a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
2 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 

พระอภัยมณี : วรรณกรรมกษัตริย์ของชนชั้นกลาง

พระอภัยมณี : กษัตริย์ชนชั้นกลาง?


แม้ว่าเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ จะเริ่ม และดำเนินเรื่องด้วยตัวละครที่อยู่ในชนชั้น / วรรณกษัตริย์ทั้งหมด แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ดูเหมือนว่าตัวละครชั้นสูงเหล่านั้นที่สุนทรภู่นำเสนอภาพออกมาจะมีความแตกต่างจากวรรณกรรม / วรรณคดีโดยทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น ที่มักจะเขียนโดยกษัตริย์ หรือชนชั้นผู้นำเองอยู่พอสมควร เช่น การศึกษาของพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณดูเหมือนจะแตกต่างจากการศึกษาของกษัตย์ในวรรณกรรมกษัตริย์ที่เขียนโดยชนชั้นสูง เนื่องจากไม่มีการศึกษาในราชสำนักเลย (ไม่มีพวกปุโรหติแนะแนวทางการศึกษาอะไรพวกนี้บ้างหรือไร ?) และวิชาการที่เรียนก็นับว่าแหกขนบการศึกษาของกษัตริย์อย่างชัดเจนหากเราจะพิจารณาเทียบกับ the Prince หรือ อรรถศาสตร์


น่าสนใจว่า สุนทรภู่ต้องการ / จงใจเสนอภาพเช่นนี้ เพราะไม่รู้ / ไม่ได้สัมผัสจริง ๆ ว่าเจ้านายทั้งหลายนั้นได้รับการศึกษากันมาอย่างไร (ที่จริงแล้วสุนทรภู่น่าจะมีความรู้อยู่บ้าง หากพิจารณาจากการที่คลุกคลีอยุ่ในวัง มีมารดาเป็นชาววัง และเคยแต่งเพลงยาวถวายโอวาท – นอกจากจะไม่ได้ใส่ใจจริง ๆ ถึงจะไม่รู้ ซึ่งถ้าพิจารณาจากการที่ท่านเป็นคนช่างสังเกตมาก ๆ แล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อีก) หรือ ตั้งใจ ที่จะสื่อภาพของกษัตรย์ในพระอภัยมณีออกมาในลักษณะที่ใกล้เคียงกับสามัญชนมาก เพราะรู้ว่าผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นสามัญชน อยู่แล้ว การที่สื่อภาพของกษัตริย์ออกมาเป็นสามัญชน จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้มากกว่า


การกีดกันคนนอกศาสนา การแบ่งชนชั้น และการเหยียดผิว


เป็นที่น่าสังเกตว่าการนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน (นอกรีต นอกศาสนา) และสีผิวที่แตกต่างกลายมาเป็นเงื่อนไข / ข้ออ้างสำคัญในการที่จะไม่คบค้าสมาคม โดยเฉพาะไม่แต่งงานด้วย ทั้งของชาวพุทธ และชาวคริสต์ (เช่น นางแก้วเกษรา และนางละเวง ) นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ถึงทัศนคติต่อคนต่างชาติในยุคนั้น ซึ่งดูเหมือนจะมองว่าคนอังกฤษ / คนตะวันตกในสมัยนั้นว่าไม่มีมารยาท เช่น รับประทานอาหารดิบ ๆ และไม่สำรวมกิริยา


น่าสนใจว่า ทำไมจึงต้องมีการแบ่งแยกกันถึงขนาดนั้น ทั้ง ๆ ไม่มีคำสอนของศาสนาใดที่สอนให้คิดว่าศาสนาอื่นไม่ดี (อย่างน้อยก็เท่าที่เรารู้) เป็นไปได้ไหมว่า การที่ศาสนาคริสต์เพิ่งเข้ามาในเมืองไทย และศาสนาคริสต์อาจมีแนวทางในการชักจูงคนเข้าร่วมศาสนาที่ไม่ค่อยถูกกับจริตคนไทยบางส่วนเท่าไรนัก ทำให้คนไทยบางกลุ่มเกิดอาการต่อต้าน จนสุนทรภู่ได้สะท้อนออกมาในวรรณกรรมเรื่องนี้


ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาของสุนทรภู่

ไม่แน่ใจว่า เป็นความจงใจของสุนทรภู่หรือไม่ที่ให้นักบวชหลาย ๆ รูปแบบ (นอกจากบาทหลวงและผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์) เช่น พราหมณ์ และฤาษี ถือศีล 5 เหมือนกันหมด อ่านแรก ๆ ก็ขำ เพราะเราสามารถมองได้เหมือนกันว่า สุนทรภู่เขียนเพื่อเอาใจชาวบ้านธรรมดา ๆ มาก เพราะคนทั่วไป (ชนชั้นกลาง) ที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ และไม่มีความสนใจที่จะปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรคผล น่าจะรู้จักเพียงแค่ศีล 5 ก็เพียงพอ การที่สุนทรภู่พยายามยัดเยียดคำสอนทางศีลธรรม หรือหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องมากเกินไป อาจทำให้ผู้อ่านไม่สนใจ และไม่ซื้องานของท่าน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สุนทรภู่ไม่ได้แต่งเรื่องนี้เพื่อเจ้านายท่านใด / ไม่มีผู้ใดอุปถัมภ์อยู่ในขณะนั้น แต่เป็นการแต่งเพื่อขายกินแท้ ๆ (ในคุกด้วย) ที่ไม่คิดว่าสุนทรภู่รู้แค่ศีล 5 เพราะเห็นว่าเคยบวชเรียนมาก่อน อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะรู้ว่ามันมีศีล 8 ศีล 10 และพระสงฆ์ต้องถือศีล 227 ข้อ


มองในอีกแง่หนึ่ง สุนทรภู่อาจไม่ต้องการทำให้ศาสนาแปดเปื้อนโดยการเอา ของอ่านจริง (คือศีล / คำสอนทางศาสนา) มาผสมกับ ของอ่านเล่น (คือ นิทานคำกลอน) เพราะไม่ต้องการให้ผู้อ่านเกิดความสับสน และไม่ต้องการเอาของสูงลงมาเล่นก็เป็นได้


การต่างประเทศของไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 – 3


การที่บ้านเมืองต่าง ๆ มีการติดต่อค้าขาย ตลอดจนมีการแล่นสำเภากันเป็นเรื่องปกติ ทำให้เห็นได้ถึงความเป็นจริงในสมัยนั้น ที่มีการค้าขายติดต่อกับประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ และเป็นยุคของการล่าอาณานิคม ทำให้เป็นเรื่องไม่แปลกที่สุนทรภู่จะเห็นว่าคนที่มาจากศรีลังกา และเอเชียเป็นฝรั่ง เพราะแถบนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจริง ๆ


ข้อสังเกตอื่น ๆ:


พระอภัยมณีในฐานะวรรณกรรมมนุษยนิยม : เราจะเห็นได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นหนึ่งในน้อยเรื่องมากที่ไม่มีเทพเจ้า แม้ว่าจะมีบรรยายถึงสิ่งที่เหนือธรรมชาติ แต่ทุกอย่างก็อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ทั้งหมด หรือต้องยอมแพ้แก่มนุษย์ ไม่มีเทวดาที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของมนุษย์เลย


พระอภัยมณีในฐานะวรรณกรรมสตรีนิยม : มีความตอนหนึ่ง (น่าจะเป็นตอนนางวาลี) บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชาย แต่ในเรื่องมีผู้หญิงทำอะไรที่เกี่ยวกับการรบเยอะมากตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาไปจนถึงการรบจริง ๆ และผู้หญิงสามารถมีการศึกษาได้เท่าดทียมกับชาย (เช่นนางเสาวคนธ์) ถ้าไม่ติดว่าจะค่อนข้างหวงสามีมากไปหน่อย ก็ต้องนับว่าผู้หญิงในเรื่องนี้หลาย ๆ คนมีความสามารถสูงมาก เป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับบทบาทสตรีมากขึ้นในสังคมไทย




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2551
1 comments
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2551 13:02:34 น.
Counter : 2979 Pageviews.

 

 

โดย: นายแจม 2 กุมภาพันธ์ 2551 13:16:12 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.