ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
27 สิงหาคม 2555

The Raid Redemption (2011)

สารบัญภาพยนตร์

The Raid Redemption (2011)


สู้เพื่ออุดมการณ์ หรือเพื่อชีวิต(รอด)


ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Starpics คอมลัมน์ "ที่ตรงนี้คุณเขียน" ฉบับ 822 ตุลาคม 2012



การที่ The Raid หนังอินโดนีเซียเรื่องนี้ไปฉายอยู่โรงภาพยนตร์ทั่วโลก ก่อนมาถึงประเทศไทย นอกจากเสียงชื่นชมหนาหูที่ติดมาพร้อมฟิล์มหนังแล้ว ทำให้เห็นว่าประเทศตะวันตก มีรสนิยมคลั่งไคล้หนังแอคชั่นในรูปแบบใดบ้าง ? การเตะต่อยท่วงท่าลีลาศิลปะการป้องกันตัวเป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะวงการหนังฮอลลีวู้ดบูชา บวกด้วยการเล่นจริง เจ็บจริง ไร้สแตนอิน โนสตั๊นท์ ไม่พึ่งพาความสามารถในการตัดต่อซึ่งหาได้ยากนักในหนังสไตล์เช่นนี้ในประเทศที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นหลัก

ฉะนั้นประเทศในกลุ่มที่ถูกดูแคลนว่าเป็นประเทศในโลกที่ 3 หากต้องการแจ้งเกิดในเวทีในระดับโลกให้ได้แล้ว หากไม่ขวนขวายหาพล็อตเรื่องที่เล่นในเรื่องศาสนาหรือวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนของประเทศ ซึ่งวิธีนี้นั้นคงเฉิดฉายได้เพียงระดับเทศกาลเท่านั้น แตกต่างจากการใช้ส่วนผสมของการศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ เพราะนอกจากมันจะน่าติดตามแล้ว มันยังสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล อีกทั้งพระเอกยังถูกยกย่องให้เป็นฮีโร่เพียงชั่วข้ามคืน

ว่าไปแล้วนั้น หากมอง The Raid อย่างจริงจัง จะเรียกว่ามันเป็นหนังสายเลือดอินโดฯ คงไม่ถูกทีเดียวนัก เพราะมันถูกผสมกลมกลืนความเป็นสัญชาติเวลส์ของผู้กำกับ ‘แกเร็ธ อีแวนส์’ ซึ่งนี่อาจเป็นความโชคดีที่ถูกบรรจบอย่างลงตัวและเหมาะสม ระหว่างความเป็นตะวันตก และความเป็นอินโดนีเซีย โดยใช้จุดเด่นของศิลปะการต่อสู้อย่าง ‘ปันจักสีลัต’ เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการมองทะลุจากคนนอก ดึงหาจุดเด่นของคนใน เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดออกมาขายในตลาดต่างประเทศให้จงได้



และหากพลิกปูมหลังของ ‘อีแวนส์’ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เขาจะหยั่งลึกถึงศาสตร์ ‘ปันจักสีลัต’ ได้เพียงนี้ เพราะเขาใช้เวลาถึง 6 เดือนในการถ่ายทำสารคดีที่เกี่ยวกับ ‘ปันจักสีลัต’ ก่อนที่จะได้ชิมลาง เรื่อง Merantau (2009) แม้มันจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบทยืดเยื้อมากเกินไป ทำให้เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญที่คุ้มค่าต่อการมาถึงของ The Raid ที่สุด

The Raid นั้น ‘อีแวนส์’ ตัดความยืดเยื้อของบทออกไปแทบสิ้นซาก เหลือแต่การเปิดตัวละคร รามา(อิโก อูไวส์) ที่จูบลาเมียท้องแก่ ก่อนที่จะออกไปร่วมภารกิจจับตัวเจ้าพ่อค้ายาเสพติดระดับประเทศที่อาศัยตึก 30 ชั้นเป็นแหล่งกบดาน ซึ่งมันใช้เวลาบิ๊วอารมณ์ผู้ชมให้ตื่นเต้นด้วยยุทธวิธีตั้งแต่หน้าตึกเป็นต้นไป ก่อนที่จะเพิ่มดีกรีความรุนแรง ด้วยความโหดเหี้ยม หวาดเสียว เลือดพล่าน การหนีเอาตัวรอดของหน่วยสวาท ที่กลายเป็นผู้หนีเอาชีวิตรอดซะเองหลังถูกจับได้ด้วยกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ทั่วตึก

ภาพความรุนแรงในระดับน่าสยดสยองถูกใส่เข้ามาพอๆ กับความจริงจังของฉากต่อสู้ การยิงในระดับระเบิดหัวจนเลือดแตกซ่าน การจับหัวกระแทกข้างฝาจนหน้ายุบ การฆ่าอย่างเลือดเย็นและโหดเหี้ยมไร้ความปรานี เป็นความสมจริงที่โหด ดิบ เถื่อน สร้างความสะใจให้แฟนหนังที่คลั่งไคล้ในหนังแอคชั่นสไตล์นี้ได้อย่างมากโข



กระนั้นส่วนที่เป็นจุดเด่นที่สุดของ The Raid เห็นจะไม่พ้นในการออกแบบลีลาท่าทางในการต่อสู้ที่ผสมผสานของศิลปะการต่อสู้ ‘ปันจักสีลัต’ ได้แบบสวยงาม น่าติดตาม รวมทั้งจังหวะกำกับการตัดต่อ การดีไซน์ลีลาท่าทาง มีความลื่นไหลสมูธ ไม่ขัดลูกหูลูกตา อย่างที่หนังฝรั่งส่วนมากมักจะเป็น

และด้วยความที่หนังมีพล็อตเรื่องประเด็นเดียวและบางเบา ซึ่งมันเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งในที่นี้คือมันไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงในเหตุผลอะไรของเนื้อเรื่องให้มากมาย เพราะเมื่อมันขายความเป็นหนังแอคชั่นอยู่แล้ว ผู้ชมส่วนมากจึงวาดฝันว่าจะมาปลดปล่อยอารมณ์ในการชมสไตล์การต่อสู้ที่เป็นจุดขาย ซึ่งในจุดนี้หนังได้ปรนเปรอผู้ชมอย่างอิ่มหมีพีมัน โดยไม่ให้ความซับซ้อนของบทมากั้นกลางระหว่างสิ่งเหล่านี้แต่อย่างใด

ส่วนจุดอ่อนนั้นมันทำให้หนังแทบหาที่ยึดจับอะไรไม่ได้เลย เห็นได้จากฉากพูดจากันของตัวละคร ซึ่งมีน้อยนิด แทบนับครั้งได้ เนื้อเรื่องดำเนินไปด้วยการเน้นย้ำการต่อสู้ ซึ่งไม่ต่างจากการเล่นเกมส์ตะลุยด่าน และด้วยการที่หนังเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ ดั่งจุดไคลแม็กซ์อยู่ในช่วงต้นของหนัง มันทำให้ดีกรีความสนุกมันตกลงเรื่อยๆในช่วงท้าย จนทำให้ไม่เหลือความน่าตื่นเต้นมากพอในฉากที่ต่อสู้โดยใช้มือเปล่า ทั้งๆที่มันน่าจะเป็น ฉากที่ออกแบบลีลาท่าทางที่ดีที่สุดของ ‘ปันจักสีลัต’ ในเรื่องนี้เลยทีเดียว



อย่างไรก็ตามแม้ช่วงหลังความมันส์ เร้าใจจะลดน้อยถอยลงเทียบเท่าชีพจรคนปกติ แต่ด้วยคุณงามความชอบที่ดีในช่วงออกตัว มันทำให้ภาพรวมของหนังเรื่องนี้ยังเป็นหนังที่อยู่ในเกณฑ์ดีในระดับมาตรฐานหนังแอคชั่น ที่มาพร้อมความครบรสในแง่ของความบันเทิงเร้าใจที่ปลุกระดมทางด้านภาพ อารมณ์ และยังได้เสียงดนตรีประกอบของ ไมค์ ชิโนดะ เข้ามาเร่งเร้าให้ถึงขั้นขีดสุด

โดยในแง่ความเป็นฮีโร่นั้น The Raid ไม่ได้ยกย่องเชิดชูตัวละครเอกอย่าง อิโก อูไวส์ จนเกินงาม เหมือนที่หนังสไตล์นี้เคยเป็นมา แต่สร้างความเป็นมนุษย์ให้ตัวละครได้อย่างปกติ ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ ว่าเขายังเป็นมนุษย์เดินดินปกติทั่วไป ไม่ใช่ผู้วิเศษที่สามารถกำราบใครได้เป็นร้อยเป็นพันอย่างง่ายดาย และพร้อมจะเสียท่าต่อคู่ได้ทุกเมื่อ โดยใช้อารมณ์ของการจนตรอกเพื่อหาทางเอาตัวรอดกลับไปหาเมียที่กำลังท้องแก่ใกล้คลอดให้จงได้ รวมทั้งการเฉลี่ยเกลี่ยไกล่ความสามารถในแง่ของการต่อสู้ไปในหลายๆ ตัวละคร ไม่เว้นกระทั่งตัวละครฝั่งศัตรู ที่ไม่ใช่เป็นเพียงตัวประกอบ ที่จ้างมาโดนกระทืบตายเพียงเท่านั้น แต่ยังถูกฝึกฝนหรือออกแบบมาเพื่อให้สร้างความสมดุลให้กับเรื่องราวโดยรวมให้เสมอภาคกัน

ดังนั้น The Raid Redemption จึงเป็นหนังแอคชั่น ที่คงคอนเซปต์ความเป็นศิลปะป้องกันตัวไว้ได้ย่างครบถ้วนลงตัว โดยยืนอยู่ในความสมจริง เลือดสาด เฉกเช่นการต่อยเตะที่เป็นเหมือนของจริง แม้บทหรือพล็อตเรื่องของภาพยนตร์จะเบาบาง แต่หากมองหาความหมายของแก่นเรื่องแล้วนั้น The Raid ของ ‘แกเร็ธ อีแวนส์’ ได้วิพากษ์จิกกัดสังคมในเรื่องของการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างพอเป็นพิธี



บางครั้งความรู้สึกหลังดูจบ แม้จะอัดแน่นไปด้วยฉากการต่อสู้ และการเผชิญหน้าระหว่าง ตำรวจกับพ่อค้ายาเสพย์ติด แต่ในความจริงนั้นมันเป็นไปในเรื่องของผลประโยชน์และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับที่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกันจะเหมือนเป็นเฉกเช่นสายเลือดเดียวกันได้ ยิ่งหนังสอดแทรกความเป็นสายเลือดเดียวกันของพี่น้องที่อยู่คนละฝั่งฝ่ายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ในวงการยาเสพย์ติดที่อยู่ได้นั้นอาจเพราะการเกื้อหนุนที่ดีจากเส้นสายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เพื่อการได้รับสินบนชั้นยอดด้วย

มันจึงเป็นการเสียดสีแดกดัน ในปัญหาระดับชาติของหลายประเทศ ไม่เพียงแม้แต่อินโดนีเซีย หรือประเทศอาเซียนรอบด้าน ที่ไม่สามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ ใช่ว่าหนักเกินแก้แต่อย่างใด แต่ด้วยผลประโยชน์มหาศาลก่อเกิดความแน่นแฟ้นทางสัมพันธ์ที่ไม่อาจตัดขาดลงได้ ดั่งตำรวจกับผู้ร้ายระดับชาติเป็นพี่น้องร่วมสาบานกันเลยทีเดียว



ทั้งหมดทั้งมวลจึงแสดงให้เห็นว่า The Raid ที่ฉาบด้วยฉากแอคชั่นสุดมันส์ แต่ก็พยายามเสนอแง่เนื้อของประเด็นทางสังคม เพื่อชี้นำให้เห็นถึงปัญหาที่ยังคาราซังอยู่ และด้วยการตอกย้ำความเป็นมนุษย์ ‘รามา’ ที่กลายเป็นเครื่องมือของผลประโยชน์อันน่าเวทนา ทั้งที่หลงคิดว่าการกระทำของตนเองสำคัญเท่าไหร่ แต่หารู้ไม่ว่า บางครั้งการกระทำเราก็เป็นเพียงกลไกเครื่องมือของชนชั้นนำทางสังคม ที่เคลือบแฝงด้วยผลประโยชน์อันซ่อนเร้น

บางทีการตกเป็นเครื่องมือมนุษย์ทางสังคม การเห็นแก่ตัวเพื่อเอาตัวรอดก็สำคัญ เพราะความตายที่อาจหลงคิดว่าเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของเรานั่นอาจเป็นเกมโลภะของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น และการเสี่ยงตายเพื่อผลประโยชน์ของคนเหล่านั้นมันช่างไม่คุ้มค่าเสียจริงๆ เพราะสุดท้ายคนเหล่านั้น ก็จูบปากกันอยู่ดี

“ความตายบางครั้งของมนุษย์เรา จึงเหมือนมีค่าแค่เป็นแค่หนังแอคชั่นเท่านั้น ไม่เห็นมีคุณค่าอะไรเลย” - นอกเสียจากเราจะรู้เท่าทันมัน

คะแนน 8.5/10
เกรด A+



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์

ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนให้คะแนนมากที่สุดประจำปี 2012

Moonrise Kingdom 9
แต่เพียงผู้เดียว 9
The Cabin in the Woods 8.5
The Avengers 8.25
From up on Poppy Hill 8
Prometheus 8




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2555
1 comments
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2555 10:06:31 น.
Counter : 6321 Pageviews.

 

ผมให้ B เพราะบทอ่อนมาก..

 

โดย: Kimmy IP: 110.171.67.8 29 พฤศจิกายน 2555 8:55:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]