ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
พฤศจิกายน 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
15 พฤศจิกายน 2555

Wolf Children(2012)

สารบัญภาพยนตร์

Wolf Children(2012)


WereWolf Complex ปมหมาป่าที่ติดอยู่ในใจ




กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.... มีความเชื่อโบร่ำโบราณตามเทพปกรณัมหรือคติชนพื้นเมืองอเมริกันว่า ‘มนุษย์หมาป่า’ เป็นสิ่งมีชีวิตครึ่งมนุษย์ครึ่งหมาป่าที่แสนโหดร้าย น่ากลัว และออกตามล่าฆ่าผู้คน โดยเฉพาะการประทุษร้ายทางเพศต่อหญิงสาวแรกรุ่น โดยเชื่อกันว่ามนุษย์เหล่านี้จะแปลงร่างในค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวง เสียงเห่าหอนของพวกมันจะนำพาให้ชาวบ้านขนลุกขนพองและเก็บซ่อนตัว-อย่างหวาดกลัวในเคหสถาน

อิทธิพลของตำนานเหล่านี้ถูกส่งตรงในรูปแบบนิทาน วรรณกรรม กระทั่งสู่แผ่นฟิล์ม เราถูกหล่อหลอมให้รู้จักมนุษย์หมาป่าในรูปแบบของความน่ากลัว ชั่วร้าย ทำร้ายความวัยเยาว์ของเราจนสูญสิ้น ปรากฏตัวในฐานะตัวร้ายของนิทานไม่ว่าจะเป็นหมาป่า หรือมนุษย์หมาป่าก็ตาม เราถูกปลูกฝังเช่นนั้นมาตลอด ภาพความทรงจำของเรากับคำว่า ‘มนุษย์หมาป่า’เป็นเสมือนสิ่งขัดแย้งแสนเลวที่มิอาจให้ตัวละครพานพบไปถึงจุดหมายปลายฝันได้

เมื่อเวลาล่วงเลย นิทานเช่นนี้ถูกเล่าแล้วเรื่อยไป โดยไม่มีใครนึกแคลงสงสัยว่าเพราะเหตุใด ‘หมาป่า’ จึงเป็นได้เพียงตัวร้ายในวรรณกรรมเท่านั้น จนกระทั่งผู้กำกับ มาโมรุ โฮโซดะ ได้สร้างนิทานของตัวเองขึ้นมา โดยลดทอนความทรงจำสามัญของผู้คน ตัวร้ายอย่างหมาป่ากลับกลายเป็นตัวละครหลักในอนิเมชั่นสุดน่ารักของสตูดิโอจิซุ(Chizu) ที่ร่วมสร้างกับบริษัททำอนิเมชั่น ‘แมดเฮ้าส์’(Madhouse) ที่มีผลงานจวบจนปัจจุบันเกินกว่า 100 เรื่อง ซึ่งหากเทียบศักดิ์ศรีแล้วก็ไม่ได้เหลื่อมล้ำไปกว่าสตูดิโอจิบลิเลย เกิดก่อนจิบลิด้วยซ้ำไป (แมดเฮาส์ 1972,จิบลิ 1985) เพียงแต่รายหลังนั้นเน้นไปที่การผลิตภาพยนตร์อย่างเดียว ชื่อเสียงจึงขจรขจายไปไกลถึงขั้นระดับโลก



กลับมาสู่ตัวเนื้อหาซึ่งใช้วิธีการเปิดเรื่องไม่ต่างจากนิทานปรัมปราโดยใช้เสียงบรรยายของลูกสาวคนโตยูกิ เล่าเรื่องตั้งแต่ตำนานของมนุษย์หมาป่าเรื่อยมายันเรื่องราวของครอบครัวชีวิตตนเอง ระหว่างแม่ฮานะ และพ่อโอคามิที่เป็นมนุษย์หมาป่า ก่อนที่จะรักและลงเอยด้วยการมีลูกสองคน แต่แล้วจุดเปลี่ยนของชีวิตก็เกิดขึ้น เพราะพ่อได้มาด่วนจากไปเสียก่อน ทำให้ฮานะต้องเผชิญหน้ากับการเลี้ยงดูลูกครึ่งมนุษย์หมาป่าโดยลำพัง โดยไม่มีแม้แต่ความรู้หรือประสบการณ์เลี้ยงดูมนุษย์หรือหมาป่าเลย

จุดหมายสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเน้นย้ำมุ่งประเด็นไปที่การเลี้ยงดูลูกทั้งสองของแม่ฮานะ ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ทเม้นคับแคบของคนเมืองได้ เพราะนอกจากไม่มีที่ให้หมาป่าน้อยสองตัววิ่งเล่นแล้ว การเป็นมนุษย์หมาป่ายังเป็นความลับขั้นสุดยอดที่ไม่สามารถให้ใครล่วงรู้ นั่นจึงเป็นหมุดหมายใหญ่โตที่ทำให้เธอตัดสินใจหนีไปใช้ชีวิตในชนบทร้างราผู้คนอยู่กับผืนป่าที่สามารถทำเกษตรกรรมกินกันอย่างพอเพียง อีกทั้งมันยังเหมือนเป็นการหารากเหง้าของความเป็นมนุษย์หมาป่าที่เธอพยายามค้นหาเพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดูลูกของเธออีกด้วย

นอกจากการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่เป็นดังเครื่องหมายการค้าของภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ส่งสู่สายตาชาวโลกแล้ว การเล่นกับความคิดเรื่องมนุษย์หมาป่าที่เป็นภาพจำความชั่วร้ายคนทั่วไปของ มาโมรุ โฮโซดะ ก็น่าสนใจ เพราะหนังเรื่องนี้พยายามยั่วล้อและให้หันมามองความเป็นมนุษย์หมาป่าในแง่มุมที่น่ารักและแฝงความน่าสงสารไว้ เหมือนเช่น ที่อาเมะ ถามแม่ว่า ”หมาป่าต้องเป็นตัวร้ายตลอดเลยหรอ” นี่จึงเป็นคำถามน่าคิด ซึ่งเป็นไปได้ ว่าออกมาจากความคิดของ โฮโซดะ เองที่เป็นผู้คิดเรื่องและเขียนบทฯควบอีกด้วย



ถ้าโครงเรื่องหลักคือการเลี้ยงลูกทั้งสองให้ดีของฮานะ โครงเรื่องย่อยคงเป็นการก้าวผ่านเติบโตของลูกทั้งสองในสภาพที่เขารู้ว่าหมาป่าครึ่งหนึ่งที่อยู่ในตัวเขานั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของด้านมืดที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน(ทุกครั้งที่โกรธจะกลายเป็นหมาป่า) หรือจะเป็นปมด้อยของพวกเขาก็ว่าได้ ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นเห็นถึงคุณค่าของการยอมรับตัวตนตนเองในการเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าสิ่งที่เราเป็นนั้นมันจะขัดขืนฝืนใจของภาพจำของคนทั่วโลกเท่าไหร่ก็ตาม ดังเช่นความชั่วช้าสามานย์ของหมาป่า

แต่ก็ไม่ได้วนเวียนอยู่ในประเด็นนี้ตลอดเวลาเพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือ การเลือกที่จะเป็นของคนรุ่นลูก แม้มันจะต้องขัดกับความรู้สึกผู้เป็นแม่ก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้มีความเป็นสมัยใหม่อยู่ค่อนข้างมากๆ หรือจะว่าไปแล้วเทียบเท่าแนวคิดตะวันตกเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของแม่ที่จะก้าวข้ามผ่านไปในตอนจบ แม้หนังจะได้ปูพรมให้คำตอบนี้ไว้แล้วในฉากตั้งแต่พ่อยังอยู่ก็ตาม ด้วยคำพูดที่ว่า “ลูกเราจะโตเป็นอะไรก็ได้ อยู่ที่เขาเลือกเอง” น่าเสียดายที่แม่คิดไม่ถึงว่า ถ้าลูกเราอยากเป็นหมาป่าแล้วล่ะก็จะทำเช่นไร จะยอมปล่อยให้เขาไปใช่หรือไม่



แม้เมื่อกล่าวถึงตอนนี้จะเห็นว่าภาพยนตร์วางรากฐานเรื่องค่อนข้างให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตัวละครทั้งสามตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในภาพยนตร์ยาวเกือบสองชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินเรื่องให้ครบสาระและน่าติดตาม ทำให้เมื่อดำเนินไปถึงกลางเรื่องที่ควรจะทำให้เหตุการณ์ยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กลับไม่ได้ไปสู่จุดตรงนั้นเท่าที่ควร แต่ด้วยวิธีการนำเสนอในความเรียบง่ายด้วยภาพที่น่าจดจำซึ่งผู้เขียนมองว่าการนำเสนอด้านภาพคือจุดเด่นที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ภาพที่ว่านี้ไม่ใช่หวือหวาแต่เรียบง่าย บางฉากเหตุการณ์สามารถเล่าเรื่องไปได้อย่างราบรื่นแม้จะไร้เสียงสนทนาก็ตาม

ความเรียบง่ายเนิบช้าทางด้านภาพทำให้ตอบสนองทางด้านอารมณ์ในแง่ของสาระความคิดได้อย่างสอดคล้องโดยเฉพาะการดำรงอยู่ด้วยการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น และเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ หรือกระทั่งการยอมให้ทุกสิ่งเป็นไปในแบบนั้น เพียงแต่เราทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด หรือเมื่อเลือกในบางสิ่งแล้วจงกระทำด้วยความตั้งใจไม่หันหลังกลับก็ตาม



ทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ Wolf Children ได้สร้างเอกลักษณ์ในการต้านขนบความคิดภาพจำของคำว่า ‘หมาป่า’ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความชั่วร้ายที่ถูกใส่เข้ามาในตัวมนุษย์ เพื่อเป็นการทดสอบตัวละครหลักในเรื่องทั้งสามคนว่าสามารถก้าวผ่านจุดมืดบอดในสายตาของผู้คนทั่วไปได้หรือไม่ อีกทั้งความเป็นหมาป่าที่อยู่ในตัว ยังเป็นเสมือน ‘ปมด้อย’ ในใจของ อาเมะและยูกิ ที่ต้องก้าวพ้นไปให้ได้เมื่อยามเติบโต ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองทำสำเร็จแล้วเมื่อเครดิตลอยขึ้นมา

เสียงเห่าหอนของหมาป่าในค่ำคืนวันเพ็ญที่แสนชวนหลอกหลอนของเด็กๆทั่วทุกมุมโลก แต่กลับเป็นเสียงที่แสนสดใสในโสตประสาทของผู้เป็นแม่ ในชนบทอันห่างไกลผู้คนของประเทศญี่ปุ่น แม้ทั้งสามจะไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะลูกทั้งสองต่างเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องเป็น แม้ตอนสุดท้ายแม่จะไม่ได้เลือกอะไร เพียงแต่ยอมรับในสิ่งที่ลูกๆ เลือก เพราะเธอได้ใช้สิทธิ์เลือกในการคบหาดูใจกับมนุษย์หมาป่าตั้งแต่ต้นเรื่องไปแล้วนั่นเอง และนี่อาจเรียกว่าเป็นจุดเลือกแรกที่เกิดเป็นวงจรของลูกๆด้วยซ้ำ

และแม้นว่าในตอนสุดท้ายนิทานเรื่องนี้จะไม่ได้จบด้วยการอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ดั่งนิทานปรัมปราตะวันตก แต่สิ่งหนึ่งที่นิทานเรื่องนี้มี คือการยอมรับในชะตากรรม และเรียนรู้ผ่านพ้นสิ่งที่อัดอั้นคั่งค้างในใจ ไม่ปล่อยให้กลายเป็นปมไม่ว่าจะเป็นปมอะไรก็ตาม และตามความเชื่อฝรั่ง มนุษย์หมาป่า เป็นตัวแทนของพฤติกรรมแฝงด้านมืดที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ดังที่เกิดขึ้นกับอาเมะกับยูกิ แต่เขาทั้งสองได้เลือกที่จะยอมรับด้านมืดของตัวเอง ไม่ว่าด้านมืดเหล่านั้นจะเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ถูกติดภาพตรึงไว้เช่นตำนานมนุษย์หมาป่าก็ตาม

ต่อให้ทุกคนเกลียดมนุษย์หมาป่าเท่าไร แต่หารู้ไม่ว่า บางทีมนุษย์หมาป่าอาจคือตัวเราเอง โดยไม่ต้องรอคืนวันเพ็ญด้วยซ้ำไป

คะแนน 7.75/10
เกรด B+



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์

อนิเมชั่นญี่ปุ่นที่เคยเขียน
FROM UP ON POPPY HILL(2011)




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2555
4 comments
Last Update : 14 มกราคม 2556 1:36:58 น.
Counter : 7380 Pageviews.

 

เราดูเรื่องนี้แล้วเช่นกัน เป็นหนังการ์ตูนที่เราร้องไห้หลายฉากเลย555

 

โดย: แฟนlinKinPark 15 พฤศจิกายน 2555 1:32:20 น.  

 

เป็นเรื่องที่อยากดู ก่อนหน่านี้มีคนแนะนำให้ไปดู ตอนจบคงร้องไห้แน่ๆ

 

โดย: Kisshoneyz 15 พฤศจิกายน 2555 9:20:06 น.  

 

ดูในโรงภาพยนตร์สกาลา ชอบครับ

 

โดย: คนขับช้า 25 พฤศจิกายน 2555 10:22:00 น.  

 

เพิ่งดูจบไปค่ะ ชอบมาก

บางตอนน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัวเลยค่ะ

รู้แต่ว่าคนที่เข้มแข็งที่สุดในเรื่องนี้คือแม่ฮานะค่ะ

จนเมื่อดูจบแล้ว อยากจะตั้งชื่อเรื่องให้ใหม่เลยค่ะ

ว่า"ฮานะยอดคุณแม่" ^___^

 

โดย: มะนาวเพคะ IP: 101.109.189.8 12 เมษายน 2556 17:45:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]