<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
7 สิงหาคม 2552

เที่ยวนครปฐม (2)

สวัสดีค่ะ

วันนี้มาพาไปเที่ยวต่อ หลังจากที่ไหว้องค์พระแล้ว
เลยไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ถึง พระราชวังสนามจันทร์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม
สำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์
และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ
ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะ
จึงทรงขอซื้อที่ดินจากราษฎรที่อยู่รอบๆ เนินปราสาท เพื่อจัดสร้างพระราชวังขึ้น
รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ
ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ออกแบบ
และดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2450
ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
การก่อสร้างพระที่นั่งและตำหนักต่างๆ ได้ดำเนินการติดต่อกันนานถึง 5 ปี
จึงแล้วเสร็จในปีพุทธศักราชที่ 2454
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า

พระราชวังสนามจันทร์

ในปัจจุบันสำนักพระราชวังได้เปิดให้เข้าชมเพียง
พระที่นั่งพิมานปฐมและห้องพระเจ้าภายในพระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
เทวาลัยคเณศร์ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตำหนักทับขวัญ และอนุสาวรีย์ย่าเหล เท่านั้น




เมื่อเข้ามาถึงบริเวณทางเข้าไปชม พระที่นั่งและตำหนักต่างๆ ในพระราชวังสนามจันทร์
ต้องไปซื้อบัตรผ่านประตูก่อน ที่ซุ้มนี้

ซื้อบัตรครั้งเดียว สามารถเข้าชมได้ทุกแห่งค่ะ



จะเห็นว่ามีรถไฟฟ้าจอดไว้บริการด้วย อัตราค่าเช่าเป็นชั่วโมงค่ะ
แต่ป้าแอ๊ดกับเพื่อนๆ ลงความเห็นว่า เดินชมดีกว่า
เพราะอากาศกำลังดี สถานที่ร่มรื่น ไม่ร้อน น่าออกกำลังกายไปในตัว



แล้วเราก็มาเจอ ด่านแรก พนักงานรักษาความปลอดภัยค่ะ
ท่านกรุณาบอกพวกเราว่า ในสถานที่นี้ ห้ามถ่ายวิดีโอเด็ดขาด
แต่ กล้องถ่ายภาพธรรมดา และดิจิตอลให้ใช้ได้ค่ะ

เป็นอันว่า กล้องวิดีโอของคุณลุงที่หิ้วมา ไม่มีความหมายเสียแล้ว
ใช้ได้แต่กล้องของป้าแอ๊ด เท่านั้น แป่ววววววว




ด้านตรงกันข้ามที่ ท่านยามนั่ง เป็น พระตำหนักทับแก้ว ค่ะ ไม่ได้เปิดให้เข้าชม
สังเกตว่า ต้นไม้ที่นี่ ต้นใหญ่ น่าชื่นชมในการอนุรักษ์มาก
อาณาบริเวณร่มเย็น มองไปทางไหนเห็นแต่สิ่งสวยงามทั้งนั้น




ด้านหลังคุณยาม เป็น พระตำหนักทับขวัญ ที่เราจะเข้าไปชมเป็นแห่งแรก

พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยสมบูรณ์แบบ
นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ
พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี)

พระตำหนักทับขวัญประกอบด้วยกลุ่มเรือน 8 หลัง
ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง



ซึ่งได้สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศ เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน 2 หอ
(ห้องบรรทมเป็นหอนอนที่อยู่ทางทิศใต้)
อีก 2 หลัง เป็นเรือนโถง และเรือนครัว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน
ส่วนเรือนเล็ก 4 หลังนั้น อยู่ตรงมุม 4 มุม มุมละ 1 หลัง
ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้ และเรือนเก็บของ
เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา



พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกน กรอบลูกฟัก
ฝีมือประณีต เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม
หลังคาแต่เดิมมุงด้วยจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สักล้วน
ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับของชาวไทยโบราณ รอบๆ บริเวณปลูกไม้ไทยชนิดต่างๆ
นับเป็นเรือนที่อยู่ในประเภทเรือนคหบดี และมีส่วนประกอบครบ



ขณะที่เรากำลังเตรียมขึ้นไปชมพระตำหนักทับขวัญนี้

เราก็พบกับ ด่านที่สอง

คุณพนักงานที่ดูแลอยู่ ท่านบอกว่า ให้ขึ้นไปชมบนเรือนได้ แต่...ห้ามถ่ายภาพ

ถ่ายภาพได้เฉพาะ ด้านนอก เท่านั้น

นี่เป็นกฎที่ใช้ในทุกพระที่นั่ง ทุกพระตำหนักในพระราชวังสนามจันทร์ ค่ะ

เราจึงต้องนำกล้องที่มีอยู่ ใส่ในช่องที่ท่านมีให้ แล้วลั่นกุญแจซะ

โอ้....แล้วจะมาชมทำไม ถ้าถ่ายภาพไม่ได้
ท่านบอกว่า เพื่อความปลอดภัย...อือ.....เก็บบบบบกล้องลูกเดียววว

เป็นอันว่าพวกเราขึ้นไปชมภายใน พระตำหนักทับขวัญ
โดยไม่มีการถ่ายภาพใดๆ ทั้งสิ้น

บนพระตำหนักทับขวัญมีภาพเขียนของ รัชกาลที่ 6 ประดับอยู่ตามฝาตำหนักมากมายหลายภาพ
มีสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ที่มีค่า วางไว้ให้ชม

ต้องไปชมเองนะคะ ไม่สามารถอธิบายได้หมด เพราะมากมายและน่าชมจริงๆ




จากพระตำหนักทับขวัญ เดินต่อมาด้านซ้าย
เป็น พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์




พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง
มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม แบบนีโอคลาสสิก ของประเทศทางตะวันตก
แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน





พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์



สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้อง และติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน
ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน




พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ ในราวพุทธศักราช 2459
โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ





พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ และฉนวนสะพานเชื่อมพระตำหนัก
เป็นกลุ่มอาคารที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัย
จากบทละครเรื่อง My Friend Jarlet ของ Amold Golsworthy และ E.B.Norman
ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทย ชื่อว่า “มิตรแท้”
โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก





จากนั้นเราก็เดินข้ามสะพานมายัง พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์





พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

เป็นพระตำหนักที่มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ ของฝรั่งเศส
กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ ของอังกฤษ
แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ขึ้นราวพุทธศักราช 2451
โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ

ในปีพุทธศักราช 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า
“พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์”
และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2460





พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักสองชั้น
ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง
ชั้นบน มีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง
ชั้นล่าง ทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้าฯ
และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออก หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์




พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ แห่งนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงใช้เป็นที่ประทับ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า
เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์
และพระองค์โปรดที่จะประทับตลอดช่วงปลายรัชกาล
เมื่อเสด็จฯ ยังพระราชวังสนามจันทร์





พวกเราได้ขึ้นไปชมด้านในพระตำหนักทั้งสององค์
เดินไป-กลับ ในฉนวนที่เป็นสะพานข้ามไประหว่างพระตำหนัก

โดยไม่มีการถ่ายภาพภายในใดๆ ทั้งสิ้น

แล้วเดินมาชมด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

ซึ่งเป็น อนุสาวรีย์ย่าเหล





ย่าเหล
เป็นสุนัขพันธุ์ทาง หางเป็นพวง สีขาว ด่าง ดำ เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม
เป็นสุนัขของ หลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์)
ซึ่งเป็นพะทำมะรง((ควบคุมนักโทษ) อยู่ในขณะนั้น
(ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ตรวจเรือนจำ
ทอดพระเนตร “ย่าเหล” ซึ่งเป็นลูกสุนัข ก็ตรัสชมว่าน่าเอ็นดู
ต่อมาหลวงชัยอาญา จึงน้อมเกล้าฯ ถวาย จึงทรงรับมาเลี้ยง
และพระราชทานนามว่า “ย่าเหล”

“ย่าเหล” ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในราชสำนักใกล้ชิดพระยุคลบาท มีความเฉลียวฉลาด
และมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง
จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างมาก




คืนหนึ่ง “ย่าเหล” ได้หนีออกมาเที่ยวตามวิสัยสัตว์
และได้กัดกับสุนัขอื่นในบริเวณกรมทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์
(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการรักษาดินแดน)
และพลัดถูกลูกกระสุนซึ่งทหารผู้หนึ่งได้ยิงปืนออกมา เมื่อได้ยินเสียงสุนัขกัดกัน
และไม่ทราบว่ากระสุนได้พลัดไปถูกย่าเหล



การสูญเสีย “ย่าเหล” สุนัขที่โปรดปรานในครั้งนี้
ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัว เศร้าสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพ “ย่าเหล” เป็นอย่างดี
และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ “ย่าเหล” ขึ้นด้วยโลหะทองแดง
ณ บริเวณหน้าพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัย
ซึ่งออกมาจากความรู้สึกส่วนลึกของพระราชหฤทัยของพระองค์
จารึกไว้บนแผ่นทองใต้อนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย




อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์ ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย
โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา
ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เป็นหมา
เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ
เพื่อนเป็นมิตร์ชิดกูอยู่เนืองนิตย์ จะหามิตร์เหมือนเจ้าที่ไหนได้
ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล กูไปไหนเจ้าเคยเป็นเพื่อนทาง
ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน จะนั่งนอนยืนเดินไม่เหินห่าง
ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง ถึงยามนอน ๆ ข้างไม่ห่างไกล
อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษย์สุจริต จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้
แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใจ กูมองดูรู้ได้ในดวงตา
โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หรัด ๆ เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า
กูเผลอ ๆ ก็เชง้อเผื่อเพื่อนมา เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง
อันความตายเป็นธรรมดาโลก กูอยากตัดความโศรกกระมลหมอง
นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี
เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน เอารูปคนสรวมใส่คลุมใจผี
เป็นคนจริงฤาจะปราศซึ่งปรานี นี่รากษสอัปปรีปราศเมตตา
มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์
จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน
เมื่อยามมีชีวิตร์สนิทใจ ยามบรรไลยลับล่วงดวงใจสั่น
ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์
ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่ กูก็รักเพื่อนนี้เป็นปฐม
ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก
ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้ รูปเพื่อนฝังดวงใจกูตระหนัก
แต่รูปนี้ไว้เป็นพยานรัก ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไมตรี
เพื่อนเป็นเยี่ยงอย่างมิตร์สนิทยิ่ง ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่
แม้คนใดเป็นได้อย่างเพื่อนนี้ ก็ควรนับว่าดีที่สุดเอย


(กลอนนี้ยังใช้ตัวสะกดแบบดั้งดิมนะคะ)

..................

คงต้องต่อเป็น ตอนที่ 3 แล้วนะคะ
เพราะมีภาพมากเหลือเกิน เดี๋ยวจะโหลดช้าไม่ทันใจวัยรุ่น

................

ติดตามชมตอน 3 ชม เทวาลัยคเณศร์ ก็แล้วกันค่ะ

.................







Create Date : 07 สิงหาคม 2552
Last Update : 7 พฤษภาคม 2555 12:53:53 น. 0 comments
Counter : 4146 Pageviews.  

addsiripun
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 78 คน [?]




ลบบล็อกงานตัดเย็บทิ้งหมดแล้วนะคะ
[Add addsiripun's blog to your web]