ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 กันยายน 2563
 
All Blogs
 

ไหว้แม่โพสพ

สตรีสูงศักดิ์ ถือ “กระทงดอกไม้” ในท่ามกลางบริบทของสายน้ำ ที่พบใหม่จากปราสาทบันทายฉมาร์
ถึงแม้ว่าจะปรากฏหลักฐานของรูปสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงระเบียงชั้นนอกสุดฝั่งตะวันตก ของคูหาห้องมณฑปมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทบายน เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ที่แสดงภาพขบวนเรือในการเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค ที่มีภาพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บนบัลลังก์ (ยังไม่ได้สลัก คงเห็นเพียงลายเส้นและหัวนาคประกอบพระแท่นที่ประทับ) กลางเรือพระที่นั่ง พระนางราเชนทรเทวี (ชยราชเทวี) พระนางอินทรเทวี และเชื้อพระวงศ์ ผู้คนชนชั้นสูงพร้อมข้าราชบริพาร รวมทั้ง ภาพของสตรีชั้นสูงสวมเทริดประดับศีรษะที่กำลังแสดงการนมัสการ/อัญชลี ในท่าทางแสดงการอธิษฐาน-ขอพร  ในมือถือเครื่องกระทงประดิษฐ์รูปดอกบัว(Lotus Form) ตามแบบจีน มาใช้เป็นเครื่องบูชาในพิธีกรรมเพื่อการบูชาแม่น้ำและความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงฤดูน้ำหลาก พร้อมกับการจัดขบวนพยุหยาตราเพื่อการลอยพระประทีปด้วยเรือเป็นประเพณีหลวงของราชสำนัก ประกอบภาพชาวประมงจับปลาที่มาร่วมแสดงความเคารพ  ตามภาพรวมของเรื่องราวจากภาพสลักบนผนังภาพขบวนเรือที่ต่อเนื่องกัน   
.
แต่กระนั้นก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ที่มักจะเอามานำเสนอกัน แสดงความเห็นต่างมุมมองในช่วงของประเพณีลอยกระทงของทุกปี ที่บ้างก็ (มโน) สันนิษฐานว่า สิ่งที่สตรีสวมเทริดถืออยู่นั้น ไม่ใช่กระทงหรอกนะ แต่เป็นรูปศิลปะของ “ปลาย่างเสียบไม้” บ้างก็ว่าไม่มีรูปสลักกระทงลอยอยู่ในน้ำให้เห็น จึงไม่ใช่การลอยกระทงลงน้ำ บ้างก็ว่าเป็นการไหว้ต้นข้าว (แม่โพสพ) เพราะเห็นสัตว์มีหางตัวยาวตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่ต้นไม้ จึงตีขลุมว่าเป็นหนู และยกต้นไม้ในภาพก็คือต้นข้าว โดยไม่ได้พิจารณาภาพของต้นไม้ที่สลักไว้ว่า “ไม่ได้เหมือนกันทุกต้น” นะครับ 
.
ทั้งยังมีภาพของต้นไม้แบบเดียวในผนังต่อเนื่องของกลุ่มภาพขบวนเรือ ที่มีสัตว์ชนิดอื่นประกอบ ทั้งกวาง กระต่าย ภาพเสือกำลังไล่คน (ที่ไม่น่าจะมาไล่กันนาข้าว) ภาพสลักส่วนเชิงของผนังทั้ง 4 ในเรื่องขบวนเรือเดียวกัน จึงเป็นภาพของป่าชายน้ำและแม่น้ำ (ที่มีภาพสลักปลาและนกจำนวนมาก) มากกว่าจะเป็นจะเป็นภาพของทุ่งข้าว ให้มาไหว้แม่โพสพ ที่ก็ไม่ควรมีภาพคนหาปลาและสัตว์ป่ามาเกี่ยวข้องกัน (อีกนั่นแหละ) 
.
เมื่อได้เห็นภาพโดยรวมของภาพสลักเชิงผนังที่ต่อเนื่องกัน แล้วจะคิดมโนตีความว่าเป็นอะไร ก็คงเรื่องของ “ความเชื่อ” ของแต่ละบุคคล คงบังคับให้เชื่อกันไม่ได้แล้วครับ
.
ภาพสลักเชิงผนังที่ปราสาทบายน ได้แสดงรูปศิลปะของสตรีสวมเทริด ที่ควรหมายถึงสตรีสูงศักดิ์จากราชสำนัก ตัวแทนของกษัตริย์ในฐานะ “นางขวัญ”  ตัวแทนของแผ่นดิน (ข้าราชบริพารนางในตามปกติไม่สวมเทริดประดับศีรษะ ดังตัวอย่างภาพนางกำนัลบนเรือที่เห็นได้ในผนังภาพเดียวกัน) จำนวน 6 คน นั่งอยู่ริมตลิ่ง  กำลังประกอบพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับภาพขบวนเรือด้านบน โดยมีภาพของนกกินปลาปากแหลม อย่าง นกกระสา นกกระยาง นกกาน้ำ เกาะอยู่บนต้นไม้พุ่มเตี้ย (ไม้ริมน้ำ) หลายตัว ภาพของเสือปลา (ที่ถูกมองเป็นหนู) ภาพของฝูงปลานานาชนิด และภาพคนหาปลาที่ล้วนแต่เป็นบริบทที่แสดงความเป็นริมฝั่งน้ำ
.
นางขวัญหลายคนในภาพกำลังแสดงอาการของมนุษย์ที่เคารพนบนอบ พร้อมเครื่องบูชาที่ประดิษฐ์เป็น “เครื่องกระทง” รูปดอกบัว  เพื่อบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” อย่างชัดเจน โดยนางขวัญคนแรกและคนที่สองได้ลอยกระทงบูชาออกไปแล้ว จึงไม่ปรากฏรูปกระทงวางอยู่ที่โคนต้นไม้ ซึ่งหากเป็นการไหว้แม่โพสพ ก็ควรเห็นกระทงบูชาวางอยู่ที่โคนต้นไม้ครับ  
.
นางขวัญคนที่สามถึงห้ายังไม่ได้ทิ้งกระทงลอยออกไป ส่วนนางขวัญคนสุดท้ายด้านขวาสุดของภาพสลักติดมุมรักแร้ผนังกำแพง กำลังทำท่ายกกระทงดอกบัวขึ้นและก้มโค้งศีรษะลงมาใกล้กับกระทง แสดงให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ในการอธิษฐาน ขอพรจากอำนาจเหนือธรรมชาติได้อย่างชัดเจน
.
ข้ามมาทางซ้ายของภาพบนผนังเดียวกันก็ยังเป็นภาพของกลุ่มคนหาปลาที่อยู่ห่างออกไป (มีภาพพุ่มไม้และสัตว์เล็กที่อาศัยเขตชายน้ำคั่นไว้) คนหน้าสุดกำลังแสดงท่านั่งลง กราบไหว้แสดงความเคารพต่อพิธีกรรมของนางขวัญทางด้านขวา ในขณะที่คนหาปลาที่ติดตามมาได้นั่งคุกเข่าลงครับ  
.
ซึ่งในภาพสลักตามแบบขนบแบบแผนโบราณ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นรูปแบบเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) จึงยังไม่มีการสลักภาพบุคคลแบบ 3 มิติ ที่จะให้หันหลังมองขึ้นไปด้านบนหรือเห็นเฉพาะด้านหลังกำลังถือกระทงอย่างมีมิติ แต่สลักให้้เห็นเพียงทางด้านข้างในแบบ 2 มิติได้เพียงเท่านั้น รูปบุคคลทั้งหมดในภาพด้านล่าง จึงหมายถึงรูปของบุคคลที่กำลังนั่งอยู่ริมตลิ่งและหันหน้าลงไปทางแม่น้ำ รับกับขบวนเรือพยุหยาตรา ซึ่งการไม่ปรากฏรูปสลักกระทงในน้ำในภาพ 2 มิติ ก็เพราะเป็นเรื่องยากที่ช่างจะสลักกระทงดอกไม้เดี่ยว ๆ ที่จะกลายเป็นดอกบัวในน้ำ ยากที่จะสื่อความหมาย ไปปะปนกับรูปของปลาและนก แบบโลกทัศน์ของผู้คนในปัจจุบัน 
.
----------------------------------------
**** รูปลักษณ์ทางศิลปะของนางขวัญคนสุดท้าย ที่แสดงการยกกระทงขึ้นเพื่อการอธิษฐานอย่างชัดเจน ยังได้พบรูปของนางขวัญ สตรีสูงศักดิ์สมเทริดที่ปราสาทบันทายฉมาร์ บนกลุ่มภาพสลักผนังด้านทิศเหนือ ปีกตะวันออกของระเบียงคดที่เพิ่งได้รับการบูรณะเรียงหินขึ้นใหม่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ที่เป็นภาพทูตจากตะวันตก (อินเดีย-อาหรับ ?) กำลังเข้าเฝ้าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยมีเจ้าชายศรีนทรกุมาร เป็นผู้นำเข้าเฝ้า ถัดมาทางด้านซ้ายเป็นภาพของขบวนเกียรติยศต้อนรับคณะทูต (?) มีบุคคลถือก้านร่มฉัตรเครื่องสูงนำหน้าพญาช้างคู่แห่งอาณาจักร ช้างเผือกด้านหน้าเป็นตัวผู้สวมเครื่องประดับและเทริด ใช้งวงดึงก้านกอบัวที่มีทั้งบัวตูมและบัวบาน ในความหมายของความเป็น “สวัสดิมงคล” โดยมีแถบลายดอกไม้ในกรอบกลมต่อเนื่องเป็นพื้นอยู่เหนือภาพด้านล่างในความหมายของ “สะพาน”  มีภาพของปลาใหญ่น้อยชนิดต่าง ๆ จระเข้และคนหาปลา ป่าที่มีคนเก็บหน่อไม้ ลิง เสือ อยู่ใต้แถบสะพาน มีรูปของป่า เสือ ชาวบ้านกำลังเตรียมอาหาร จุดกองไฟ และปลานานาชนิดอยู่เหนือรูปพญาช้างเผือกครับ
.
โดยส่วนเชิงสะพาน ต้นทางของภาพขบวนที่ติดกับกลุ่มภาพที่มีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นประธานนั้น เป็นภาพของสตรีสูงศักดิ์สมเทริดนั่งอยู่บนดอกบัวใหญ่ เหนือรูปม้าครึ่งปลา “สินธพนที” รายล้อมด้วยดอกบัวที่ผุดขึ้นจากน้ำแบบต่าง ๆ รวมทั้งยังมีต้นไม้มีใบแบบพุ่มเตี้ยแบบเดียวกับภาพสลักที่ปราสาทบายนรวมอยู่ด้วย 
.
ภาพสลักสตรีสูงศักดิ์ สมเทริด ถือ “กระทงดอกไม้” ที่พบใหม่จากปราสาทบันทายฉมาร์นี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ – แม่น้ำ เป็นภาพมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้กระทงรูปดอกบัวเป็นเครื่องมือในการบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ ที่มีรูปสลักของปลาและชาวประมงประกอบอยู่ในภาพเพื่อแสดงความเป็นแม่น้ำ-สายน้ำ เป็นบริบทเดียวกันกับภาพนางขวัญถือกระทงดอกไม้ที่ปราสาทบายนครับ 
.
------------------------------------------
*** ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้สดหรือกระทงดอกไม้ประดิษฐ์รูปดอกบัว ที่มนุษย์ในอดีตได้นำมาใช้บูชาอ้อนวอนอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อสร้างความเป็นมงคลไม่ว่าจะในช่วงเวลาใด ทั้งในคติความเชื่อทางพุทธศาสนา อำนาจเหนือธรรมชาติหรือฮินดูนั้น ก็ล้วนแต่มีความนิยมนำไปลอย (ทิ้ง) ผ่านสายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ให้สายน้ำที่มีอำนาจสื่อสารคำวิงวอนอธิษฐานไปถึงจุดหมายแห่งสรวงสวรรค์
.
การไหว้แม่โพสพหรือต้นข้าวในทางมานุษยวิทยา  ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าเป็นประเพณีหลวง ไม่เคยใช้สตรีสูงศักดิ์จากราชสำนักลงมาทำพิธีด้วยกระทงดอกบัวประดิษฐ์อันงดงาม นอกจากการผูกตะกร้า ชะลอมสานและกระบะกาบไม้ ใส่อาหารคาวหวานเป็น “เครื่องบัตรพลี” วางทิ้งไว้ที่โคนต้นข้าวหรือวางทิ้งที่ทางสามแพร่งในการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ตามพิธีกรรมของประเพณีราษฎร์ ในระดับสังคมชาวไร่นาเท่านั้นครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า




 

Create Date : 06 กันยายน 2563
0 comments
Last Update : 6 กันยายน 2563 9:21:50 น.
Counter : 615 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.