ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
31 ตุลาคม 2555

Looper (2012)

สารบัญภาพยนตร์

Looper (2012)


แรงขับดันที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์


*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*



หากจินตนาการถึงภาพยนตร์ไซไฟที่คุ้นเคย เราอาจแบ่งพล็อตเรื่องภาพยนตร์ได้ไม่ยากนัก หากไม่ใช่การขึ้นพาหนะสำรวจความเร้นลับในจักรวาล ก็อาจเป็นไปเพื่อประกาศแสนยานุภาพของมนุษย์ที่คิดค้นเทคโนโลยีทันสมัย ดังเช่นเครื่องย้อนเวลาที่วาดฝันพรรณนาเปลี่ยนทั้งอดีตกาลและสร้างอนาคต แม้กระทั่งการผลิตหุ่นยนตร์แอนดรอยด์ก็นิยมเพื่อสำรวจสถานะของมนุษย์ผู้สร้าง หรือกระทั่งการสำรวจความเป็นมนุษย์ในหุ่นแอนดรอยด์เองก็มี โดยช่วงเวลานิยมของภาพยนตร์ไซไฟมักดำรงอยู่ในโลกอนาคตที่ปฎิทินยังเดินไปไม่ถึงในความเป็นจริงปัจจุบัน

เช่นเดียวกัน ภาพยนตร์ Looper ไม่ได้หลีกหนีจากที่กล่าวมาข้างต้นเลย โดยสิ่งที่จำเพาะเจาะจงลงไปนั้นจะอยู่บนโลกมนุษย์เพื่อตรวจสอบสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงการใช้เครื่องมือย้อนเวลาทันสมัยที่นำพาให้มนุษย์สูงส่งมิดแกนโลกแต่กลับสร้างขอบเขตจำกัดด้านความเป็นมนุษย์ให้ลดน้อยถอยลงไปในสภาวะที่ตัวเลขปฎิทินรุดหน้าไปเรื่อยๆอย่างไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด

กระนั้นก็ดีทำให้เห็นว่าภาพยนตร์ Looper ไม่ได้แหวกแนวแตกต่างจากภาพยนตร์ไซไฟที่เคยพบเห็นกันก่อนหน้าสักเท่าไหร่ เพราะสภาพโลกมนุษย์ในภาพยนตร์ Looper นั้นมีความทับซ้อนคล้ายคลึงไม่ต่างจาก Blade Runner (1982), Total Recall (1990)(2012) ฯลฯ ซึ่งเป็นโลกอนาคตแบบดิสโทเปีย(Dsytopia) ที่มีต้นกำเนิดมาจากมันสมองนักเขียนนิยายไซไฟสุดล้ำนาม ฟิลิป เคดิค แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์ Looper เป็นเพียงหนังอีกหนึ่งเรื่องที่ต่อยอดแตกความมาจากโลกดิสโทเปีย ของ เคดิค นั่นเอง



แต่การกล่าวเปิดหัวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการดิสเครดิตผู้กำกับ ไรอัน จอห์นสัน แต่อย่างใด เพราะหากศึกษาเข้าไปในตัวงานของจอห์นสัน ซึ่งมีผลงานย่อมๆเพียง 2 เรื่องก่อนหน้า (Brick 2005,The Brother Bloom 2008) ยิ่งทำให้เห็นและค้นพบว่าตัวเขานั้นมีตัวตนและเอกลักษณ์การทำภาพยนตร์ในรูปแบบทรงใด กล่าวกันอย่างฉับไว ไรอัน จอห์นสัน เป็นผู้กำกับที่ชอบล่วงลึกศึกษาภาพยนตร์ในแนวทางที่เขาต้องการจะทำโดยกลับไปค้นหาต้นตอและวิธีการของรูปแบบในตระกูลภาพยนตร์นั้นๆ เพื่อสร้างความผันแปรให้กับความคาดหวังของผู้ชมในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้กลายเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ลายเซ็นของเขาติดผสมกลมกลืนกับความเป็นหนังคลาสสิคที่สามารถเดจาวูขึ้นมาหลังจากชมภาพยนตร์ของเขานั่นเอง

เช่นนั้นทำให้ภาพยนตร์ Looper ของเขา มีกลิ่นอายทั้งภาพยนตร์ที่สำรวจหมวดเหมาะมนุษย์ในโลกอนาคต ดังงานของ เคดิค ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กับการยอกย้อนทฤษฎีท่องเวลาที่เคยประสพพบมาจากเรื่อง Back to future(1985),The Terminator(1985),12 monkeys(1995) หรือแม้กระทั่งล่าสุดอย่าง Soure code(2011) ฯลฯ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ทำให้ภาพยนตร์ Looper สามารถสร้างสิ่งพิเศษในความคลาสสิคของหนังไซไฟหลากหลายแนว ที่ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาใหม่ได้อย่างลงตัว

เรื่องราวของ Looper นั้นดำเนินอยู่ในโลกมนุษย์ปี 2044 ที่ยังไม่มีการสร้างเครื่องย้อนเวลาขึ้นมา แต่อีก 30 ปีให้หลังองค์กรแก๊งอาชญากรรมระดับชาติก็ทำสำเร็จ และได้ส่งศัตรูที่คอยปัดแข้งปัดขาจากโลกอนาคตย้อนกลับมาเพื่อให้มือปืนยุคปัจจุบันสำเร็จโทษ โดยพวกเขาเหล่านั้นถูกเรียกขานว่า “ลูปเปอร์”



ในแง่การดำเนินเรื่อง แม้จะถูกผลิตโดยสตูดิโอเล็กที่ใช้เงินทุนเพียง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(โดยประมาณ) แต่วิธีการเล่าเรื่องและองค์ประกอบยังถูกจัดอยู่สไตล์ที่คุ้นเคยกันแบบฮอลลีวู้ด โดยมีความหวือหวา ระทึกใจด้วยการใช้เสียงดนตรีประกอบที่กระแทกกระทั้นสร้างความฉงัดฉงนให้กับโลกดิสโทเปีย รวมถึงการเล่าเรื่องด้วยช็อตสั้นๆเพียงไม่กี่ช็อต การใช้วิธีตัดต่อวูบวาบ รวดเร็ว มีการใช้มองทาจในการย่นย่อเรื่องราวของ โจแก่(บรูซ วิลลิส) ได้อย่างน่าจดจำ จนกลายเป็นมู้ดอารมณ์แบบหนังไซไฟแอคชั่นไล่ล่าอย่างเต็มภาคภูมิ แม้จะต้องใช้เวลาเล่าเรื่องกฎระเบียบท่องเวลาช่วงต้นอยู่พอควร แต่ก็สามารถทำให้กลมกลืนเข้าไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

โดยภาพยนตร์ Looper เน้นการจับจ้องวิถีชีวิตของ ‘โจ’ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) ผู้ได้รับโอกาสจาก เอ๊บ(แจ็ค แดเนียลส์) ให้เป็นลูปเปอร์ ทั้งที่ตามชะตาชีวิตจริงของเขานั้นควรจะเป็นเด็กกำพร้าเร่ร่อนเพียงเท่านั้น ดังนั้นจะว่าไป อาชีพลูปเปอร์ก็ไม่ต่างจากอาชีพที่ถูกมอบให้กับสุภาพบุรุษที่จมตรอกกับชะตามกรรมของชีวิตตน เพื่อเป็นการยกสถานะทางชนชั้นอันเหลวแหลกขึ้นมา เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสุขสบายแลกกับการทำงานที่กลับยิ่งทำให้โลกตกต่ำลงเท่านั้นเอง

แล้วถ้าสืบเสาะหาความลงไปอีกชั้น เอ๊บที่ถูกส่งมาจากอนาคตเฉกเช่นกัน นั่นแสดงว่า เครื่องย้อนเวลาที่สามารถส่งคนเพื่อให้ลูปเปอร์ฆ่าได้อย่างไร้ร่องรอยนั่น ยังสามารถคาดการณ์ได้ด้วยว่า โลกอนาคตกำลังถูกครอบครองโดยแก๊งมิจฉาชีพ ที่ใช้ความฉ้อฉลเป็นเครื่องแสวงหาผลประโยชน์ ดังกับ วิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องตราบาปของมวลมนุษย์ อีกทั้งยังทำให้ชะตากรรมของมนุษย์ผันแปรไปทุกครั้งที่ส่งคนมาไม่ว่าจะกระทบตรงต่อตนเองหรือชิ่งสู่ผู้อื่นก็ตาม(สร้างไทม์ไลน์ใหม่ขึ้นมา)



นั่นเท่ากับว่าโลกในภาพยนตร์ Looper นั้น ไม่ต่างอะไรกับโลกที่มนุษย์สถาปนาตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ลบลิขิตของฟ้าดิน และสร้างเส้นทางของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ โดยมีเครื่องทุ่นแรงจากวิทยาศาสตร์เป็นอุปกรณ์คู่ใจ ดังนั้นสิ่งสูงส่งที่เราเคยเชื่อถือกันมาไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า,เทพเจ้า หรืออะไรก็ตาม ได้ถูกสั่นคลอนโดยความรอบรู้มนุษย์ หรือจะกล่าวกันให้อย่างเจ็บแสบก็คือ มนุษย์ได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นใหญ่แทนพระเจ้า นั่นเท่ากับว่า “พระเจ้าได้ตายลงแล้ว” อย่างสมบูรณ์ แม้คนที่เป็นพระเจ้าแทนนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ชนชั้นบนหรือนายทุนเพียงแค่กระหย่อมมือเดียวก็ตาม

ทั้งนี้ใช่ว่าโลกที่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์โดยมนุษย์จะสงบสุขก็ผิดนัก เพราะจากผลงานคาดเดาอนาคตของ นักเขียน ฟิลิป เคดิค ที่ปรากฏในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง จะพบว่าโลกที่มนุษย์สถาปนาตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาตินั้น สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้แต่เพียงทางวัตถุเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงเด่นทันสมัย รถราเหาะเหินเดินอากาศ หรือเทคโนโลยีก้าวล้ำนับพันปี แต่สิ่งที่เป็นความขัดแย้งคู่ขนานคือ สภาวะทางด้านจิตใจที่กลับต่ำลงอย่างน่าใจหาย บวกกับช่องว่างทางชนชั้นที่ยืดขยายออกห่างกันนับปีแสง มีผู้มั่งมีเพียงน้อยนิดแต่กลับครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างแทบสิ้นซาก ต่างจากคนส่วนมากในสังคมที่ยิ่งเพิ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่มีสิ่งใดแม้กระทั่งที่ซุกหัวนอน และการตอกย้ำให้เห็นภาพแก๊งอาญาชากรรมคุมประเทศด้วยแล้ว จึงเป็นภาพสุดโต่งของสังคมที่ล่มจมทางศีลธรรมจรรยาถึงที่สุด

กลับมาพูดถึงเครื่องย้อนเวลากันต่อ นอกจากจะเป็นวิวัฒนาการก้าวหน้าของโลกอนาคตที่ภาพยนตร์เลือกใช้แล้ว มันยังได้เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของทุกคนขึ้นมาใหม่ เช่น โจที่เป็นเพียงเด็กเร่ร่อน แต่เมื่อเอ๊บถูกส่งมาจากอนาคต ก็ได้ชุบเลี้ยงโจจนกลายเป็นลูปเปอร์ แต่ปัญหาของลูปเปอร์คือมันเป็นอาชีพที่ห้ามคิดไกล และเมื่อถึงเวลาหนึ่งเขาจะส่งตัวเราเองในอนาคตมาให้เราฆ่าเพื่อปิดลูปตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังมีเวลาใช้ชีวิตได้อย่างสวิงสุดเหวี่ยงอีก 30 ปี ก่อนที่จะเราจะถูกส่งกลับมาอดีตให้ตัวเราในวัยหนุ่มปิดบัญชีอีกครั้ง ซึ่งมันกลายเป็น ‘วัฎจักร’ขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด



ภาพของโจแก่ที่ใช้ชีวิตแบบหยำเปและไร้จุดหมาย เที่ยวดื่ม,ยาเสพย์ติด และก่ออันธพาล หรือแม้กระทั่งสาดกระสุนปลิดชีพผู้อื่นอย่างสบาย เหตุเพราะรู้ตัวว่าเวลาของเขาในปัจจุบันใกล้หมดสิ้นลง เป็นการแสดงให้เห็นว่า การเป็นลูปเปอร์นั้น ไม่ต่างจากการตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ ที่ต่อให้เราถูกฆ่าตายไปแล้วอีกเท่าไหร่ แต่ตัวเราในวัยหนุ่มก็ยังกลับมาวนเวียนอยู่อย่างไม่มีทางหลุดพ้นไปได้ ซึ่งนอกจากภาพการใช้ชีวิตของลูปเปอร์ ที่ทำให้เห็นถึงภาพสะท้อนของการใช้ชีวิตในลัทธิบริโภคนิยมแบบเต็มขั้นแล้วนั่น ภาพการกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง คงไม่ต่างจากการตกอยู่ในบ่วงกรรมอบายมุขที่ไม่มีสิ้นสุด ภาพของเครื่องย้อนเวลาจึงไม่ต่างจากเครื่องรึงรังความทุกข์ทางพระพุทธศาสนาเลยก็ไม่ปาน

นอกจากภาพยนตร์เน้นให้เห็นถึงโลกดิสโทเปียและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นแล้ว ผู้กำกับยังพยายามสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนต่างเกิดมามีปมในจิตใจด้วยกันทั้งสิ้น และต่างต้องการที่ยึดเหนี่ยว โจหนุ่มโหยหาอาทรแม่ที่ทิ้งเขาไปตั้งแต่วัยเด็ก โจแก่พยายามกลับมาเพื่อช่วยเหลือเมียของเขาให้อยู่รอดปลอดภัย ทำให้เมื่อผ่านกลางเรื่องเป็นต้นไปภาพยนตร์ไซไฟข้ามเวลาที่ถูกเปิดหัวในช่วงต้น จะลดทอนรายละเอียดลงให้เหลือเพียงเรื่องราวดราม่าความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก ของ ซิด(Pierce Gagnon) ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นเรนเมคเกอร์ และซาร่า(เอมิลี่ บลันท์) แม่ที่พยายามกลับตัวกลับใจเลี้ยงดูลูกในไส้อีกครั้ง



ภาพยนตร์ชี้ชัดว่า “ความรัก” คือทางวิเศษที่จะทำให้หลุดพ้นจากทางอุบาทว์ของโลกดิสโทปีย ความรักคือเป้าหมายที่ตัวละครต่างใฝ่หาดังเป็นเป้าหมายของชีวิต โจหนุ่มใช้บริการชั่วครั้งชั่วคราวกับซูซี่(ไพเพอร์ เพอราโบ)สาวโสเภณี เพื่อให้เธอมอบความรักรวมทั้งลูบไล้ไรผมดัง ‘โจ’ เป็นลูกน้อยๆของเธอ โดยโจทำได้แม้กระทั่งยกเงินที่หามาได้ทั้งหมดยกให้เธอเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตกับลูกน้อยของเธอ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ต่อให้โลกดิสโทเปียที่ผู้คนต่างแก่งแย่งชิงดีและเห็นแก่ตัวมากเท่าไหร่ แต่ความรักความอาลัยที่เป็นพื้นฐานทางจิตใจ คือสิ่งเดียวที่เราจะเผื่อแผ่และให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ที่สำคัญโจเพิ่งขายเพื่อนเพื่อเงินมาหยกๆเมื่อเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เอง

ส่วนโจแก่นั้นไร้จุดหมายขณะดำเนินชีวิตเสเพล 30 ปีสุดท้ายจนได้มาพบสาวจีน ซึ่งผู้ชมสังเกตเห็นว่า โจแก่ ซบอยู่ในวงแขนอ้อมอกของเธอดังแม่ลูกก็ปาน แสดงให้เห็นว่าเขาได้พบความรักที่เขาโหยหามาตลอดชีวิตแล้ว แม้ในวัยดึกนั้นเขาจะไม่มีไรผมให้เธอลูบไล้อีกแล้วก็ตาม ความตายของเธอจึงเป็นเรื่องรับไม่ได้สำหรับตัวเขา นั่นจึงเป็นปมของการกลับมาปัจจุบันเพื่อช่วยเหลือเมียหน้าหมวยของเขา และกำจัด เรนเมคเกอร์ ผู้เป็นต้นตอเหตุแห่งทุกอย่าง แม้รู้ทั้งรู้ว่า ตัวเองอาจจะไม่ได้พบกับเธออีกแล้วก็ตาม(ไม่มีเครื่องกลับไปอนาคต) แต่นี่เป็นการเน้นย้ำให้เห็นอีกครั้งว่าเป็นการกระทำเพื่อคนรักโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ที่ขัดแย้งกับสังคมที่หล่อหลอมให้คนเห็นแก่ตัวและทำเพื่อตนเองเป็นที่ตั้ง แม้ว่าการทำเช่นนี้ก็เป็นการเห็นแก่ตัวเพื่อความรักอยู่ก็ตาม(ฆ่าคนอื่นเพื่อให้คนรักตัวเองอยู่)



และเพื่อให้ภาพความสัมพันธ์ชัดเจนยิ่งขึ้นเราอาจเหมารวมตัวละคร คิทบลู (โนอาห์ เซแกน) ที่ชื่อก็แสดงถึงความเป็นเด็กเศร้าสร้อยอยู่แล้ว บวกกับบุคลิกที่เหมือนเด็กไม่รู้จักโต ควงปืนเล่นโชว์เท่ บุคลิกเลิ่กลั่ก แลดูไม่มั่นใจ เขาเพียงต้องการถูกชื่นชมจากเอ๊บ ซึ่งมีลักษณะความต้องการความรักในลักษณะ เจ้านาย-ลูกน้อง หรือกระทั่ง พ่อ-ลูก นั่นเอง



ทั้งนี้ทั้งนั้นภาพแทนทุกอย่างในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก ถูกแสดงอย่างวิจิตรบรรจง ในแถบชนบทของไร่อ้อยห่างไกลความเจริญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอนที่ผู้กำกับจงใจใช้ความเป็นชนบทขัดแย้งกับสภาพสังคมสุดโต่งในเมือง หากในเมืองเป็นที่ต่ำทรามและลอกคราบความงามของมนุษย์ออกไป ชนบทที่ไม่น่าหลงเหลืออยู่คงเป็นถิ่นควรค่าแก่การรักษาเพื่อการฟูมฟักความรักระหว่างแม่-ลูก หรืออาจหมายถึงดินแดนพิศวงที่ความดีงามของมนุษย์ยังคงเหลือรอดอยู่ในสภาพสังคมเช่นนี้

ซิด เด็กน้อยพลังจิตซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความรักจากแม่เป็นที่สุด ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าเขาจะโตขึ้นเป็นเรคเมคเกอร์ในอนาคตจึงถูกไล่ล่าจากโจแก่ ที่มืดบอดตามัวจากความรัก มีคำพูดหนึ่งที่ซิดพูดกับโจหนุ่มว่า “เขาจะปกป้องซาร่าให้ถึงที่สุด” ซึ่งเป็นคำพูดที่งดงามที่แสดงความสะเทือนใจต่อโจหนุ่มและผู้ชมเป็นอย่างดี มันแสดงการปกป้องทางจิตใจของลูกเล็กๆที่มีต่อแม่ของเขา และเป็นการมันบ่งบอกได้ว่า แม่สำคัญต่อลูกแค่ไหนกัน และนี่อาจเป็นภาพสะท้อนเข้าสู่สภาวะจิตใจของโจหนุ่มด้วยก็เป็นได้



กระทั่งเหตุการณ์สำคัญที่สุดของภาพยนตร์บังเกิดในฉากสุดท้าย โจแก่ไล่ล่าจนกระทั่งซาร่าและซิดจนมุม โจหนุ่มได้แต่ยืนมองในระยะไกลที่ไม่อาจช่วยเหลือได้ กระสุนนัดแรกจากโจแก่ได้พุ่งเข้าสู่ขากรรไกรของซิด เพียงเท่านั้นโจหนุ่มก็ได้เข้าใจ ว่าเหตุการณ์เช่นไรจะเกิดขึ้นต่อมา ภาพยนตร์ใช้วิธีการแฟรชฟอร์เวิร์ด(Flash forward)นำเสนอภาพห้วงความคิดของโจหนุ่มได้อย่างน่าสนใจประกอบกับเสียงบรรยาย ที่ทำให้ผู้ชมเห็นภาพและความคิดในหัวของโจไปพร้อมกัน และยังทำให้คิดวนกลับไปว่าเขาจะต้องเจอกับชะตากรรมที่ไม่สิ้นสุดเช่นไร แม้เขาจะตาสว่างกับชีวิตแล้วก็ตาม เขาจึงเลือกปกป้องคนรักล่าสุดอย่าง ซาร่า ที่เป็นคนรักในแง่ของการมีอะไรกัน และยังเป็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์แม่-ลูกที่เขาโหยหาและสูญเสียไป ซึ่งทำให้เขารู้สึกถึงความนึกคิดของซิดได้ หากซิดต้องสูญเสียแม่ไปเช่นเขาเอง

เขาเลือกจบชีวิตของตัวเอง เพื่อที่ทำให้โจแก่หรือตัวเขาเองในอนาคตไม่ต้องมาเข่นฆ่ากันอย่างไม่รู้จบ และเพื่อสร้างโอกาสให้ซิดมีแม่ และเขายังเชื่อว่า เมื่อแม่ไม่ตาย ซิดจะไม่กลายเป็นเรคเมคเกอร์ แถมยังส่งผลกระทบให้เมียคนจีนของโจแก่รอดชีวิต ซึ่งเป็นการเริ่มวงจรชีวิตใหม่ที่ไม่มีโจ และเป็นการเสียสละเพื่อความรักของโจอย่างแท้จริง ที่ยอมทำทุกทางเพื่อทำให้คนที่เขารักมีความสุข ในแง่ของความคิดอุดมคติที่แม่ทุกคนรักลูกและลูกทุกคนต้องการแม่ และแม่ยังสามารถเปลี่ยนชะตากรรมของลูกๆได้ ยิ่งกว่าเครื่องปฎิกรณ์ข้ามเวลาด้วยซ้ำไป อีกทั้งการปลิดชีพตัวเองยังเป็นการหยุดวงจรของลูปเปอร์ที่ไม่สิ้นสุดได้อีกด้วย



ภาพยนตร์ Looper เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะโลกดิสโทเปีย และการใช้ทฤษฎีท่องเวลาในหนังไซไฟอีกครั้ง แม้การดำเนินเรื่องจะเป็นสูตรสำเร็จอย่างที่ได้กล่าวไป แต่สิ่งที่โดดเด่นมากคือเรื่องราวของบทภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ ไรอัน จอห์นสัน เขียนขึ้นเอง วิธีการคิดที่แสนซับซ้อนและวิพากษ์สังคมอนาคตวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการต้องตกอยู่ในวงจรที่ไม่สามารถหลุดพ้น ที่ทำได้น่าขบคิด อีกทั้งมันยังสะท้อนภาพของโลกมนุษย์ที่มนุษย์เป็นใหญ่ เล็งเห็นได้จากตอนจบสุดท้ายที่ โจหนุ่มเป็นผู้กำหนดชะตากรรมทั้งหมด แม้กระทั่งชะตากรรมของซิด หรือชะตากรรมของตนเอง

แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าชะตาชีวิตของเราจะถูกกำหนดด้วยใคร และวิธีไหน แต่สภาวะทางจิตใจเราถูกกำหนดจากแรงขับทางด้านความรักด้วยกันแทบทั้งนั้น และนี้สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ในโลกดิสโทเปียที่นิยมชมชอบวัตถุและเงินทองเป็นของยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังสร้างเครื่องมือเพื่อมาเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของมนุษย์ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อมาปิดลบรอยแผลจากตอนเด็กๆทั้งนั้น และในวาระที่มนุษย์พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวสิ่งทดแทนพระเจ้า(ศาสนา) และสถาปนาให้ตัวเองยิ่งใหญ่ที่สุดในจักวาล ก็เห็นจะมีแต่สิ่งที่เรียกว่าความรักนี่แหละ ที่ทำให้เรายังหลุดพ้นไปไม่ได้ และมันยังคอยกำหนดชะตากรรมของเราอยู่ตลอด เหมือนที่ซิด และ โจ ถูกกำหนดมาจากอดีตนั่นเอง

‘อยู่ที่ว่าเราจะใช้ความรักมันเพื่อสร้างสรรค์หรือเพื่อทำลาย’ เท่านั้นจริงๆ

คะแนน 8/10
เกรด A



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์

ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนให้คะแนนมากที่สุดประจำปี 2012

Moonrise Kingdom 9
แต่เพียงผู้เดียว 9
The Cabin in the Woods 8.5
The Avengers 8.25
From up on Poppy Hill 8
Prometheus 8
The Raid Redemption(2011) 8




Create Date : 31 ตุลาคม 2555
Last Update : 18 ธันวาคม 2555 17:43:39 น. 3 comments
Counter : 4141 Pageviews.  

 
เขียนดีมากครับ ละเอียดอ่อนดี ชอบๆครับ ชัดเจน

ส่วนตัวนะครับ ผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่สนุกดี แต่ว่ามันก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกอยากดูอีก เหมือนว่าทุกอย่างมันเคลียร์ในตัวมันเอง มันเหมือนขนมที่ปรุงแต่งเสร็จแล้วโดยคนที่เสพไม่ต้องย่อยมันครับ (จริงอยู่ ตอนดูอาจมึนและต้องคิดตามเล็กน้อย)

ผมให้ 3.5/5 นะครับ เพราะผมอาจคาดหวังอะไรมากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางข้ามเวลาถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆอย่าง back to the future, terminaor, the butterfly effect หรือ 12 monkeys


โดย: สิท IP: 171.6.162.221 วันที่: 31 ตุลาคม 2555 เวลา:22:29:19 น.  

 
^
^
เห็นด้วยครับ เป็นหนังที่สนุกแต่ยังไม่สุดยังไงไม่รู้


โดย: A-Bellamy วันที่: 1 พฤศจิกายน 2555 เวลา:9:28:53 น.  

 
วิจารณ์ได้ดีครับ

ตอนแรกผมดูไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร
พอมาอ่านก็เข้าใจขึ้นเยอะ


โดย: บอนด์ IP: 171.7.38.2 วันที่: 7 มกราคม 2556 เวลา:23:36:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]