Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
27 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
รู้ทันปัญหา "สารพัดปวด"


ปวด คืออาการที่ร่างกายแสดงออกเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นเซลล์รับความรู้สึก หลังจากเซลล์นี้ส่งสัญญาณไปแปลผลยังสมอง ร่างกายจะรับรู้ได้ว่าอาการปวดนั้นเกิดขึ้นตรงไหน บ่อยครั้งที่ความปวดอาจบ่งชี้อาการของโรคได้ แต่บางครั้งจุดเกิดโรคก็อาจไม่ใช่จุดปวด เราจึงมี 4 กลุ่มอาการปวดที่ไม่ควรมองข้ามมาฝากค่ะ


ปวดศีรษะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสรุปอาการปวดศีรษะไว้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
ปวดจากกล้ามเนื้อ มักปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ สมองไม่ปลอดโปร่ง คิดอะไรไม่ออก มึนงง สาเหตุมีหลากหลาย ทั้งพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด หรือใช้สายตามากเกินไป บางคนอาจมีอาการปวดจี๊ด ๆ ร่วมด้วย นับเป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยกว่ากลุ่มอื่น

วิธีรับมือทำได้ตั้งแต่นอนพัก โดยเฉพาะเมื่อเครียดหรือสายตาเหนื่อยล้า ได้นอนหลับตาสักครู่อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ หากปวดมากอาจกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการได้ ถ้ายังไม่หายควรพบแพทย์

ปวดจากเส้นเลือดขยายตัวผิดปกติ จะรู้สึกได้ถึงการปวดตุบ ๆ เหมือนมีหัวใจเต้นอยู่ในศีรษะ อาจมีอาการตาพร่า และมองเห็นเส้นแสงแวบ ๆ ปลายหางตา โรคยอดฮิตที่แสดงอาการปวดแบบนี้ คือ ไมเกรน
แม้สาเหตุจะยังไม่แน่ชัดแต่เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น แสงแดดหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ จะทำให้ปวดอย่างรุนแรงได้

ส่วนสาเหตุอื่นได้แก่ มีไข้ ตากแดดจัด การใช้ยาบางชนิด รวมทั้งฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

วิธีดูแลตนเองคือ พักผ่อนมาก ๆ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก หากปวดมากให้กินยาพาราเซตามอล แต่ถ้ามีอาการเช่นนี้บ่อย ๆ ควรรีบพบแพทย์จะดีกว่า

ปวดจากเส้นประสาทอักเสบ มักเกิดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง ทั้งเนื้องอก ฝี การติดเชื้อ กระทั่งเส้นเลือดในสมองตีบ แตก หรือตัน นับเป็นการปวดหัวที่อันตรายที่สุด สัญญาณบอกเหตุคือมีอาการปวดจี๊ด ๆ แปลบ ๆ โผล่มาในช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วหายไป ในรายที่เป็นมากอาจเห็นภาพซ้อน ตัวชาครึ่งซีก และอาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการนี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ปวดหัวใจ ไม่ใช่ความรู้สึกปวดใจจากซึม เศร้า เหงา รัก แต่เป็นการปวดในหัวใจจริง ๆ และโรคหัวใจที่คนวัยทำงานต้องรู้คงไม่พ้น 3 โรคเหล่านี้
ภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ หากคุณมีอาการปวดแน่นหน้าอกเหมือนใครมาบีบเค้นหัวใจ อย่างที่เรียกว่า “ปวดเหมือนโดนช้างเหยียบ” จนบางครั้งความปวดแผ่ลามถึงไหล่เรื่อยลงไปยังปลายนิ้ว ร่วมกับอาการหน้าซีดและเหงื่อแตกพลั่ก แสดงว่ามีโอกาสเกิดโรคนี้สูงทีเดียว

โดยปกติแล้วโรคนี้เกิดจากมีไขมันสะสมในหลอดเลือดหัวใจเป็นชั้นหนาคล้ายวงปีของต้นไม้ วันดีคืนดีเมื่อชั้นไขมันปริแตก ร่างกายจะส่งลิ่มเลือดและสารช่วยในการแข็งตัวของเลือดมาซ่อมแซมรอยแตกโดยอัตโนมัติ จนทำให้เส้นเลือดอุดตันและเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค หากเส้นเลือดหัวใจตีบไม่ถึงร้อยละ 70 มักใช้วิธีละลายลิ่มเลือด นอกจากนี้ยังมีการปรับพฤติกรรม ผ่าตัดใส่บอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด รวมทั้งผ่าตัดเชื่อมต่อเส้นเลือดหรือบายพาสค่ะ

อย่างไรก็ดี ข้อบ่งชี้หัวใจขาดเลือดในผู้หญิงนั้นต่างออกไป เพราะความซับซ้อนของร่างกายและฮอร์โมนเพศทำให้แสดงความปวดไม่เหมือนผู้ชาย เช่น บางคนปวดกราม ปวดหัวไหล่ ปวดคอ ปวดท้อง แต่ไม่มีปวดแน่นหน้าอก หรืออาการใด ๆ ของโรคหัวใจเลย การวินิจฉัยจึงยากกว่าและผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้น หากรักษาตามอาการแล้วไม่ดีขึ้น อาจหมายถึงสัญญาณเตือนจากหัวใจก็เป็นได้

ลิ้นหัวใจยาว (Mitral Valve Prolapse) เป็นโรคที่อาจนำไปสู่ภาวะลิ้นหัวใจรั่วได้ เพราะเมื่อลิ้นหัวใจที่เชื่อมตรงกลางห้องบนซ้ายกับล่างซ้ายมีขนาดยาวเกินไป ทำให้การเปิดปิดไม่สนิท จังหวะที่หัวใจสูบฉีดจึงมีเลือดไหลย้อนจนเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาตามอาการ พร้อมลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงขึ้น เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ หรือผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจร่วมด้วย

แม้สาเหตุของโรคจะยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของยีนและจะแสดงอาการเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะหากคุณเป็นหญิงสาวอายุน้อย รูปร่างเล็ก และมักปวดแน่นหน้าอก พร้อมใจสั่น ใจเต้นผิดปกติ หรือตื่นเต้นตกใจง่าย ก็สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าน่าจะเป็นโรคนี้นะคะ

ปวดไหล่ ปวดไหล่ ปวดบ่า ลามไปตลอดแขน เป็นอาการที่ใคร ๆ ก็ต้องเคยเจอ แต่จะเพราะกล้ามเนื้อเมื่อยล้าหรือโรคอื่นที่อันตรายกว่านั้น ต้องพิจารณาตามอาการค่ะ
ปวดไหล่เพราะข้อไหล่หลุด โรคข้ออันดับหนึ่งของคนทำงาน หากคุณชอบเล่นกีฬาที่มีการเหวี่ยงแขน รวมทั้งโหนรถเมล์หรือรถไฟฟ้าบ่อย ๆ ต้องระวังการถูกกระชากจากทั้งแรงเหวี่ยงและการเบรกกะทันหันกระทั่งข้อไหล่หลุดจากเบ้า ทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่ขาดจนรู้สึกปวดทรมาน ขยับแขนไม่ได้ หลังจัดการให้ไหล่เข้าที่แล้วต้องให้คนไข้งดใช้แขนสักระยะ หากไหล่หลุด 2 ครั้งขึ้นไปต้องส่องกล้องผ่าตัดเพื่อเช็คความเสียหายของเยื่อหุ้มข้อ

ปวดสะบัก โดยส่วนใหญ่พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานหน้าคอมวันละหลายชั่วโมงจนกล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และหลังถูกใช้งานหนัก มักเข้าใจว่าตนเองปวดไหล่ แต่จริงๆ แล้วเกิดจากกล้ามเนื้อสะบักได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจกินพื้นที่ตั้งแต่ฐานคอไปถึงสะบักล่างเลยทีเดียว

การนวดแผนโบราณเป็นการรักษาที่ดี แต่ต้องระวังไม่ให้มีการทุบ สับและดัดอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เลือดออกในกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนหรือแตก นอกจากนี้การประคบร้อนจะทำให้เส้นเลือดไหลเวียนดีขึ้นและช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน

อีกหนึ่งอาการคือ ปวดข้อมือจากพังผืดทับเส้นประสาท นับเป็นอาการปวดที่อันตราย เพราะบริเวณนี้จะมีอุโมงค์เส้นประสาทอยู่ เมื่อใช้ข้อมือและฝ่ามือมากเกินไป อุโมงค์จะตีบแคบลงจนบีบเส้นประสาท เมื่อกระแสประสาทวิ่งไม่สะดวกจะรู้สึกเหน็บชา บางคนบอกว่าปวดร้าวที่มือเหนือขึ้นมาจากข้อมือราว 3 เซนติเมตร หากทิ้งไว้นานจะส่งผลต่อการหยิบจับสิ่งของ การรักษามีตั้งแต่ใช้ยา กายภาพบำบัดและผ่าตัด

นี่คือโรคเกี่ยวกับหัวไหล่ที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับวัยทำงาน ส่วนมากดูแลตนเองเบื้องต้นได้โดยลดใช้งานจุดปวดสักระยะ ประคบน้ำอุ่น กินยา และทำกายภาพบำบัด หากยังไม่ดีขึ้นค่อยไปพบแพทย์

ปวดหัวเข่า โรคเกี่ยวกับสะโพกเรื่อยลงไปถึงหัวเข่า มักถูกเหมาว่าเป็นโรคของคนแก่ แต่แท้จริงแล้ววัยทำงานก็ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ไม่น้อยเลยนะคะ

หมอนรองกระดูกช่วงสะโพกและบั้นเอวทับเส้นประสาท มักมีอาการปวดสะโพกด้านหลัง ร้าวไปถึงขา น่องและปลายเท้า อันเป็นลักษณะการปวดเส้นประสาทที่เกิดจากการนั่งผิดท่า ก้มยกของหนัก มีน้ำหนักตัวมาก หรือเอี้ยวตัวเยอะ การป้องกันที่ดีคือ ควรนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงและมีหมอนหนุนหลัง ให้หลังแอ่นขึ้นเล็กน้อยเพื่อลดแรงดันในหมอนรองกระดูกลง จะได้ไม่ปริแตกจนทับเส้นประสาท

การรักษาโดยมากใช้วิธีผ่าตัดซ่อมแซมส่วนที่แตกหรือใส่หมอนรองกระดูกเทียม หากมีอาการดังที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์ เพราะเมื่อเส้นประสาทสำคัญถูกกดทับจะส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นพิการได้

ยังมีอีกหนึ่งอาการปวดหัวเข่าที่มักเกิดกับสาว ๆ นั่นคือ เอ็นหัวเข่าฉีก ที่ทำให้ปวดทรมานตรงหัวเข่าจนแทบเดินไม่ได้ พบบ่อยจากการเดินตกส้นสูง เพราะเชิงกรานของผู้หญิงกว้างกว่าผู้ชายทำให้ช่วงเข่าแบะออกมากกว่า อีกทั้งเส้นเอ็นเล็กและกล้ามเนื้ออ่อนแอ จึงเกิดอันตรายได้ง่ายกว่านั่นเอง

ส่วนหนุ่ม ๆ ที่ชอบเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เทควันโด ที่ต้องวิ่งซิกแซ็กตลอดเวลา ก็อาจเกิดอาการปวดเข่าแบบนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้มีน้ำหนักตัวมากความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนการรักษาเอ็นหัวเข่าฉีกทำได้โดยการผ่าตัดใช้เส้นเอ็นอื่นที่สำคัญน้อยกว่ามาแปะแทนเส้นที่ขาดไปค่ะ

และนี่คือโรคจาก 4 กลุ่มอาการ “ปวด” ที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน บางโรคอย่างศีรษะและหัวใจนั้นค่อนข้างอันตราย ไม่ควรเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนของอาการปวด ส่วนโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้ออาจมีวิธีดูแลตนเองได้ไม่ยากเกินไปก่อนถึงเวลาพบแพทย์

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าอาการปวดจะเป็นอย่างไร หรือเกิดบริเวณไหน ต้องไม่ลืมว่านี่คือคำเตือนจากร่างกายว่ามีสิ่งปกติเกิดขึ้นแล้วนะคะ





















Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 4 ตุลาคม 2554 21:52:01 น. 0 comments
Counter : 1100 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เอ็กซ์ซ่า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 43 คน [?]




Friends' blogs
[Add เอ็กซ์ซ่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.