ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
28 มกราคม 2555

Pan's Labyrinth (2006)

สารบัญภาพยนตร์

Pan's Labyrinth(2006)


นิทานปรัมปรา เจ้าหญิง ความตายและความเป็นอมตะ




*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*

ผู้กำกับ Guillermo del Toro

หากชำแหละโครงเรื่อง Pan's Labyrinth จะพบเห็นว่าไม่ต่างไปจากนิทานปรัมปราสำหรับเด็ก ซึ่งมักจะมีเหตุการณ์ให้ตัวละครเอกที่มักเป็นผู้หญิงที่ต้องเผชิญชะตากรรมอย่างแสนสาหัสไม่ว่าจะเป็นจากมนุษย์ด้วยกันเอง หรืออาจเป็นแม่มด หรือหมาป่าก็ตาม ก่อนที่สุดท้ายเจ้าชาย(พระเอก)รูปงามจะมาช่วยเหลือและขจัดคำสาปให้เจ้าหญิงและทั่งคู่ก็จะอยู่ครองรักไปตราบนานเท่านาน

ความน่ารักผสมจินตนาการของนิทานปรัมปราทำให้นิทานเหล่านี้เป็นนิทานยอดนิยมก่อนนอนของเด็กๆ มาอย่างช้านานไม่ว่าจะผ่านกาลเวลามานานแค่ไหน โดยนิทานชื่อดังที่ยังอยู่ในความทรงจำไม่เว้นกระทั่งเด็กหรือผู้ใหญ่ก็คงไม่พ้นเรื่อง ซินเดอเรลล่า (Cinderella), หนูน้อยหมวกแดง (Little Red Riding Hood), เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty)และ สโนว์ไวท์ (Snow White) เป็นต้น

Pan's Labyrinth ของผู้กำกับ Guillermo del Toro มีทิศทางไปทางนิทานปรัมปราอย่างเห็นได้ชัด 1.ตัวละครหลักเป็นเด็กผู้หญิงซึ่งกำลังจะก้าวผ่านไปสู่วัยผู้ใหญ่ 2.มีเทพารักษ์หรือนางฟ้าที่ทำให้โลกของโอฟีเลียกลายเป็นโลกแห่งจินตนาการ 3. มีความขัดแย้งหลักๆกับบางสิ่งทั่งมนุษย์ด้วยกันเองหรือจะเป็นกับภารกิจการทดสอบความเป็นเจ้าหญิง และที่สำคัญการขัดแย้งหลักๆที่เกิดมาจากตนเอง ก็คือการที่จะต้องเรียนรู้การเติบโต การเรียนรู้การคลอดลูกของแม่ การเรียนรู้ว่าโลกจินตนาการเป็นโลกแห่งความฝันโลกของโลกแห่งหนังสือก่อนนอนเท่านั้น

ที่กล่าวมาทำให้แน่ใจได้ว่า Pan's Labyrinth มีส่วนผสมหรือได้แนวคิดหลักมาจากการสร้างโลกจิตนาการของนิทานปรัมปราเป็นหลักแต่อาจจะไม่ทั้งหมดซะทีเดียว เพราะผู้กำกับได้ลดทอนจุดสูงสุดของเรื่องอย่างที่มันควรจะเป็น ซึ่งก็คือ การรอคอยเจ้าชายหรือพระเอกมาปลดแอกอิสรภาพและจบลงอย่างมีความสุขซึ่งกลับไม่พบให้เห็นในเรื่องนี้

นั่นแสดงว่า Guillermo del Toro ปล่อยให้ตัวละครหญิงทนทุกข์ทรมานตลออย่างสาสมมิหนำซ้ำยังปล่อยให้ตอนจบตายเศร้าแบบน่าสงสารเสียอีก จึงอาจเอ่ยได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น Dark Fantasy อย่างชัดเจน หรือเป็นนิทานปรัมปราที่มีความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์มากที่สุด และที่สำคัญเด็กที่ยังไม่พร้อมเรียนรู้โลกที่แสนโหดร้ายไม่เหมาะจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเด็ดขาด

ความยาว 2 ชั่วโมง



เรื่องราวเริ่มต้นแบบคู่ขนานในโลกของโอฟีเลีย(Ivana Baquero) โลกแห่งความจริงในยุคที่ถูกปกครองในระบอบฟาสซิสต์ และโลกแห่งจินตนาการที่เธอกำลังจะกลับไปเป็นเจ้าหญิงโมอานน่า เธอกับคาร์เมน (Ariadna Gil) แม่ของเธอได้เข้าไปอยู่กับผู้กองวิดัล (Sergi López) สามีคนใหม่ของคาร์เมน ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้มาปราบปรามฝ่ายซ้ายที่หลบอยู่ในป่า โลกแห่งความจริงแบบสงครามกำลังดำเนินไป โอฟีเลียบังเอิญไปพบกับฟอน(เทพารักษ์) ที่ปรากฏกายพร้อมกับบอกว่าเธอคือเจ้าหญิงโมอานน่า และหากเธอทดสอบภารกิจ 3 ประการก่อนคืนพระจันทร์เต็มดวง เธอจะได้กลับไปเป็นเจ้าหญิงครองความยุติธรรมอยู่กับพระราชาตลอดกาล

สิ่งหนึ่งผู้กำกับ Guillermo del Toro แฝงไว้ชัดเจนกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ การวิพากษ์การเมืองในแบบฟาสซิสต์ฟรังโก้ในประเทศสเปนที่เรืองอำนาจในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงและให้อำนาจรัฐอย่างสูงส่ง จนอาจให้คำนิยามว่าระบอบนี้หมายถึงความชั่วร้ายไม่ต่างกับปีศาจ(Evil) การไร้ซึ่งมนุษยธรรม ขาดศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งปรากฏชัดเจนในการถ่ายทอดผ่านตัวผู้กองวิดัล

ฉากที่บ่งบอกความเป็นปิศาจร้ายชัดเจนที่สุดนั่นคือ ฉากที่มีนายทหารมาแจ้งต่อผู้กองว่าได้จับพ่อลูกคู่หนึ่งในป่าและอาจระแวงว่าอาจเป็นพวกฝ่ายซ้าย การสอบสวนซักถามเกิดขึ้นแบบไม่ประนีประนอม แม้ลูกชายจะพยายามบอกว่าเขากับพ่อแค่ออกมาล่าหากระต่ายกิน แต่ด้วยความแสดงถึงอำนาจที่เกินล้นมือ จึงได้เอาปลายกระบอกปืนกระทุ้งหน้าของลูกชายจนยุบ และยังยิงผู้เป็นพ่อซ้ำ และกลับมาค้นหากระเป๋าและพบว่า ในกระเป๋ามีกระต่ายจริง แต่แววตาผู้กองกลับไม่มีความสลดในการฆ่าผู้บริสุทธิ์หลงเหลืออยู่เลย จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ผู้กองวิดัลเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นปีศาจมอนสเตอร์ ในโลกของนิทานเลย

แต่ความขัดแย้งอย่างน่าขบขันที่หนังนำเสนอให้เห็นในตัวผู้กองก็คือ ทุกครั้งที่อยู่ในห้องของตัวเอง อาจหมายถึงโลกส่วนตัวของเขาก็ได้ เขามักจะเปิดแผ่นเสียงคลาสสิกคลอไปขณะโกนหนวดเครา หรือนั่งจิบเหล้าไปอย่างสบายอารมณ์ และการเน้นย้ำจากมุมกล้องทำให้ผู้ชมคงรู้สึกยิ้มแหยงๆอยู่ในใจ จากอารมณ์สุนทรียะของผู้กองซึ่งมันช่างขัดแย้งกับพฤติกรรมที่ถูกถ่ายทอดออกมาตลอดเรื่องเลยทีเดียว

ภาพยนตร์ถูกถ่ายทอดซ้อนทับกันระหว่าง 2 โลก ที่เด็กหญิงโอฟีเลียเป็นผู้ควบคุมอยู่ แต่ถ้าหากพินิจพิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า 2 โลกของโอฟีเลียมีความใกล้เคียงกัน(มีความโหดร้ายพอกัน) จนทำให้โอฟีเลีย ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าโลกไหนคือโลกแห่งความเป็นจริง ชัดเจนที่สุดก็คือโลกแห่งความจริงสากลนั้นเป็นโลกจริงที่ผู้ชมกำลังเฝ้าดูอยู่ มีสงครามจริง เป็นบาดแผลลึกๆของคนรุ่นหลังจริง เป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งที่ไม่น่าจดจำจริง แต่สำหรับโอฟีเลียแล้วผู้ชมไม่แน่ชัดว่าโลกใดคือโลกแห่งความจริงของเธอ




เพราะเหตุใดโอฟีเลีย จึงเฉยชาโลกแห่งความจริง(สงคราม) ?


โอฟีเลีย เติบโตด้วยนิทานเทพนิยายที่คลั่งไคล้ด้วยเรื่องราวจินตนาการที่อยู่ในหนังสือ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอต้องนำหนังสือติดตัวมาอย่างมากมายในบ้านใหม่ของเธอ ไม่แน่ชัดว่าพ่อของเธออาจเป็นฝ่ายซ้ายและถูกฆ่าตาย บวกกับสงครามกลางเมืองที่กำลังปะทุ และช่วงเวลาของโอฟีเลียที่กำลังเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่เธอจะต้องยอมรับว่าโลกของเทพนิยายเป็นแค่ความฝัน แต่ด้วยความขัดแย้งของโลกแห่งความจริง สงคราม ความขัดแย้ง ความโหดร้าย ซึ่งทำให้โอฟีเลียอาจรับไม่ได้กับสิ่งที่เธอต้องเผชิญรับมือในอนาคต รวมทั้งการรับมือกับการต้องโตเป็นผู้ใหญ่ การต้องเข้าใจว่าผู้หญิงต้องมีลูก แล้วต้องเจ็บปวดแสนสาหัสเพียงใด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอต้องหลบลี้เข้าไปสู่โลกจินตนาการเหมือนเด็กไม่รู้จักโต




โลกแห่งเทพนิยาย โลกแห่งอุดมคติของโอฟีเลีย


หากกะเทาะความคิดของเด็กหญิงโอฟีเลียให้เป็นดังรูปธรรมในการการรู้จักเธอเพียง 2 ชั่วโมง เราอาจจะต้องเริ่มต้นกันในฉากที่เธอย้ายเข้ามาบ้านใหม่ในคืนแรก แม่ของโอฟีเลียให้เธอเล่านิทานให้น้องในครรภ์ฟัง การที่โอฟีเลียย้ายมาบ้านใหม่ในคืนแรกซึ่งอยู่กลางป่า ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เธอจะกลัวด้วยความไม่คุ้นชินกับสถานที่ แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่า ชีวิตใหม่ท่ามกลางพงไพรอาจทำให้เธอเข้าถึงโลกแห่งอุดมคติที่เธอเฝ้าฝันได้อย่างไม่ยากเย็น และข้อสังเกตของนิทานที่เธอเล่าให้น้องฟัง อาจตีความถึงจิตของโอฟีเลียที่บ่งบอกถึงบางสิ่งบางอย่างที่เธอต้องการไขว่คว้าก็เป็นได้

นิทานของโอฟีเลีย กล่าวถึงดอกกุหลาบวิเศษที่ใครก็ตามที่เด็ดมันไปก็จะมีชีวิที่เป็นอมตะ แต่ไม่มีใครกล้าที่จะเข้าไปใกล้ดอกกุหลาบ เพราะเถากุหลาบเต็มไปด้วยพิษร้าย ชาวบ้านแม้จะกลัวความตายสักเท่าไหร่แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงชีวิตอันเป็นอมตะ ทำให้สุดท้ายดอกกุหลาบก็แห้งเหี่ยวร่วงโรยไปจนไม่สามารถหยิบยื่นความเป็นอมตะให้กับผู้ใดได้อีกต่อไป

เป็นไปได้มั้ยว่าโอฟีเลียมีความเชื่อในความเป็นอมตะ หรือโลกอีกโลกที่เป็นโลกแห่งอุดมคติ ซึ่งใช้เธอใช้ดอกกุหลาบวิเศษสื่อแทนออกมา และถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่า โลกแห่งอุดมคติที่มีความเป็นอมตะนั้นคือสิ่งที่มนุษย์ใฝ่หากันมาอย่างช้านาน ตามตำนานที่เล่าขาน แต่ด้วยเถาวัลย์คดเคี้ยวที่เต็มไปด้วยหนามและพิษร้ายยากที่มนุษย์จะเข้าถึง แค่หนามพิษเพียงเท่านั้นหรือ? ที่ทำให้มนุษย์ยอมรับชะตากรรมแห่งความตายโดยไม่ปริปากบ่น หากมันเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากเข้าไปถึงแสดงว่าโอฟีเลียก็ต้องการเข้าไปให้ถึงเช่นกัน

ดังนั้นถ้าหากพินิจพิเคราะห์ก็จะพบว่าสิ่งที่มันทำให้โอฟีเลีย อึดอัดกระอ่วมใจก็คงไม่พ้นเรื่อง สงคราม ความขัดแย้ง ความโหดร้ายของมนุษย์ หรืออาจตีความโดยนัยว่า พิษหนามร้ายของโอฟีเลียอาจหมายถึงสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้มนุษย์ต้องหยุดค้นหาความสมบูรณ์ของโลกแห่งอุดมคติในทางจิตใจ และแย่งชิงฟาดฟันกันด้วยอำนาจแห่งโลกวัตถุจนลืมไปว่าสักวันคนทุกคนต้องตายลง




ผู้กองวิดัล VS โอฟีเลีย ตัวแทนความคิดของ 2 ขั้วขัดแย้ง


โอฟีเลีย มีความคิดขัดแย้งกับผู้กองวิดัล(Sergi López) โดยสิ้นเชิง แต่ความคิดของโอฟีเลียไม่ได้ยึดติดแค่อุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่ เมอร์เซเดส(Maribel Verdú) หรือคุณหมอ(Álex Angulo) เป็นโดยทั้งสองอยู่ฝ่ายซ้าย (เชื่อเหลือเกินว่าผู้ชมก็อยู่ฝ่ายซ้ายเช่นเดียวกัน คงไม่มีในยุคปัจจุบันที่อยากให้รัฐปกครองในระบอบฟาสซิสต์หรือนาซี) แต่สำหรับโอฟีเลีย เธอมีความลึกซึ้งในระบบความคิดมากกว่าคนปกติทั่วไป ไม่ได้ต้องการแค่ศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่ทุกคนต้องการ แต่เธอมีจินตนาการในระดับนักปรัชญาที่ต้องการเข้าถึงโลกที่เป็นแห่งอุดมคติ โลกที่เธอบอกว่าเธอจะได้เป็นเจ้าหญิง ดังนั้นไม่ว่าผู้ชมจะเชื่อหรือไม่ว่าโลกของจินตนาการของโอฟีเลียมีจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจคือโอฟีเลีย มีคุณสมบัติแห่งความคิดที่แตกต่างกับทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับผู้กองวิดัลนั้น ไม่ต้องหาเหตุผลมากมายมาสนับสนุนเพราะสิ่งที่เขาแสดงออกมาสื่อแทนตัวอย่างชัดเจนทั้งหมด การใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่ง การฆ่าคน และมองผู้คนที่ต่ำกว่าไม่ต่างจากสัตว์ และคิดว่าตัวเองสูงส่ง นั่นบ่งบอกแนวคิดของเขาได้ดี ว่ายึดติดในโลกแห่งความจริงเพียงใด เพราะโลกแห่งความจริงมันทำให้เขามีแทบทุกสิ่งที่มากกว่ามนุษย์จะมี ทั้งชื่อเสียง เงินทอง ลาภยศ การยึดติดในวัตถุ นาฬิกาเป็นการสื่อแทนได้อย่างดี ในการยึดติดศักดิ์ศรี การส่งต่ออุดมการณ์ทางความคิดของนายทหารจากพ่อ และเขาก็อยากสืบทอดอุดมการณ์ผ่านทางนาฬิกาให้กับลูกของเขาเป็นทอดต่อๆไป




โอฟีเลีย เด็กผู้หญิงที่เข้าถึงความหมายชีวิตด้วยตัวของเธอเอง


แม้โอฟีเลีย จะยังเป็นเด็ก แต่โอฟีเลียก็ใช้เหตุผลของตัวเองเป็นที่ตั้ง และสืบเสาะหาความหมายของตัวเอง โดยไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด โดยเฉพาะสิ่งเธอคิดว่าจะเป็นสิ่งชั่วร้ายในสายตาเธอ การหนีแม่ไปทำภารกิจของฟอนที่ให้ตามหากุญแจในท้องคางคกยักษ์ การรู้สึกดีใจที่รู้ว่าการกระทำเธอทำให้ผู้กองวิดัลโกรธ การขัดขืนคำสั่งแม่ที่หมายถึงการขัดคำสั่งผู้กองในการแอบกินองุ่นจนทำมนุษย์ผิวซีดออกอาละวาด การไม่เชื่อนางฟ้าแต่กลับเชื่อตัวเองในการไขกุญแจตามที่ใจตัวเองต้องการ หรือจะเป็นการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเทพารักษ์ที่มาอย่างดุร้ายจนทำให้เธอชักไม่แน่ใจว่าเธอควรจะไว้ใจเขาดีหรือเปล่า และที่สำคัญการไม่ยอมให้ฆ่าเด็กในการสังเวยเพื่อประตูมิติจะได้เปิด

ทั้งหมดทั้งมวลจึงกล่าวได้ว่า เด็กน้อยโอฟีเลีย ใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่และกล้าที่จะขัดขืนต่อทุกสิ่งที่เธอเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร และยอมที่จะสละความสุขของตัวเองที่จะได้เป็นเจ้าหญิงเพื่อที่จะให้น้องของเธอรอด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากผู้กองวิดัลคือความชั่วร้ายที่หลงอยู่ในกิเลสตัณหาของโลกแห่งความจริง แต่โอฟีเลีย ได้หลุดจากสิ่งเหล่านี้และพบคุณค่าชีวิตของตัวเอง ในการมีคุณธรรม และการใช้เหตุผล ซึ่งผู้กองวิดัลไม่มี




ความตายไม่ใช่การสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้นในโลกแห่งอุดมคติ


สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความกล้าหาญและความคุณธรรมของโอฟีเลียได้อย่างชัดเจนก็คือในฉากที่เธอต่อล้อต่อเถียงกับเทพารักษ์ที่ต้องการใช้เลือดของน้องเธอสังเวยเพื่อเป็นการเปิดประตูมิติและจะทำให้เธอได้เป็นเจ้าหญิง แต่เธอกลับยอมปิดกั้นในการเข้าถึงโลกอุดมคติที่เธอใฝ่หาทันทีและยอมอยู่ในโลกแห่งความจริงที่แสนโหดร้ายต่อไป หากว่าสิ่งที่เธอได้รับมันได้ขัดต่ออุดมการณ์ทางจิตใจของเธอ นั่นบ่งบอกว่าเธอยอมละทิ้งสิ่งที่เธอต้องการได้ทันทีแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เธอใฝ่หามาตลอดช่วงชีวิตก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติขั้นสูงของนักปกครองที่ดี ที่ขัดแย้งกับตัวผู้กองวิดัลอย่างสิ้นเชิง

แม้ในฉากต่อมาผู้กองวิดัลจะตามหาโอฟีเลียจนเจอและใช้ปืนยิงโอฟีเลียจนตายก็ตาม แต่มันคงสายไปเพราะจิตวิญญาณของเธอที่ได้ต่อสู้และกระทำมาแม้จะเป็นช่วงเวลาน้อยนิด แต่มันก็ได้รับการพิสูจน์ในความมีคุณธรรมของเธอ และแม้ว่าในมุมมองของใครจะเห็นเด็กหญิงโอฟีเลียนอนตายจมกองเลือดก็ตาม แต่ชั่วอึดใจหนึ่งจิตวิญญาณของเธอก็ได้ล่องลอยไปสู่โลกอุดมคติหรือความเป็นอมตะที่งดงาม ซึ่งโลกที่เธอเข้าไปถึงไม่ใช่เพราะเทพารักษ์หรือใครแต่เธอเข้าไปด้วยความงดงามและความดีของตัวเธอเอง จึงเป็นโลกที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้นอกจากต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง



อาจกล่าวสรุปได้ว่าภาพยนตร์แนวแฟนตาซีเรื่อง Pan's Labyrinth มีการนำโครงเรื่องนิทานปรัมปรามาปรับปรุงดัดแปลง การแสดงภาพตัวละครหลักผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงจากเด็กหญิงอ่อนแอทางร่างกายกลายเป็นเด็กหญิงมีคุณธรรมและขัดขืนต่อความชั่วร้ายด้วยตัวเองแม้สมรรถนะทางร่างกายยังอ่อนแอเหมือนเดิมก็ตาม และการวิพากษ์สงครามที่เป็นสิ่งชั่วร้ายในทุกยุคทุกสมัย บวกทั้งการใส่ความคิดที่ซับซ้อนที่อาจดูเป็นเรื่องจินตนาการของเด็กๆ แต่หากมองและวิเคราะห์เชิงลึกอาจพบความคิดในแบบนักปรัชญาที่เด็กน้อยโอฟีเลียใคร่ครวญถึง

ดังนั้น Pan's Labyrinth จึงไม่ใช่หนังที่เด็กควรดูอย่างแน่นอนทั้งภาพความรุนแรงต่างๆ และที่สำคัญความคิดเชิงนามธรรมที่ถูกแฝงไว้กับโอฟีเลีย แต่เป็นหนังที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ชมและไตร่ตรองความคิดถึงโลกจินตนาการที่อาจถูกดูดหายไปตามกลาเวลาและอาจมองโลกคุ้นเคยชินในแบบผู้ใหญ่ หรือเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม จนอาจลืมไปว่า การค้นหาความหมายของชีวิตยังควรดำเนินต่อไป และบางทีโลกจินตนาการในแบบเด็กๆอาจกลับมาและทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างรู้คุณค่า สร้างความหมายให้ชีวิตเพื่อดำเนินอย่างมีความหวัง ดีกว่าใช้ชีวิตแบบผ่านๆไป เพียงเพื่อตอบสนองความสุขทางประสาทสัมผัส และยอมรับว่าเราก็แค่สิ่งที่ผ่านในกระแสกาลเวลามาและผ่านไป โดยหลงลืมคุณค่าทางจิตใจในการเป็นมนุษย์ที่สูงส่ง

โอฟีเลียไม่ต่างกับดอกไม้ที่ผลิตดอกหอมหวลมาให้ชนรุ่นหลังชื่นชม มนุษย์ก็เช่นกัน มนุษย์คือความงดงามที่ถูกผลิตขึ้นมาบนโลกใบนี้ แต่เราต้องค้นหาหนทางนำไปสู่ความงดงามนั้นให้จงได้ ไม่ว่าจะยากเย็นเท่าไหร่ก็ตาม

คะแนน 8.75/10
เกรด A+



แนะนำเพลง
เพลงผิวปากของเมอร์เซเดส



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์




 

Create Date : 28 มกราคม 2555
1 comments
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2555 17:28:41 น.
Counter : 3589 Pageviews.

 

หนังโปรดเลยครับ เรื่องนี้

 

โดย: navagan 29 มกราคม 2555 19:16:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]