ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
14 กรกฏาคม 2555

The Amazing Spider-Man (2012)

สารบัญภาพยนตร์

The Amazing Spider-Man (2012)


สมการชีวิตของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์




เกริ่นนำด้วยประโยคซ้ำซากที่ต่างใช้กันในทุกบทความ นั่นคือ การรื้อเครื่องรีบู๊ตสไปเดอร์ใหม่ของ โคลัมเบีย พิคเจอร์ ในครั้งนี้ต่างถูกเคลือบแคลงสงสัยว่าเพราะเหตุใด ? ที่กล่าวเช่นนี้เพราะหากนับเวลาของการรีบู๊ตใหม่จากภาคเก่าจวบถึงภาคปัจจุบันมีระยะห่างกันเพียง 10 ปีเท่านั้น และเหลือเพียง 5 ปีหากนับจากการออกฉาย Spider-Man 3 ภาคล่าสุด ในปี 2007

ข้อครหาสำคัญคือ แซม ไรมี่ หมดมุขแล้วใช่ไหมกับการสร้างจักรวาลของสไปเดอร์แมนให้ยืดยาวต่อไปในภาค 4 อย่างที่ควรเป็น เป็นเหตุที่ทำให้ทางสตูดิโอต้องหาหนทางที่จะทำให้ Spider-Man ยังคงปล่อยใยออกมาดูดทรัพย์เหมือน 3 ภาคก่อนหน้านี้ที่กวาดรายรับทั่วโลกไปเกือบ 2500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขที่มากล้นขนาดนี้ ผู้บริหารหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน คงไม่กล้าปล่อยโปรเจคโกยรายได้ในครั้งนี้หลุดมือออกไปเป็นแน่ นี่จึงเป็นที่มาของการรีบู๊ตใหม่อย่างรวดเร็วของภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางรายได้ครั้งต้นๆของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เลยทีเดียว

หลายสิ่งเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจนสุดท้ายหวยมาตกที่ผู้กำกับ มาร์ค เว็บบ์ ที่เคยฝากผลงานโรแมนติกคอเมดี้ (500) Days of Summer ไว้ในปี 2009 ผู้ที่จะมาสร้างจักรวาลของสไปเดอร์แมนขึ้นมาใหม่ ให้แตกต่างและคู่ขนานไปกับโลกใบเก่า โดยเน้นที่ตัวตนของ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (แอนดรูว์ การ์ฟิล์ด) ในสมัยไฮสคูลเป็นแกนหลักของการยกเครื่องใหม่ในครั้งนี้

เป็นสิ่งแน่นอนที่มีหลายฝ่ายออกมากล่าวต่อต้านอย่างมีอคติในการรีบ-รีบู๊ตสไปเดอร์แมนภาคนี้ เพราะทุกคนเล็งเห็นแล้วว่าการสร้างเป็นดังเกมธุรกิจของผู้บริหารที่หวังต่อยอดกำไรของเก่ามาทำใหม่เพื่อหวังโกยทรัพย์ได้อย่างมหาศาล และหลายคนยังเชื่อว่าตัวหนังคงไม่มีทางไปไกลกว่าของ แซม ไรมี่ อย่างแน่นอน

จนกระทั่งเมื่อภาพยนตร์ได้เข้าฉาย สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกหนีไม่ได้คือการเปรียบเทียบกันระหว่างของเก่าและใหม่ แต่ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ชัดว่าภาคไหนที่เด็ดกว่ากัน เพราะผู้ชมและนักวิจารณ์ต่างเสียงแตกออกจากกันอย่างสูสี แต่ถึงอย่างไร ความดั้งเดิมก็น่าจะเป็นอะไรที่จดจำได้มากกว่า มิเช่นนั้นแล้วคงไม่มีการเกิดขึ้นของภาคใหม่เป็นแน่

สำหรับผู้เขียนนั้นไม่สามารถหาเครื่องมือวัดใด ที่จะมาสรุปว่าภาคไหนชนะใครอย่างถ่องแท้ หากดึงดันที่จะกล่าวว่าภาคไหนเหนือกว่าใคร คงเป็นเพียงความรู้สึกเฉพาะตัวเพียงเท่านั้น มิได้เป็นมาตรฐานแกนกลางแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ปรากฏชัดระหว่างทั้งสองภาคมีจุดเด่นและเสน่ห์แตกต่างกันออกไป จึงอาจเรียกได้ว่า จักรวาลของสไปเดอร์แมนทั้งสองภาคนั้น เป็นจักรวาลคู่ขนานที่ไม่มีทางบรรจบกันได้ ไม่ว่าจะมีใครพยายามเทียบเคียงให้มันกลายเป็นโลกใบเดียวกันก็ตาม



เรื่องราวเริ่มต้นโดยการย้อนอดีตในวัยเด็กของ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ กับพ่อแม่นักนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องเก็บข้าวของออกจากบ้านและพาตัวปีเตอร์ไปฝากไว้กับ ลุงเบน (Martin Sheen) และป้าเมย์ (Sally Field) ก่อนที่ภาพยนตร์จะกลับมาสู่เวลาปัจจุบันในความเป็นวัยรุ่นของปีเตอร์ วัยแห่งการค้นหาตัวเอง ในวันที่ปีเตอร์อาจรวมถึงวัยรุ่นทุกคนในวัยนี้ต่างตามหาสิ่งบางอย่างเพื่อก้าวข้ามไปสู่อนาคตหรือเป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำกับได้ป่าวประกาศออกมาก่อนแล้วว่านี่คือประเด็นสำคัญของเรื่องคือการค้นหาตัวตนของ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าความเป็น สไปเดอร์แมน ด้วยซ้ำไป

ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ เติบโตอยู่ในความดูแลของ ลุงเบนและป้าเมย์ โดยเขาไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าพ่อแม่ของเขาคือใคร นี่คือปมชีวิตสำคัญของปีเตอร์ที่ทำให้ชีวิตของเขาขาด ขาดความรักของพ่อแม่ แม้ตัวเขาและลุงป้าจะรู้ถึงช่องว่างตรงนี้ แต่ก็ไม่สามารถเติมเต็มให้กันและกันได้ จึงเป็นช่องว่างของความขาดที่ ปีเตอร์ พยายามค้นหากลับคืนมา



กระเป๋าของพ่อที่ปีเตอร์ค้นพบในห้องใต้ดิน เป็นก้าวย่างที่สำคัญของปีเตอร์ในการค้นหาความหมายของตนเอง ในความลี้ลับบางอย่างที่พ่อได้กระทำไว้ในอดีต ประเด็นหนึ่งที่ปีเตอร์สงสัยคือ พ่อและแม่จากเขาไปทำไม และพวกเขาหนีจากอะไร นี่เป็นคำถามที่ปีเตอร์คั่งค้างใจเพื่อตามหาคำตอบตั้งแต่ในวัยเด็ก กระเป๋าใบนี้จึงมีความหมายต่อปีเตอร์เป็นอย่างมาก มันเป็นเครื่องพิสูจน์บางอย่าง ว่าพ่อแม่สำคัญต่อเขาเพียงใด การค้นหาตัวตนของพ่อแม่ ไม่ต่างกับการรู้จักตนเองและปีนบันไดผ่านไปสู่อนาคตด้วยความหมายบางอย่างของปีเตอร์

ยกตัวอย่างในระดับมนุษย์ชาติ เราต่างศึกษาและเรียนรู้จากอดีต เล็งเห็นได้จากวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือแม้กระทั่งศาสนา ฯลฯ เพื่อต้องการหยั่งรู้ความเป็นมาของอดีตกาล ในแง่ใดมุมหนึ่งเพื่อวางรากฐานให้ตนเองไว้ในอนาคต ปีเตอร์ก็เช่นกัน การรู้ที่มาของพ่อแม่ เป็นความสำคัญที่จะทำให้เขาเองมองเห็นคุณค่าความหมายในอนาคตด้วยเช่นกัน

กระเป๋าเอกสารของพ่อจึงเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่หลงเหลืออยู่ที่พอจะทำให้ ปีเตอร์ ตามหาอะไรบางอย่างได้ สิ่งของในกระเป๋า ถูกนำออกมาเรียงต่อกัน บางสิ่ง ปีเตอร์ ก็นำไปใช้ เช่นแว่นตา เพียงแค่เขาใส่แว่นตาของพ่อให้ลุงเบนเห็น ลุงเบนถึงกลับกล่าวว่า เขาเหมือนพ่อไม่มีผิด นี่เป็นการบอกว่าเขาเริ่มคลำถูกทางแล้ว ในการควานหาสิ่งที่เขาขาดหายไปในวัยเด็ก



จนกระทั่งสิ่งที่กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการปะติดปะต่อที่มาของพ่อแม่เสมือนดังการค้นพบอารยะธรรมโบราณหรือฟอสซิลไดโนเสาร์ของมนุษย์ นั่นคือ เอกสารการวิจัยบางอย่างของพ่อ ที่เป็นเลข”สมการ” ซึ่งนำพาให้ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ พบว่าพ่อแม่ของเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทดลองโครงการพันธุกรรมข้ามสายพันธ์ และมีบริษัทปฏิบัติการอยู่ที่ ออสคอร์ป ถึงตรงนี้เองจะเห็นว่า ปีเตอร์ เริ่มมองเห็นสิ่งที่พ่อแม่เป็น และกำลังทำอยู่ แม้จะสืบทราบว่าพ่อแม่ได้เสียชีวิตแล้วก็ตาม ประเด็นคือปีเตอร์ ต้องการเชื่อมโยง “สมการ” นี้กับปัญหาที่พ่อได้กระทำไว้ทำไม ?

ถ้าลองพินิจวิเคราะห์จะเห็นว่า ไอเลขสมการ ตัวนี้ต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับเขาอย่างแน่นอน เพราะมันทำให้พ่อแม่ต้องทิ้งเขาไว้ และหากปล่อยไว้เช่นนี้ ปีเตอร์ จะเกิดหลุมพรางในจิตใจ ที่ไม่มีวันก้าวข้ามพ้น หนทางเดียวที่จะกำจัดปมตรงนี้ลงได้ คือตามหาคำตอบและเข้าใจเหตุผลของพ่อ ดังนั้น “สมการ” ที่พ่อได้เคยคิดค้นและทิ้งไว้กลับเป็นสมการซ้อนสมการ ที่ปีเตอร์ต้องแก้ เพื่อเข้าใจสมการของพ่อเพื่อมาแก้สมการของตนเองให้จงได้



การเดินทางสู่ บริษัท ออสคอร์ป ในแง่หนึ่งเป็นการเข้าใกล้สู่ความเป็น สไปเดอร์แมน อย่างที่ผู้ชมกำลังรอคอย แต่ในอีกแง่หนึ่งมันเป็นการตามหา “สมการ” ที่ขาดออกไปจากจิตใจของ ปีเตอร์ เอง การพบกับเพื่อนร่วมโครงการของพ่อ ดร. เคิร์ท คอนเนอร์ (Rhys Ifans) เป็นการเติมเต็มในวาระสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่า ปีเตอร์ ก็กำลังเติมเต็ม ดร.เคิร์ท อยู่ด้วยเช่นกัน

ดร.เคิร์ท บุรุษผู้โดดเดี่ยวและหงอยเหงากับการเสียแขนข้างขวาไปในการทดลองบางอย่าง และเชื่อว่าการร่วมทำภารกิจ “พันธุกรรมข้ามสายพันธ์”กับพ่อของปีเตอร์ เป็นความหวังว่าสักวันเขาจะได้แขนของเขากลับคืนมา น่าเสียดายที่พ่อของปีเตอร์จากไปพร้อม “สมการ” ที่เขาต้องการ ดังนั้นการมาของ ปีเตอร์ เป็นการโหยหา “สมการ” ของพ่อปีเตอร์ด้วยเช่นกัน เพราะสมการของ ดร. เคิร์ท คือการขจัดความอ่อนแอทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นการ “ขาด” ในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ นั่นเอง

ดังนั้นตัวละครสองตัว ทั้ง ปีเตอร์ และ ดร.เคิร์ท มีความคล้ายกันในแง่ของความหมายเชิงนามธรรม โดยต่างค้นหาสมการหรือหาความหมายจากสิ่งเดียวกันคือ “สมการ” ของพ่อปีเตอร์ เพื่อนำมาแก้สมการในปมจิตใจของตนเอง ภาพยนตร์แสดงให้ภาพของความ “ขาด” ระหว่าง ตัวละครสองตัว ที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ผลของการปฏิบัติและการกระทำต่างกัน ทำให้เกิดเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน แม้จะเป็นภาพจำเจ ในเรื่องของ ผิด-ถูก ชั่ว-ดี แต่โครงสร้างภายลึกทางด้านจิตใจนั้น ผู้ชมจะเห็นว่า ปีเตอร์ และ ดร.เคิร์ท มีความสลับซับซ้อน จึงเป็นภาพการสะท้อนของความขัดแย้งซึ่งกันและกัน



มาถึงจุดนี้ ปีเตอร์ รู้เรื่องราวของพ่อแม่มากพอแล้วที่จะตอบว่าพวกเขาคือใคร และ”สมการ” นั้นมีความหมายอะไร แม้ยังไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่พ่อค้นคว้าก็ตาม หนทางเดียวที่จะทำให้เขาเข้าใจและมีส่วนร่วมในสมการนั้น คือการเป็นหนูทดลองนั่นเอง แม้ว่าภาพยนตร์จะให้ภาพของการถูกแมงมุมทดลองกัดเป็นความบังเอิญ แต่ในแง่ของความหมายแล้วสิ่งนี้มีสาระสำคัญทำให้ ปีเตอร์ เข้าใจสมการของพ่อ อีกทั้งยังเป็นไปเพื่อการค้นหาตนเองที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องอีกด้วย

ฉะนั้นเมื่อแมงมุมกัดปีเตอร์ เขาจึงมีพลังข้ามสายพันธ์บางอย่าง ที่ทำให้เห็นว่า “สมการ” ของพ่อเป็นคำตอบยิ่งใหญ่ที่เป็นจริงได้ เป็นการเปลี่ยนผ่านจากพ่อมาสู่ลูก ดังนั้นสไปเดอร์แมนจึงไม่ต่างจากการเติมเต็มชีวิตของปาร์คเกอร์ที่ขาดหายไป หากลองคิดมุมกลับว่า แมงมุมไม่ได้มากัดปีเตอร์ ภาพของการค้นหาก็ไม่อาจสมบูรณ์ได้ เป็นเพียงการรับรู้ในระดับผิวเผิน ความเป็นสไปเดอร์แมน จึงเป็นคำตอบที่สมบูรณ์ในระดับรูปธรรมชัดเจน ทั้งภาวะที่ขาดทางจิตใจ เป็นพลังของพ่อแม่ในระดับอุปมาอุปไมย หากเปรียบให้ชัดเจนได้ว่า สมการกลายเป็นสไปเดอร์แมน สไปเดอร์แมนจะกลายเป็นส่วนเติมเต็มระหว่างพ่อแม่และปีเตอร์ ส่วนเติมเต็มอาจอุปมาได้เป็นร้อยเป็นพัน เช่น ความรัก การปกป้อง การเสียสละ ความมีคุณธรรม ฯลฯ ที่ปีเตอร์ถูกทำให้ว่างไว้ในจิตใจ ดังนั้น สมการจึงเปรียบเป็น ความรักของพ่อแม่ที่ขาดหายไปจากใจของปีเตอร์เอง



แต่เนื่องจากว่า “สมการ” ของพ่อปีเตอร์ มีความซับซ้อนในระดับยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะเป็นที่ต้องการมากกว่าปีเตอร์ผู้เดียว ดร.เคิร์ท ก็ต้องการสมการของพ่อปีเตอร์เช่นเกัน เพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในจิตใจ คล้ายๆกับปีเตอร์ แต่มีนัยะที่แตกต่างกัน ออสบอร์นเจ้าของบริษัทก็ยังต้องการสมการเช่นกัน เพราะต้องการมาเติมสิ่งขาดหายไป หรือต้องการมากกว่าเดิม ในที่นี้อาจหมายถึง “อำนาจ” ในส่วนของ ออสบอร์น คงต้องละเลย เพราะภาพยนตร์ไม่ได้แสดงภาพให้เห็นอย่างชัดเจน

ข้ามมาเจาะจง ที่ ดร. เคิร์ท กับการเติมเต็ม เป็น ลิซาร์ด ดร.เคิร์ท คล้ายกับปีเตอร์ ตรงที่ต้องการสมการเพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปทางจิตใจ เพื่อแก้สมการในจิตใจของตนเอง ในที่นี้หมายถึงแขนที่เสียไป และภาวะภายในจิตใจที่อ่อนแอ และเปลี่ยวเหงา ดังนั้นการ เป็น ลิซาร์ด ตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่างของเขา เปรียบได้เหมือนที่ปีเตอร์ ได้จากสไปเดอร์แมน แต่สิ่งที่ ดร.เคิร์ท ขาดไปคือความมีจริยธรรมและคุณธรรมที่สูงส่งที่ควรจะมี ทำให้การเป็นลิซาร์ดเป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัวและชั่วร้าย ซึ่งต่างจาก ปีเตอร์ ที่มีคุณสมบัติหรือเรียนรู้ในการได้รับพลังจาก “สมการ”



ใช่ว่า ปีเตอร์ จะมีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีเลิศตั้งแต่เกิด เหตุการณ์การเสียชีวิตของ ลุงเบน เป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่ บ่งบอกว่า จริยธรรมวัยรุ่นแบบเขาก็บกพร่องได้ การตัดสินใจปล่อยโจรที่ปล้นเงินร้านขายของไป เพราะเจ้าของร้านกวนประสาทเขา แต่ลุงเบนกลับกับเลือกที่จะต่อสู้ ทั้งๆที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เลยด้วยซ้ำ จนทำให้ถึงแก่ความตาย นี่เป็นฉากยอดเยี่ยมที่ต้องทำให้มานั่งขบคิดเรื่องของจริยธรรมที่ดีควรเป็นเช่นไร ปีเตอร์เลือกปล่อยโจร โดยหารู้ไม่ว่าโจรนั้นอาจมีอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง หรือเขาคิดว่าถึงมีอันตรายอย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้องกับเขา แต่ลุงเบนกลับไม่คิดเช่นนั้น เขาเลือกกระทำในสิ่งตรงข้ามกับปีเตอร์อย่างสิ้นเชิง และนี่จึงเป็นบทเรียนชั้นสูงให้ปีเตอร์(รวมถึงผู้ชม)ได้เรียนรู้ ว่าบางทีการทำเพื่อตอบสนองสิ่งต้องการของตัวเอง ทั้งๆที่มีโอกาสจะช่วยเหลือได้ อาจนำพาให้คนที่เรารักตกอยู่ในอันตรายได้

หากการเป็นสไปเดอร์แมน ทำให้เขารู้สึกเติมเต็มได้จากการขาดพ่อแม่ไป การเสียลุงเบนไปย่อมหมายถึงการได้มาซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมที่เขาทำตกหล่นไป นี่คือการเรียนรู้จากสิ่ง ปีเตอร์ ขาด แต่สิ่งเหล่านี้ ดร.เคิร์ท ไม่มีในขณะที่เป็นลิซาร์ด นี่เป็นข้อขัดแย้งกันระหว่างตัวละครทั้งสองตัวอย่างเห็นได้ชัด การเป็น ลิซาร์ด จึงเป็นสิ่งที่ปีเตอร์ต้องรับผิดชอบอย่างช่วยไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนออกปากว่าการทดลอง พันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะหวังว่าการทดลองนี้จะเป็นการเติมเต็ม ดร.เคิร์ท แต่เมื่อเรื่องบานปลาย เขาไม่นิ่งดูดายเพราะไม่ต้องการให้เป็นเหมือนเหตุการณ์แบบลุงเบน การเรียนรู้ของ ปีเตอร์ นับแต่เป็น สไปเดอร์แมน จึงเป็นในลักษณะก้าวกระโดด เพราะปีเตอร์ รู้จักการเรียนรู้ในลักษณะสิ่งที่ขาด มีอุดมการณ์ การร่วมโต๊ะกินข้าวและถกเถียงเรื่องอุดมการณ์สไปเดอร์แมนกับพ่อของ เกวน เป็นตัวอย่างที่ดี



ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้ภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เชื่อมโยงเข้ามาสองครั้ง ว่าเกี่ยวข้องอันใดกับตัวปีเตอร์ หากตีความอย่างไม่คิดอันใด ความเป็นอัจฉริยภาพของ ไอน์สไตน์ คงเป็นสัญญะเชื่อมโยงกับตัวปีเตอร์ แต่เหตุผลข้อนี้ดูจะเป็นสิ่งผิวเผินและตะขิดตะขวงใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก เพราะปีเตอร์ไม่แสดงความอัจฉริยะอันใดที่เป็นรูปธรรมนอกจากความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่อาจเหมารวมว่าถูกส่งต่อมาจากกรรมพันธ์ของพ่อและแม่ แต่คำพูดสำคัญของ ไอน์สไตน์
ที่กล่าวว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” นั่นอาจพอจะเชื่อมโยงอะไรได้อยู่บ้าง

หากสไปเดอร์แมน เปรียบเป็นขุมทรัพย์แห่งพลัง ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก “สมการ” ของพ่อ ที่ถูกค้นหาและแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังในแบบ ปีเตอร์ เขาเรียนรู้ที่จะใช้มัน อย่างรู้คุณค่า เขารู้จักใช้มันอย่างมีคุณธรรม เขาใช้มันเพื่อเติมส่วนของตนเองที่ขาดหายไป รู้จักการรับผิดชอบที่เกิดจากการกระทำของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้วาดฝันว่าจะเกิดขึ้นหรือได้รับมันเมื่อยามเติบโตเป็นวัยรุ่น ฉากการช่วยเหลือเด็กน้อยของปีเตอร์ ที่เขาให้เด็กใส่หน้ากากสไปเดอร์แมน และวาดฝันว่า เด็กจะมีจินตนาการและปีนป่ายขึ้นมาได้อย่าง สไปเดอร์แมน นี่เป็นการบ่งบอกว่า บางครั้งพลังก็เกิดมาจากจินตนาการ ได้เช่นกัน

ปีเตอร์ ใช้จินตนการว่า สมการของพ่อ จะเป็นพลังเติมเต็มในส่วนที่เขาขาดหายให้สมบูรณ์ และเขาก็ทำสำเร็จ ดร.เคิร์ท หวังว่า สมการของพ่อปีเตอร์ จะเติมเต็มส่วนที่เขาขาดและอ่อนแอ ให้เต็มจนล้นเกินไป และไม่ยอมควบคุมมัน จนไม่สำเร็จ อาจเพราะเขาต้องการมากจนเกินไปจนไม่มีข้อจำกัดจนส่งผลร้ายต่อคนอื่น บางทีช่องว่างของทั้งสองคนอาจต่างกันตรงการที่มีคนรอบข้างก็เป็นได้ ปีเตอร์มี ป้าเมย์ และลุงเบน รวมถึง เกวน สเตซี่ (Emma Stone) คอยหนุนหลังและให้กำลังใจ ส่วน ดร.เคิร์ท ไม่มีใครจนรู้สึกโดดเดี่ยวและเห็นแก่ตัว



นี่อาจเป็นภาพยนตร์รีบู๊ตที่มีความเพลิดเพลินในระดับหนึ่งตามมาตรฐานภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดทั่วไป ที่ขนาบข้างจากโลกใบเก่าอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งสองโลกก็มีความสนุกสนานและเสน่ห์ที่แตกต่างกันไปจนไม่อาจเทียบเคียงอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่สิ่งที่สไปเดอร์แมนภาคนี้เน้นย้ำคือความเรียนรู้ต่อสิ่งที่ขาดหายไปเพื่อเติบโตหรือก้าวข้ามมันไปอย่างแข็งแรงและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

บางครั้งโลกที่ขาดบางสิ่ง เราต่างเฝ้าจินตนาการเพื่อทดแทนมันขึ้นมา เพื่อหวังว่ามันจะเป็นพลังทดแทนต่อชีวิตของเราในอนาคตได้ ความเป็นสไปเดอร์แมนของปีเตอร์ จึงไม่ต่างจากพลังบางสิ่งที่เขาเคยเฝ้าใฝ่หาจากสิ่งที่ขาดหายไปจากการขาดพ่อแม่ แม้สิ่งที่เขาได้รับมันมาจะยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เขาจะจินตนาการได้ แต่เมื่อ พลัง เหล่านั้นมาถึง ต้องเรียนรู้ และรับมือ ปรับใช้ด้วยความรับผิดชอบอย่างผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม

แม้ว่าสุดท้ายภาพยนตร์ สไปเดอร์แมนรีบู๊ตใหม่ในครั้งนี้จะเล่นหรือเน้นประเด็นอะไรก็ตามแต่ “การค้นหาความหมายของชีวิตของ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์” “การค้นหาที่มาของพ่อแม่” “การเชื่อมโยงข้อความสำคัญของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” “การเล่นกับคำว่า Who Am I” หรือคำว่า”สมการ” ”การขาดความสมบูณ์”ของผู้เขียนเอง แต่สุดท้ายยิ่งวิเคราะห์ตีความให้ลึกสักเท่าไหร่ สุดท้ายมันก็กลับมาวนเวียนกับคำเดิมๆที่คอหนังคอการ์ตูนต่างคุ้นเคย อย่างช่วยไม่ได้จริงๆ

เพราะเมื่อเราค้นหาความหมายของตนเองได้แล้ว เราก็ยังมีอนาคตให้เดินและรับผิดชอบต่อไป เหมือนคำกล่าวที่ว่า

พลังที่ยิ่งใหญ่...มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง

คะแนน 7.75/10
เกรด B+



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์


ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนให้คะแนนมากที่สุดประจำปี 2012

The Cabin in the Woods 8.5
The Avengers 8.25
From up on Poppy Hill 8
Prometheus 8




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2555
11 comments
Last Update : 27 สิงหาคม 2555 11:36:45 น.
Counter : 6530 Pageviews.

 

ขอโทษนะครับ ไม่ได้มีความรุ็ด้านนี้แต่อย่างใด แต่อ่านดูแล้วบทความนี้มันคล้ายๆสปอยล์มากกว่าวิเคราะห์นะครับ (ส่วนตัวดูหนังเรื่องนี้แล้ว)

 

โดย: sss IP: 223.207.134.31 14 กรกฎาคม 2555 22:32:21 น.  

 

จริงๆการวิเคราะห์มันก็คือการเอาองค์ประกอบของภาพยนตร์มาตีแผ่ครับ แต่ถ้าการตีแผ่ของผมในครั้งนี้มันไม่ได้ไปไกลกว่าคำว่า สปอยล์ ผมคงต้องขอโทษที่ทำให้ คุณ sss เสียเวลาเข้ามาอ่านด้วยครับ

 

โดย: A-Bellamy 14 กรกฎาคม 2555 22:50:31 น.  

 

เขียนได้ดีมากเลยครับ

แต่อ่านแล้วให้ความรู้สึกดราม่า(หรือจริงจัง)มากกว่าที่ตัวภาพยนตร์นำเสนอออกมาเสียอีก ^_^

 

โดย: Wit Mattanin IP: 124.122.147.124 15 กรกฎาคม 2555 0:34:53 น.  

 

ครับผม

เนื่องจากหนังเน้นความเพลิดเพลินในสไตล์ฮอลลีวู้ด แต่ผมกลับชอบประเด็นตรงอัตลักษณ์ของปีเตอร์ จริงๆ มันย้อนมาที่ตัวเราหรือใครก็ตามด้วย ในเรื่องของความขาดหรือความไม่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับใครทุกคน

ผมจึงเน้นย้ำตรงนี้เพื่อครุ่นคิดเป็นการส่วนตัว แต่ถ้าสิ่งที่ผมคิด ได้เผยแผ่ให้ใครได้ครุ่นคิดตามกับผม อันนี้ผมจะดีใจมากเลย แม้จริงๆ แล้วหนังได้เสนอให้เห็นทุกอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม ^^

 

โดย: A-Bellamy 15 กรกฎาคม 2555 13:19:06 น.  

 

อ่า รออ่านคุณวิเคราะห์เรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุด ขอชื่นชมในความทุ่มเทและใส่ใจของคุณเลยครับ ผมเข้าใจว่ากว่าจะได้บทวิเคราะห์หนังออกมาให้เราอ่านกันแต่ละเรื่องเนี่ยไม่ใช่เรื่องง่ายหรือทำแบบขอไปทีเลย (ของผมกว่าจะได้แต่ละเรื่องยังปวดหมอง) ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้และติดตามอยู่เสมอนะคร้าบ

 

โดย: Nanatakara 15 กรกฎาคม 2555 13:21:32 น.  

 

โดยส่วนตัวไม่ชอบดูหนังยอดมนุษย์ แต่เห็นเขาว่าเรื่องนี้มีความเป็นดราม่าอยู่มากเลยสนใจ

คงเหมือนตอนที่ได้ชม The Dark Knight เป็น Batman ที่เป็นปุถุชนดีเหลือเกินครับ

จะลองหาโอกาสไปชมนะครับ

ชอบบทวิเคราะห์ของคุณนะครับ ผมเองเวลาเขียน อ่านไปอ่านมาก็รู้สึกว่าสปอล์ย แต่ผมไม่เคยรู้สึกว่าเสียอรรถรสใดๆ เมื่ออ่านบทวิเคราะห์วิจารณ์ เพราะถ้าไม่เข้ากับจริตผม ผมก็ไม่ไปดู ก็เท่านั้น
หากตรงใจ ต่อให้เล่าเรื่องทั้งหมด ก็จะดู
แล้วรับรองว่าผมมีความเห็นต่างจากที่อ่านแน่นอนครับ

สองชั่วโมงที่เสียไป ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนครับ

เป็นกำลังใจให้นะครับ

 

โดย: คนขับช้า 15 กรกฎาคม 2555 13:41:37 น.  

 

ขอบคุณ คุณ Nanatakara และ คุณ คนขับช้า นะครับสำหรับกำลังใจที่มอบให้

ใช่ครับกว่าจะได้บทวิเคราะห์สักเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลาคิดและเขียนอยู่พอสมควร เรื่องนี้ก็เป็นบทเรียนของผมอีกเรื่องหนึ่ง ว่าสมควรนำมาวิเคราะห์หรือไม่ หากตัวหนังทำให้เห็นภาพของมันเองอยู่แล้ว

ทุกครั้งเวลาดูหนังและจะเขียนผมก็จะชั่งใจอยู่ว่า จะวิเคราะห์หรือวิจารณ์ดี เรื่องนี้ผมตัดสินใจว่าจะวิเคราะห์ ซึ่งมีความรู้สึกว่าได้ไม่คุ้มเสียอย่างไรไม่รู้ หากเทียบกับเวลาที่เสียไป เพราะเหมือนกับว่า ผมกล่าวในสิ่งที่คนรู้อยู่แล้ว

ส่วน คนขับช้า เก่งดีครับ อ่านบทวิเคราะห์ในหนังที่ยังไม่ได้ดูได้ด้วย เพราะส่วนมากการวิเคราะห์ ยังไงซะก็ต้องสปอยล์เนื้อหาของหนังอยู่แล้ว

ยังไงก็ต้องขอบคุณท่านทั้งสองด้วยนะครับ

ไว้ผมจะเข้าไปเยี่ยมเยียนบล็อกของท่านบ่อยๆนะครับ

 

โดย: A-Bellamy 15 กรกฎาคม 2555 14:37:23 น.  

 


^
^
^

สำหรับผม เรื่องนี้ยังไม่มีสาร หรือประเด็นเชื่อมโยงให้วิเคราะห์แบบสนุกสนานได้มากมายน่ะครับ

(แต่สำหรับคนอื่นอาจมีก็ได้ครับ เพราะไม่จำเป็นว่าหนังจะตั้งใจให้วิเคราะห์หรือไม่ เพราะบางครั้งแม้ไม่ใช่ประเด็นที่หนังต้องการเล่า แต่เราก็เห็นความเชื่อมโยงจนเอามาวิเคราะห์ได้ )



ผมว่าเราเลือกวิเคราะห์ก็ต่อเมื่อเราเห็นแง่มุมที่น่าสนใจของมันก็ได้นะครับ

ถ้าไม่มีก็เขียนวิจารณ์ หรือความรู้สึกที่เรามีต่อมันก็โอเคครับ



แต่บทความนี้ก็ช่วยผมเปิดมุมมองอื่นๆขึ้นมาได้เหมือนกันครับ

 

โดย: navagan 15 กรกฎาคม 2555 23:42:00 น.  

 

เนื่องจากหนังเล่นประเด็น ค้นหาที่มา หรืออัตลักษณ์ของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ซึ่งส่วนตัวนั้นผมชอบมากเลยครับกับหนังที่เล่นประเด็นนี้ จะเห็นที่ผ่านมาผมวิเคราะห์หนังที่เล่นประเด็นนี้เยอะมาก

แม้เรื่องนี้จะเป็นหนังที่เหมือนให้แค่ความเพลิดเพลินเพียงเท่านั้น

 

โดย: A-Bellamy 16 กรกฎาคม 2555 10:00:19 น.  

 

สวัสดีครับ....ตัวหนังแทบไม่สอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไปเลยนะครับ ที่รู้สึกได้มีอยู่ฉากเดียวที่ในห้องสมุด ชีวิตปีเตอร์แทบไม่มีมุมขำกับเขาบ้างเลยเชียวหรือ....เศร้า

 

โดย: C Minor IP: 183.89.250.12 2 พฤศจิกายน 2555 15:07:33 น.  

 

^
^
นั่นสิครับ มุขตลกถูกใส่เข้ามาน้อยเกินไปหน่อย

 

โดย: A-Bellamy 11 พฤศจิกายน 2555 22:13:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]