Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
28 มิถุนายน 2558
 
All Blogs
 

ยูโดสายดำ (ภาคเมืองไทย)2 - การปรับเปลี่ยนพื้นฐานอีกครั้ง


13 มิ.ย.2015
ซ้อมครั้งแรกกับอาจารย์เป้ที่กกท.
ผมไม่รู้ว่าอาจารย์เป้วางแนวการซ้อมไว้แบบไหน แต่ตัวผมเน้นไปที่ท่าฮาเนโกชิก่อน และดูเหมือนว่าอาจารย์เป้ก็เน้นไปที่สะโพกของท่าฮาเนโกชิเช่นกัน เนื่องจากว่าที่ผ่านมาสะโพกของผมใช้ไม่ถูกหลัก เรียกว่าไม่ได้ดึงเอาสะโพกออกมาใช้เลยก็ว่าได้

สิ่งแรกที่อาจารย์เป้วางไว้คืออธิบายให้เข้าใจจุดรายละเอียดของท่าฮาเนโกชิก่อน โดยน่าจะแบ่งเป็นส่วนๆ (กี่ส่วนผมไม่รู้ รู้แต่ว่าส่วนของการฝึกตรงนี้ต้องเอาสะโพกออกมาให้ได้ก่อน) การเข้าท่าของวันนี้จึงเป็นส่วนเบื้องต้นในการเข้าท่าก่อน ถ้าเป็นตามหลักญี่ปุ่นก็คือเรื่องคุสุชิและสกุริ

คุสุชิไม่ต้องอธิบายกันเยอะแล้วครับ แต่จะทำออกมาและเน้นย้ำมันให้ครบทุกจุดก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน(เดี๋ยวค่อยกลับมาพูดจุดนี้อีกครั้งนึง) เรื่องสกุริมีรายละเอียดย่อยๆ(แต่สำคัญ)อยู่คือ

①เรื่องขาแรก (ขาขวา) ที่ก้าวเข้าไป ก้าวปกติย่อเข่าปกติ หมุนปกติ พอขาสอง (ขาซ้าย) ตามเข้าไปมันก็ยังปกติย่อเข่าของขาสอง(ขาซ้าย) ที่ไม่ปกติคือการขยับขาต่อจากนี้ คือต้องพับนิ้วขาขวา ให้บริเวณช่วงโคนนิ้วของขาขวาปัดลาดไปกับพื้น ถ้าจะอธิบายก็เหมือนกับการดีดลูกแก้ว ที่เราต้องง้างเอาไว้เพื่อสร้างแรงดีด ฮาเนโกชิก็เช่นกัน ต้องง้างและหน่วงขาเอาไว้เพื่อสร้างแรงดีด ที่สำคัญสุดคือผู้ใช้ต้องรู้ตัวเองว่าทำอะไรอยู่และควบคุมสิ่งที่เราหน่วงเอาไว้ให้ได้ทั้งหมด

เรื่องหน่วงขาเอาไว้ทำเอาขาผมได้เลือดจากการเสียดสีไปพอสมควร สิ่งที่ผมต้องการให้ได้จากการซ้อมคือแรงหน่วง แต่ดูเหมือนผมยังเข้าไม่ถึงสิ่งนั้น (ได้เรื่องขาถลอกมาแทน) เพราะอย่างแรกการทรงตัวจากการพับขายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมที่ต้องเริ่มถ่ายเทสมดุลย์กันให้ได้ก่อน สรุปคือแรงหน่วงยังไม่มา แต่ความรู้สึกที่ได้รับกลับมาจากการวางขาในลักษณะนี้ นั้นคือช่วงขาไล่ขึ้นมาที่สะโพกมันแนบชิดติดกับตัวหุ่นได้อย่างเหมาะเจาะ ถ้าคุสุชิในตอนแรกทำได้สอดคล้องกันก็เท่ากับว่าตั้งแต่ขาไล่มาสะโพกไล่ต่อขึ้นไปที่หน้าอกและไหล่ ตัวติดชิดกับหุ่นเป็นชิ้นเดียว (สำหรับคนที่ซ้อมยูโดมาพอสมควรคงจะเริ่มเห็นเค้าโครงลางๆขึ้นมาบ้างแล้วครับกับการจัดวางของท่าทุ่มด้วยสะโพก)

②เรื่องการเอาสะโพกยัดเข้าไปที่หุ่น ตรงนี้อาจารย์เป้อธิบายแล้วผมคิดว่าตรงและสอดคล้องกับนาเกะโนะคาตะ ท่าทุ่มมาตรฐานในส่วนของท่าฮาไรโกชิ นั้นคือการเข้าท่าโดยการหันข้าง ไม่หันหลังใช้ก้นแทนสะโพก (หลังซ้อมเสร็จ กลับมาที่บ้าน ลองอ่านหนังสือของมิฟุเนะเซนเซที่อธิบายเรื่องท่าฮาเนโกชิ บอกได้คำเดียวว่า ตรง !! และไปในทิศทางเหมือนที่อาจารย์เป้สอนการเข้าสะโพกด้านข้าง)

การทำสกุริ2ข้อให้ได้นี้ ผมย้อนกลับมาที่เรื่องคุสุชิอีกครั้ง ปัญหาคุสุชิของผมคือมือทรึริเทะ (มือข้างที่จับคอเสื้อหุ่น ของผมใช้มือขวา) การจับที่คอเสื้อของผมทำให้การเข้าท่าในบางครั้งมัน...มั่ว และเกิดช่องว่างที่ทำให้ไม่สามารถเอาหุ่นเข้ามาติดตัวผมได้ จุดนี้อาจารย์เป้แนะนำให้เปลี่ยนเป็นจับลึกไปด้านหลัง หรือจับแบบโอบรักแร้ของหุ่นไปก่อน พอเริ่มชำนาญค่อยเปลี่ยนทีละนิดกลับมาจับในรูปแบบปกติตามเดิม

เนื่องจากผมคิดว่าเรื่องตัวติดสำคัญกว่าการจับ ผมจึงคิดที่จะเปลี่ยนการจับตามแบบที่อาจารยเป้แนะนำ แต่สุดท้ายการจับในรูปแบบปกติของผมที่ใช้มาตั้งแต่แรกน่าจะง่ายกว่า ผมคิดว่าเวลา1สัปดาห์ในการแก้ไขจุดนี้น่าจะทำได้ สำคัญคือพอเข้าท่าติดๆกันหลายครั้งต้องดึงสติให้อยู่กับการซ้อมอย่าให้คำว่า"มั่ว"โผล่ออกมาทำให้แขนไปขวางการที่ตัวจะเข้าไปติดกับหุ่น

อีกจุดนึงที่น่าสนใจคือเรื่องขาสอง (ขาซ้าย) ผมถูกสอนมาจากมูราตะ นาโอกิเซนเซ และติดเป็นนิสัยไปแล้วคือการก้าวขาสองของท่าอุจิมาตะต้องลึกๆเข้าไว้ แต่พอเอาหลักการนี้มาใช้กับท่าฮาเนโกชิ ในส่วนเริ่มต้นนี้มันทำให้สมดุลย์และสะโพกเพี้ยนไป แต่ยังไงจุดนี้ไม่รอดสายตาอาจารย์เป้ โดยอาจารย์แนะนำให้อย่าเพิ่งขยับขาสองเข้าไปลึก สำคัญตอนนี้คือเอาให้เข้าท่าได้ถูกต้องและมีแรงดันจากสะโพกมาให้ได้ก่อน...ก็แก้ไขกันไปครับ

ถัดมาการย่อตัว ไม่มีปัญหาซักเท่าไหร่ ...ลืมไปอีกเรื่องคือการผ่าตัวหุ่นกึ่งกลางเป็นสองท่อน และเอาสะโพก(ไม่ใช่ก้น)ที่เราเข้าจากด้านข้าง ดันเข้าไปกึ่งกลางตัวหุ่นโดยเป้าหมายพยายามให้ไปที่จุดท้องน้อยของหุ่น (จุกครับ...คนเป็นหุ่นทำใจหน่อย เกร็งต้านได้แต่ห้ามหลบหรือถอย มันจะเสียรูปขบวนกันหมด)

กี่เซ็ทกี่ครั้งไม่รู้ รู้แต่ว่าเหนื่อยและผมทำได้ไม่ดี ส่วนน้องเคนที่เป็นคู่ซ้อมทำได้ดีขึ้นในระดับนึง

ถัดมาเปลี่ยนท่ากันบ้าง แต่ยังเอาหลักพื้นฐานของฮาเนมาใช้อยู่นั้นคือท่าต่อเนื่องจากฮาเนไปเป็นโออุจิการิ โดยเป็นโออุจิที่ใช้แรงบิดส่งมาจากสะโพก ท่านี้ดีมาก เป็นทีเด็ดเลยละ แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถดึงสะโพกออกมาใช้งานให้ได้ก่อน ... กลับไปซ้อมเข้าท่าฮาเนโกชิซะ ถ้าฮาเนได้ท่านี้ก็จะตามมา

ถัดมาซ้อมต่อกับท่าฮาไรทรึริโกมิอาชิ แต่เข้าครึ่งเดียว ที่เข้าจากแนวตรงด้านหน้า ยังไม่ไปถึงจังหวะบิดตัวทุ่ม จุดประสงค์ก็ยังเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ นั้นคือการฝึกแรงสะโพก โดยรวมผมว่าเนื้อหาการซ้อมเป็นขั้นเป็นตอนและไปในทิศทางเดียวกัน

ถัดมาเป็นส่วนของท่านอน เรื่องการซ้อมเข้าท่าและจังหวะของจูจิกาตาเมะ และการพลิกตัวแก้ท่ากดโอไซโกมิในท่าเคซะกาตาเมะ

วันนี้ซ้อมชั่วโมงครึ่งแต่เหนื่อยเหมือนซ้อมมาหลายชั่วโมง หลายจุดที่ผมพลาดไปรวมถึงการใช้กล้ามเนื้อที่ไม่ตรงจุดได้ถูกชี้แนะให้มันถูกต้อง แล้วสิ่งที่ถูกต้องมันใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นที่แตกต่างจากที่เคยใช้ปกติ มันคงส่งผลในวันพรุ่งนี้

20มิย.2015
ครั้งที่สองของการซ้อม
ผ่านไป1อาทิตย์ มีทำการบ้านมาบ้าง (แต่สงสัยจะน้อยไป) เน้นไปที่ฮาเนโกชิเช่นเดิม สะโพกยังไม่โผล่ออกมา!! พื้นฐานทางทฤษฏีพอได้แล้วแต่จะทำยังไงให้สามารถแสดงภาคปฏิบัติให้ครบถ้วน เรื่องมือการจับดีขึ้นแล้ว แต่จุดอ่อนที่เห็นๆก็คือเรื่องสะโพก การที่จะดึงให้สุดค้างไว้แบบนั้นแล้วเสริมสะโพกต่อเข้าไปยังเป็นเรื่องยากอยู่ ที่ดีขึ้นกว่าคราวที่แล้วหน่อยนึงคงเป็นเรื่องของจำนวนครั้งที่ทำได้เยอะขึ้นกว่าเดิม(แต่แค่นิดเดียว)

ซ้อมต่อกับท่าฮาไรทรึริโกมิอาชิ เหมือนอาทิตย์ก่อนคือเน้นเรื่องสะโพกที่ต้องพยายามช้อนขึ้นไปรับตัวหุ่น อาจารย์มีการปรับเพิ่มเติมเรื่องมือและขา ขาที่ปัดไปที่แข้งหรือขอเท้าต้องไม่งอเข่า ถ้างอก็คือระยะยังไม่ได้หรือไม่ก็ติดขีดจำกัดเรื่องการดัน เรื่องแขนซ้ายที่จับแขนเสื้อหุ่น(ฮิกิเทะ) ต้องดันจิ้มเข้าไปก่อนพอสุดแล้วค่อยยกขึ้น

โอโซโตการิ ท่านี้อาจารย์ชี้ให้เห็นจุดผิดพลาดที่ใหญ่(มาก) จากคุสุชิไปสกุริแล้วดันไปหยุดจังหวะคาเคะ ถ้าซ้อมแบบที่ผมทำอยู่ตอนใช้จริงจังหวะคาเคะหรือตอนจะทุ่มมันก็จะหยุดไป อาจารย์เป้ช่วยแนะนำเพิ่มเติมในการเข้าท่าโอโซโตการิเพื่อแก้ไขจังหวะที่ค้างตรงนั้น ครั้งต่อๆไปในการซ้อมท่านี้จะต้องใส่ใจและนำไปปรับปรุง

ท่านอนวันนี้ซ้อมดิ้นพลิกให้หลุดในส่วนของท่าเคซะกาตาเมะกับท่าโยโกชิโฮกาตาเมะ โยโกชิโฮอาจารย์ให้ผมเปลี่ยนนิดหน่อยตรงมือขวาที่ผมปกติจะดันเข้าไปที่ท้องของคู่ซ้อมที่กดผม ให้เปลี่ยนเป็นไปจับบริเวณเข่าของคู่ซ้อมแทน ตรงนี้รู้สึกได้เลยว่าใช้แรงน้อยลงกว่าแต่เดิมเยอะมาก

จุดประสงค์ของการซ้อมดิ้นให้หลุดตรงนี้คล้ายๆกับการยึดกล้ามเนื้อคูลดาวน์เพื่อปลดล๊อคแรงสะสมจากการซ้อมก่อนหน้านี้ออกไป และเป็นการซ้อมท่านอนไปในตัวด้วย การซ้อมท่านอนลักษณะนี้ตรงใจผมมากๆเพราะความคิดผมคือตอนโดนกดล๊อคในท่านอนจะต้องดิ้นและพลิกกลับมาเป็นฝ่ายกดแทนให้ได้100% และการซ้อมแบบนี้เป็นการสะสมค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ถ้ายังทำไม่ได้ในตอนแรก อาจารย์เป้จะลดราคาให้ก่อนโดยที่ให้คู่ซ้อมผ่อนแรงออกซัก20% ถ้ายังไม่ได้อีกก็ผ่อนออกอีกเป็น40% พอชำนาญแล้วค่อยๆเพิ่มแรงกลับขึ้นมา

วันนี้มีเวลาซ้อมไม่นานประมาณ1ชั่วโมง และเวลาผ่านไปเร็วมาก คิดไว้ในใจเลยว่ามาซ้อมกับเวลาตรงนี้ไม่พอแน่ๆ ต้องกลับไปทำการบ้านซ้อมต่อเองและเอาผลจากการซ้อมกลับมาให้อาจารย์เป้ช่วยดูแก้ไขในจุดที่มองไม่เห็นหรือทำผิดพลาดไป

28 มิ.ย.2015
วันนี้เปลี่ยนเป็นซ้อมวันอาทิตย์(ปกติซ้อมเสาร์) เพราะเบาะยูโดวันเสาร์มีแบรมยูยิตสูจึงเปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ ติดขัดเล็กน้อยเรื่องการสื่อสารแต่นักเรียนอยากซ้อม อาจารย์ตั้งใจที่จะสอนแล้วก็ลงตัวครับ

เหมือนเดิมฮาเนโกชิ อาจารย์เป้ยังติเรื่องมือขวาที่ใช้แล้วยังเหลือช่องว่างระหว่างตัวผมกับตัวหุ่น เรื่องสะโพกแน่นอนดีขึ้นกว่าครั้งก่อนแต่ยังไม่ผ่าน และยังไม่เสถียร เข้าแล้วหลุดขาดบ้างเกินบ้าง อีกจุดนึงที่อาจารย์ช่วยปรับให้คือเรื่องขาที่พับเตรียมเหนี่ยว การพับแบบนี้มันทำให้ตัวผมเขย่งขึ้นไปเล็กน้อย อาจารย์เป้แนะนำให้เปลี่ยนองศาการพับ ก็รู้สึกได้ว่ามันดีกว่าแบบเดิม

การซ้อมเข้าท่าตรงนี้ ส่วนตัวผมรู้สึกได้ว่าจำนวนครั้งมันเยอะขึ้นกว่าเดิมหน่อยนึงก่อนที่จะเหนื่อย ก็ถือว่าดีขึ้นแต่ต้องให้มันดีกว่าเดิมในคราวต่อๆไป

จากฮาเนเป็นเข้าท่าฮาไรทรึริโกมิอาชิ ตัวนี้รู้เชยว่าทำได้แย่ เพราะไม่ได้ฝึกตอนอยู่บ้าน ขาที่เตะไปยังงออยู่ ยังไม่เข้าใจระยะของมัน มือก็สะเปสะปะ เรียกว่าเข้า5ครั้งออกมาเป็น5แบบ ต้องรีบแก้ไขและฝึกฝนเป็นการด่วน

ท่านอนวันนี้วอร์มกันที่เรื่องการพลิกออกมาจากล๊อคก่อน จุดประสงค์เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ถัดมาเป็นการวอร์มเข้าท่าจูจิกาตาเมะตัวนี้ต้องทำบ่อยๆความพลิ้วถึงจะมา ทบทวนจุดที่สำคัญกันอีก3ข้อคือ ข้อศอก ข้อพับ ข้อเท้า กับอีก1เข่า

นั้นคือดันบริเวณข้อศอกของหุ่น จากนั้นเอาข้อพับของตัวเรากับหุ่นชนกัน(ช่วงที่ข้อพับชนกันให้เอาหน้าอกเราไปปิดระยะบริเวณข้อศอกของหุ่น) ถัดมาพลิกตัวให้หลังของหุ่นเปิดแล้วเอาข้อเท้าของเราใส่เข้าไปให้แน่น ทิ้งน้ำหนักกดเข่าเข้าหากัน เพื่อความคล่องตัวและตามมาตรฐานของอาจารย์เป้คือต้องทำให้ได้ทั้งซ้ายและขวา

เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ เมื่อรู้หลักการแก้แล้วก็ย้อนกลับมาเน้นเรื่องการผูกให้มันแน่นยิ่งขึ้น ใส่จูจิดาตาเมะได้แล้วก็ต้องรู้วิธีหลบจากจูจิกาตาเมะบ้าง ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมอีกแล้ว ปกติผมเรียนการแก้มาด้วยการโถมตัวเข้าหาโทริ เพื่อให้ศอกมันไม่ถูกยึดตึงออกไป แต่ของอาจารย์เป้ใช้หลักการอีกตัวนึง (คลาสสิกกว่า) จูจิแปลว่ากากบาท วิธีของอาจารย์เป้คือทำให้มันไม่เป็นกากบาทด้วยการหมุนตัวกับแขน เริ่มจะชอบวิธีนี้แล้วครับเพราะนอกจากจะป้องกันแล้วยังเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้ด้วย

ถัดมาเป็นการโดนรุม โดยให้อีกฝั่งสลับกันเข้ามากดล๊อคแล้วให้ตัวเราพยายามดิ้นพลิกหนีออกมาให้ได้ การซ้อมอันนี้ก็น่าสนใจมากเพราะเป็นการซ้อมที่ได้กันทั้งสองฝ่าย อุเกะซ้อมการหนี ส่วนโทริก็ซ้อมการล๊อคให้รัดกุมมากขึ้น

มีซ้อมท่ายืนอีกตัวนึง เป็นการเข้าท่าโอโกชิ โดยคนที่เป็นหุ่นคืออาจารย์เป้ เข้าท่าแล้วต้องยกอาจารย์เป้ให้ขึ้น ไม่ง่ายนะครับ ปกติอาจารย์เป้ดูแล้วไม่น่าจะหนัก พอมาเป็นหุ่นเข้าท่า กลับกลายเป็นเหมือนภูเขาหินก้อนใหญ่ที่หนักมาก

เซ็ตแรกสุด ผมย้อนคิดไปถึงวิธีซ้อมเข้าท่าแบบสามคน การเข้าท่าแบบสามคน จุดสำคัญหลักคือเรื่องของคุสุชิ ถ้ามีคุสุชิในจังหวะแรก อีกฝั่งเสียหลักจะทำให้ยกได้ง่ายขึ้น แต่จุดประสงค์หลักของอาจารย์เป้ในการซ้อมเข้าท่าตัวนี้ไม่ใช่เรื่องคุสุชิ แล้วก็ห้ามดึงคุสุชิในจังหวะแรกด้วย...คราวนี้ทำไงดี....

เซ็ตที่สอง ผมลองเปลี่ยนเป็นหลักการเข้าท่าฮาเนโกชิดูบ้าง คือดึงเข้าท่าไปแล้วให้สอดสะโพกเติมเข้าไปในจังหวะสุดท้าย การเข้าท่าบางครั้งรู้สึกได้ถึงพลังงานบางอย่างที่ช่วยดีดขึ้นไปหน่อย เซ็ตสุดท้ายเซ็ตที่สามผมก็ใช้หลักการนี้ บางครั้งก็ยกได้บางครั้งก็ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะยกขึ้นหรือไม่ขึ้นก็ยังผิดวัตถุประสงค์ในการซ้อมลักษณะนี้อยู่ดี

วัตถุประสงค์ที่อาจารย์เป้ต้องการมันเหนือกว่านี้ นั้นคือเรื่องของท่าต้องลงตัวในทุกรายละเอียด ไหล่ซ้ายผมยังหมุนไม่เต็ม และที่หมุนไม่เต็มก็เป็นเพราะการย่อตัวยังไม่ถึง การย่อตัวที่ไม่ถึงจุดทำให้สะโพกไม่รับกับหุ่น แล้วมือที่โอบเอวยังทำงานน้อยมาก สรุปคือเริ่มต้นรื้อแล้วสร้างใหม่ครับ

หลักการเข้าท่าและหลักการย่อ ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนผม(ชื่อแจ็ค วะนนี้ก็มาซ้อมครับแต่ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียดตรงนี้ซักเท่าไหร่)ที่ถนัดในท่าโอโกชิ ผมเคยแปลกใจว่าทำไมแจ็คสามารถใช้โอโกชิทุ่มได้เป็นปกติ ทั้งๆที่ตัวผอมๆเอง นั้นเพราะการย่อของแจ็คน่าจะไปถึงจุดที่เหมาะสมกับเรื่องของแรงสำหรับท่าโอโกชิ

รันโดริวันนี้ได้รับการอนุเคราะห์จากครูบอมที่ดูแลเบาะ โดยการส่งน้องๆมารุมยำ ก็เป็นการซ้อมปกติทั่วๆไป ที่ไม่ปกติคือคู่ซ้อมคนนึง มาจากสายมวยไทย (ไชยาด้วยมั้ง) ผมรู้สึกว่าการก้าวเดินและการย่ำเท้า ยังไงเป็นสไตล์มวยไทยแน่ๆ การเดินเท้าลักษณะนี้แตกต่างกับของยูโด แต่ความมั่นคง ความสมดุลย์ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียว ผมไม่เคยซ้อมมวยไทยมาก่อนเลยไม่รู้ลึกตื้นหนาบาง แต่การเดินเท้าลักษณะที่ผมเจอรู้สึกได้ถึงการป้องกันที่ดีพอสมควร แต่การเดินลักษณะนี้ก็ถือว่ามีจุดอ่อนในทางยูโด นั้นคือคนเดินจะออกท่ายูโดมาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เรียกว่าพลังป้องกันสูงแต่การจู่โจมในลักษณะยูโดจะต่ำไปนิด

ช่วงสุดท้ายของการซ้อม เป็นการดูน้องๆรันโดริ และจากการดูก็มีสิ่งที่น่าสนใจอย่างนึง นั้นคือวิธีป้องกันและหลบหนีจากการถูกเชือด (ชิเมะ) หลักการนี้ง่ายจนทุกคนลืมที่จะใช้ (ถ้าใช้จริงต้องซ้อมก่อนมันถึงจะเป็นเรื่องง่าย) อีกครั้งกับท่าที่ดูเหมือนจะตรงข้ามกับท่าที่ผมเรียนมา แต่ลึกๆแล้วมันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตอนถูกเชือดลักษณะที่ผมอยู่ด้านหน้า ผมจะเก็บคอดันศอกคู่ซ้อมให้มันหลวมก่อนจะหันหน้าไปทางศอกคู่ซ้อมและหนีออกทางนั้น แต่ดารเชือดของวันนี้มันเป็นด้านข้างค่อนไปทางหลัง วิธีของอาจารย์เป้ง่ายกว่าเยอะคือเรื่องของการหมุนคอหลบแขนออกมา ไม่หลบเปล่านะครับ เอาแขนคู่ซ้อมมาหักต่อซะด้วย

วันนี้ผมทำผิดไปเรื่องนึง คือตอนที่เป็นหุ่นเข้าท่าผมดันไปคิดว่า ถ้าผ่อนแรงต้านช่วงท้องน้อยออกจะทำให้คู่ซ้อมเข้าท่าง่ายขึ้น แต่มันผิดครับ ผิดมากด้วย เพราะทำให้ตัวงอลงน้องคนที่เข้าท่ามาจะลำบากกว่าเดิม (เคยบอกน้องๆที่อื่นมาหลายครั้งว่าเป็นหุ่นอย่างอตัว แต่ดันทำซะเอง แย่จริงๆ) แต่ก็ไม่รอดสายตาของอาจารย์ ช่วยแก้ไขให้กลับมาถูกต้องทั้งในเรื่องของท่าและทัศนคติเรื่องการออกแรงต้านตอนเป็นอุเกะ




 

Create Date : 28 มิถุนายน 2558
0 comments
Last Update : 28 มิถุนายน 2558 23:34:39 น.
Counter : 1002 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.