบหรือทักษะส่วนตัวที่เหมาะสมกับอาชีพที่จะทำ และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เด็กเรียนเก่งและไอคิวสูงส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียนแพทย์ วิศวกรรม นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ในขณะที่สาขาวิชาอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเหมือนกันกลับไม่ค่อยมีคนเรียนเก่งมาก ๆ มาเข้าเรียน

การเลือกศาสตร์เพื่อทำมาหากินตามค่านิยมนั้นเป็นเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นและไม่เปลี่ยนแปลงมายาวนานตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนจนถึงปัจจุบันและผมเองก็น่าจะเป็นคนหนึ่งในนั้น คนเก่งจำนวนมากที่เลือกเรียนศาสตร์ตามค่านิยม สุดท้ายกลับไม่ประสบความสำเร็จนักเมื่อเทียบกับคนที่เก่งเท่ากันแต่เลือกเรียนในศาสตร์ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่ยกขึ้นมาเพื่อที่จะเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดก็คือ นักเรียนมัธยมปลายสองคนที่เรียนดีที่สุดของประเทศต่างก็ได้ทุนแบงค์ชาติไปศึกษาในต่างประเทศ คนหนึ่งเลือกเรียนวิศวกรรมและกลับมาทำงานในโรงพิมพ์ธนบัตร อีกคนหนึ่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์และกลับมาทำงานในฝ่ายวิชาการ สุดท้ายคนแรกได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโรงพิมพ์แต่คนที่สองกลายเป็นผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการธนาคาร ความสำเร็จในชีวิตต่างกันมาก

ผมคิดว่าตัวอย่างคล้าย ๆ กันนี้มีเต็มไปหมด การเลือกศาสตร์ในการทำมาหากินผมคิดว่ามีผลมหาศาลต่อความสำเร็จ บางทีอาจจะมากกว่าเรื่องของไอคิวหรือความเก่ง ส่วนตัวผมเองคิดว่า ความชอบหรือทักษะน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการเลือกศาสตร์นี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำไปอีกนานมาก และถ้าเราไม่ชอบหรือไม่ถนัด โอกาสที่จะทำได้ดีก็มีน้อย ที่สำคัญก็คือเราจะทำอย่างไม่มีความสุข

ศาสตร์ที่สองคือศาสตร์ทางการเงิน
ที่เราจำเป็นต้องใช้เมื่อเราเริ่มมีเงินและต้องเริ่มเก็บออมและลงทุนเพื่ออนาคตแต่มักไม่ได้รับการสอนก็คือศาสตร์ทางการเงินซึ่งไม่ได้หมายถึงการบริหารเงินของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของการเงินส่วนบุคคล เรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคลนั้นผมเชื่อว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จทางการเงินของคนไม่น้อยไปกว่าเรื่องของรายได้ที่เกิดจากอาชีพการงาน คนมีรายได้มากนั้น จำนวนมากไม่รู้จักการใช้หรือดูแลเงินที่หามาได้ บางคนอาจจะรู้จักเก็บออมแต่ไม่รู้จักวิธีการลงทุนให้เงินทองงอกเงย ซึ่งในระยะสั้นอาจจะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แต่ในระยะยาวแล้ว คนที่มีความรู้และความเข้าใจศาสตร์นี้จะทำได้ดีกว่ามาก ในความรู้สึกของผม คนที่มีเงินเก็บถึง 2-3 ล้านบาทขึ้นไปแต่ยังไม่เคยเกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นในทางใดทางหนึ่งนั้น ผมถือว่าเป็นคนที่น่าจะเรียกว่าไม่มีความรู้ในศาสตร์ทางการเงิน และจำเป็นที่จะต้องขวนขวายเรียนรู้อย่างรีบด่วน เพราะยิ่งทิ้งไว้นานก็จะยิ่งเสียหายได้มาก

ศาสตร์สุดท้ายคือ ศาสตร์ของสุขภาพและความสุข
ที่ผมพบว่ามีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็คือ ศาสตร์ของสุขภาพและความสุข สิ่งเหล่านี้เราได้เรียนรู้มาบ้างในชั้นเรียน แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอและหลาย ๆ อย่างเราก็ไม่ใส่ใจจดจำเนื่องจากในช่วงที่เราเรียนนั้น เราไม่เคยรู้สึกว่าสุขภาพกายหรือใจเราจะมีปัญหา วิชาเกี่ยวกับสุขภาพและเรื่องของจิตใจนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อที่สุดอย่างหนึ่งที่ผมจำได้
แต่เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมกลับคิดว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สุขภาพคือความเสี่ยงที่สูงที่สุดสำหรับทุกคน การลดความเสี่ยงทางด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะทางด้านการเงินนั้น เราเรียนรู้และพยายามหลีกเลี่ยงทุกวิถีทาง แต่ทำไมเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่ามากที่เกี่ยวกับชีวิตเรา เราจึงไม่ศึกษาหรือปฏิบัติอย่างเพียงพอ?

เราทำงานแทบตายเพื่อหาเงิน เราออมและลงทุนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเพิ่มหรือสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงในชีวิต แต่เรากลับปล่อยปละละเลยการดูแลสุขภาพและความสุขทางใจต่าง ๆ
และพบในที่สุดว่าเงินทั้งหมดนั้นอาจจะไม่สามารถซื้อสุขภาพและความสุขที่เสื่อมโทรมกลับมาได้

ดังนั้น ผมคิดว่า ศาสตร์ทางด้านสุขภาพซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคนโดยเฉพาะที่มีอายุขึ้นเลขสี่แล้ว

คนที่มีอาชีพทางการเงินหรือทางด้านของสุขภาพ น่าจะโชคดีที่ต้องเรียนรู้ศาสตร์หลักเพียงสองอย่าง

คนที่เกษียณจากการทำงานแล้วศาสตร์ที่เขาต้องเรียนรู้ก็คือการเงินและเรื่องของสุขภาพ

แต่สำหรับคนที่ยังทำงานอยู่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรจะต้องจำไว้เสมอว่า
มีศาสตร์สำคัญ 3 อย่างที่เราต้องเรียนรู้ เพราะมันเป็นศาสตร์เพื่อชีวิตที่เราจะต้องไม่หลีกเลี่ยงที่จะเรียนรู้และยิ่งเร็วก็ยิ่งดี นั่นคือ ศาสตร์เพื่อการงาน การเงิน และสุขภาพกายใจ
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าคิดว่าเรารู้ดีแล้ว


Create Date : 06 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2549 9:51:34 น. 0 comments
Counter : 435 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

akae
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีเพื่อนๆทุกคน เรา akae ยินดีต้อนรับ
หน้า Blog อั๊พเดทก่อนหน้า
>>>วันเกิดเจ้าตัวน้อย น้องไอโซ่
>>>เที่ยงเมืองนารา เกียวโต [AOTS]
>>>akae ล่องแก่งลำน้ำเข็ก พิษณุโลก
www.buzzidea.tv
Custom Search
คลังกระทู้เก่า DSM
คลับเพื่ออิสระภาพทางการเงิน
ห้องสินธร เรื่องการเงินและหุ้น
พันทิปดอทคอม
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
หนังสือพิมพ์ข่าวสด
หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
หนังสือพิมพ์มติชน
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
นิตยสารเนชั่นนอลจีโอกราฟฟิก
นิตยสารบ้านและสวน


ข่าวหุ้น
ข่าวธุรกิจ
กระทู้จากห้องสินธร Pantip.com
New Comments
Friends' blogs
[Add akae's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.