<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
30 มีนาคม 2555

วัดบวกครกหลวง เชียงใหม่



สวัสดีค่ะ

บล็อกนี้ยังคงอยู่ที่เชียงใหม่นะคะ
วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 น. เพื่อนขับรถมารับไปเที่ยววัดตามที่เราต้องการ





วัดแรกที่ไปเยี่ยมเยือนคือ วัดบวกครกหลวง ในเส้นทางจากสถานีรถไฟ ไปทางสันกำแพงเพียงไม่กี่กิโลเมตร





ที่มาวัดบวกครกหลวง เพราะทราบมาว่า วัดแห่งนี้มีภาพผนังเก่าแก่อยู่ในพระวิหาร
เป็นฝีมือช่างเขียนชาวไทยใหญ่ (ช่างเงี้ยว)
ภาพพอจะยังเห็นได้ ไม่ลบเลือนนัก เป็นศิลปไทยใหญ่ที่หาดูได้ยากพอควร






วัดบวกครกหลวง เป็นวัดในสังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ 24 บ้านบวกครกหลวง ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง
หมู่ที่ 1 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
สร้างครั้งใดไม่ปรากฏประวัติและหลักฐานการสร้าง

แต่จากการสืบประวัติภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏพอจะประมาณได้ว่าอายุของวิหารนี้ไม่ต่ำกว่า 300 ปี

วัดนี้เดิมชื่อ วัดม่วงคำ ส่วนชื่อว่า บวกครกหลวง เป็นภาษาพื้นเมือง
คำว่า บวกครก แปลว่า หลุม คำว่า หลวง แปลว่า ใหญ่

ซึ่งอาจเป็นการตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้านหรือสภาพพื้นที่หรือสภาพแวดล้อม
หรืออาจจะมาจากนิทานพื้นบ้านที่เล่ากันต่อมาว่า นานมาแล้วหมู่บ้านบวกครกหลวงแห่งนี้ เกิดข้าวยากหมากแพง
ประชาชนอดอยาก ดังนั้น เจ้านายทางเชียงใหม่จึงนำข้าวออกมาจากท้องพระคลัง และขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน
ซึ่งอาจเป็นที่มาของการตั้งชื่อวัด จากเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านก็เป็นได้

(จากหนังสือ วัดบวกครกหลวง เขียนโดย น. ณ ปากน้ำ)





วิหารนี้ได้มีการซ่อมแซมบูรณะเรื่อยมา จากหลักฐานจารึกที่ปรากฏบนหน้าบันเขียนเลข พ.ศ. 2468 ไว้
ซึ่งคงเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยนั้น รวมทั้งการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาด้วย





หลังจากนั้นคงจะมีการบูรณะซ่อมแซมต่อมา
เช่น ใน พ.ศ. 2498 มีการราดพื้นวิหารและซ่อมแซมโครงสร้างภายใน เพราะมีหลักฐานบันทึกไว้ที่ฐานวิหาร
โครงสร้างของวิหารเป็นไม้ผสมปูน หลังคาเป็นหลังคาจั่วซ้อนสามชั้น





ด้านหน้าทำเป็นมุขโถงยื่นออกมาคลุมราวบันได
ซึ่งทำเป็นมกรอมนาคที่มีปากลักษณะเหมือนจะงอยปากนกแก้วหรือจะงอยปากครุฑ ทำด้วยปูนปั้นประดับกระจกปิด





ปั้นลมเป็นนาคลำยอง หางหงส์ทำเป็นหัวนาค ราวโก่งคิ้วด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักปิดทอง
หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นลายก้านขดปิดทองแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายฝาปะกน นาคลำยองหางหงส์รูปหัวนาคปิดทองประดับกระจกสี





มุมวิหารทำเป็นปูนปั้นรูปเทพพนมยืน
เครื่องบนของเพดานเปิดให้เป็นโครงสร้างไม้และเสารับน้ำหนักของหลังคา ผนังก่ออิฐถือปูนสูงถึงคอสอง





ด้านหน้าวิหารทำประตูไม้แกะสลักปิดทอง
ลักษณะทั่วไปของวิหารมีสัดส่วนและองค์ประกอบงดงามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา
ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้สถิตในบวรพระพุทธศาสนายิ่ง





วิหารนี้มีประตูด้านข้างทำเป็นมุขยื่นออกมา





จากแผนผังวิหารแห่งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ด้านหน้าและด้านหลังมีการลดขนาดความกว้างของห้องเป็น 3 ช่วง เพื่อให้สอดคล้องกับชั้นลดของหลังคา
ด้านหลังทำเป็นฐานชุกชีไว้ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูป





ภายในวิหารมีธรรมาสน์เทศน์ที่มีอายุเก่าแก่และสวยงามมาก คาดว่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวิหาร












ธรรมาสน์มีลักษณะเฉพาะตามแบบล้านนา เป็นรูปทรงปราสาท ประดับตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา
และยังมีสิ่งที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะพบได้ในวิหารล้านนาทั่วไปคือ สัตตภัณฑ์
อันเป็นเครื่องสักการบูชาภูเขาทั้ง 14 ในไตรภูมิตามความเชื่อของชาวล้านนา
จะใช้กันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาโดยชาวบ้านจะนำเทียนมาจุดบนสัตตภัณฑ์นี้
มีลักษณะสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ตรงกลางทำเป็นรูปเทพพนมและมีลายพันธุ์พฤกษา





ด้านหลังรูปเทพพนมประดับแก้วอังวะ (กระจกจีน) ด้านข้างทำเป็นรูปมกรคายนาค สัตตภัณฑ์นี้จะตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธานอีกทีหนึ่ง
(ไม่สามารถที่จะถ่ายภาพได้ เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างพระประธานกับสิ่งของต่างๆ ด้านหน้า ที่ตั้งบังไปเกือบทั้งหมด)





วิหารวัดบวกครกหลวงเดิมทีเป็นอาคารโถงเช่นเดียวกับอาคารล้านนาทั่วไป
ซึ่งสถาปัตยกรรมล้านนาส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นโครงสร้างของไม้และเครื่องบนหลังคาใช้เสาในการรับน้ำหนักของหลังคาทั้งหมด





โดยเฉพาะโครงสร้างไม้แบบม้าตั่งไหมซึ่งเป็นการสร้างตามคติดั้งเดิมอันเป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา
จึงจะเห็นว่าภายในวิหารวัดบวกครกหลวงนี้จะมีเสาขนาดใหญ่อยู่กลางวิหารถึง 12 ต้น
ภายหลังจึงได้มีการทำผนังทึบขึ้นมา 3 ด้านคือ ด้านข้างและด้านหลัง แต่มิได้เป็นการรับน้ำหนักอาคาร





ส่วนด้านหน้าเปิดโล่งไว้ และต่อมาได้มีการสร้างประตูบานใหญ่ขึ้นด้านหน้าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย








ประตูนี้มีการแกะสลักเป็นรูปทวารบาลปิดทองอย่างงดงาม





หลังคาวิหารเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นรูปนาค
ตามคติชาวล้านนาที่เชื่อว่า วิหารเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ต้องมีนาคคอยดูแลอยู่ จึงมีการประดับตกแต่งวิหารด้วยนาค
ส่วนลานทรายที่อยู่รายรอบวิหารหรือศาสนสถานอื่น ๆ ของล้านนาเปรียบเสมือนว่าเป็นน้ำหรือนทีสมุทร





ดังนั้นจะเห็นว่า ทางเข้าด้านหน้าวิหารทำเป็นราวบันไดรูปมกรคายนาคด้วย
และนาคที่นี่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ เป็นนาคปากนกแก้วซึ่งมีเพียงแห่งเดียว
ส่วนมุขโถงด้านหน้าวิหารเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยที่มีการบูรณะ





หน้าบันวิหารเป็นหน้าบันสลักไม้แบ่งเป็นช่องแบบฝาปะกน แต่ละช่องแกะลายประดับกระจกสวยงาม
และมีจารึกบอกปี พ.ศ. 2468 สันนิฐานว่าเป็นปีที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์





ผนังด้านนอกของตัวอาคารจะมีปูนปั้นรูปเทพพนมประดับอยู่ตามมุม






ด้านบนเป็นคันทวยลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ทำด้วยไม้ มีอยู่ 2 ลายคือ คันทวยด้านหน้าทั้งสองข้างทำเป็นรูปหนุมานเหยียบเมฆ
ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ จะเป็นลายเมฆไหลท่านั้น





นอกจากวิหารแล้วที่วัดบวกครกหลวงแห่งนี้ยังมีอาคารเสนาสนะอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ
อุโบสถที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ศาลาบำเพ็ญกุศล กุฎีสงฆ์





และเจดีย์ทรงปราสาทมีเรือนธาตุ 4 ด้าน บุด้วยทองจังโกซึ่งอยู่ด้านหน้าวิหารด้วย





หอพระธรรมไตรปิฏก






ก่อนที่จะกลับออกมา คณะของเราเข้าไปกราบขอพรจากท่านเจ้าอาวาส ถวายปัจจัยบำรุงวัด
ซึ่งท่านได้เมตตาแก่เราด้วยการให้เด็กวัดไปเปิดประตูพระวิหารให้เราเข้าไปชมแต่เช้า
และยังเมตตาให้ลูกประคำข้อมือที่ทำจากไม้หอมแก่พวกเราคนละเส้นอีกด้วย
ขอกราบนมัสการในความเมตตาของพระคุณท่านมา ณ ที่นี้ค่ะ




สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดบวกครกหลวง ขอยกไปในบล็อกหน้านะคะ จะลงให้ชมอย่างจุใจเลยค่ะ








Create Date : 30 มีนาคม 2555
Last Update : 26 พฤษภาคม 2555 14:10:23 น. 10 comments
Counter : 10433 Pageviews.  

 
ชอบจังเลยค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 30 มีนาคม 2555 เวลา:17:18:52 น.  

 
มกรอมนาค สวยจัง



เป็นวัดที่สวยน่าทึ่งมากๆเลยครับ เห็นภาพแล้วทำให้อยากไปชมกับตาตัวเองเลย



โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 31 มีนาคม 2555 เวลา:8:35:12 น.  

 
ป้าแอ๊ดค่ะ (ชื่อเดียวกับแม่หนูเลค่ะ) หนูตามหาเฟสบุ๊ค ป้าไม่เจอเคยค่ะมีเรื่องงานเย็บอยากค่ะ รบกวนป้าช้วยแแอดหนูด้วยค่ะ stang moso ขอบคุณมากๆๆค่ะ


โดย: สวพร ทองคำ IP: 27.130.116.131 วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:1:43:50 น.  

 
สวัสดีค่ะป้าแอ๊ด

ชื่อวัด อ่านยากจังนะคะ ต้องแยกตัวอักษรดีๆ เพราะไม่มีสระคั่น ให้ผสมสระตอนอ่านเลย

เห็นภาพป้าแอ๊ดยิ้มหวานใน FB แล้วชื่นใจ ป้าดูสุขภาพใจดีมากๆค่ะ


โดย: Love At First Click วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:16:30:11 น.  

 
Photobucket Pictures, Images and Photos

แวะมาเยี่ยมคร้าาา


โดย: สาวสะตอใต้ วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:9:20:31 น.  

 
ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล ปณฺฑิตํ ปยิรุปาสติ
น โส ธมฺมํ วิชานาติ ทพฺพี สูปรสํ ยถา

คนพาล ถึงอยู่ใกล้บัณฑิตตลอดชีวิต ก็ไม่รู้แจ้งธรรม
เสมือนทัพพี ที่ไม่รู้รสแกง

เป็นบัณฑิตที่เพียบพร้อมด้วยสติและปัญญา ตลอดไป...นะคะ



วัดนี้ ปอป้ายังไม่เคยไปเลย...ค่ะ
วิหาร...สวยงามมาก ๆ

เวลาป้าแอ๊ดไปเที่ยว
ภาพที่เห็นจนชินตา คือป้าแอ๊ดคล้องกล้องถ่ายรูปไว้กับตัวเสมอ
บ่งบอกถึง ความเป็นช่างภาพตัวจริงเสียงจริง...อิ อิ

สงกรานต์นี้ ป้าแอ๊ดมีโปรแกรมไปเที่ยวไหนหรือเปล่า..คะ
ปอป้าจะไปอินโดนีเซีย ไปชมบุโรพุทโธ และเที่ยวบาหลี..ค่ะ
จะพยายามถ่ายรูปให้สวยได้สักเสี้ยวของป้าแอ๊ด...อิ อิ

คิดถึงป้าแอ๊ดเสมอ...ค่ะ



โดย: พรหมญาณี วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:10:50:04 น.  

 
มาเที่ยวชมวัดกับป้าแอ๊ดค่ะ


โดย: ตาลเหลือง วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:14:44:33 น.  

 
ได้ยินชื่อวัดนี้ทีไร สงสัยทุกที แปลว่าอะไร ?


โดย: VET53 วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:16:57:15 น.  

 
วันนี้ไปงานหนังสือมา
ไปเดินซื้อหนังสือที่บู้ทของ เมืองโบราณ
ได้หนังสือจากที่นี่มา 18 เล่ม (4 พันกว่าบาท)
มีหนังสือเรื่อง วัดบวกครกหลวงด้วย เขียนโดย น. ณ ปากน้ำ
มีภาพประกอบสวยงาม พิมพ์เมื่อ ปี 2544 ภาพชัดมาก
เห็นแล้วอายภาพของตัวเอง
มีประวัติของวัดด้วยค่ะ
ทราบแล้วละ ว่า บวกครกหลวง แปลว่าอะไร

ลงไว้เพิ่มเติมด้านบนแล้วนะคะ



โดย: addsiripun วันที่: 5 เมษายน 2555 เวลา:19:16:02 น.  

 
โชคดีจัง ได้รู้ท่มาของชื่อซะที อาจารย์ ณ ถ้ามาถ่ายก็น่าจะล่วงมา 40 ปี ภาพน่าจะสวยกว่านี้มาก แล้วก็น่าจะมีการขออนุญาติเอาบันไดมาถ่ายในระดับเดียวกับภาพด้วยก็ได้ ภาพยังไงก็ดีกว่านักท่องเที่ยวแบบเรา

ผมได้วัดคงคาราม ยังไม่ได้เริ่มอ่านเลย


โดย: Vet53 IP: 14.207.123.113 วันที่: 5 เมษายน 2555 เวลา:22:59:02 น.  

addsiripun
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 78 คน [?]




ลบบล็อกงานตัดเย็บทิ้งหมดแล้วนะคะ
[Add addsiripun's blog to your web]