ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
28 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

ธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

พุทธการกธรรม
ธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 005273 – โดยคุณ : mayrin [ 20 พ.ค. 2545 ]
เนื้อความ :
อัฏฐธรรมสโมธาน
ความถึงพร้อมด้วยธรรม ๘ ประการ
พระโพธิ์สัตว์คือ ผู้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนานี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น สิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ คือ การได้รับพุทธพยากรณ์ ในชาติที่พระโพธิ์สัตว์จะได้รับพุทธพยากรณ์ (ครั้งแรก) นั้น นอกจากจะต้องบำเพ็ญบารมีมามากพอแล้ว ในชาตินั้นยังจะต้องถึงพร้อมด้วยธรรม ๘ ประการคือ
๑. เกิดเป็นมนุษย์
๒. เกิดเป็นชาย
๓. สามารถสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินั้น
๔. ได้พบพระพุทธเจ้า
๕. ได้ออกบวช
๖. สมบูรณ์ด้วยสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕
๗. ยอมสละชีวิตตนเพื่อพระพุทธเจ้าได้
๘. มีฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ แสวงหาอย่างใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่พุทธการกธรรมทั้งหลาย
พุทธการกธรรม
พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ หลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์ ครั้งแรกว่า ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แท้ในอนาคต แล้วก็จะพิจารณา พุทธการธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) ซึ่งพระโพธิ์สัตว์องค์ก่อนๆ ได้บำเพ็ญมาแล้ว ว่ามีอะไรบ้าง และจะต้องบำเพ็ญหรือปฏิบัติต่อข้อธรรมแต่ละข้ออย่างไร
พระโพธิ์สัตว์จะพิจารณาพุทธการกธรรมทีละข้อ ๆ เมื่อพิจารณาจบแต่ละข้อ ก็จะหาต่อไปว่า ยังมีธรรมข้ออื่นที่ต้องบำเพ็ญอีกหรือไม่ ถ้าพบว่ายังมีอีก ก็จะพิจารณาต่อไปอีก จนครบทั้งหมด ๑๐ ข้อ ซึ่งก็คือ บารมี ๑๐ หรือ ทศบารมี นั่นเอง
พุทธการธรรมที่พระโพธิสัตว์พิจารณา และเห็นว่าเป็นธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า มีดังนี้
๑. ทานบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญทานบารมี เหมือนอย่าง หม้อน้ำที่มีน้ำเต็มแล้วคว่ำลง หม้อน้ำนี้ย่อมคายน้ำออกจนหมดสิ้นฉันใด เราก็พึงให้ทานแก่ยาจก โดยไม่มีส่วนเหลือฉันนั้น
๒. ศีลบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญศีลบารมี เหมือนอย่าง จามรี ชื่อว่าจามรีย่อมไม่อาลัยแม้ชีวิต รักษาพวงหางของตนฉันใด เราก็พึงรักษาศีล โดยไม่อาลัยแม้ชีวิตฉันนั้น
๓. เนกขัมมบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไปเราพึงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เหมือนอย่าง นักโทษ ที่ถูกขังและได้รับทุกข์ทรมานในเรือนจำเป็นเวลานาน เขาผู้นั้นย่อมไม่อยากอยู่ในเรือนจำ ต้องการพ้นออกไปฉันใด เราก็พึงเห็นภพทั้งปวงเป็นเสมือนเรือนจำ อยากพ้นไปจากภพทั้งปวงด้วยการมุ่งสู่เนกขัมมะฉันนั้น
๔. ปัญญาบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญปัญญาบารมี เหมือนอย่าง พระภิกษุ พระภิกษุเมื่อออกบิณฑบาตโดยไม่เลือกตระกูลว่าจะมีฐานะสูง ต่ำ หรือปานกลาง ย่อมได้อาหารเพียงพอแก่อัตภาพฉันใด เราก็พึงเข้าไปหาบัณฑิตทุกท่าน เพื่อถามปัญหาฉันนั้น
๕. วิริยะบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญวิริยะบารมี เหมือนอย่าง พญาราชสีห์ ชื่อว่าพญาราชสีห์ย่อมมีความเพียร ไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถทุกเมื่อฉันใด เราก็พึงมีความเพียรอันมั่นคงในภพทั้งปวงฉันนั้น
๖. ขันติบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญขันติบารมี เหมือนอย่าง แผ่นดิน ชื่อว่าแผ่นดินย่อมทนได้ต่อสิ่งของที่มีผู้ทิ้งลงไป ไม่ว่าจะสะอาดหรือสกปรกฉันใด เราก็พึงเป็นผู้อดทนต่อการยกย่องและการดูหมิ่นของคนทั้งปวงได้ฉันนั้น
๗. สัจจบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญสัจจบารมีเหมือนอย่าง ดาวประกายพรึก ชื่อว่าดาวประกายพรึกย่อมไม่หลีกออกไปทางอื่น โคจรอยู่เฉพาะในทางของตนฉันใด เราก็พึงไม่ก้าวล่วงจากวิถีในสัจจะ พูดแต่ความจริงฉันนั้น
๘. อธิษฐานบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไปเราพึงบำเพ็ญอธิฐานบารมี เหมือนอย่าง ภูผาหิน ชื่อว่า ภูผาหินย่อมตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลมฉันใด เราก็จงเป็นผู้ตั้งมั่นไม่คลอนแคลนในอธิฐานบารมีฉันนั้น
๙. เมตตาบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญบารมี เหมือนอย่าง น้ำ ชื่อว่าน้ำย่อมทำให้รู้สึกและชำระฝุ่นผงทั้งแก่คนดีและคนไม่ดีเสมอกันฉันใด เราก็พึงแผ่เมตตาทั้งแก่คนที่ทำประโยชน์และคนที่ไม่ได้ทำประโยชน์เสมอกันฉันนั้น
๑๐. อุเบกขาบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไปเราพึงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี เหมือนอย่าง แผ่นดิน ชื่อว่าแผ่นดินย่อมวางเฉย ไม่รู้สึกยินดียินร้ายต่อสิ่งของที่มีผู้ทิ้งลงไป ไม่ว่าจะสะอาดหรือไม่สะอาดฉันใด เราก็พึงเป็นผู้วางเฉย มีใจเสมอกันทั้งในความสุขและความทุกข์ฉันนั้น
เมื่อพิจารณาจนเห็นพุทธการกธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าธรรมทั้งหลายที่พระโพธิสัตว์องค์ก่อนๆ ได้บำเพ็ญ มาแล้ว เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้ามีเพียงเท่านี้ ไม่มีข้ออื่นอีก และธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีอยู่แม้ในอากาศหรือในทิศใดๆ เลย
"แต่ว่าตั้งอยู่ในใจของเราเท่านั้น เราพึงตั้งใจมั่นในบารมีเหล่านี้ทั้งหมด""
พระโพธิ์สัตว์จะพิจารณาพุทธการกธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้ทั้งอนุโลมและปฏิโลม คือจากต้นไปยังปลาย และจากปลายย้อนกลับมายังต้น เมื่อพระโพธิสัตว์พิจารณาอยู่อย่างนี้อยู่หลายรอบ แผ่นดินก็ไหว เกิดเสียงกัมปนาท
มนุษย์และเทวดาที่อยู่ในที่นั้น ต่างพากันมาบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยดอกไม้ และของหอม เป็นต้น กล่าวสดุดีพระโพธิ์สัตว์ว่า "วันนี้ท่านปรารถนา ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ ขอความปรารถนานั้นจงสำเร็จแก่ท่าน"
มหาวิโลกนะ
มหาวิโลกนะ "การตรวจดูอันยิ่งใหญ่" ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดู ก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลก ไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ
๑. กาล คือ อายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี)
๒. ทีปะ คือ ทวีป จะอุบัติแต่ในชมพูทวีป
๓. เทสะ คือประเทศ หมายถึงดินแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศและทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงเกิด
๔. กุละ คือ ตะกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุล หรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่า เวลานั้นโลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา
๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือ มารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือน ไปได้ ๗ วัน
(สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)
(จากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๒๒๓ - ๒๒๔)
* หมายเหตุ พุทธบิดาและพุทธมารดาในข้อ ๔ และข้อ ๕ หมายถึงพุทธบิดาและพุทธมารดาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ถ้าเป็นของพระพุทธเจ้าองค์อื่น จะมีชื่อและตระกูลต่างกัน
มหาสุบิน
มหาสุบิน ความฝันอันยิ่งใหญ่ ความฝันครั้งสำคัญ หมายถึง ความฝัน ๕ เรื่อง (ปัญจมหาสุบิน) ของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระอรรถกถาจารย์ระบุว่า ทรงพระสุบินในคืนก่อนตรัสรู้ คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ) ดังตรัสไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระสุตตันตปิฏก ใจความว่า
๑. เสด็จบรรทม โดยมีมหาปฐพีนี้เป็นพระแท่นไสยาสน์ ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย พระหัตถ์ซ้ายเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านปัจฉิมทิศ พระบาททั้งสองเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทักษิณ (ข้อนี้เป็นบุพนิมิตหมายถึง การได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่า
๒. มีหญ้าคางอกขึ้นจากนาภีของพระองค์สูงขึ้นจดท้องฟ้า(หมายถึง การที่ได้ตรัสรู้อารยอัฏฏาคิกมรรค แล้วทรงประกาศออกไปถึงมวลมนุษย์และหมูเทพ)
๓. หมู่หนอนตัวขาวศีรษะดำพากันไต่ขึ้นมาจากพระบาทคลุมเต็มถึงชานุมณฑล(หมายถึง การที่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์มากมายพากันถึงตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต)๔. นกทั้งหลายสี่จำพวกมีสีต่างๆ กัน บินมาแต่ทิศทั้งสี่ แล้วมาหมอบจับที่เบื้องพระบาท กลับกลายเป็นสีขาวไปหมดสิ้น
(หมายถึง การที่ชนทั้งสี่วรรณะมาออกบวชรวมกันในพระธรรมวินัย และได้ประจักษ์แจ้งวิมุตติธรรม)
๕. เสด็จดำเนินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ แต่ไม่ทรงแปดเปื้อนด้วยคูถ (หมายถึง การทรงเจริญลาภในปัจจัยสี่พรั่งพร้อม แต่ไม่ทรงลุ่มหลง ติดพัน ทรงบริโภคด้วยพระปัญญาที่ดำรงจิตปลอดโปร่งอิสระ)
(จากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๒๒๕ - ๒๒๖)
พุทธกิจประจำวัน ๕
พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวันมี ๕ อย่างคือ
๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแต่เหล่าภิกษุ
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปณฺหนํ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจุสฺเสว คเตกาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ จวนสว่างทรงตรวจพิจาณาสัตว์ที่สามารถ และที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่
สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการนี้ให้หมดจด
(จากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๑๘๙ - ๑๙๐)
พุทธจริยา
พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้ามี ๓ คือ
๑. โลกัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก
๒. ญาตัตถจิรยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ
๓. พุทธัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า
(จากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๑๙๑)
คำอธิบายเพิ่มเติม
โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลังตลอดกาลนาน (หน้า ๒๖๐)
ญาตัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระญาติ ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาติ เช่น ทรงอนุญาตให้พระญาติที่เป็นเดียรถีย์เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนเดียรถีย์อื่น และเสด็จไปห้ามพระญาติที่วิวาทกันด้วยเรื่องน้ำ เป็นต้น (หน้า ๖๒)
พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่น ทรงแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ และบัญญัติวินัยขึ้นบริหารหมู่คณะ ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน มาตราบเท่าทุกวันนี้ (หน้า ๑๙๔)
พุทธปรินิพาน ๓
การปรินิพานของพระพุทธเจ้าอาจนับว่ามี ๓ อย่างคือ
๑. กิเลสปรินิพาน หมายถึง การดับสิ้นแห่งกิเลสในคราวที่ทรงตรัสรู้ ณ โพธิบัลลังก์
๒. ขันธปรินิพพาน หมายถึง การดับสิ้นแห่งขันธ์ในคราวที่ทรงปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
๓. ธาตุปรินิพพาน หมายถึง การดับสิ้นแห่งพระธาตุทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะมีขึ้นในคราวที่ ศาสนาสูญสิ้น
พระธาตุทั้งหลายของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะในนาคพิภพ หรือบนพรหมโลก เป็นต้น จะมารวมกันและไปสู่โพธิบัลลังก์ เมื่อไปถึง ก็จะเปล่งฉัพพรรณรังสีออกมา แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ
เทวดาทั้งหลายจักประชุมกันแล้วกล่าวว่า "นี้เป็นการได้เห็นครั้งสุดท้ายของเราทั้งหลายในบัดนี้" จากนั้น เตโชธาตุในบรรดาพระธาตุเหล่านั้น ก็จักลุกโพลงเผาพระธาตุจนหมดสิ้น ไม่เหลือแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด นับแต่นี้ไป ชื่อว่า "ศาสนาได้อันตรธานแล้ว"
**********************************
คัดลอกจาก: ธรรมะเพื่อชีวิตเล่มที่ ๓๒ ฉบับวันวิสาขบูชา ๒๕๔๕




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2554
0 comments
Last Update : 28 สิงหาคม 2554 21:39:35 น.
Counter : 1174 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.