a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 
ธูซิดิดิส และ The War of the Peleponnesians and the Athenians


1.บทบาทของธูซิดิดิสในฐานะนักปรัชญาการเมือง



เป็นเรื่องยากที่จะเราจะจัดว่าธูซิดิดิสเป็นนักปรัชญาการเมือง หรือนักประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง เนื่องจากถึงแม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่เคยใช้คำว่าปรัชญาการเมือง (แต่ตรงที่บอกว่าไม่เคยกล่าวถึงปัญหาอันเป็นสากลในเรื่องปรัชญาการเมืองนี่ – ไม่แน่ใจว่าใช่ -- หรือจะเป็นเพราะผู้เขียนแปลดีเกินไป เราเลยรู้สึกเหมือนว่าธูซิดิดิสกำลังพูดถึงประเด็นปรัชญาการเมืองอยู่ก็ไม่รู้ ... ^^”…) แต่เขาก็ไม่ได้ใช้คำว่า ประวัติศาสตร์ กับงานของตนเองเช่นกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาจากคำพูดของธูซิดิดิสเองที่เรียกผลงานของตนว่า “สมบัติอันมีค่าตลอดกาล” และความตั้งใจที่จะแสวงหาความกระจ่างชัดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยความมุ่งหวังว่ามันจะเปิดเผยให้เห็นถึงความจริงถาวรว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์ ก็ยิ่งทำให้เราไม่น่าจะจัดธูซิดิดิสเป็นนักประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองได้ง่าย ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งหนังสือแนวปรัชญาการเมือง และแนวประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองหลาย ๆ เล่มไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับธูซิดิดิสมากนัก (คาดว่าคงไม่รู้จะจับลุงแกเข้าค่ายไหน^^”) อย่างไรก็ตาม หนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลาย ๆ เล่มก็เริ่มต้นด้วยธูซิดิดิส เนื่องจาก(เราคิดว่า)เขาน่าจะเป็นนักคิดคนแรก ๆ ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระหว่างรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทูต และนโยบายของรัฐในภาวะสงคราม



2.เหตุแห่งสงคราม และความชอบธรรมในการสู้รบ


ธูซิดิดีสเริ่มเล่าถึงสงครามครั้งนี้โดยกล่าวถึงสาเหตุของสงคราม ซึ่งเริ่มจากการที่ชาวสปาร์ตามองเห็นชาวเอเธนส์ยิ่งใหญ่ขึ้น และหากปล่อยว่า ก็อาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นผลเสียต่อประเทศของตนได้ เนื่องจากเราไม่สามารถแน่ใจในเจตนาในอนาคตของรัฐได้ หรือถึงแม้จะรู้ได้ในตอนนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ความตั้งใจในอนาคต เพราะจิตใจของมนุษย์นั้นไม่แน่นอน และอาจเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือมีผู้ชักจูง ซึ่งการที่ธูซิดิดีสได้นำเสนอความคิดเห็น และการพูดกันไปพูดกันมาเกี่ยวกับสงครามของฝ่ายต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในข้อนี้ก็ได้


เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่รัฐไม่ไว้วางใจในเจตนาของอีกรัฐหนึ่ง เป็นผลให้ต้องสะสมกำลังพล / อาวุธ/ กำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ และชิงโจมตีก่อนเมื่อตัวเองได้เปรียบนั้น เราอาจเรียกได้ว่าเป็น security dilemma ซึ่งนับเป็นสาเหตุ/ มูลเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดข้อแย้งระหว่างประเทศ ตามแนวคิดของนักคิดกลุ่ม Neo-realism ดังนั้น เพียงแค่การที่สปาร์ตา และรัฐอื่น ๆ ไม่ไว้ใจ หรือเกิดความกลัวเกรงในในเอเธนส์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเรียนรู้ถึงธรรมชาติของคนเอเธนส์แล้วว่าเป็นพวกไม่รู้จักพอ – ซึ่งเราจะได้ทราบต่อไปในช่วงท้าย ๆ ของบท) ก็น่าจะเป็นเหตุผล /มูลเหตุที่พอเพียงแล้วที่ทำให้เกิดสงคราม การยกข้อหาว่าเอเธนส์ละเมิดข้อตกลงพักรบชั่วคราว มาเป็นเหตุผลหนึ่ง ไม่ได้มีความสำคัญในฐานะที่มันเป็นการกระทำที่ยุติธรรม หรือไม่ยุติธรรม แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาของเอเธนส์ในการรบครั้งนี้ต่างหาก



3.สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ?



อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ สิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” อันเป็นสิ่งที่บีบบังคับ หรือให้ความชอบธรรม (คือทำให้สามารถทำสิ่งนั้นได้ – โดยไม่ถูกสังคมประฌามว่าผิด หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนเข้าใจได้ว่าทำไปทำไม ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่ถูก ก็ยังพอจะให้อภัยกันได้) ให้มนุษย์แต่ละคน / แต่ละฝ่ายกระทำการใด ๆ ได้นั้นคืออะไร ? ความกลัว ? ผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวม ? ความยุติธรรม หรือเกียรติภูมิ ? นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งที่ธูซิดิดิสต้องการจะถาม หรือต้องการให้ผู้อ่านได้คิดต่อไป ก็คือ หากมนุษย์คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกระทำการใด ๆ ก็ตามโดยอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่สูงสุดที่ว่านี้ จึงเป็นการกระทำที่ควรได้รับความเข้าใจ และได้รับการให้อภัยเสมอไปหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว จะมีอะไรอีกเล่าที่จะสามารถห้ามกันได้ ?


4.ความยุติธรรมคืออะไร(กันแน่?)



ประเด็นที่น่าสนใจมากอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับ “สิ่งสูงสุด” ที่แต่ละฝ่ายในสงครามต่างก็ถือเอาเป็นสิ่งที่ให้ความชอบธรรมกับการรบของตัวเองก็คือ ความหมายของความยุติธรรม ที่ดูเหมือนว่าจะมีหลายนิยาม และเป็นความหมายที่เลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้พูด และในสถานการณ์ไหน นอกจากนี้ ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างออกมากล่าวอ้าง และเรียกร้องความยุติธรรมนั้น ธูซิดิดิสได้กล่าวถึง “ความอ่อนแอของความยุติธรรมในสงคราม” ซึ่งอาจทำให้เราสามารถคิดต่อไปได้ว่า เป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ความหมายของความยุติธรรมในสงครามครั้งนี้เลือนราง และเลื่อนไหลกว่าที่มันควรจะเป็นในสถานการณ์ปกติ ทั้งยังทำให้มีกรณีที่ทำให้ต้องคิดว่า “ใคร” จะเป็นผู้ที่สามารถพูด หรือสมควรเรียกร้องความยุติธรรมได้มากกว่าคนอื่น ๆ โดยในที่นี้ ดูเหมือนว่าธูซิดิดิสจะพยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิด หรือได้รับความอยุติธรรมในสังคมมากที่สุดหรอกที่จะออกมาเรียกร้อง หรือมีสิทธิพูดถึงความยุติธรรม แท้จริงแล้ว คนเหล่านี้ (เช่นชาวมีลอส) รู้สึกว่าตนถูกห้ามไม่ให้พูดถึงความยุติธรรมด้วยซ้ำไป คน/ฝ่ายที่มีอำนาจต่างหาก – ที่จะมีโอกาสได้พูดถึงความยุติธรรม


นอกจากนี้ ธูซิดิดิสยังได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของคนบางกลุ่ม / ฝ่าย ที่จะเชื่อมโยงความยุติธรรมเข้ากับสิ่งที่สูงสุด และผลประโยชน์ว่า ความยุติธรรมนั้นไม่ใช่อะไรเลยนอกจากผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม หรือความดีงามร่วมกันของมนุษย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นความประจวบเหมาะของผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่สามารถพบได้ในทุกสถานการณ์ และในสถานการณ์ที่ความประจวบเหมาะ (ความยุติธรรม?) เช่นนี้ไม่สามารถพบได้ เราก็จะถูกบีบบังคับให้ต้องแสวงหาผลประโยชน์ของเราเองที่แยกออกจากคนอื่น ถ้าไม่กระทำเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องเสียหายมาก เช่นนี้แล้ว เราจะสามารถตีความได้หรือไม่ว่า หากไม่สามารถแสวงหา ‘ความยุติธรรม’ของส่วนรวมได้แล้ว คนเราก็จำเป็นที่จะต้องกระทำการเพื่อตอบสนองความต้องการ ‘ความยุติธรรม’ หรือการได้รับผลประโยชน์ / การมุ่งไปสู่สิ่งที่เราเชื่อว่า เป็นสิ่งสูงสุดของตัวเราเอง น่าสนใจว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เส้นแบ่งระหว่างผลประโยชน์ และความยุติธรรมในสถานการณ์เช่นนี้ก็เลือนรางเต็มที -- จนไม่น่าแปลกใจที่ธูซิดิดิสมองว่า คำว่าความยุติธรรมที่แต่ละฝ่ายต่างก็นำมากล่าวอ้างนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีน้ำหนักอะไรเลย



อ้างอิง :

เดวิด โบโลตินิ (2550) “ธูซิดิดิส” ใน ลีโอ สเตร๊าส์ และโจเซฟ คร็อปซีย์. ประวัติปรัชญาการเมือง. แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์.





Create Date : 20 ธันวาคม 2550
Last Update : 20 ธันวาคม 2550 20:58:13 น. 0 comments
Counter : 3136 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.