ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2564
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
28 มิถุนายน 2564
 
All Blogs
 
พระมานุษิโพธิสัตว์

รูปศิลปะแห่ง “พระมานุษิโพธิสัตว์” ปุถุชนผู้บรรลุสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ในพุทธมัณฑละ
 
พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (Mahāyāna Buddhism) ได้มีการจัดระดับพระพุทธเจ้าออกเป็น 3 พุทธภาวะ เรียกว่า “ตรีกาย” (Tri-kāya) โดยมี พุทะภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) มี “พระอาทิพุทธ/พระวัชรสัตว์/พระมหาไวโรจนะ” ( Ādi/Vajrasattva /Mahāvairocana) เป็นพระพุทธเจ้าในภาวะสูงสุดแห่งพุทธะ เป็นผู้ให้กำเนิด-สั่งสอนเหล่าพระพุทธเจ้าและตถาคตทั้งมวล กำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่างประดุจเปลวเพลิง ไม่เห็นเบื้องต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหาปัญญาอันสูงสุด เป็นองค์ปฐมมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง ที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “องค์ปฐม” นั่นเอง
.
*** พุทธภาวะระดับรองลงมาคือ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) มีพระพุทธเจ้าชินพุทธะ(ผู้ชนะ) 5 พระองค์ “ปัญจสุคต/ปัญจชินะ/ศรีฆณะ” (Paῆca Sugatā /Paῆca jina/ Śrīghana Buddhas) หรือ “พระธยานิพุทธเจ้า/ฌานิพุทธเจ้า” (Dhyāni Buddha) เป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ในจักรวาล ตามคติ “วัชรธาตุ” ประกอบด้วย อากาศ ดิน น้ำ ลม ไฟ และเป็นตัวแทนของขันธ์ 5 แห่งมนุษย์ ประกอบด้วย “พระไวโรจนะ” (ผู้รุ่งโรจน์) ประจำทิศเบื้องบน แทนความหมายของ “รูปะ” “พระอักโษภยะ” (ผู้ไม่หวั่นไหว) ประจำทิศตะวันออก แทน “วิญญาณ” ,“พระอมิตาภะ” (ผู้มีแสงสว่างเป็นนิรันดร) ประจำทิศตะวันตก แทน “สัญญา” ,“พระรัตนสัมภวะ” (ผู้เกิดจากรัตนะ) ประจำทิศใต้ แทน “เวทนา” และ “พระอโมฆสิทธิ” (ผู้สำเร็จโดยไม่พลาด) แทนขันธ์ “สังขาร”ครับ
.
แต่ละพระชินะพุทธะ/ปัญจสุคต ทั้ง 5 พระองค์ ก็จะแบ่งภาคมาเป็น “พระฌานิโพธิสัตว์” (Celestial - Bodhisattva) ประจำแต่ละพระองค์ เพื่อลงมาช่วยเหลือมวลมนุษย์ โดยพระไวโรจนะพุทธเจ้าประทับอยู่ทิศกลาง จะแบ่งภาคเป็น “พระโพธิสัตว์สมัตรภัทร”(Samantabhadra) ,พระอักโษภยะ (ตะวันออก)-“พระโพธิสัตว์วัชรปาณี” (Vajrapāṇi) ,พระอมิตาภะพุทธเจ้า (ตะวันตก)-“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (Avalokiteśvara), พระรัตนสัมภาวะพุทธเจ้า (ทิศใต้)-“พระโพธิสัตว์รัตนปาณี” (Ratnapāṇi) และพระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า (ทิศเหนือ)–“พระโพธิสัตว์วิศวปาณี” (Viśvapāṇi)
.
ในลัทธิมหายาน /นิกายสุขภาวดี (Sukhāvatī) ที่กำเนิดขึ้นในราชวงศ์จิ้นตะวันออก ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 มีคติความนิยมเฉพาะพระอมิตาภะพุทธเจ้า ได้สร้างวรรณกรรมให้มี “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” (กวนซีอิม/Avalokiteśvara) เป็นพระชิโนรสองค์แรก ถือหม้อน้ำอมฤตประทับอยู่ด้านขวา และ “พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะ” (ไต้ซีจู๊ พู่สะ/Mahāsthāmaprāpta) พระชิโนรสองค์ที่สอง เป็นผู้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวงอยู่ทางด้านขวาครับ
.
*** พุทธภาวะระดับล่างสุดคือ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หมายถึง “รูปกาย” หรือกายมนุษย์ (กายเนื้อ) เป็นพุทธสภาวะของเหล่าพระตถาคต/พระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้และสั่งสอนเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงกฎแห่งไตรลักษณ์ ความไม่จีรังยั่งยืนของสังขาร การเกิด แก่ เจ็บตาย แก่เหล่าสรรพสัตว์บนโลก เป็นตัวแทนเพื่อการสั่งสอนพระธรรมจักรของพระพุทธเจ้าเจ้าในระดับธรรมกายและระดับสัมโภคกายที่ลงมาปรากฏตัวในร่างมนุษย์บนโลก โดยมี “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) /พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ (Siddhartha) คือพระพุทธเจ้ากายเนื้อของพระอาทิพุทธ/วัชรสัตว์/มหาไวโรจนะ ทั้งยังมี เหล่าพระพุทธเจ้า-ตถาคตกายเนื้อ ที่ได้ตรัสรู้แล้ว เรียกว่า “พระมานุษิพุทธเจ้า” (Mortal Buddhas) อีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ประทับใน “จักวาลแห่งมัณฑละ” (Maṇḍalā Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) ที่มีการจัดระดับและมีพระฌานิพุทธเจ้า/ชินพุทธะ ทั้ง 5 เป็นประธานในแต่ละทิศของจักรวาล
.
--------------------------------------
ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 พุทธศาสนามหายานในอินเดียเหนือ-ตะวันออกได้พัฒนามาเป็น “พุทธศาสนาตันตระยาน” (Tantric Buddhism ) ที่ประกอบด้วยนิกายมันตรยาน นิกายสหัชรยาน นิกายกาลจักร โดยในนิกาย “วัชรยาน” (Vajrayāna Buddhism) เป็นนิกายที่มีการจัดลำดับพุทธเทวะ สร้างวรรณกรรมอธิบายอำนาจ/อานุภาพและการจัดมัณฑละของพระอาทิพุทธ พระฌานิพุทธ/ชินพุทธะ พระโพธิสัตว์ทั้งเพศบุรุษและพลังศักติ (Goddess Śakti – พลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเพศหญิง Divine feminine power) และยิดัม (Yi-Dam The Guardian) ผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา ขึ้นอีกอย่างมากมาย เกิดพระมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงอานุภาพทั้ง 8 (ทิศทั้ง 8 ผู้นำพระมานุษิโพธิสัตว์ในแต่ละทิศมัณฑละ) ที่เรียกว่า “อัษฏมหาโพธิสัตว์” (Aṣṭamahābodhisatava) ประกอบด้วย “พระสมันตภัทระโพธิสัตว์”“พระกษิติครรภะโพธิสัตว์” (Kṣitigarbha) “พระวัชรปาณีโพธิสัตว์”“พระมัญชุศรีโพธิสัตว์” (Mañjūsrī) “พระอากาศครรภะโพธิสัตว์”(Ākāśagarbha) “พระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์”(Sarvanivaraṇaviṣkambhin) “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร”และ“พระไมเตรยะโพธิสัตว์” (Maitreya) ครับ 
.
*** กำหนดพระโพธิสัตว์ในภาคดุร้าย อย่าง “พระหริหริหริวาหนะ” (Harihariharivāhana Avalokiteśvara) หรือ “พระยมาตกะ” (Yamāntaka)
.
*** กำหนด “ยิดัมเพศบุรุษ” เช่น “พระเหวัชระ” (Hevajra) “พระไตรโลกยวิชัย” (Trailokyavijaya) “พระจักระสังวระ”(Cakrasaṃvara) “พระมหามายา” (Mahāmāyā) “พระคุหยสมาช” (Guhyasamāja) “พระชัมภล” (Śambala) “กาลจักร” (Kālacakra) “พระธรรมบาลทั้ง 8/ อัษฎาเสน" (Dhammapāla/Astasena) 
.
*** กำหนด “ศักติยิดัม/สตรี” อย่าง “นางหาริตี” (Hārītī) “พระนางวัชระวราหิ/พระโพธิสัตว์มริจี” (Vajravārāhī -Marici Bodhisattva) “นางโยคิณี” (Yogini) /นางฑากิณี (Dakini) ประจำสายตระกูลพระฌานิพุทธเจ้า 5 พระองค์ ประกอบด้วย “พุทธฑากิณี” (Buddhaḍākinī) “วัชรฑากิณี” (สุขสิทถี Sukhasiddhi- Vajraḍākinī ) “รัตนฑากิณี” (Ratnaḍākinī ) “ปัทมฑากิณี” (Padmaḍākinī) “กรรมฑากิณี” (Karmaḍākinī ) รูปลักษณ์ในภาคดุร้ายคือ “สรวพุทธฑากิณี (Sarva Buddha Dakini) สิงหวักตรา(Simhavaktra) มกรวักตรา (Makaravaktra) วัชรวราหิ (Vajravārāhī)” และมีนางฑากิณีประจำฤดูกาล อีก 4 องค์คือ “วสันตเทวี คิมหันตเทวี ศรัทเทวี และเหมันตเทวี” และ “นางฑากิณี” 8 องค์ มเหสีของพระธรรมบาล
.
*** “อิตถีโพธิสัตว์” อย่าง “พระศรี/วสุธารา” (Śrī/Vasudhārā) “ปัญจรักษาทั้ง 5” (Pañcarakṣā) ประจำพระฌานิพุทธเจ้าประกอบด้วย "มหาสาหัสรประมารทินี" (Mahāsāhasrapramardanī ) “มหามนตรานุสารินี” (Mahāmantrāṇusāraṇī) “มหาศีตวดี” (Mahāśītavatī) “มหามายุรี” (Mahāmāyūrī) “มหาประติสรา” (Mahāpratisarā) หรือ “เทวีตารา” (Tara) พระแม่แห่งการหลุดพ้น 21 ลักษณะครับ
.
*** กำหนดรูปบุคคลาธิษฐานแห่งพระสูตร/คาถาธารณีเทวีแห่งมนตรา (Dhāraṇī /Spells) ในรูปพระเทวีศักติอย่าง “มนตราจุณฑาธาริณี/พระนางจุณฑาอิตถีโพธิสัตว์” (Chunda) “คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร/พระนางปรัชญาปารมิตา (Prajñāpāramitā) “พระสูตรมหาปฺรติสรา-วิทฺยาราชฺญี/เทวีมหาประติสราอิตถีโพธิสัตว์” (Mahāpratisarā) 
.
*** ในนิกายตันตระยังเกิดความนิยมในคติ “ลัทธิโลเกศวร” บูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้เมตตาในรูปของมูรติทั้ง 8 แห่งพระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงอานุภาพบารมี “พระมหาโพธิสัตว์เอกาทศมุข มหากรุณิกะโลเกศวร/พระโพธิสัตว์อารยาวโลกิเตศวร” (Ekadashamukha Mahakarunika Lokeshvara) ครับ
.
----------------------------
*** ในพุทธภาวะนิรมาณกาย (กายเนื้อ) ของฝ่ายมหายาน/วัชรยานตันตระ ได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ปุถุชนที่ไม่ใช่นักบวช สามารถบำเพ็ญโพธิญาณกุศลบารมีตามความประสงค์ เพื่อการบรรลุสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์หรือ “พระมานุษิโพธิสัตว์” (Mortal Bodhisattva) ได้ด้วยตนเอง หากได้บำเพ็ญโพธิสัตว์บารมี 10 ประการ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยา ปัญญา ญาณ ปณิธาน อุบายะ พละ ชญาณ จนบรลุรู้ความแจ้ง ก็จะมีอำนาจบารมีเฉกเช่นเหล่าพระโพธิสัตว์บนแดนสวรรค์มัณฑละ/พุทธเกษตร แต่อำนาจบารมีนั้น เหล่าพระมานุษิโพธิสัตว์จะต้องตั้งปณิธานไว้อย่างชัดเจนว่า จะแสวงหาเพื่อช่วยเหลือมวลสรรพสัตว์โลกให้รอดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง อย่างไม่มีที่สิ้นสุดในสังสารวัฏฏ์ ไม่อาลัยในความทุกข์ของตน อาลัยแต่ความทุกข์เข็ญของหมู่สัตว์ ไม่แสวงหากุศลบารมีเพื่อการเข้าสู่พระนิพพานของตนเอง 
.
*** อิทธิพลพุทธศาสนาแบบวัชรยานตันตระแบบราชวงศ์ปาละในอินเดียตะวันออกและชวาเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะในช่วงสมัยจักรวรรดิบายน(Bayon Empire) ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ที่คติวัชรยานได้รับความนิยมจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และราชสำนักกัมพุชะเทศะ ได้มีการสร้างรูปประติมากรรมแบบต่าง ๆ ตามคติวัชรยานตันตระที่แฝงเร้นด้วยพระพักตร์ปริศนาแห่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นอย่างมากมายทั่วจักรวรรดิครับ
.
รูปศิลปะแห่งมนุษย์ปุถุชนผู้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ ปฏิบัติโพธิญาณบารมีจนบรรลุเป็นพระมานุษิโพธิสัตว์แล้วในพุทธเกษตร ได้ถูกสร้างขึ้นในรูปของพระโพธิสัตว์ในรูปตันตระ 4 กร (รูปอภินิหารแห่งอานุภาพบารมี) ไม่มีรูปพระอมิตาภะที่ด้านหน้ามวยพระเกศาแตกต่างไปจากรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถือ “อักษมาลา-ลูกปะคำของนักบวช” (Rudraksha Mala) ในความหมายของผู้ปฏิบัติโพธิญาณบารมี “หม้ออมฤตกุมภ์” (กมัลฑลุ/Amritakumbha) ในความหมายของผู้บำเพ็ญบารมี (นักบวช) “คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” หัวใจแห่งการหลุดพ้นสู่โพธิญาณ และการแสดงวิตรรกะมุทรา (Vitarka mudra-แบบหงายพระหัตถ์) ในความหมายของการสอน (ให้/ความช่วยเหลือสู่การปฏิบัติโพธิญาณบารมีแก่มนุษย์) มีรูปกลมของดอกไม้บูชา หรือดอกบัวบูชาที่กลางพระหัตถ์
.
รูปศิลปะของพระมานุษิโพธิสัตว์ ปรากฏเป็นภาพสลักประดับผนังปราสาทและปราสาทบริวารชั้นบนสุดของปราสาทบายนหลายจุด แต่ได้ถูกขูดสกัดลบทำลายหรือดัดแปลงเป็นรูปฤๅษี คงเหลือรอดอยู่เพียงปราสาทบริวารหลังทิศใต้มุมตะวันตกเท่านั้น คงด้วยเพราะอาจมีความคล้ายคลึงกับรูปพระวิษณุ 4 กรครับ
.
รูปพระมานุษิพุทธเจ้ายังพบเป็นภาพสลักเรียงรายที่ผนังใต้คิ้วบัวใต้หลังคาของระเบียงคดชั้นนอก ปราสาทบันทายฉมาร์ ที่ได้แสดงความหมายถึงว่า พระมานุษิโพธิสัตว์ที่มาจากมนุษย์นั้นสามารถกำเนิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีอยู่อย่างมากมายเป็นเอนกอนันต์มาแล้วในพุทธเกษตร
.
*** ส่วนรูปประติมากรรมพระมานุษิโพธิสตว์แบบลอยตัว นิยมสลักรูปนั่งมีแผ่นหลังประภาวลี (Altarpiece) ยอดเป็นหน้าบันซุ้มบัญชร ไม่มีลวดลาย มีเดือยด้านล่างเข้าเพื่อสอดยึดเข้ากับรูฐานสนานโทรณี (Snāṇadroṇī) จะพบในปราสาทหินที่สร้างขึ้นในคติวัชรยานตันตระในยุคจักรวรรดิบายนทุกหลังและเป็นงานอุทิศในปราสาทใหญ่ยุคก่อนหน้า แต่ก็ปรากฏร่องรอยการทุบทำลายไปเสียมาก
.
 รูปประติมากรรมพระมานุษิพุทธเจ้ามีแผ่นหลังประภาวลี ยังพบจำนวน 1 องค์ ในปราสาทแบบอาโรคยศาลา (ĀrogyaŚālā) หรือปราสาทสุคตาลัย/วิหารพระสุคตแห่งโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยจะตั้งอยู่บริเวณมุขหน้าติดผนังฝั่งทิศเหนือของตัวปราสาทประธาน อาจเพื่อความหมายเพื่อการเตือนสติให้ผู้เจ็บปวดทั้งทางกายและใจที่เข้ามาสวดสาธนา (Sādhanas) ในมนตราธาริณีบทต่าง ๆ แห่งพระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภา ได้ตั้งใจปฏิบัติโพธิญาณบารมี อันเป็นอีกหนึ่งหนทางสู่การพ้นทุกข์ (จากโรคร้าย) ไปพร้อมกันในคราวเดียวครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy



Create Date : 28 มิถุนายน 2564
Last Update : 28 มิถุนายน 2564 16:21:12 น. 0 comments
Counter : 1134 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.