ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
13 เมษายน 2556

วิจารณ์ คู่กรรม(๒๕๕๖)



เนื้อหาย้ายไปบล็อกใหม่แล้วนะครับคลิ๊กไปอ่านได้เลยครับ

คู่กรรม (๒๕๕๖)
เมื่อวันที่ฉันจากไป เธอจงยืนหยัดด้วยเหตุผลของเธอ


ไม่น่าเชื่อว่า ภาพยนตร์คู่กรรม ประจำปี ๒๕๕๖ ที่กลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่นที่กำกับโดย เรียว กิตติกร ในนามบริษัท M39 จะถูกกระแสลบโจมตีใส่อย่างไม่คณาในสังคมเว็บบอร์ดขนาดใหญ่อย่างพันทิปถึงขนาดที่ผู้เขียนไม่อาจจะเชื่อสายตาตนเองว่าจะมีปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางไหน ผู้เขียนกล้าเอ่ยปากอย่างมั่นใจว่า สิ่งที่ปรากฏมันมีทั้งความบริสุทธิ์ใจซึ่งเกิดขึ้นได้จากความไม่ชอบในตัวหนัง และผู้คลั่งไคล้นวนิยายต้นฉบับ แต่ที่ประหลาดและเคลือบแคลงสงสัยคือมันมีการทำงานหรือวิจารณ์อย่างจงเกลียดจงชังจนอาจเรียกได้ว่านี่คือการวิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์และมีผลประโยชน์เคลือบแฝงทับซ้อนอย่างที่บุคคลทั่วไปเช่นผู้เขียนจะสามารถเข้าใจได้

แต่หากใครที่เข้ามาอยู่ในยุทธจักรเช่นนี้ย่อมรู้ดีว่า ก่อนหน้านี้สังคมเว็บบอร์ดแห่งนี้ก็ไม่ได้สะอาดเท่าไหร่ มันเป็นที่แหล่งรวมพลของคนมุ่งร้ายเพื่อความสะใจ(บางกลุ่ม) และสันนิษฐานว่ายังเป็นที่ทำการตลาดของค่ายหนัง เพื่อขจัดกระแสวิจารณ์แง่ลบออกไปเพื่อหวังสร้างกระแสชื่นชมปากต่อปากเพื่อกอบโกยรายได้มาอย่างนมนาน หรือผู้เขียนอาจจะทึกทักเอาเองได้ว่ามีตำแหน่งนักสร้างกระแสทางเว็บบอร์ดมืออาชีพกันเลยทีเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับค่ายหนัง M39 ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ต้องจดจำเอาไว้อย่างแยบยล เพราะนอกจากไม่สามารถทำให้เกิดการชื่นชมตัวหนังได้อย่างสะอาด ยังถูกรังควานไปถึงตัวค่ายเองด้วยซ้ำ หรือกล่าวง่ายๆว่า กระแสลบในครั้งนี้ มีผู้คนไม่ปรารถนาดีพยายามจะปลุกกระแสเพื่อบอกว่าภาพยนตร์ของค่าย M39 จะย่ำแย่ตลอดไป (นี่ถือเป็นการหาโอกาสตัดแข้งตัดขาทางธุรกิจเลยทีเดียว) นี่ยังไม่นับก๊กเหล่าที่เกิดขึ้นในส่วนของแฟนคลับที่หลากหลายหลากเหลื่อนจนทำให้ลดทอนความสร้างสรรค์ที่จะเกิดการวิจารณ์เพื่อให้เกิดพัฒนาต่อวงการภาพยนตร์ได้

ผู้เขียนเองไม่อยากจะจับจ้องปรากฎการณ์เช่นนี้มากนักเพราะสิ่งที่ค้นพบคือการสังเกตแบบเลื่อนลอยเท่านั้น มิได้เป็นข้อเท็จจริงแต่ประการใด เพราะสิ่งที่ผู้เขียนทำได้คือ การเขียนถึงตัวหนังอย่างที่เคยทำมา อย่างผู้มีใจรักการเขียนต่อตัวหนังในศิลปะภาพยนตร์คนหนึ่งจะทำได้ และรู้สึกไม่ค่อยอยากทานทนเท่าไหร่ต่อการแข่งขันอันดุจแกร่งแข็งกร้าวอย่างไม่รามือต่อระบบธุรกิจภาพยนตร์เช่นนี้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนมักละเลยที่จะไปชมภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนตร์ เพราะบางครั้งคำวิจารณ์ในแดนบวกมากจนเชื่อว่า ตัวหนังที่แท้จริงคงไม่สามารถทะลุความดีงามที่ผู้เขียนได้ยินมา-มากกว่านี้อย่างแน่นอน

แต่สำหรับภาพยนตร์คู่กรรมนั้น ในความคิดแรกควรจะเป็นเหมือนภาพยนตร์ที่แข่งขันทางด้านรายได้เหมือนพี่มากอย่างสนุก แต่ผิดนักมันกลับร่วงระนาว ดั่งไก่ฟ้ากลายเป็นหมาวัด ตั้งแต่วันแรกที่มีการฉายรอบสื่อด้วยซ้ำ แถมหนำซ้ำยังโดนถาโถมอย่างกระหน่ำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาทั้งผู้บริสุทธิ์ใจ หรือคนที่รับไม่ได้กับการดัดแปลงบทประพันธ์ แต่ที่เห็นจะมากหน่อยผู้คือประสงค์ร้ายที่หวังจะใช้โอกาสอันนี้เป็นการทำลายตัวหนังอย่างชัดเจน โดยไม่สามารถคาดเดาว่าส่วนหลังนี้มาจากที่ใด



และนี่เองคือสิ่งที่น่าสนใจ เพรามันไม่ได้เดินอยู่ทำนองคลองธรรมที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังถูกกลบฝังดินด้วยกระแสอันมหาศาลของพี่มาก..พระโขนง จนทำให้ผู้เขียนไม่อาจนิ่งดูดายได้และขอพิสูจน์ด้วยกรอบแว่นสายตาของตนเอง ว่าอะไรคือสิ่งแท้จริง ในถ้อยคำความเห็นที่เราควรจะเข้าใจต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยการดูทั้งพี่มาก...พระโขนงและคู่กรรม ในวันเดียวกันไปเลย

เยิ่นเย้อและมากความเพื่อเข้าสู่ประเด็นในบรรทัดต่อไป คู่กรรม ของคุณเรียว กิตติกร เท่าที่อ่านบทความในนิตยสารภาพยนตร์ทำให้เห็นว่าคุณเรียว ให้น้ำหนักสนใจไปกับความเป็นประวัติศาสตร์ยุคสมัยที่แท้จริง เพื่อลดทอนรายละเอียดเรื่องราวมหาศาลของบทประพันธ์ให้เหลือเพียงระยะเวลา 2 ชั่วโมง โดยการชี้ชัดจุดเน้นไปถึงเรื่องความรักของหนุ่มสาวต่างสัญชาติ และลดทอนเรื่อชาตินิยมจากบทประพันธ์ให้เหลือเพียง เรื่องความรักกับสงครามที่ไม่ได้แบ่งข้างชัดเจน

นี่เป็นเรื่องปกติทีคุณเรียวจะใช้สายตาของคนปัจจุบันเข้าไปหยิบจับเรื่องราวเอามานำเสนอโดยมีเรื่องยุคสมัยที่ต่างกันออกไป และในสภาพปัจจุบันคงไม่มีใครดัดจริตมองถึงสงครามในระดับลึก เพราะคนสมัยปัจจุบันไม่ได้มีอารมณ์ร่วมเรื่องสงครามในแบบชาตินิยม เพราะคุณค่าที่เราถูกปลูกฝังในสมัยนี้คือ สงครามไม่ว่าจะฝั่งฝ่ายไหน คือความสกปรกโสมมแทบทั้งนั้น ซึ่งต่างจากการมองในแบบต้นฉบับซึ่งมียุคสมัยในสมัยนั้นเป็นตัวตั้ง และคุณทมยนตี ก็เข้าใจถึงความเป็นสงครามในระดับที่แทบจะเรียกว่ามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทั้งยุคสมัยและการเข้าไปเก็บข้อมูลหลังสงคราม นี่จึงเห็นว่าการสร้างเรื่องราวโกโบริกับอังศุมาลินเกิดขึ้นได้เพราะเราใช้สายตาของคนปัจจุบันเข้าไปมองอดีต

แต่ในความเป็นปัจจุบันเราไม่สามารถเข้าใจความเป็นอดีตที่เราจะต้องอยู่ด้วยความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีกต่อไป มีสิ่งเดียวที่เรายังคงมีร่วมกันในความเป็นบทประพันธ์ดั้งเดิมคือความรัก และสงคราม โดยสงครามที่มองจากสายตาปัจจุบันจึงเหลือเพียงการห้ำหั่นที่ไม่มีฝ่ายดี เพราะสงครามคือสิ่งเลวทรามในมุมมองคนปัจจุบันและสันติภาพเท่านั้นที่เราถูกปลูกฝัง นี่จึงเห็นว่า โกโบริ ไม่ได้รักชาติมากเหมือนที่เราควรจะเข้าใจ หรือมองกว้างออกไปหน่อย เรื่องพี่มาก...พระโขนง จะเห็นว่า มาร์ค(มาริโอ เมาเร่อ) ก็ไม่ได้รักชาติและปกป้องประเทศเท่าที่ควร สนใจแต่การกลับมาหาคนรัก ไม่ใช่เพราะนี่คือความดัดจริตของคนสร้าง แต่เราถูกปลูกฝังและเข้าใจยุคสมัยด้วยความเป็นไปแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราเป็นไปในยุคสมัยของเรา

ดังนั้นการที่ผู้กำกับตีความโดยลดทอนเรื่องสงครามให้กลายเป็นศัตรูของความรักเท่านั้น แม้มันจะทำให้บทประพันธ์ถูกตีความใหม่ แต่มันก็ทำให้เห็นว่าช่องว่างของยุคสมัยที่เราอ่านมีส่วนช่วยทำให้สิ่งที่เราอ่านลื่นไหลไปแล้วไม่มีทางตาย แม้ว่าจะมีทฤษฎีที่ว่าการตายของผู้สร้างเกิดขึ้น แต่คู่กรรมของคุณทมยันตี ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2512 จะไม่มีทางตาย เพราะว่า การตีความของเราด้วยยุคสมัยทำให้คู่กรรมต้นฉบับมันยืนยงคงกระพัน และสุดท้ายก็ต้องถูกเรียกร้องให้อ้างกลับมาถึงผู้สร้างอย่างแท้จริง คือ คุณทมยันตี ไม่มีทางที่ใครจะสามารถย่ำยีบทประพันธ์ได้(บางคนเก็บไว้บนหึ้ง) แต่การทำใหม่หรืออ่านใหม่ มันเป็นดึงเรื่องราวของเก่าให้ยังมีความเป็นอมตะอยู่ได้ในปัจจุบัน ทัศนะที่ผู้เขียนสามารถเข้าใจในกรณีได้คือ ยิ่งมีการทำใหม่สร้างใหม่หรือตีความใหม่เท่าไหร่ ความเป็นต้นฉบับจะมีคุณค่าและเป็นอมตะสูงส่งมากขึ้นเท่านั้น

คู่กรรมเวอร์ชั่นนี้เริ่มต้นด้วยความวานแหววในสไตล์การ์ตูนตั้งแต่ช่วงต้น เพื่อทำให้ผู้ชมรับรู้ว่า คู่กรรมเวอร์ชั่นนี้มีความเป็นตัวเองสูงในการตีความขึ้นใหม่ โดยใช้มุมมอง(point of view) ของโกโบริ[b](ณเดชน์ คูมิกิยะ) [/b]เป็นแกนหลักตลอดเรื่อง โดยสร้างความรับรู้ตั้งแต่ฉากแรกเลยว่า โกโบริหลงใหลเด็กบ้านๆอย่างอังศุมาลิน [b](อรเณศ ดีคาบาเลส)[/b] และต้องการสร้างความสัมพันธ์เชิงเพื่อนชาย ไม่ต่างจากการจีบกันใหม่ของหนุ่มสาวในสมัยปัจจุบัน นี่คือโครงสร้างที่ถูกเลือกนำมาเสนอตั้งแต่เปิดเรื่อง โดยเริ่มด้วยความเรียบเฉย เรื่อยเปื่อยจนทำให้ผู้ชมอาจรู้สึกถึงความธรรมดา และใช้ดนตรีขับเน้นสบายๆในทุกๆฉาก จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีอะไรเกิดขึ้น และซีนแล้วซีนเล่าที่ล่วงเลยไปก็ไม่ได้ช่วยขับเน้นให้ให้ความเข้มข้นมากขึ้นแต่อย่างใด จนทำให้รู้สึกได้ว่ากระแสที่เกิดขึ้นคงจะเป็นเรื่องจริงอย่างที่เขาว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ด้วยความธรรมดาเหล่านี้มันทำได้ให้เราพบว่า ผู้กำกับกำลังทำงานในแบบที่แตกต่างจากแบบแผนของภาพยนตร์ไทย แต่ไม่ใช่ต้องการทำหนังอาร์ตไม่สื่อสารอย่างที่เขาประชดประชันกัน ด้วยการใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นสำคัญ บทพูดจะเกิดขึ้นได้เมื่อถึงคราวจำเป็นเท่านั้น อีกทั้งปฎิกิริยาโต้ตอบของอังศุมาลินที่มีต่อโกโบริอยู่ในระดับที่แปลกประหลาดและแข็งกร้าว และไม่มีการสื่อสารตอบกลับอย่างที่ภาพยนตร์หรือละครไทยที่เราคุ้นเคยกระทำกัน จนหลายคนต่างวิพากษ์วิจารณ์การแสดงของน้องริชชี่ว่านี่คือการแสดงที่แสน ”ห่วย” แต่เมื่อได้เห็นคนออกมากล่าวอ้างว่า น้องริชชีเล่นไปตามสิ่งที่ผู้กำกับต้องการ ทำให้เห็นได้ว่าหลายคนต้องการปกป้องนักแสดงเพื่อเทความสาดเสียเทเสียทุกอย่าง ไปที่ผู้กำกับ แต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตามในความเห็นผู้เขียนกลับรู้สึกตรงกันข้าม ขอย้อนกลับที่ตอนต้นที่บอกว่าภาพยนตร์คู่กรรมเวอร์ชั่นนี้ผู้กำกับเลือกมุมมองของโกโบริเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้ผู้ชมจะต้องได้เห็นมุมมองของโกโบริอย่างจัดเต็ม และมุมมองทั้งหลายก็ผ่านสายตาของโกโบริ หรือแทบทุกฉากต้องมีโกโบริอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เป็นการลดทอนที่เราจะรับรู้ถึงอังศุมาลินไปโดยปริยาย นี่เป็นกลวิธีหนึ่งที่ผู้กำกับต้องคิดหาและเลือกใช้ ไม่ต่างจากการประพันธ์ในนวนิยาย คือ ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราจะเล่าในมุมมองของใคร ผิดกลับละครที่เราจะพบเห็นทั่วไปเพราะขนบของละครไทยคือ ผู้ชมคือผู้รู้ทั้งหมดเพราะผู้กำกับเลือกเล่าในมุมมองของผู้ชมเป็นหลัก ทำให้ ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร  ผู้ชมจะต้องรู้ก่อนอยู่เสมอ 

ซึ่งแตกต่างจากกรณีนี้เพราะเมื่อผู้กำกับเลือกมุมมองใครแล้วก็ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองในสิ่งที่ตัวเองเลือก มิเช่นนั้นมันก็จะสะเปะสะปะและขาดความมีเอกภาพในองค์รวมของภาพยนตร์ กล่าวถึงที่สุด จะว่าผู้เขียนสวนกระแสก็เป็นได้ แต่เมื่อมองงานโดยรวมแล้วมันย่อมเป็นเช่นนั้นจริงๆ นั่นคือ ยิ่งมีคนวิพากษ์การแสดงของอังศุมาลินในการที่เธอเล่นได้อย่าง แข็งกร้าว หน้าบึ้ง ไร้ความรู้สึก บางครั้งก็ทำหน้าครุ่นคิดจนผู้ชมอาจ งง ว่าเธอต้องการอะไร มากเท่าไหร่ เธอยิ่งต้องถูกชื่นชมว่านี่คือการดีไซน์อย่างถูกจุดว่า เมื่อมุมมองถูกโฟกัสไปที่โกโบริ ซึ่งไม่เข้าใจว่าอังศุมาลินมีเหตุผลอะไรในการเฉยเฉียบเย็นชาต่อเขา ซึ่งเป็นลักษณะเดียวที่ผู้ชมมองไปยังตัวอังศุมาลินอย่างไม่เข้าใจ แล้วจะให้ผู้เขียนเรียกว่านี่คือการแสดงที่ไม่ดีหรือผู้กำกับตีความผิดพลาดได้อย่างไรเมื่อมันตอบสนองภาพรวมของสิ่งที่จะสื่อสารได้ในภาพยนตร์

[center][img]//f.ptcdn.info/123/004/000/1365868643-5-o.jpg[/img][/center]

ใช่ครับ การแสดงแบบนี้มันดูน่ารำคาญ แต่ความน่ารำคาญมันก็คือการแสดงมิใช่หรอ !!!

ดังนั้นเราไม่สามารถวัดคุณค่าของการแสดงได้ด้วยวิธีการแสดงออกมาของนักแสดง แต่เราต้องดูด้วยว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นไปในคาแรคเตอร์ตัวนั้นๆ แต่ผู้เขียนเชื่อว่า น้องริชชี่มีประสบการณ์น้อยจนเกินไป และยังไม่เพียบพร้อมที่จะมองว่านี่คือนักแสดงที่เล่นดี แต่มากเกินไปกับการที่ถูกมองว่าแสดง “ห่วยบรม”

แต่ข้อเสียที่มองเห็นในภาพยนตร์คู่กรรมเวอร์ชั่นนี้ เล็งเห็นว่าจะเป็นเรื่องของบทภาพยนตร์ หรือการดัดแปลงบทประพันธ์ที่เลือกส่วนที่จะโฟกัสได้แล้ว แต่ไม่ได้สร้างความเป็นคู่กรรมออกมาของตัวละครให้มีชีวิตเป็นตัวเอง กล่าวโดยง่ายๆคือ ผู้กำกับยังก้ำกึ่งระหว่างความเป็นคู่กรรมต้นฉบับมากจนเกินไปจึงมิได้สร้างเอกภาพของเรื่องราวประหนึ่งว่านี่คือเรื่องราวที่ผู้กำกับสร้างขึ้นมาเองกับมือ ทำให้ผู้ชมยังรู้สึกนึกถึงอ้างถึงเวอร์ชั่นต้นฉบับอยู่เสมอ มันยังไม่ได้มีการดำเนินเรื่องที่เกิดผลลัพธ์ในเวอร์ชั่นนี้เท่าไร เพราะอย่างที่กล่าวไปตอนแรก ในองค์แรกนั้นภาพยนตร์ไม่ได้สร้างความเข้มข้นให้บังเกิดดอกผลจนรู้สึกว่าน่าติดตามเท่าที่ควร หรือมีการสร้างสถานการณ์จนเรื่องราวได้สร้างเอกลักษณ์ขึ้นมาด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านเข้าสู่กลางเรื่อง สิ่งที่แปลกประหลาดในความรู้สึกก็เกิดขึ้น เพราะยิ่งผ่านระยะเวลามากไปเท่าไรภาพยนตร์ก็ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกรับรู้ถึงความรู้สึกอะไรบางอย่างผ่านเรื่องเล่าในเวอร์ชั่นนี้ มันเป็นความรู้สึกอยู่ภายในจิตใจที่ไม่สามารถพรรณนาออกมาเป็นคำพูด อาจเพราะหนังเลือกใช้การเล่าด้วยภาพมากพอจนเกิดผล จนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หนังสามารถมีพลังดึงดูดขึ้นมาในแบบฉบับตนเอง บางคนอาจเรียกว่า มันคือการ “ซึมลึก” ซึ่งวิธีการนี่พบเห็นได้ในหนังญี่ปุ่นที่ไม่ได้เน้นการเปิดเผยหรือแสอดงออกแต่กลับใช้วิธีการ “เก็บกัก” ไว้ภายใน ซึ่งตัวละครอังศุมาลิน ต้องใช้วิธีการแสดงนี่บ่อยครั้งแทบทุกซีน    

ทั้งนี้ทั้งนั้นภาพยนตร์ยังโชว์ความอหังการของผู้กำกับในการออกแบบดีไซน์ฉากข่มขืนที่ผู้เขียนไม่เคยพบเจอมาก่อนในโลกภาพยนตร์ มันเป็นแบบฉบับที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความทะเยอทะยานของผู้กำกับแต่เพียงผู้เดียว มันไม่ใช่การขืนใจในแบบฉบับที่เราพบเห็นในความเป็นละครหรือภาพยนตร์ไทย มันมีการดีไซน์ที่อาจเรียกว่าศิลปะการแสดงของร่างกายที่มีท่วงท่าลีลาและจังหวะจะโคนที่น่าดูชมแม้อาจจะแปลกแปร่งไปเสียหน่อย แต่มันน่าตื่นเต้นและใช้พื้นที่และระยะเวลาได้เหมาะสมจนสุดท้ายไปบรรจบได้ในวงแขนของกันและกัน แม้ว่านี่อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าประทับใจแต่ที่แน่ๆ มันถูกจดจำและพูดถึงอย่างแน่นอน 

แม้ว่าในซีนต่อมาผู้เขียนอาจถึงผิดหวังเพราะหนังสร้างสิ่งแตกต่างให้มากถึงเพียงนี้แต่ก็ยังไม่จบที่ความโครตคลิเช่(Cliche) ที่การข่มขืนถูกตัดฉับให้เหลือเพียงการขอโทษ เพราะจะว่าไปตามระยะเวลาแล้วฉากศิลปะข่มขืนที่ถูกกล่าวถึงบรรทัดก่อนหน้าได้เล้าโลมให้ผู้ชมได้รู้สึกถึงความคล้อยตามแต่กลับถูกตัดจบด้วยฉากอันขาวสะอาดต่อจากนั้น นี่เป็นจุดบอดให้เห็นว่า ผู้กำกับวางโครงสร้างเรื่องให้อังศุมาลินต้องมีลูกไว้แล้วนั่นเอง มันจึงได้ไม่คุ้มเสียจริงๆ ที่ดีไซน์ฉากนั้นด้วยความพิเศษพิสดารแต่กลับติดตรอกประตูของโครงสร้างเรื่อง ผู้เขียนจึงคิดว่าหากไม่มีฉาก Sex ได้นั้น ก็ไม่ควรที่จะให้อังศุมาลินมีลูกด้วยซ้ำไป  
สิ่งสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ องค์รวมของความเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจ แม้ตัวเนื้องานโดยภาพรวมอาจจะยังไม่เลิศเลอเพอเฟ็กต์และสมบูรณ์ยกย่องได้อย่างไม่ขาดปาก แต่คู่กรรมเวอร์ชั่นนี้มีคุณค่าให้พูดถึงในหลายสถาน

1. คือทำให้เกิดปรากฎการณ์บางอย่างในโลกโซเชียลมีเดีย 
2. ทำให้มีการถกเถียงที่น่าสนใจต่อการตีความและดัดแปลงบทประพันธ์ซึ่งทำให้เกิดเป็นวิวาทะกันอย่างย่อมๆในหลายพื้นที่ และถ้าไม่มีเรื่องนี้แล้วสิ่งเหล่านี้ก็คงพูดถึงกันในวงแคบเท่านั้น และ 
3 . ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียน รู้สึกตื่นเต้นในความเป็นไปในข้อนี้มากที่สุด คือ “เนื้องาน” ที่มีความฉีกออกไปจากภาพยนตร์ตลาดทั่วๆไปในโรงภาพยนตร์มันมีส่วนผสมหลายอย่างที่ที่ทำให้เห็นถึงความทะเยอทะยายของผู้กำกับที่ต้องการ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องด้วยภาพ และสื่อสารทางความรู้สึกที่น้อยนักจะพบในหนังตลาด และสุดท้ายการที่การใช้เทคนิคภาพยนตร์ ทั้งฉากระเบิด, ฉาก Slow Motion ซึ่งนี่ถือเป็นความทะเยอทะยานเพื่อสร้างความรู้สึกและให้เกิดการจดจำต่างๆ 

ตามหลักผู้เขียนที่ว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะมีคุณค่าติดอยู่ห้วงความรู้สึกในผู้ชมระดับปัจเจกชนได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าผู้กำกับสร้างฉากจุดขายเหล่านั้นให้ติดแน่นฝังตรึงได้มากแค่ไหนกัน สำหรับผู้เขียนแล้วฉาก การขี่จักรยานของโกโบริหลังระเบิดบนสะพานพุทธด้วยกล้องติดตามตัวละครทั้งสองมันให้ความรู้สึกที่น่าจดจำ จนกระทั่งก่อนลงจากสะพานรอยยิ้มเล็กของโกโบริก็เกิดขึ้น เป็นฉากที่ยังคงจดจำในรายละเอียดได้เป็นอย่างดีและสุดแสนประทับใจ 

แม้ในฉากสุดท้ายมันเหมือนจะเป็นการเปิดเปลือยเปิดเผยจิตใจของตัวละครทั้งหมด แต่ผู้กำกับก็ยังคงเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างน่าดูชม โดยการสร้างความฟูมฟายให้น้อยที่สุด น้อยจนกระทั่งที่ว่าไม่ยอมใช้เพลงประกอบเร่งเร้าเรียกน้ำตาผู้ชมให้ถึงขีดสุด จนอาจกล่าวได้ว่า คู่กรรมเวอร์ชั่นนี้มันค้างๆคาๆ อาการค้างๆคาๆ คืออาการที่มันติดแน่นฝังลึกในใจ ไม่สามารถขจัดออกไปได้ จะเกลียดก็ไม่ใช่ จะรักก็ไม่เชิง

หารู้ไม่ว่า อาการติดแน่งฝังลึกในใจด้านความรู้สึกไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆในการรับชมภาพยนตร์ และมันก็ไม่ใช่อาการทุเรศทุรังแต่อย่างใด มันเป็นอาการที่หลายคนอาจไม่ชอบ อาจไม่ถูกใจ แต่ก็ไม่ได้มีพิษภัยถึงขั้นต้องทำร้ายซึ่งกันและกัน 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ดีเด่นเว่อร์เวินอะไร แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นรากฐานของภาพยนตร์ไทย ที่นักทำหนังรุ่นใหม่ จะได้พบเห็นความแตกต่างในหนังใหญ่และหนังตลาดไทย และในฐานะคนดูหนังคนหนึ่ง มีความรู้สึก และปรารถนาว่า สักวันภาพยนตร์ไทยที่จะมีความหลากหลายในระดับที่สามารถเลือกชมภาพยนตร์หลากหลายแนวได้อย่างเสรี โดยไม่ขึ้นยึดอยู่กับแนวทางใดๆ ก็หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นแสงเล็กๆที่ทอแสงประกายทางสู่อนาคต   
แม้วันนี้อาการป่วยบางอย่างมันยังมากล้นอยู่ในสังคมไทยก็ตาม 

คะแนน 7.75 

ติดตามบล็อกของผมที่ : //a-bellamy.bloggang.com
ติดตามทางเฟสบุค: //www.facebook.com/A.Surrealism




 

Create Date : 13 เมษายน 2556
16 comments
Last Update : 5 พฤษภาคม 2559 1:28:02 น.
Counter : 11274 Pageviews.

 

ชอบครับ
และคงเป็นสาวกของเรียว กิตติกรไปอีกนาน

 

โดย: คนขับช้า 14 เมษายน 2556 3:19:47 น.  

 

ขอบคุณผู้เขียนมากค่ะ....อ่านคอมเม้นมาหลากหลายที่ เพิ่งมีที่ให้ประทับใจในความรู้สึกเป็นกลางกับเรื่องนี้ รวมถึงเห็นความงามของแสดงออกในภาพยนตร์

 

โดย: สุขใจ IP: 58.8.38.30 14 เมษายน 2556 3:22:15 น.  

 

เราเป็นคนที่ดูหนังมาเยอะมาก เสพผลงานเกือบทุกชาติ แต่ยังไม่เคยถึงขั้นว่าเจอหนังที่ต้องพูดว่า 'ห่วยบรม' บางทีการทำหนังในแนวที่ต่างออกไป มันย่อมมีมุมมองที่ต่างกัน แม้ไม่ได้ถูกตาต้องใจคนกลุ่มใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนั้นจะไม่ดีถึงขั้นต้องตีตราว่า 'อย่าไปดูมันเลย'

ชอบความเห็นของผู้เขียน เป็นกลางดี หนังไม่ได้เลิศเลอ แต่ก็ใช่ว่าจะห่วยจนไม่มีสาระอะไรเลย เพราะบทประพันธ์เก่านานก็ไร้ค่าหากไม่มีคนอ่าน หรือยังมีแค่คนรุ่นเก่าๆที่อ่าน เด็กสมัยนี้น้อยนักจะอ่านกัน เพราะมันไม่ได้บรรจุอยู่ในแบบเรียน

การตีความใหม่ของคุณเรียว กิตติกร อาจจะดูลดทอนในส่วนที่บทประพันธ์พรรณาไว้ไปมาก แต่ถ้ามองในมุมของคนสมัยใหม่ คงจะพูดได้ว่า ไม่เยิ้นเย้อ หรือ คนที่ไม่เคยอ่าน เราเชื่อว่ามีหลายคนที่ไม่เคยอ่านจริงจังจนจบ ก็อาจจะคิดกลับไปหาต้นฉบับมาอ่านดีกว่า เป็นการต่อยอดไปอีกทาง

แต่ไม่รู้ทำไม กระแสถึงออกมาในแง่ของการด่า มากกว่า วิจารณ์ให้เกิดการพัฒนา

 

โดย: แอล IP: 37.228.105.206 14 เมษายน 2556 4:51:57 น.  

 

ไม่แปลกหรอกนะถ้าผลลัพธ์ของหนังจะออกมาแบบที่เป็นอยู่ (ทั้งแง่ของการวิจารณ์และรายได้) เพราะผู้สร้างเองย่อมพึงรู้และควรประเมินไว้ล่วงหน้าถึงความ(สุ่ม)เสี่ยง ในการที่จะหยิบบทประพันธ์ที่มีคนส่วนมาก รู้จักและรักมากมาทำเป็นหนัง(ที่ต้องเสียเงินในการดู ไม่ใช่ละครใน free Tv.) เพราะถ้าหนังจะออกมาแนวซ่ะขนาดนั้น (เลือกที่จะตีความใหม่ ในแบบที่ผกก.ต้องการ) โดยไม่ได้คำนึงหรือนึกถึงความสนุก และความประทับใจ ที่หนังเรื่องๆ หนึ่ง พึงจะมี โดยเฉพาะการแบกความคาดหวัง(อย่างสูง) ของทั้งคนดูและผู้สร้างเอาไว้ ....แต่อย่างน้อย"คู่กรรม"ฉบับนี้ก็ได้สร้างปรากฎการณ์ตีคู่ กับหนังอย่าง"พี่มากพระโขนง" ทั้งแง่ของการจิารณ์ / ปากต่อปาก / สังคมออนไลน์ (ในทิศทางตรงกันข้าม) ที่ทำให้หลายๆคนต้องนำมาวิเคราะห์ สร้างข้อโต้แย้งใหม่ๆ(เชิงสร้างสรรค์) และยังเป็นตัวอย่าง(ที่ดี) ของการที่จะทำหนังซักเรื่อง ให้ออกมาคุ้มค่าและน่าจดจำ มากกว่าการทำตามใจตัวเอง

 

โดย: The Ent. IP: 58.9.81.36 14 เมษายน 2556 13:39:38 น.  

 

ขอคุณ จริงๆ ค่ะ สำหรับ คำวิจารณ์จริงๆ จากใจจริงๆ คุณวิจารณ์ได้อย่างยุติธรรม และสวยงามจริงๆ ขอบคุณ ค่ะ เราไม่ได้เป็นแฟนคลับใคร ไม่ได้เกลียด และชอบใครเป็นการส่วนตัว เรารัก คู่กรรม และกระหายที่จะเสพย์คู่กรรมในทุกการ ตีความ และ เราคิดเหมือนคุณทุกประการ ขอบคุณ อีกครั้งค่ะ อยากให้คุณวิจารณ์ ลงทุก เวปจัง

 

โดย: อรอุมา IP: 110.77.230.215 17 เมษายน 2556 18:42:26 น.  

 

ผมก็เป็นคนนึงที่ซาบซึ้งกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก และจากที่ได้มีโอกาสไปดูมาถึง 3 รอบ ยิ่งดูก็ยิ่งซาบซึ้ง ยิ่งเศร้า ยิ่งเสียใจ และยิ่งจดจำความรักของคน 2 คนมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณคำวิจารณ์ดีๆ ที่ผ่านมา ขอบคุณทัศนคติดีๆ ที่สรุปทุกสิ่งอย่างในความคิดของผมที่ไม่สามารถเล่าหรือบอกต่อได้

 

โดย: golden_ring IP: 124.120.120.92 23 เมษายน 2556 9:16:35 น.  

 

ชอบงานวิจารณ์ของคุณ

ชอบคู่กรรมเวอร์ชั่นนี้ เหมือนทุกอย่างมันดำเนินไปให้เราเห็น(ด้วยภาพ) มีคำพูดเท่าที่จำเป็น และที่จำเป็นนั่นมันก็บอกประเด็นหลักๆให้เรารู้ แล้วเราก็อัดอั้นเก็บกักความรู้สึก เหมือนเรารับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร แล้วก็ปวดร้าวไปกับเขาด้วย

 

โดย: imagine IP: 124.121.125.109 25 เมษายน 2556 0:16:18 น.  

 

2013 เป็น บทที่แปลกออกไป แต่กลับชอบนางเอกที่มีความเป็นคนเก็บอารมณ์ตรงตามในหนังสือที่อ่าน เป็นสิบรอบตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่แล้ว ก็มองเห็นความแข็งแกร่ง และความลั่งล ที่เธอ ต้องการเลือก ให้กำลังใจนางเอง คุณนเดชณ์คงไม่ต้องพูดถึงมา กเพราะเล่นดีอยู่แล้ว ส่วนนางเอง น่ารัก และบริสุทธิ์ สายตา ดูเป็นธรรมชาติ แต่แสดงออกมา ธรรมชาติ ดีมาก ต้องให้กำลังใจเธอ ไม่ให้เสียกำลังใจ

 

โดย: ผู้ที่ดูคู่กรรมมาตลอดทุกครั้งที่มีการสร้าง IP: 58.8.17.199 25 เมษายน 2556 12:49:25 น.  

 

ฉากพระเอกเมา และอยู่ด้วยกันสองคน ในห้อง ทั้งสองพูดกันน้อยมาก แต่ใช้ท่าทาง และบทที่ค่อนข้างคลาสสิก แค่การแสดงออกทางแววตา และท่าทาง แค่นี้ก็สรุปแล้วว่า ทั้งสองแสดงความรู้สึกและอารมณ์ออกมาได้ดีมาก แค่ฉากนี้ฉากเดียว ก็คุ้มที่จะดู ความสามารถของนางเอกใหม่ ที่พยายาม และก็แสดงออกมาได้ดีที่สุด นางเองแต่งตัว ได้ ไม่เวอร์ เป็นธรรมชาติ มาก


 

โดย: แฟนคู่กรรมรุ่นเก่ามากๆ IP: 58.8.17.199 25 เมษายน 2556 14:10:37 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ ชอบจริงๆๆ

 

โดย: ชอบ IP: 61.19.19.176 26 เมษายน 2556 15:58:59 น.  

 

การตีความนวนิยายออกมาเป็นภาพยนต์ เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ไม่ควรมีกรอบจำกัด โดย
เฉพาะนวนิยายที่มีการนำมาทำหลายครั้งมากจนคนดูเข้าใจบทและรู้เนื้อเรื่องหมดแล้ว
สิ่งที่เราอยากเห็นในหนังคู่กรรม2013ก็คือความแปลกใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วประทับ
ใจตั้งแต่เห็นตัวอย่างหนัง ภาพสวย คลาสิกและน่าค้นหา น่าติดตาม หากอังสุมาลินใส่
ผ้าซิ่นนั่งพับเพียบตีขิมเราคงไม่อยากเสียเวลา เสียเงินไปดูหนังเรื่องนี้เพราะเบื่อ เจ้าของ
บทประพันธ์น่าจะภูมิใจเพราะนวนิยายได้รับการ นำมาทำให้เกิดความรว่มสมัย เชื่อว่าในอีก
ไม่กี่ปีคู่กรรมก็จะถูกมาสร้างใหม่ หากไม่มีการตีความที่แตกต่าง คู่กรรมก็อาจเลือนหาย
ไปกับความซ้ำซากจำเจ

 

โดย: ณัฐชญา IP: 115.67.134.242 26 เมษายน 2556 21:46:23 น.  

 

ก็อยากชมว่าดีนะ ตอนดูไม่คาดหวังอะไร เพราะกระแสลบออกมาเยอะมาก
ข้อดีคือ เห็นความโรแมนติกในช่วงเวลาสงคราม และตัวณเดชเองเล่นได้น่ารัก เหมือนเป็นคนญี่ปุ่นพูดไทยจริงๆ
ข้ออื่นๆ ที่เห็นชัด คือ การเดินเรื่องมันเวิ่นเว้อ ลดทอนไม่ถูกจุด บางตอนใช้เวลามากเกินไป บางตอนก็รวบรัดเหลือเชื่อ ขณะที่ดู ความสัมพันธ์ของพระเอก-นางเอก มันยังไม่โตพอตามระยะเวลาที่นำเสนอมา ไม่พอที่จะรักกันลึกซึ้งถึงใจ ส่วนนางเอกไม่อยากวิจารณ์มาก แต่การทำหนังให้คนดูทั้งประเทศ ต้องการคัดสรร กลั่นกรองระดับมืออาชีพหน่อย รู้ว่าน้องเขาพยายาม พยายาม แต่การแสดงยังไม่ถึง ทำให้ขัดอารมณ์หนังที่กำลังจะอิน อย่างตอนสุดท้ายที่โกโบริตาย เกือบจะซึ้งแล้วล่ะ แต่น้องริชชี่ทำเอาแป๊ก มันดูเป็นการพยายามแสดง ไม่เนียน ไม่เหมือนอังศุมาลินรักพระเอกจริงๆ

 

โดย: ป็อปปูล่าร์ IP: 124.122.165.119 27 เมษายน 2556 14:22:48 น.  

 

ใช่ค่ะ ... มันมีอาการที่ติด ๆ ค้าง ๆ คา ๆ อยู่ในใจ แต่หลายฉากทำให้เรานึกถึงมันตลอดเวลา เป็นคู่กรรมในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นเวอร์ชั่นที่เราชอบที่สุดก็ว่าได้แม้จะแค่เคยผ่านตาเวอร์ชั่นก่อน ๆ แต่ดูได้ไม่นานเพราะมันเยิ่นเย้อจนกเกินพอดี และไม่ได้เคยอ่านบทประพันธ์

ริชชี่ก็ไม่ได้แสดงห่วยขนาดนั้น แข็งบ้างไรบ้างก็พอรับได้ เป็นอังศุมาลินที่ทำให้เราอัดอั้นในความรู้สึกตามแทบจะทุกฉากจนกระทั่งถึงฉากที่โกโบริตาย เป็นอังศุมาลินเดียวที่ทำให้เราน้ำตาคลอตาม

ถึงหนังจะทำเงินไม่มาก แต่ยอมรับว่าอยู่ในใจเราถึงวันนี้ สรุปก็คือเราชอบมากค่ะ

 

โดย: กันทิมา IP: 223.205.153.22 29 เมษายน 2556 18:17:25 น.  

 

ผมชอบดูหนัง และสัมผัสหนังทุกเรื่องด้วยอารมและเสพด้วยความรู้สึกล้วนๆ ถ้าหนังเรื่องนี้เป็นหนังตลก ผมบอกว่าไม่ชอบคงไม่แปลก แต่แนวนี้เป็นแนวที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดในรอบหลายปี จะอะไรก็ไม่อะไร ก้ำๆกึ่งๆ ดูแล้วหงุดหงิด อึดอัดมากครับ ไม่นับหนังไทยตลก ที่อันนั้นมันแย่แน่นอนอยู่แล้ว เรื่องยี้ถือว่า ห่วย บรม ครับ

 

โดย: ฮ่องเต้ IP: 115.67.135.53 29 พฤษภาคม 2556 22:58:42 น.  

 

ส่วนตัวผมว่าทำออกมาได้ดีทีเดียว สำหรับภาพยนต์ที่ทำมาจากนวนิยาย หลายๆคนบอกว่าไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ในส่วนของความรักความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับนางเอก ตรงนี้เราต้องเข้าใจว่านวนิยายเรื่องนี้เดิมเป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ ไม่ใช่นิยายรักโรแมนติก ส่วนเรื่องของนางเอกน้องริชชี่ที่หลายๆคนบอกว่าเล่นแข็งๆก็ต้องยอมรับว่าบทอังศุมาลินเป็นบทที่เล่นยากมากโดยเฉพาะการสื่ออารมณ์และความรุ้สึกของตัวละคร ก็ที่น้องริชชี่ดูแข็งๆไปบ้างก็ถือว่าถูกต้องแล้วเพราะถ้าอิงเนื้อเรื่องตามในหนังสืออังศุมาลินเป็นคนที่บุคลิกค่อนข้างแข็งๆอยู่แล้ว ณเดชถึงจะเป็นลูกครึ่งแต่หน้าตาดูเป็นญี่ปุ่นน้อยไปหน่อย(แต่ก็ยังดีกว่าบี้และป๋าเบิร์ด)แต่ก็สามารถแสดงออกมาได้ดีมาก โดยเฉพาะการพูดที่ได้สำเนียงญี่ปุ่น เลยทำให้ดูมีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น

โดยรวมแล้ว ผมว่าภาคนี้นักแสดงทำได้ดีมาก ผู็กำกับและคนเขียนบทก็สามารถตีความจากนวนิยายได้อย่างยอดเยี่ยม

สำหรับคนอื่นผมขอให้เปิดใจให้กว้างสักนิด ถ้าให้ดีให้หาหนังสือมาอ่านแล้วลองตีความดู อย่างที่กล่าวไปตอนแรก นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ ไม่ใช่นิยายรักโรแมนติก แล้วคุณจะเข้าใจเนื้อเรื่องดีขึ้น

 

โดย: โมโมทาโร่ IP: 101.109.237.150 8 กรกฎาคม 2556 15:43:21 น.  

 

สงสารนักแสดงนางเอก ผมมีความเห็นว่า...ถ้าเอาไปทำใหม่กับผู้กำกับเก่งๆ หนังเรื่องนี้จะน่าดูชมกว่านี้!!

 

โดย: ER IP: 49.48.46.56 10 สิงหาคม 2556 9:36:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]